แกะรอยกฎหมายสมัยอยุธยา : กฎหมายหลักไชย (ฉบับบริติชมิวเซียม)

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 6300

แกะรอยกฎหมายสมัยอยุธยา : กฎหมายหลักไชย (ฉบับบริติชมิวเซียม)

 

เขียนโดย วิภาดา อ่อนวิมล

 

           หากกล่าวถึงกฎหมายโบราณของไทย “กฎหมายตราสามดวง” คงเป็นชื่อแรกที่ปรากฏขึ้นในความคิด เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีสำคัญเป็นอย่างมาก เหตุเพราะเป็นแหล่งรวบรวมตัวบทกฎหมายไม่ว่าจะเป็นพระธรรมนูญ พระธรรมสาตร อินทภาษ พระไอยการลักษณะต่าง ๆ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎมณเทียรบาล พรหมศักดิ์ ฯลฯ จึงถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายอีกหลายฉบับที่นำมาปรับใช้ ยึดถือ และปฏิบัติตามเพื่อเป็นหลักของบ้านเมืองมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม การชำระกฎหมายตราสามดวงที่มีขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กลับมิได้มีการรวบรวมหรือกล่าวถึงหลักกฎหมายที่สำคัญอีกหลักความหนึ่งเข้าไว้ด้วยนั้นคือ หลักความนามว่า “หลักไชย”

           หลักไชย เป็นตำรากฎหมายที่มีลักษณะพิเศษคือ ไม่เพียงแต่เป็นตัวบทมาตราและบทลงโทษเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเอกสารคำสอนที่มีให้แก่ผู้พิพากษาและตระลาการสำหรับการตัดสินคดี อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความ ขั้นตอนการพิจารณาคดี กลวิธีการแก้คดีความ ลักษณะการรับฟ้อง/ตัดฟ้อง/ตัดสำนวน ฯลฯ พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างคดีความประกอบเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้อ่าน ด้านจุดประสงค์ของการประพันธ์ขึ้นมักกล่าวไว้ในส่วนต้นของเนื้อหาถึง พระราชโองการของพระมหากษัตริย์ที่ให้เหล่าทิศาปาโมกข์และราชบัณฑิตร่วมกันแต่งขึ้นแก้กันเป็นกระทงความ เพื่อประโยชน์และช่วยในการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรมในสมัยนั้น กฎหมายหลักไชยนี้นับว่าเป็นกฎหมายที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง มีการระบุถึงคุณูปการนานับประการของการศึกษาหลักไชยต่อบุคคลผู้พบและศึกษา ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าหลักไชยนี้ทุกคนสามารถศึกษาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน ดังมีข้อความกล่าวถึงในบางฉบับอย่างว่า ผู้ได้พบหลักไชยประดุจได้พบโคมแก้วอันประเสริฐ ผู้ที่ศึกษาหลักไชยนั้นหากเป็นไพร่จะได้เป็นพระหรือหลวง ถ้าเป็นยาจกจะได้เป็นหัวหมื่นดาบทอง ฯลฯ

           อีกประการหนึ่ง หลักไชย นับว่ามีความสำคัญในด้านที่เป็นหลักฐานด้านนิติศาสตร์และการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีอิทธิพลจนถูกนำไปใช้ยังบ้านเมืองร่วมสมัยแห่งอื่น มีการใช้และคัดลอกสืบต่อมาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ จากการสำรวจพบว่ามีความแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่ภาคใต้จนกลายเป็นตำรากฎหมายพื้นบ้าน และปรากฏการใช้มาอย่างยาวนานจนถึงช่วงก่อนการใช้ระบบปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นเป็นที่สังเกตว่า หลักกฎหมาย “หลักไชย” ส่วนมากมีการบันทึกลงบนสมุดไทยดำหรือขาว และทางใต้เรียกว่าหนังสือบุด ด้วยลักษณะของเอกสารที่บันทึกลงเช่นนี้ที่เป็นหน้ากระดาษพับทบกันไปมา ไม่มีการเย็บยึดเป็นเล่ม จึงทำให้มักมีสภาพชำรุดไม่สมบูรณ์ อันส่งผลต่อมาถึงในส่วนเนื้อความภายในด้วยเช่นกัน

           แม้ว่าชื่อของหลักไชยจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันแล้วในปัจจุบัน หากแต่ถูกกล่าวถึงหลายครั้งเป็นร่องรอยให้สืบหาได้ในวรรณกรรมโบราณเช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม) / เพลงยาวถวายโอวาท / ปฐมมาลา / ปถม ก กา หัดอ่าน เป็นต้น โดยหลักไชยนี้ปรากฏร่วมกับหลักกฎหมายอื่นอย่างกรมศักดิ์ พระไอยการ กฎมณเทียรบาล พระราชบัญญัติตัดสำนวน แสดงให้เห็นว่า หลักไชย เป็นตำรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งและถือเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการศึกษาที่ควรต้องรู้ในเวลานั้น

           ปัจจุบันมีการค้นพบและศึกษาหลักไชย โดยการปริวรรตจากต้นฉบับถ่ายถอดเป็นอักษรไทยตามอักขรวิธีแบบปัจจุบันอยู่หลายฉบับ ส่วนมากพบทางภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ฯลฯ) บางฉบับมีประวัติที่มาจากภาคกลาง และอีกจำนวนหนึ่งไม่ปรากฏประวัติที่มา ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายฉบับที่ถูกเก็บรักษาไว้ตามหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งในครอบครองของเอกชน ต้นฉบับและสำนวนของหลักไชยจึงมีความหลากหลายแทบไม่ซ้ำกัน มีการจารบันทึกทั้งอักษรไทยและอักษรไทยปนอักษรขอม โดยใช้ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ บางครั้งมีการใช้ภาษาบาลีร่วมด้วย ส่วนสำนวนที่ใช้แต่งมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

           ในเวลานี้ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดทำโครงการเอกสารโบราณสู่การเข้าใจข้ามวัฒนธรรม จึงได้คัดเลือกเอกสารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม หนึ่งในนั้นคือ หลักไชย โดยฉบับที่นำมาปริวรรตและถ่ายถอดเนื้อความครั้งนี้ ต้นฉบับได้รับมาจากดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร จากการสอบถามถึงประวัติที่มาพบว่า เอกสารฉบับนี้ได้รับจากท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในรูปแบบเอกสารถ่ายสำเนา ซึ่งมีต้นฉบับอยู่ที่บริติชมิวเซียม (ประเทศอังกฤษ) สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่ร้อยโทเจมส์ โลว์ (James Low) ชาวอังกฤษ ได้ไปจากเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตเข้ามาพบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ ค.ศ.1824 / พ.ศ.2367 ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 2 และภายหลังได้นำกลับไปยังประเทศอังกฤษด้วย

 

“หลักไชย ฉบับวัดสำโรง จ.นครปฐม ในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย”

ฐานข้อมูลเอกสารโบราณ

ภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           หลักไชยฉบับนี้บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทยและภาษาไทยถิ่นใต้บางส่วน รูปแบบการประพันธ์พบทั้งแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยมีการเริ่มต้นด้วยการแต่งแบบร้อยกรอง (กาพย์ยานี 11) ถึงเนื้อหาสาระสำคัญหลักเกี่ยวกับหลักการพิจารณาคดีของตุลาการและผู้พิพากษาในกระบวนการตัดสินคดีความ โดยใช้การอุปมาเปรียบเทียบยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย โดยเทียบดั่งการปลูกต้นไม้ เช่น คำค้านติงทุเลาเปรียบเป็นเปลือกและกิ่งก้าน ตระลาการคือชาวสวน ข้ออ้างคือแมลงด้วงและตัวเพลี้ยที่จะมากัดกินสำนวนคดี เป็นต้น และเมื่อพิจารณาเนื้อหาพบว่าบางส่วนได้แสดงถึงการได้รับอิทธิพลมาจากตำรากฎหมายอื่นๆ เช่น ลักษณะตัดฟ้อง ลักษณะพยาน ลักษณะตัดสำนวน หลักอินทภาษ โดยที่สำคัญสุดคือ กฎหมายตราสามดวง โดยอาจมีการนำบางส่วนมาปรับเพื่อให้เข้ากับบริบททางสภาพสังคมในเวลานั้น ดังนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า หลักไชย น่าจะมีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับกฎหมายตราสามดวง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากหลักไชยหลายๆ สำนวน แม้เอกสารฉบับนี้ไม่ปรากฏการระบุปีที่เขียนหรือคัดลอกอย่างชัดเจน แต่ในเนื้อหาบางส่วนได้กล่าวถึงเหตุการณ์หรือปีศักราชอยู่หลายคราว ซึ่งส่วนมากตรงกับสมัยอยุธยา เช่น “วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมียโทศก” คือ วันพฤหัสบดี ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2113 รัชสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช/“วันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเมียโทศก” คือ วันพุธ ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2293 รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าเอกสารนี้มีการเขียนคัดลอกเพิ่มตามแต่ละสมัยและมีการใช้สืบเนื่องต่อมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม หลักไชย ฉบับที่ได้จาก บริติชมิวเซียมนี้ ก็มีความแตกต่างจากฉบับอื่นในส่วนที่ไม่มีการกล่าวเกริ่นถึงจุดประสงค์การแต่ง ตัวอย่างคดีความที่เป็นกระทงความ และกลความการแก้คดี 8 ประการอันมักพบในฉบับอื่น

           กฎหมายหลักไชยนี้ในอดีตถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสังคม การเมือง การปกครอง โดยเฉพาะภาคใต้ที่นำกฎหมายนี้ใช้เป็นกฎหมายท้องถิ่น กล่าวได้ว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าในการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตทั้งด้านการเมืองการปกครอง สภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อ

 

อ้างอิง

คำานวณ นวลสนอง. การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่อง หนังสือหลักไชย ฉบับวัด แจ้ง ตำาบลอ่างทอง อำาเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541.

ปก แก้วกาญจน์. การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่อง กฎหมายชาวบ้านภาคใต้: หลักอินทภาษและหลักชัย. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2542.

พระยาสุนทรานุกิจปรีชา. หลักไชย เล่ม 1. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2457.

สารูป ฤทธิ์ชู. “กฎหมายท้องถิ่นใต้.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรม

วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2528.

________. “หลักไชยฉบับ จ.ศ. 1082 (พ.ศ. 2263).” ใน วรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, 2548.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว รสสุคนธ์ ขันธ์นะภา และพูนพร พูลทาจักร. “หลักความนาม หลักไชย.” รวมบทความ ประวัติศาสตร์10 (ก.พ. 2531): 1-58.

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเอกสารโบราณของไทย เรื่อง “กฎหมายหลักไชย” ใน โครงการเอกสารโบราณสู่การเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ กฎหมายหลักไชย กฎหมายหลักไชย เอกสารโบราณ วิภาดา อ่อนวิมล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share