หรือนางนพมาศในประวัติศาสตร์ มิได้ทำกระทง แต่เป็นวีรสตรีผู้ค้ำบัลลังก์ ?

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 14778

หรือนางนพมาศในประวัติศาสตร์ มิได้ทำกระทง แต่เป็นวีรสตรีผู้ค้ำบัลลังก์ ?

           การนำเอาทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ในวิถีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมปัจจุบัน ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์สาธารณะให้เป็นพลวัตไปกับวัฒนธรรมมหาชน หรือ “ป๊อปคัลเจอร์” (culture) ดังที่มักนิยมสร้างภูมิหลังของ “เรื่องเล่า” (story) ที่อิงกับ “นิทาน” หรือ “ตำนาน” เพื่อให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมนั้นๆ เกิดความน่าสนใจและเป็นที่จดจำได้ง่ายในระดับมหาชน แต่ก็อาจนำมาสู่ปัญหาเรื่องความเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ด้วยเช่นกัน หากนิทานหรือตำนานนั้นไปแพร่ไปสู่ความเข้าใจระดับมหาชนว่าเป็น “ข้อเท็จทางประวัติศาสตร์” ดังที่เกิดขึ้นในหลายกรณีที่เรื่องเล่าแบบนิทาน หาข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่ฟังดูสนุกน่าจดจำ กลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระดับวัฒนธรรมหาชน ในขณะที่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ กลับรู้กันในวงแคบๆ เท่านั้น

           ดังเช่นกรณีปรากฏการณ์นางนพมาศกับสังคมไทย ซึ่งยังคงมีพลวัตอยู่นั้น มีจุดเริ่มต้นของความเป็นมหาชนเชิงเศรษฐกิจ จากการสร้างเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง (1) นางนพมาศ (2) ประเพณีลอยกระทง และ (3) กรุงสุโขทัย อันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในยุคปัจจุบัน ภายใต้กรอบแนวคิด “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งวลี “เผาเทียน เล่นไฟ” ก็นำมาจากเนื้อหาของจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตอนที่ว่าด้วยงานเทศกาลบุญช่วงทอดกฐินหลังออกพรรษา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทศกาลลอยกระทง ดังความว่า

“... เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ...”

           องค์ประกอบทั้งหมดนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้สุโขทัย เป็นศูนย์กลางของเทศกาลลอยกระทงไปโดยปริยาย แม้ว่างานลอยกระทงเป็นเทศกาลมหาชนที่แต่ละจังหวัด ต่างก็มีที่ทางจัดงานของตนเองก็ตาม

           ต้นทางของข้อมูลว่านางนพมาศริเริ่มประดิษฐ์กระทงทรงดอกบัวนั้น มาจากหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” โดยความตอนหนึ่งเล่าว่า

“. . . พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นนักขัตกฤษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพ สิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง . . . ข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผกาเกสรศรีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณานกวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบเรียงวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดส่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปและประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค . . .”

           เมื่อพระร่วงทอดพระเนตรเห็นกระทงนี้งดงามแปลกตา จึงตรัสถามนางนพมาศ นางจึงอธิบายแนวคิดในการตกแต่งให้ทรงทราบ และทรงรับสั่งให้กษัตริย์ลำดับต่อไปถือเอากระทงของนางเป็นแบบอย่าง ความว่า

“. . . ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่า ข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนันมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ ข้าน้อยผู้ชื่อว่า นพมาศ ก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง . . .”

           แต่กระนั้น ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ มิใช่การทำกระทง แต่เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องหลัก 3 เรื่อง คือ 1. ลักษณะกุลสตรีในอุดมคติ คือมีสมบัติ 3 ประการ อันได้แก่ รูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ และทรัพย์สมบัติ รวมไปถึง ลักษณะของกุลสตรี 5 ประการ อันได้แก่ (1) วาจาอ่อนหวาน มีสัมมาคารวะ (2) กริยาละมุนละม่อม ไม่ดัดจริตเล่นตัว (3) ไม่อิจฉาริษยาพยาบาท (4) รู้จักบุญคุณของผู้มีเมตตา ดังคติโบราณว่า “ใครรัก ให้รักตอบ” และ (5) ให้เอาคนดีเป็นแบบอย่าง ดังคติโบราณว่า “ใครทำชอบ ให้ทำตาม” 2. แนวปฏิบัติตนเพื่อความเป็นยอดแห่งพระสนม ซึ่งว่าด้วยวิธีปฏิบัติตนและการถวายชีวิตและความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 3. คำพรรณนาโดยย่อของพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งมีเนื้อหาของพิธีกรรมคล้ายคลึงกับที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลในกฎหมายตราสามดวง แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่า ซึ่งอาจเป็นการพรรณนาเรื่องร่วมสมัยเสริมเข้าไป

           เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ดำเนินเรื่องในลักษณะบุคคลที่ 1 คือนางนพมาศเล่าประวัติของตนให้ผู้อ่านฟัง ในบทบาทพระสนมผู้เฉลียวฉลาดของสมเด็จพระร่วงเจ้า ซึ่งเป็นพระนามทั่วไปที่ใช้เรียกราชาผู้ครองเมืองสุโขทัย แบบไม่ระบุตัวตนและช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ทั้งสำนวนการเขียนและรายละเอียดของเนื้อหาบางส่วนมีนัยยะที่แสดงว่า งานประพันธ์นี้ ไม่ได้เรียบเรียงขึ้นในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน เพราะมีโลกทัศน์ของความเป็นอยุธยามากกว่า เช่น สำนวนภาษาแตกต่างกับสำนวนภาษาของ “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 (พรญาลือไท) แต่กลับพ้องกับสำนวนอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

           ส่วนรายละเอียดนั้น ทำให้สามารถเจาะจงลงไปอีกว่า หนังสือนางนพมาศนี้ มิใช่งานนิพนธ์สมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน นั่นคือ การบรรยายว่า กรุงสุโขทัย “มีแม่น้ำรอบเมือง” ซึ่งชัดเจนว่าเป็นโลกทัศน์จากความทรงจำเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะดังกล่าว เพราะข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ของเมืองสุโขทัยคือ ด้านหลังเมืองเป็นภูเขา ด้านหน้าเมืองเป็นที่ลุ่ม มีคลองแม่ลำพันทอดตรงไปทางทิศตะวันออก ไหลออกสู่แม่น้ำยม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ การปรากฏชื่อ “ฝรั่ง” หลายเชื้อชาติ ย่อมแสดงว่าเป็นโลกทัศน์ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2054 (ค.ศ. 1511) โดยใช้เกณฑ์ปีที่ชาวโปรตุเกสยึดเมืองมะละกาได้ และเจาะจงลงไปอีกคือ หลัง พ.ศ. 2069 (ค.ศ. 1526) โดยใช้เกณฑ์ปีสถาปนาจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) ซึ่งในเรื่องเรียกว่า “แขกมห่น” ทั้งสองเกณฑ์อยู่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

           ถ้าพิจารณาต่อ ก็สามารถเจาะจงลงไปได้อีกว่า โลกทัศน์ที่ใช้แต่งเรื่องนางนพมาศนี้ เป็นโลกทัศน์ของคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยใช้เกณฑ์การก่อตั้ง “สหพันธรัฐเยอรมัน” (German Confederation) ตามการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา เมื่อ พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) ซึ่งในเรื่องเรียกชนชาติของประเทศนี้ว่า “ฝรั่งการะหนี่” เรื่องนางนพมาศจึงควรแต่งหลังจากปีนี้ และที่สุดคือ การใช้เกณฑ์ “สนธิสัญญาไมตรีและพานิชย์ระหว่างสยามกับสหรัฐ ค.ศ. 1833” ซึ่งเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับอเมริกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2376 ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ดังนั้น หากพิจารณาว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ แต่งในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ก็จะสามารถประมาณช่วงอายุที่แต่งได้ว่าควรอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2376 – 2394 อนึ่ง หากสันนิษฐานต่ออีกชั้น โดยเชื่อว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พ.ศ. 2354 – 2388) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ผู้ทรงรักในงานวรรณกรรมนั้น ทรงรับรู้และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งหนังสือนางนพมาศ ด้วยเงื่อนไขนี้ ช่วงเวลาที่แต่งจึงควรอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2376 – 2388

           อย่างไรก็ตาม ชื่อ “นพมาศ” นั้น ตามคำอธิบายในเรื่องว่า เพราะนางผู้นี้มีผิวสีเหลืองนวลดุจทอง บิดาจึงตั้งชื่อว่า “นพมาศ” แปลว่า “ทองเนื้อเก้า” คือทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่พบในเอกสารหรือจารึกใดในประวัติศาสตร์ แต่อีกนามที่ปรากฏในเรื่องคือ “ศรีจุฬาลักษณ์” กลับเป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ ทั้งเอกสารฝ่ายอยุธยา และจารึกสมัยสุโขทัย กล่าวคือ เอกสารฝ่ายอยุธยาเรื่อง “ตำแหน่งนาพลเรือน (ฝ่ายใน)” ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีข้อกำหนดลำดับศักดินาไว้ว่า “นางท้าวพระสนมเอกทั้ง 4 คือ อินทสุเรนทร์ ศรีสุดาจันทร์ อินทรเทวี ศรีจุฬาลักษณ์ นาคนละ 1000” ข้อความนี้เป็นหลักฐานว่า ชื่อ ศรีจุฬาลักษณ์ ตามโลกทัศน์ของอยุธยาคือ พระสนมเอก ส่วนหลักฐานฝ่ายสุโขทัยนั้น ชื่อ ศรีจุฬาลักษณ์ คือ อัครมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย โดยพบในจารึก 2 หลัก คือจารึกวัดอโสการามกับจารึกวัดบูรพาราม ที่ออกพระนามและกล่าวถึงคุณลักษณะของพระองค์ว่า

“สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิศีเทพธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้าผู้เป็นบาทบริจาริการัตนชายาแด่สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช กอปรด้วยปัญจพิธกัลยาณีมีศีลพิริยะปรีชาดำกลใจมั่นในพระชินศาสนา”

           อายุของข้อมูลฝ่ายสุโขทัยอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 (หลังจากสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 แห่งสุโขทัยสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1952 ได้ไม่นานนัก) ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตทางการเมืองระหว่างอยุธยากับสุโขทัย และอายุของข้อมูลฝ่ายอยุธยาอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้ว ดังนั้น พิจารณาเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์จะพบว่า แท้จริงแล้วนามว่า “ศรีจุฬาลักษณ์” คือพระนามของ “อัครราชมเหสี” ผู้เป็น “รัตนชายา” (เมียแก้ว) ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยมาก่อน แต่เมื่ออยุธยาสามารถผนวกรวมสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งได้แล้ว พระนามนี้จึงถูกเปลี่ยนสถานเป็นนามของหนึ่งในสี่ “พระสนมเอก” ซึ่งแสดงนัยยะว่า แรกตั้งตำแหน่งนี้ พระสนมเอกผู้นั้น อาจมีเชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัย โลกทัศน์อยุธยาที่มองว่านาม “ศรีจุฬาลักษณ์” เป็นนามพระสนมเอก จึงถูกถ่ายทอดมาสู่ผู้แต่งหนังสือนางนพมาศ ที่วางให้ตัวละครนี้ เป็นพระสนมเอกตามชื่อศรีจุฬาลักษณ์ การวางตัวละครให้มีสถานะเป็นเพียงพระสนมเอกเช่นนี้ ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นว่า แม้แต่ “โครงเรื่อง” ของนางนพมาศก็ไม่ได้สืบทอดมาจากสุโขทัย เพราะว่าชื่อศรีจุฬาลักษณ์ในโลกทัศน์สมัยสุโขทัยนั้น สูงส่งระดับเป็นพระอัครมเหสี มิใช่เป็นเพียงพระสนม ซึ่งนั่นเป็นโลกทัศน์ของอยุธยาที่มีต่อชื่อศรีจุฬาลักษณ์

           แล้ว “ศรีจุฬาลักษณ์” ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้น มีบทบาทอย่างไรต่อความมั่นคงของราชวงศ์พระร่วง ? อันที่จริง ความระส่ำระสายของอาณาจักรสุโขทัยเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 (พรญาลือไท) ที่ต้องรับความกดดันทางการเมืองจากอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต่อเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 (พรญาลือไท) สวรรคตในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง พ.ศ. 1915-1917 ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาเพียง 4-6 พรรษาเท่านั้น ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพ่องั่ว) ทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองหลักของสุโขทัยหลายครั้ง ขณะนั้น สุโขทัยปกครองด้วยคณะบุคคล โดยหนึ่งในนั้นคือพระราชมารดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 อยุธยาสามารถทำให้สุโขทัยอ่อนน้อมได้ระยะหนึ่ง แต่สุโขทัยก็พยายามแยกตัวโดยตลอด สุดท้ายสุโขทัยก็แยกตัวออกมาได้อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และดูเหมือนว่า เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 เจริญวัยจนได้พระราชอำนาจเต็มแล้ว พระองค์กับพระราชมารดาร่วมกันยกทัพสุโขทัยไปปราบปรามเมืองโดยรอบทางทิศเหนือและทิศตะวันออกให้ยอมอยู่ในอำนาจของพระองค์ ดังมีข้อมูลแจ้งอยู่ในจารึกวัดตาเถรขึงหนัง จารึกวัดบูรพาราม และจารึกวัดอาโสการามแล้ว

           อนึ่ง แม้ไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์แจ้งไว้โดยตรง แต่จากบริบทแวดล้อมทำให้ทราบว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 ทรงมีพระมเหสี 2 พระองค์ พระมเหสีองค์แรกครองอยู่เมืองพิษณุโลก ทรงมีราชโอรสด้วยกันคือ “สมเด็จพรญาปาลราช” (ต่อมาได้เป็นพระพี่เขยของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)) ต่อมา ทรงมีพระมเหสีอีกพระองค์ครองอยู่เมืองสุโขทัย ทรงพระนาม “ศรีจุฬาลักษณ์” และมีราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ “สมเด็จรามราชาธิราช” กับ “ศรีธรรมาโสกราช” ต่อเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 สวรรคตใน พ.ศ. 1952 ตามที่ระบุไว้ในจารึกนั้น จึงเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ “ศรีจุฬาลักษณ์” กลายเป็นวีรสตรีผู้ค้ำบัลลังก์ ต่ออายุให้ราชวงศ์พระร่วงสายของนางไปได้อีกระยะหนึ่ง

           เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงเกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่าง “พรญาปาลราช” ผู้ครองเมืองพิษณุโลก กับ “พรญารามราช” ผู้ครองเมืองสุโขทัย แต่สุดท้าย สมเด็จพระนครินทราธิราช (พระนครอินทร์) ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ได้ใช้พระราชอำนาจของพระองค์เข้ามาไกล่เกลี่ยงระงับเหตุดังกล่าว เป็นผลให้ผู้ที่ได้เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ลำดับที่ 3 คือ “สมเด็จรามราชธิราช” ประเด็นนี้น่าสนใจว่า โดยธรรมเนียมการตั้งชื่อ “ปาล” ย่อมแก่กว่า “ราม” เราทราบว่า พรญาปาลราช ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชธิราชที่ 4 อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 1969 ซึ่งในปีนั้นทรงมีพระชนมายุ 36 พรรษา ตามข้อมูลในจารึกรอยพระบาทยุคลวัดบวรฯ ดังนั้น จึงทราบว่า ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ. 1933 และเมื่อคราวที่พระราชบิดาสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1952 นั้น จึงทรงมีพระชนมายุ 19 พรรษาเท่านั้น ทำให้ได้ข้อสรุปว่า พรญารามราชควรต้องมีพระชนมายุน้อยกว่าพระองค์ นั่นย่อมแสดงว่า การแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระองค์กับพระอนุชาต่างมารดานี้ เป็นสงครามระหว่างสองยุวกษัตริย์ และมีนัยยะอีกด้วยทั้งสองฝ่ายต้องมี “คนหนุนหลัง” ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นฝ่ายพระราชมารดาของทั้งสองพระองค์

           อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดได้ว่า เหตุใดสมเด็จพระนรินทราธิราช (พระนครอินทร์) จึงโปรดฯ ให้พรญารามราช ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 3 (รามราชาธิราช) ก่อนพรญาปาลราช แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า พระราชมารดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 3 คือ “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์” อาจมีอำนาจในการต่อรองเพื่อ “ค้ำบัลลังก์” ต่ออายุให้เครือวงศ์สุโขทัยฝ่ายพระองค์ยังคงมีอำนาจอยู่ อย่างน้อยก็ควรถึงเมื่อพระองค์สวรรคต โดยสังเกตได้จาก อย่างน้อยเมื่อ พ.ศ. 1960 ตามข้อมูลในจารึกวัดสรศักดิ์ ผู้ครองเมืองสุโขทัยถูกปรับยศเหลือเพียง “ออกญาธรรมราชา” เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในปีดังกล่าว “ศรีจุฬาลักษณ์” อาจสิ้นพระชนม์ไปแล้ว คือสิ้นบารมีผู้ค้ำบัลลังก์ และเมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จึงได้มีการปรับระบบใหม่ ถอดสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 3 ให้มีพระยศเป็น “ออกญาธรรมราชา” เท่านั้น กระทั่ง พรญาปาลราชในฐานะ “พระพี่เขย” ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 4 ทำให้เจ้าเมืองสุโขทัยจึงมีชื่อว่า “พรญาราม” ตามพระนามเดิม และหลังจากนี้ไป อีกราว 50 ปี จึงมีหลักฐานปรากฏในฝ่ายอยุธยาว่านาม “ศรีจุฬาลักษณ์” ได้กลายเป็นนามพระสนมเอกในราชสำนักอยุธยาเท่านั้น และกลายเป็นโลกทัศน์และแรงบันดาลใจที่ส่งต่อให้ผู้ประพันธ์แต่งเรื่องนพมาศแต่งขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24


ผู้เขียน

ดร.ตรงใจ หุตางกูร

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นางนพมาศ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วีรสตรี ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา