ธรรมดา แต่ไม่สามัญ: ผู้หญิงเมียนมากับชีวิตย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 1734

ธรรมดา แต่ไม่สามัญ: ผู้หญิงเมียนมากับชีวิตย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย

 

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

หนังสือธรรมดาแต่ไม่สามัญ ขอบคุณภาพจาก Faccebook: Book Re:public

 

           เวทีประกวดสาวงามจากทั่วโลกที่ผ่านพ้นไม่นานมานี้อาจแตกต่างจากขนบของการประกวดความงามที่ทุกคนรับรู้มาอย่างสิ้นเชิง นอกจากการประชันความงามของรูปร่างหน้าตาอย่างที่ผ่านมา การแสดงออกของผู้เข้าประกวดในครั้งนี้ ได้สื่อสารสถานการณ์ทางการเมืองและกระแสสังคม โดยใช้เวทีอวดโฉมของเหล่าสาวงามมาเป็นกระบอกเสียงส่งสารของพวกเธอ

           การแสดงพลังแห่งการสื่อสารที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกคือตัวแทนสาวงามจากเมียนมา ธูซาร์ วินท์ ลวิน ซึ่งมาพร้อมกับป้ายข้อความ “Pray for Myanmar” ในรอบการประกวดชุดประจำชาติ เพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอ แม้ว่าชุดประจำชาติที่เธอเตรียมไว้ได้ล่องหนไประหว่างการเดินทางจนทำให้เธอต้องสวมใส่ชุดพื้นเมืองของชาวชินขึ้นเวทีแทน แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคแห่งการแสดงพลังของเธอ ชุดประจำชาติของสาวงามจากเมียนมาได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในการประกวดครั้งนี้ โดยภายหลังจากการประกวดจบลง สถานการณ์ที่บ้านเกิดไม่เอื้ออำนวยให้เธอเดินทางกลับอย่างปลอดภัย เธอจึงได้ขอลี้ภัยและพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

           การตัดสินใจขอย้ายถิ่นฐานของสาวงามเมียนมาในครั้งนี้ ทำให้เราเกิดความสนใจเรื่องการย้ายถิ่นของผู้หญิงเมียนมา จนไปค้นหาหนังสือที่กล่าวถึงการย้ายถิ่นของสาวเมียนมาไปแสวงหาความหวังและอนาคตยังดินแดนอื่น แล้วเราก็พบหนังสือเรื่อง “ธรรมดา แต่ไม่สามัญ: ผู้หญิงเมียนมากับชีวิตย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย” ผลงานวิจัยในรูปแบบสารคดีที่รวมบทสัมภาษณ์หญิงสาวเมียนมา จำนวน 8 คน ซึ่งอพยพถิ่นฐานมาประกอบอาชีพในประเทศไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร

           มรกต ไมยเออร์1 กล่าวถึงภาพสะท้อนของผู้หญิงเมียนมาที่ปรากฏในละครทีวีไทยไว้ว่า

           “..ทรงผมของผู้แสดงให้ตลบม้วนเหนือต้นคอ มวยผมด้านหลังบ้างหรือเป็นมวยสองข้างบ้าง โดยมีดอกไม้ประทับที่มวยผม และการนุ่งผ้าถุง...”

           รวมถึง

           “...บางฉากในช่วงเวลากลางคืนตามท้องเรื่องเท่านั้นที่ตัวละครทาแก้มด้วยทานาคา...” และ

           “...การที่ผู้แสดงเป็นตัวละครเหล่านั้นพูดจาด้วยสำเนียงแปร่งแบบลิ้นไก่สั้น และพูดภาษาไทยแบบไม่ลงเสียงตัวสะกด...”

           บทสัมภาษณ์ผู้หญิงเมียนมาที่อพยพข้ามชาติมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครนี้ ช่วยให้เราทำความเข้าใจความคิด ทัศนคติ และความรู้สึกของพวกเธอที่มีต่อการดำรงชีวิตในต่างแดน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ยังไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเตอร์เน็ตใช้ การฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อชีวิตใหม่ของพวกเธอจึงเป็นเรื่องท้าทาย

           “ไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ตลอดไป อยากก้าวหน้า เรามาเมืองไทย อยากมีอนาคต อยากร่ำรวย”

           ส่วนหนึ่งจากบทสนทนาของมากรีตรีหรือราตรี ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหวังในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาเผชิญโชคในต่างแดน ราตรีใช้ความพยายามและความอดทนในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี การไม่หยุดพัฒนาตัวเองของเธอ ทำให้ได้รับความเอ็นดูจากเจ้านายซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ราตรีนำความรู้ที่ได้มาเริ่มต้นประกอบธุรกิจเล็กๆ ของตนเองร่วมกับสามีชาวไทย นำไปสู่บทบาทศูนย์กลางการพบปะของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในละแวกนั้น รวมไปถึงศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสำหรับนักศึกษาหรือนักวิจัยที่มาศึกษาชีวิตของแรงงานข้ามชาติ

           ร้านอาหารเล็กๆ ของ “พี่นาง” หรือ มะพิวฮะนินก็เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมทางสังคมของชุมชนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในย่านนี้เช่นเดียวกับร้านค้าของราตรี ช่วงเวลาที่แรงงานเหล่านี้จากบ้านมายาวนาน “อาหาร” จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงพวกเขาไว้กับบ้าน และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนบ้านเดียวกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น จากประสบการณ์สาวโรงงานสู่การทำงานในบริษัทพิสูจน์สัญชาติทำให้ “พี่นาง” มีโอกาสได้รู้จักกับกลุ่มคนมากมายหลายอาชีพ เห็นโอกาสในความสำเร็จ และกล้าที่จะเสี่ยงลงทุนธุรกิจอาหารพม่าในงานวัด จนกระทั่งลงทุนเปิดร้านอาหารเช้าสัญชาติเมียนมาเป็นของตัวเองได้ แม้ธุรกิจร้านอาหารจะกำลังไปได้ดีแต่เป้าหมายในชีวิตหลังจากนี้คือการ “ย้ายกลับบ้าน”

           จากลูกสาวชาวนา ในหมู่บ้านกะระนา จังหวัดมะละแหม่ง ที่หนีจากพ่อแม่โดยไม่ได้ร่ำลาสู่การเป็น “แรงงานดูแล” ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจากการฝากฝังของน้า ถึงน้าของเธอจะเป็นคนชักชวนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ “มิโมน” ก็ต้อง “จ่าย” ให้กับน้าสาวในมูลค่าทองคำน้ำหนักหนึ่งบาท (ในราวปี พ.ศ. 2538-2543 ทองคำมูลค่าบาทละ 6,000 บาท) แม้ว่าเจ้านายจะรักและเอ็นดูมิโมนมากเท่าใดแต่ก็ไม่สามารถรั้งเธอจากอนาคตได้ มิโมนตัดสินใจออกจากการทำงานแม่บ้านในวัย 30 ปี เพื่อมาเริ่มเป็นสาวโรงงานที่มหาชัยควบคู่กับการรับสินค้าจากสำเพ็งไปขายให้กับสาวแรงงามข้ามชาติ มิโมนนั่งรถโดยสารประจำทางจากมหาชัยเพื่อไปรับสินค้าที่สำเพ็งอยู่แรมปีจนกระทั่งเห็นช่องทางในการนำเสื้อผ้าจากบ้านเกิดเข้ามาขาย ปัจจุบันเธอมีแผงสินค้าจำนวน 3 แผงในตลาดที่มหาชัย แต่ที่บ้านเกิด เธอเป็นเจ้าของตึกแถวสองชั้นหนึ่งคูหาใกล้กับที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองมะละแหม่งที่กำลังจะเปิด และแน่นอนความหวังในอนาคตของสาวเมืองมะละแหม่งผู้นี้คือการ “กลับบ้าน”

           แรงงานรายถัดไปที่จะเอ่ยถึงนี้ ไม่เพียงแต่มีบริบทของการเป็นแรงงามข้ามชาติเท่านั้น แต่ “โฉ่โฉ่” ชื่อที่มีความหมายว่า “รสหวาน” อันเป็นชื่อยอดนิยมของสาวเมียนมานั้น เป็น “ชีวิตที่ข้ามหลายพรมแดน” ด้วยการข้ามในระดับอัตลักษณ์ การข้ามในระดับพรมแดน และการข้ามในระดับอาชีพ ภูมิหลังทางครอบครัวทำให้เราได้ทราบว่าพื้นที่ของ “กะเทย” ที่บ้านเกิดของเธอนั้นไม่ได้เปิดกว้างมากนัก โฉ่โฉ่เล่าว่าทั้งพ่อและพี่ชายไม่มีใครชอบใจนักที่เธอเป็นแบบนี้ การตัดสินใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยวัย 23 ปี กับพื้นฐานความรู้ด้านเสริมสวยทำให้โฉ่โฉ่พัฒนาจากแรงงานในโรงงานมาสู่การเปิดร้านเสริมสวยของตนเอง และไม่เพียงแค่ช่วยให้เพื่อนร่วมชาติมีงานทำ แต่โฉโฉ่ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเสริมสวยให้กับลูกน้องทุกคนเพื่อหวังให้พวกเขามีวิชาความรู้ติดไป

           โฉ่โฉ่อาจแตกต่างจากสาวเมียนมาที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ตรงที่เธอกล่าวถึงเมืองไทยว่า

           “..หนูอยู่ตรงนี้ 10 ปี 20 ปีแล้ว หนูก็ทำใจไม่ได้ หนูอยู่ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนูแล้วเนี่ย”

           ขณะที่แรงงานข้ามชาติรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ก้าวออกจากบ้านเกิดด้วยความหวังในเรื่องของความสำเร็จด้านการงาน แต่หมุดหมายสำคัญอีกประการคือ การก้าวไปสู่โอกาสทางด้านการศึกษา เรื่องเล่าของสาวแรงงามข้ามชาติอีก 4 คนต่อจากนี้ แฝงด้วยความมุ่งหวังในการศึกษาและการเรียนรู้อย่างที่พวกเธอไม่สามารถจะทำได้หากอาศัยอยู่ในเมียนมา

           “ซาร์ญา” ออกเดินทางจากบ้านเกิดสู่ดินแดนประเทศไทยเพื่อหาทุนเรียนต่อต่างประเทศผ่านครือข่ายเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวในประเทศไทย แต่โชคไม่ดีนัก กว่า 1 ปี ที่เธออาศัยอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ไม่มีข่าวคราวของการประกาศให้ทุนการศึกษาอย่างที่เธอหวังไว้ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานในหน่วยงานเอ็นจีโอที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แต่แม้ว่ามีประกาศสอบคัดเลือกให้ทุนการศึกษาต่อ ซาร์ญาก็ไม่อาจทิ้งหน้าที่ของเธอเพื่อเดินกลับไปตามหาความฝันนั้นได้ ในที่สุดเธอเลือกที่จะเข้ามาทำงานที่มหาชัยในฐานะล่ามของบริษัทไทยยูเนี่ยน การทำงานในตำแหน่งล่ามที่ไม่ราบรื่นนัก ซาร์ญาจึงเข้ามาเป็นครูสอนภาษาพม่าในโรงเรียนไทยภายใต้การชักชวนของเพื่อน และตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสยามเพื่อเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาที่เธอใฝ่ฝัน โดยเฉพาะการเปิดประตูสู่โลกของการทำงานอย่างถูกกฎหมายภายหลังที่เธอจบการศึกษา

           เช่นเดียวกับ “เอเอโส่” หรือ “โม” สาวแรงงามข้ามชาติเชื้อสายมอญจากเมาะลำไย ที่เดินทางมาทำงานต่างถิ่นด้วยวัย 14 ปี ชีวิตแรงงานพลัดถิ่นผิดกฎหมายไม่ได้สบายนักและเมืองมหาชัยก็ไม่ได้มีตึกสูง สวยหรูให้เธอได้พักอาศัยอย่างที่ฝันไว้ ห้องเช่าขนาด 9 ตารางเมตร คือที่พำนักของโมในปัจจุบันซึ่งโมเล่าว่าสมัยที่มาเมืองในช่วงแรกอยู่กันลำบากมากกว่านี้ เพราะความฝันของสาวแรงงามข้ามชาติคนนี้คืออยากเป็นล่าม เธอจึงไม่ทอดทิ้งการศึกษาโดยการเริ่มเรียนภาษาไทยและการศึกษานอกโรงเรียนไปพร้อมกับการทำงาน และเธอก็สานฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้ ด้วยการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในโรงพยาบาลสมุทรสาครเพื่อช่วยเหลือในด้านการสื่อสารระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่

           “สานิริน” ก็เช่นกัน จากแรงงานในโรงงานขนาดใหญ่สู่การเป็นล่ามที่สื่อสารระหว่างนายจ้างกับแรงงานและการประสานงานด้านเอกสารต่างๆ สานิรินค่อนข้างจะแตกต่างจากสาวแรงงานข้ามชาติคนอื่นเนื่องจากเธอมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและความรู้ด้วยความสามารถที่พูดได้ถึง 4 ภาษา คือ ไทย มอญ พม่า และอังกฤษ รวมถึงการเข้ามาทำงานในประเทศไทยหลังจากที่แม่ และพี่ๆ ของเธอเข้ามาอยู่ในประเทศไทยราว 6 ปี สานิรินจึงไม่ต้องเริ่มต้นชีวิตในต่างแดนอย่างโดดเดี่ยว ความรักในการแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้ทำให้สานิรินเข้าเรียนในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และฝึกเรียนภาษาไทยจากการดูละครทางโทรทัศน์ ความโชคดีของสานิรินคือการที่เธอได้ทำงานอยู่ในบริษัทที่มองแรงงานข้ามชาติมีสถานภาพเท่าเทียมกับแรงงานไทย

           หญิงสาวแรงงานพลัดถิ่นคนสุดท้าย “นินนะดีโซซาย” หรือ “นะดี” ที่แม่บังคับให้ออกจากโรงเรียนเพื่อที่จะเข้ามาทำงานอยู่ที่ประเทศไทยด้วยกัน ด้วยวัยเพียง 13 ปี นะดีไม่สามารถบอกนายจ้างตามความจริงได้เนื่องจากกฎหมายของไทยกำหนดให้เยาวชนอายุ 15 ปี ขึ้นไปเท่านั้น ที่ทำงานได้ การเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวัยยังน้อยและต้องอยู่ท่ามกลางคนที่อายุมากเป็นข้อดีที่ทำให้เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้รวดเร็ว เด็กสาวยังคงไม่ทิ้งเรื่องการศึกษา นะดีเข้าเรียนการศึกษานอกระบบในวันอาทิตย์แม้ว่าเธอจะทำงานหนักมาตลอด 6 วัน ก็ตาม ตามประสาเด็กรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี นะดีใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวช่วยในการทบทวนตำราเรียนและนำไปอ่านที่โรงงานเป็นบางครั้งบางคราว การลงทุนทางการศึกษาของเธอไม่เสียเปล่า นะดีพัฒนาตัวเองจนมารับตำแหน่งหัวหน้างานพ่วงด้วยหน้าที่ล่ามในโรงงาน เครื่องหมายที่การันตีความไม่ธรรมดาของนะดีคือการที่เธอได้รับตำแหน่ง “มิสชินวงศ์ 2558” จากการประกวดที่จัดขึ้นในงานเลี้ยงปีใหม่ของโรงงานชินวงศ์ฟู้ด

           เรื่องราวของหญิงสาวแรงงามข้ามชาตินี้จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กับพวกเธอ เพื่อให้คนในสังคมไทยได้ทำความเข้าใจ ยอมรับในแรงงานพลัดถิ่น และอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้สายตาของ “คนอื่น” มองดูพวกเธอ ชีวิตของแรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้ในต่างแดนไม่ง่ายนัก หลายคนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความไม่เท่าเทียม ภาพสะท้อนของหญิงสาวทั้ง 8 คน จากเรื่องเล่าของพวกเธอจึงเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของคณะผู้วิจัยที่จะสื่อสารความรู้ความเข้าใจและสร้างการรับรู้ในเชิงบวกของเหล่าแรงงานข้ามชาติสู่สาธารณชนไทย

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิง มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร- SAC Library และ Line: @sac-library

 

 

 

ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 


 

1  มรกต ไมยเออร์, “บทนำ” ใน “ธรรมดา แต่ไม่สามัญ: ผู้หญิงเมียนมากับชีวิตย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย” หน้า 8-9.

ป้ายกำกับ ผู้หญิง เมียนมา การย้ายถิ่น ข้ามชาติ ประเทศไทย สมุทรสาคร จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share