Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music “ลูกทุ่ง” วัฒนธรรมและการเมืองของดนตรีประชานิยมของไทย

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2280

Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music “ลูกทุ่ง” วัฒนธรรมและการเมืองของดนตรีประชานิยมของไทย

 

หนังสือ Luk Thung: the Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music ของเจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell)

 

           หนังสือ Luk Thung: the Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music ของเจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell) มาจากวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแม็คไควรี (Macquarie University) เมื่อ ค.ศ. 2012 แต่กว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวิร์ม ฉบับ ค.ศ. 2015 ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก มิตเชลล์กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Isaan Recorder ว่า

“สำนักพิมพ์ด้านมานุษยวิทยาดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายสำนักต่างพากันปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงศาสตร์หลายแขนงเกินไปสำหรับพวกเขา มีประเด็นด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ แถมยังมีแค่บทเดียวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมานุษยวิทยาดนตรี ซึ่งบางทีพวกเขามองว่า มันยังมี ‘น้ำหนัก’ ไม่มากพอ” (Mitchell 2015b)

           อย่างไรก็ดี การอ่านหนังสือของมิตเชลล์เล่มนี้เป็นการเปิดพรมแดนความรู้ให้กับผู้เขียนรีวิว ซึ่งไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับดนตรีและเพลงลูกทุ่งมากนัก มิตเชลล์ชวนผู้อ่านย้อนกลับไปหาต้นทางของเพลงลูกทุ่ง การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเพลงลูกทุ่ง นักวิชาการไทยและเทศหลายต่อหลายคนมองเพลงลูกทุ่งในฐานะของเพลงพื้นบ้านที่ปรับตัวเองให้ทันสมัยมากขึ้น หรืออธิบายว่าเพลงลูกทุ่งคือการกลืนกลายทางวัฒนธรรมของเมืองกรุงที่แพร่หลายอยู่ในภาคกลางของไทย แต่มิตเชลล์พยายามชี้ให้เห็นในตลอดสองบทแรกของหนังสือว่า เพลงลูกทุ่งนั้นเป็นผลผลิตของ “อีสาน” ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ แต่เป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม แม้ในอดีตนั้นจะเป็นบริเวณชายขอบสำหรับทางการ หากมองจากศูนย์กลางการปกครอง

           มิตเชลล์ไล่เรียงให้เห็นพัฒนาของเพลงลูกทุ่ง ที่เกิดจากการผสมผสานองค์ประกอบทั้งที่เป็นพื้นถิ่น การรับและปรับใช้กับวัฒนธรรมดนตรีจากส่วนกลาง และอิทธิพลที่มาจากต่างแดน

           ในบทแรก มิตเชลล์ชี้ให้เห็นองค์ประกอบทางดนตรีที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของเพลงลูกทุ่ง ดังเช่นอิทธิพลของดนตรีตะวันตกที่เข้ามาในสยามสมัยปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเข้าอยู่หัว กลายเป็นละครเพลงและละครร้องในทศวรรษ 1920 และ 1930 ในทศวรรษต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลในเวลานั้นพยายามสร้าง “วัฒนธรรมแบบแผน” ดังเช่นรำวงมาตรฐาน รำวงกลายเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ปฏิบัติกันทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มิตเชลล์ชี้ให้เห็นถึงบทบาทเพลงรำวงส่งอิทธิพลต่อการเกิดเพลงลูกทุ่งในยุคแรกๆ ที่มักรู้จักกันในนามของ “เพลงชีวิต” (ที่แตกต่างจาก “เพลงเพื่อชีวิต” ดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน) หรือ “เพลงตลาด” เพลงประเภทดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูงในชนชั้นแรงงาน และมีเนื้อหาในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม (Mitchell 2015a, 13) เป็นต้น

           ในบทที่สอง มิตเชลล์ชี้ให้เห็นองค์ประกอบทางดนตรีที่หลากหลายและปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้านในภาคกลาง เช่น ลำตัด และในภาคอีสาน เช่น หมอลำ กันตรึม รวมไปถึงดนตรีจากต่างแดน ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย อเมริกัน เกาหลี จีน โดยแสดงให้เห็นถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างดนตรีป๊อบอเมริกันกับเพลงลูกทุ่ง เกิดขึ้นภายหลังจากการถอนกำลังทางทหารอเมริกันช่วงต้นทศวรรษ 1970 วงดนตรีและนักร้องที่เคยแสดงดนตรีให้กับกองทัพสหรัฐฯ และผู้ชมชาวไทย ต่างแยกย้าย เมื่อไม่มีงานแสดงในค่ายทหารอีกต่อไป นักดนตรีเหล่านั้นนำเทคนิคการเล่นดนตรีแบบตะวันตกกลับมาใช้ในการแสดงลูกทุ่งและหมอลำ (Mitchell 2015a, 69)

           ตลอดสองบทแรก มิตเชลล์กล่าวถึงนักแต่งเพลงและนักร้องที่เป็น “ลูกอีสาน” ในแต่ละยุคสมัย รวมถึงคุณูปการสำคัญของบุคคลนั้นๆ ต่อพัฒนาการเพลงลูกทุ่ง เช่น ในทศวรรษ 1950-1960 สุรพล สมบัติเจริญ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาเพลงลูกทุ่ง” และ เฉลิมชัย ศรีฤาชา ทั้งสองมีส่วนสำคัญในการใช้ภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง ตามข้อวิเคราะห์ของแวน พลังวรรณ (Mitchell 2015a, 15) หรือเบญจามินทร์ ที่มีส่วนสำคัญในการแต่ง “เพลงแก้/ “เพลงโต้” ให้กับวิวาทะระหว่างสุรพลและผ่องศรี วรนุช (Mitchell 2015a, 17–20) นอกจากนี้ มิตเชลล์ชี้ถึงอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความนิยมของเพลงลูกทุ่งในหมู่ผู้ฟัง รวมถึงบรรดาครูเพลงและนักร้องอีกหลายคนที่มีชื่อเสียงในทศวรรษ 1970 และ 1980

           ในการเรียบเรียงเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับพัฒนาการและลักษณะต่างๆ ของเพลงลูกทุ่งนั้น มิตเชลล์ใช้เอกสารทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักแต่งเพลง นักร้อง ผู้บริหารค่ายเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่สาม เขาเรียบเรียงชีวประวัติของสรเพชร ภิญโญ รวมถึงผลงานดนตรีสำคัญ และเส้นทางสายอาชีพของนักร้องและนักแต่งเพลงผู้นี้ ตั้งแต่ความสนใจในดนตรีลูกทุ่งและการเข้าสู่เวทีการแข่งขันร้องเพลงในช่วงวัยรุ่น จากนั้น พัฒนาตนเองในการแต่งเพลงและขายเพลงให้กับบริษัทแผ่นเสียงและเทป ในช่วงทศวรรษ 1970 รวมถึงการเป็นนักร้องในอุตสาหกรรมเพลง

           มิตเชลล์ยังได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความสามารถของสรเพชรในทางภาษาและดนตรี ด้วยการเรียบเรียงความหมายของเพลงจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แต่คงจังหวะของคำและสัมผัสไว้อย่างน่าสนใจ ดังเช่นเพลงน้ำตาเมียซาอุฯ ร้องโดยพิมพา พรศิริ แม้เพลงนั้นใช้ภาษาไทยกลาง แต่ทุกเพลงในอัลบั้มใช้ลูกทุ่งหมอลำ (Mitchell 2015a, 88–90) นอกจากนี้ เขายังวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูเพลงกับลูกศิษย์ (นักร้อง) ในวงการเพลงลูกทุ่งนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในชื่อเสียง หรือความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะเมื่อมีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มาเกี่ยวข้อง แตกต่างจากความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์ในระบบดนตรีไทยเดิม (Mitchell 2015a, 96)

           ในการศึกษาเส้นทางอาชีพของสรเพชรในวงการเพลงลูกทุ่งนั้น มิตเชลล์ต้องการชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของการเป็นนักแต่งเพลงลูกทุ่งต้องอาศัยทั้งความรวดเร็วในการสร้างสรรค์ผลงาน และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับกระแสนิยมในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการใช้ภาษาไทยกลางในการประพันธ์เพลงที่มีโครงสร้างวรรณศิลป์ที่ซับซ้อน และความรู้ในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน

           หากจะมองให้มากไปกว่านั้น การปูพื้นพัฒนาการเพลงลูกทุ่งในช่วงสามบทแรก รวมถึงการยกตัวอย่างของนักแต่งเพลงและนักร้องอีสานที่ประสบความสำเร็จ วงการลูกทุ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ได้เปิดโอกาสให้คนอีสานจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายเข้าสู่สังคมไทยกระแสหลักด้วยการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมดนตรี ทั้งในฐานะนักแต่งเพลง นักร้อง รวมถึงหางเครื่องที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีลูกทุ่ง

           ในสองบทหลัง มิตเชลล์วิเคราะห์ให้เห็นบทบาทของเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย ในบทที่สี่ “แฟนเพลง, อัตลักษณ์อีสาน และความเป็นลูกทุ่งร่วมสมัย” เมื่ออุตสาหกรรมดนตรีลูกทุ่งขยายตัวมากขึ้น คนอีสานกลายเป็นผู้บริโภคหลัก มโนทัศน์บางประการเกิดขึ้นและบ่มเพาะความเป็นอัตลักษณ์ลาวอีสานผ่านบทเพลงลูกทุ่ง เช่น ความรู้สึกเท่าเทียมกัน ความเป็นพี่น้องเดียวกัน ความแตกต่างทางชนชั้น มโนทัศน์เหล่านี้ได้รับการสื่อสารผ่านบทเพลงและดนตรีลูกทุ่ง ประกอบกับสำเนียงที่สะท้อนถึงชนบทและการใช้ลูกคอ หรือแม้แต่การเอื้อนในแบบฉบับเพลงพื้นบ้าน สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย จึงมองว่าลูกทุ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ลาวอีสาน และอีกทางหนึ่งสร้างชุมชนหรือวัฒนธรรมแฟนเพลงระหว่างนักร้องกับคนอีสานที่เป็นผู้ฟังดนตรีลูกทุ่งเหล่านั้น

           มิตเชลล์วิพากษ์ข้อสังเกตของทอมป์สัน (Thompson 1995) เกี่ยวกับแฟนเพลงในตะวันตกที่เป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเดียวและมีระยะห่าง (non-reciprocal relations of intimacy with distant others) ไม่มีพลังในการทำความเข้าใจกับแฟนเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย (Mitchell 2015a, 114) โดยยกตัวอย่างกรณีแฟนคลับ แมงปอ ชลธิชา ด้วยการพรรณนาอย่างละเอียด (thick description) เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปถึงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ต่างตอบแทน นั่นหมายถึง นักร้องและแฟนเพลงต่างเป็นทั้ง “ผู้ให้” (patron) และ “ผู้รับ” (client) ในระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว แฟนเพลงลูกทุ่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นักร้องใช้ต่อกรกับบริษัทค่ายเพลงที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในวงการ และในทางกลับกัน นักร้องต้องพึ่งพิงกับแฟนเพลงเพื่อให้ความนิยมคงอยู่ รวมถึงสำหรับนักร้องลูกทุ่งอีกจำนวนไม่น้อยต้องพึ่งพารายได้จากแฟนเพลงที่จ้างงานในงานเลี้ยงส่วนตัวหรือมาลัยเงินเมื่อแสดงคอนเสิร์ต

           ในบทสุดท้าย มิตเชลล์เชื่อมโยงเพลงลูกทุ่งกับการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ในบทแรกๆ มิตเชลล์ชี้ให้เห็นในเบื้องต้นแล้วว่า “เพลงชีวิต” อันเป็นต้นธารของเพลงลูกทุ่งนั้น มีเนื้อหาในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม บทบาทของเพลงลูกทุ่งในทางการเมืองปรากฏชัดขึ้น ตั้งแต่การมีอยู่ของคอมมิวนิสต์ไทยในทศวรรษ 1970 และยิ่งเด่นชัดมากในความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศตั้งแต่ ค.ศ.​ 2005

           คนทั่วไปอาจรับรู้ว่า “เพลงเพื่อชีวิต” มีบทบาทอย่างสำคัญในการปลุกใจของกลุ่มคอมมิวนิสต์ไทย ในช่วงทศวรรษ 1970 และกลายเป็นเครื่องมือหลักในการเคลื่อนไหวในทศวรรษต่อมา แต่นอกเหนือจากเพลงเพื่อชีวิตแล้ว เพลงลูกทุ่งยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารอุดมการณ์กับคนร่วมอุดมการณ์ชาวอีสาน เพลงลูกทุ่งที่โด่งดังในช่วงเวลานั้นหลายเพลงได้รับการดัดแปลงเนื้อหา หรือที่เรียกว่า “เพลงแปลง” ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในช่วงเวลานั้น (Mitchell 2015a, 146) แต่ที่น่าแปลกใจยิ่ง นั่นคือ ไม่เพียงรัฐบาลที่ห้ามการเผยแพร่เพลงลูกทุ่งคอมมิวนิสต์เหล่านั้น แต่สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเองกลับปรามด้วยเช่นกัน เพราะเห็นว่าเพลงลูกทุ่งมีลักษณะเชิงพาณิชย์ และมีท่วงทำนองสนุกสนานไม่เหมาะกับการปลุกใจ (Mitchell 2015a, 147) เรียกได้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 เพลงลูกทุ่งถูกผลักออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน

           บทบาทของเพลงลูกทุ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ นับตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงทศวรรษ 1990 นโยบายของเขาให้ความสำคัญกับคนรากหญ้า และก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวประชานิยม ที่ท้าท้ายกับอำนาจนำของกลุ่มคนเมืองและกลุ่มกษัตริย์นิยม ทั้งการรัฐประหารโดยกองทัพและการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ เพื่อต่อต้านกับอำนาจของทักษิณและฝ่ายสนับสนุน ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองและกลายเป็นรอยร้าวลึกในสังคม นับตั้งแต่ ค.ศ. 2005 ฝ่ายหนึ่ง “คนเสื้อแดง” ที่สนับสนุนทักษิณหรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยส่วนมากเป็นคนอีสาน กับฝ่ายหนึ่ง “คนเสื้อเหลือง” ที่เป็นแนวร่วม “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) โดยส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพและต่อต้านทักษิณ

           นับตั้งแต่รอยปริแยกทางสังคมนั้น มิตเชลล์วิเคราะห์ถึงการฉวยใช้เพลงลูกทุ่งเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ในทัศนะของเขา การอธิบายดนตรีด้วยทฤษฎีอำนาจนำ (hegemony) และการต่อกรกับอำนาจนำ (counter-hegemony) นับเป็นปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมืองไปมาตลอดสองทศวรรษ ตัวอย่างเช่น เมื่อทักษิณและฝ่ายสนับสนุนอยู่ในอำนาจ กปปส. แสดงบทบาทในฐานะผู้ต่อกรกับอำนาจนำ แต่เมื่อเกิดรัฐบาลจากการรัฐประหารระหว่าง ค.ศ. 2006 กับ ค.ศ. 2008 และรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ค.ศ. 2008-2011) กลุ่ม กปปส. กลับข้างอยู่ในฝ่ายของอำนาจนำ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การอธิบายบทบาทของเพลงลูกทุ่งตลอดสองทศวรรษ จึงควรพิเคราะห์องค์ประกอบดนตรีและความทรงจำทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแต่ละฝ่าย (Mitchell 2015a, 159)

           ในการวิเคราะห์บทบาทของเพลงลูกทุ่งในการรณรงค์ทางการเมือง มิตเชลล์ชี้ให้เห็นความสำเร็จของ นปช. ในการใช้นักดนตรีและเพลงลูกทุ่งในการสร้างแนวร่วมและตรึงการสนับสนุนของคนเสื้อแดง เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันทางวัฒนธรรมของ “คนเสื้อแดง” ที่สะท้อนความแตกต่างในภูมิภาคและชาติพันธุ์ลาวอีสานภายในกรอบของสังคมไทย สำหรับ กปปส. เลือกใช้ดนตรีแนวอื่น รวมถึงเพลงเพื่อชีวิต และใช้เพลงลูกทุ่ง “แบบครึ่งๆ กลางๆ” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถชนะใจชนชั้นแรงงานและชาวนาชาวไร่ หรือกล่าวถึงที่สุด ยากนักที่จะจูงใจให้กลุ่มคนอีสานที่สนับสนุนทักษิณโน้มเอียงเข้าสู่ฝ่ายของตนได้ (Lockard 2017, 179)

           ในบทส่งท้าย ในตอนหนึ่งมิตเชลล์อ้างถึงคำกล่าวของโชแอตและสแตม (Shohat and Stam 1994, 354) “[ชุม]ชนที่ถูกลดทอนอำนาจ สามารถถอดรหัสการฝังความคิด (programming) ของฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า ก็ด้วยมุมมองของการต่อต้าน [เท่านั้น] ...[นั่นคือ] ความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์และชีวิตจักช่วยเปิดกรอบคิดทางเลือกสำหรับความเข้าใจสิ่งต่างๆ” เช่นนี้แล้วมิตเชลล์จึงชี้ให้เห็นว่า แม้ตลอดศตวรรษที่ยี่สิบภาษาและวัฒนธรรมอีสานถูกกดทับและทำให้เสื่อมเสียด้วยกระบวนการสร้างชาติไทย (Thai nationalization) แต่ด้วยการผลิตขนานใหญ่และการเผยแพร่เพลงลูกทุ่งในวงกว้างฉันใด เพลงลูกทุ่งสามารถเป็น “กรอบคิดทางเลือกสำหรับความเข้าใจสิ่งต่างๆ” ได้ฉันนั้น (Mitchell 2015a, 176)

           หนังสือ Luk Thung: the Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music ของมิตเชลล์เล่มนี้ คงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจวัฒนธรรมดนตรีประชานิยม (popular music) เนื้อหาฉายให้เห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง ตัวละครสำคัญในแวดวงและอุตสาหกรรมดนตรีลูกทุ่ง รวมถึงความสัมพันธ์ของเพลงลูกทุ่งกับสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมแฟนเพลง และการใช้ลูกทุ่งในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับดนตรีในสังคมไทย และประเภทดนตรีในท้องถิ่น เพื่อสัมผัสกับความไพเราะของดนตรีผ่านตัวหนังสือ และซึมซับกับ “ลูกทุ่ง” ที่ไม่ใช่เพียงความบันเทิง แต่ยังแฝงด้วยกลิ่นอายของท้องทุ่ง และความขัดเคืองของ “ลูกอีสาน” อยู่ในที

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Isan people in Contemporary World มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

บรรณานุกรม

Lockard, Craig A. 2017. “Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music. By James Leonard Mitchell. Bangkok: Silkworm Books, 2015. 208 Pp.” Journal of Social Issues in Southeast Asia 32 (1): 176–78. https://doi.org/10.1355/sj32-1h.

Mitchell, James Leonard. 2015a. Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.

———. 2015b. Luk Thunk-The sound of politcal protest and Isaan’s cultural revival Interview by Fabian Drahmoune. Transcription. https://theisaanrecord.co/2015/10/30/luk-thung-the-sound-of-political-protest-and-isaans-cultural-revival/.

Shohat, Ella, and Robert Stam. 1994. Unthinking Eurocentrism: Multiculturalism and the Media. Sightlines. London; New York: Routledge.

Thompson, John B. 1995. The Media and Modernity: A Social Theory of the Media. Stanford, CA: Stanford University Press.

 


 

ผู้เขียน

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

 

กราฟิก

อริสา ชูศรี

 


 

ป้ายกำกับ ลูกทุ่ง ดนตรี วัฒนธรรมประชานิยม James Leonard Mitchell ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share