Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village “ด้วยรัก เงินตรา และหน้าที่: สมรสข้ามชาติในหมู่บ้านอีสาน”

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 2278

Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village “ด้วยรัก เงินตรา และหน้าที่: สมรสข้ามชาติในหมู่บ้านอีสาน”

หนังสือ Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village เขียนโดย ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ (Patcharin Lapanun)

 

           หนังสือ Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village ของ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ (Patcharin Lapanun) มาจากวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก คณะมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย Vrije อัมสเตอร์ดัม เรื่อง Logics of Desire and Transnational Marriage Practices in a Northeastern Thai Village ค.ศ. 2013 ความในตอนนั้นของข้อเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า

“[หนังสือเล่มนี้] มีคุณูปการสำหรับการศึกษาในหลายสาขา นั่นรวมถึงปรากฏการณ์ระดับโลกของการแต่งงานข้ามชาติ อีกทั้งกลวิธีของหญิงไทยและหญิงชาติอื่นๆ ในบริบทโลกาภิวัตน์ ที่สำคัญคือ ธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านไทย” (Pasuk Phongpaichit 2019, 141)

           ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น Love, Money and Obligation ชี้ให้เราเห็นว่าภาพเหมารวมในการแต่งงานระหว่างหญิงไทยกับชาวต่างชาติเกิดขึ้นจาก “ความรักไม่ก็เงินตรา” นั่น ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

           ดร.พัชรินทร์ ชวนให้ผู้อ่านมองความสัมพันธ์ของหญิงกับชาวต่างชาติ มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 1960-1970 ในเวลานั้น สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อการต่อสู้ในเวียดนาม และพื้นที่บางแห่งอย่างพัทยากลายเป็นสถานที่ของ “การพักผ่อนและหย่อนใจ” (Rest and Recreation: R&R) แต่การแต่งงานหรือการอยู่กินของหญิงไทยกับคนต่างชาตินั้น ย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ชาวจีนอพยพในศตวรรษที่ 13 ชาวโปรตุเกสเข้ามาสัมพันธ์กับอยุธยาในศตวรรษที่ 16 หรือในระยะต่อมา เมื่อสยามลงนามในสนธิสัญญาการค้ากับหลายชาติในศตวรรษที่ 19 ชาวต่างชาติเหล่านี้เดินทางเข้ามาสู่สยามและบางส่วนตั้งรกรากที่นี่ (Lapanun 2019, 28–30) หรือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เจ้าสาวสยามจากสงคราม” (Siamese War Brides) อดีตเชลยศึกชาวดัตช์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครองคู่กับหญิงไทย บ้างสร้างครอบครัวที่นี่ บ้างเดินทางไปยังดัตช์อินดี (หรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน) (Lapanun 2019, 33–35)

           การแต่งงานข้ามชาตินั้นเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนในแต่ละยุคสมัย การแต่งงานข้ามชาติได้รับการสนับสนุนในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นวิธีการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำประเทศสู่ความทันสมัย ต่อเมื่อเกิดลัทธิชาตินิยมสมัยรัชกาลที่ 6 การแต่งงานระหว่างคนไทยกับชาวตะวันตก กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่สั่นคลอนความมั่นคงของชาติและผลกระทบต่อความเชื่อทางศาสนาในระดับท้องถิ่น (Lapanun 2019, 32–33) ส่วนความสัมพันธ์ของหญิงไทยกับทหารอเมริกันในยุคทศวรรษ 1960-1970 และกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวในช่วงทศวรรษ 1980 นั้นเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์แต่งงานข้ามชาติในปัจจุบัน งานวิจัยของ ดร.พัชรินทร์ ฉายให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์กับการแต่งงานที่เกิดขึ้นในบริบทนี้

           คู่สมรสข้ามชาติในบ้านนาดอกไม้ในจังหวัดอุดรธานีเป็นแหล่งข้อมูลหลักในการศึกษา เมื่อ ค.ศ. 2008 ทั้งหมดเป็นจำนวน 159 คู่ 25 คู่ ใช้ชีวิตโดยส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ส่วนอีก 123 คู่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ยังคงติดต่อและไปมาหาสู่กับครอบครัวและเครือญาติในบ้านนาดอกไม้ (Lapanun 2019, 172–74) ส่วนอีก 11 คู่อาศัยอยู่ในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ดร.พัชรินทร์ เก็บข้อมูลในพื้นที่บ้านนาดอกไม้ ทั้งการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่มี “ผัวฝรั่ง” เครือญาติ และเหล่าสามี และการสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ นอกจากนี้ เดินทางไปยังพัทยาเพื่อสัมภาษณ์ผู้หญิงจากบ้านนาดอกไม้และจากพื้นที่อื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการสัมพันธ์กับชาวต่างชาติและอาจเป็น “สามีในอนาคต”

