วัฒนธรรมเกย์และความเป็นชายในญี่ปุ่น

 |  Gender and Queer Anthropology
ผู้เข้าชม : 5178

วัฒนธรรมเกย์และความเป็นชายในญี่ปุ่น

ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 คนกลุ่มน้อยทางเพศในญี่ปุ่นเริ่มปรากฎให้เห็นและเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ทั้งในแวดวงวิชาการภาษาอังกฤษและภายในสื่อของญี่ปุ่นเอง แต่ในวงการญี่ปุ่นศึกษา ประเด็นนี้ไม่ได้รับความสนใจ การศึกษาโฮโมเซ็กช่วลในญี่ปุ่นเริ่มขึ้นจากการแปลงานวรรณกรรมสมัยเอโดะของนักเขียนที่ชื่อ อิฮารา เซกากุ เรื่อง Great Mirror of Male Love (1990) และการศึกษาของแกรี ลัพพ์(1995) การศึกษาของเกรกอรี ฟลักเฟลเดอร์(1999) ที่ศึกษาเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในสมัยโตกุกาว่า รวมทั้งการรวบรวมบทประพันธ์เกี่ยวกับเกย์ญี่ปุ่นโดยสตีเฟ่น มิลลเอร์ การศึกษาของเจอนนิเฟอร์ โรเบิร์ตสัน(1998) เกี่ยวกับเลสเบี้ยนในวัฒนธรรมประชานิยมในสมัยไตโชและโชวะ และการศึกษาของมาร์ก แม็คเลลแลนด์(2000) ในประเด็นโฮโมเซ็กช่วล นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของวิม ลันซิ่ง(2001) เรื่องความสัมพันธ์ที่เป็นชายขอบและการศึกษาของชารอน ชัลเมอร์(2002) เรื่องเลสเบี้ยนในสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัย การศึกษาเหล่านี้บ่งชี้ว่าเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในญี่ปุ่นกำลังได้รับความสนใจ

ในญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ จะพบเห็นสื่อจำนวนมากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนกลุ่มน้อยทางเพศ ทั้งเกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศและคนแปลงเพศ สิ่งนี้มาพร้อมกับแรงตึงเครียดในสังคมญี่ปุ่นเมื่อความคิดเรื่องครอบครัว การศึกษาและการทำงานที่มีแรงบีบคั้นซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจตกต่ำมายาวนานในประวัติศาสตร์และในช่วงเวลาที่อัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเกิดลดน้อยลง วาทกรรมเกี่ยวกับการพร่ำบ่นจำนวนมากปรากฎขึ้นในสื่อ ซึ่งให้พื้นที่มากขึ้นสำหรับบุคคลที่มีเพศภาวะที่อยู่นอกกรอบได้แสดงตัวเองเช่นเดียวกับคนกลุ่มน้อยทางเพศทั้งหลาย

ในเดือนมกราคม ปี 1999 นิตยสารที่มีชื่อเสียงคือ Da Vinci มีการนำเสนอประเด็นเอดส์เป็นเรื่องพิเศษ และมีบทความที่พูดถึงการปฏิบัติทางเพศที่กลายเป็นเรื่องอิสรภาพส่วนบุคคลและถามว่ามีใครที่กล้าถามคนรักหรือไม่ว่าเขาไปตรวจเช็คว่าเป็นเอดส์แล้วหรือยัง นิตยสารฉบับนี้ยังมีบทความดีๆเกี่ยวกับโรคเอดส์ การวิจารณ์หนังสือ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ติดเชื้อเอชไอวี การสัมภาษณ์นักกิจกรรมด้านเอดส์และสมาชิกในกลุ่มที่สนับสนุนการทำงานด้านนี้ บทความเหล่านี้บ่งบอกให้ทราบว่าความเข้มงวดในครอบครัวเดี่ยวแบบรักต่างเพศที่บ่งการชีวิตนั้นกำลังเสื่อมถอยลง ตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โคอิซูมิ จุนอิชิโรก็หย่าร้างและยังคงเป็นโสดอยู่ “ซารารีแมน คินทาโร่” วีระบุรุษคนหนึ่งในละครทีวีของญี่ปุ่นก็เป็นโสด รวมทั้งนักกิจกรรมเกย์เช่น อิโต ซาโตรุก้เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ประจำวัน ในนิตยสารเพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับการที่ญี่ปุ่นไม่มีอคติและการกีดกันที่มีสาเหตุจากเพเศภาวะและเพศวิถี

การพูดมากขึ้นถึงกลุ่มคนที่มีเพศภาวะและเพซวิถีนอกกรอบในสังคมญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน และทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่ความสนใจเพียงชั่วคราว แต่มีความชัดเจนของการนำเสนอเรื่องความหลากหลายที่กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเพศภาวะและเพศวิถีอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นความสนใจที่เกิดควบคู่กันในประเทศประชาธิปไตยหลังยุคอุตสาหกรรมทั้งหลาย ถึงแม้ว่าชีวิตของคนญี่ปุ่นยังคงผูกมัดอยู่กับความคาดหวังทางสังคม แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ชี้ว่าสังคมเริ่มยืดหยุ่นซึ่งทำให้คนกลุ่มน้อยทางเพศเริ่มมีพื้นที่ของตัวเอง

บทความนี้ต้องการศึกษากลุ่มคนทางเพศกลุ่มหนึ่งในญี่ปุ่น นั่นคือกลุ่มเกย์ และศึกษาว่าพวกเขาถูกนำเสนอในสื่ออย่างไร พวกเขาจะแสดงตัวเองอย่างไร โดยเริ่มต้นจากยุคเกย์บูมในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งสื่อในญี่ปุ่นมีการนำเสนอชีวิตเกย์ในแบบเพ้อฝันเกินจริง และพิจารณาไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสื่อญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ซึ่งยังคงนำเสนอเรื่องราวเชิงสนุกสนานมากกว่าจะพูดถึงชีวิตและอัตลักษณ์ของเกย์อย่างจริงจัง จากนั้นจะเป็นการศึกษาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีอำนาจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพุ่งตรงไปที่เกย์เพื่อทำให้พวกเขาสร้างเครือข่ายและพูดคุยในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเพศภาวะและเพศวิถี อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการเชื่อมต่อและการสร้างกลุ่มระหว่างคนที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งกลุ่มคนอื่นๆในสังคมญี่ปุ่นซึ่งมีความทุกข์ใจกับการมีชีวิตแบบจารีตและยึดอยู่ในเพศภาวะแบบอุดมคติ เช่น กลุ่มสตรีที่เป็นนักกิจกรรม กลุ่มที่ติดเชื้อเอดส์ และกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้ชาย ถึงแม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะมิใช่เทคโนโลยีที่น่าพิศวงที่จะล้มล้างอัตลักษณ์ของเพศภาวะที่ตายตัว แต่มันก็บ่งบอกให้รู้ถึงแนวโน้มของการไปสู่พหุลักษ์ ซึ่งในโลกสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงของการแสดงอารมณ์/ความสัมพันธ์ทางเพศ และทำให้เห็นการคิดใหม่เกี่ยวกับเพศภาวะ เพศวิถี และอัตลักษณ์

ยุคเกย์รุ่งเรืองในญี่ปุ่น

การนำเสนอเพศภาวะและเพศวิถีนอกกรอบมีมานานแล้วในวัฒนธรรมประชานิยมในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งในยุคสมัยใหม่ย้อนกลับไปอย่างน้อยในสมัยไตโช (ค.ศ.1912-26) ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของโฮโมเซ็กช่วลส่วนใหญ่มีอยู่ในหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้หญิงซึ่งถูกทำให้มีลักษณะเฉพาะเพื่อสร้างอารมณ์แบบโฮโมอีโรติก รู้จักในนาม “ไบโชเน็น” หรือ เด็กชายที่สวยงาม ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 นิยายคลาสสิคของฮากิโอ โมโต เรื่อง The Heart of Thomas และของทากีมิย่า ไคโกะ เรื่อง Song of the Wind and the Tree ถูกเผยแพร่ออกไปพร้อมกับนิยายอีกหลายเรื่องที่นำเสนอความรักระหว่างเด็กชายและระหว่างเด็กหญิง ในปี 1995 นิยายแนวความรักของเด็กชายเรื่อง June ได้รับความนิยมและมียอดขายระหว่าง 80,000-100,000 ฉบับต่อเดือน และต่อมาติยสารเกย์ญี่ปุ่นชื่อบาดีก็นำไปพิมพ์ต่อครั้งที่สอง ถึงแม้ว่ายอดขายนิยายแนวนี้จะไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหนังสือ แต่ผู้อ่านนิยายแนวนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้อ่านอธิบายว่าความรักระหว่างเด็กหนุ่มซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามและข่มขื่นเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และมีความเท่าเทียมกันมากกว่าความรักที่มีอยู่ในชายและหญิง ซึ่งถูกควบคุมจากระบบครอบครัวและการสืบทายาท

โทรทัศน์ก็มีการนำเสนอละครเกี่ยวกับเพศภาวะและเพศวิถีด้วย การแสดงความสามารถของคนข้ามเพศ เช่น ปีเตอร์และมิว่า อากิฮีโร่ เป็นนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศปรากฎตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1960 พวกเขาไปออกรายการต่างๆ และในปี 2000 อาชีพการแสดงของมีว่าก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นสารคดีของเอ็นเอชเค ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นางแบบ มัตสุบารา รูมิโกะ คนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงก็โด่งดังมาก เธอเป็นทั้งนักร้องและนักจัดรายการทีวี เธอทำให้คำว่า “นิวฮาล์ฟ” กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันนี้ใช้เป็นคำเรียกคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงและบริการทางเพศของญี่ปุ่น นักร้องที่เป็นคนข้ามเพศอย่าง มิกาว่า เคนอิชิ เป็นคนข้ามเพศที่เป็นดาราดังคนหนึ่งของญี่ปุ่น เธอปรากฎตัวในรายการทีวีต่างๆเกือบทุกคืน การแสดงที่แปลกใหม่ของเธอพร้อมกับทีมงานผู้ชายในช่วงปีใหม่มรเทศกาลประกวดร้องเพลง “แดงขาว” ได้รับความสนใจมาก โอซูกิและพิอีโกะ ผู้ชายที่แต่งหญิงก็เป็นนักจัดรายการทีวีที่เป็นเกย์ซึ่งมักจะมาวิจารณ์ภาพยนตร์และแฟชั่นทางทีวี

ถึงแม้ว่าคุณลักษณะของผู้หญิงที่เป็นคนข้ามเพศจะเห็นได้ยากกว่าในวงการโทรทัศน์ญี่ปุ่น แต่การแสดงตัวแบบสุดโต้งของนักร้องวดะ อากิโกะ ก็แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ เช่นเดียวกับ “ดัมพ์” มัตซุโมโตะ นักมวยปล้ำหญิง นักแสดงหญิงที่มีฉายาว่า โอโตโกยากุ ก็มีความเชี่ยวชาญในการแสดงบทบาทชายในคณะละครเวทีทาการาซุกะที่ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ซึ่งเธอก็ไปเป็นดาราภาพยนตร์และโทรทัศน์หลังจากที่ปลดเกษียณตัวเองจากการเล่นละครเวทีเมื่อเธอมีอายุประมาณ 30 ปี เธอก็ยังคงรักษากิริยาท่าทางแบบผู้ชายเอาไว้ จริงๆแล้ว ในภาพยนตร์ที่เสนอเรื่องโบราณในสมัยไฮอัน (ค.ศ.794-1185) เรื่อง Tale of Genji บทเจ้าชายเคนจิก็แสดงโดยเธอผู้นี้

ในขณะที่ไม่มีการนำเสนอใดๆที่พูดถึงโฮโมเซ็กช่วลในเชิงความจริงที่เป็นชีวิตของเกย์ เลสเบี้ยนและคนข้ามเพศในสังคมญี่ปุ่น แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าสื่อเหล่านี้ได้พูดถึงภาพลักษณ์ของเพศนอกกรอบที่พบเห็นทั่วไปในญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่มาจากวงการบันเทิงก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 สื่อญี่ปุ่นก็พูดถึงยุครุ่งเรืองของเกย์ ซึ่งคนกลุ่มน้อยทางเพศเริ่มมีตัวตนมากขึ้น นิตยสารผู้หญิงชื่อ CREA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1991ถือเป็นฉบับที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองเมื่อมีการทำฉบับพิเศษชื่อ Gay Renaissance ซึ่งมีบทความและบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเกย์ แต่โชคไม่ดี ภาพลักษณ์เกย์ที่นำเสนอในฉบับนี้ค่อนข้างเอียงไปเป็นความโรแมนติกและความแปลกพิศดารซึ่งพบเห็นได้ในหนังสือการ์ตูนและทีวีสำหรับผู้หญิง บทความที่ชื่อ “ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างชุ่มชื่นกับเกย์” ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าผู้หญิงที่มีเพื่อนเป็นเกย์จะเป็นคนที่สวยและปราณีต ผูหญิงคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์และมีความชอบเกย์มากกว่าผู้ชายบอกว่าเมื่อเธอกอดเกย์ทำให้มีความสุขเหมือนได้กอดแมว นิตยสารเล่มนี้พยายามนำเสนอยุครุ่งเรืองของเกย์และนำเสนอเกย์ในฐานะที่เป็นเพื่อนสำหรับผู้หญิง แนวโน้มดังกล่าวนี้จะเห็นได้จากละครทีวี 3 เรื่องในช่วงเวลานั้น

ความสัมพันธ์แบบเพ้อฝันเกินจริงระหว่างเกย์กับผู้หญิงยังปรากฎอยู่ในหนังเรื่อง Okoge กำกับโดยนากาจิม่า ทาเคฮิโร่ ในปี 1992 และเรื่อง Kira Kira Hikaru กำกับโดยมัตซุโอกะ จอร์จ ปี 1992 รวมทั้งในละครทีวีเรื่อง Dosokai ในปี 1993 ถึงแม้ว่าความฝันแบบนี้จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเกย์ แต่ตัวละครหลักของเรื่องคือผู้หญิงที่พยายามส่งเสริมสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ในหนังเรื่องโอโกเกะ หรือ “วีรสตรี” ซาโยโกะถูกล่วงเกินทางเพศจากพ่อเลี้ยง ทำให้เธอถูกผู้ชายหลายคนล่วงเกิน เมื่อเธอพบกับเกย์ที่ชื่อโตชิที่รักอยู่กับโก กำลังจูบกันที่ชายหาด เธอก็พบกับความประทับใจ ซึ่งต่อมาเธอก็สารภาพว่าจูบของเขาสวยงาม เหมือนกับเรื่องความรักระหว่างเด็กหนุ่มในการ์ตูนสำหรับผู้หญิง ความสัมพันธ์ของเกย์ในหนังเรื่องนี้ถูกนำเสนอให้เป็นความประทับใจสำหรับผู้หญิง ซาโยโกะบอกกับเกย์คนนั้นว่าเธอรู้สึกสบายเมื่ออยู่กับเขา โก คนรักของโตชิมีท่าทางเหมือนหญิงซึ่งหนังได้นำเสนอออกมา แต่เดิมโกเป็นช่วงทำกระเป๋าสำหรับผู้หญิง โกจะทำอาหารให้โตชิและซาโยโกะ และให้คำแนะนำแก่ทุกคนในการปรุงอาหาร นอกจากนั้น เมื่อแม่ของโกล้มป่วย โกก็ต้องกลับไปดูแลแม่ที่บ้าน น้องสะใภ้ของโกบอกกับเขาว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีเพราะเขาเป็นเกย์ ผู้ชายจะทำอย่างเขาไม่ได้

ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชายกับการล่วงเกินทางเพศถูกตอกย้ำเมื่อซาโยโกะถูกข่มขื่นโดยผู้ชายที่เธอพบในบาร์เกย์ เธอเคยบอกกับาร์เทนเดอร์ในบาร์ว่าผู้ชายคนนี้ไม่ใช่เกย์ เพราะเขาใส่เน็คไทและเข็มกลัดไม่เรียบร้อย ซึ่งแตกต่างจากเกย์ที่เรียบร้อยกว่า เธอตั้งท้องและต่อมาสามีของเธอก็ล่วงเกินเธอและลูก เมื่อเธอไม่มีที่พึ่ง เธอก็กลับไปขอความช่วยเหลือที่บาร์เกย์ซึ่งดำเนินกิจการโดยแก๊งยากูซ่า กลุ่มนางโชว์ของบาร์ต่อสู้กับแก๊งนี้และช่วยเหลือซาโยโกะและลูกออกมาพร้อมกับให้เงินเธอ โกรู้สึกว้าวุ่นใจในช่วงท้ายของความสัมพันธ์กับโตชิ และเขาไม่เคยนึกถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีซาโยโกะผ่านเข้ามา เมื่อเขารู้เรื่อง โกก็ยอมเป็นพ่อให้กับลูกของซาโยโกะ ฉากสุดท้ายของหนังจะเป็นภาพของโก ซาโยโกะและลูกกำลังเดินผ่านย่านเกย์ของโตเกียว คือ ชินจูกุ นิ โชเม ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มนางโชว์ เกย์แมนและเกย์ต่างชาติ ความเป็นอื่นของเกย์ถูกทำให้เป็นธรรมชาติ โก ซาโยโกะและลูกกลายมาเป็นครอบครัว

ในทำนองเดียวกัน ตัวละครหลักในหนังเรื่องคีระ คีระ ฮิการุ คือผู้หญิง เธอชื่อโชโกะเป็นคนติดเหล้าและซึมเศร้า หมอบอกเธอว่าถ้าแต่งงานแล้วจะช่วยให้หายเศร้า จนทำให้เธอต้องไปงานหาตัวเจ้าบ่าวที่เรียกว่า โอ มิไอ ซึ่งพ่อแม่เธอได้เตรียมไว้ เมื่อมัตซุกิซึ่งเป็นเจ้าบ่าวบอกเธอว่าเขาชอบผู้ชายมากกว่า เธอก็ยอมแต่งงานกับเขา โชโกะพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสามีของเธอกับคนรักของเขาที่ชื่อ โกน สะท้อนให้เห็นว่ามัตซุกิไม่มีความสุขถ้าไม่ได้อยู่กับโกน อย่างไรก็ตาม ในหนังทำให้เห็นว่ามัตซุกิปฏิเสธที่จะพบกับโกน ซึ่งทำให้ทั้งคู่ตกอยู่กับความเศร้าใจ อย่างไรก็ตาม โชโกะก็พยายามทำให้สามีและคนรักของเขาเข้าใจกัน เพราะเธอเป็นห่วงชีวิตของมัตซุกิ ในที่สุดมัตซุกิก็กลับไปอยู่กับโชโกะ ในตอนจบของหนังสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสามคนจะใช้ชีวิตร่วมกัน

ละครเกย์ที่ได้รับความสนใจมากในญี่ปุ่นคือละครชื่อ โดโซไก หมายถึงการชุมนุมศิษย์เก่า ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นทีวี ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1993 ละครเรื่องนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องความรักระหว่างผู้ชายอย่างไม่หวาดหวั่น โดยที่ผู้ชายเหล่านั้นอยู่ในฉากเปลือยกาย อาบน้ำ แก้ผ้าอยู่ด้วยกัน จูบกัน สำเร็จความใคร่และมีเซ็กส์ เหมือนกับหนังสองเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ละครเรื่องนี้นำเสนอตัวละครผู้หญิงเป็นหลัก ตัวละครชื่อนัตซูกิที่มีสามีชื่อฟูมะ ซึ่งเขากำลังสับสนกับอารมณ์โฮโมเซ็กช่วลของตัวเอง อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นเมื่อเขาได้กอดกับเพื่อนที่ชื่อ อาตาริ ซึ่งเป็นคนที่ฟูมะหลงใหลมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายและต่อมาเขาก็มีความรักกับอาราชิ หนุ่มวัย 17 ปีที่เป็นไบเซ็กช่วล ตั้งแต่ที่ฟูมะไม่สามารถทำให้ชีวิตแต่งงานสมบูรณ์ได้ นัตซุกิก็รู้ถึงความผิดปกติและค้นพบว่าสามีของเธอเป็นโฮโมเซ็กช่วล มีฉากสำคัญที่ฟูมะและอาตาริไปเที่ยวด้วยกันที่กระท่อมในชนบท ซึ่งอาตาริยอมรับในความรักและรู้สึกสงสารฟูมะ ทั้งคู่ร่วมรักกันตลอดหนึ่งอาทิตย์ที่อยู่ด้วยกัน ละครตอนที่นำเสนอความรักของฟูมะที่มีต่ออาตาริปรากฎอยู่ในฉากที่มาก่อนฉากที่นัตซุกิกำลังปูเตียงที่ว่างเปล่าของฟูมะ เธอสารภาพว่าเธอรักฟูมะและยอมให้เขามีอิสระในการทำสิ่งที่ชอบชอบตราบใดที่เขายังมีความสุข และต่อมาก็เป็นฉากที่ฟูมะและอาตาริอยู่ด้วยกันในเรือใบบนท้องทะเลสีคราม เหมือนอยู่ในโลกของคนที่รักกัน ฉากนี้สะท้อนให้เห็นว่านัตซุกิกำลังจินตนาการในขณะที่เธอกำลังพูดถึงฟูมะ ในฉากนี้คล้ายๆกับฉากในหนังสองเรื่องแรก ซึ่งมีผู้หญิงกำลังช่วยเหลือส่งเสริมความรักของชายสองคน

จะเห็นได้ว่า การเปิดเผยความเป็นโฮโมเซ็กช่วลของฟูมะไม่ได้ทำให้เขาเป็นตัวประหลาดจากภรรยา แต่กลับทำให้เขาใกล้ชิดกันมากขึ้น บทบาทของเพศภาวะในการแต่งงานเกิดการสลับขั้วเมื่อฟูมะถูกทำให้เป็นคนที่อ่อนแอเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากภรรยาตัวเอง ในฉากสุดท้ายของละคร หลังจากอาราชิถูกฆ่าตาย นัตซุกิก็พยายามแสวงหาชายคนอื่นที่ทำงานก่อสร้างมาให้สามี ชายที่ดูเหมือนอาราชิ เชิญเขามารับประทานอาหารค่ำที่บ้าน ในสังคมญี่ปุ่น พื้นที่ของครัวเรือนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเพศ การเชิญคนรักของสามีมารับประทานอาหารที่บ้าน ทำให้นัตซุกิเป็นสัญลักษณ์ที่ท้าทายระบบคุณค่าเก่าๆ

ละครและหนังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแปลกแยกจากครอบครัวตามจารีตของญี่ปุ่นซึ่งผู้หญิงต้องถูกควบคุม มากกว่าจะเป็นเรื่องของความยากลำบากในการเป็นเกย์ในสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ จากสิ่งนี้จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเป็นตัวอย่างของแนวโน้มที่มีการนำเสนอความสัมพันธ์ที่หลากหลายนอกแบบแผนเก่าๆ สื่อเหล่านี้นำเสนอเรื่องราวที่อบอุ่นสวยงามซึ่งเล่าถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะรักกันโดยไม่เอาจารีตประเพณีและบทบาททางเพศมาขว้างกั้น ในละครและหนังเหล่านี้ เกย์ไม่ได้ถูกแยกออกจากผู้หญิง แต่ถูกสร้างให้เป็นเพื่อนที่ดี เป็นสามีในอุดมคติของผู้หญิง และเป็นมิตรในการต่อสู้เพื่อที่จะได้ว่าซึ่งพื้นที่ของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในการใช้ชีวิตกับเกย์ก็ยังวนเวียนอยู่กับกลุ่มคนที่เป็นรักต่างเพศซึ่งมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม

ตัวละครที่สื่อนำเสนออกมานั้น เพศภาวะและเพศวิถีของตัวละครเหล่านี้จะแปลกแยกจากบรรทัดฐาน ซึ่งไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนในความเป็นจริงดีขึ้นมาได้ เพราะชีวิตในตัวละครกับชีวิตจริงต่างกันมาก จริงๆแล้ว ผู้ชายที่สัมภาษณ์ในหนังสือรวมเรื่องเกย์ของยาจิมา ได้ชี้ว่าพวกเขาเห็นภาพลักษณ์ของเด็กหนุ่มที่สวยงามในการ์ตูนสำหรับผู้หญิงซึ่งสร้างความรำคาญใจมาก เกย์คนหนึ่งบอกว่าในขณะที่เขาเป็นนักเรียนชาย เขารู้สึกทุกข์ใจเมื่อเห็นการ์ตูนเหล่านี้นำเสนอแต่ตัวละครที่น่ารักและจิ้มลิ้มเท่านั้น เนื่องจากเขาตัวโตกว่าอายุจริงและคิดว่าไม่มีเสน่ห์ เขาจึงสงสัยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขา ผู้ให้ข้อมูลยาจิมาอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ยุครุ่งเรืองของเกย์ไม่ได้เกี่ยวกับเกย์ แต่เกี่ยวกับ “ความเพ้อฝัน” วึ่งผู้หญิงญี่ปุ่นพยายามดิ้นรนต่อสู้กับภาพลักษณ์ทางเพศของพวกเธอที่ถูกบิดเบือน โดยสังคมปิตาธิปไตย

การนำเสนอเรื่องเกย์ในสื่อของเกย์

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสื่อของญี่ปุ่นพยายามทำให้โฮโมเซ็กช่วลเป็นเรื่องเดียวกับการสลับบทบาทของเพศภาวะ ในสื่อกระแสหลักเช่นโทรทัศน์ ภาพลักษณ์โฮโมเซ็กช่วลที่พบบ่อยที่สุดคือการเป็นตัวตลกที่เป็นคนข้ามเพศ สื่อที่ผลิตโดยผู้หญิงและทำให้ผู้หญิงดู รวมทั้งสื่อในยุคเกย์บูม เกย์ยังคงมีความเป็นหญิงเพราะเกย์เป็นผู้ชายที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย เกย์จึงถูกกีดกันเหมือนกับผู้หญิง ดังนั้น เกย์จึงถูกแสดงให้เป็นเหมือนมิตรและเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิง แต่ภาพลักษณ์เหล่านี้จะมีอยู่ในสื่อที่ผลิตโดยเกย์หรือไม่ เป็นเรื่องไม่จริงที่จะบอกว่าภาพลักษณ์ของเกย์ที่มีความเป็นหญิงนั้นจะไม่มีอยู่ในสื่อของเกย์ แต่ภาพลักษณ์นี้มีอยู่บ้างและไม่สำคัญ

เช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์จำนวนมากในตะวันตก ความคิดที่ว่าเกย์แตกต่างจากผู้ชายเมื่อพิจารณาจากอารมณ์และการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสื่อบางประเภทที่ทำมาเพื่อเกย์ ตัวอย่างเช่น เมื่อสิ้นสุดยุคเกย์บูม ก็มีนิตยสารชื่อ Bessatsu Takarajima ออกฉบับพิเศษในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1994 โดยใช้ชื่อ Gays’ Heavenly Campus ซึ่งมีประโยคต่อท้ายว่า “บทเรียนเกี่ยวกับความสุขของเกย์” บทบรรณิการที่เขียนโดยโอตซูกะ ทากาชิ ซึ่งเป็นเจ้าของบาร์เกย์ เป็นนักเขียน เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมเกย์โตเกียว อธิบายว่า สิ่งที่เราต้องเรียนรู้คือการเป็นเกย์อย่างสนุกสนาน วิธีการที่เขาแนะนำน่าสนใจ เช่น การรู้จักเตรียมงานปาร์ตี้ สิ่งสำคัญสำหรับปาร์ตี้เกย์คือ รสนิยม เขาอธิบายว่าปาร์ตี้ที่สนุกอาจเป็น Maria Callas Night และ Party in Pink พร้อมกับแนะนำเมนูอาหารและการตกแต่งสถานที่ที่เหมาะสำหรับปาร์ตี้

คำตอบส่วนใหญ่ที่มีต่อคำถาม “รสนิยมของเกย์คืออะไร” จะเห็นในนิตยสารซึ่งดูเหมือนจะเอาคำตอบมาจากวัฒนธรรมเกย์อเมริกันชนชั้นกลางผิวขาว เช่น การฟังดนตรี อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าการสร้างสรรค์และความสนุกสนานของการใช้ชีวิตเกย์ที่มีอยู่ในนิตยสารเล่มนี้ ถูกอธิบายราวกับว่าเกย์ช่วยกันสร้างขึ้นโดยปราศจากผู้หญิง ตัวอย่างเช่น คอลัมน์ Queens’ Party Study มีการอธิบายว่าวิธีสร้างความสนุกในชีวิตเกย์คือจัดปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ถ้าเกย์ส่งเสียงดังด้วยภาษาแบบเกย์ ก็เป็นสิ่งที่ใช้ได้

ลักษณะที่เรียกว่า “แบบแผนชีวิตเกย์” ที่ถูกนำเสนอในนิตยสารเล่มนี้ยังเป็นรองแต่ก็จำเป็น สิ่งที่ “สไตล์เกย์” ที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่มีอยู่ในงานสังคมแบบชาวตะวันตก ปาร์ตี้มื้อค่ำจะเกิดขึ้นที่บ้าน เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวญี่ปุ่นเพราะบ้านญี่ปุ่นไม่มีพื้นที่มาก สัญลักษณ์เกย์ที่กล่าวมานั้น จะเหมือนกับเกย์ตะวันตกซึ่งเป็นตัวแบบสำคัญให้กับเกย์ญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้นิตยสารจะมีเรื่องสนุกให้อ่าน แต่มันก็ไม่ได้สะท้อนชีวิตเกย์ญี่ปุ่นอย่างที่สื่อนำเสนอ

ถึงแม้ว่าวาทกรรมข้างต้นจะเกี่ยวข้องกับไลฟสไตล์ แต่ก็บ่งชี้ให้เห็นเหมือนที่สื่อสำหรับผู้หญิงเคยทำให้เกย์มีความเป็นหญิง โดยมีความสนใจแฟชั่น อาหาร สไตล์ มากกว่าผู้ชาย ภาพลักษณ์ในนิตยสารเกย์ของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากเกย์อีกจำนวนมาก ธุรกิจด้านสื่อสองอย่างเมื่อเร็วๆนี้มีเกย์เข้าไปร่วมผลิต พยายามที่จะสำรวจความคิดเกี่ยวกับแบบแผนชีวิตเกย์สไตล์ญี่ปุ่น สื่อนี้คือนิตยสาร Fabulous และ เว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ gaywalker.com ทั้งสองสื่อนี้ต้องล้มเหลวทางธุรกิจ

นิตยสาร Fabulous ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นนิตยสารแนวใหม่สำหรับเกย์ ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายนปี 2000 แต่หลังจากพิมพ์ไป 4 เล่ม ก็ต้องปิดตัว ส่วนนิตยสารออนไลน์ของ gaywalker.com อยู่นานกว่าเล็กน้อย นิตยสารนี้นำเสนอเรื่องไลฟสไตล์และความบันเทิงเหมือนกับนิตยสาร Tokyo Walker ซึ่งมีเรื่องไลฟสไตล์แบบเกย์และเลสเบี้ยนในญี่ปุ่น คอลัมน์ประจำได้แก่ ข่าว ไลฟสไตล์ บันเทิง ท่องเที่ยว อาชีพ การศึกษา แฟชั่น อาหาร เครื่องดื่ม กีฬา เวลาว่าง และสุขภาพ ลักษณะต่างๆที่พบในชุมชนเกย์โตเกียว ทั้งที่เป็นชาวญี่ปุ่นและต่างชาติถูกนำเสนอเป็นบทความและทำให้เกิดสำนึกของการมีชุมชนเกย์ ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติและภาษา เว็บไซต์นี้นำเสนอเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีบทความบางบทเป็นภาษาอังกฤษบ้าง เว็บไซต์นี้สร้างโดยบริษัทโฆษณาของอังกฤษและไม่ได้เป็นเกย์ ผู้ลงทุนหวังว่าเว็บไซต์จะดึงดูดความสนใจจากสปอนเซอร์ที่มีลูกค้าเป็นเกย์ เช่น เครื่องดื่ม และสินค้าต่างๆที่เคยสนับสนุนสิ่งพิมพ์เกย์ เช่น The Advocate, Blue, Out อย่างไรก็ตาม สปอนเซอร์ก็มีน้อยและเว็บไซต์ต้องปิดลงในปี 2001 หลังจากเปิดมาเพียง 1 ปี

ถึงแม้ว่าจะเกิดความล้มเหลวทางธุรกิจ ญี่ปุ่นของมีสื่อเกย์จำนวนมาก รวมทั้งนิตยสารเกย์ 4 ฉบับ เว็บไซต์เกย์หลายพันเว็บไซต์ และสำนักพิมพ์เล็กๆจำนวนมากที่รู้จักในนาม minikomi สื่อเหล่านี้นำเสนอเรื่องราวความบันเทิงเชิงอีโรติก ซึ่งมีการแนะนำว่าผู้ชายจะหาเซ็กส์กับผู้ชายจากที่ไหนและอย่างไร และนำเสนอภาพโป๊เปลือย การ์ตูน เรื่องแต่งที่ใช้สำหรับการสำเร็จความใคร่ วิธีการที่ร่างกายของเพศชายถูกสร้างขึ้นในนิตยสารเกย์ วีดิโอและอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย มีลักษณะเป็นแบบแผนเฉพาะ คือมีการจัดประเภทร่างกายหลายประเภท ได้แก่ คูมะ(เกย์อ้วน) กาเตนไก(กรรมกร) ไบรูดะ(นักเพาะกาย) ซูปอตซูมัน(นักกีฬา) ยากูซ่า(อันธพาล) และจานีอิซูไก(น่ารัก) อย่างไรก็ตามการนำเสนอภาพลักษณ์เหล่านี้จะมีแต่ความเป็นชาย เช่น มัดกล้าม ขนตามร่างกาย และขนาดขององคชาต การนำเสนอภาพร่างกายของผู้ชายในสื่อเกย์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงด้านตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่นำเสนอในสื่อสำหรับผู้หญิง เพื่อสร้างจิตนาการให้ผู้หญิง ภาพลักษณืเกย์ก็จะเป็นคนที่สวยงาม อ่อนโยน เหมือนผู้หญิง มีความคลุมเคลือในการเป็นชายและหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงฝันถึง ส่วนสื่อที่ทำให้เกย์ จะนำเสนอภาพลักษณ์เกย์ในแบบความเป็นชายเข้มข้น เป็นเครื่องจักรทางเพศ สนใจแต่เซ็กส์ ไม่โรแมนติก และโลดแล่นอยู่ในโลกของผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะไม่ปรากฎอยู่เลย

ฉากยอดนิยมสำหรับเซ็กส์เกย์ในนิตยสารและวีดิโอเกย์คือฉากที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้น เช่น ในโรงยิม ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า โรงเรียนชายล้วน ตึกอาคาร หอพักชาย และพื้นที่จับคู่ของเกย์ สื่อสำหรับเกย์จะไม่นำเสนอให้เกย์อยู่ในบ้านและทำงานบ้านเหมือนผู้หญิง(ต่างไปจากสื่อสำหรับผู้หญิงในยุคเกย์บูม) แต่จะทำให้เกย์หนีไปจากโลกของผู้หญิงและเข้าไปอยู่ในพื้นที่สำหรับผู้ชายเท่านั้น ซึ่งเอื้อให้เกิดการมีเซ็กส์ให้มากที่สุด หนังสือโป๊เกย์ จะไม่มีพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์ที่ยืนยาว มีแต่การเปลี่ยนคู่และการหาคนใหม่กับการมีเซ็กส์ ศักยภาพที่จะสร้างความรุนแรงทางเพศจะพบเห็นบ่อยๆ เช่นผู้ชายจะถูกทำร้ายด้วยกำลังแต่ก็รักที่จะพบความรุนแรง เหมือนกับในหนังสือดโป๊ของผู้ชายที่ชอบทำร้ายผู้หญิง ในบางโอกาส ผู้หญิงจะถูกนำเข้ามา พวกเธอจะเป็นคู่ต่อสู้ของเกย์ในการถูกล่าจากผู้ชาย หรือเป็นคนที่ถูกหลอกให้ไล่ตามเกย์ที่สนใจมีเซ็กส์กับผูชายเท่านั้น สื่อสำหรับเกย์เหล่านี้จะเป็นความบันเทิงทางเพศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การอ่านวัฒนธรรมเกย์ที่นำเสนอในนิตยสารเหล่านี้เพียงด้านเดียว อาจทำให้มองข้ามสิ่งพิมพ์ชนิดอื่นๆที่นำเสนอเกย์ในแบบที่แตกต่างไป ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1990 มีองค์กรเกย์เกิดขึ้นชื่อ OCCUR ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิตั้งแต่ปี 1991 และในปี 1997 ก็ชนะคดีที่สภาของโตเกียวได้ออกกฎห้ามเกย์ออกมาชุมนุมกัน องค์กรนี้รวมทั้งองค์กรเล็กๆอีกหลายแห่งให้การสนับสนุนสิงพิมพ์ขนาดเล็กที่เรียกว่า minikomi คล้ายๆกับจดหมายข่าวหรือเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม สมาชิกขององค์กรเหล่านี้มีไม่มากนักและการเผยแพร่สิ่งพิมพ์แบบนี้ก็มีน้อยแค่หลักร้อยฉบับเท่านั้น

สื่อที่มีมากคือหนังสือที่เขียนโดยเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศซึ่งขายในท้องตลาดตามร้านหนังสือทั่วไป เช่น ในเดือน มกราคมปี 2000 ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียวรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลและเพศวิถีจำนวนมากไว้ในชั้นเดียวกัน แม้ว่าจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดครอบครัวและการแต่งงานก็ตาม ความจริงก็คือ ในยุคเกย์บูมมีการนำเสนอเกย์ในแบบเฉพาะและมองข้ามเลสเบี้ยนและคนข้ามเพศ ความสนใจเกี่ยวกับชีวิตของคนเหล่านี้ทำให้มีหนังสือเกี่ยวกับเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศออกมามาก ความสนใจของสื่อ ทำให้เกย์และเลสเบี้ยนสามารถแสดงตัวตนออกมาผ่านเรื่องเล่าชีวิตเพื่อนำไปเผยแพร่แก่คนอ่านที่อยู่นอกวงการสื่อเกย์ หนังสือเช่น Private Gay Life(1991) ของฟูชิมิ โนริอากิ เรื่องOn Being Lesbian (1992) ของคาเกฟูดะ ฮิโรโกะ เรื่อง Two Men Living Together: My Gay Pride Declaration(1993) ของอิโตะ ซาโตรุ นักเขียนเหล่านี้ถกเถียงคำภาษาอังกฤษที่เรียก “เกย์” เลสเบี้ยน เกย์ไพรด์ โฮโมโฟเบียและคัมมิ่งเอ้าท์ และได้สร้างเรื่องที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษที่แพร่หลายอยู่ในสื่อ ผลอย่างหนึ่งในยุคเกย์บูมซึ่งมีการยืมคำภาษาอังกฤษมาใช้เพื่ออธิบายลักษณะต่างๆของเพศวิถีนอกกรอบได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ถึงแม้ว่าคำเหล่านั้นจะมีความหมายต่างไปจากความเข้าใจของคนญี่ปุ่นก็ตาม คำต่างๆเหล่านี้ถูกทำให้มีความหมายเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น เกย์ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเกย์ที่เป็นชายเท่านั้น การผ่าตัดแปลงเพศในญี่ปุ่นในปี 1998 ก็มีการพูดไว้ในหนังสือของโตยามา ฮิโตมิ เรื่อง Miss Dandy: Woman Living as Men(1999) ของมิยาซากิ รูมิโกะ เรื่อง I Am Transgendered(2000) และของโคมัตซุ อังรี เรื่อง On Deciding to be a Newhalf: Living Like Myself(2000) หนังสือเหล่านี้ทำให้คำเรียกเกี่ยวกับคนกลุ่มน้อยทางเพศแพร่หลายออกไป

ในขณะที่มีหนังสือมากมายเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล การต้อนรับจากชาวเกย์ก็เกิดขึ้นมากมาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าแหล่งรวมตัวของเกย์ในญี่ปุ่นมิได้เป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงเรื่องการเมืองของอัตลักษณ์ ถึงแม้จะเต็มไปด้วยคำเรียกมากมายที่ใช้บ่งบอกคนกลุ่มน้อยทางเพศ แต่สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเกย์ไม่สนใจวาทกรรมเกี่ยวกับอัตลักษณ์ นอกจากอินเตอร์เน็ตซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่เกย์พูดถึงอัตลักษณ์อย่างกระตือรือร้น

อินเตอร์เน็ตเกย์ของญี่ปุ่น

พรมแดนอินเตอร์เน็ตของญี่ปุ้นนั้นกว่างใหญ่ เริ่มตั้งแต่ปี 1998 จำนวนข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็มีมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่นซึ่งรวมนิตยสารและหนังสือพิมพ์ตลอดทั้งปี และภาษาญี่ปุ่นยังเป็นภาษาในอินเตอร์ที่มีขนาดใหญ่รองจากภาษาอังกฤษ ส่วนเว็บไซต์เกย์ของญี่ปุ่นก็มีหลายพันเว็บไซต์ ซึ่งประกอบด้วยห้องแชต กระดานข่าว และห้องให้คำปรึกษาพิเศษซึ่งมีผู้ชายเข้าไปพูดคุยในหัวข้อต่างๆ เช่นจะมีชีวิตแบบอย่างไร ความหมายของเกย์คืออะไร ในขณะที่เกย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ตามบาร์ไม่ค่อยสนใจพูดเรื่องอัตลักษณ์ แต่คนที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตจะพูดคุยเรื่องอัตลักษณ์ หลายเว็บไซต์จะมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มและองค์กรในสังคม รวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้ชายและกลุ่มเฟมินิสต์ อินเตอร์ให้พื้นที่สำหรับ “การทำความเข้าใจที่กว้างขวาง” ซึ่งบุคคลสามารถกลายเป็นเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นได้จริงๆ เป็นอิสระจากข้อบังคับต่างๆที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น อินเตอร์เน็ตจึงให้พื้นที่สำหรับเกย์ซึ่งจะพบเห็นความหลากหลายของชุมชนเกย์ได้มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์

ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดสำหรับเว็บไซต์เกย์คือจะมีหน้าเพจแรกที่บอกเตือนผู้ใช้ว่าคุณกำลังเข้าสู่พื้นที่ของเกย์ การเข้าสู่เว็บไซต์เช่น LUST จะมีคำว่า “Oops!!” และตามด้วยคำอธิบายว่า “นี่คือพื้นที่สำหรับเกย์และมีเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับเกย์ เกย์หรือใครก็ตามที่เข้าใจเกย์โปรดเข้าเว็บไซต์ คนอื่นที่ไม่ต้องการเข้าเว็บไซต์ก็ย้ายไปเข้ายาฮูแทน” เว็บไซต์อีกแห่งหนึ่งเช่น MEN’s NET JAPAN จะมีลักษณะเฉพาะกว่า หน้าเพจแรกจะมีคำว่า WARNING และตามด้วยคำอธิบายว่า “เพจแห่งนี้เป็นพื้นที่ของเกย์ที่ใช้ติดต่อกับเพื่อชาย คนที่ไม่สามารถใช้เพจนี้ได้คือผู้ชายที่ไม่สนใจโฮโมเซ็กช่วลกับผู้หญิง”

จะเห็นว่า คำว่า “เกย์” ถูกใช้เป็นความหมายหลักเพื่ออธิบายเพศวิถีของชายรักชายในอินเตอร์เน็ต ตรงกันข้ามกับสื่อกระแสหลักที่มีการใช้คำหลายคำ เช่น เกย์ โฮโม โดเซเอชา และโอกามะ จะเห็นว่าการใช้คำระหว่างภาษาญี่ปุ่นเชื่อมโยงกับคำว่า “เกย์” ในภาษาอังกฤษ คำว่าเกย์ในภาษาญี่ปุ่นมักถูกเขียนด้วยอักษรคาตาคามะ ซึ่งเป็นอักษรสำหรับใช้แปลคำจากต่างประเทศ แต่มีการออกเสียงแบบเดียวกัน หลายๆเว็บไซต์มีการพูดถึงเกย์ต่างประเทศบนหน้าแรก เช่น เว็บ MEN’s NET มีคำภาษาอังกฤษว่า “Welcome to MEN’s NET JAPAN โฮมเพจนี้ใช้ภาษาญี่ปุ่นและเป็นเว็บสำหรับเกย์”

เว็บไซต์เกย์จำนวนมากมีความคล้ายกับสื่อสิ่งพิมพ์ของเกย์ในเรื่องเกี่ยวกับการให้ความบันเทิง ซึ่งนำเสนอภาพและเรื่องที่ปลุกอารมณ์ทางเพศ สิ่งที่ต่างไปจากสิ่งพิมพ์คือจิตสำนึก เช่นเว็บ Top Notch มีการนำเสนอบอร์ดสำหรับการสนทนาเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนักเบสบอลที่เซ็กซี่ เสน่ห์ของผู้ชายสูงวัย เทคนิคการมีเซ็กส์แบบเอสเอ็มและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเซ็กส์ คือหัวข้อการพูดคุยแบบสาระ ในเดือนกันยายนปี 1999 เรื่องสำหรับการพูดคุยคือ “เราจะมีชีวิตอยู่แบบเกย์ต่อจากนี้ไปอย่างไร” เกย์ส่วนใหญ่จะคิดถึงปัญหาความแก่ชราในขณะที่ยังอยู่เป็นโสด สวัสดิการในสังคมญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นบริการพื้นฐานเมื่อเทียบกับประเทศในตะวันตก และการดูแลคนสูงอายุก็มาจากครอบครัวเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกสาวหรือลูกสะใภ้ ดังนั้น ชายและหญิงที่ยังไม่แต่งงานก็จะเผชิญกับความโดดเดี่ยวและการอยู่ตามลำพัง ในเดือนตุลาคมปี 2000 ประเด็นสำหรับการพูดคุยเปลี่ยนไปสู่เรื่อง “ชีวิตเกย์คืออะไร” เกย์จำนวนมากจะพูดถึงการได้และการเสียประโยชน์ในการใช้อินเตอร์เพื่อหาข้อมูลและหาคนรัก เกย์คนหนึ่งพูดถึงข้อมูลจำนวนมากที่มีอยู่ในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ เขาอธิบายว่าการได้ข้อมูลเหล่านี้และการที่ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น และการที่ชาวต่างชาติมาญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการเป็นนานาชาติของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโฮโมเซ็กช่วล อย่างที่กล่าวมาแล้ว การเข้ามามากขึ้นของคำภาษาอังกฤษเพื่อใช้เรียกคนที่มีเพศนอกกรอบ บ่งชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว

ผู้ใช้อีกคนหนึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของอินเตอร์เน็ตที่มีบทบาทในการสร้างความเป็นไปได้สำหรับชีวิตเกย์ ซึ่งเกย์นักกิจกรรมชื่อ อิโตะ ซาโตรุและ ยานาเซ่ รีอุตา ทั้งคู่เป็นคนรักที่มีชื่อเสียงพวกเขาสร้างเว็บไซต์ชื่อ ซูโกตัน ที่มีการนำเสนอประเด็นการใช้ชีวิตเกย์ในเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง เกย์ที่เข้ามาใช้เว็บนี้ต้องการให้เกย์ใช้ความพยายามในการค้นหาชีวิตเกย์โดยการอ่านหนังสือและดูเว็บไซต์จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น อิโตะบอกกับเกย์ที่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อสร้างครอบครัวก็เพราะให้คุณค่าการแต่งงานสูง สิ่งนี้เป็นผลมาจากการนำเสนอและสนับสนุนโดยสื่อ เขากล่าวว่าข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบเกย์เป็นเรื่องเล็กๆ อิโตะแนะนำว่ารวบรวมความคิดที่ได้จากหนังสือและอินเตอร์เน็ตทั้งหลายที่พูดถึงการใช้ชีวิตของเกย์ อิโตะตอบเกย์คนหนึ่งที่คิดจะแต่งงานว่า “ผมคิดว่ามันดีสำหรับคุณที่จะเข้าไปดูโฮมเพจของคู่เกย์และคุณอาจจะค้นพบว่าคู่เกย์บางคู่กำลังสร้างความสัมพันธ์ในแบบที่คุณต้องการ” คำแนะนำของอิโตะชี้ว่าอินเตอร์เน็ตให้ประโยชน์ที่กว้างใหญ่สำหรับคนจำนวนมาก
เว็บไซต์นี้มีการพูดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงความสำคัญในการใช้ชีวิตของเกย์ในญี่ปุ่น เพราะสื่อกระแสหลักยังนำเสนอชีวิตเกย์แบบผิวเผินและเพ้อฝัน ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่ายังไม่มีตัวอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับเกย์ อิโตะชี้ว่า โฮโมเซ็กช่วลที่ยังใช้ชีวิตเหมือนกับผู้ชายจะไม่สนใจเข้ามาใช้เว็บ เนื่องจากความเสน่หาทางเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่ต้องทำอะไรมากเกี่ยวกับข้อผูกมัดในการเลือกคู่ครองผู้หญิง แต่งงานและเลี้ยงลูกที่เป็นไปตามจารีต ในญี่ปุ่นยังมีความอดกลั้นน้อยต่อคนที่ทำให้ความเสน่หาทางเพศเป็นที่รับรู้ในสังคม คนญี่ปุ่นจะปฏิเสธการทำให้วัฒนธรรมเกย์เป็นเรื่องยอมรับ มันเป็นเรื่องแปลกและพิศดารสำหรับคนบางคนเมื่อคิดถึงชีวิตเกย์

เมื่อการเปิดเผยตัวเกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศได้แผ่ขยายออกไป เกย์ญี่ปุ่นก็จะระวังตัวเมื่อต้องแสดงอารมณ์ชอบพอกับคนอื่น การเปิดเผยตัวอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ ตัวอย่างผู้ชายคนหนึ่งที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้สึกในเว็บของอิโตะ เขาบอกว่าเขาอยากมีชีวิตเป็นเกย์ในชีวิตประจำวันเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่ออยู่ที่ที่ทำงาน เวลามีการพูดถึงเรื่องแปลกๆเช่นเรื่องโฮโมและผู้ชายตุ้งติ้ง เขาอยากจะตอบโต้ออกไป เขากำลังคิดถึงการเปิดเผยตัวต่อพ่อแม่ แต่คนรักของเขาไม่สนใจความคิดนี้ และบอกว่าถ้าเขาเปิดเผยตัว เขาจะไปใช้ชีวิตแบบผู้ชาย ผลลัพธ์ของความกดดันทางสังคมแบบนี้ยังทำให้เกย์ปิดตัวเอง ซึ่งเกย์จำนวนมากเคยรู้สึกถึงความผิดเกี่ยวกับการชอบเพศเดียวกัน ไมใช่เพราะคิดว่าเป็นกรรม แต่เพราะว่าจะถูกมองเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองซึ่งไม่ปฏิบัติตามบทบาทของผู้ชายที่ถูกต้องที่พ่อแม่ เพื่อร่วมงานและสังคมต้องการ เกย์อีกคนหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ของตนว่าพ่อแม่ยังทำให้เขาไม่เลิกคิดว่าการเป็นเกย์คือสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ ถึงแม้ว่าเขาเริ่มเข้าใจว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่การเลียนแบบ เขาก็ยังรู้สึกแย่เพราะไม่สามารถมีหลานให้พ่อแม่ และถ้าพวกเขารู้ว่าลูกเป็นเกย์ พวกเขาก็จะเศร้าใจ พ่อแม่เลี้ยงเขามา ดังนั้นเขาจึงเป็นหนี้บุญคุณพ่อแม่ และเขาก็ยังคิดอยู่ว่าเขาประพฤติตัวไม่ดีกับพ่อแม่

ความยากของการมีอัตลักษณ์เกย์สำหรับบางครอบครัวและในกลุ่มเพื่อนในสังคมญี่ปุ่น ทำให้อินเตอร์เน็ตช่วยเกย์ให้มีโอกาสแสดงตัวเองและอธิบายปัญหา ประสบการณ์ของตัวเอง ในขณะที่ยังเก็บอัตลักษณ์ไว้เป็นส่วนตัวได้ จริงๆแล้วคำว่า “เปิดเผยตัว” เป็นคำที่พบได้ในเว็บไซต์เกย์ของญี่ปุ่น พบได้ในเพจส่วนตัว เพจเกี่ยวกับปัญหา การสนทนา และในหารประกาศหาคู่ ตัวอย่างเช่น นิตยสารออนไลน์ gaywalker.com การแนะนำตัวในอินเตอร์เน็ตจะทำให้คนใช้ตอบคำถามที่ว่า “คุณเปิดเยตัวรึยัง” ตัวเลือกประกอบด้วย เปิดเผยกับทุกคน เปิดเผยเฉพาะเพื่อน ไม่ตอบ หรือ ยังไม่เปิดเผย คำตอบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเปิดเผยตัวเป็นเรื่องของอนาคต คนที่สนับสนุนและต่อต้านการเปิดเผยตัวจะพบได้บ่อยๆในบอร์ดสนทนาของเว็บ gaywalker.com ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้คนหนึ่งแสดงถึงความทนไม่ได้ในความผิดที่ผู้ใช้คนอื่นแสดงออกมาว่าตัวเองเป็นผู้ชาย เขากล่าวว่า “ก่อนที่คุณจะเป็นเกย์ คุณก็เป็นมนุษย์ คุณไม่ควรเสียใจที่ไม่ได้เปิดเผยสิ่งที่ไม่ดี” ผู้ใช้อีกคนหนึ่งวิจารณ์ว่าเขามีวิธีการเปิดเผยตัวที่เหมือนนิยาย เมื่อเขารู้สึกสบายใจกับเพื่อนใหม่ เขาแนะนำให้เพื่อนเข้าไปที่เว็บของเขาซึ่งมีการเล่าประสบการณ์การเป็นเกย์ การทำเช่นนี้ทำให้เพื่อนๆของเขาตั้งคำถามหลายอย่างส่งมาทางอีเมล์ ซึ่งเพื่อนๆอาจจะรู้สึกไม่กล้าพูดเมื่อต้องอยู่ต่อหน้า

ประสบการณ์ในชีวิตจริงที่เกย์ต้องระวังตัวเกี่ยวกับการเปิดเผยชีวิตส่วนตัว แต่ในเว็บไซต์เกย์จำนวนมากจะมีข้อมูลส่วนตัวของเกย์ ชุง(2000) เคยอธิบายถึงการสร้างตัวตนในเว็บไซต์และชี้ว่าเว็บไซต์ส่วนตัวทำให้เกิดการเล่าเรื่องที่สะท้อนตัวตน เว็บไซต์ของญี่ปุ่นหลายแห่งที่จัดทำโดยเกย์ค่อนข้างมีแบบแผนเดียวกัน คือจะมีเรื่องเล่าคล้ายๆกัน เช่นจะมีการแนะนำประวัติส่วนตัวที่บอกชื่อ อายุ กลุ่มเลือด ราศีตามปีเกิดตามคติจีน ภูมิลำเนา ที่อยู่ ส่วนสูง น้ำหนัก อาชีพ ที่ชอบและไม่ชอบ (โดยปกติจะเป็นอาหาร หรือเรื่องทั่วไป) ลักษณะของผู้ชายที่กำลังมองหา และงานอดิเรก เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้จัดทำเว็บไซต์และบางทีก็มีรูปของผู้นั้นด้วย ในเว็บไซต์ชื่อ The Beach Boy จะมีอัลบั้มที่บรรจุรูปภาพจำนวนมากของผู้จัดทำเว็บไซต์ ชื่อ ซาโตชิ มีรูปตั้งแต่เป็นเด็กทารกจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลส่วนตัวอื่นๆที่มีในเว็บ ได้แก่ กิจวัตรประจำวัน ประสบการณ์และการแนะนำตัวเอง ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้เว็บไซต์รู้สึกเหมือนเพื่อน ผู้ทำเว็บมักจะใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นชายเพื่อทำให้เกิดบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพูดคุยเรื่องส่วนตัวและเรื่องกลุ้มใจได้แบบสบายใจ สิ่งนี้ยังช่วยให้เกิดความเป็นชุมชนเพราะการใช้ภาษาพูดแบบไม่เป็นทางการจะเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของเพื่อนสนิทและคนในครอบครัว หรือกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หรือประสบการณ์ร่วมกัน จะเห็นว่าในหน้าแรกของเพจที่มีการเตือนผู้ใช้ให้รู้ว่าเกย์และคนที่เข้าใจเกย์เท่านั้นที่จะได้รับการต้อนรับ การเป็นเกย์หรือการอดกลั้นต่อปัญหาที่เกย์ต้องเผชิญจะได้รับการต้อนรับเหมือนเป็นคนใน เมื่อเทียบกับคนนอกที่ไม่เข้าใจเกย์ ในเว็บไซต์ส่วนตัวของชุงอธิบายถึงทฤษฎีของกอฟฟ์แมนเรื่องการแสดงตัวตนซึ่งเป็นเหมือนการแสดงละคร เว็บไซต์ส่วนตัวของเกย์หลายแห่งนำเสนอการแสดงตัวตนในทำนองนี้โดยใช้การ์ตูน ภาพกราฟฟิค หรือดนตรีที่มีหลายทำนองเป็นสื่อเพื่อทำให้เว็บดูผ่อนคลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในหน้าเพจชื่อ “ประวัติของฉัน” ในเว็บไซต์เกย์ชื่อ Paradise City มีการนำเสนอด้วยเสียงเปียนโนและดนตรีจากเครื่องสาย

การเปิดเผยตัว หรือ กามุ อูโตะ เป็นเมนูที่พบประจำในเว็บไซต์ส่วนตัวของเกย์แต่มีความหมายต่างจากภาษาอังกฤษเล็กน้อย เหมือนกับคำอื่นๆที่ยืมมาจากต่างประเทศ ผู้ชายหลายคนเข้าใจเรื่องการเปิดเผยตัวในฐานะเป็นคำที่ใช้สำหรับอารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วล แต่ เมนูนี้ไม่ค่อยพูดถึงประสบการณ์จริงของการเปิดเผยตัวในที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น มาซาโตะพูดในเว็บไซต์ชื่อ Moondial เกี่ยวกับการเปิดเผยตัวที่อยู่ในเมนู “การเป็นเด็กชาย” แต่เรื่องเล่าของเขาเป็นเรื่องการค้นหาตัวเอง เขาอธิบายว่าในสมัยอยู่มัธยมต้น เขารู้สึกแตกต่างจากเด็กชายคนอื่น ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรื่องเล่าของเขามีการทบทวนการพัฒนาความรู้สึกรักเพศเดียวกันตั้งแต่ที่เขาอยู่ชั้นมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย การเล่านี้น่าจะเป็นเรื่องการเข้าใจตัวเองมากกว่าการเปิดเผยตัวเพราะเขาไม่เคยประกาศต่อที่สาธารณะ แต่ในอินเตอร์เน็ตการเล่าแบบนี้ก็อาจเป็นการประกาศตัวก็ได้

ความยืดหยุ่นของอินเตอร์เน็ตในฐานะเป็นสื่อสำหรับการสื่อสาร ช่วยให้เกิดเว็บไซต์สองภาษาทั้งภาษาอังกฤษญี่ปุ่น และหลายๆเว็บไซต์ก็จัดทำโดยคู่เกย์ที่เป็นคนญี่ปุ่นกับคนตะวันตก หรือชาวญี่ปุ่นที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ เช่น ฟิลิปและทากาชิ คู่เกย์ชาวออสเตรเลียกับชาวญี่ปุ่นซึ่งสร้างเว็บไซต์เป็นสองภาษา และมีการนำเสนอเรื่องต่างๆรวมถึงข่าวเกี่ยวกับเกย์ในญี่ปุ่น เว็บไซต์สองภาษาที่ชื่อ A Place Called Shinichi’s World จัดทำโดยชาวญี่ปุ่นที่ไปเติบโตในสหรัฐ ในหน้าเพจที่ชื่อ “เรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น” จะมีเมนูการเปิดเผยตัว ซึ่งจะนำไปสู่หน้าเพจชื่อ GAY PRIDE! ชินอิชิอธิบายให้เห็นว่าเขามีความสุขที่เกิดเป็นเกย์และถ้าได้เกิดใหม่อีกครั้ง เขาจะไม่เปลี่ยนเพศวิถีของเขา หน้าเพจนี้ยังเชื่อมถึงหน้าอื่นๆอีกสองหน้า หน้าหนึ่งเป็นเรื่องรักครั้งแรกของเขาและอีกหน้าหนึ่งเป็นเรื่องการรู้จักวิธีสำเร็จความใคร่ของเขา เรื่องเล่านี้ชี้ให้เห็นว่าชินอิชิเริ่มรู้จักอารมณ์โฮโมเซ็กช่วลอย่างไรเมื่อต้องพบกับเพื่อนชายในโรงเรียนและรู้จักอารมณ์แบบนี้โดยการได้ดูภาพเปลือยของผู้ชายซึ่งเขาเห็นในหนังสือโป๊ของหญิงชาย เรื่องเล่าของชินอิชิมีความเป็นส่วนตัวและสะท้อนความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งเห็นได้จากการเล่าว่า “จู๋ของผมไม่แข็งตัวเวลาที่พยายามจะสำเร็จความใคร่ ผมคิดว่าบางทีผมไม่ชอบผู้หญิง ผมมองดูหน้าที่มีภาพเปลือยของผู้ชาย และทันใดนั้น จู๋ผมก็แข็งเหมือนได้ถึงจุดสุดยอด มันเป็นไปไม่ได้ ผมชอบผู้ชายจริงๆหรอ ผมจะทำอย่างไรดี จะบอกใครดีไหม ผมจะทำอะไรได้บ้าง ในวันที่ทุกข์ใจ ผมรู้ถึงความจริง ผมเห็นตัวเอง ผมเป็นโฮโม ผมเป็นตัวประหลาด ผมจ้องดูภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่กินข้าวและร้องไห้จนหลับไป ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้”

เรื่องเล่านี้ไม่เหมือนกับเรื่องเล่าการเปิดเผยตัวของชาวญี่ปุ่นที่พบในอินเตอร์เน็ต เรื่องของชินอิชิเป็นเรื่องที่เกิดจากการประกาศความรู้สึกชอบเพศเดียวกันต่อหน้าเพื่อนหญิง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเอ่ยถึงการประกาศต่อครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน การรับเอาคำว่า “เปิดเผยตัว”มาใช้โดยเกย์ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก เป็นการใช้เพื่อเล่าชีวิตเกย์ซึ่งเลียนแบบการเล่าของเกย์ตะวันตก เคน พลัมเมอร์เคยอธิบายว่า เรื่องของโฮโมเซ็กช่วลมีความเปลี่ยนแปลงโดยหันมาสนใจการเปิดเผยตัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็น “เรื่องเล่าที่ได้รับความนิยม” พลัมเมอร์ชี้ว่าการเปิดเผยตัวของเกย์ในปัจจุบันเป็น “เรื่องเล่าระดับโลก” เพราะเรื่องเล่าจะพูดในทำนองเดียวกันจากส่วนต่างๆของโลก ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงอยู่ในเว็บของชินอิชิและเว็บของฟิลิปและทาคาชิ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ถึงแม้ว่าเรื่องเล่าจะมีการพูดถึงการเปิดเผยตัวซึ่งมี ในเมนูประวัติและประสบการณ์ แต่ก็ยังมีข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเมนู “ชีวิตประจำวัน” ซึ่งผู้จัดทำเว็บไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการมีกับข้าวบนโต๊ะอาหาร อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเกี่ยวกับเว็บไซต์เกย์ที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือเรื่องราวในชีวิตประจำวันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าสื่อญี่ปุ่นไม่ค่อยนำเสนอชีวิตประจำวันของเกย์ และทำให้เกย์รู้สึกลังเลที่จะเปิดเผยตัวต่อครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำให้คนเหล่านั้นไม่เคยรู้จักเกย์ที่เปิดเผยตัว สิ่งนี้ส่งผลให้เกย์รู้สึกโดดเดี่ยว การนำเสนอความเป็นปกติของอารมณ์รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากเว็บไซต์เกย์ทั้งหลาย อิโตะเคยกล่าวไว้ในเว็บไซต์ Sukotan ว่าเว็บไซต์เกย์เป็นทรัพยากรที่ประมาณค่าไม่ได้สำหรับชาวญี่ปุ่นที่กำลังทำงานในประเด็นชีวิตและอัตลักษณ์เกย์ ซึ่งมักจะถูกละเลยจากสื่อกระแสหลัก

สรุป

เป็นไปไม่ได้สำหรับบทความนี้ที่จะเสนอเรื่องราวมากมายและความซับซ้อนเกี่ยวกับการนำเสนอความเป็นเกย์โดยสื่อของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม บทความนี้ก็ได้ให้ภาพของแนวโน้มในสื่อกระแสกหลักที่หันไปสนใจเกย์ในประเด็นเพศภาวะที่แตกต่าง กล่าวคือ เกย์ถูกมองว่ามีความเป็นหญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งควรจะมีชีวิตอยู่ในวงการบันเทิงหรือเป็นเพื่อนที่ดีของผู้หญิง อย่างไรก็ตามในสื่อเชิงพาณิชย์ เกย์จะเป็นคนที่มีความเป็นชายสูง ซึ่งกำลังแสดงให้เห็นถึงการชอบเซ็กส์ที่มีความก้าวร้าวซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้ชายที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ จากประเด็นนี้ จะพบว่าเกย์มีอะไรที่เหมือนกับผู้ชายมากกว่าการอยู่กับผู้หญิง การแบ่งแยกขั้วตรงข้ามที่นำเกย์ไปไว้ในซีกหนึ่งของเพศภาวะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นโดยการนำเสนอของสื่อที่ผลิตโดยเกย์นักกิจกรรมและโดยสื่อทางอินเตอร์เน็ตที่จัดทำโดยเกย์และเพื่อให้เกย์ใช้ เกย์ในญี่ปุ่นมีความหลากหลายเช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่มีตัวแบบเดียวไม่ว่าจะเป็นเกย์หรือเป็นผู้ชาย

ในขณะที่ยังคงมีการต่อต้านไลฟสไตล์และอัตลักษณ์นอกจารีตประเพณีจากคนบางกลุ่ม การมีสื่อจำนวนมากและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สนับสนุนคนกลุ่มน้อยทางเพศ อย่างอินเตอร์เน็ต ช่วยสร้างคำยืนยันเกี่ยวกับการผ่อนคลายของการยึดในอัตลักษณ์ทางเพศที่สังคมกำหนด กิดเดนส์ (1991) เคยกล่าวว่าสังคมสมัยใหม่เช่นญี่ปุ่นและที่อื่นๆกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านและความหลากหลายของแบบแผนชีวิตซึ่งท้าทายแบบแผนและบทบาททางเพศตามจารีตประเพณี อินเตอร์เน็ตช่วยสร้างหน้าต่างที่เปิดไปสู่ประสบการณ์ของเกย์ ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อัตลักษณ์ในโลกออนไลน์ ที่เกย์จำนวนมากนำไปใช้ในชีวิตจริง เมื่อเกย์ได้เห็นเรื่องเล่าของการเปิดเผยตัวในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น พวกเขาก็จะมีความกล้าที่จะใช้ชีวิตแบบเกย์ในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างในการเป็นเกย์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเล่าในวัยเด็กของเกย์หลายคนก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นจำนวนมากค้นพบวิธีของตัวเองในการใช้อินเตอร์เน็ตเกย์และค้นพบความหลากหลายของพื้นที่เกย์ในญี่ปุ่น ในเว็บไซต์ชื่อ Sindbad bookmarks มีการกล่าวไว้ในหน้าแรกของเพจว่า ทุกๆคนโปรดมีเพื่อนเยอะๆและเข้ามาค้นหา ตามด้วยประโยคที่ว่า “เราไม่โดดเดี่ยว” ความคิดที่เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นความผิดปกติ หรือเป็นคุณลักษณะที่พบไม่บ่อยนักจะกลายเป็นสิ่งที่สึกกร่อนเมื่อต้องเผชิญกับความหลากหลายในการแสดงตัวตนของเกย์ในอินเตอร์เน็ต

ในขณะที่สังคมยุคใหม่ของญี่ปุ่นไม่มีสวรรค์สำหรับคนที่อยู่นอกกระแสหลัก ยังมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น นั่นคือญี่ปุ่นไม่ใช่กรณีพิเศษซึ่งหลุดไปจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังท้าทายความคิดเกี่ยวกับเพศภาวะ เพศวิถี ความสัมพันธ์ และไลฟสไตล์ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมต่างๆทั่วโลก เกย์ในญี่ปุ่นและที่อื่นๆ กำลังแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Mark McLelland (2003). Gay Men, Masculinity and the Media in Japan In Kam Louie and Morris Low (eds.) Asian Masculinities. London: Routledge.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share