พื้นที่ชายน้ำ เหยื่อของวาทกรรมการพัฒนาและการจัดการแบบลดทอนย่อส่วน

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 886

พื้นที่ชายน้ำ เหยื่อของวาทกรรมการพัฒนาและการจัดการแบบลดทอนย่อส่วน

           กิจกรรมการพัฒนาของรัฐนำมาสู่การช่วงชิงทรัพยากรและการกีดกันสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง กิจกรรมการพัฒนายังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ทั้งนี้แม้ชุมชนต่าง ๆ จะมีสภาพพื้นที่ทางกายภาพ ระบบนิเวศ และวัฒนธรรมที่แต่ละชุมชนล้วนมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ริมลำธาร ไปจนถึงทุ่งราบและชายฝั่ง ภายใต้สภาพพื้นที่หลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่ “พื้นที่ชายน้ำ” หรือ “พื้นที่ริมน้ำ” ดูจะมีความซับซ้อนและมีปัญหามากกว่าพื้นที่อื่น ๆ มากเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากการอยู่บนรอยต่อระหว่างการแบ่งแยกจัดการพื้นที่แบบที่นิยมแยกกันระหว่างบกและน้ำ และการกำหนดประเภทสิทธิและอำนาจในการบริหารจัดการทั้งปัจเจกกับส่วนรวม หรือรัฐกับชุมชน


พื้นที่ชายน้ำ: ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและบริการทางนิเวศธรรมชาติ

           พื้นที่ชายน้ำ หรือพื้นที่ที่มีการบรรจบกันระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ ในที่นี้หมายรวมแบบกว้าง ๆ ได้ตั้งแต่ พื้นที่ริมขอบของแหล่งน้ำอย่างลำธาร แม่น้ำ คลอง หนอง บึง ตลอดจนขอบป่าชายเลน หาดทราย และชายฝั่งรูปแบบต่าง ๆ ในทางนิเวศวิทยา พื้นที่ชายน้ำมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งพักอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นแหล่งวางไข่และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัยและขยับไปอาศัยในแหล่งน้ำที่ลึกมากขึ้น ในทางกายภาพพื้นที่ชายน้ำมักเป็นจุดที่มีลักษณะตื้น หากเป็นแหล่งน้ำไหลก็จะเป็นจุดที่มีการไหลของน้ำเบากว่าตอนกลางของทางน้ำ พื้นที่ชายน้ำมักมีสังคมพืชหรือไม้ชายน้ำขึ้นอยู่ริมน้ำ เนื่องจากความตื้นและความแรงของกระแสน้ำที่เหมาะสมทำให้พืชเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นมาจากผืนน้ำได้ บริเวณชายน้ำเองก็มักเป็นแหล่งสะสมของเศษใบไม้ที่ร่วงจากไม้บก เป็นจุดสะสมของแบคทีเรียผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ จุลชีพหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์น้ำขนาดเล็ก การประกอบรวมกันของสรรพสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะของสิ่งที่เรียกว่า นิเวศของพื้นที่ชายน้ำ ที่พุ่มไม้ชายน้ำจะทำให้น้ำไหลช้าหรือหยุดนิ่งเมื่อเทียบกับบริเวณรอบ ๆ และมีสัตว์น้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่พึ่งพาพื้นที่ส่วนนี้ (นณณ์ ผาณิตวงศ์, 2558)

           ผู้เขียนพบว่า โดยส่วนใหญ่ชุมชนที่อยู่ติดแหล่งน้ำจะมีลักษณะร่วมกันคือ แหล่งน้ำถือเป็นสมบัติร่วมหรือสมบัติสาธารณะของชุมชน พื้นที่ป่าชายน้ำเองก็มีสถานะเป็นแหล่งอาหารสาธารณะของชุมชน ที่คนในชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในการเก็บหาผัก หรือติดตั้งเครื่องมือประมงเพื่อดักจับปลาในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือทำประมงในช่วงฤดูน้ำลด ส่วนใหญ่เครื่องมือประมงและผลผลิตถือเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคลหรือครัวเรือนในชุมชน แต่ด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมในการใช้พื้นที่ร่วมกัน รวมถึงระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่ในชุมชนมักสืบเชื้อสายร่วมกัน แนวคิดเรื่องทรัพยากรที่มาจากพื้นที่ส่วนรวมก่อให้เกิดการแจกจ่ายหรือแบ่งปันทรัพยากรที่หามาได้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่สังคมเมืองหรือพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง การครอบครองที่ดินและการแสดงความเป็นเจ้าของถูกขีดเส้นแบ่งและมีการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของสิทธิที่ชัดเจนกว่า การขยายตัวของชุมชน การเพิ่มขึ้นของประชากร และการท่องเที่ยว ล้วนส่งผลให้การครอบครองและแบ่งที่ดินชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย ในชุมชนที่มีการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ พบการครอบครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ชายน้ำสูงมากเป็นพิเศษ พื้นที่ริมน้ำเหล่านี้มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจเนื่องมาจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มักให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ และมีแหล่งน้ำอยู่ติดกับพื้นที่พักอาศัย-พื้นที่ทำกิจกรรมท่องเที่ยว มูลค่าของที่ดินริมน้ำจึงยิ่งทวีคูณอยู่แล้วทั้งในชุมชนเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำ และชุมชนที่พึ่งพาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

           โดยเฉพาะในช่วงปี 2565 ถึงปัจจุบัน ผู้เขียนพบปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ชายน้ำ อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการพื้นที่ของหน่วยงานท้องถิ่น ด้วยการที่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้มักถูกอ้างสิทธิในการบริหารจัดการโดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น หน้าที่และพันธกิจของหน่วยงานท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่ จึงเข้ามาข้องเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ชายน้ำ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนเมือง ที่นำไปสู่ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายน้ำ รวมถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศชายน้ำด้วย


การลดทอนความซับซ้อนของพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ

           ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กล่าวถึงอำนาจของการผลิตความรู้และการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการควบคุมและจัดการทรัพยากร ทรัพยากรและพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงมิติวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติถูกลดทอนความซับซ้อนลงเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการทรัพยากร (simplification) ภายใต้แนวคิดของการลดทอนย่อส่วน (reductionism) ที่หน่วยงานรัฐใช้เพื่อให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ธรรมชาติกลายเป็นเพียงระบบที่มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมือนแต่แยกออกจากกัน ถูกแบ่งแยกส่วนและปรับเปลี่ยน ดัดแปลงได้ (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2548, 13-22) การมองธรรมชาติแบบแยกส่วนภายใต้แนวคิดแบบลดทอน ได้กีดกันมุมมองและสิทธิในการบริหารจัดการของคนกลุ่มอื่น ทั้งคนพื้นที่ที่มีมุมมอง วิธีคิดในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแตกต่างจากรัฐ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐด้วยกันเองที่ถือครองศาสตร์องค์ความรู้ต่างแขนงสาขากัน การศึกษาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของการสร้างความชอบธรรมและอำนาจให้กับองค์ความรู้และหน่วยงานที่ใช้องค์ความรู้ดังกล่าว

           การขยายตัวของโครงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการกระจายงบประมาณจากศูนย์กลางออกไปสู่ท้องถิ่นเพื่อเน้นการพัฒนา ทรัพยากรน้ำในมุมมองของรัฐถูกมองว่าเป็นทรัพยากรที่ตรวจวัด ควบคุม และจัดการได้ การบริหารจัดการน้ำกลายมาเป็นพันธกิจหลักของรัฐเพื่อนำน้ำในฐานะทรัพยากรสำคัญไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แม้นิยามน้ำจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละหน่วยงานที่ถือครองและใช้องค์ความรู้แขนงต่าง ๆ แต่ในกรณีที่ผู้มีอำนาจในการจัดการคือกรมชลประทาน แม้การจัดการน้ำจะถูกมองว่าเป็นศาสตร์แห่งวิศวกรรม หรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การบริหารจัดการน้ำโดยเพิกเฉยต่อบริบทในพื้นที่ มองทรัพยากรน้ำโดยแยกขาดจากบริบทหรือทรัพยากรอื่น อีกทั้งยังสร้างปัญหาการช่วงชิงสิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรไปจากคนในพื้นที่ที่เคยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมาก่อน การจัดการหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่กายภาพเองก็ดูจะสอดคล้องกับภาพของการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นเป้าหมายของรัฐไทยและหน่วยงานท้องถิ่น ดังเช่นในงานของกนกวรรณ มะโนรมย์ ที่การจัดการแหล่งน้ำถูกมองว่าเป็นศาสตร์แห่งความทันสมัยและเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา วาทกรรมการพัฒนาจึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจและสร้างความหมายใหม่ให้กับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กายภาพ (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2565, 38-39 และ 77-78) การจัดการที่มุ่งเน้นทรัพยากรน้ำ เพิกเฉยและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับพื้นที่ ทรัพยากรอื่น ๆ และชุมชนที่เคยใช้ประโยชน์เดิม การจัดการน้ำของรัฐวางอยู่บนฐานคิดที่มองทรัพยากรน้ำเป็น “สินค้า” ที่ต้องนำมาแปลงเป็นทุนเพื่อประโยชน์เศรษฐกิจ มโนทัศน์การจัดการน้ำ หรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำล้วนขัดแย้งกับมโนทัศน์ของชุมชน (กฤษฎา บุญชัย, ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2548, 152-153)


แควหนุมาน: จากผืนป่าชายน้ำคลุมดิน สู่ตลิ่งทรายจากการขุดลอกทางน้ำ

           โครงการขุดลอกแควหนุมาน จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยมีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเคยมีข่าวลือเกี่ยวกับการทุจริตแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนจากผู้รับเหมาในการดำเนินโครงการขุดลอกแควหนุมานดังกล่าว (ไทยรัฐออนไลน์, 21 เมษายน 2563) สำหรับโครงการขุดลอกแควหนุมาน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า โดยทางกรมเจ้าท่าชี้แจงวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาทางน้ำตื้นเขิน และเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยมีการดำเนินการในลักษณะของการขุดลอกตะกอนดินและทรายที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมากองไว้บริเวณตลิ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำ โครงการดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศแควหนุมานในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ระหว่างการดำเนินการโครงการพบปัญหาตลิ่งพังทลาย ดินและทรายที่เคยถูกนำขึ้นมากองไว้ริมสองฝั่งถูกน้ำฝนชะล้างจนเริ่มไหลพังลงสู่ลำน้ำ ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งมองว่า น้ำหลากหรือน้ำท่วมเป็นปรากฎการณ์ปกติของแควหนุมาน (บ้านเมือง, 16 กรกฎาคม 2566) การอยู่อาศัยแบบยกสูงที่เกิดจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทำให้ไม่มีปัญหากับน้ำท่วมสูงหรืออุทกภัยตามที่หน่วยงานรัฐมักอ้างความจำเป็นในการทำโครงการ ทั้งนี้ เดิมริมสองฝั่งของแควหนุมานมี ต้นพงษ์ หรือต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ปกคลุมหน้าดินซึ่งช่วยป้องกันการพังทลายของคันดินริมแควหนุมานอยู่แล้ว แต่หลังจากโครงการนี้ดำเนินการขุดลอกแคว ต้นไม้ที่เคยมีอยู่ริมสองฝั่งก็หายไปและถูกแทนที่ด้วยทรายที่ถูกนำมาถมแทน แม้จะมีความพยายามปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันตลิ่งพังทลาย แต่เมื่อฝนตกก็พบว่าตลิ่งยังคงพังทลายอยู่เช่นเดิม การพังทลายของตลิ่งริมฝั่งแควหนุมานที่เกิดจากการดำเนินโครงการของกรมเจ้าท่า นำมาซึ่งความกังวลว่าการพังทลายจะขยายตัวและทวีความรุนแรงในฤดูน้ำหลากครั้งต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแควหนุมานในที่สุด (เจาะประเด็นข่าว 7HD, 16 กรกฎาคม 2566)


ลำห้วยพุเม้ยง์ และป่าริมน้ำชี เหยื่อของการพัฒนาที่ต้องการให้ทางน้ำโล่ง

           ช่วงปี 2565 ผู้เขียนเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนามที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ จังหวัดอุทัยธานี ในพื้นที่ชุมชนมีลำห้วยพุเม้ยง์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญของชุมชนหลายหมู่บ้าน ลำห้วยดังกล่าวมีต้นน้ำไหลมาจากผืนป่าตะวันตกลงสู่อ่างเก็บน้ำสมอทอง ก่อนจะไหลลงสู่ลุ่มน้ำสะแกกรังสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป การเก็บข้อมูลแบบฝังตัวอยู่ในชุมชนเป็นเวลาหลายสิบวันหลายครั้ง ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามและเรียนรู้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชน โดยลำห้วยพุเม้ยง์ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเข้าใช้ประโยชน์จากสมาชิกชุมชนสูงรองลงมาจากไร่ผักไร่ข้าวและป่าเหล่า ลำห้วยพุเม้ยง์และพื้นที่ริมลำห้วยถือเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ในช่วงเวลาที่ประสบปัญหาที่ดินกับหน่วยงานป่าไม้และหนี้สินภาคการเกษตรจากการทำไร่เชิงเดี่ยว พื้นที่ริมลำห้วยประกอบไปด้วยผักพื้นบ้านนานาชนิด ที่ชุมชนจะมาเก็บเพื่อไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน

           ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินสำรวจพื้นที่บริเวณริมลำห้วยร่วมกับสมาชิกชุมชนที่ไปเก็บหาผัก และเด็ก ๆ ในชุมชนที่มักชักชวนให้ผู้เขียนไปเล่นน้ำหรือหากิจกรรมทำในลำห้วย แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีสภาพรกชัฏ เต็มไปด้วยเศษซากไม้ที่ไหลมาช่วงฤดูน้ำป่า ก้อนหินขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กจนเดินลำบาก ลำธารที่ตื้นลึกต่างกันเป็นระยะ แต่ด้วยการอาศัยประสบการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ของสมาชิกชุมชนที่มาเก็บหาผักหาปลาเป็นประจำ ทำให้การเก็บข้อมูลง่ายขึ้นจากการเดินตามเส้นทางและคำแนะนำของชุมชน สมาชิกชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีประสบการณ์และให้ความหมายพื้นที่บริเวณต่าง ๆ ของลำห้วยต่างกันตามปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อลำห้วย สมาชิกชุมชนที่มาเก็บผักสามารถบอกผู้เขียนได้ว่าบริเวณไหนที่เป็นแหล่งผักชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ต่างกันกระจายไปตามริมลำห้วย ส่วนเด็กที่มาเล่นน้ำเป็นประจำก็สามารถบอกได้ว่าจุดไหนที่ลึกที่สุด ตื้นที่สุด น้ำไหลช้า-เชี่ยวที่สุด หรือแม้แต่บอกว่าหินก้อนไหนมีปลาอาศัยอยู่มากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุเม้ยง์กับลำห้วยพุเม้ยง์จึงสะท้อนได้จากองค์ความรู้ในพื้นที่ ที่เกิดจากประสบการณ์ในการเข้าใช้ประโยชน์ทรัพยากรต่าง ๆ ในลำห้วย

           ทั้งนี้ ในทัศนะของชาวกะเหรี่ยงพุเม้ยง์ ทรัพยากรต่าง ๆ นอกเหนือจากร่างกายถือเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถถือกรรมสิทธิหรือแสดงความเป็นเจ้าของได้ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรส่วนรวมไม่สามารถถือสิทธิในการแสดงความเป็นเจ้าของ หรือใช้ประโยชน์ได้ตามอำเภอใจ ความอุดมสมบูรณ์ของผักและปลาที่อยู่ริมลำห้วย มาจากความเมตตาของเทพเจ้าแห่งน้ำและผืนดินตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงจึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่จำเป็น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่เน้นการเก็บเกี่ยวแทนการเพาะปลูกในพื้นที่ส่วนรวม ที่การทำเกษตรกรรมจะพ่วงมาด้วยสิทธิในการเป็นเจ้าของ พื้นที่ริมลำห้วยเองยังเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับเด็ก ๆ ในชุมชนที่มาเล่นน้ำ จับปลา หรือหากิจกรรมทำในช่วงเลิกเรียนหรือปิดเทอม และเป็นพื้นที่ในการนำเสนอตัวตนของเด็กแก่คนภายนอก ที่เด็กมักจะเชิญคนนอกชุมชนที่เริ่มมีความสนิทสนมคุ้นเคยในระดับหนึ่ง มาเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมร่วมกันกับพวกเขา

           อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2565 พื้นที่ลำห้วยพุเม้ยง์ส่วนหนึ่งถูกขุดลอกลำห้วยโดยหน่วยงานท้องถิ่น จากการสัมภาษณ์สมาชิกชุมชนเกี่ยวกับการขุดลอกลำห้วยได้การว่า ทางหน่วยงานท้องถิ่นดำเนินโครงการขุดลอกคูคลอง(ลำห้วย) เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก จากการที่ทางหน่วยงานมาสำรวจพื้นที่แล้วพบว่า ลำห้วยเต็มไปด้วยขยะอันได้แก่เศษซากไม้และก้อนหินที่กีดขวางลำน้ำ ส่งผลให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควร จึงตั้งโครงการขุดลอกคูคลองเพื่อให้น้ำป่าระบายลงสู่อ่างเก็บน้ำได้ดีขึ้น การขุดลอกคูคลองส่งผลกระทบให้พื้นที่กายภาพในลำห้วย ทั้งทางน้ำและพื้นที่ชายน้ำถูกแปรสภาพเป็นคลองกว้างและมีตลิ่งสูงชัน จากการขุดลอกคูคลองและนำดินหินที่ได้มาทำเป็นตลิ่งริมลำห้วยอีกทีหนึ่ง ภายหลังการขุดลอก พืชผักที่เดิมเคยหาได้ในพื้นที่ก็หายไป ชาวบ้านเลิกหาผักในบริเวณนี้และไปหาบริเวณอื่นแทน รวมถึงเด็ก ๆ ที่เลิกเล่นน้ำในบริเวณนี้ด้วย การทำลำห้วยให้โล่งจึงมองทรัพยากรอื่น ๆ ว่าเป็นสิ่งกีดขวางการระบายน้ำที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการ และสมควรถูกกำจัดออกไปเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วง โดยเมินเฉยต่อความสำคัญและความหลากหลายของระบบนิเวศชายน้ำ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบริเวณชายน้ำของสมาชิกชุมชน ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคูคลอง ชาวพุเม้ยง์จึงได้ประชุมร่วมกันและได้ข้อสรุปว่าจะปฏิเสธโครงการขุดลอกคูคลองที่อาจจะเข้ามาในชุมชนอีกในอนาคตเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

           การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำแบบคาดหวังเปลี่ยนสภาพพื้นที่เพียงเพื่อการระบายน้ำยังสร้างปัญหาระยะยาวต่อพื้นที่และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ช่วงเดือนมกราคม 2567 ผู้เขียนเดินทางไปชุมชนท่าม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด สมาชิกชุมชนที่มีที่ดินติดกับแม่น้ำชี เล่าถึงปัญหาจากการขุดลอกแม่น้ำชีเพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำของกรมชลประทาน เดิมแม่น้ำชีบริเวณที่ไหลผ่านชุมชนมีลักษณะท้องน้ำตื้น มีแอ่งและเนินทรายอยู่ใต้ท้องน้ำ ภายหลังโครงการขุดลอกแม่น้ำเพื่อให้แม่น้ำลึกขึ้น หน่วยงานที่รับขุดลอกได้นำเอาทรายซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากการขุดลอกมาถมทิ้งไว้ตามริมตลิ่งที่เคยเป็นพื้นที่บุ่งทาม ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ชุมชนทำประมงเนื่องจากเมื่อครั้งเป็นป่าริมน้ำ ช่วงฤดูน้ำหลากจะมีปลาเข้ามาหลบอาศัยเพื่อหนีจากกระแสน้ำเชี่ยวเป็นจำนวนมาก การถมตลิ่งด้วยทรายทำให้พื้นที่ชายน้ำหายไป อีกทั้งทำให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำชียากขึ้นจากความลึกของแม่น้ำและไหลเชี่ยวมากขึ้น ถึงขั้นที่มีกรณีเด็กในชุมชนเสียชีวิตจากการลงไปเล่นน้ำและจมน้ำ ภายหลังที่มีการขุดลอกแม่น้ำชีเสร็จสิ้นแล้ว

           จากการสำรวจพบว่าพื้นน้ำที่อยู่ติดกับชายฝั่งแม่น้ำมีลักษณะถูกขุดลอกนำทรายมาถมที่ตลิ่งฝั่งชุมชน บริเวณที่สำรวจมีร่องรอยของการพังทลายของตลิ่งทรายอันเป็นผลจากฤดูน้ำหลากเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ส่วนในแม่น้ำชี จากการทดสอบหย่อนไม้ไผ่ลงไปเพื่อวัดความลึก พบว่าแม้จะเป็นพื้นที่ริมน้ำแต่มีความลึกมากกว่า 2 เมตร และมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวบริเวณริมตลิ่งมากเป็นพิเศษ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ชาวประมงในพื้นที่ทำให้ทราบว่า บริเวณตอนกลางของแม่น้ำจะตื้นมากกว่าริมตลิ่ง เนื่องจากการขุดลอกทำแค่บริเวณริมชายฝั่งเท่านั้น ไม่ได้ทำบริเวณกลางน้ำ สมาชิกชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ริมแม่น้ำชีเองก็กังวลปัญหาตลิ่งริมน้ำจะพังทลายต่อไปเรื่อย ๆ ทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก รวมถึงการสูญเสียพื้นที่สันทนาการของเด็กในชุมชน ที่แม่น้ำชีบริเวณชุมชนในปัจจุบันนั้นลึกและเชี่ยวกรากเกินกว่าเด็กจะลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย


น้ำโขงผันแปร วิถีชีวิตริมโขงแปรเปลี่ยน

           ณ ปัจจุบัน แม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ การสร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขงส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำโขงทั้งระบบ ทุกประเทศและชุมชนริมฝั่งตลอดจนในลุ่มน้ำโขงต่างได้รับผลกระทบจากการลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น ในกรณีของบ้านตามุย จังหวัดอุบลราชธานี เช่นเดียวกันกับชุมชนอื่น การมาถึงของเขื่อนหมายถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากรน้ำที่มนุษย์มีชัยเหนือฤดูกาลไหลเวียนของน้ำในธรรมชาติ ชุมชนตามุยเผชิญปัญหาความมั่นคงทางอาหารจากการสูญเสียการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมน้ำโขงช่วงฤดูน้ำลดในการทำเกษตรกรรมปลูกผักและนาข้าวที่เรียกว่า นาแซง ที่ชุมชนสรุปว่าเป็นผลกระทบจากเขื่อนที่ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทั้งน้ำขึ้นในฤดูแล้งและน้ำลงในฤดูฝน

           การผันแปรของน้ำเป็นปัญหาต่อการทำเกษตรกรรมและประมงในพื้นที่ชายน้ำ ที่นอกเหนือจากด้านเกษตรกรรมแล้ว พื้นที่ริมน้ำโขงยังมีสถานะเป็นบุ่ง ที่ในทางนิเวศถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาหารให้กับสัตว์น้ำนานาชนิด ที่จะเข้ามาหาอาหารและวางไข่ ที่มนุษย์ก็สังเกตและผลิตองค์ความรู้และทำประมงในพื้นที่บุ่งตามฤดูน้ำเยอะอีกต่อหนึ่ง ทว่าในปัจจุบันระบบนิเวศในพื้นที่บุ่งริมโขงเสียหายไปมาก ไม้ยืนต้นที่เคยอยู่ในพื้นที่บุ่งของชุมชนทยอยยืนต้นตายจนสูญพันธุ์ไปจากชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่วันที่ชุมชนเริ่มเผชิญกับผลกระทบจากเขื่อน คำปิ่น อักษร สมาชิกชุมชนตามุย ให้ข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในธรรมชาติและในการทำเกษตรกรรมริมฝั่งโขงของมนุษย์ลดลงไปจากอดีตก่อนจะได้รับผลกระทบมากถึง 70 เปอร์เซ็นโดยประมาณ

           ปัจจุบันชุมชนตามุยเพิ่งสูญเสียนาแซงผืนสุดท้ายของชุมชนที่บุ่งมาด จากการเปลี่ยนแปลงที่แม่น้ำโขงพัดพาแต่ทรายมาเพียงอย่างเดียวโดยไร้ตะกอนดินอันเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญในการทำเกษตรกรรม การปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ก็ไม่สามารถทำได้ การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ชายน้ำโขงเผชิญกับความไม่แน่นอนจน คำปิ่น เรียกว่าเป็นการทำเกษตรกรรมแบบตามยถากรรม ที่ชุมชนไม่สามารถคาดเดาหรือควบคุมระดับน้ำในลำน้ำโขง ซ้ำร้ายพื้นที่เกษตรกรรมริมน้ำโขงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วยังถูกกรมเจ้าท่าสร้าง “ตลิ่งกันทรุด” ทับเมื่อปี 2557 ที่รัฐทำเพื่อป้องกันปัญหาตลิ่งพังทลายจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล (ธนพร ศรีสุกใส และคำปิ่น อักษร, 2560, 31-40)

           การทำช่องน้ำไหลที่ตลิ่งกันทรุดก็ไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ต้องระบายในพื้นที่จนเกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านหลังทางเดิน รวมถึงเปลี่ยนแปลงพื้นที่สันดอนทรายริมน้ำโขงทำให้เกิดทางน้ำและแอ่งน้ำใหม่ที่ไม่สามารถเดินทะลุเชื่อมกันได้เพราะทางน้ำที่เกิดจากตลิ่งกันทรุด ที่คำปิ่นมองว่า โครงการตลิ่งกันทรุดเป็นโครงการแบบสูตรสำเร็จที่นำมาใช้โดยไม่คำนึงถึงการปรับให้เข้ากับบริบทสภาพพื้นที่ และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นตออันมีที่มาจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไม่ตรงตามฤดูกาล

           ส่วนการทำประมงก็เผชิญปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรลดลง สวนทางกับปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนที่ชุมชนหวังพึ่งพาความมั่นคงทางอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น การผันแปรของน้ำโขงทำให้องค์ความรู้เชิงพื้นที่เกี่ยวกับแหล่งจับปลาไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่และการหายไปของปลาในหลายพื้นที่ ปัจจุบันชาวประมงในแม่น้ำโขงเผชิญปัญหาการแย่งปลา อันเกิดจากปริมาณปลาไม่พอที่จะหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้ ดังคำกล่าวที่ว่า

           “เมื่อก่อนปลาหลายตัวเลี้ยงคนคนเดียว ปัจจุบันปลาตัวเดียวเลี้ยงหลายคน” –คำปิ่น อักษร


กำแพงกันคลื่น: ตำกำแพงละลายชายหาด

           จุดเปลี่ยนของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการสูญหายของหาดทรายที่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ภายหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้การทำโครงการกำแพงกันคลื่นไม่ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยเหตุผลด้านความคล่องตัวในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ ในหนังสือ กำแพงกันคลื่นกลืนชายหาด ให้มันจบที่รุ่นเรา (2566) ของอภิศักดิ์ ทัศนี และสมปรารภนา ฤทธิ์พริ้ง กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายแห่งทั่วประเทศ และการก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ปกป้องชายฝั่งทะเลจากโครงการพัฒนาของรัฐที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ในหลายพื้นที่กำแพงกันคลื่นถูกสร้างขึ้นโดยหน่วยงานที่ถือครองศาสตร์และความรู้ทางวิศวกรรมทางบกอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง อันเนื่องมาจากพื้นที่บริเวณริมชายฝั่งเหล่านี้มักมีการก่อสร้างถนนเลียบชายหาด ทำให้พื้นที่ชายฝั่งตกอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรมเจ้าท่าที่รับผิดชอบและถือครองความรู้ในการบริหารจัดการทางน้ำ การบริหารโครงการและการพึ่งพาหน่วยงานรัฐแตกต่างกันไปตามการขอความช่วยเหลือของหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเช่นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ทำหนังสือขอความช่วยเหลือสนับสนุนโครงการปกป้องชายฝั่ง

           อย่างไรก็ตาม โครงการกำแพงกันคลื่นที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อปกป้องชายฝั่ง กลับนำมาสู่ความสูญเสียของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของชายฝั่งเสียเอง โดยเฉพาะพื้นทีที่อยู่ด้านหลังกำแพงถูกกัดเซาะพังทลายอย่างรุนแรง รวมถึงพื้นที่ตอนท้ายของกำแพงกันคลื่นเป็นต้นไปที่การกัดเซาะชายฝั่งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าตอนไม่มีกำแพงเสียอีก ที่ท้ายที่สุดแล้วชุมชนและนักเคลื่อนไหวหลายคนมองว่า หน่วยงานรัฐผู้ทำโครงการไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของชายฝั่งทะเลที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล แต่โครงการพยายามทำให้ชายฝั่งเป็นทรัพยากรที่หยุดนิ่ง ถูกดัดแปลงแก้ไขได้ ส่วนชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการเองก็ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายเนื่องจากโครงการหลายแห่งไม่มีการทำ EIA ทำให้ชุมชนต้องเป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและดำเนินการฟ้องร้องเอง

           ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างกำแพงกันคลื่นที่เห็นผลหลายแห่งและเสียงร้องเรียนของคนในสังคมที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ความพยายามในการผลักดันโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นใหม่ๆ ยังคงไม่มีท่าทีจะลดลง เบื้องหลังการจัดวางตำแหน่งความรู้ในการทำโครงการที่ผิดพลาดจนนำไปสู่การพังทลายของชายฝั่งและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ชุมชนได้รับ อาจมีความเกี่ยวข้องกับการอ้างศาสตร์และอำนาจในการใช้ความรู้ที่ผูกขาดกับหน่วยงานรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้งบประมาณแผ่นดินอันเป็นต้นทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นที่มาของการเพิ่มจำนวนโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ โดยก่อนกำแพงกันคลื่นจะถูกยกเลิก EIA ในปี 2556 ทั้ง 2 หน่วยงาน(กรมการท่าและกรมโยธาธิการฯ) ใช้งบประมาณก่อสร้างกำแพงกันคลื่นราว 1,992 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น 10 ปี (2556-2566) โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ไม่ต้องทำ EIA กำแพงกันคลื่นทั้งหมดกว่า 125 โครงการ ใช้งบประมาณไปมากถึง 8,487 ล้านบาท และหลังปี 2566 กรมโยธาธิการและผังเมืองกลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการทำกำแพงกันคลื่นมากที่สุด (ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ใน อภิศักดิ์ ทัศนี และสมปรารภนา ฤทธิ์พริ้ง, 2566, 196-203)

           ที่ผ่านมา ระบบนิเวศพื้นที่ชายน้ำทั้งหลายเหล่านี้มักถูกคิดบนฐานพื้นที่บกหรือไม่ก็น้ำจากการถูกแบ่งแยกการจัดการทรัพยากรโดยรัฐเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ พื้นที่ชายน้ำในฐานะรอยต่อของพื้นที่บกและน้ำ (ecotone) จึงกลายเป็นชายขอบที่ไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการเฉพาะเป็นของตนเอง การบริหารจัดการจึงออกมาในแบบของพื้นที่บกประชิดกับพื้นที่น้ำ โดยมองไม่เห็นพื้นที่ชายน้ำเหล่านี้ ในขณะเดียวกันการบริหารจัดการพื้นที่ที่ขาดความเข้าใจและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนองค์ความรู้ชุมชนในพื้นที่ชายน้ำเองก็สร้างปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว โครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายน้ำที่อวดอ้างสรรพคุณการพัฒนาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น กลับกลายเป็นยาพิษที่สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสูญเสียงบประมาณไปอย่างไม่เกิดผลสำเร็จเท่าที่ควร เรียกได้ว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยแท้


อ้างอิง

นณณ์ ผาณิตวงศ์. 2558. ที่ชายน้ำ. siamensis.org. จาก http://www.siamensis.org/article/40114.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 2548. ความรู้กับการเมืองเรื่องทรัพยากร. กรุงเทพฯ: ศูนย์ฯ.

กนกวรรณ มะโนรมย์. 2565. ภววิทยาแม่น้ำโขง: เขื่อน น้ำของ และผู้คน. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

เจาะประเด็นข่าว 7HD. 2566, 16 กรกฎาคม. ชาวบ้านเดือดร้อน ตลิ่งแควหนุมาน พังเกือบถึงบ้าน จ.ปราจีนบุรี. จาก https://news.ch7.com/detail/657800.

บ้านเมือง. 2566, 16 กรกฎาคม. ชาวบ้านร้องโครงการขุดลอกแควหนุมานต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีบางแห่งตลิ่งพัง. จาก https://www.banmuang.co.th/news/region/336962.

ไทยรัฐออนไลน์. 2563, 21 เมษายน. ผู้ว่าปราจีนฯ ฟ้อง 'อัจฉริยะ' แฉคลิปเอี่ยวรับเงินแควหนุมาน. จาก https://www.thairath.co.th/news/local/central/1826061.

อภิศักดิ์ ทัศนี และสมปรารภนา ฤทธิ์พริ้ง. 2566. กำแพงกันคลื่นกลืนชายหาด ให้มันจบที่รุ่นเรา. สงขลา: มูลนิธิภาคใต้สีเขียว.

ธนพร ศรีสุกใส และคำปิ่น อักษร. 2560. สถานะความมั่นคงทางอาหารของชุมชนริมโขง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง กรณี หมู่บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี. เชียงใหม่: สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง


สัมภาษณ์

คำปิ่น อักษร. 19 มีนาคม 2567. ผลกระทบจากการสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมริมน้ำโขง


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นที่ชายน้ำ วาทกรรม การพัฒนา การจัดการแบบลดทอนย่อส่วน ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share