           ข้ออภิปรายสำคัญของ ดร.พัชรินทร์ คือ การแต่งข้ามชาติมิได้มีเพียง “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” หรือเป็นเพียงการค้ามนุษย์ที่ “ซ่อนเร้น” ที่มีเหยื่อ (หญิงที่มีฐานะยากจน) กับผู้กระทำ (ชายต่างชาติที่มีอำนาจเงินตรามากกว่า) ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายก่อตัวขึ้นจากเงื่อนไขเศรษฐกิจการเมืองและ “ตรรกะวัฒนธรรมแห่งความปรารถนา” (cultural logics of desire) (Lapanun 2019, 77) ปัจจัยหลายประการส่งผลให้หญิงที่มิได้รับการศึกษาที่จำกัด (หรือในบางกรณีผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง) ตัดสินใจสร้างครอบครัวกับชายต่างชาติ ในทางหนึ่ง มาจากความไว้เนื้อเชื่อใจ การดูแลซึ่งกันและกัน และภาพลักษณ์ของชายในท้องถิ่นที่ “ไร้ความรับผิดชอบ” (Lapanun 2019, 134) ในอีกทางหนึ่ง พวกเธอแสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่วนบุคคลและการทำ “หน้าที่ของลูกผู้หญิง” (dutiful daughters) (Lapanun 2019, 19) ในฐานะเมียฝรั่ง พวกเธอต้องรักษาสายสัมพันธ์กับพ่อแม่และเครือญาติ ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงดูแลและส่งเสีย “ลูกติด” ที่เกิดกับอดีตสามีคนไทย ทั้ง “บุญคุณ” และ “บทบาทของแม่” ส่งอิทธิพลให้พวกเธอต้องทำหน้าที่ของลูกผู้หญิง (Lapanun 2019, 122–26)

           ในเส้นทางในการหาคู่สามีชาวต่างชาติ หญิงจากบ้านนาดอกไม้จำนวนหนึ่งเข้าสู่วงการ “หญิงบาร์” หรือ “หญิงค้าบริการ” ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ดังเช่นพัทยา ในที่นี้ ดร.พัชรินทร์ ชี้ให้เห็นว่า แหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหล่านั้นเป็นสถานที่ของ “โอกาสและความหวัง” การพิจารณาถึงการค้าเพศข้ามชาติ จึงไม่ควรใช้มุมมองทางศีลธรรมของเหยื่อกับการถูกเอาเปรียบ หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตรากับการสมสู่ทางเพศเท่านั้น (Lapanun 2019, 96–103) ในหลายกรณี หญิงจำนวนหนึ่งพยายามสานสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติ เพราะความดึงดูดทางเพศและ “ภาพฝัน” (fantasy) ของชีวิตที่สุขสบาย แต่ความสัมพันธ์นั้นกลับไม่ได้พัฒนาสู่การแต่งงาน เพราะชายฝรั่งเหล่านั้นไม่ยินดีที่จะรับภาระ หรือไม่มีศักยภาพมากพอในการสนับสนุนทางการเงินให้กับเธอ ลูกติด หรือพ่อแม่ของผู้หญิงเหล่านี้ การต่อรองระหว่างเธอกับ “สามีในอนาคต” ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ ดังที่ ดร.พัชรินทร์ อ้างถึงแนวคิด “intentionality” ของอรต์เนอร์ (Ortner 2006) “ความตั้งใจที่ครอบคลุมทั้งเหตุผลและอารมณ์ และสำนึกในหลายระดับ ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายบางประการในท้ายที่สุด” (Lapanun 2019, 110)

           ในการศึกษาการแต่งงานข้ามชาติ ดร.พัชรินทร์ เสนอให้พิจารณาความเกี่ยวข้องและผลกระทบทางสังคมอื่นๆ ที่แวดล้อมหญิงผู้เป็น “เมียฝรั่ง” ด้วย ดังเช่นบทบาทของผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง (“left behind”) หรือสมาชิกในครอบครัวฝ่ายหญิง พวกเขาและเธอไม่ใช่เพียงผู้รับเงินหรือความช่วยเหลือจากลูกสาวที่เป็นเมียฝรั่งแต่เพียงถ่ายเดียว หากแต่แสดงบทบาทในการสนับสนุนให้ลูกสาวแสวงหาและประสบความสำเร็จในการครองคู่กับสามีชาวต่างชาติ บางกรณี แม่เองสนับสนุนให้ลูกสาวไปทำงานที่พัทยาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ผลพวงที่เกิดขึ้นกับการสนับสนุนเช่นนั้น คือพ่อแม่สูญเสียอำนาจในการเลือกคู่ครองให้กับลูกสาว หรือในบางกรณี มิอาจห้ามปรามลูกสาวที่มี “ผัวฝรั่ง” นอกใจสามี (Lapanun 2019, 149–54)

           เมื่อพิจารณาในภาพที่ใหญ่ขึ้น การแต่งงานข้ามชาติส่งอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในบ้านนาดอกไม้หลายประการ บ้านหลังใหม่และเครื่องเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยจากการสนับสนุนทางการเงินของสามีชาวฝรั่ง เปลี่ยนแปลงภาพชนบทของบ้านนาดอกไม้อย่างมาก รูปแบบการใช้ชีวิตของเมียฝรั่งและครอบครัวของเธอปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ทั้งการท่องเที่ยวตากอากาศ การซื้อหาสินค้าหรือกิจกรรมการชมภาพยนตร์ในเวลาว่าง เมียฝรั่งหลายคนเป็นเจ้าภาพในการทำบุญทอดผ้าป่าและทอดกฐิน รวมทั้งเงินบริจาคสนับสนุนสถานศึกษาในบ้านเกิด และการพัฒนาท้องที่ สถานภาพทางสังคมหญิงที่แต่งงานกับชายชาวต่างชาติจึงเกิดเป็น “ชนชั้นใหม่” ในที่นี้ ดร.พัชรินทร์ อธิบายภาวะดังกล่าวด้วยมโนทัศน์ “ความแตกต่างทางชนชั้น” (class distinction) ของบูร์ดิเยอ (Bourdieu 1984) และ “ชั้นทางสังคม” (class stratification) ของเวเบอร์ (Weber 1947) ทั้งทรัพย์สินที่มั่งคั่งมากขึ้น การใช้ชีวิตที่ทันสมัย และการนับหน้าถือตาทางสังคม เป็นเครื่องหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงชนชั้นที่แตกต่าง และการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) (Lapanun 2019, 155–56)

           ในทางกลับกัน สถานภาพใหม่ของเมียฝรั่งนำมาสู่ทัศนคติในเชิงลบได้เช่นกัน ในแง่ของความสัมพันธ์ทางเพศภาวะ (gender relations) ผู้ชายในท้องถิ่นมองผู้หญิงที่แต่งงานกับผัวฝรั่งเพราะต้องการความร่ำรวยและความสบาย พวกเขาปฏิเสธมุมมองของผู้หญิงที่เห็นว่า พวกเขาไร้ความรับผิดชอบและไม่น่าเชื่อถือ พวกเธอเองมองข้ามบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว กล่าวถึงที่สุดแล้ว ปฏิกิริยาของผู้ชายในท้องถิ่นสะท้อนถึงความรู้สึกที่ “ชายเป็นใหญ่” กำลังถูกท้าทาย รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองนั้นเปราะบาง (Lapanun 2019, 145) ส่วนการนับหน้าถือตาทางสังคม (social recognition) จากเงินบริจาคของเมียฝรั่งสำหรับการพัฒนาในท้องที่ หรือการทำบุญที่ระดมเงินบริจาคได้จำนวนมาก กลับถูกกลุ่มชนชั้นนำเดิมในหมู่บ้านหรือกลุ่มคนมั่งมีในเมืองมองภาพของเมียฝรั่งเหล่านี้ว่าเป็น “พวกคนอวดรวย” (nouveaux riches) สำหรับคนในหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง เห็นว่ามองเมียฝรั่งนั้นเคยมีฐานะยากจนและมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้ากาม จึงกล่าวได้ว่า สถานภาพใหม่ของเมียฝรั่งเหล่านี้มาพร้อมกับความอิหลักอิเหลื่อในการยอมรับความมั่งคั่งและสถานภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง (Lapanun 2019, 158)

