เผด็จการในกรอบข่าว : ประชาชนกับการรู้เท่าทันข่าว ในสังคมประชาธิปไตย
บทนำ : เมื่อ “เรื่องเล่า” เข้าแทนที่ “รายงาน”
ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนคิดว่าตนเองเสพข่าวเพียงเพื่อติดตามความเป็นไปของสังคม สื่อมวลชนอาจกลับกลายเป็นโรงงานบรรจุความคิดที่แนบเนียนเกินกว่าที่เราจะจินตนาการถึงได้ ยิ่งในสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นพร่ามัว และการเล่าเรื่อง (narrating) ได้กลืนกินการรายงาน (report) สังคมประชาธิปไตยยิ่งต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงภัยจากการบิดเบือนในคราบของการวางตัวเป็นกลาง กรณีบทความเรื่อง “เผด็จการสร้างชาติ ประชาชน ‘อาวรณ์’ ผู้นำเข้มแข็งเศรษฐกิจรุ่ง” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนต้องถอดบทความดังกล่าวออกในเวลาไม่นาน มิอาจมองได้ว่าเป็นเพียงความผิดพลาดในเชิงบรรณาธิการ แต่ยังเป็นเครื่องสะท้อนคำถามว่า สื่อสาธารณะในสังคมไทยกำลังมีอาการป่วยทางอุดมการณ์หรือไม่ และหากป่วยจริง การรู้เท่าทันข่าว (news literacy) อาจไม่ใช่แค่เรื่องของผู้รับข่าวอีกต่อไป แต่คือคำถามใหญ่ต่อความรับผิดชอบของผู้นำเสนอในแง่ที่ว่า สื่อมวลชนเช่นนี้กำลังรับใช้ประชาชน หรือรับใช้อำนาจใดกันแน่ รวมถึงมีต้นตออะไรที่ทำให้บทความที่อุ้มชูเผด็จการ ผุดขึ้นมาจากองค์กรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งควรจะยืนหยัดในคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน
ภาพที่ 1 : แบนเนอร์บทความ “เผด็จการสร้างชาติ ประชาชน ‘อาวรณ์’ ผู้นำเข้มแข็งเศรษฐกิจรุ่ง”
ที่มา : https://shorturl.at/c74gc
หลุดหรือตั้งใจ (ยังไม่มีใครทราบ) : บทความที่สั่นคลอนอำนาจของประชาชน
บทความเรื่อง “เผด็จการสร้างชาติ ประชาชน ‘อาวรณ์’ ผู้นำเข้มแข็งเศรษฐกิจรุ่ง” เผยแพร่บนเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แต่ภายหลังกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสมของลักษณะเนื้อหา ในบรรดาผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั้น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายส่งเสริมระบอบเผด็จการ รวมถึงขาดมุมมองที่รอบด้านในการนำเสนอข้อมูล จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดและอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (มติชนออนไลน์ 2568) จนกระทั่งวันที่ 4 มีนาคม 2568 ไทยพีบีเอสจึงได้ออกแถลงการณ์น้อมรับคำติ โดยระบุว่า การเผยแพร่บทความดังกล่าวมีลักษณะไม่รอบด้านเพียงพอ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือความขัดแย้งในสังคม จึงตัดสินใจถอดบทความออกจากทุกแพลตฟอร์ม พร้อมประกาศว่าจะดำเนินการตรวจสอบต้นตอของความผิดพลาดในกระบวนการนำเสนออย่างโปร่งใส แต่จนถึงวันนี้ ต้นตอของความผิดพลาดด้วยเหตุผลกลใดก็ตามกลับยังมิได้มีการประกาศหรือชี้แจงให้ชัดแจ้งต่อสังคมแต่อย่างใด
ในแง่หนึ่ง การปรากฏตัวของบทความที่สนับสนุนแนวคิดเผด็จการบนแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส โดยขาดการไตร่ตรองในเชิงสาระหรือมุมมองวิพากษ์ ไม่ต่างไปจากการชูธงเชิญชวนให้ผู้อ่านหลงเชื่อในประสิทธิผลของระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างหน้าตาเฉย ทั้งที่ชื่อชั้นของไทยพีบีเอสควรจะรักษาคุณภาพเนื้อหา ความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูล และความรับผิดชอบต่อสังคมประชาธิปไตย การปล่อยให้บทความที่อาจสื่อสารให้ประชาชนอุดหนุนอุ้มชูเผด็จการเล็ดลอดออกสู่ปริมณฑลสาธารณะ จึงเปรียบเสมือนการประกาศถึงความล้มเหลวในระบบกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อสาธารณะเองควรจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนซึ่งเฝ้าติดตามและหวังพึ่งพาให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นธรรม
ความเป็นสื่อสาธารณะของไทยพีบีเอส ไม่ได้หมายเพียงการนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือ แต่ยังควรรวมถึงการวางมาตรฐานด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน การตรวจสอบแหล่งที่มาและการหมั่นตรวจทานมุมมองที่อาจโน้มเอียง เพื่อไม่ให้ตนเองถูกใช้หรือเต็มใจที่จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าบทความที่มีแนวโน้มเกื้อหนุนระบอบเผด็จการถูกปล่อยออกมาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่รอบด้าน สถานะและความน่าเชื่อถือของสื่อสาธารณะดังกล่าวย่อมถูกเขย่าจนสั่นคลอน เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะตั้งคำถามถึงเจตนาเบื้องหลังการผลิตข่าวสารในลักษณะนี้ และเกิดความสงสัยได้ต่อไปว่าจะมีอีกสักกี่ครั้ง ที่สิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริงได้ถูกปรับเปลี่ยนให้รับใช้การเมือง หรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางแบบอย่างแนบเนียน โดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกระทำ
แม้ท้ายที่สุด ไทยพีบีเอสจะออกแถลงการณ์ขออภัยและรีบถอดบทความดังกล่าวออกจากทุกแพลตฟอร์ม แต่การกระทำที่ฉุกละหุกเช่นนี้กลับยิ่งเผยให้เห็นถึงวัฒนธรรมตามแก้ทีหลังแทนการป้องกันไว้ก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการข้อมูลรอบด้านและโปร่งใสจากสื่อมวลชนตั้งแต่แรก กรณีดังกล่าวนี้นับเป็นบทเรียนเชิงโครงสร้างของการบริหารจัดการสื่อสาธารณะ ที่ไม่เพียงต้องมีระบบตรวจสอบความถูกต้องและความสมดุลของสารเท่านั้น แต่ยังต้องปลูกฝังจิตวิญญาณความรับผิดชอบต่อผลสะเทือนทางสังคมของเนื้อหาที่ตนผลิต ผู้ถืออำนาจในองค์กรควรตระหนักว่าสื่อสาธารณะไม่ควรเป็นที่ยืนของการเชิดชูอำนาจเผด็จการ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และหากละเลยให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดซ้ำบ่อยครั้งเข้า ไม่ว่าประชาชนจะสนใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ก็ตาม สถานะของสื่อเพื่อประชาชนที่เคยภาคภูมิใจก็อาจสูญเสียความไว้วางใจไปโดยไม่มีวันหวนกลับมาได้อีก
เล่าให้เชื่อ (มากกว่าให้รู้) : ข่าวที่เลือกข้างอย่างมีศิลปะ
เรากำลังอยู่ในยุคที่ข่าวไม่ได้ทำหน้าที่บอกว่าอะไรเกิดขึ้น แต่เป็นการบอกเล่าให้ฟังว่าควรคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น รูปแบบการรายงานข้อเท็จจริงที่เคยถือเป็นหลักการของวารสารศาสตร์ ถูกแทนที่ด้วยการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้รายงาน ซึ่งสอดแทรกอารมณ์ น้ำเสียง ท่าที และบางครั้งคืออคติที่แยบยล ในบทวิเคราะห์ของ เรเน่ ฮอบส์ (Renee Hobbs) (2010) การรู้เท่าทันข่าวไม่ได้หมายถึงการเข้าใจเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการเข้าใจโครงสร้างการเล่าเรื่อง แรงจูงใจของผู้บอกเล่า และการจัดวางองค์ประกอบของข่าวที่เอื้อต่อการชี้นำความคิดอย่างนุ่มนวล ข่าวจึงกลายเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาความคิดในแบบอำนาจโน้มนำ (soft-power) ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจอย่างเผด็จการ แต่อาจนำเสนอเผด็จการด้วยโทนเสียงของเศรษฐกิจและเสถียรภาพในจินตนาการก็ได้
