The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore “ชีวิตที่เปล่าเปลือย” นาฏกรรมชีวิตของแรงงานไทยข้ามชาติในสิงคโปร์

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 1872

The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore “ชีวิตที่เปล่าเปลือย” นาฏกรรมชีวิตของแรงงานไทยข้ามชาติในสิงคโปร์

 

หนังสือเรื่อง The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore เขียนโดย ดร.พัฒนา กิติอาษา

 

           หนังสือเรื่อง The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore ตีพิมพ์หลังการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับของนักมานุษยวิทยา ดร.พัฒนา กิติอาษา หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมบทความของ ดร.พัฒนา ซึ่งได้ศึกษาแรงงานไทยข้ามชาติในสิงคโปร์ และนำมาเขียนเผยแพร่ในรูปแบบบทความทางวิชาการในวารสาร และรายงานการศึกษาในระหว่าง ค.ศ. 2005-2012

           หนังสือนี้ ดร.พัฒนา นำเสนอกรอบการศึกษาอย่างกระชับ รวมถึงเน้นสาระสำคัญไว้ในบทที่ 1 เกริ่นนำ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละบทตอนอย่างน่าติดตาม

           บทเกริ่นนำ ดร.พัฒนา เลือกใช้คำว่า “Bare Life” หรือในทีนี้ ผู้เขียนรีวิวเลือกใช้คำว่า “ชีวิตที่เปล่าเปลือย” เพื่ออธิบายชีวิตของแรงงานไทยในสิงคโปร์ (รวมถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อื่น) ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ในชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตในบ้านเกิด ดร.พัฒนา ให้อรรถาธิบายถึงแนวคิดเรื่อง “ความเปล่าเปลือย” ของนักปรัชญาการเมืองอย่างอากัมเบน (Agamben) โดยชี้ให้เห็นถึงการทำงานของอำนาจรัฐที่เข้ามาพันเกี่ยวกับชีวิตของผู้คน ผ่านกฎหมายและสถาบันที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น ยามใดที่เกิดภาวะวิกฤตเช่น สงคราม การต่อต้าน มนุษย์จะกลายเป็น homo sacer ที่ถูกผลักออกจากความเป็นมนุษย์ และอาจถูกหมายชีวิตโดยไม่ถือเป็นการฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง ภาวะดังกล่าวนั้นไม่ต่างอะไรกับเหล่าแรงงานข้ามชาตินั้นถูกควบคุมกดขี่จากกฎเกณฑ์ของต่างประเทศ สิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองของประเทศบ้านเกิดกลับถูกยกเว้น และต้องดำเนินตามครรลองของประเทศปลายทางกำกับเท่านั้น มิหนำซ้ำยังถูกขูดรีดแรงงาน ซึ่งเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองต่อตลาดทุนในโลกนครอย่างสิงคโปร์ (Kitiarsa 2014, 4–5)

           ยิ่งกว่านั้น ดร.พัฒนา พยายามชี้ด้วยว่า แม้ชีวิตของเหล่าแรงงานไทยข้ามชาตินั้นเปล่าเปลือย แต่เหล่าหญิงและชายนั้นยังคงสภาวะของผู้กระทำการ (agency) (Bourdieu 1977; Geertz 1973; Giddens 1979 อ้างใน Kitiarsa 2014, 8) ที่สร้างและผลิตซ้ำความหมายกับจินตนาการ เพื่อยึดโยงชีวิตและวิถีที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ทั้งสิ่งที่กระทำและสิ่งที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย ทั้งความสุขและความทุกข์ ทั้งความสมหวังและความผิดหวัง ล้วนเป็นสิ่งที่เหล่าคนงานต้องเผชิญและจัดการกับสภาวะนั้น

“ชีวิตคนอพยพข้ามชาติจึงกอปรด้วยชุดและฉากของการกระทำ ที่ชุ่มด้วยอารมณ์และโชกด้วยเพศภาวะที่ต่อรอง เพื่อปรับแปรระเบียบและโครงสร้างเชิงสถาบันที่ต่างต้องเผชิญ” (Kitiarsa 2014, 9)

           ด้วยความเป็น “คนบ้านเดียวกัน” ดร.พัฒนา ทำงานภาคสนามในกลุ่มแรงงานจากภาคอีสานของไทยในสิงคโปร์ ร่วมสังเกตการณ์ พูดคุยและสัมภาษณ์ด้วยภาษาถิ่น ใช้เวลาร่วมกับแรงงานในวันหยุดงาน รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งในยามว่าง หรือแม้แต่พินิจเนื้อร้องในบทเพลงที่คนงานเหล่านี้ฟัง เพื่อเร้าและปลอบประโลมความรู้สึกของตน ข้อมูลหลากหลายได้รับการประมวลและลำดับเป็นเนื้อหาของหนังสือในส่วนต่อมา

           ในบทที่สอง ดร.พัฒนา ชวนผู้อ่านทำความรู้จักพัฒนาการของแรงงานพลัดถิ่นสู่แรงงานข้ามชาติ ผ่านบทเพลงต่างๆ และปูพื้นให้เห็น “(หมู่)บ้านข้ามชาติ” (village transnationalism) ในบทต่อมา ด้วยการชวนให้ผู้อ่านทำความรู้จักสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตในดินแดนปลายคาบสมุทรนี้ แม้เขาและเธอต้องเผชิญกับระเบียบที่เคร่งครัด แต่คนงาน แม่ค้า และผู้ประกอบการต่างๆ ได้เปลี่ยนสถานที่หลายแห่งให้มีสภาวะเสมือนหมู่บ้านที่ตนจากมา ในบทที่สี่และห้า ดร.พัฒนา ชวนผู้อ่านเข้าไปทำความรู้จักกับความรู้สึกและอารมณ์สามัญของมนุษย์ อย่างความใคร่และเพศสัมพันธ์ เนื้อหาไม่ต้องการฉายให้เห็นความสัมพันธ์ของแรงงานชายกับหญิงที่ค้าบริการ จากมุมมองเชิงศีลธรรมหรือสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของ “ผู้ได้” และ “ผู้เสีย” หากแต่เป็นสุ้มเสียงของเขาและเธอที่เข้ามาอยู่ในวังวนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา หรือกระทั่งความสัมพันธ์ของแรงงานชายไทยและแรงงานหญิงสัญชาติอื่น ที่ต่างเข้ามาโรมรันในสนามของความสัมพันธ์ทั้งๆ ที่รู้ว่าบางทีปลายทางอาจไม่ใช่สุขนาฏกรรมที่วาดหวัง

           จากความสุขหรือทุกข์ของ “ใจ” ดร.พัฒนา ชวนพินิจถึงฉากสุดท้ายของชีวิตมนุษย์แรงงานหลายต่อหลายคนไปไม่ถึงฝั่งฝัน การทำงานในต่างแดนกลายเป็นการจากบ้านเกิดอย่างไม่มีวันหวนกลับ “ความตาย โศกนาฏกรรม และภูตผี” ในบทที่หก เผยให้เห็นสาเหตุหลายประการที่พรากชีวิตเหล่า “นักรบเศรษฐกิจ” ที่แม้จะได้รับการเชิดชูว่าเป็น “นักรบ” เพราะนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศจากหยาดเหงื่อและกำลังแรง แต่เมื่อวาระสุดท้ายของพวกเขามาถึงในต่างแดน กลับกลายเป็น “เรื่องประจำ” ที่เกิดขึ้นได้ในสายตาของทางการ

           ในส่วนสุดท้ายของหนังสือ ดร.พัฒนา ชี้ให้เห็นถึงสิงคโปร์กับความเปล่าเปลือยของแรงงานข้ามชาติ คงเป็นเรื่องยากนักที่ดินแดนนี้จะกลายเป็นบ้าน ไม่เพียงเฉพาะกฎหมายและระเบียบที่ไม่เปิดประตูให้กับแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งทักษะ สำหรับแรงงานข้ามชาติ ปลายทางของพวกเขาคือบ้านเกิดที่จากมา แต่ต่างคนต่างมีปลายทางที่แตกต่างกัน บ้างประสบสิ่งที่หวัง บ้างตกอยู่ในวังวนของตลาดแรงงาน บ้างกลับบ้านพร้อมกับหนี้สินที่ไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นจากการใช้ชีวิตในต่างแดน หรืออีกไม่น้อย ที่กลายเป็นเพียงเถ้าอัฐิกลับมาหาพ่อแม่และครอบครัว

           แม้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมบทความต่างกรรมต่างวาระ แต่หนังสือ The Bare Life กลับฉายชัดถึงชีวิตคนงานไทยในสิงคโปร์ เสมือนละครโรงใหญ่ที่มี “แรงงาน” เป็นตัวละครที่ดำเนินเรื่องได้อย่างแยบคาย เฉกเช่นประโยคในบทสรุปหนังสือที่กล่าวว่า

“The transnational world is a theater of dreams and sensibilities” (โลกข้ามพรมแดนชาติใบนี้คือนาฏกรรมของความฝันและการคิดถึงความเป็นจริง) (Kitiarsa 2014, 131)

           ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนรีวิวจึงต้องการยกตัวอย่างความน่าสนใจของเนื้อหาและกลวิธีการเขียน เพื่อชวนผู้อ่านทำความรู้จัก “โลกใบนี้” เนื้อหาในบทตอนที่ชื่อว่า “The Lyrics of a Laborious Life” (ลำนำกรรมาชน) นำพาไปยังโลกดนตรีของคนงานผ่านตัวอักษร ดร.พัฒนาเลือกใช้การวิเคราะห์บทเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิต ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 2000 เพื่อบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนและแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แทนที่จะใช้ข้อมูลตัวเลขหรือสถิติ บทเพลงกลายเป็นตัวแทนเรื่องราวของชาวนาชาวไร่ที่จากบ้านเกิดมาสู่การเป็นแรงงานเมืองใหญ่ จากการค้าแรงงานเป็นฤดูกาลสู่การทำงานแบบเต็มเวลา ในที่สุด ผู้คนจำนวนหนึ่งกลายเป็นแรงงานในต่างแดน แทนการทำงานในเมืองใหญ่ที่มีโอกาสกลับบ้านเกิดในช่วงเทศกาล

           การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าบทเพลงจำนวนหนึ่งสะท้อนความรู้สึก ความเปล่าเปลี่ยว ความเหงาของแรงงานข้ามถิ่นและข้ามชาติ ในอีกด้านหนึ่ง บทเพลงจำนวนไม่น้อยตอกย้ำถึงลักษณะชายเป็นใหญ่ บ้างตัดพ้อผู้หญิงผู้เป็นภรรยาที่เปลี่ยนใจไปมีรักใหม่ บ้างย้ำถึงบทบาทลูกผู้ชายที่จะต้องหาเลี้ยงครอบครัว โลกดนตรีช่วยให้เราเข้าใจภาวะภายในของแรงงาน ในเงื่อนไขของการเคลื่อนย้ายแรงงานคนข้ามถิ่นและข้ามชาติ และสะท้อนการเชื่อมโยงท้องถิ่นกับโลก

           ตัดข้ามมายังฉากตอนสำคัญในสิงคโปร์ในบท “Village Transnationalism” ความเข้าใจชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในสิงคโปร์นั้น ต้องมองผ่านมโนสำนึกของเหล่าคนงานที่เติบโตมาในสังคมหมู่บ้าน และเมื่อก้าวมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ต่างแดนอย่างสิงคโปร์ พวกเขาพกพานิสัยและการปฏิบัตินั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือเรียกได้ว่าเป็นกรอบ “village-based transnationalism” หรือ (หมู่)บ้านข้ามชาติ (Kitiarsa 2014, 49) ห้างใหญ่ใจกลางเมืองสิงคโปร์ อย่างโกลเดนไมล์และอาณาบริเวณใกล้เคียง กลายสภาพ “หมู่บ้าน” กิจกรรมทางสังคมของคนงานไทย-อีสาน แม่ค้า และผู้ประกอบการในห้าง ทั้งการกิน การดื่ม การสรวลเสเฮฮา การซื้อและขายสินค้าจากเมืองไทย หรือ “การขายบริการ” ของเหล่าแม่ค้าข้ามแดน ต่างชี้ให้เห็นการฉวยใช้สถานที่ให้ตอบสนองความต้องการภายในแบบเคยเกิดขึ้นใน “(หมู่)บ้าน”

           ตัวอย่างสุดท้าย ในงานชิ้นนี้ ดร.พัฒนา กล่าวถึงความสัมพันธ์ของทางการกับแรงงานข้ามชาติ โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเพศกับกฎเหล็กของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อแรงงานข้ามชาติ เรื่องราวนี้ปรากฏในเรื่อง “State, Intimacy, Desire” (รัฐ ความใกล้ชิด และความปรารถนา) กฎเกณฑ์มากมายกำกับพฤติกรรมทางเพศของแรงงาน เช่น กฎที่ระบุถึงข้อห้ามในการแต่งงานของแรงงานข้ามชาติกับพลเมืองหรือผู้พำนักถาวร และการต่อใบอนุญาตทำงานจะต้องมีการตรวจโรคและร่างกาย แรงงานข้ามชาตินั้นจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือตั้งครรภ์ ระเบียบดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ต้องการจำกัดสิทธิ์ในการใช้ชีวิตทางเพศของแรงงาน

           อย่างไรก็ดี ข้อมูลในบทนี้กลับชี้ถึงความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้นได้ แม่ค้าหลายคนเดินทางไปและกลับระหว่างเมืองชายแดนกับสิงคโปร์ และ “ให้บริการ” กับแรงงานชายเหล่านั้น เรื่องราวของพวกเธอสะท้อนให้เห็นการอยู่รอดของครอบครัวจากการขายสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่พวกเธอปฏิบัติในสิงคโปร์นั้นแตกต่างจากสิ่งที่พวกเธอปฏิบัติที่บ้าน ฉะนั้น การมองภาพเหมารวมที่เห็นว่าคนงานชายเป็นผู้กระทำและแม่ค้าเป็น “เหยื่อ” คงไม่ถูกต้องทั้งหมด

รูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศที่ยืดหยุ่นระหว่างคนข้ามถิ่นในบริบทสิงคโปร์นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้กระทำการของปัจเจกบุคคล ต่างต่อรองกับกฎเหล็กและการควบคุมของรัฐ ...แม้มีการจับจ้องจากทางการสิงคโปร์อย่างแข็งขัน แต่ผู้คนข้ามแดนเหล่านี้ยังสามารถหาช่องทางตอบสนองแรงปรารถนาของตนภายในพื้นที่ติดต่อ (contact zone) และในสภาวะของความเป็นอยู่ที่มีการเคลื่อนไหวสูงสำหรับพวกเขา (Kitiarsa 2014, 89)

           ตัวอย่างที่ผู้เขียนรีวิวยกมาในที่นี้ สะท้อนว่าผลงานของ ดร.พัฒนา ฉายโลกภายในของคนงานไทยในต่างแดนที่ควรมองเห็นและ “เสียง” ของแรงงานที่ควรรับฟัง อย่างไรก็ดี ในบทความอื่นที่รีวิวหนังสือเล่มเดียวกันนี้ (Suttawet 2016, 210) ระบุข้อจำกัดของ ดร.พัฒนาในการศึกษา เช่น การใช้ข้อมูลเพลงที่สะท้อนความคิดของแรงงานนั้นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด การศึกษาเน้นแรงงานจากอีสานเป็นหลัก หรือใช้กรณีศึกษาเฉพาะบางกรณี และข้อจำกัดของบริบทแรงงานด้านอื่น เช่น สหภาพแรงงานในประเทศสิงคโปร์ไม่สนใจแรงงานไทย และไม่มีข้อมูลด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย การออมของแรงงาน หรือเป็นข้อจำกัดของผู้อ่านหนังสือที่จะได้รับข้อมูลจากหนังสือนี้ไม่ครบถ้วน

           สำหรับผู้เขียนรีวิว เป้าหมายของหนังสือ The Bare Life ของ ดร.พัฒนา กิติอาษา ชวนให้เรามองเห็นชีวิตและโลกภายในของแรงงานไทยในสิงคโปร์ มากกว่าประเด็นปัญหาทางสังคมวิทยาอุตสาหกรรม หรือสิทธิมนุษยชน หนังสือยังชวนให้หันมามองแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มตามากขึ้น เพราะลำพังเพียงการชื่นชมตัวเลขทางเศรษฐกิจคงไม่เพียงพอ ชีวิตที่เปล่าเปลือยเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนสวัสดิการและอื่นๆ ให้สมกับการเป็นขุนศึกที่โรมรันในสนามรบทางเศรษฐกิจต่างแดน แม้ The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore (Kitiarsa 2014) บันทึกเรื่องราวของชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง ณ ที่แห่งหนึ่ง แต่สุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรมของคนขายแรงงานคงดำเนินต่อไป การข้ามแดน-ชาติในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์คงเป็นประเด็นที่น่าติดตาม และการศึกษาคนกลุ่มอื่นนอกจากแรงงานข้ามชาติคงเป็นสนามกว้างเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจต่อไป

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Isan people in Contemporary World มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

บรรณานุกรม

Kitiarsa, Pattana. 2014. The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.

Suttawet, Chokchai. 2016. “Book Reviews: PattanaKitiarsa. The ‘Bare Life’ of Thai Migrant Workmen in Singapore. Chiangmai: Silkworm, 2014. 187 Pp.” TRaNS: Trans –Regional and –National Studies of Southeast Asia 4 (1): 209–11.

 


 

ผู้เขียน

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

 

กราฟิก

อริสา ชูศรี

 


 

ป้ายกำกับ แรงงานไทย สิงคโปร์ Pattana Kitiarsa ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share