ศมส. ร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่น เตรียมจัดทำ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเสมือนจริง’ (Virtual Local Museum)

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 585

ศมส. ร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่น เตรียมจัดทำ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเสมือนจริง’ (Virtual Local Museum)

           ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และเครือข่ายท้องถิ่น 3 แห่ง ได้ร่วมกันบันทึกข้อมูลและถ่ายภาพ 360 องศา เพื่อจัดทำต้นแบบ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเสมือนจริง’ (Virtual Local Museum)

           พิพิธภัณฑ์นับเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

           “การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและสังคมออนไลน์ที่มีการขยายตัวทั้งในมิติปริมาณและมิติคุณภาพ ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้รูปแบบ
การเรียนรู้ถูกเปลี่ยนผ่านจากข้อมูลในสถานที่เชิงกายภาพสู่พื้นที่ออนไลน์ ‘พิพิธภัณฑ์’ ในฐานะของพื้นที่การเรียนรู้เฉพาะเรื่อง พื้นที่ที่แสดงถึงจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในกลุ่มเฉพาะเรื่อง ก็เผชิญกับความท้าทายดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ระดับฐานรากสุดคือ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น’ ที่อาจจะยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รวดเร็วนัก”

           นอกเหนือจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้ว ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น’ ยังเป็นหนึ่งในองค์กรชุมชนที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งของชุมชน เพราะมีรากฐานการก่อตัวมาจากความตั้งใจของชุมชนให้เป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลและวัตถุทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงออกทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน

           “การเกิดขึ้นและดำรงสถานะของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น มีต้นทุนทั้งทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต้องเสียสละเพื่อแลกเปลี่ยนกับความคงอยู่และความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งนับว่าเป็นข้อจำกัดใหญ่ข้อหนึ่งของการทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในปัจจุบัน”

           ด้วยเหตุนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ศมส. โดยโครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชนด้านวัฒนธรรม จึงได้กำหนดแผนการทำงานที่มุ่งสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีทักษะในการจัดการข้อมูลชุมชน ทั้งเพื่อการสงวนรักษาข้อมูล เผยแพร่ และแปรรูปข้อมูลเหล่านั้นไปสู่การแตกแขนงก่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายต่อตัวชุมชนและตัวพิพิธภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์กรชุมชนด้านวัฒนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่ยั่งยืน

           การจัดทำ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเสมือนจริง’ (Virtual Local Museum) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการทำงานในปี 2565 ที่เกิดจากการระดมความคิดและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เครือข่ายคลังข้อมูลชุมชน และ ศมส. โดยเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น จะจัดทำข้อมูลชุมชน ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลวัตถุจัดแสดง และ ศมส. ที่เสริมสร้างทักษะการจัดการข้อมูลชุมชนให้กับบุคลากรท้องถิ่น สนับสนุนแพลตฟอร์มและโปรแกรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

           นอกจากจะเป็นการนำข้อมูลที่จัดเก็บมาแปรรูป ต่อยอดจัดทำเป็นสื่อที่น่าสนใจให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว Virtual Local Museum ยังถือเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดไปสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้ชมสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ชมจะพบข้อมูลที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนเดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ในสถานที่จริง ชมวัตถุจัดแสดงชิ้นเด่น ไปจนถึงสินค้าและบริการของพิพิธภัณฑ์และชุมชน

           โดยพิพิธภัณฑ์ที่ได้ร่วมทำงานกับ ศมส. ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง นั่นคือ ‘พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว จ.ลพบุรี’ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวคั่ง วัดทุ่งผักกูด จ.นครปฐม’ และ ‘พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จ.ราชบุรี’ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 แห่ง ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ

 

‘พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว’ จ.ลพบุรี

           บ้านโป่งมะนาว เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นเมื่อราวปี 2500 จากการอพยพย้ายถิ่นมาของชาวบ้านจากสระบุรีและโคราช คนในชุมชนจึงมีทั้งกลุ่มคนไทยภาคกลาง ไทยอีสาน ไทยวน ไทยโคราช และลาวเบิ้ง ที่อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่วัดโป่งมะนาว ยังพบสุสานฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนกระทั่งก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานชุมชน ที่ภายในอาคารจัดแสดงข้อมูลชุมชน ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ ส่วนภายนอกอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้น
ทางโบราณคดีในลักษณะ site museum

 

‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวคั่ง วัดทุ่งผักกูด’ จ.นครปฐม

           ชุมชนชาวลาวคั่ง (ครั่ง) ที่อพยพมาจากลาวตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน จนราวปี 2555 คนในชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นในวัดทุ่งผักกูด เป็นเรือนโบราณของชาวลาวคั่ง จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นที่มีเชื้อสายลาวคั่ง ผ่านเครื่องมือเครื่องใช้ และการจัดแสดงจำลองบ้านเรือน ซึ่งวัตถุจัดแสดงล้วนได้มาจากการบริจาคของคนในชุมชน

 

‘พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม’ จ.ราชบุรี

           ชุมชนชาวมอญที่สันนิษฐานว่าอพยพย้ายถิ่นฐานมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยธนบุรี ก่อนที่จะสร้างวัดคงคารามขึ้นในสมัยธนบุรี นอกเหนือจากอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ที่งดงามโดดเด่น และโบราณสถานต่าง ๆ แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามก่อตั้งในปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้อง ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่ใหญ่และงดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ดัดแปลงพื้นที่เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ บนเรือนจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ล้ำค่าอันเป็นสมบัติของวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใต้ถุนจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวมอญในชุมชน และชาวมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง

           หลังจากนี้ทางโครงการจะเดินทางต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกับตัวแทนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและคลังข้อมูลชุมชน ในการจัดทำต้นแบบ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเสมือนจริง’ (Virtual Local Museum) โดยมีเป้าหมายอย่างน้อย 10 แห่ง ในปี 2565

Share