อาหารประจำชาติ “มายาคติ” ในกระบวนการทำให้ “หลงใหลได้ปลื้ม”
วิถีทางอาหาร (foodways) คือเรื่องราวอาหารที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนซึ่งสะท้อนผ่านปฏิบัติการทางสังคมต่าง ๆ เช่น การคัดสรรและผลิตวัตถุดิบอาหาร การปรุงอาหาร การสร้างความเชื่อเกี่ยวกับการกิน การปฏิบัติตามประเพณี เศรษฐกิจและการเมือง ฯลฯ (Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019) ทั้งนี้จากการศึกษาทางสังคมวิทยาพบว่า ในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีทางอาหารเป็นวิธีคิดที่ได้รับความนิยมศึกษาเป็นอย่างมาก โดยช่วงต้นจะให้ความสนใจอาหารกับความสัมพันธ์ทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการมองอาหารในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มและชุมชน ก่อนขยายประเด็นศึกษาสู่เรื่องรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น รูปแบบการการปรุงแต่งและการกิน เป็นต้น รวมถึงประเด็นอาหารกับภูมิศาสตร์ความเป็นมาของสำรับอาหารซึ่งรวมถึงอาหารและอัตลักษณ์ของกลุ่ม (Hutchinson, 2003; Zafar, 2019)
จะเห็นได้ว่า วิถีทางอาหารมีความหมายใกล้เคียงกับ “วัฒนธรรมอาหาร” (แบบแผนการปฏิบัติด้านอาหาร ที่เกิดจากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมเนียมประเพณีของสังคม) เพียงแต่แนวคิดวิถีทางอาหารจะให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์อาหารกับคนที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเป็นพลวัต โดยครอบคลุมวิถีทางอาหารระดับกลุ่มชาติพันธุ์ ชาติ ภูมิภาค และอาหารประจำชาติ (National food) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของลัทธิชาตินิยม (Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019)
ประเด็นอาหารประจำชาติกับลัทธิชาตินิยมจึงทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ ทำไมอาหารจานหนึ่ง ๆ ถึงถูกนำมาสร้างเป็นเครื่องมือของรัฐชาติในการสร้างอำนาจและมีกระบวนสร้างเช่นไร รวมถึงรัฐมีหลักการใดในการเลือกสำรับอาหารขึ้นมาเป็นอาหารประจำชาติ โดยบทความนี้จะใช้เลนส์ความคิด Modernism, Primordialism และ Ethno-symbolism (บทความนี้จะใช้คำภาษาอักฤษทับศัพท์แนวคิดดังกล่าว) เพื่อทำความเข้าใจอาหารในบริบทลัทธิชาตินิยม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนำเสนอโดย Smith (2010) ก่อนจะได้รับการพัฒนาโดยนักสังคมศาสตร์คนอื่น ๆ ในเวลาต่อมา (Hutchinson, 2003; Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019)
Modernism
ตามวิธีคิดของ Modernism ชาติคือรูปแบบการรวมกลุ่มทางสังคมซึ่งเป็นผลผลิตของลัทธิชาตินิยมที่พบเห็นเด่นชัดในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เป็นแนวคิดที่รัฐใช้ “ความเป็นชาติ” โต้ตอบการล่มสลายของระบบความเชื่อก่อนหน้านี้ การเติบโตของหลักการเหตุและผลในยุคแสงสว่างทางปัญญา และโดยเฉพาะกับเงื่อนไขบางประการของกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเจริญเติบโตและกำลังช่วงชิงอำนาจจากรัฐ รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างฐานอำนาจโดยการทำวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว (cultural homogeneity) ปฏิบัติการผ่านการกระทำทางสังคมในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา กฎระเบียบในชีวิตประจำวัน ภาษา เสื้อผ้า ความเชื่อ และรวมถึงอาหาร เป็นต้น โดยการสร้างมาตรฐาน (standardization) เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (centralization) ถึงจะบรรลุอุดมการณ์ของรัฐชาติในการสร้างพลังและอำนาจ (Giddens, 1991; Hutchinson, 2003; Smith, 2010)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอาหารประจำชาติกับลัทธิชาตินิยมในบริบท Modernism พบว่า งานศึกษาส่วนใหญ่จะวิเคราะห์ตำราอาหาร เพราะ “ตำรา” มีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างความเป็นชาติ จึงทำให้เกิดแนวคิดการสร้างอาหารประจำชาติ ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นในช่วงเดียวกับวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐชาติ การเติบโตระบบอุตสาหกรรมและความเป็นการขยายตัวของเมือง (Hutchinson, 2003)
