“วานรศึกษา” (Primate Studies”) สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และวรวิทย์ บุญไทย บรรณาธิการ

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 5772

“วานรศึกษา” (Primate Studies”) สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และวรวิทย์ บุญไทย บรรณาธิการ

หนังสือวานรศึกษา มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           การศึกษามานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ เป็นกระบวนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ วัตถุสิ่งของ สิงสาราสัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน พึ่งพากัน และมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยกมนุษย์เป็นศูนย์กลาง หรือมองว่ามนุษย์เหนือกว่าสรรพสิ่งอื่น เป็นการศึกษาแนวระนาบที่สรรพสิ่งมีสถานะเท่าเทียมกัน เสมอกัน

           หนังสือ “วานรศึกษา” (Primate Studies”) ซึ่งจัดพิมพ์โดย พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวานร หรือลิงทั้งในมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยา เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกันในแง่วิวัฒนาการ และการพึ่งพาอาศัย และมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

           หนังสือเล่มนี้รวมบทความของนักวิชาการที่ศึกษาลิงทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์หรือนักชีววิทยา และนักมานุษยวิทยาที่เป็นที่รู้จักในวงวิชาการ เป็นหนังสือที่พยายามอธิบายเชื่อมโยงมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยาให้เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน กล่าวคือลิงในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ Primate และลิงในฐานะที่เป็น “เครื่องมือ” สำหรับการทำความเข้าใจมนุษย์ในบริบทต่างๆ เช่น ลิงที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ พฤติกรรมและสังคมของลิงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ หรือมิติทางเพศของผู้ศึกษาลิง เป็นต้น เป็นการศึกษาข้ามศาสตร์ หรือ การศึกษาแนวสหวิทยาการ ภายใต้แนวคิด “ชาติพันธุ์นิพนธ์หลากหลายชาติพันธุ์” (Multispecies Ethnography) ที่ผสานสิ่งแวดล้อมศึกษา สัตว์ศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อทำความเข้าใจลิงหรือวานร ในแนวระนาบโดยไม่ได้แยกมนุษย์ และสัตว์กลุ่มไพรเมต (primate) อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ออกจากกัน เนื่องจากมนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate family) เช่นเดียวกับลิงหรือวานรอยู่แล้ว

           หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจ คือการหยิบเอาความรู้ที่กระจัดกระจายจากศาสตร์ต่างๆ มารวมกัน นำเสนอจากมุมมองหลายศาสตร์หลากสาขา เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับลิงหรือวานรที่เกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจนถึงปัจจุบัน ประกอบไปด้วยบทความต่างๆ 8 บทความ ดังนี้

           1. บทความ “Primate & Me สู่ Ethnoprimatology: การสะท้อนประสบการณ์ส่วนตัว โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามารถ

           นำเสนอเรื่องเล่า ประสบการณ์ชีวิต และการศึกษาวิจัยของตน เริ่มจากชีวิตวัยเด็กที่ได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนที่แตกต่างหลากลาย ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เนื่องจากเรียนในโรงเรียนคริสต์ ขณะศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก และจบออกมาเป็นอาจารย์และนักวิจัย มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักศึกษา นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้งเวทีวิจัย และเวทีเสวนานานาชาติเกี่ยวกับ Primate ผู้เขียนได้ศึกษาสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของชะนีมงกุฎ (H. pileatus) ที่อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำงานวิจัยภาคสนามระดับปริญญาเอก ณ ประเทศเวเนซุเอลา เกี่ยวกับลิงคาปูชิน เมื่อกลับมาทำงานในประเทศไทยเริ่มสนใจงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นร่วมสมัยและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ทำงานด้านอนุรักษ์ในพื้นที่ มีโอกาสพบปะ เรียนรู้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศไทยและลาว ได้รู้จักวิธีการทางมานุษยวิทยา โดยการนำ Ethnography มาศึกษาและทำความเข้าใจไพรเมต สนใจวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์อื่น หรือกลุ่มคนอื่นในสังคมที่มีความคิดและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน สนใจคนที่ศึกษาไพรเมตในมิติของมานุษยวิทยามากขึ้น

           2. เพศ เพศภาวะและไพรเมตวิทยา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

           บทความนำเสนอข้อถกเถียงประเด็นไพรเมตศึกษาและสตรีนิยม ได้แสดงจุดเปลี่ยนทางแนวคิดเดิมที่ได้รับอิทธิพลของแนวคิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน เรื่อง The Descent of man ซึ่งเชื่อว่ามีความต่างทางธรรมชาติระหว่างชายและหญิงที่ทำให้เพศชายมีวิวัฒนาการไปสู่การเป็นนักล่าที่ใช้กำลัง ในขณะที่เพศหญิงมีวิวัฒนาการไปสู่การเป็นผู้เลี้ยงดู นำไปสู่บทบาททางเพศที่แตกต่างกัน เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากมุมมองชายเป็นศูนย์กลางในไพรเมตวิทยายุคต้นของสังคมตะวันตกช่วงกลางทศวรรษที่ 20 ซึ่งเต็มไปด้วยอคติทางเพศอย่างเห็นได้ชัด บทความนี้สืบสาวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่าง เพศภาวะ กับไพรเมตวิทยา โดยนำเสนอผลงานของนักไพรเมตศึกษาสตรี เพื่อแสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนทั้งเชิงแนวคิด กรอบการวิจัย และปฏิบัติการภาคสนาม ซึ่งเปลี่ยนมุมมองวิวัฒนาการของไพรเมตมาสู่การให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ครอบครัวฝ่ายมารดา และนำเสนอวิธีวิทยาใหม่ๆ ในการศึกษาไพรเมตที่หลุดพ้นจากกับดักของความเป็นเพศ และอิทธิพลของมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกด้วย

           3. ทัศนาวานร: คิงคอง ระเบิดปรมาณู คลิตอริส และชีวิตพันทางโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร วิเคราะห์หนังสือเรื่อง Primate visions: gender, race, and nature in the world of modern science เขียนโดย ดอนนา ฮาราเวย์

 

หนังสือเรื่อง Primate visions: gender, race, and nature in the world of modern science

เขียนโดย ดอนนา ฮาราเวย์ มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           ผู้เขียนนำเสนอความคิด และพัฒนาการเรื่องวานรวิทยาในสายตาของฮาราเวย์ ในบทบาทของนักวานรวิทยาสตรี บทความแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ 1. ความสำคัญของดอนนา ฮาราเวย์ต่อวงวิชาการทั้งในระดับโลก และที่ส่งผลต่อวงวิชาการไทย 2. พัฒนาการของวานรวิทยาโดยแบ่งเป็นสามภาค ได้แก่ ภาคลิงและทุนนิยมผูกขาด: วานรวิทยาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (ศตวรรษที่ 18-19) ภาคการปลดแอกอาณานิคมและวานรวิทยาพหุประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องวานรวิทยายุคสงครามโลกครั้งที่สองถึงศตวรรษ 1980 และวานรวิทยานอกประเทศตะวันตก (ญี่ปุ่น อินเดีย และมาดากัสการ์) และภาคการเมืองของความเป็นผู้หญิง: วานรวิทยาในฐานะทฤษฎีสตรีนิยมแนวหนึ่งว่าด้วยอิทธิพลของแนวคิดสตรีนิยมที่มีต่อวานรวิทยา และข้อเสนอของนักวานรวิทยาแนวคิดสตรีนิยมที่มีต่อการศึกษาเพศและเพศสภาวะความเป็นหญิงในมนุษย์ 3. อธิบายความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ใน 3 ด้าน คือ วาทศิลป์ของวานรวิทยา การเมืองเรื่องเชื้อชาติและเพศภาวะ และมานุษยวิทยาภววิทยา

           สำหรับผู้ที่สนใจ หนังสือเรื่อง Primate visions: gender, race, and nature in the world of modern scienceสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           4. สู่พุทธะ: ลิงจากเรื่องเล่าในนิบาทชาดก โดยศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ

           ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวอดีตชาติพระพุทธเจ้าโคตมะ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นลิง โดยอ้างอิงจากคัมภีร์ชาดก และอรรถกถาในมิติต่างๆ ทั้งเชิงปรัชญาศาสนา วัฒนธรรม และธรรมชาติวิทยา ในมุมมองว่าลิงเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่มีศักยภาพในการสั่งสมบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ โดยศึกษาจากชาดกรวม 11 เรื่องได้แก่ นฬปานชาดก วานรินทชาดก (หรือกุมภีลชาดก) ตโยธัมมชาดก ติณฑุกชาดก สุงสุมารชาดก (หรือวานรชาดก) ครหิตชาดก จูฬนันทิยชาดก กุมภีลชาดก กาฬพาหุชาดก กปิชาดก และ มหากปิชาดก

           5. ชะนีมือขาว (Hylobates lar) และด้วงมูลสัตว์ (Coleoptera: Scarabaeidae) ลิงหางยาว (Macaca fascicularis) ลิงลูกผสมระหว่างลิงหางยาวและลิงวอก และลิงวอก (M. mulatta) จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า โดย ดร.จรรยา เจตน์เจริญ

           ผู้เขียนได้เล่าประสบการณ์การติดตามและศึกษาไพรเมต โดยการติดตามชะนีมือขาวเพื่อเก็บมูลชะนีมาศึกษาการกระจายเมล็ดพันธ์โดยด้วงมูลสัตว์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตสองประเภทในฐานะผู้กระทำการร่วมกันในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ได้ติดตามศึกษาประชากร พืชอาหารของลิงหางยาว และได้ศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา พันธุกรรม และพฤติกรรมทางเพศ ค้นพบว่าชะนีมือขาว มิได้ใช้ชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียวตามความรู้เดิมเสมอไป รวมทั้งเรื่องความสามารถในการปรับตัวของลิงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย

           6. การพัฒนาการทางสังคมของลูกชะนี: ปฏิสัมพันธ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง โดย ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์

           ผู้เขียนนำเสนอพัฒนาการทางสังคมของชะนีแต่ละช่วงวัยตั้งแต่วัยทารกถึงวัยหนุ่มสาว และปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอายุของลูกชะนี เช่น วัยทารกจะมีความสัมพันธ์กับแม่เป็นหลัก วัยเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับพี่ที่อายุใกล้เคียงกัน วัยหนุ่มสาวจะมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อยลง เริ่มแสดงพฤติกรรมทางสังคมที่คล้ายชะนีเต็มวัยและมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวอื่นผ่านพฤติกรรมการป้องกันอาณาเขต และการร้องเพื่อสร้างโอกาสในการหาคู่ เป็นต้น

           7. Primate (Macaque) Research and Me โดยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์

           ผู้เขียนเล่าประสบการณ์การทำวิจัยไพรเมตในประเทศไทย มีทั้งหมด 17 ชนิด และกล่าวถึงลิงมะแคต 6 ชนิด ได้แก่ ลิงกังเหนือ ลิงกังใต้ ลิงแสน ลิงอ้ายเงี๊ยะ ลิงหางยาวหรือลิงแสม และลิงวอก โดยให้ความสำคัญกับลิงวอกและลิงแสม เพราะเป็นลิงที่นิยมนำมาเป็นสัตว์ทดลองทางชีวการแพทย์ และทดลองเพื่อพัฒนายาและวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนโควิด 19 และความสำคัญของศูนย์วิจัยไพรเมตแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           8. Gibbon Studies in Thailand โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วรเรณ บรอคเคลแมล นักวิชาการผู้บุกเบิกและศึกษาเกี่ยวกับชะนีในประเทศไทย

           บทความนี้ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับประวัติการศึกษาวิจัยชะนีในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การศึกษาชะนีในพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยคณะนักสำรวจซึ่งนำโดย ดร.คลาเรนซ์ เรย์ คาร์เพนเตอร์ (Dr. Clarence Ray Carpenter) ต่อมามีการจัดตั้งพื้นที่การศึกษาชะนีภาคสนามที่มอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดย ดร.วรเรณ มีข้อค้นพบและความก้าวหน้าของการศึกษาชะนีในประเด็นต่างๆ เช่น พฤติกรรมการเรียกร้อง โครงสร้างของกลุ่มที่เป็นครอบครัว ปัญหาการจำแนกสปีชีส์ พฤติรรม การฆ่าทารก เป็นต้น ทั้งนี้การค้นพบชะนีในประเทศไทยมี 4 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 20 สายพันธุ์ ได้แก่ ชะนีมือขาว (Hylobates lar) ชะนีมงกุฎ (H. pileatus) ชะนีมือดำ (H. agilis) และชะนีเซียมง (Symphalangus Ysndactylus)

           หนังสือเรื่อง “วานรศึกษา” (Primate Studies”) นี้เป็นหนังสืออันเนื่องจากการทำนิทรรศการ “Primate and Me: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งกำลังดำเนินการจัดแสดงและมีกำหนดเปิดให้เข้าชมประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ต้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งรวมบทความเพื่อเล่าเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับลิงในประเทศไทยเสริมเนื้อหาในนิทรรศการให้ชัดเจนขึ้น เนื้อหาของหนังสือมีความหลากหลายทั้งเนื้อเรื่องและมุมมอง อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนหนึ่งคน ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างจะสามารถเข้าใจได้ในทุกบทความ ดังนั้น หนังสือเรื่องนี้เหมาะกับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องลิงหรือวานรวิทยาในประเด็นต่างๆ เช่น วิวัฒนาการของคนกับลิง การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับลิง ลิงกับสิ่งแวดล้อม ลิงกับระบบนิเวศ เป็นต้น ซึ่งหากอ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ หรืออยากเรียนรู้เพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว สามารถติดตามความคืบหน้าเพื่อเข้าชมนิทรรศการ Primate and Me: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์ ได้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต)

หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยพ้นมนุษย์พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

 

รายการอ้างอิง

Primate Studies Blog. (2565). Book Review…วานรศึกษา : Primate Studies บรรณาธิการโดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ วรวิทย์ บุญไทย, สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธุ์ 2565. จาก https://primatethings.com/วานรศึกษา-primate-studies/

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (2565). แนะนำหนังสือ วานรศึกษา : Primate Studies. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธุ์ 2565. จาก https://museum.socanth.tu.ac.th/update/แนะนำหนังสือ-วานรศึกษา-primate-studies/

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์, วรวิทย์ บุญไทย ; บรรณาธิการ. วานรศึกษา : Primate Studies. กรุงเทพฯ : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2564


ผู้เขียน

อนันต์ สมมูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วานรศึกษา Primate Studies มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ Posthuman Anthropology อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share