           อย่างไรก็ดี วอเตอร์ส (Waters 2021, 189) ชี้ให้เห็นว่าสุ่มเสียงที่ขาดหายไปในงานของ ดร.พัชรินทร์ เช่น ทัศนคติอดีตสามีคนไทยของบรรดา “เมียฝรั่ง” กับสถานการณ์ของพวกเขา อดีตภริยา และลูกๆ ที่ต้องอยู่ในการดูแลของพ่อเลี้ยงชาวต่างชาติ ข้อกล่าวอ้างของเมียฝรั่งที่ว่า “อดีตสามีไม่ยินดีที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ของลูก” นั้นพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร หรือในอีกทางหนึ่ง มุมมองของครอบครัวทางฝ่ายชายในต่างประเทศนั้น เข้าใจถึงสถานการณ์ที่ชายเหล่านี้ต้องรับผิดชอบครอบครัวของผู้หญิงเช่นใด นอกจากนี้ สำหรับโคเฮน (Cohen 2020, 170) บทสัมภาษณ์กับชายต่างชาติในงานของ ดร.พัชรินทร์ ยังไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอดีตผัวฝรั่งที่ต้องแยกกันอยู่หรือหย่าร้างกับเมียคนไทย พวกเขานั้นรู้สึกกับการที่ฝ่ายหญิงแอบคบชู้อย่างไร ข้อเสนอของทั้งสองเป็นคำถามที่ชวนคิด และน่าจะเป็นอีกประเด็นสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการต่างงานข้ามชาติในวันข้างหน้า

           หนังสือ Love, Money and Obligation:Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกาภิวัตน์กับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเมียฝรั่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ หรือแรงงานไทยข้ามชาติในสิงคโปร์ (Kitiarsa 2014) ชาวบ้านมิใช่คนที่อยู่ติดกับถิ่นฐาน และก้าวสู่สภาวะของการเป็น “ชาวบ้านแบบพลเมืองโลก” (cosmopolitan villagers) (Keyes 2014 อ้างใน Lapanun 2019, 158-159;169) ทั้งการแต่งงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติ ต่างเป็นปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและชุมชนในอีสาน ชุมชนที่กำลังเผชิญหน้าระหว่างความเป็นไปในท้องถิ่นกับพลวัตของกระแสโลก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งอิทธิพลทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม ทั้งในสังคมบ้านเกิดหรือสังคมปลายทางที่ชาวบ้านจะต้องไปใช้ชีวิต การศึกษาที่คลี่ให้เห็นถึงความเป็นมาของปรากฏการณ์ และความเป็นไปของภาวะข้ามพรมแดน จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ และความรู้สึกอันสลับซับซ้อนของผู้คนมากยิ่งขึ้น

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Isan people in Contemporary World มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC Library และ Line: @sac-library

 

บรรณานุกรม

Bourdieu, Pierre. 1984. Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste. Cambridge, Mass: Harvard Univ. Press.

Cohen, Erik. 2020. “Book Reviews:Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village. By Patcharin Lapanun.” Journal of Social Issues in Southeast Asia 35 (1): 168–70. https://doi.org/10.1355/sj35-1i.

Keyes, Charles F. 2014. Finding Their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.

Kitiarsa, Pattana. 2014. The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.

Lapanun, Patcharin. 2019. Love, Money, and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village. Singapore: NUS Press.

Ortner, Sherry B. 2006. Anthropology and Social Theory: Culture, Power, and the Acting Subject. Durham: Duke University Press.

Pasuk Phongpaichit. 2019. “Book Review: Patcharin Lapanun. Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village.” Journal of Mekong Societies 15: 137141. https://doi.org/10.14456/JMS.2019.20.

Waters, Tony. 2021. “Book Reviews: Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village. By Patcharin Lapanun.” Journal of the Siam Society 109: 186–90.

Weber, Max. 1947. The Theory of Social and Economic Organization. Translated by A. M. Henderson and Talcott Parsons. New York: Free Press.

 


 

ผู้เขียน

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

 

กราฟิก

อริสา ชูศรี

 


 

ป้ายกำกับ การแต่งงานข้ามชาติ เงินตรา หมู่บ้านอีสาน Patcharin Lapanun ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share