ประเด็นข้างต้น Ichijo, Johannes, และ Ranta (2019) ได้ขยายว่า เนื้อหาของตำราอาหารจะมีชุดคำอธิบายองค์ประกอบต่าง ๆ ของสำรับอาหารให้สัมพันธ์กับความเป็นชาติ นับจากวัตถุดิบ สูตรอาหาร (ส่วนผสม) รูปแบบการปรุง รสชาติ จนเป็นอาหารพร้อมเสิร์ฟที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของรัฐชาตินั้น ๆ ขณะที่ Appadurai (1988) เสริมว่า ตำราอาหารมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการก่อตัวของ “ความเป็นชาติ” ดังเห็นจาก “เนื้อหา” (content) ของตำราอาหารที่พยายามสร้างเรื่องราวผ่านชุดคำอธิบายของวิถีอาหารที่มีลักษณะเฉพาะของชาติ ไม่ว่าจะเป็นสูตร ส่วนผสม วิธีการทำ ฯลฯ พร้อมเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์รัฐชาติจนอาหารจานนั้นกลายเป็น “อาหารประจำชาติ”
Primordialism
ในมุมหนึ่งของแนวคิด Primordialism มองว่า ชาติเป็นข้อเท็จจริงทางชีววิทยา โดยเปรียบเปรยว่าชาติมีชีวิต มีเลือดเนื้อและมีจิตใจเหมือนมนุษย์ ชาติจึงมีการสร้างกฎเกณฑ์และจัดระเบียบในตัวเอง เพื่อให้คงสถานะการดำรงอยู่หรือที่เรียกว่า “ความเป็นชาติ” ยิ่งกว่านั้น “ความเป็นชาติ” ยังมีนัยของความเป็น “ผู้ให้” (Smith, 2010; Belasco & Scranton, 2014)
ทำไมถึงตีความเป็นเช่นนั้น?
ประเด็นดังกล่าว Geertz (1997) ใช้หลักการตีความทางวัฒนธรรม (cultural interpretation) มาขยายความ “ผู้ให้” ในแนวคิดชาตินิยมว่า ชาติในฐานะผู้ให้คือผู้ที่แสดงบทบาทของการมอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถหาหน่วยงานใดมาแสดงบทบาททดแทนได้ เพราะชาติมีความผูกพันต่อผู้คนในชาติ จากการ “สร้าง” หรือ ผูกเรื่องความเป็นมาของชาติเข้ากับประสบการณ์ชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผูกเรื่องดังกล่าวเข้ากับ “ความดั้งเดิม” และมีวิวัฒนาการของเรื่องดังกล่าวอย่าง “ต่อเนื่อง” ที่ชาติอ้างถึง จนเกิดความนิยมชมชอบในชาติก่อนกลายเป็นลัทธิชาตินิยม มีพลังและมีแรงผลักดันแห่งการกระทำทางสังคม (social action)
อย่างไรก็ตาม นักคิดหลายคนกลับเห็นต่างกับข้อเสนอความเป็นชาติที่สัมพันธ์กับเหตุผลทางชีวภาพ โดยมองว่า ความเป็นชาติคือรูปแบบการรวมกลุ่มของสังคมมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หาใช่เพิ่งเกิด ดังนั้น ความเป็นชาติหรือความนิยมในกลุ่ม (ลัทธิ) ชาตินิยมจึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเสมอมา (Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019) ประการสำคัญยังมองว่าลัทธิชาตินิยมได้สร้าง “มายาคติ” ทำให้คนในชาติยอมรับอุดมการณ์ชาตินิยมโดยปราศจากการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลัทธินี้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ความหลงใหลได้ปลื้ม” และในหลายกรณีนำไปสู่ความผูกพันแบบคลั่งไคล้ เพราะมองว่า “ชาติ” เป็น “ผู้ให้” ทำให้ชาติมีคุณลักษณะไม่ต่างไปจากผู้มีหลักจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์ทำให้เกิดความมั่นคงทั้งทางกายและจิตใจ (Belasco & Scranton, 2014)
Ethno-symbolism
ในบริบทของลัทธิชาตินิยม Ethno-symbolism เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการนำสัญลักษณ์ ตำนาน ค่านิยมและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นชาติในรัฐชาติสมัยใหม่ โดยเน้นความเป็นรากเหง้าและลำดับเวลาความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์หรือประเทศ แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นแนวทางการศึกษาลัทธิชาตินิยมแบบเดิม ไม่ต่างจากกลุ่ม Primordialism (Smith, 2010; Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019)
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเลนส์ความคิด Ethno-symbolism มาพิจารณาอาหารประจำชาติกลับอธิบายให้เห็นถึงบทบาทของอาหารในการสร้างชาติที่จะพัฒนาสู่ลัทธิชาตินิยมที่คมชัด กล่าวคือ อาหารที่ถูกนำมาสร้างชาติต้องไม่ใช่อาหารของชนชั้นสูง หากแต่เป็นอาหารที่ปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวัน ผู้คนเข้าถึงง่ายทั้งการปรุงแต่ง การกินและรสชาติ รวมถึงต้องมีวัตุดิบที่เชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์รัฐชาติ การเชื่อมโยงความหมายดังกล่าวทำให้อาหารจานนั้นเปรียบดั่งสัญลักษณ์ที่ช่วยหล่อหลอมผู้คนเข้ากับชาติอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ (Mintz, 1996; Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019) อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่าหากอาหารจานดังกล่าวได้รับยอมรับจากชนชั้นสูงก็จะทำให้กลายเป็นอาหารประจำชาติโดยสมบูรณ์ (Smith, 1991; Trubek, 2000)