โรเบิร์ต เอินต์แมน (Robert Entman) (1993) ชี้ว่า การจัดวางกรอบความคิด (framing) เป็นกลไกสำคัญที่สื่อมักใช้เพื่อขับเน้นบางมุมมองและละเลยบางมิติของเหตุการณ์ ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นการเลือกอย่างมีเจตนา กรณีของบทความไทยพีบีเอสที่กล่าวอ้างถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจภายใต้ผู้นำเผด็จการ ก็สะท้อนการจัดวางที่เลือกจะเพิกเฉยต่อผลกระทบทางสิทธิเสรีภาพ การจำกัดเสรีภาพสื่อ (ตนเอง) รวมถึงการละเมิดสิทธิพลเมืองต่าง ๆ เมื่อข่าวหรือข้อมูลชุดหนึ่ง ๆ ถูกเลือกที่จะเล่าเพียงครึ่งเดียว ข่าวหรือข้อมูลชุดนั้น ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับคำโกหกที่แต่งหน้าให้ดูดี การรู้เท่าทันข่าวจึงไม่ใช่การแยกความจริงออกจากความเท็จเท่านั้น แต่รวมถึงการมองให้เห็นว่าอะไรหายไปจากเรื่องนี้ และใครได้ประโยชน์จากการหายไปนั้น
ดอล์ฟ ซิลแมนน์ (Dolf Zillmann) (2002) บอกว่า ข่าวจำนวนมากในโลกปัจจุบันใช้การกระตุ้นหรือสร้างความเชื่อมโยงกับอารมณ์ของผู้รับข่าวมากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ขายได้ และอารมณ์ทำให้คนเชื่อโดยไม่ถาม การเสนอภาพผู้นำเข้มแข็งในภาวะวิกฤติจึงกลายเป็นกลยุทธ์คลาสสิกในการเรียกคืนความไว้วางใจให้กับอำนาจเผด็จการและอุดมการณ์ที่เป็นดาบสองคม โดยไม่ต้องอ้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตย บทความของสนับสนุนแนวคิดเผด็จการของไทยพีบีเอส นอกจากจะมองได้ว่าเป็นความสะเพร่าทางเนื้อหาแล้ว ยังอาจกล่าวต่อไปได้อีกว่าเป็นการเล่นกับความกลัว ความต้องการทางเศรษฐกิจ และความเบื่อหน่ายต่อความวุ่นวายทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนยอมจำนนต่อแนวคิดว่า ถ้าเผด็จการทำให้เรากินอิ่มนอนหลับได้ ก็คงไม่เลวร้ายเท่าไรนัก ทั้งที่คำถามสำคัญควรจะเป็น แล้วใครต้องอด เพื่อให้บางคนอิ่ม หรือในขณะที่พวกเราบางคนกำลังอิ่ม ใครอีกคนกำลังได้ประโยชน์จากความอิ่มนี้ ใช่กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังเผด็จการหรือไม่
สถาบันข่าวที่ (ไม่) น่าเชื่อถือกับตราประทับของมืออาชีพ
เมื่อบทความที่ขาดการตรวจสอบแหวกม่านออกมาจากสื่อที่ควรจะมีมาตรฐานสูงอย่างไทยพีบีเอส ประชาชนก็จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการกลั่นกรองข่าวโดยสิ้นเชิง เคร็ก ซิลเวอร์แมน (Craig Silverman) (2015) เตือนว่า ในยุคที่ข้อมูลถูกแชร์และบิดเบือนอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มดิจิทัล การประเมินแหล่งที่มาและโครงสร้างของข้อมูลคือทักษะสำคัญ แต่ที่น่าหนักใจกว่าข่าวปลอมจากเพจไร้ชื่อ คือข่าวที่แต่งหน้าเรียบร้อยแล้วเดินออกจากประตูหน้าของสถาบันสื่อหลัก ซึ่งปฏิเสธในเชิงนัยไม่ได้ว่ามาพร้อมกับตราประทับว่าข้อมูลชุดนี้ถูกวิเคราะห์โดยทีมข่าวมืออาชีพ นั่นต่างหากคือระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะมันบ่อนทำลายการตรวจสอบเชิงสาธารณะด้วยเสื้อคลุมของความน่าเชื่อถือ
การที่ไทยพีบีเอสออกแถลงการณ์ขออภัยหลังถูกวิพากษ์และรีบลบบทความออกจากทุกแพลตฟอร์ม แม้อาจดูเหมือนการแสดงความรับผิดชอบ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับเปิดโปงระบบภายในของตนเองที่ไม่สามารถป้องกันความผิดพลาดในเชิงเนื้อหาได้ คำว่า “สื่อสาธารณะ” กลายเป็นป้ายราคาที่สร้างความกังขาให้กับประชาชน เพราะหากใช้ภาษาในเชิงเปรียบเปรยของสื่อมวลชนเอง (อ้างถึงใน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่ง ประเทศไทย, 2564; นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, 2551) หากสื่อไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) ได้อย่างแท้จริง สื่อก็ย่อมกลายเป็นหมาเชื่อง ๆ (lapdog) ของอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางสภาวะที่แม้แต่หมาที่ควรจะเฝ้าบ้านยังมึนงงว่าใครเป็นเจ้าของ การรู้เท่าทันข่าวของเจ้าของบ้านจึงไม่ใช่แค่การตั้งคำถามกับเนื้อหา แต่ต้องตั้งคำถามกับหมาที่เลี้ยงไว้ และอาจขยับไปถามต่อได้ว่า ใครจะได้ประโยชน์เมื่อหมาที่เลี้ยงไว้จำหน้าเจ้าของไม่ได้ ใช่โจรปล้นบ้านหรือไม่
ภาพที่ 2 : แถลงการณ์น้อมรับคำติ
ที่มา : https://shorturl.at/CzVw2
บทสรุป : รู้เท่าทันข่าวคือการรู้เท่าทันอำนาจ
เมื่อรูปแบบการนำเสนอข่าวสารเปลี่ยนแปลงไป ข่าวสามารถสร้างอารมณ์ สร้างเรื่องเล่า รวมถึงสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังตัวอย่างที่บทความนี้ยกมาแสดงและวิพากษ์ การรู้เท่าทันข่าวด้วยตนเองย่อมเป็นด่านแรกของการปกป้องเสรีภาพของประชาชน การรู้เท่าทันไม่ใช่แค่การมีข้อมูลมาก แต่คือการตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ถูกนำเสนอให้ดูดีเกินจริง ท่ามกลางกระแสที่ข่าวลวง ข่าวเชียร์ และข่าวที่ถูกกรองด้วยผลประโยชน์ต่าง ๆ นานา ไหลทะลักเข้าใส่เราอย่างต่อเนื่อง การรู้เท่าทันข่าวจึงไม่ใช่ทักษะเสริม แต่คือเครื่องมือในการเอาตัวรอดในสนามของข้อมูลข่าวสารที่ถูกทำให้กลายเป็นสนามรบทางการเมืองและอุดมการณ์ ผู้เขียนหวังว่าในสนามนี้ คงจะไม่มีผู้ที่หลงเชื่อข่าวที่บรรจุหีบห่อมาอย่างสวยงาม จนยืนปรบมือให้กับการทำลายเสรีภาพของตนเองโดยไม่รู้ตัว
รายการอ้างอิง
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์. (2551). Silence of the lamp: หมาเฝ้าบ้าน - อุดมการณ์สื่อ? https://prachatai.com/journal/2008/05/16638
มติชนออนไลน์. (2568). ปริญญา ท้วงไทยพีบีเอส 4 ข้อ เสนอบทความ สนับสนุนเผด็จการ ยันในฐานะกัลยาณมิตร ต้องเตือน. https://www.matichon.co.th/politics/news_5075861
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. (2564). สื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน”. https://tja.or.th/view/activities/radio-tja/1333640
Allcott, H., & Gentzkow, M. (2017). Social media and fake news in the 2016 election. Journal of Economic Perspectives, 31(2), 211-236.
Entman, R. M. (1993). Framing: Toward clarification of a fractured paradigm. Journal of Communication, 43(4), 51-58.
Hobbs, R. (2010). Digital and media literacy: A plan of action. The Aspen Institute.
Silverman, C. (2015). Lies, Damn Lies, and Viral Content: How News Websites Spread (and Debunk) Online Rumors, Unverified Claims, and Misinformation. Tow Center for Digital Journalism, Columbia Journalism School.
Zillmann, D. (2002). The psychology of the appeal of portrayals of violence. In J. Bryant & D. Zillmann (Eds.), Media effects: Advances in theory and research (pp. 179-211). Lawrence Erlbaum.
ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร