ระบอบอภิสิทธิ์ชน

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 6026

ระบอบอภิสิทธิ์ชน

การศึกษาระบอบอภิสิทธิ์

           การศึกษาทางจิตวิทยาสังคม มักอธิบายว่ารูปแบบและพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการแบ่งแยกทางชนชั้น รวมทั้งการเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนกลุ่มต่าง ๆ (Nelson, 2009) มีการชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกีดกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นล่างและเป็นชายขอบทางสังคม (Swim & Stangor, 1998) แต่ยังไม่ได้วิเคราะห์มิติทางสังคมที่เกิดจากผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่น การศึกษาเรื่องการได้ประโยชน์ของคนบางกลุ่ม (advantaged groups) อาจมาจากการอธิบายเชิงกฎหมาย สังคมวิทยา และการศึกษา รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของคนที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติที่มักกล่าวถึงการได้สิทธิพิเศษของคนผิวขาว และการเบียดขับคนสีผิวอื่น (Wise, 2005) ความสนใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติทางสังคมยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมเข้าหากันของเงื่อนไขที่หลากหลาย (intersectionality) ทั้งประเด็นเพศภาวะ ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ช่วงอายุ เชื้อชาติ ที่ล้วนส่งผลต่อการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ (Cole, 2009) การศึกษาดังกล่าวทำให้เกิดการทบทวนความหมายของสิทธิพิเศษ และตั้งคำถามเกี่ยวกับฐานะและอัตลักษณ์ทางสังคมของปัจเจกที่ทำให้ได้สิทธิพิเศษ

           การศึกษาของ Case et al (2012) กล่าวว่าอัตลักษณ์ที่มีสิทธิพิเศษ (privileged identities) ปรากฎอยู่ในระบบของการกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งสัมพันธ์กับแบบแผนทางวัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคม รูปแบบการเมืองและระบอบอำนาจ ดังนั้น ในแต่ละสังคม รูปแบบและวิธีการทำให้คนบางคนได้ประโยชน์และมีสิทธิพิเศษมีความแตกต่างไปตามบริบทและเงื่อนไข ในระบบของการกดขี่ (systems of oppression) มักพบเห็นคนที่เสียประโยชน์ให้กับคนที่มีอำนาจ โดยเฉพาะชนชั้นปกครองและนักการเมือง (Kendall, 2006) กลไกที่ทำให้เกิดการให้สิทธิประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองมักจะมาจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะปฏิบัติต่อผู้มีอำนาจและคนที่มีตำแหน่งสูงด้วยการให้สิทธิพิเศษบางประการจนกลายเป็นบรรทัดฐานที่เคยชิน ผู้ที่มีฐานะต่ำกว่าจึงยอมรับบรรทัดฐานนี้โดยไม่ขัดขืน (Johnson, 2006) ตัวอย่างการศึกษาของ McIntosh (1988) ชี้ให้เห็นสิทธิพิเศษที่เกิดขึ้นกับผู้ชายผิวขาวในสังคมตะวันตก ซึ่งได้รับประโยชน์และโอกาสมากกว่าผู้หญิงและคนผิวสี ผนวกกับการแบ่งแยกกีดกันบนฐานของเชื้อชาติ เพศสภาพ อายุ ความรู้ความสามารถ และชนชั้น ส่งผลให้การเลือกปฏิบัติดำเนินไปอย่างรุนแรง (Johnson, 2006; Monahan, 2014)


ระบอบของสิทธิพิเศษ

           สิทธิพิเศษหมายถึงการให้ประโยชน์กับคนบางคนเหนือกว่าคนทั่วไป (Harvey, 2000) ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับการใช้กฎส่วนตัว (private law) ที่อยู่นอกขอบเขตของกฎหมาย (kruks, 2005) สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีตำแหน่งสูงหรือผู้มีฐานะร่ำรวย รวมถึงผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาและสรีระที่สวยงามตามมาตรฐาน เช่น ดารา นักแสดง นางงาม นางแบบ และนายแบบ คุณสมบัติทางร่างกายนี้ทำให้พวกเขาได้รับโอกาสและสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ดี ยิ่งคนเหล่านี้มีฐานะร่ำรวยและมีตำแหน่งสูงทางสังคมก็ยิ่งเสริมให้พวกเขาได้รับประโยชน์เหนือกว่าคนอื่นมากยิ่งขึ้น Goodman (2015) กล่าวว่าระบอบที่ให้สิทธิพิเศษกับคนบางคน คือกลไกที่สืบทอดความไม่เท่าเทียมทางสังคม สถานการณ์ที่มีการให้ประโยชน์แก่คนบางประเภท เช่น มีสิทธิ์เข้าเรียน ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้ทำงานในองค์กร ได้รับการต้อนรับที่ดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเอนเอียงให้กับคนที่มีอำนาจ ในสมัยโรมันโบราณ คนที่มีสิทธิพิเศษจะเป็นชนชั้นปกครอง กษัตริย์ และขุนนาง ซึ่งมีการสืบทอดฐานะไปยังลูกหลาน ชนชั้นปกครองจึงมีสิทธิพิเศษสืบทอดกันในวงศ์ตระกูล (Monahan, 2014) ต่อมาเมื่อสังคมตะวันตกเริ่มมีแนวคิดการเมืองแบบเสรีนิยม คนทั่วไปที่เป็นสามัญชนสามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในองค์กรต่าง ๆ การได้สิทธิพิเศษจึงมิได้มาจากการสืบทอดทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากความสามารถที่จะทำงานเชิงการเมือง ดังนั้น ผู้ที่แสดงความรู้ความสามารถเพื่อทำงานให้กับสังคมจะมีโอกาสเข้าไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าถึงประโยชน์และสิทธิพิเศษ (Bailey, 1998)

           การเปลี่ยนความหมายของสิทธิพิเศษที่เคยเป็นสิ่งที่ผูกติดกับตระกูลของกษัตริย์และขุนนาง ไปสู่การเป็นผู้ทำงานเชิงการเมืองและผู้ที่แสดงความรู้ความสามารถจนได้รับการยอมรับให้เข้าสู่ตำแหน่งสูงทางสังคม สิ่งนี้สะท้อนว่าการได้สิทธิพิเศษค่อย ๆ หันเหจากปัจจัยทางสายเลือดไปสู่ปัจจัยของความสามารถของบุคคล (individual merit) ดังนั้น ในสังคมอุตสาหกรรม คนจึงแข่งขันเพื่อใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อที่จะได้รับตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น มีเงินที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เอื้อให้คน ๆ นั้นได้รับโอกาสและสิทธิบางอย่างต่างไปจากคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า การได้มาซึ่งสิทธิพิเศษจึงเป็นเรื่องของตำแหน่งทางสังคมซึ่งจำกัดขอบเขตไว้ให้คนบางกลุ่ม การได้สิทธิพิเศษและผลประโยชน์ที่มากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการสร้างข้อยกเว้นที่อยู่นอกกฎระเบียบที่ตกลงไว้ ในแง่นี้ ปัญหาคือการให้ข้อยกเว้นแก่คนบางคน ทำให้คนเหล่านั้นมองข้ามการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเสมอ (Monahan, 2014) ระบบที่สร้างข้อยกเว้น (systematic exclusion) ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคม นั่นคือ การลิดรอนปิดกั้นสิทธิ์และโอกาสของผู้ที่ไม่มีสิทธิพิเศษซึ่งผลิตซ้ำระบอบของการกดขี่ข่มเหง ฉะนั้น ในสังคมที่มีข้อยกเว้นให้กับผู้มีอำนาจหรือชนชั้นปกครอง สังคมนั้นจะเต็มไปด้วยระบอบของการเอารัดเอาเปรียบที่แอบแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

           การให้สิทธิพิเศษถือเป็นความลำเอียง เพราะมีคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์จากข้อยกเว้นและการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ในการทำให้สังคมเข้าใจปัญหานี้จำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่ามีการกระทำแบบไหนบ้างที่เอื้อประโยชน์ให้คนบางคน การตรวจสอบการกระทำจำเป็นต้องมองให้เป็นระบบ เพื่อมองเห็นกลไกที่ซับซ้อนที่สนับสนุนให้เกิดการละเว้นกฎระเบียบ และเปิดช่องให้คนบางคนได้รับประโยชน์เหนือกว่าคนอื่น เช่น การที่คนรวย ข้าราชการ หรือชนชั้นปกครองได้รับการบริการสุขภาพที่สะดวกรวดเร็วมากกว่าชนชั้นแรงงานและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการจ่ายเงินมากกว่าจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า จะเห็นได้ว่างช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มีสิทธิประโยชน์ ในสังคมทุนนิยม สิ่งเหล่านี้จะพบเห็นเป็นเรื่องปกติ “การมีเงิน คือการได้สิทธิพิเศษ” เมื่อคนพยายามหาเงินให้มากเพื่อที่จะมีโอกาสได้ประโยชน์จากทรัพยากร ยิ่งทำให้เกิดการผลิตซ้ำระบอบของความไม่เท่าเทียม กลไกของระบบทุนนิยมจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ตั้งคำถามและยอมที่จะทำตามกลไกเหล่านั้น


มิติอำนาจของสิทธิพิเศษ

           ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีฐานะ ตำแหน่งและหน้าที่ต่างกันส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยทั่วไป ผู้ที่มีฐานะและตำแหน่งสูงจะมีอำนาจเหนือกว่า หากบุคคลเหล่านี้ต้องการทำบางสิ่งบางอย่าง เขาจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ปฏิบัติงานที่มีตำแหน่งที่น้อยกว่า (Wartenberg, 1990) ความรู้สึกกลัวผู้มีอำนาจ จึงวางอยู่บนความสัมพันธ์แบบช่วงชั้น ส่งผลให้ผู้มีตำแหน่งที่ต่ำกว่าตัดสินใจให้ประโยชน์หรือละเว้นกฎระเบียบเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้รับสิทธิพิเศษ ในทางตรงกันข้าม หากผู้มีตำแหน่งน้อยกว่าไม่ตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ เขาก็จะได้รับแรงกดดัน เช่น ผู้มีอำนาจสั่งการให้ผู้นั้นย้ายไปทำงานที่อื่นหรือริดรอนสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับ ผลกระทบดังกล่าวนี้ทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าปฏิเสธผู้มีอำนาจ ในกรณีนี้จะเห็นว่าการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองถือเป็นการทำลายความชอบธรรมและความยุติธรรมทางสังคม

           ในการศึกษาของ Power et al (2016) พบว่าผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมีชื่อเสียงของอังกฤษ เช่น มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและเคมบริดจ์ นักศึกษาที่เข้ามาเรียนทางด้านรัฐศาสตร์และการบริหารรัฐวิสาหกิจ มีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ สามารถเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น และมีเงินเดือนที่สูงมาก กลุ่มคนเหล่านี้คิดว่าตนเองเป็นพวกได้สิทธิพิเศษ เป็นผู้มีความสำเร็จและภาคภูมิใจในสถานะของตนเอง เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและเติบโตในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยเทคโนยีสื่อสารสมัยใหม่ พวกเขาจึงรู้สึกถึงอิสระและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย การมีสถานะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองฉลาดและมีความสามารถสูง (Brown et al., 2014) การเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนทั่วไปไม่มีโอกาส เช่น เข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้พิการและด้อยโอกาส และการทำงานการกุศล งานเหล่านี้ถูกนิยามว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม Beckett (2007) กล่าวว่าการทำกิจกรรมทางสังคมของนักศึกษาเหล่านี้ อาจเป็นการทำให้พวกเขาคิดว่านั่นคือการทำประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจว่าอะไรคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม


ความรับผิดชอบทางศีลธรรม

           ในสังคมปัจจุบันมักจะมีความคิดที่ว่าการกดขี่ข่มเหงมนุษย์ เห็นได้อย่างชัดเจนจากการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อร่างกาย การฆ่า การข่มขืน การหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ทุกข์ทรมาน การข่มเหงและคุกคามทางจิตใจ และการใช้คำพูดตำหนิ ด่า วิจารณ์ให้อับอายต่อสาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นการกดขี่ที่เจ็บปวดและหใอภัยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีการ กดขี่ที่มองไม่เห็นอยู่ในสังคม โดยเฉพาะ “การกดขี่แบบอารยะ” (civilized oppression) ในประเด็นนี้ Harvey (2000) อธิบายไว้ว่าในสังคมสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การใช้ความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและการใช้กฎหมายควบคุม แต่ในทางปฏิบัติคนที่มีสถานะทางอำนาจที่สูงกว่ามักจะได้รับสิทธิพิเศษและไม่ต้องถูกควบคุมตามกฎหมาย ในแง่นี้การกดขี่แบบอารยะจึงเปิดช่องให้เกิดการบิดเบี้ยวทางศีลธรรม เป็นการปฏิบัติต่อคนที่มีอำนาจพิเศษกว่าคนที่ไร้อำนาจและมีสถานะต่ำทางสังคม คนที่ได้รับสิทธิพิเศษจึงเป็นผู้ที่บ่อนทำลายระบบศีลธรรมทางสังคม

           ในสังคมที่คาดหวังให้สมาชิกยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะบุคคลที่มีตำแหน่งและหน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กร และผู้มีอำนาจทางการเมือง คนเหล่านี้ถูกคาดหวังให้มีคุณธรรมและจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะการกระทำของคนกลุ่มนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่เสมอ แต่ในทางปฏิบัติ บทบาทหน้าที่มักจะขัดแย้งกับพฤติกรรมที่เป็นจริง ผู้ที่มีตำแหน่งสูงทางสังคมอาจจะไม่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมและทำลายคุณธรรมและจริยธรรมที่สังคมคาดหวัง (Harvey, 1993) สิ่งนี้เรียกว่าการกดทับทางศีลธรรม เมื่อบุคคลที่ควรมีคุณธรรม-จริยธรรมสูงกว่าคนอื่นไม่ปฏิบัติตนให้เหมาะสม สังคมจะสูญเสียการเสริมพลังให้กับศีลธรรม (moral empowerment) สิ่งนี้สะท้อนออกมาในความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางสังคม เพราะคนบางกลุ่มที่มีอำนาจมักจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนอื่น คนเหล่านั้นก็ไม่แสดงความรับผิดชอบทางศีลธรรมตามบทบาทหน้าที่ที่ตนมี ยิ่งในสังคมที่ให้ประโยชน์กับผู้มีอำนาจ สังคมนั้นก็ยิ่งเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ (Goodman, 2015)


เอกสารอ้างอิง

Bailey, A. (1998). ‘Privilege: expanding on Marilyn Frye’s “Oppression”. Journal of Social Philosophy, 29(3), 104–119.

Brown, P., Power, S., Tholen, G. & Allouch, A. (2014). Credentials, talent and cultural capital: A comparative study of educational elites in England and France. British Journal of Sociology of Education. Epub ahead of print August. DOI: 10.1080/01425692.2014.920247

Case, K.A., Iuzzini, J. & Hopkins, M. (2012). Systems of Privilege: Intersections, Awareness, and Applications. Journal of Social Issues, 68(1), 1-10.

Cole, E. R. (2009). Intersectionality and research in psychology. American Psychologist, 64, 170 – 180.

Goodman, D.J. (2015). Oppression and Priviledg: Two Side of the Same Coin. Journal of Intercultural Communication, 18, 1-14.

Harvey, J. (1993). Forgiving as an Obligation of the Moral Life. International Journal of Moral and Social Studies, 8(3), 211–22.

Harvey, J. (2000). Social Privilege and Moral Subordination. Journal of Social Philosophy, 31(2), 177-188.

Johnson, A. G. (2006). Privilege, power, and difference. New York: McGraw-Hill.

Kendall, F. E. (2006). Understanding white privilege: Creating pathways to authentic relationships across race. New York: Routledge.

Kruks, S. (2005). Simone de Beauvoir and the politics of privilege. Hypatia, 20(1), 178–205.

McIntosh, P. (1988). White privilege and male privilege: A personal account of coming to see correspondences through work in women’s studies (Working Paper No. 189). Wellesley, MA: Wellesley Centers for Women.

Monahan, M. J. (2014). The concept of privilege: a critical appraisal, South African Journal of Philosophy, 33(1), 73-83.

Nelson, T. D. (Ed.). (2009). Handbook of prejudice, stereotyping, and discrimination. New York: Psychology Press.

Power, S. et al. (2016). Giving something back? Sentiments of privilege and social responsibility among elite graduates from Britain and France. International Sociology, 31(3), 305 –323.

Swim, J. K., & Stangor, C. (Eds.). (1998). Prejudice: The target’s perspective. San Diego, CA: Academic Press.

Wartenberg, T. E. (1990). The Forms of Power. Philadelphia: Temple University Press.

Wise, T. (2005). White like me: Reflections on race from a privileged son. Brooklyn, NY: Soft Skull Press.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ระบอบอภิสิทธิ์ชน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา