มานุษยวิทยาตำรวจ Anthropology of Police
นักมานุษยวิทยากับตำรวจ
การศึกษาตำรวจยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา (Fassin, 2006) และมีกรอบคิดที่ต่างไปจากรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา และอาชญวิทยา เนื่องจากศาสตร์ของมานุษยวิทยาเติบโตขึ้นด้วยการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยและคนชายขอบได้มีพื้นที่ทางสังคมที่กว้างขึ้น เสมือนเป็นการยืนเคียงข้างกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและถูกเอารัดเอาเปรียบ (Robbins, 2013) ทำให้วิธีการศึกษาเน้นทำความเข้าใจประสบการณ์และความคิดของผู้คนที่หลากหลาย (Karpiak, 2016) ในกรณีของการศึกษาชีวิตของตำรวจ สิ่งสำคัญคือการก้าวข้ามความเคยชินกับความเชื่อที่ว่าตำรวจคือผู้ใช้อำนาจข่มเหงและเอาเปรียบผู้อื่น หรือมองตำรวจในฐานะคนที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น แต่ความเชื่อนี้มักบดบังความเข้าใจและอาจมองข้ามมิติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับตำรวจ แนวทางศึกษาตำรวจเชิงชาติพันธุ์วรรณนาและการใช้ศาสตร์แบบสหสาขาวิชามาเป็นส่วนสร้างความรู้ คือสิ่งท้าทายอันดับแรกของนักมานุษยวิทยา
การศึกษาเปรียบเทียบทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับนักมานุษยวิทยา เพราะทำให้เข้าใจว่าการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในชุมชนของมนุษย์แต่ละแห่งมีเงื่อนไขและประวัติศาสตร์ต่างกันอย่างไร ในกรณีของตำรวจ ประเด็นที่เกี่ยวข้องจะมีเรื่องของกฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ สถาบันตำรวจเป็นพื้นที่เชิงอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบทางสังคมและการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้น บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เกิดสถาบันตำรวจย่อมจะเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจ พรมแดนอำนาจเป็นประเด็นที่นักวิชาการหลายสาขามักจะใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์สังคมของตำรวจ มุมมองเชิงวิพากษ์ของอาชญวิทยาพยายามชี้ให้เห็นว่าตำรวจสัมพันธ์กับการใช้อำนาจในรูปแบบไหน เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมประเภทไหนที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้อำนาจของตำรวจ วิธีคิดและการปฏิบัติงานของตำรวจเกิดขึ้นจากกฎระเบียบและบทบาทหน้าที่อย่างไร (Ferrell et al., 2008; Hayward & Young, 2004; Young, 2011) จะเห็นว่าตำรวจมีวิธีกระทำกับสิ่งต่าง ๆ บนเงื่อนไขเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีวัฒนธรรมการแสดงอำนาจที่หลากหลาย
นักมานุษยวิทยาที่พยายามเข้าไปศึกษาเรื่องราวของตำรวจ เช่น การเก็บข้อมูลในเรือนจำทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อจำกัดทางวิธีวิทยาและกรอบแนวคิดทฤษฎี (Cunha, 2014; Drybread, 2014) ทำให้เห็นขอบเขตทางจริยธรรมและผลกระทบของการเปิดเผยความลับ (Penglase, 2009) ทำให้เกิดการตรวจสอบระบบเหตุผล ความรู้ของชาติ อุดมการณ์การเมือง และความทันสมัยที่มีผลต่อการลงโทษและคุมขังมนุษย์ (Comaroff & Comaroff, 2004; Parnell, 2003) การตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์และทฤษฎีที่มักตัดสินพฤติกรรมของมนุษย์แบบขาวกับดำ ซึ่งตำรวจมักจะถูกมองในเชิงลบและเป็นภาพแทนของกลุ่มคนที่ใช้อำนาจไร้ขอบเขต ตัวอย่างการศึกษาสังคมบาหลีในประเทศอินโดนีเซียของ Clifford Geertz (1973) ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากกับตำรวจ เพราะตำรวจจะเข้ามาจับกุมและกวาดล้างการชนไก่ของชาวบ้าน ทำให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้ง Karpiak (2010) ชี้ว่าความสัมพันธ์ที่นักมานุษยวิทยามีกับตำรวจในกรณีนี้ค่อนข้างเปราะบางและคล้ายกับคู่ขัดแย้ง ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิธีปฏิบัติของตำรวจที่มีต่อคนกลุ่มน้อยและผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าทางสังคม ส่งผลให้นักมานุษยวิทยาสนใจมิติของการใช้อำนาจที่ตำรวจกระทำต่อคนท้องถิ่นและคนชายขอบ
รื้อความหมายของตำรวจ
การศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่ผ่านมามีส่วนเกี่ยวข้องกับตำรวจและสถาบันตำรวจโดยใช้กรอบคิดของFoucault (2009) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจและวิธีการจัดระเบียบทางสังคม นักมานุษยวิทยาบางคนมองตำรวจด้วยแนวคิดชุมชนและวัฒนธรรม เพื่ออธิบายว่าสังคมของตำรวจมีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์อย่างไร ผู้ที่เป็นตำรวจแสดงตัวตนและสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มของตัวเองอย่างไร (Loftus, 2010) ปัจจุบัน เมื่อมีการวิพากษ์แนวคิดเรื่องวัฒนธรรม ทำให้เกิดการรื้อความเข้าใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่คงที่ของวัฒนธรรม รวมทั้งการข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่หลากหลายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนอัตลักษณ์ ทำให้แนวทางศึกษาตำรวจหันมาสนใจปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่ง ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจเช่น ความไม่ลงรอยกันของตำรวจซึ่งมีแนวปฏิบัติและวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างตำรวจที่มีตำแหน่งและฐานที่ไม่เท่ากัน วิธีการที่ตำรวจปฏิบัติต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ภายใต้กฎระเบียบและการใช้อำนาจที่ต่างกัน รวมทั้งการเงื่อนไขทางเชื้อชาติและความต่างทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ (De Genova, 2002; Mutsaers, 2014; Taylor, 2013) รวมถึงการศึกษาบทบาทหน้าที่เชิงสร้างสรรค์ที่ตำรวจมีต่อชุมชนและสังคม เพื่อทำความเข้าใจว่าสถาบันตำรวจตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างไร (Feldman, 2010; Paperman, 2003)
ประเด็นต่อมาคือการเรียกร้องสิทธิ์ภายใต้ระบอบอำนาจที่มีกฎระเบียบและข้อบังคับที่เข้มงวด ประชาชนและคนกลุ่มต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับผู้ใช้กฎอย่างไร ในขณะเดียวกันผู้บังคับใช้กฎหมายเช่นตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างไรภายใต้การเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น (Lakoff, 2008) ระบอบของการใช้อำนาจยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐที่ใช้อำนาจผ่านตำรวจ ตำรวจอาจเป็นเครื่องมือของรัฐในการติดตามสอดส่องและควบคุมการปฏิบัติของประชาชน เช่น กรณีโรคระบาด รัฐประกาศปิดพื้นที่และใช้ตำรวจตรวจตระเวนพื้นที่เข้าออก ที่สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิตของประชาชน (Fearnley, 2008; Lakoff & Collier, 2008) ในการศึกษาของ Craze and Stalcup (2011) ชี้ให้เห็นว่าความมั่นคงของรัฐที่ปรากฎอยู่ในนโยบายและมาตรการต่อต้านการ ก่อการร้าย ทำให้เกิดการใช้อำนาจของตำรวจในฐานะผู้ควบคุมความสงบและผู้ที่จับกุมผู้ก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่กลุ่มมุสลิมถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของประเทศตะวันตกกับกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งมิใช่ความขัดแย้งในระดับปัจเจก แต่เป็นการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ซับซ้อน Stewart (2013) กล่าวว่าปัจจุบันตำรวจใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและควบคุมสังคม ซึ่งทำให้ตำรวจมีศักยภาพมากขึ้นในฐานะผู้ใช้อำนาจ
Penglase (2013) กล่าวว่าความหมายของ “ตำรวจ” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่มีตำแหน่งและสังกัด แต่ขอบเขตของตำรวจเป็นสิ่งที่เคลื่อนตัวและมีพลวัต ทำให้การศึกษาหันมาสนใจ “กระบวนการเป็นตำรวจ” (policification) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกที่ซับซ้อนที่สร้างการสั่งการและการควบคุมตรวจสอบมนุษย์ กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่สามารถนำคู่ตรงข้ามระหว่าง “ตำรวจ/ประชาชน” มาอธิบายได้ เนื่องจากความหมายของตำรวจข้ามพ้นไปจากปัจเจกและกลายเป็นระบอบความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนกลไกอำนาจและการควบคุม กระบวนการเป็นตำรวจในที่นี้จึงต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการสร้างกฎข้อบังคับและการลงโทษ นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังสนใจกลไกของการสร้างและการใช้กฎหมายซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่ทำงานด้านกฎหมายจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบและเสนอแนะการสร้างกฎหมาย รวมทั้งการสอดส่องวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม (Comaroff, 2013) ในแง่นี้ องค์กรตำรวจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจึงไม่ได้ผูกขาดการสร้างกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายได้โดยอาศัยเครือข่ายข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล ปรากฎการณ์คือการท้าทายการผูกขาดอำนาจของสถาบันตำรวจ (Hornberger, 2004) การศึกษากลไกนอกหน่วยงานรัฐ ช่วยทำให้เห็นว่ากระบวนการใช้กฎหมายมีความซับซ้อน ในหลายกรณีพบว่ากลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นสามารถทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปในทางตรงข้าม โดยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มอำนาจนอกระบบ (Roitman, 2006) ในขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจท้องถิ่นยังเป็นกลไกที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐ เช่น องค์กรทางศาสนาและหน่วยงานที่รณรงค์แก้ไขพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเยาวชน (O’Neill, 2015)
ตำรวจในความหลากหลายของวัฒนธรรม
Goldstein (2012) กล่าวว่าในปัจจุบันแนวคิดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” และ “ประชาธิปไตย” เป็นการครอบงำแบบใหม่ที่ชาวตะวันตกได้สร้างบรรทัดฐานเอาไว้และถูกทำให้เป็นอุดมการณ์สากลที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนำไปปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นลัทธิอาณานิคมใหม่ซึ่งคนผิวขาวควบคุมโลกให้ดำเนินไปตามมาตรฐานทางศีลธรรมแบบเดียวกัน ความมั่นคงของรัฐที่มีเป้าหมายสร้างความสงบเรียบร้อยและกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ประชาชนปฏิบัติตาม ถือเป็นกลไกของการสร้าง “ตำรวจ” อีกรูปแบบหนึ่ง จะเห็นว่าการศึกษาเรื่องตำรวจก้าวข้ามไปถึงระบอบของการสร้างความมั่นคง ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจกลไกอำนาจแบบใหม่ที่สร้างการ “ควบคุมสั่งการ” โดยมิได้ผ่านองค์กรตำรวจแบบตรงไปตรงมา แต่อาศัยระบบริหารและการสร้างนโยบายตามอุดมการณ์แบบตะวันตก นั่นคือการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในฐานะศูนย์กลางของการจัดระเบียบทางสังคม (O’Neill, 2015) นอกจากนั้น กลไกที่มิใช่กฎหมายก็มีส่วนสร้างความมั่นคง
Jauregui (2013, 2014) และ Vigneswaran & Hornberger (2009) อธิบายว่าการทำตามกฎหมายโยงใยอยู่กับกฎระเบียบและการทำหน้าที่ของตำรวจ แต่วิธีการทำตามกฎหมายดำเนินไปบนสถานการณ์ที่ต่างกัน และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การทบทวนเรื่องการทำตามกฎหมายจะช่วยให้เข้าใจบริบทที่ส่งผลต่อสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรม” และ “ความชอบธรรม” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่ถูกยกไว้สูงสุด ดังนั้น ภายใต้สภาพแวดล้อมสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศต่าง ๆ การทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและความถูกต้องของการทำหน้าที่ของตำรวจจึงเป็นเรื่องที่ผันแปรได้ ทฤษฎีกฎหมายและความยุติธรรมที่เกิดจากความคิดตะวันตกอาจนำไปปฏิบัติในสังคมอื่นได้อย่างมีข้อจำกัด นักมานุษยวิทยาช่วยขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ จะเห็นว่าการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจในแต่ละสังคมล้วนพัวพันอยู่กับความไม่แน่นอนของเงื่อนไขต่างๆ การใช้บรรทัดฐานแบบตะวันตกมาตัดสินวิธีปฏิบัติตามกฎหมายอาจทำให้เกิดการตัดสินแบบเหมารวม เช่น การแบ่งแยกตำรวจดีออกจากตำรวจเลว แยกความยุติธรรมออกจากการฉ้อฉล วิธีคิดที่แบ่งแยกคู่ตรงข้ามนี้อาจมองไม่เห็นสถานการณ์ที่การทำตามกฎหมายเจือปนด้วยความคิดและความเชื่อทางวัฒนธรรม
ตัวอย่างในอินเดีย Jauregui (2014) ชี้ให้เห็นว่าคนท้องถิ่นมองการคอร์รัปชันในฐานะเป็นการใช้เครือข่ายทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้ได้ประโยชน์บางอย่าง ซึ่งเรียกว่า “jugaad” ชาวอินเดียเชื่อว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้คนได้รับสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมีนัยยะของการทำสิ่งที่ดีงาม ความเชื่อนี้อาจตรงข้ามกับนิยามคอร์รัปชั่นแบบตะวันตก ในกรณีตำรวจชาวอินเดียจะพบการใช้เครือข่ายสังคมเพื่อเข้าถึงผลประโยชน์ การช่วยเหลือกันนี้ถือเป็นกลไกนอกระบบที่เชื่อมโยง ชนชั้นสูงเข้ากับชนชั้นล่าง นอกจากนั้น การทบทวนเรื่องความรุนแรงที่มากับตำรวจ เท่าที่ผ่านมาโลกตะวันตกจะชี้ให้เห็นตัวอย่างการใช้กำลังจับกุมคนร้ายและใช้อาวุธทำร้ายร่างกายคนที่ถูกจับกุม ภาพลักษณ์ของตำรวจจึงเป็นผู้ที่ชอบใช้ความรุนแรง (Isbell, 1998) ความเข้าใจนี้ยังทำให้เกิดการอธิบายเกี่ยวกับอำนาจรัฐที่กระทำต่อประชาชน โดยเฉพาะเมื่อตำรวจเข้าบุกจับและควบคุมตัวคนที่ละเมิดกฎระเบียบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนค้าขายริมถนน หาบเร่แผงลอย หรือแรงงานข้ามชาติ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเป้าโจมตีของสังคมที่ไม่พอใจในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ด้อยโอกาส (Das, 2007)
Mutsaers et al. (2015) กล่าวว่าการศึกษาตำรวจด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยาช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของมานุษยวิทยาที่ทำงานเพื่อสาธารณะ กล่าวคือ ช่วยทำให้เห็นปฏิบัติการของตำรวจที่ดำรงอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยการตรวจสอบอย่างเข้มข้น การทำงานของตำรวจจึงเป็นเรื่องที่สังคมจ้องมอง ไม่ว่าตำรวจจะทำหน้าที่อย่างไรย่อมเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสาธารณะเสมอ ดังนั้น ความหมายของตำรวจจึงถูกรื้อสร้างใหม่ตลอดเวลาโดยกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ชนชั้นล่าง ผู้ด้อยโอกาส ชนชั้นกลางที่มีฐานะทางสังคม จนถึงชนชั้นนำที่มีอำนาจ ตำรวจและองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายคือกระจกสะท้อนของระบอบอำนาจและการควบคุมซึ่งแสดงออกในการปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งการตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมที่คนในสังคมใช้การทำงานของตำรวจเป็นเครื่องบ่งชี้
เอกสารอ้างอิง
Comaroff, J.L. (2013). Foreword. In W. Garriott, (ed.). Policing and Contemporary Governance: the anthropology of police in practice. (pp. xi–xxii). New York: Palgrave Macmillan.
Craze, M.S. & Stalcup, J. (2011). How We Train Our Cops to Fear Islam. The Washington Monthly.
De Genova, N.P. (2002). Migrant ‘Illegality’ and Deportability in Everyday Life. Annual Review of Anthropology, 31(1), 419–447.
Fassin, D. (2006). Riots in France and silent anthropologists. Anthropology Today, 22(1), 1–3.
Comaroff, J. & Comaroff, J.L. (2004). Criminal Obsessions, after Foucault: Postcoloniality, Policing, and the Metaphysics of Disorder. Critical Inquiry, 30(4), 800–824.
Cunha, M. (2014). The Ethnography of Prisons and Penal Confinement. Annual Review of Anthropology, 43(1), 217–233.
Das, V. (2007). Life and words: violence and the descent into the ordinary. Berkeley: University of California Press.
Drybread, K. (2014). Murder and the Making of Man-Subjects in a Brazilian Juvenile Prison. American Anthropologist, 116(4), 752–764.
Fearnley, L. (2008). Signals Come and Go: Syndromic Surveillance and Styles of Biosecurity. Environment and Planning A, 40(7), 1615–1632.
Feldman, I. (2010). Ad Hoc Humanity: UN Peacekeeping and the Limits of International Community in Gaza. American Anthropologist, 112(3), 416–429.
Ferrell, J., Hayward, K.J. & Young, J. (2008). Cultural Criminology: An Invitation. London: SAGE Publications Ltd.
Foucault, M. (2009). Security, Territory, Population: Lectures at the Collège de France 1977–1978. (Lectures at the Collège de France), M. Senellart et al., (eds.), New York: Picador.
Geertz, C. (1973). Deep Play: Notes on the Balinese Cockfight. New York: Basic Books.
Goldstein, D.M., (2012). Decolonialising ‘actually existing neoliberalism. Social Anthropology, 20(3), 304–309.
Hayward, K.J. & Young, J. (2004). Cultural Criminology: Some Notes on the Script. Theoretical Criminology, 8(3), 259–273.
Hornberger, J. (2004). ‘My police – your police’: The Informal Privatisation of the Police in the Inner City of Johannesburg. African Studies, 63(2), 213–230.
Isbell, B.J. (1998). Violence in Peru: Performances and Dialogues. American Anthropologist, 100(2), 282–29.
Jauregui, B. (2013). Beatings, Beacons, and Big Men: Police Disempowerment and Delegitimation in India. Law & Social Inquiry, 38(3), 643–669.
Jauregui, B. (2014). Provisional Agency in India: Jugaad and Legitimation of Corruption. American Ethnologist, 41(1), 76–91.
Karpiak, K.G. (2010). Of Heroes and Polemics: ‘The Policeman’ in Urban Ethnography. PoLAR: Political and Legal Anthropology Review, 33(May), 7–31.
Karpiak, K. G. (2016). The Anthropology of Police. In Ben Bradford, Beatrice Jauregui, Ian Loader and Jonny Steinberg (Eds.). The SAGE Handbook of Global Policing, (pp.103-121) London: SAGE Publications Ltd.
Lakoff, A. (2008). The Generic Biothreat, or, How We Became Unprepared. Cultural Anthropology, 23(3), 399–428.
Lakoff, A. & Collier, S.J. (2008). Biosecurity interventions: global health & security in question. New York: Columbia University Press.
Loftus, B. (2010). Police Occupational Culture: Classic Themes, Altered Times. Policing and Society, 20(1), 1–20.
Mutsaers, P. (2014). ‘All of Me’: Psychologizing Turkish-Dutch Police Officers in the Netherlands. Anthropology of Work Review, 35(2), 72–83.
Mutsaers, P., Simpson, J. & Karpiak, K.G. (2015). The Anthropology of Police as Public Anthropology. American Anthropologist, 117(4) DOI:10.1111/aman.12372
O’Neill, K.L. (2015). Secure the soul: Christian piety and gang prevention in Guatemala. Oakland, California: University of California Press.
Paperman, P. (2003). Surveillance Underground: The Uniform as an Interaction Device. Ethnography, 4(3), 397–419.
Parnell, P.C. (2003). Criminalizing colonialism. Gordonsville, VA: Palgrave Macmillan.
Penglase, B. (2009). Interview: The New Anthropology of Crime. PoLAR: Political and Legal Anthropology Review, 32(1), 105–123.
Penglase, B., 2013. Invading the Favela: Echoes of Police Practices among Brazil’s Urban Poor. In W. Garriott, (ed.) Policing and contemporary governance: the anthropology of police in practice. (pp. 31–52). New York: Palgrave Macmillan.
Robbins, J. (2013). Beyond the Suffering Subject: Toward an Anthropology of the Good. Journal of the Royal Anthropological Institute, 19(3), 447–462.
Roitman, J. (2006). The Ethics of Illegality in the Chad Basin. In J. Comaroff & J.L. Comaroff, (eds.) Law and disorder in the postcolony. (pp. 242–247). Chicago: University of Chicago Press.
Stewart, M. (2013). Smooth Effects: The Erasure of Labour and Production of Police as Experts through Augmented Objects. M/C Journal, 16(6).
Taylor, J. (2013). ‘We Are All Oscar Grant’: Police Brutality, Death, and the Work of Mourning. Transforming Anthropology, 21(2), 187–197.
Vigneswaran, D. & Hornberger, J. (Eds.) (2009). Beyond ‘Good Cop’/’Bad Cop’: Understanding Informality and Police Corruption in South Africa. Johannesburg: University of the Witwatersrand.
Young, J. (2011). Criminological imagination. New York: Polity Press.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตำรวจ Posthuman Anthropology Police ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