เรื่องราวการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ (และหวังว่าจะไม่) ดับไป ของชาวเกาะกง
นับตั้งแต่ที่มนุษย์พัฒนาตัวเองจากสังคมฝูงลิงจนปัจจุบันที่มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นระบบ และมีวิถีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ จนอาจกล่าวได้ว่ายุคปัจจุบันมนุษย์นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่สรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ตั้งแต่ที่มนุษย์ได้ก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุด มนุษย์ได้สรรสร้างอารยธรรมต่าง ๆ มากมายในทั่วทุกทวีปของผืนโลก จากอาณาจักรแอซเท็ก ไปจนถึงอาณาจักรโรมัน หรือใกล้ตัวพวกเราอย่างอาณาจักรทวารวดี ในทุกอารยธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น แม้ว่าจะมีจุดกำเนิด หรือรูปแบบการดำรงชีวิตที่ต่างกันออกไป แต่มีวงจรนึงที่เกิดขึ้นกับทุกอารยธรรมไม่ต่างกัน นั่นก็คือการ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”
กล่าวคือในช่วงแรกทุกอารยธรรมจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างครอบครัวแล้วก็เกิดการรวมตัวเป็นชุมชน จนถึงจุดนึงที่เริ่มเกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่มากขึ้น ก่อกำเนิดกลายเป็นอารยธรรม เกิดองค์ความรู้ในการดำรงชีพ และวิทยาการความรู้ต่าง ๆ มากมาย จนอารยธรรมนั้น ค่อย ๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดสุด และเมื่อถึงจุดหนึ่งอารยธรรมนั้น ก็จะพบเจอกับจุดเสื่อม อาจเป็นเพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด หรือการตกอยู่ภายใต้การปกครองของอีกอารยธรรมนึง จนกระทั่งชุมชนนั้นค่อย ๆ เบาบางหรือถูกหลอมรวมลงจนสูญสลายไปในที่สุด นี่คงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เป็นสัจธรรมที่ทุกอารยธรรมล้วนต้องประสบพบเจอ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง
เรื่องราวต่อจากนี้คงเป็นอีกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งหนึ่ง ที่ได้เกิดขึ้นมาราว 100 กว่าปี เคยผ่านจุดรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการปกครอง คราคร่ำไปด้วยผู้คนมากมาย และในวันนี้ก็กำลังเข้าสู่จุดเสื่อมถอย เงียบเหงา เป็นชุมชนที่คล้ายจะหมดอายุในอีกไม่ช้า . . . หากไม่มีการลงมือทำอะไรซักอย่าง
นี่จึงเป็นเรื่องราวของการดิ้นรนของชาวบ้านในชุมชนนึง ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องที่มองเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ของชุมชนแห่งนี้ ในความพยายามที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้ ไม่ถูกลืม และหายไปกับกระแสธารของกาลเวลา
ชุมชนเกาะกง ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
เกาะกง ศูนย์กลางความเจริญของลุ่มแม่น้ำยม
(แสงสุดท้ายของวัน ที่สะท้อนลงบนแม่น้ำยม จากมุมมองบนเกาะกง)
เกาะกง ตั้งอยู่ในอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตัวเกาะกงเป็นผืนแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำ พื้นที่เกาะถูกล้อมด้วยแม่น้ำยม มีขนาดพื้นที่ประมาณ 15,600 ตารางเมตร หรือ10 ไร่เศษ ในทุกปีช่วงฤดูฝน เกาะจะถูกปกคลุมด้วยน้ำจากแม่น้ำยมในทุกพื้นที่ทั่วทั้งเกาะ เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับสายน้ำแห่งนี้อย่างแนบชิด ด้วยความที่พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้แม่น้ำยมบริเวณนี้มีความลึกมากกว่าจุดอื่น ความลึกนี้เอื้อแก่การเป็นพื้นที่ให้ปลามาใช้ชีวิต มาวางไข่ และอนุบาลปลา ส่งผลให้มีปลามาอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่เกาะกง และรอบ ๆ จึงมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องอยู่กับปลาอย่างแยกไม่ออก ทั้งการทำประมง การถนอมอาหารที่เป็นของขึ้นชื่อประจำถิ่นอย่างปลาร้า หรือน้ำปลา
เรื่องเล่าของชาวบ้านที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปลาในอดีตอย่าง “แค่ใช้ไม้พาย เคาะที่เรือ ปลาก็กระโดดขึ้นมากันเต็มไปหมด” หรือ “แต่ก่อนเวลาไปจับปลาพอใช้สนั่นช้อนปลาขึ้นมา คน 2 คน ไม่สามารถยกสนั่นที่จับปลาได้ เนื่องจากปลามีจำนวนเยอะเกินกว่าที่จะสามารถยกได้” เรื่องราวเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกที่ทำให้เราเห็นภาพความร่ำรวยทางทรัพยากรในอดีตของเกาะกงได้เป็นอย่างดี
ในยุคที่ถนนหนทางยังไม่ได้แพร่กระจายไปทุกพื้นที่อย่างทุกวันนี้ การใช้เรือเพื่อสัญจรเป็นวิธีการเดินทางหลักของผู้คนในสมัยนั้น แม่น้ำยมที่มีความยาวกว่า 735 กิโลเมตร จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวกงไกรลาศ และเกาะกง เพราะนอกจากจะเป็นจุดที่มีปลาเป็นจำนวนมากแล้ว “ท่าเรือบ้านกง” ที่คนเรียกกันในอดีต ยังเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่บริเวณนั้น เพราะมีเรือสินค้าจากกรุงเทพฯ และที่ต่าง ๆ มาที่ท่าเรือแห่งนี้เพื่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านในแถบนั้น ความเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้า และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ส่งผลให้พ่อค้าต่างถิ่นหลายคน ที่ล่องเรือนำ“ข้าว”มาขาย หรือผู้ที่แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่บริเวณรอบ ๆ เกาะกง
ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มาจากทั่วสารทิศ ทั้งจากกรุงเทพฯ อยุธยา ราชบุรี สิงห์บุรี หรือแม้แต่บริเวณใกล้เคียงอย่างพิษณุโลก ไปจนถึงชาวจีนไหหลำ จากภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งลูกหลานของผู้อพยพเหล่านั้นก็กลายสภาพมาเป็นคนกงไกรลาศในปัจจุบัน
(ภาพสตรีทอาร์ต ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตคนเกาะกงกับแม่น้ำยม เมื่อครั้งอดีต)
ในอดีตชาวบ้านไม่ได้อาศัยอยู่บนตัวเกาะกง แต่อาศัยอยู่บนเรือนแพขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “แพบวบ” โดยเรือนแพเหล่านั้นลอยเรียงรายอยู่รอบ ๆ บริเวณเกาะกงแห่งนี้ จนเข้าสู่ยุคที่เริ่มมีการทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้มีการแผ้วถางจับจองพื้นที่ป่าทั้งหลาย เพื่อการทำนา การทำไร่เชิงเดี่ยว ส่งผลให้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการทำแพบวบลดจำนวนลง และหาได้ยากมากขึ้น ประกอบกับธรรมชาติของแพบวบ ที่มีการเสื่อมสลาย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนไผ่ที่ใช้เป็นเรือนแพทุก ๆ 3 ปี เมื่อจำนวนไผ่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบแพ ทำให้ในปี พ.ศ. 2490 นายปี พลูสวัสดิ์ กำนันของตำบลกงในขณะนั้น ได้ย้ายบ้านขึ้นมาอยู่บนตัวเกาะกงเป็นหลังแรก หลังจากนั้นชาวบ้านจึงค่อย ๆ ทยอยย้ายขึ้นมาตามลำดับ วิถีชีวิตจากเรือนแพ ถูกเปลี่ยนมาเป็นบ้านยกใต้ถุนสูงเพื่อหนีน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลากแทน
อีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเกาะกงคือในปี พ.ศ. 2437 พระกงไกรลาศ นายอำเภอคนแรกของอำเภอกงไกรลาศ ได้ตัดสินใจสร้างที่ว่าการแขวงกงไกรลาศ (แขวงคืออำเภอ) บนเกาะกงแห่งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้ชาวบ้านได้มาติดต่อกับราชการ ก่อนที่ในปี 2460 จะมีการย้ายที่ว่าการอำเภอเนื่องจากในช่วงหน้าน้ำ การเดินทางของชาวบ้านเพื่อติดต่อกับราชการ เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ในมิติทางจิตวิญญาณ วัดกงไกรลาศ วัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2333 โดยมีหลวงพ่อโต (วิหารลอย) ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวกงไกรลาศ และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้นพระครูไกรลาศสมานคุณ หรือหลวงพ่อย่น อดีตเจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศก็เป็นพระเกจิชื่อดัง มีลูกศิษย์ลูกหานับถือมากมายจนกระทั่งปัจจุบัน
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนี้ ทำให้เกาะกงในช่วงเวลานั้น เป็นดั่งจุดศูนย์กลางของพื้นที่ในบริเวณนั้น มีผู้คนมากหน้า หลายตา จากทั่วทุกสารทิศ เข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำมาค้าขาย เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีให้แก่ชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าวคงไม่มีใครคาดคิดว่าพื้นที่แห่งนี้ จะมีที่ว่างให้ความเงียบเหงามาเยี่ยมเยียนได้
วิถีแห่งสายน้ำของชาวเกาะกง
ในยุคที่ “เงิน” ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักสำคัญในการใช้ชีวิตเหมือนกับในปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวเกาะกงในสมัยก่อน ถือว่าเรียบง่าย และยึดโยงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือแม่น้ำยมเป็นหลัก กล่าวคือ ช่วงเดือน ตุลาคม - ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงน้ำหลาก ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำยมเยอะตามไปด้วย ในช่วงนี้ชาวบ้านก็จะทำประมง จับปลากันเป็นล่ำเป็นสัน บางส่วนเอามาทำกินภายในครอบครัว ส่วนนึงนำไปถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินในยามที่พ้นจากหน้าปลาไปแล้ว ทั้งปลาเกลือ ปลาย่าง ปลาร้า จนมาจบที่น้ำปลา อีกส่วนนึงก็นำ “ปลา” ไปแลก “ข้าว” กับชาวนา ที่อยู่อาศัยบนที่ดอน และไม่มีปลาเช่นกัน
(ปลาหมูในกระชังที่จับโดยชาวบ้าน ปลาหมูขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติอันโอชะ และความหายาก เพราะพบได้ที่แม่น้ำยม ในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น)
พอช่วงเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านปลูกยาสูบ ผักสวนครัว อยู่ริมฝั่ง และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน เพื่อไว้กินภายในครอบครัว รวมถึงยาสูบที่สามารถนำไปแลกข้าวหรือสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ จนถึงช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน ที่ชาวบ้านจะเริ่มซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลา เพื่อเตรียมตัวรอฤดูปลาที่กำลังจะมาถึงในเดือนตุลาคม
ช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน ก็เหมือนเป็นช่วงฤดูฝน ที่ชาวบ้านจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมาอาศัยอยู่กับกระแสน้ำ เป็นเวลาประมาณ 3 เดือนจนกว่าจะถึงช่วงน้ำลด ซึ่งก็คือช่วงประมาณตุลา - ธันวาคม ที่เป็นดั่งฤดูหาปลา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ปลาจำนวนมาก ที่ไปเติบโตอยู่ในหนองนา จะทยอยลงมาเผชิญกับแม่น้ำยม และแน่นอน ชาวเกาะกงที่ตั้งตารอปลาเหล่านี้อยู่แล้ว
วัฏจักรแห่งสายน้ำนี้ดำเนินไป วันแล้ว วันเล่า ปีแล้ว ปีเล่า โดยในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด พื้นที่เกาะกงแห่งนี้ เรียงรายไปด้วยบ้านยกใต้ถุนสูงกว่า 50 หลังคาเรือน และผู้คนกว่าหลายร้อยชีวิตที่ได้อาศัยอยู่ในตัวเกาะกงแห่งนี้ แต่ในปัจจุบัน ถ้าใครบังเอิญได้ผ่านไปบริเวณเกาะกง อาจจะพบว่าข้อความที่บรรยายมาข้างต้น เป็นเพียงเรื่องราวของอดีต จากความครึกครื้นของผู้คนมากมาย กลายเป็นความเงียบงันทั้งจากผู้คน และฝูงปลา
จากวันที่เกาะกงเคยมีผู้อาศัยอยู่ร่วมครึ่งร้อยหลังคาเรือน สู่วันนี้ที่เหลือผู้อาศัยอยู่เพียง 9 หลังคาเรือน 29 ชีวิต คำถามที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ พื้นที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการปกครอง พื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรปลา และภูมิปัญญามากมายที่เกี่ยวข้องกับปลา ต้องเงียบเหงาแบบในปัจจุบัน
เหตุแห่งความเสื่อมทั้ง 4
ถนน เกาะหดตัว หน่วยงานทับซ้อน และประตูระบายน้ำ
ในการเกิดขึ้นของอารยธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ชุมชน เมือง จนถึงอาณาจักร ใด ๆ ก็ตาม ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จู่ ๆ จะเกิด ก็สามารถเกิดขึ้นได้เลย มันมักจะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เหมาะสมเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เช่น อาจจะเป็นเพราะพื้นที่แถบนั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หรือโรคระบาดที่ทำให้ต้องมีการอพยพ เพราะศึกสงคราม หรือเหตุผลใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่เมื่อรวมกันแล้ว มีความเหมาะสมลงตัว จนก่อเกิดเป็นอารยธรรมหนึ่ง ๆ ขึ้นมา เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาที่อารยธรรมใด ๆ ก็ตามที่กำลังจะล่มสลายลง ก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญอีกเช่นกัน หากแต่เป็นเหตุปัจจัยหลาย ๆ เหตุที่เกิดขึ้น รวมกันแล้วทำให้อารยธรรมนั้นต้องเข้าสู่จุดเสื่อมถอย จนล่มสลายลงไป
สำหรับชุมชนเกาะกงแห่งนี้ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอย แม้จะยังไม่นับว่าล่มสลาย แต่ก็มีเหตุปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่พาชุมชนมาสู่จุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ ภายในระยะเวลาอีกไม่นาน เรื่องราวของชุมชน ที่มีวิถีการอยู่รวมกันกับสายน้ำของชาวเกาะกง คงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เหลืออยู่แต่เพียงในความทรงจำภายในเวลาอีกไม่ช้า
ถนน
เมื่อถึงจุดหนึ่งของความเจริญ โครงสร้างพื้นฐานหลักถูกปรับเปลี่ยน จากที่แต่ก่อนเส้นทางน้ำ ถือเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของผู้คน เมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางบกได้รับความนิยมมากขึ้น ถนนก็แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่อำเภอกงไกรลาศ และเกาะกงแห่งนี้ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานหลักถูกปรับเปลี่ยน ทำให้พื้นที่บริเวณเกาะกงที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางทางการปกครองถูกลดทอนความสำคัญลงไป เกาะกงไม่ใช่เส้นทางหลักที่ผู้คนจะเดินทางผ่านมาอีกต่อไป
เกาะหดตัว
ในสมัยก่อนพื้นที่รอบ ๆ เกาะกงยังเป็นที่นา ซึ่งในช่วงที่น้ำมาเยอะ พื้นที่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำไปด้วยในตัว แต่เมื่อถนนเข้ามา วิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกับสายน้ำก็ถูกเปลี่ยนไป มีการถมที่ยกสูงเพื่อหนีน้ำ มีการก่อแผงคอนกรีต เพื่อป้องกันน้ำเซาะแผ่นดิน ทำให้น้ำจากเดิมที่เมื่อเข้าหน้าน้ำเยอะ เมื่อถึงจุดนึง น้ำจะแผ่ขยายออกไปยังพื้นที่ด้านข้างบริเวณรอบ ๆ แต่เมื่อมีกำแพงคอนกรีตมากั้น ทำให้น้ำเหล่านั้นสะท้อนกลับมากัดเซาะตัวเกาะ จนส่งผลให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง ทำให้ตัวเกาะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน มีบ้านอย่างน้อย 5 หลัง ที่ต้องรื้อบ้าน เพื่อหนีการกัดเซาะของแม่น้ำ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านที่พอมีลู่ทาง ตัดสินใจย้ายออกจากเกาะแห่งนี้
(สภาพบ้านที่เอียงของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะกง อาจเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นถึงสถานการณ์ของชาวเกาะกงในปัจจุบัน)
หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่มีความทับซ้อน
ในช่วงเวลาปกติเกาะกงถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ แต่พอในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่มวลน้ำไหลมาจนท่วมเกาะกง พื้นที่จะตกอยู่ภายใต้การดูแลของกรมเจ้าท่า ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็เช่นกัน ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ 9 หลังคาเรือนนี้ อยู่ภายใต้พื้นที่ของ 3 หมู่บ้าน ซึ่ง 3 หมู่บ้านนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ “องค์การบริหารส่วนตำบลกง” และ “เทศบาลตำบลกงไกรลาศ”
สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ชาวบ้านอพยพจากแพมาขึ้นฝั่ง ในช่วงนั้นชาวบ้านแต่ล่ะคนก็แจ้งย้ายตามผู้นำของตนเอง จนเมื่อเวลาผ่านไป เกิดการแบ่งพื้นที่การปกครองในรูปแบบสมัยใหม่ จึงกลายเป็นความทับซ้อนอย่างในปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาชุมชนไม่เกิดความต่อเนื่อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีหลายเจ้าภาพ หลายหน่วยงานที่ดูแล ประกอบกับการที่ปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่บนเกาะเพียง 9 หลังคาเรือน 29 คน เมื่อรวมกับตัวพื้นที่ที่มักจะเจอเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องจ่ายลงไปเพื่อพัฒนาพื้นที่
ประตูระบายน้ำ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จากที่แต่ก่อนผู้คนทำการเกษตร เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงชีพสำหรับครอบครัวตัวเอง และอาจจะเหลือแบ่งให้เพื่อนบ้านบ้าง ทำให้การใช้พื้นที่ การใช้น้ำ ไม่ได้ถูกใช้มาก จนกระทั่งช่วงปี 2490 ที่ประเทศไทยเริ่มรับแนวคิดความเจริญในทางวัตถุ ส่งผลให้ผู้คนต้องการที่จะหาเงินให้ได้มากขึ้น วิถีเกษตรเชิงเดี่ยว หรือการทำนาตลอดทั้งปี ก็ได้เกิดขึ้นเพื่อสอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจดังกล่าว จนถึงจุดหนึ่งการเกษตรกลายเป็นวิถีชีวิตหลักของผู้คนในแถบนั้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อวิถีน้ำตามธรรมชาติ ไม่เพียงพอสำหรับวิถีการเกษตรที่ไม่อิงกับธรรมชาติอีกต่อไป “ประตูระบายน้ำเพื่อการเกษตร” ทั้ง 6 แห่ง จึงถูกสร้างขึ้นตลอดแนวของแม่น้ำยมสายนี้ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรในแนวทางดังกล่าว
(แนวทางวิถีเกษตรอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เรียกร้องให้ต้องมีการควบคุม จัดการ น้ำอย่างเป็นระบบ แลประตูระบายน้ำเป็นหนึ่งในวิธีการนั้น)
ผลที่ตามมาคือวิถีชีวิตของ “ปลา” ถูกปรับเปลี่ยนไป ด้วยธรรมชาติของปลาที่เป็นสัตว์ว่ายทวนน้ำ จากเดิมแม่น้ำยมไม่มีอะไรมาขวางกั้น เราอาจจะนึกถึงถนนโล่ง ๆ ที่ไม่มีไฟสัญญาณใด ๆ รถก็จะสามารถวิ่งไปได้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกันกับปลาที่ก่อนจะมีประตูระบายน้ำ ปลาก็จะสามารถว่ายได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ติดขัด จนทำให้เกิดวิถีชีวิต ภูมิปัญญาระหว่างคนกับสายน้ำขึ้นมาหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อเกิดประตูระบายน้ำขึ้น ทำให้ปลาไม่สามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระเหมือนแต่ก่อน ชาวบ้านจะได้ปลาหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการเปิด - ปิด ของประตูระบายน้ำนี้ ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงวิถีของชาวเกาะกงที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้เหมือนก่อน เพราะระดับน้ำ ขึ้นลง ไม่แน่นอน
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ปลาลดลงอีกอย่างเช่น การตัดถนนขวางทางน้ำ ทำให้ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ และอนุบาลปลาในผืนนาได้มากเหมือนแต่ก่อน , การที่กรมประมงเข้ามาเข้มงวดมากขึ้นในการจับปลาของชาวบ้าน จนไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ เป็นต้น
เมื่อการจับปลาที่เคยเป็นช่องทางในการหาเงินหลักของชาวบ้าน ไม่สามารถตอบโจทย์ในทางเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านได้ สิ่งนี้เป็นอีกสาเหตุนึงที่ทำให้คนในเกาะกงต้องอพยพออกจากตัวเกาะ เพื่อแสวงหาช่องทางรายได้อื่น ๆ ให้กับชีวิตต่อไป
(ชาวบ้านเกาะกงกับวิถีประมงพื้นบ้าน ในวันที่ปลาไม่สามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของชาวบ้านได้อีกต่อไป)
เหตุปัจจัยทั้ง 4 นี้ คงคล้ายกับมดปลวก ที่ค่อย ๆ กัดกินตัวบ้าน บ้านที่ชื่อว่า “เกาะกง” ให้ค่อย ๆ ผุพัง และล่มสลายลงอย่างช้า ๆ
ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง
เสียงอันแผ่วเบา ของชาวเกาะกง
“เพราะการใช้ชีวิตทางน้ำที่ไม่สะดวก และการหาอยู่หากินทางน้ำที่มันไม่เหมือนก่อน มันไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตเค้าได้ คนที่พอมีลู่ทาง เขาก็ย้ายหนีออกจากที่นี่กันหมด”
เสียงของของนิตยา รุ่งเรือง แม่ค้าขายน้ำ ขายไอศกรีม และร้านซักรีด รวมถึงบทบาทการเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกงมาตั้งแต่จำความได้ จวบจนเข้าสู่วัยครึ่งศตวรรษ ได้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้คนเกาะกง ต่างทยอยย้ายออกจากตัวเกาะ ก่อนจะเล่าต่อถึงสาเหตุที่ทำให้ตนเองยังคงใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกง
“คนที่ยังใช้ชีวิตอยู่บนเกาะส่วนนึงก็เพราะว่ามีพ่อแม่อาศัยอยู่บนเกาะ พ่อแม่ที่อยู่บนเกาะมาทั้งชีวิต จนกลายเป็นความผูกพันกับพื้นที่จนไม่อยากย้ายออกจากเกาะ รวมถึงตัวพี่เองที่ไม่ได้มีความต้องการทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะรายได้ที่มี ก็เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ และเราก็รู้สึกว่าที่นี่มันเป็นบ้าน ก็เลยตัดสินใจอยู่ที่เกาะต่อ”
(เรื่องเล่าของความเจริญรุ่งเรือง และผู้คนที่เคยอาศัยอยู่มากมายบนเกาะ กลายเป็นเพียงเรื่องราว ความหลังครั้งเก่าของอดีตที่ได้เคยเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้)
ด้วยสภาพภายนอกที่เปลี่ยนไปมากมาย ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่ตัวเกาะกงในวันนี้ ยังคงหยุดนิ่ง ราวกับเมื่อเกือบร้อยปีก่อน สิ่งที่พอจะเปลี่ยนไปคงเป็นทางเชื่อมระหว่างตัวเกาะกับวัดกงไกรลาศที่แต่เดิมเป็นสะพานไม้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสะพานปูน “สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือความเจริญ อย่างถนนรอบเกาะเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกในช่วงหน้าน้ำ และทำยังไงก็ได้ให้ชุมชนไม่ถูกลืม” เสียงสะท้อนของ
นิตยาที่พูดถึงความต้องการของชุมชน ก่อนจะพูดต่อ “แต่เวลาเราไปของบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ ด้วยความที่เรามีคนน้อย และยังถูกแบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน เวลาจะโหวตงบประมาณ เขาให้ยกมือโหวต คนเราน้อย มันก็ไม่ได้งบ ส่วนนึงเขาก็คิดว่าถ้าเอาเงินมาลงทุนพัฒนา มันก็เป็นเพียงประโยชน์ของคนส่วนน้อย ไม่คุ้มค่าที่จะเอางบมาลง”
(สะพานปูน จุดเชื่อมโยงเดียวระหว่างผู้คนบนเกาะกง กับคนบนผืนดิน)
เมื่อเวลาผ่านไป การรับรู้ของคนภายนอกมีให้แก่เกาะกงเหลือเพียงพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ที่ต้องคอยดูแลส่งเสบียงถุงยังชีพให้แก่ชาวบ้านในช่วงฤดูน้ำท่วม นิตยาขยายความต่อในประเด็นนี้ “เวลาหน่วยงานรัฐเขานึกถึงเรา เขาก็จะนึกถึงเราในมุมของความช่วยเหลือ ช่วงหน้าน้ำหลาก เขาก็จะเอาถุงยังชีพ เอาอาหารมาแจกเรา แต่มันแค่ชั่วคราว แค่เฉพาะหน้า เราอยากได้การพัฒนาที่ยั่งยืน และต่อเนื่อง”
จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถ้าเปรียบเกาะกงเป็นมนุษย์ เกาะกงก็คงเป็นมนุษย์ที่กำลังป่วยหนัก ลมหายใจกำลังรวยริน และกำลังเข้ารักษาแบบประคองอาการ เพื่อรอวันที่จะจากไปอย่างสงบ แต่บางทีเรื่องราวหลายอย่างในชีวิต ก็ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ คล้ายกันกับเรื่องราวของชุมชนเกาะกงแห่งนี้ เพราะในช่วงที่เหมือนชุมชนกำลังจะค่อย ๆ ดับไปนี้ ก็เกิดเหตุปัจจัยที่ไม่คาดคิดขึ้น
สายลมแห่งความหวัง
“พอดีทีมจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มาชวนทำโครงการเกี่ยวกับชุมชนต้นแบบ ซึ่งมีชุมชนหลายรูปแบบให้เลือกวิจัย และเราก็สนใจเรื่องประเด็นชุมชนเปราะบาง” ผศ.ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักวิจัยโครงการวิจัยการเสริมสร้างศักยภาพทางวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมชุมชนเพื่อความยั่งยืน เล่าถึงจุดกำเนิดที่ทำให้ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนเกาะกง ก่อนจะเล่าต่อ “ก่อนหน้านี้เราก็มีความสนใจเกี่ยวกับชุมชนที่ทำน้ำปลา ทำปลาเกลือ เราก็ลองเสิร์ช และเจอหัวข้อข่าวว่า อุตสาหกรรมปลา น้ำปลา ของเกาะกง มันเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเริ่มมีการสร้างประตูระบายน้ำ และทำให้ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ วิธีการดำเนินชีวิต น้ำแล้ง ตลิ่งทรุด จากการที่มีประตูระบายน้ำ ก็เลยคิดว่าน่าจะเข้าข่ายชุมชนเปราะบาง วันนั้นก็เลยตัดสินใจลองขับรถไปที่เกาะกง โดยที่ไม่ได้ติดต่อกับใครเลย”
การเดินทางมาของอาจารย์ฐานิดาในวันนั้น นอกจากจะได้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายสภาพมาเป็นชุมชนเปราะบางแล้ว แต่ในอีกด้านนึง ด้วยสายตาของนักมานุษยวิทยา อาจารย์ก็มองเห็นศักยภาพ เห็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเกาะกงแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ผู้คนไม่ลืมเกาะกงเหมือนที่เคยเป็นมา
“ถ้าเราลองมองด้วยมุมสายตาคนนอก เรามองเห็นอะไร ในมุมส่วนตัวเราเห็นว่า หนึ่งมันเป็นพื้นที่ที่สวย สามารถเที่ยวได้ สองมันมีประวัติศาสตร์อยู่ในตัวของมัน คือ หนึ่งมันเป็นอดีตที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ สองเคยเป็นจุดที่อยู่อาศัยของชุมชนแพ สามมันเป็นตลาดปลาเก่า เป็นแหล่งที่ทำให้คนในแถบนี้ได้เฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ จากอุตสาหกรรมน้ำปลา”
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้อาจารย์เลือกที่จะทำงานกับชุมชนเกาะกง ภายใต้โครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 - 2569
แม้ว่าช่วงเวลาอันหอมหวานในอดีตของชุมชนเกาะกงจะได้ผ่านไป และถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวที่ออกจะขมขื่นในปัจจุบัน แต่ถ้าเราลองมองดี ๆ เรื่องราวในอดีตเหล่านั้น ก็คล้ายเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และมรดกชิ้นสำคัญชิ้นนี้มีศักยภาพที่จะเป็นดั่งพาหนะนำชาวเกาะกงให้ได้มีที่ทางในการดำรงอยู่ อย่างสง่างาม ท่ามกลางโลกที่แปรเปลี่ยนไป ดังที่ทีมนักวิจัย ได้ข้อสรุปไว้ในรายงานหลังจากที่ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลากว่า 6 เดือน
“ชุมชนเกาะกงหาใช่ชุมชนที่จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใดได้ ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงลงความเห็นว่า ควรยกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชุมชนเกาะกงขึ้นมาเป็นจุดขาย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับลักษณะพิเศษจำเพาะเรื่องภูมิศาสตร์ด้านกายภาพของเกาะกง ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะกลางแม่น้ำยมด้วยแล้ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คณะผู้วิจัยเห็นร่วมกันว่า เราควรผลักดันให้เกิดการจัดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่เกาะกง”
จากที่ชุมชนเกาะกงแห่งนี้เป็นเหมือนชุมชนหลงยุค ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และรอวันที่จะล่มสลาย แต่วันนี้ได้มีกลุ่มคนที่มองเห็นคุณค่าของชุมชนแห่งนี้ และพร้อมที่จะสนับสนุน สิ่งนี้เหมือนเป็นพลังใจให้กับชาวเกาะกง
“พี่รู้สึกดีใจ ตื้นตั้นใจที่มีคนเห็นคุณค่าของพวกเรา จากแต่ก่อนคนมองว่าเราเป็นภาระ คอยรับแต่ความช่วยเหลือ” เสียงของนิตยา ที่ในวันนี้ได้กลายมาเป็นแกนนำชาวบ้านของชุมชนเกาะกง ได้บอกเล่าความรู้สึกถึงการทำงานร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
และเรื่องราวบทใหม่ของชุมชนเกาะกง ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
สายน้ำ ความหลัง คิดถึงจังเกาะกง
แม้ว่าในช่วงปี 2565 ชาวบ้านจะได้มีการรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งกลุ่มเรือนำเที่ยวอยู่ก่อนแล้ว โดยจะเริ่มนำเที่ยวในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงน้ำหลาก โดยส่วนหนึ่งเป็นการสมทบทุนโดยพระครูสุจิตรธรรม เจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศ แต่ที่สุดแล้วถึงแม้ว่าจะมีเรือนำเที่ยว แต่ถ้าไม่มีคนรู้จักสถานที่ และเข้ามาเยี่ยมชม เรือนำเที่ยวก็เปล่าประโยชน์ เพราะในการที่สถานที่ใด จะกลายเป็นแหล่งที่ดึงดูดผู้คน หรือนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยเหตุปัจจัย โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องที่จะทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่รับรู้ จนทำให้ผู้คนอยากที่จะเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ได้
และถึงแม้ในอีกด้านนึง จุดแข็งของชุมชนเกาะกงแห่งนี้คือการที่สมาชิกในตัวเกาะมีความสามัคคี อยู่อาศัยกันเหมือนญาติ มีอะไรก็คอยเกื้อกูลกันมาโดยตลอด แต่เนื่องจากปัจจุบันจำนวนสมาชิกที่อาศัยในเกาะมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนของชุมชนได้มากนัก ส่งผลให้ทางนิตยา และมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงต้องมองหาทีมสนับสนุนเพื่อมาช่วยในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังที่ได้ปรากฏอยู่ในรายงาน
“ได้มีการเชื้อเชิญให้คนในหมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 แห่งตำบลกง มาร่วมเป็นคณะแกนนำ โดยอาศัยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและความทรงจำที่มีร่วมกัน ในด้านการใช้ชีวิตอยู่เรือนแพ และการทำประมงพื้นถิ่น อันเป็นวิถีการหาเลี้ยงชีพแบบเดียวกัน มาใช้เป็นดั่งสายใยผูกสัมพันธ์ของคนในคณะแกนนำให้ทำงานร่วมกันด้วยดี”
ด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มคณะทำงานจากชาวบ้านพร้อมกับการมีที่ปรึกษาที่คอยสนับสนุน ทำให้การรื้อฟื้นชีวิตชุมชนเกาะกงเป็นไปอย่างแข็งขัน ผ่านการรวบรวม เรียบเรียงมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนเกาะกง ผ่านการเล่าเรื่อง ภาพถ่ายโบราณ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน
เมื่อได้มีการตั้งกลุ่มคณะทำงานแล้ว ทางกลุ่ม และทางมหาลัยพี่เลี้ยงได้มีการพูดคุยถึงแนวทางขับเคลื่อนฟื้นฟูชุมชนเกาะกงขึ้น จนได้ข้อสรุปว่าการที่จะไม่ให้ผู้คนลืมชุมชนเกาะกงนั้น จะต้องมีการจัด “กิจกรรมบางอย่าง” เพื่อดึงดูดให้คนได้เข้ามา ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกาะกงเป็นที่รู้จักมาขึ้นตามความตั้งใจ และเมื่อรวมกับความเป็นจริงที่ว่า ทีมพี่เลี้ยงจะมีระยะเวลาในการเข้ามาทำงานเพียงแค่ 5 ปี ดังนั้นถ้าพูดในเรื่องของความยั่งยืนสุดท้ายแล้ว จะอย่างไรชุมชนก็จะต้องยืนได้ด้วยตัวเอง โดยการที่ชุมชนจะยืนได้ด้วยตนเอง ยังไงก็คงหนีไม่พ้นการร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานท้องถิ่นที่ใกล้ชิดที่สุดที่ดูแลชุมชนแห่งนี้ก็คงหนีไม่พ้น “องค์การบริหารส่วนตำบลกง” (อบต.กง)
เมื่อมีองค์ประกอบอย่าง คณะทำงานจากคนในพื้นที่ ที่รู้ความต้องการของตัวเองและทิศทางที่ชัดเจน มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ มีผู้ให้คำแนะนำปรึกษา สิ่งนี้เหล่านี้เมื่อมาประกอบกัน ก็ทำให้เห็นความเป็นไปได้และเกิดเป็นพลังที่จะผลักดันให้ชุมชนเกาะกงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เมื่อไปเสนอทาง อบต.กง ความพร้อม และความชัดเจนนี้ ส่งผลให้ทาง อบต.กง เห็นภาพร่วมกันกับกลุ่มคณะทำงาน และพร้อมที่จะสนับสนุน แม้จะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งงบประมาณ แต่ทางนายก อบต.กง อย่าง นายสนั่น เส็งเข็ม ก็ช่วยประสานงานเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น ทั้งผ่านการสนับสนุนทุนส่วนตัวบางส่วน รวมถึงการที่ อบต.กง เข้ามามีบทบาทในการช่วยจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับความร่วมมือในการจัดงาน และประชาสัมพันธ์ทั้งจากวัดกงไกรลาศ และเทศบาลตำบลกงไกรลาศ จนเกิดเป็นงาน “สายน้ำ ความหลัง คิดถึงจังเกาะกง” ที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2566
การจัดงานครั้งนี้คล้ายเป็นการคืนชีวิตใหม่ให้กับเกาะกงอีกครั้งหนึ่ง กิจกรรมภายในงานมีทั้งการจัดนิทรรศการเล่าประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชาวเกาะกง มีการออกบูธขายของ การรำไททรงดำ รำวงมหาดไทย การแสดงเพลงสุโขทัยธานี และที่สำคัญคือการ “ประกวดธิดาน้อยเกาะกง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กหญิงอายุ 5 - 10 ปี มาแสดงความสามารถ
กิจกรรมเหล่านี้ได้ดึงดูดผู้คนกว่าร้อยชีวิตให้ได้ย้อนรำลึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอดีต มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่ให้ความสนใจมาร่วมงาน อย่างนายอำเภอกงไกรลาศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เป็นต้น กลายเป็นว่างานนี้ได้เปิดพื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่น ได้เข้ามาเห็นศักยภาพของพื้นที่เกาะกง รวมถึงปัญหาร่วมกัน ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาเกาะกงต่อไป
แน่นอนว่าเราไม่สามารถคาดหวังว่าเกาะกงจะสามารถพลิกโฉมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่รู้จักได้ด้วยการจัดงานเพียงครั้งเดียว แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานรัฐได้เห็นถึงการมีอยู่ของเกาะกง ซึ่งในท้ายที่สุดผลตอบรับของงานที่เป็นไปได้ด้วยดี ก็ส่งผลให้การจัดงานนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานของทาง อบต.กง ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วหายไป แต่หลังจากนี้จะมีทุนสนับสนุนเป็นประจำจากทางอบต.กง และงานนี้จะกลายเป็นงานประจำปีของชาวเกาะกงนับจากนี้
ทาง อบต.กง วางไว้ว่างานประจำปีที่จะจัดนี้ จะจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีงานบุญสำคัญประจำปี คือ งาน “เพ็ญเดือน 4” ของวัดกงไกรลาศ ซึ่งเป็นงานที่ลูกหลานชาวเกาะกง และ ชาวกงไกรลาศจะกลับมาทำบุญ และเยี่ยมเยียนบ้านเกิดของตนเอง จึงกลายเป็นที่มาของชื่องานว่า “คิดถึงจังเกาะกง” ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2567 เป็นครั้งแรก
“พี่รู้สึกว่าพี่ได้พัฒนาตนเอง ได้มองเห็นทิศทางของชุมชนที่จะไปต่อ และรู้ลำดับขั้นในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐรู้ว่าต้องไปคุยกับใคร กับหน่วยงานไหน รวมถึงจากแต่ก่อนที่เราต้องวิ่งเข้าหาหน่วยงานต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาขอดูงาน เอางบประมาณมาพัฒนาพื้นที่เกาะกงมากขึ้น” นิตยาในฐานะแกนนำขับเคลื่อนชุมชน เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากร่วมงานกับศูนย์มานุษฯ มาเป็นระยะเวลา 3 ปี
ในยุคสมัยที่สังคมแห่งความเป็นเมืองกำลังเป็นชุดความคิดหลัก ผู้คนถูกดูดเข้าไปในเมืองใหญ่ เพื่อแสวงหาชีวิตที่อิงกับปัจจัยทางเศรษฐกิจตามที่มาตรฐานสังคมบอกว่าดี ความเป็นท้องถิ่นถูกทำให้ด้อยค่า ถูกทำให้เป็นเรื่องล้าหลัง ในแง่นี้การอยู่รอดของชุมชนเกาะกงในฐานะแหล่งท่องเที่ยว อาจจะไม่ใช่คนในเกาะกงเองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่อาจเป็นชาวตำบลกง หรืออาจขยายไปสู่อำเภอกงไกรลาศด้วยที่อาจจะได้รับประโยชน์จากการดิ้นรนของชุมชนเกาะกงนี้
สุดท้ายนี้แม้เรื่องราวในบทความนี้จะจบลง แต่ชีวิตของชาวชุมชนเกาะกงจะยังคงดำเนินต่อไป คล้ายเป็นภาพยนต์ที่ยังไม่ถึงตอนจบ เราไม่อาจจะรู้ได้ว่าในท้ายที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่พยายามลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้บ้านของตนเอง ต้องถูกเลือนหายไปกับกาลเวลานี้ จะสำเร็จหรือไม่ หรือเราอาจคิดต่อได้ว่า ถ้าชุมชนสามารถรอดจากการล่มสลาย เพราะมีการปรับตัวโดยใช้ทุนวัฒนธรรม แปลงตัวเองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้สำเร็จแล้ว ก็ไม่มีอะไรมารับรองว่าชุมชนแห่งนี้จะไม่เจอปัญหาอื่นตามมา แต่อย่างน้อยความพยายามที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง การไม่ยอมจำนนอยู่กับโชคชะตา ก็คล้ายเป็นแสงสว่างที่ปรากฏออกมาท่ามกลางความมืดมิด แสงนี้คงเป็นดั่งแสงแห่งความหวัง ที่อย่างน้อยก็เป็นเหตุปัจจัยที่ช่วยยืดเวลาของชุมชนแห่งนี้ออกไป ไม่ให้ชุมชนนี้ต้อง “ดับไป” ในเร็ววันนี้ และเรื่องราวของชาวชุมชนเกาะกงนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับชุมชนอีกหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับทางแยกแห่งยุคสมัย ให้ได้มีแรงลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง กับสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ของเขาหรือเธอต่อไป
(เหล่าสมาชิกชาวเกาะกง หลากหลายช่วงวัยที่ยังใช้ชีวิตอยู่บนเกาะในปัจจุบัน )
เรื่อง ก่อเกียรติ ตรีพัฒนาสุวรรณ
ภาพ สาธิตา ธาราทิศ
ป้ายกำกับ เกาะกง สุโขทัย พัฒนาชุมชน วัฒนธรรมชุมชน ก่อเกียรติ ตรีพัฒนาสุวรรณ สาธิตา ธาราทิศ สารคดีชุมชน