Frantz Fanon, ลัทธิจักรวรรดินิยมกับความรุนแรงในกาซา

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 718

Frantz Fanon, ลัทธิจักรวรรดินิยมกับความรุนแรงในกาซา

“โลกอาณานิคมเป็นโลกที่แบ่งขั้วเป็นความชั่วกับความดี ผู้บุกรุกเข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่เพียงใช้กำลังทหารหรือตำรวจในการยึดครองเขตแดนทางกายภาพ แต่เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จในการกดขี่เอารัดเอาเปรียบของเจ้าอาณานิคม ผู้บุกรุกจะวาดภาพชนพื้นเมืองให้ราวกับว่าเป็นพวกที่มีแต่ความชั่วร้าย”

ฟรานทซ์ ฟานง (Frantz Fanon)

โลกร้าว (The Wretched of the Earth, 1961)


           6 ทศวรรษหลังการตายของฟรานทซ์ ฟานง นักคิดที่ต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา ได้ทำให้แนวคิดของ ฟรานทซ์ ฟานง ถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์


การต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) ของ Frantz Fanon

           Frantz Fanon เป็นนักปรัชญาการเมืองเชื้อสายแอฟริกัน เกิดและเติบโตในเกาะ Martinique ในทะเลแคริบเบียน ดินแดนในปกครองของฝรั่งเศส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Martinique ถูกปกครองโดยทหารฝรั่งเศสซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเชื้อสาย แอฟริกัน คนผิวดำถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเยี่ยงทาส ผู้หญิงท้องถิ่นถูกคุกคามทางเพศจากทหารฝรั่งเศส สถานการณ์เหล่านี้คือการเหยียดเชื้อชาติในยุคอาณานิคม (colonial racism) (Macey, 2004) ทำให้ Fanon หนีออกจาก Martinique ในขณะที่มีอายุเพียง 17 ปี และเดินทางไปยังหมู่เกาะโดมินากา ดินแดนในปกครองของอังกฤษ Fanon สมัครเป็นทหารในกองกำลังฝรั่งเศสเสรี (Free French Forces) ซึ่งพยายามต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายอักษะ (นาซีเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น) หลังจากฝรั่งเศสยอมอยู่ใต้การปกครองของนาซี (Zeilig, 2021) อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นทหาร เขาจึงเดินทางกลับไป Martiniqueในปี ค.ศ.1943 และได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกองกำลังชาวผิวดำชื่อว่า “กองพันเดินทัพหมายเลข 5” (Bataillon de marche no 5) หลังจากนั้นเขาได้เข้าเป็นทหารในกองทัพฝรั่งเศสเสรีและเข้าร่วมรบในการต่อสู้ของแคว้นอาลซัส

           ในช่วงสงคราม Fanon พบเห็นการเลือกปฏิบัติและอคติทางเชื้อชาติที่คนผิวขาวปฏิบัติต่อคนผิวดำ โดยไม่เห็นคุณค่าของทหารผิวดำที่มีส่วนสู้รบกับทหารนาซี (Gordon & Cornell, 2015) หลังจากที่กองทัพนาซีพ่ายแพ้ในสงคราม ทหารชาวผิวดำและตัวของ Fanon เองถูกส่งกลับไปยัง Martinique ในปี ค.ศ. 1945 (Macey, 1996) จากนั้นได้เข้าไปทำงานใกล้ชิดกับนักเขียนและนักการเมืองชื่อ Aimé Césaire ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมของคนผิวดำ (Négritude movement) เป็นการปลุกจิตวิญญาณของคนผิวดำที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบกดขี่ข่มเหงของการเหยียดเชื้อชาติและลัทธิอาณานิคมตะวันตก (Nielsen, 2013) พร้อมกับการกลับไปหารากเหง้าของคนผิวดำและอาศัยแนวคิดมาร์กซิสต์เป็นเป็นแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม (Rexer, 2013) หลังจากนั้น Fanon เดินทางไปศึกษาต่อด้านการแพทย์และจิตเวชศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส มีโอกาสเข้าฟังบรรยายของนักปรัชญา Merleau-Ponty จนกระทั่งจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1951 และเข้าทำงานร่วมกับจิตแพทย์ชื่อ François Tosquelles ซึ่งมีอิทธิพลต่อ Fanon ในการทำความเข้าใจมิติทางวัฒนธรรมของการป่วยทางจิต

           ในปี ค.ศ.1952 Fanon เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ Black Skin, White Masks ซึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา เนื้อหาได้สะท้อนชีวิตของตนเองและประสบการณ์ของการเป็นคนผิวดำซึ่งถูกสร้างและถูกผลิตให้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นต่ำและคนชายขอบทางสังคม Fanon อธิบายว่าความน่ารังเกียจของคนผิวดำว่าคือผลจากมายาคติที่ชาวตะวันตกในยุคอาณานิคมสร้างเอาไว้และทำให้คนผิวดำมองตัวเองอย่างไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี (inferior sense of self) ความรู้สึกนี้ถูกส่งต่อในกลุ่มคนผิวดำ ทำให้พวกเขารับรู้ว่าเชื้อชาติของตนด้อยกว่าคนผิวขาว ไม่ว่าคนผิวดำจะปรับตัวเข้ากับบรรทัดฐานของคนผิวขาวอย่างไร เช่น เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีไลฟ์สไตล์แบบคนผิวขาว (สวมหน้ากากเป็นคนผิวขาว) คนผิวขาวก็มักจะแสดงความรู้สึกถึง 'ความด้อยกว่า' ของคนผิวดำเสมอ Fanon ยังเสนอแนวคิดเรื่องจิตใต้สำนึกร่วม (collective unconscious) และการปลดปล่อยความรู้สึกอันรุนแรงร่วม (collective catharsis) โดยระบุว่าคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในสังคมของคนผิวขาวถูกอบรมสั่งสอนให้คิดตามกฎเกณฑ์ของคนผิวขาวตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้เชื่ออย่างฝังใจว่าการเป็นคนผิวดำคือสิ่งที่ผิดและเป็นความเลวร้าย ความเชื่อนี้ตกตะกอนเป็นจิตใต้สำนึกที่ทำให้คนผิวดำรู้สึกอับอายในอัตลักษณ์ของตนเองและเปรียบเทียบกับคนผิวขาวที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า รวมไปถึงความปรารถนาที่จะมีผิวขาวที่สังคมยอมรับนับถือ (Silverman, 2012)

           ในปี ค.ศ.1961 Fanon เขียนหนังสืออีกเล่มชื่อ The Wretched of the Earth โดยวิพากษ์ระบอบอำนาจของลัทธิชาตินิยมและจักรวรรดินิยมที่ผลิตวาทกรรมและคำเรียกที่ตอกย้ำ อัตลักษณ์ชาติและชนชั้นปกครอง ในขณะเดียวกันก็สร้างนิยามแง่ลบให้กับชนชั้นล่างและคนที่อยู่ใต้อำนาจ Fanon เสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อถอนรากถอนโคนระบอบที่กดขี่ข่มเหงจากลัทธิอาณานิคม (decolonization) โดยเฉพาะโค่นล้มชนชั้นปกครองที่เป็นคนผิวขาว และสนับสนุนให้คนพื้นเมืองผนึกกำลังกันเพื่อช่วงชิงอำนาจการปกครองจากคนผิวขาวมาเป็นของคนพื้นเมือง คนพื้นเมืองในความคิดของ Fanon ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือชนชั้นแรงงานที่ทำงานรับใช้คนผิวขาว กลุ่มที่สองคือคนพื้นเมืองที่มีการศึกษา เป็นกลุ่มปัญญาชนที่ถูกอบรมสั่งสอนให้คิดตามบรรทัดฐานของคนผิวขาว (colonized intellectual) และกลุ่มที่สามคือกลุ่มกรรมาชีพที่ไร้การศึกษาและยากจน (lumpenproletariat) คนกลุ่มนี้มักจะถูกคนผิวขาวดูหมิ่นเหยียดหยามมากที่สุด Fanon เชื่อว่าเมื่อคนทั้งสามกลุ่มนี้ร่วมมือกันจะทำให้เกิดพลังของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การปกครองแบบใหม่ที่ให้อำนาจคนพื้นเมืองจะต้องไม่ใช้บรรทัดฐานเดิมที่คนผิวขาวสร้างไว้


Fanon กับลัทธิล่าอาณานิคม

           ความคิดของ Fanon ในหนังสือสองเล่มที่กล่าวมานั้นเป็นรากฐานสำคัญของการตรวจสอบอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนท้องถิ่นที่ถูกปกครองด้วยบรรทัดฐานของคนผิวขาว เป้าหมายของหนังสือเป็นการเปิดเผยให้เห็นวิธีการที่จะข้ามพ้นไปจากมายาคติที่สร้างขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมซึ่งเป็นกลไกที่ให้อำนาจแก่คนผิวขาวเท่านั้น (process of white supremacy) และนำเอาจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติมาเป็นเครื่องมือสำหรับรวมกลุ่มทางสังคม การมีเสรีภาพและเป็นอิสระจากการครอบงำจากตะวันตกคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม Fanon ย้ำเตือนว่าในช่วงที่ประเทศใต้อาณานิคมทั้งหลายออกมาเรียกร้องอิสรภาพและประกาศแยกตัวออกจากเจ้าอาณานิคมตะวันตกจะพบเห็นลัทธิชาตินิยมของชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ที่เป็นคนท้องถิ่นเข้ามาควบคุมประเทศและผลิตซ้ำกฎระเบียบเดิม ๆ ที่เจ้าอาณานิคมได้สร้างไว้ ทำให้การประกาศอิสรภาพคือการสร้างลัทธิอาณานิคมใหม่ขึ้นมาแทน

           นักวิชาการที่สนใจประเด็นลัทธิอาณานิคมและกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ มักจะอ้างความคิดของ Fanon ตัวอย่าเงช่นงานของ Stokely Carmichael and Charles V. Hamilton (1967) เรื่อง Black Power: The Politics of Liberation ได้ตรวจสอบที่มาของการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่การค้าทาสและช่วงสงครามกลางเมืองในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชุมชนคนผิวดำเผชิญกับการดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ถูกปิดกั้นไม่ให้มีสิทธิทางการเมือง โดยนำแนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacy) ที่มาจาก Fanon มาเป็นแนวทางวิเคราะห์ลัทธิเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา วิจารณ์ชนชั้นกลางผิวดำที่ผลิตซ้ำบรรทัดฐานของคนผิวขาวจนกลายเป็นผู้ปฏิบัติตามอย่างเชื่อฟัง และเรียกร้องให้ชุมชนคนผิวดำรวมตัวกันเพื่อสร้างพลังในการต่อสู้กับระบอบที่กดขี่ข่มเหงจากคนผิวขาว นอกจากนั้นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำ เช่น Steve Biko, Bobby Seale และ Malcolm X ก็นำแนวคิดของ Fanon ไปใช้เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มคนผิวดำให้มีสำนึกทางชาติพันธุ์ (black consciousness) และลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิทางสังคมและการเมืองเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ต่างไปจากคนผิวขาว รวมถึงกลุ่มคนพื้นเมืองและชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็นำแนวคิดของ Fanon ไปปลุกสำนึกทางเชื้อชาติและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เช่น Ernesto Che Guevara ในประเทศคิวบา Ali Shariati ในประเทศอิหร่าน Abahlali baseMjondoloในประเทศแอฟริกาใต้ Fausto Reinaga ในประเทศโบลิเวีย Elisa Loncón ในประเทศชิลี รวมทั้งอีกหลายประเทศลาตินอเมริกาที่เคยตกอยู่ใต้ลัทธิอาณานิคมตะวันตก (Gibson, 2008)

           ระหว่างปี ค.ศ.1945 ถึง 1968 มีประเทศ 66 ประเทศออกมาเรียกร้องอิสรภาพทางการเมืองจากเจ้าอาณานิคม ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญของยุคหลังอาณานิคม เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองของกลุ่มประเทศที่เคยถูกปกครองจากคนผิวขาวและลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสร้างชาติใหม่ในนามผู้นำที่เป็นคนพื้นเมืองหรือคนที่มีสายเลือดในแผ่นดินเกิด (Desai & Nair, 2005) การเมืองในช่วงเวลานี้สร้างความตื่นตัวและการตระหนักรู้ถึงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่ตกทอดมาจากลัทธิอาณานิคม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ปรากฎอยู่ในงานเขียนของนักวิชาการหลายสาขา ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ การกลับไปหา อัตลักษณ์ดั้งเดิม ความอยุติธรรมทางโครงสร้าง (structural injustices) และการเลือนหายไปของความรู้ท้องถิ่น ประเด็นที่ Fanon เสนอไว้ เช่น อัตลักษณ์แบบอาณานิคม (colonial identity) ถูกนำมากล่าวถึงเพื่อตรวจสอบแบบแผนชีวิตและอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นที่ถูกปกครองจากคนผิวขาว มีการทบทวนระบอบเจ้าอาณานิคมในฐานะเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) การใช้ความรุนแรงที่กระทำต่อคนพื้นเมือง และการทำให้คนพื้นเมืองยอมจำนนและเป็นผู้รับใช้คนผิวขาว (servile mentality)

           นอกจากนั้น ยังชี้ให้เห็นความย้อนแย้งของลัทธิอาณานิคมซึ่งกระทำต่อคนพื้นเมือง โดยการครอบงำอุดมการณ์และบรรทัดฐานของคนผิวขาวให้คนพื้นเมืองปฏิบัติตาม จนคนพื้นเมืองค่อย ๆ ซึมซับและนำเอาบรรทัดฐานของคนผิวขาวไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้วิธีคิดและการปฏิบัติทางสังคมของคนพื้นเมืองดำเนินรอยตามอุดมการณ์แบบลัทธิอาณานิคม จนกลายเป็น “ชีวิตแบบอาณานิคม” (colonial beings) (Fanon, 1952) ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการตรวจสอบโลกทัศน์ วิธีคิด ความเชื่อ ความรู้สึกและการปฏิบัติที่ตกทอดมาจากลัทธิอาณานิคม กลุ่มนักวิชาการผิวดำจำนวนมากได้นำข้อสังเกตของ Fanon ไปศึกษางานวรรณกรรม ศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี และแบบแผนทางวัฒนธรรมที่คนผิวดำแสดงออกมา เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการสร้าง “ความเป็นคนดำ” (Blackness) ที่กลายเป็นความจริงที่สืบทอดกันต่อ ๆ มาภายใต้อำนาจชี้นำของคนผิวขาวและปัญญาชนที่เป็นคนผิวดำเอง (Marriot, 2018)


ฉนวนกาซาจากมุมมองแบบ Fanon

           ฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พรมแดนตะวันออกติดประเทศอิสราเอล ทางใต้ติดประเทศอียิปต์ เนื้อที่ของกาซามีความยาว 41 กิโลเมตร กว้าง 6 ถึง 12 กิโลเมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 365 ตารางกิโลเมตร มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ประมาณ 1.85 ล้านคน การเกิดขึ้นของฉนวนกาซามาจากการแบ่งโดยกองกำลังป้องกันอิสราเอลและอียิปต์หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี ค.ศ.1948 ซึ่งส่งผลให้สหราชอาณาจักรเลิกการครอบครองปาเลสไตน์ และต่อมาฉนวนกาซาถูกปกครองโดยอียิปต์ เมื่ออิสราเอลชนะสงครามหกวัน ใน ปี ค.ศ. 1967 ฉนวนกาซาก็กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอิสราเอล ในปี ค.ศ.1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ตกลงกันในเซ็นสนธิสัญญาออสโล โดยอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซา ต่อมาในปี ค.ศ.2005 อิสราเอลได้ดำเนินการถอนทหารและประชาชนชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติ อิสราเอลยังคงควบคุมการเข้าออกบริเวณฉนวนกาซา ทำให้เกิดข้อพิพาทความขัดแย้ง และการสู้รบกันเป็นระยะ (Duffy, 2023)

           เมื่อนำข้อสังเกตของ Fanon จากหนังสือ The Wretched of the Earth (1952) มาเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจความขัดแย้งทางเชื้อชาติในกาซา จะพบว่าชาติตะวันตกที่หนุนหลังอิสราเอลได้เข้ามาควบคุมพื้นที่บริเวณนี้ มีกองกำลังทหารจากตะวันตกเข้ามาเฝ้าอย่างเข้มงวด เสมือนคนผิวขาว (อเมริกัน) เข้ามาปกครองชนพื้นเมืองชาวปาเลสไตน์ (Gill, 2024) เมื่อดูประวัติศาสตร์ของกาซา จะพบว่าการขีดเส้นพรมแดนให้ชาวปาเลสไตน์อยู่ในพื้นที่จำกัดนี้คือการขังคอกมนุษย์ ทำให้ชาวปาเลสไตน์ดูเหมือนสัตว์ (human animals) (Elgindy, 2023) ตรงกับคำอธิบายของ Fanon เรื่องการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) อำนาจของอิสราเอลที่กระทำในฉนวนกาซาก็เสมือนเป็นความอยุติธรรมทางโครงสร้าง (structural injustices) รวมถึงการริดรอนสิทธิการอยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ผ่านการเข้าไปตั้งแคมป์ในเขต West Bank ของชาวอิสราเอล ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานเดิมและกลายเป็นคนไร้บ้าน ชาวปาเลสไตน์บางส่วนถูกจับไปคุมขังในอิสราเอล บางส่วนอพยพลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจอร์แดน และบางส่วนถูกฆ่าในการสู้รบ

           รากเหง้าของปัญหาในกาซา เริ่มต้นช่วงคริสตืศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่การเข้ามายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอังกฤษและการเคลื่อนไหวของ Zionist movement ที่ต้องการใช้ปาเลสไตน์เป็นที่ตั้งรกรากของชาวยิว ทำให้ลัทธิอาณานิคมอังกฤษผนึกกำลังกับขบวนการแสวงหาดินแดนของชาวยิวซึ่งกลายเป็นระบอบที่รุกรานชาวปาเลสไตน์ที่โหดร้าย (Agah et al., 2024; Thompson, 2019) ขบนวนการชาตินิยมในหมู่ชาวยิว หรือ Zionism ที่ก่อตัวในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกตระหนักถึงความเกลียดชังยิวที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ผู้นำขบวนการนี้จึงมองหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์และเป็นมาตุภูมิของชาวยิว (Galvin, 2007) จนถึงปี ค.ศ.1917 รัฐบาลอังกฤษก็ยึดดินแดนปาเลสไตน์มาเป็นที่พักอาศัยของชาวยิวภายใต้ประกาศ Balfour Declaration ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชาวตะวันตกมีอำนาจเบ็ดเสร็จในปาเลสไตน์ (Said, 1979) ผลกระทบที่เลวร้ายคือคนท้องถิ่นในปาเลสไตน์ถูกริดรอนสิทธิ ระหว่างปี ค.ศ.1920-1948 รัฐบาลอังกฤษใช้อำนาจข่มเหงชาวปาเลสไตน์ จนทำให้ชาวปาเลสไตน์ก่อการประท้วงและต่อสู้กับชาวอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปี ค.ศ.1936-1939 ถือเป็นช่วงประท้วงครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์ (Palestinian Great Revolt) (Thompson, 2019)

           หลังสงครามอาหรับ–อิสราเอล ในปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา ฉนวนกาซาเต็มไปด้วยการสู้รบระหว่างกองทหารชาวมุสลิมจากอียิปต์กับชาวอิสราเอลที่ต้องการครอบครองฉนวนกาซา ในขณะที่รัฐปาเลสไตน์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ.1988 อยู่ใต้การบริหารของรัฐบาลผสมระหว่างกลุ่มฟะตะห์ (Fatah) และกลุ่มฮะมาส (Hamas) ช่วงปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา รัฐบาลอิสราเอลถอนกองกำลังออกจากกาซาและสร้างแนวรั้วรอบกาซา ตามด้วยการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ในปี ค.ศ.2006 และกลุ่มฮะมาสได้รับชัยชนะมีเสียงข้างมากซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐอิสลาม (Islamic Palestinian state) และมีเอกราชตามความมุ่งหมาย กลุ่มฮะมาสยังคาดหวังที่จะนำผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิมและสร้างกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ (Hroub, 2017) อย่างไรก็ตามความมุ่งหวังเหล่านี้มิได้รับความยินยอมจากอิสเราเอล และชาติตะวันตกต่างมองกลุ่มฮะมาสเป็นกองกำลังของผู้ก่อการร้าย (Sen, 2020) การมีอยู่ของดลุ่มฮะมาส ซึ่งถูกมองว่าเป็นกองกำลังหัวรุนแรงและเป็นผู้ก่อการร้ายกลายเป็นเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้กับอิสราเอลในการใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการทางการทหารกับปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

           นับจากปี ค.ศ.2006 จนถึงปัจจุบัน กาซาถูกควบคุมโดยรัฐบาลอิสเราเอลและประเทศตะวันตก ผลกระทบที่รุนแรงคือ ชาวปาเลสไตน์ที่อาสัยอยู่ในกาซามีชีวิตที่ย่ำแย่ ยากจน ตกงาน อดอยาก ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์และสาธารณสุข และขาดสวัสดิการทางสังคม รวมทั้งต้องเผชิญกับความตายและพิการจากการสู้รบระหว่างกลุ่ม ฮะมาสและทหารอิสราเอล การปิดล้อมฉนวนกาซาโดยกองกำลังชาติตะวันตกและอิสราเอลถือเป็นการบ่อนทำลายชีวิตชาวปาเลสไตน์ ชาติตะวันตกกำลังผลิตซ้ำโครงสร้างความรุนแรงตามบรรทัดฐานของลัทธิอาณานิคมที่สร้างเส้นแบ่งของความเกลียดชังลงในพื้นที่ภูมิศาสตร์ และยังเป็นการสร้างระบอบแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ (Apartheid) ระหว่างยิวและปาเลสไตน์ (Yiftachel, 2002) ยิ่งอิสเราเอลตอกย้ำอัตลักษณ์ลัทธิชาตินิยมของชาวยิวมากเท่าใด กลุ่มฮะมาสก็ยิ่งแสวงหาตัวตนอิสลามในปาเลสไตน์มากเท่านั้น ความขัดแย้งทางเชื้อชาตินี้คือความรุนแรงและมรดกเลือดที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้สร้างเอาไว้ และส่งต่อมาถึงลูกหลานของชาวปาเลสไตน์และชาวยิวในปัจจุบัน

           ข้อคิดจาก Fanon เกี่ยวกับอำนาจสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacy) การลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) และความอยุติธรรมทางโครงสร้าง (structural injustices) คือบทเรียนที่พบเห็นได้ในฉนวนกาซา (Gordon, 2023) ปัญหาเรื้อรังก็คือการมองข้ามและกดทับเสียงของชาวปาเลสไตน์ที่พวกเขาควรมีสิทธิ์ใช้ชีวิตตามแบบแผนทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานในถิ่นอาศัยของพวกเขา แต่อิสเราเอลและชาติมหาอำนาจตะวันตกเลือกใช้วิธีการทางทหารเข้าปราบปราม ส่งผลให้การรับฟังชาวปาเลสไตน์เป็นไปไม่ได้ (Amira, 2021) การใช้กำลังทหารปิดล้อมฉนวนกาซาจึงมิใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์ และขยายขอบเขตความเกลียดชังให้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ (Joronen, 2021, 2023)

           สถานการณ์ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2567 นายกรัฐมนตรีอิลราเอล Benjamin Netanyahu อนุมัติให้มีการปฏิบัติการทางทหารในกาซาตอนใต้ โดยเฉพาะที่เมืองราฟาห์ (Rafah) ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการสังหารหมู่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีสงครามของอิราเอลมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าอิสราเอลยังคงปฏิบัติการในเมืองราฟาห์ต่อไป เพื่อใช้แรงกดดันทางทหารต่อกลุ่มฮะมาส เพื่อให้ปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลเป็นอิสระ ในขณะที่กลุ่มฮะมาสจะยอมรับข้อเสนอการสงบศึกก็ต่อเมื่ออิสราเอลถอนตัวจากกาครอบครองดินแดนปาเลสไตน์อย่างสมบูรณ์เท่านั้น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลได้โจมตีเมืองราฟาห์ที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่จำนวน 1.4 ล้านคน โดยมีเป้าหมายทำลายท่าอากาศยานนานาชาติกาซาและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 Catherine Russell ผู้อำนวยการบริหารองค์กรยูนิเซฟรายงานว่าการโจมตีเมืองราฟาห์จะทำให้เด็กประมาณ 600,000 คนไร้ที่อยู่อาศัยและอดอยาก ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซารายงานว่ามีเด็กประมาณ 14,000 คน เสียชีวิตจากสงครามในปาเลสไตน์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566 เป็นต้นมา (สำนักข่าว DW, 7 พฤษภาคม 2024)

           นอกจากนั้น Sally Abi Khalil จากองค์กรออกซ์แฟม (OXFAM) รายงานว่าทหารอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์วันละประมาณ 250 คน ถือเป็นอัตราการตายที่สูงที่สุดในสงครามในรอบ 24 ปีที่ผ่านมา ส่วนคนที่รอดตายประมาณ 1 ล้านคนจะอพยพลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองราฟาห์และชายแดนประเทศอียิปต์ (องค์กรออกซ์แฟม, 11 มกราคม 2024) Carl Skau จากผู้อำนวยการจากโครงการอาหารโลก (World Food Program) กล่าวว่าในค่ายลี้ภัยสงครามทางตอนเหนือของฉนวนกาซามีสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ สกปรก มีเชื้อโรคและขาดแคลนอาหาร ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและเจ้าหน้าที่จากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานว่าผู้หญิงชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกล่วงละเมิดทางเพศและเป็นเหยื่อความรุนแรง ในขณะที่ผู้ชายจะถูกจับไปเฆี่ยนตีอย่างเจ็บปวด ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายกาจ Francesca Albanese เจ้าหน้าที่จากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ระบุว่าอิสราเอลกำลังละเมิดกฎของสามในห้าข้อตามข้อกำหนดในอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหประชาชาติ (UN Genocide Convention) โดยเฉพาะการฆ่าและการใช้ความรุนแรงกับชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในฉนวนกาซา ผู้เสียชีวิตประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กและผู้หญิง และประมาณ 70,000 คน เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ (สำนักข่าว Al Jazeera, 26 มีนาคม 2567) ความตาย ความอดอยาก และความรุนแรงดังกล่าวนี้คือการทำให้ชาวปาเลสไตน์ดูเหมือนสัตว์ (human animals) จากการถูกกระทำจากอิสราเอล

           กว่าครึ่งปีที่กองกำลังอิสราเอลและชาติมหาอำนาจตะวันตกทำการถล่มกาซา มีชาวปาเลสไตน์ทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ ถูกฆ่าไปแล้วมากกว่า 35,000 คน ซึ่งนับเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เด็ก ๆ ในกาซาถูกฆ่าโดยกองกำลังอิสราเอลในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน เด็กมากกว่า 14,000 คนเสียชีวิตไป รายงานพิเศษของสำานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ที่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ชื่อ “กายวิภาคของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มีการนำเสนอหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า รัฐอิสราเอลกระทำการที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ (OHCHR, 2024) ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นยังคงมีแบบแผนตามที่ Fanon ได้พรรณนา วิเคราะห์และอธิบายไว้ แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 60 ปี


เอกสารอ้างอิง

Agah, Z., Esson, J., Griffiths, & Joronen, M. (2024). Gaza: A decolonial geography. Transactions of the Institute of British Geographers, 49(20) DOI:10.1111/tran.12675

Amira, S (2021) The slow violence of Israeli settler-colonialism and the political ecology of ethnic cleansing in the West Bank. Settler Colonial Studies, 11(4), 512-532.

Carmichael, S. & Hamilton, C. V. (1967). Black power: the politics of liberation in America. New York: Vintage Books.

Desai, G. G., & Nair, S. (2005). Postcolonialisms: An Anthology of Cultural Theory and Criticism. New Brunswick, N.J: Rutgers University Press.

Duffy, M. (2023). Gaza: A Dark History Shared by Israelis and Palestinians. Retrieved from https://www.e-ir.info/pdf/103261

Elgindy, K (2023). Dehumanization, Lack of Empathy for Palestinians Is Alarming—and Dangerous. Newsweek 13 October 2023.

Fanon, F. (1952). Black Skin, White Masks. France: Éditions du Seuil.

Fanon, F. (1961). The Wretched of the Earth. François Maspero.

Gelvin, J. (2007). The Israel–Palestine Conflict: One Hundred Years of War (2nd ed.). Cambridge: Cambridge University Press.

Gibson, N. C. (2008). Upright and free: Fanon in South Africa, from Biko to the shackdwellers' movement (Abahlali baseMjondolo), Social Identities, 14(6), 683–715.

Gill, K. (2024). What Frantz Fanon can tell us about the West’s colonial war in Gaza. Retrieved From https://www.middleeasteye.net/opinion/what-frantz-fanon-can-tell-us-about-wests-colonial-war-gaza

Gordon, N. (2023). Between Human Rights and Civil Society: The Case of Israel’s Apartheid Enablers. Law & Social Inquiry, 1-27. DOI 10.1017/lsi.2023.41

Gordon, L. R., & Cornell, D. (2015). What Fanon Said: A Philosophical Introduction to His Life and Thought. New York: Fordham University Press.

Hroub, K. (2017). A newer Hamas? The revised charter. Journal of Palestine Studies, 46(4), 100-111.

Joronen, M. (2023). Atmospheric negations: Weaponising breathing, attuning irreducible bodies. Environment and Planning D: Society and Space, 41(5), 765-783.

Joronen, M. (2021) Unspectacular spaces of slow wounding in Palestine. Transactions of the Institute of British Geographers, 46, 995–1007.

Macey, D. (1996). Frantz Fanon 1925-1961. History of Psychiatry, 7 (28), 489–497.

Macey, D. (2004). Frantz Fanon, or the Difficulty of Being Martinican. History Workshop Journal, 58 (Autumn), 211-223.

Marriott, D. (2018). Whither Fanon?: Studies in the Blackness of Being. Stanford, C.A: Stanford University Press.

Nielsen, C. R. (2013). Frantz Fanon and the Négritude Movement: How Strategic Essentialism Subverts Manichean Binaries. Callaloo, 36 (2), 342–352.

OHCHR. (2024). Anatomy of a Genocide – Report of the Special Rapporteur on the situation of human rights in the Palestinian territory occupied since 1967 to Human Rights Council – Advance unedited version (A/HRC/55/73). https://www.un.org/unispal/wp-content/uploads/2024/03/a-hrc-55-73-auv.pdf

Rexer, R. (2013). Black and White and Re(a)d All Over: L'Étudiant noir, Communism, and the Birth of Négritude. Research in African Literatures, 44(4), 1-14.

Said, E. (1979). The Question of Palestine. London: Routledge.

Silverman, M. (ed.) (2012). Frantz Fanon's 'Black Skin, White Masks': New Interdisciplinary Essays. Manchester: Manchester University Press.

Thompson, G. (2019). Legacy of Empire. Britain, Zionism and the Creation of Israel. London: Saqi Books.

Sen, S. (2020). Decolonizing Palestine: Hamas between the Anticolonial and the Postcolonial.! Ithaca, NY: Cornell University Press.

Yiftachel, O. (2002). Territory as the Kernel of the Nation: Space, Time and Nationalism in Israel/Palestine. Geopolitics, 7(2), 215-248.

Zeilig, L. (2021). Frantz Fanon: A Political Biography (First ed.). London: Bloomsbury.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Frantz Fanon ลัทธิจักรวรรดินิยม ความรุนแรง กาซา ปาเลสไตน์ อิสราเอล ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share