จะเห็นได้ว่า ในมุมมองทางสังคมวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารประจำชาติและลัทธิชาตินิยมสามารถทำความเข้าใจเบื้องต้นโดยใช้เลนส์ความคิด Modernism, Primordialism และ Ethno-symbolism กล่าวโดยสรุป คือ ในมุมความคิด Modernism พบว่า ตำราอาหารคือเครื่องมือสำคัญที่รัฐได้สร้างชุดคำอธิบายของอาหารประจำชาติว่ามีความเกี่ยวกับกับชาติอย่างไร โดยสื่อผ่านเนื้อหา นับตั้งแต่วัตถุดิบ การปรุง การกินและรสชาติ โดยใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของรัฐชาติเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนความเป็นชาติ ขณะที่ในมุมของ Primordialism สะท้อนให้เห็นว่า ลัทธิชาตินิยมได้สร้างกระบวนการสำนึกให้หลงใหลได้ปลื้ม โดยนำประวัติศาสตร์มาสร้างเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งให้สัมพันธ์กับอาหารประจำชาติ เกิดเป็นภาพมายาและรับรู้ในฐานะประสบการณ์ร่วมกับ “ความดั้งเดิม” ของชาติ ทำให้อาหารกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมผู้คนที่เป็นสมาชิกของรัฐชาติเข้าด้วยกัน ท้ายสุด มุมมอง Ethno-symbolism เผยให้เห็นว่าการเลือกอาหารในชีวิตประจำวันที่คนในชาติเข้าถึงง่ายมาอาหารประจำชาติก็คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่รัฐนำเรื่องราวของวิถีอาหารไปผูกเข้ากับตำนาน ค่านิยมและประเพณีของกลุ่มโดยเน้นความเป็นรากเหง้าและลำดับเวลาความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์หรือประเทศ
ทั้งนี้ มุมมองผ่านเลนส์คิดข้างต้นมีจุดร่วมเดียวกันคือ การหยิบยกอาหารจานหนึ่งนั้นจำเป็นต้องผูกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างเป็นพลวัต ให้เกิดความต่อเนื่อง และเพิ่มความหนักแน่นด้วยการเชื่อมโยงเรื่องราวดังกล่าวเข้ากับภูมิศาสตร์ของรัฐชาติที่สัมพันธ์กับอาหารผ่านขั้นตอนต่าง ๆ นับจากวัตถุดิบ การปรุง การกิน ฯลฯ เกิดเป็นมายาคติอาหารประจำชาติ หล่อหลอมพยายามทำให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงความหมายร่วมกัน พัฒนาเป็นพลังและอำนาจให้รัฐขับเคลื่อนจนบรรลุอุดมการณ์ลัทธิชาตินิยม
เอกสารอ้างอิง
Appadurai, A. (1988). How to make a national cuisine: cookbooks in contemporary India, Comparative Studies in Society and History, 30(1): 3-24.
Belasco, W. & Scranton, P. (Eds.). (2014). Food Nations: Selling Taste in Consumer Societies. UK: Routledge.
Geertz, C. (1997). The Interpretation of Cultures. New York: Basic Books.
Giddens, A. (1991). The Consequences of Modernity. Stanford: Stanford University Press.
Hutchinson, J. (2003). The Dynamics of Cultural Nationalism: The Gaelic Revival and the Creation of the Irish Nation State. UK: Routledge.
Ichijo, A., Johannes, V., & Ranta, R. (Eds.). (2019). The Emergence of National Food: The Dynamics of Food and Nationalism. London: Bloomsbury Academic.
Mintz, S. (1996). Tasting Food, Tasting Freedom: Excursions into Eating, Culture and the Past. Boston: Beacon Press.
Anthony D. Smith, A. D. (2010). Nationalism: Theory, Ideology, History. New York: Polity.
Trubek, A. (2000). Haute Cuisine: How the French Invented the Culinary Profession. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.
Zafar, R. (2019). Recipes for Respect: African American Meals and Meaning. Georgia: University of Georgia Press.
ผู้เขียน
รศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ป้ายกำกับ อาหารประจำชาติ มายาคติ รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา