ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (Actor-Network Theory)

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 3094

ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (Actor-Network Theory)

 

           ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (Actor-Network Theory; ANT) ถูกพัฒนาขึ้นโดย บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) จอห์น ลอว์ (John Law) และมิเชล กัลลอง (Michel Callon) ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักสังคมศาสตร์หันมาสนใจศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแง่มุมทางสังคม จนก่อให้เกิดกลุ่มการศึกษาที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (Science and Technology Studies; STS) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะข้ามพ้นพรมแดนที่แต่เดิมนักสังคมศาสตร์มุ่งศึกษาเฉพาะสังคมและวัฒนธรรม และปล่อยให้การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ (Law, 2009; โกมาตร, 2559; จักรกริช, 2559)

           จอห์น ลอว์ อธิบายว่าทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่เริ่มต้นจากฐานคิดที่ถือว่าสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในโลกทางสังคมวัฒนธรรมหรือโลกธรรมชาติ ต่างก็เกาะเกี่ยวกันอยู่ภายใน “ข่ายใยความสัมพันธ์” (web of relations) และความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด “ความจริง” (reality) หรือ “รูปร่าง” (form) ของสิ่งนั้น ๆ การศึกษาในแนวทางนี้จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจลักษณะของข่ายใยและการปฏิบัติ (practices) ของผู้กระทำการ (actor) ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ มนุษย์ เครื่องจักร สัตว์ ความคิด หรือแม้แต่ลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเป็นผู้กระทำการในแง่ที่พวกมันมีความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทางวัตถุ-สัญญะ (material-semiotics) กล่าวคือ ผู้กระทำการหนึ่ง ๆ สามารถกระทำการให้เกิดผลทั้งในโลกทางวัตถุที่จับต้องได้ และในโลกแห่งความหมายที่มีลักษณะเป็นนามธรรมไปพร้อม ๆ กัน (Law, 2017)

           อย่างไรก็ดี ความหมายของคำว่าเครือข่าย (network) ในที่นี้แตกต่างกับสิ่งที่เข้าใจกันโดยทั่วไป บรูโน ลาตูร์ อธิบายว่า ในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงคำว่าเครือข่าย ผู้คนมักนึกถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือการส่งข้อมูลให้กันบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการส่งต่อที่ปราศจากการบิดรูป (transport without deformation) แต่นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความหมายของเครือข่ายในที่นี้ซึ่งวางอยู่บนการเปลี่ยนรูป (transformations) (Latour, 1999) เมื่อกล่าวถึงลักษณะของเครือข่ายในทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ ด้านหนึ่ง จึงแตกต่างจากเครือข่ายทางเทคโนโลยี เพราะเครือข่าย-ผู้กระทำ ไม่ได้มีเส้นทางการเชื่อมต่อ (path) จากจุด (nodes) หนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่ถูกวางไว้อย่างตายตัวและถูกร้อยเรียงอย่างมีระเบียบแบบแผนเหมือนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็แตกต่างจากเครือข่ายทางสังคม (social networks) เพราะเครือข่าย-ผู้กระทำ ไม่ได้สนใจเฉพาะผู้กระทำการที่เป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Latour, 1996)

           เครือข่ายในที่นี้จึงไม่อาจมองลักษณะสองมิติหรือสามมิติ แต่ต้องคิดถึงเครือข่ายในฐานะจุดหลาย ๆ จุดที่มีการเชื่อมต่อหลายรูปแบบจนทำให้มีหลากมิติ และนั่นเปลี่ยนภาพอุปมาเชิงพื้นที่ของเครือข่ายไปโดยสิ้นเชิง ความใกล้/ไกล ใหญ่/เล็ก บน/ล่าง ด้านใน/ด้านนอก ถูกแทนที่ด้วยการประกอบรวม (association) และการเชื่อมต่อ (connection) ที่ไม่มีระเบียบความสัมพันธ์ที่ถูกวางไว้ล่วงหน้า (Latour, 1996) การเชื่อมร้อยระหว่างผู้กระทำการต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นผ่านกระบวนการแปล (translation) โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงการแปล เรามักนึกถึงกระบวนการเทียบเคียงคำจากต่างภาษาและทำให้มีความหมายเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง ไม่มีคำใดที่มีความหมายเหมือนกันได้อย่างหมดจด ดังนั้น การแปลโดยนัยคือการบิดผันความหมาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างตรงไปตรงมา การแปลจึงเป็นทั้งการสร้างความเหมือนและความต่างไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น เมื่อสรรพสิ่งเข้ามาเกี่ยวร้อยกันผ่านกระบวนการแปล ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นทั้งการเชื่อมโยง (linking) และการเปลี่ยนแปลง (changing) คุณสมบัติของกันและกัน (Law, 2009)

           จอห์น ลอว์ ยกตัวอย่างกระบวนการแปลในงานศึกษาการลดลงของประชากรหอยเชลล์ในอ่าว St. Brieuc ของมิเชล กัลลอง ซึ่งศึกษามนุษย์และหอยเชลล์ภายใต้หลักสมมาตรโดยทั่วไป (generalized symmetry) ภายใต้หลักการนี้ กัลลองถือว่ามนุษย์และหอยเชลล์ที่มาสัมพันธ์กันต่างก็มีสถานะเป็นผู้กระทำการที่สามารถส่งผลต่อการดำรงอยู่ และการปฏิบัติของผู้กระทำการอื่นไม่ต่างกัน กล่าวคือ ข่ายใยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวประมง หอยเชลล์ และนักวิทยาศาสตร์ ผู้กระทำการเหล่านี้กำลังตกอยู่ภายใต้กระบวนการแปลที่ส่งผลต่อการเข้ามาเชื่อมโยง กำหนดนิยาม และจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่เพียงแค่หอยเชลล์ที่ถูกจัดการผ่านการปฏิบัติที่แตกต่างจากเดิม แต่มนุษย์อย่างชาวประมงก็ถูกกำกับและทำให้เชื่องลงเช่นกัน เช่น ชาวประมงตกลงที่จะไม่เข้าไปในเขตอนุรักษ์ซึ่งเกิดขึ้นผ่านกระบวนการต่อรองระหว่างชาวประมงและนักวิทยาศาสตร์ (รวมถึงหอยเชลล์) อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ภายใต้กระบวนการแปลนั้นตั้งอยู่บนความเป็นระเบียบและความไร้ระเบียบที่มีความเปราะบาง และข่ายใยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็อาจไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งในกรณีตัวอย่างดังกล่าว ความพยายามในการต่อรองและสร้างพื้นที่อนุรักษ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ชาวประมง และหอยเชลล์ก็ถูกทำลายลงในท้ายที่สุด (Law, 2009, 2017)

           การศึกษาเครือข่าย-ผู้กระทำ จึงเป็นการแกะรอยการประกอบรวม (tracing of associations) ขององค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลาย (heterogeneous elements) (Latour, 2005) เช่น ในงานยุคบุกเบิกของบรูโน ลาตูร์ ที่แสดงให้เห็นการติดตามความจริงทางวิทยาศาสตร์ในขณะที่กำลังถูกสร้างขึ้น (science in the making) ภายในเครือข่ายของมนุษย์และสิ่งอื่น ลาตูร์เริ่มต้นจากการศึกษาบทความและตำราวิทยาศาสตร์ ก่อนจะไปสู่ห้องทดลองซึ่งเป็นสถานที่ที่นักวิทยาศาสตร์จะแสดงความจริงให้เห็นด้วยตาผ่านเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ ซึ่งลาตูร์เรียกเครื่องมือที่ทำหน้าที่นี้ว่า “เครื่องจดจาร” (inscriptive devices) ภาพที่ปรากฏจากเครื่องจดจารต้องอาศัยการบอกเล่าจากนักวิทยาศาสตร์ นั่นจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์กลายเป็นโฆษกผู้เป็นตัวแทนและพูดแทนสิ่งที่ไม่อาจพูดได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเอนดอร์ฟิน (endorphin) โพโลเนี่ยม (polonium) หรือจุลชีพ (microbes) ดังนั้น ภาพความสำเร็จหรือผลลัพธ์ที่คนทั่วไปมองเห็นว่าเป็น “วิทยาศาสตร์สำเร็จรูป” (ready-made science) ไม่ว่าจะเป็นแบบจำลองดีเอ็นเอ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องยนต์ดีเซล ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยนักวิทยาศาสตร์เพียงลำพัง ความสำเร็จของมนุษย์มีวัตถุต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ (Latour, 1987)

           อย่างไรก็ดี สำหรับคำว่า “ทฤษฎี” ในทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำนั้นก็ไม่ได้มีความหมายเดียวกับทฤษฎีที่มักเข้าใจกันว่าเป็นกรอบที่ใช้อธิบายว่าสังคมคืออะไร ประกอบด้วยอะไร เหมือนเช่นทฤษฎีของสำนักคิดใดสำนักคิดหนึ่ง ที่มุ่งสร้างคำอธิบายโดยทั่วไปในการอธิบายพฤติกรรมของตัวแสดงต่าง ๆ ในสังคม แต่คำว่าทฤษฎีในที่นี้ถูกใช้ในลักษณะของวิธีวิทยา (methodology) ที่พยายามทำความเข้าใจการปฏิบัติของผู้กระทำการ ซึ่งไม่ได้สนใจเพียงแค่ผู้กระทำการเหล่านั้นทำอะไร แต่ยังสนใจว่าพวกเขากระทำอย่างไร และทำไมถึงกระทำสิ่งนั้น ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำจึงเป็นแนววิธี (method) ที่พยายามเรียนรู้ศักยภาพในการสร้างโลก (world-building capacities) ของผู้กระทำการต่าง ๆ โดยที่ไม่กำหนดนิยามหรือมีคำอธิบายล่วงหน้าว่าผู้กระทำการสามารถทำอะไรหรือไม่สามารถทำอะไร แต่สนใจติดตามการไหลเวียน (circulations) ที่เกิดขึ้นจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง และจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่ง (Latour, 1999)

           จอห์น ลอว์ กล่าวว่าทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำยุคแรกซึ่งอาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ 1990 นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะที่แสดงให้เห็นภาพเครือข่ายเชิงบริหารจัดการ (managerial) และขาดการตระหนักถึงการเมืองและนัยทางการเมืองของตัวทฤษฎีเอง แต่เขาก็เสนอเช่นกันว่าแนวทางการศึกษานี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว (single entity) แต่มันผ่านการเดินทางที่กระจัดกระจาย หรืออาจกล่าวได้ว่าได้พลัดพรากจากจุดกำเนิดจนมีความแตกต่างจากเดิม (Law, 2009) หนึ่งในงานชิ้นสำคัญเมื่อกล่าวถึงทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำในระยะหลัง ได้แก่ งานของแอนน์มารี โมล (Annemarie Mol) เรื่อง The body multiple: Ontology in medical practice (2002) งานของโมลศึกษาการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) เธอสนใจปฏิบัติการที่การแพทย์สมัยใหม่ทำให้ความจริง (reality) ว่าด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่เราเคยคิดว่ามีเพียงหนึ่งเดียว (single) มีมากกว่าหนึ่ง (multiple)

 

งานของแอนน์มารี โมล (Annemarie Mol) เรื่อง The body multiple: Ontology in medical practice (2002)

 

           ความจริงหรือสภาวะการดำรงอยู่ของ “โรคหลอดเลือดแดงแข็ง” ที่มีมากกว่าหนึ่ง เป็นผลมาจากการเชื่อมต่อกันของแพทย์ คนไข้ เครื่องมือและวัตถุทางการแพทย์ในพื้นที่และเวลาต่างๆ ซึ่งร่วมกันทำให้โรคหลอดเลือดแดงแข็งปรากฏเป็นจริง (enactment) ดังนั้น แม้จะถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกัน แต่ “โรคหลอดเลือดแดงแข็ง” ที่กำลังถูกพูดถึงในห้องตรวจระหว่างศัลยแพทย์หลอดเลือดกับคนไข้ ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับที่ถูกพูดถึงในห้องเอ็กซเรย์โดยแพทย์รังสีวินิจฉัย ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ในห้องตรวจ ศัลยแพทย์หลอดเลือดจะซักถามอาการของคนไข้ เช่น ปวดที่จุดใด เดินได้ไกลแค่ไหน เมื่อหยุดพักอาการหายไปหรือไม่ การตรวจร่างกายไม่อาจดำเนินไปด้วยตัวแพทย์เพียงคนเดียว แต่แพทย์ยังต้องทำงานร่วมกับร่างกายและคำบอกเล่าอาการของคนไข้ นอกจากนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตรวจ หรือห้องตรวจก็มีส่วนในการสร้างความจริงว่าด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งขึ้นมา และนั่นเป็นความจริงที่คลินิกผู้ป่วยนอก แต่เมื่อไปที่ห้องแล็ปทางพยาธิวิทยา พยาธิแพทย์ได้รับตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ขาและส่องชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดเลือด เมื่อดูช่องภายในของหลอดเลือดและผนังหลอดเลือด แล้วพบว่าผนังหลอดเลือดหนา (a thickening of the intima) นั่นคือ “โรคหลอดเลือดแดงแข็ง” ซึ่งหากปราศจากกล้องจุลทรรศน์การดำรงอยู่นี้ก็ไม่ปรากฏ จะเห็นว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่เกิดขึ้นในคลินิกผู้ป่วยนอกและที่ห้องแล็ปพยาธิวิทยามีระยะห่างระหว่างกัน การเกิดขึ้นของโรคมาจากการปฏิบัติที่ต่างกัน และโรคก็ถูกจัดการในวิถีทางที่แตกต่างกัน

           ความจริงที่มีมากกว่าหนึ่งนี้ไม่ได้ดำรงอยู่แบบพหุลักษณ์ (pluralism) ที่แต่ละสิ่งต่างแยกกันอยู่ และเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามหรืออยู่ภายนอกสิ่งอื่น แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในที่นี้ดำรงอยู่ในลักษณะทบทวี (multiplicity) กล่าวคือ ความจริงหนึ่งป็นส่วนหนึ่งของความจริงหนึ่ง และความจริงหนึ่งดำรงอยู่ได้เพราะมีความจริงอื่น ดังนั้น “สิ่งอื่น” (other) ที่เราคิดเคยว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก จริงๆ แล้วกลับอยู่ภายใน คำถามสำคัญคือความจริงเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้อยู่ร่วมกันอย่างไร ปะทะหรือหลีกเลี่ยงการปะทะกันอย่างไร เมื่อการดำรงอยู่ของความจริงหนึ่งไม่อาจตัดขาดจากความจริงอื่น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการต่อสู้ช่วงชิงการนิยามความจริงจากการปฏิบัติของผู้คนและวัตถุต่าง ๆ ซึ่งโมลเรียกว่านี่คือการเมืองของภววิทยา (ontological politic) ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่มีปลายเปิด เต็มไปด้วยการตัดสินที่ยากลำบาก (dilemmas) และอยู่ภายใต้ความตึงเครียด (Mol, 1999) เช่น เมื่อความจริงว่าด้วย “โรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว” ในคลินิกผู้ป่วยนอกและห้องตรวจชิ้นเนื้อไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจเกิดจากการที่คนไข้ไม่ได้บอกเล่าอาการหรือแพทย์ตรวจแล้วไม่พบอาการที่เป็นข้อบ่งชี้ แต่ผลตรวจชิ้นเนื้อพบว่ามีผนังหลอดเลือดหนา การตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว แต่โดยมากในทางปฏิบัติ การตัดสินใจทางคลินิกจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่า ศัลยแพทย์จะไม่ตัดสินใจผ่าตัดหากพิจารณาแล้วว่าการผ่าตัดไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนไข้ดีขึ้น เป็นต้น (Mol, 2002)

           ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ นับเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาที่น่าสนใจ และเป็นแนววิธีสำคัญภายใต้จุดเปลี่ยนทางภววิทยา (ontological turn) ที่นักมานุษยวิทยาหันมาตั้งคำถามว่าด้วยความจริงและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ภายใต้การเชื่อมต่อที่ตัดข้ามการแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่างวัฒนธรม/ธรรมชาติ มนุษย์/สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โครงสร้าง/ผู้กระทำการ ตลอดจนมุมมองเชิงพื้นที่มักจะแบ่งคู่ตรงตรงข้ามระหว่างท้องถิ่น/สากล และให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่ การไหลเวียน และความยืดหยุ่น เมื่อพิจารณาทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำในฐานะที่เป็นแนววิธีที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา และจากตัวอย่างงานศึกษาที่ยกมา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประชากรหอยเชลล์ การติดตามชีวิตนักวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกห้องแล็ป ตลอดจนความจริงว่าด้วยโรคในโรงพยาบาล หากจะสรุปอย่างกระชับ อาจเป็นดังที่จอห์น ลอว์ เสนอว่าจุดเน้นสำคัญของการศึกษาในกลุ่มนี้คือการทำให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่มันเคยเป็น หรือเป็นอย่างที่เรามักคิดว่ามันจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป (Law, 2017: 49)

 

เอกสารอ้างอิง

Latour, B. (1987). Science in action: How to follow scientists and engineers through society. Cambridge: Harvard University Press.

Latour, B. 1996. On actor-network theory. A few clarifications plus more than a few complications. Soziale Welt, 47, 369-381.

Latour, B. 1999. On recalling ANT. Sociological Review, 47(1), 15-25.

Latour, B. 2005. Reassembling the Social. An Introduction to Actor-Network-Theory. Oxford: Oxford University Press.

Law, J. 2009. Actor network theory and material semiotics. In T. Bryan s. (Ed.), The New Blackwell Companion to Social Theory (pp. 141-158). UK: Blackwell Publishing.

Law, J. 2017. STS as Method. In Felk, U., Fouche, R., Miller, C.A., Smith-Doerr, L. (Eds.), The Handbook of Science and Technology Studies (pp. 31-57). Cambridge: The MIT Press.

Mol, A. 2002. The body multiple: Ontology in medical practice. USA: Duke University Press.

Mol, A. 1999. Ontological politics. A word and some questions. Sociological Review, 47(1), 74-89.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2559). ศาสตร์-อศาสตร์: ความรู้มานุษยวิทยา ณ จุดเปลี่ยนทางภววิทยา. ใน จันทนี เจริญศรี (บรรณาธิการ), ศาสตร์-อศาสตร์: เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน (น.117-141). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พารากราฟ.

จักรกริช สังขมณี. (2559). ความไม่ (เคย) เป็นสมัยใหม่ของศาสตร์-อศาสตร์: อวัตถุวิสัย อมนุษยนิยม และเครือข่าย-ผู้กระทำ ของบรูโน ลาตูร์. ใน จันทนี เจริญศรี (บรรณาธิการ), ศาสตร์-อศาสตร์: เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน (น.142-171). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พารากราฟ.

 


 

ผู้เขียน

ชัชชล อัจนากิตติ

นักวิชาการ

กราฟิก

กนกเรขา นิลนนท์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

 


 

ป้ายกำกับ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ผู้กระทำ ทฤษฎี Actor Network Theory Anthropocene ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share