อารมณ์ อคติ และความลำเอียงทางสายพันธุ์

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 3918

อารมณ์ อคติ และความลำเอียงทางสายพันธุ์

           ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) เต็มไปด้วยความซับซ้อน มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย, เสือโคร่ง นักล่าผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในผืนป่า, นกเงือก รักแท้แห่งผืนป่า, ฉลามวาฬ หมุดหมายของนักดำน้ำทั่วโลก หรือมนุษย์ผู้ทรงอำนาจในยุคสมัยแอนโทรโพซีน มนุษย์มีอารมณ์และความรู้สึกร่วมให้กับสัตว์อื่นและปฏิบัติต่อสัตว์เหล่านั้นหลายรูปแบบ บ้างก็เป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ควรค่าแก่การปกป้องดูแล บ้างก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการดูแลอย่างดี บ้างก็เป็นปศุสัตว์ที่รอวันเข้าโรงเชือดเพื่อแปรรูปเป็นอาหารให้กับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น (Lucius Caviola et al., 2019, 2) ภายใต้ความสัมพันธ์หลากรูปแบบนี้ มนุษย์ก็มีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับสายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “อะไรทำให้เรารักและชิงชังสายพันธุ์หนึ่งมากกว่าสายพันธุ์อื่น” สิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ที่ในทางวาทกรรมหมายรวมถึงสัตว์ทั้งปวง แต่กลับถูกนำมาปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ดังเช่นการชักชวนให้เลิกดูโชว์ช้างเพราะทรมานสัตว์ ช่วยเหลือหมาแมวจรจัด แต่กลับหัวเราะชอบใจเมื่อเห็นคลิปวีดีโอแมลงสาบที่เราเกลียดชังกำลังถูกเผาทั้งเป็น


สิทธิสัตว์ อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อสายพันธุ์อื่น

           ปัจจุบันการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์กำลังขยายตัวและเป็นประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจ สิทธิสัตว์มิได้เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน หากแต่มีมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ปรากฎอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน

           ในฝั่งเอเชีย แนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์อาจสืบย้อนไปได้เป็นพัน ๆ ปี โดยปรากฎอยู่ในรูปแบบของการปฏิเสธการทำความรุนแรงต่อสัตว์ (อหิงสา) ตลอดจนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ ในฐานะส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติหรือหลักความเชื่อทางศาสนาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่มนุษย์มีต่อสัตว์อื่น ซึ่งมักพบเห็นว่าเป็นอารมณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมเพื่อสัตว์ เช่น การเปิดระดมทุนหรือรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือสัตว์ การไถ่ชีวิตโคกระบือโดยนำเสนอภาพที่สะเทือนอารมณ์ผู้รับสาร หากแต่ในฝั่งเอเชีย สิทธิและสวัสดิภาพสัตว์มักเชื่อมโยงกับหลักความเชื่อทางศาสนาเป็นหลัก แตกต่างจากในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสัตว์แบบสมัยใหม่ ที่มองประเด็นเรื่องสิทธิและสวัสดิภาพแยกจากมุมมองและวิธีคิดตามหลักศาสนาอยู่จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การร่างกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ฉบับแรกที่ย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1635 เพื่อห้ามการตัดขนในแกะที่ยังมีชีวิต หรือการเกิดขึ้นขององค์กรการกุศลเพื่อสวัสดิภาพสัตว์แห่งแรกเมื่อ ค.ศ. 1824 ในอังกฤษ (Orzechowski, 2020)

           ในยุโรป การทำร้ายสัตว์ไม่เคยเป็นประเด็นสำคัญในความคิดของชาวยุโรปในอดีต แต่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังยุคแห่งการตื่นรู้ (Enlightenment) ที่บรรดานักปรัชญาเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ในสัตว์แต่ไม่ได้สำคัญเท่ากับความเจ็บปวดที่สัตว์ประสบพบเจอ การให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวคิดและการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสัตว์เช่นกัน การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ งานศึกษาและหลักฐานเชิงประจักต์เกี่ยวกับสัตว์จำนวนมาก ปลุกกระแสการให้ความสำคัญกับชีวิต (Life) ของสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์เริ่มทำความเข้าใจและรับรู้ว่าสัตว์หลายชนิดก็มีความรู้สึกเจ็บปวดทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์ การขูดรีดแสวงหาประโยชน์ (exploitation) จากสัตว์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ต่าง ๆ ที่ขยายตัวไปทั่วโลก เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิสัตว์มากขึ้น (Orzechowski, 2020)

           สิทธิสัตว์จึงแตกต่างจากสวัสดิภาพสัตว์ ตรงที่สวัสดิภาพสัตว์มักพยายามจัดแจงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ว่าสัตว์เหล่านั้นควรมีความสัมพันธ์หรือถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของมนุษย์ในรูปแบบไหน ในแง่นี้ ทุกสายพันธุ์จึงไม่ได้มีสิทธิและสวัสดิภาพที่มนุษย์กำหนดให้เท่ากันทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านั้น มีบทบาทอะไรต่อมนุษย์ทั้งในด้านอารมณ์และประโยชน์หรือโทษที่มนุษย์ได้รับจากสายพันธุ์เหล่านั้น ตลอดจนอคติ และความลำเอียงที่มนุษย์ไม่ได้มองสายพันธุ์อื่นเท่ากันทั้งหมด


น่ารักและน่าชัง อคติและความลำเอียงต่อสายพันธุ์อื่น

           ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) จากมนุษย์ มนุษย์มีอคติ (prejudice) และความลำเอียง (bias) ทั้งกับสายพันธุ์ตนเองและต่างสายพันธุ์ สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะภายนอกในทำนอง “น่ารัก” หรือน่าดึงดูดจะได้รับความสนใจมากกว่าสิ่งมีชีวิตที่ให้ความรู้สึก “น่าเบื่อ” ไม่มีอะไรน่าหลงใหล ความแตกต่างนี้แสดงออกชัดเจนในแวดวงการอนุรักษ์สัตว์และกิจการสวนสัตว์ สัตว์ที่มีรูปลักษณ์และพฤติกรรมที่น่าดึงดูดใจได้รับความนิยมและสร้างเม็ดเงินจากการระดมทุนของคนในสังคมมากกว่าสัตว์ที่ไม่น่าดึงดูด มีข้อสังเกตว่า มนุษย์ให้ความสนใจกับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ มีสีสันสดใส มีโทนสีโดดเด่น (Curtin & Papworth, 2020) ความลำเอียงของมนุษย์ที่มีต่อสายพันธุ์อื่นแสดงออกอย่างชัดเจนจากความสนใจกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่น เช่น สัตว์ตระกูลหอย (molluscs) และแมลง (insects) รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือจากสัตว์ เช่น สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืช (plants) และฟังไจ (fungi) ได้รับความสนใจน้อยกว่าหรือแทบไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม (Titley et al., 2017)

           ในทางกลับกันสิ่งมีชีวิตที่ดูไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับมนุษย์กลับสร้างความรู้สึกแง่ลบ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในกลุ่มแมลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ แมลงสาบ การผลิตสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแมลงสาบ ที่พบว่าแมลงสาบเป็นพาหะนำโรคและเป็นศูนย์รวมสิ่งสกปรกจากสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารของแมลงสาบ นำไปสู่ความหวาดกลัวแมลงสาบ ความรังเกียจขยะแขยงจึงเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมจากสิ่งที่ถูกนิยามและสร้างความหมายว่าอันตรายต่อร่างกายและคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคม รวมไปถึงความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มนุษย์ไม่อาจสัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของแมลงสาบเพื่อคาดเดาพฤติกรรมที่แมลงสาบจะทำต่อได้ (ลีลา วรวุฒิสุนทร, 2560, 123-132) อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอคติที่เกิดจากความรู้ที่ถูกผลิตสร้างขึ้นอย่างชัดเจนคือ อคติที่ผู้คนทั่วโลกมีต่อค้างคาว

           อคติที่คนทั่วโลกมีต่อค้างคาวและวัฒนธรรมบริโภคค้างคาวในแถบเอเชียที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากโรคระบาดโควิด-19 และการผลิตสร้างความรู้เพื่อหาต้นตอที่มาของไวรัสผู้ก่อโรคดังกล่าว ซึ่งการเผยแพร่ข่าวว่าโควิด-19มีความสัมพันธ์กันค้างคาว ในลักษณะของโรคที่แพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ (Zoonosis) จากการค้นพบไวรัสโควิดในค้างคาว (หากแต่ในความเป็นจริงการเผยแพร่โรคอาจมีสัตว์อื่นที่เป็นตัวกลางในการแพร่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์อีกต่อหนึ่ง) เมื่อเกิดสถานการณ์ระบาด วัฒนธรรมการบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ถูกจัดเป็นสิ่งที่ควรบริโภคดังเช่นปศุสัตว์ที่คนทั่วไปเข้าใจกันดั่งเช่นหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ อคติทางสายพันธุ์จึงเชื่อมโยงไปถึงอคติทางวัฒนธรรมที่สังคมต่าง ๆ มีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมต่างกัน วัฒนธรรมการกินค้างคาวจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม (taboo) ทางสังคม ที่หากมีใครปฏิบัติก็จะถูกโจมตีหรือแสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างรุนแรง

           นอกจากอคติและความลำเอียงในฐานะผลผลิตของความรู้แล้ว อารมณ์และความรู้สึกที่มนุษย์แสดงต่อสัตว์เกี่ยวข้องกับการนำเอาความเป็นมนุษย์ไปใส่ในสัตว์ (Anthropomorphism) ดังเช่นที่ เจน กูดัลล์ เคยนำความเป็นบุคคลของมนุษย์ (Individuality) ไปใช้ในสัตว์ ผ่านการเขียนงานเกี่ยวกับการสังเกตการณ์ลิงชิมแปนซีในช่วง ค.ศ. 1960 โดยแทนคำเรียกสัตว์ที่ในอดีตนิยมใช้คำว่า “มัน” (it) ด้วย “เขา” (He) “เธอ” (She) ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับ ณ ช่วงเวลานั้น (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2564, 67) ในขณะที่ปัจจุบัน การเรียกสัตว์ด้วยคำที่ใช้เรียกมนุษย์ด้วยกัน เช่น น้อง พี่ พ่อ แม่ ดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และได้รับความนิยมในการอนุรักษ์ด้วย Anthropomorphism ถูกนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ ที่มองว่าสัตว์ก็มีอารมณ์และความรู้สึกไม่ต่างจากมนุษย์ มีความสุข ทุกข์ และรู้สึกเจ็บปวดทรมานได้เช่นเดียวกัน การเคลื่อนไหวพยายามขับเน้นอารมณ์ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ในกิจกรรมการเคลื่อนไหว การระดมทุน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ วัฒนธรรมการตั้งชื่อให้กับสัตว์ต่าง ๆ ทำให้สัตว์ตัวนั้นมีความสำคัญ มีสถานะเป็นบุคคลมากกว่าตัวอื่น ๆ ในสายพันธุ์เดียวกัน ในขณะเดียวกันชื่อก็มีส่วนช่วยให้มนุษย์เชื่อมโยงอารมณ์ไปยังสัตว์ได้มากขึ้น


ปัญหาของอคติและความลำเอียงทางสายพันธุ์

           อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นั้นมีเฉพาะกับสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง เมื่อนำไปใช้กับสายพันธุ์อื่นก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จจากการที่มนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกต่อสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ต่างกัน และมักเกิดขึ้นมากเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ เช่น หมามี“ความเป็นมนุษย์”ที่สร้างขึ้นผ่านการรับรู้ ความผูกพัน ท่าทางและการแสดงออก อารมณ์และปฏิสัมพันธ์ที่มีกับมนุษย์ มากกว่าแมงมุม ทำให้ Anthropomorph เกิดขึ้นกับหมามากกว่าแมงมุม การอนุรักษ์หรือเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหมาจึงได้รับผลตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จมากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อแมงมุม (Chan, A. A. Y. H. ,2012)

           ความลำเอียงทางสายพันธุ์ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการอนุรักษ์ โดยเฉพาะเงินทุนในการทำงานด้านอนุรักษ์ สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์มีอารมณ์เชิงบวกด้วยเหตุผลต่าง ๆ จะได้รับเงินทุนและงบประมาณมากกว่า หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ และองค์กรการกุศลจึงเน้นทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่เข้าข่ายนี้เพราะบรรลุวัตถุประสงค์ง่ายกว่า กิจกรรมอนุรักษ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง มีขนาดใหญ่ มีอารมณ์ร่วมกับมนุษย์ มีคุณค่าที่ถูกประกอบสร้างส่งเสริมให้สัตว์เหล่านี้ได้รับงบประมาณมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น และสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความแตกต่างของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญทั้งด้านปริมาณที่หาได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ สัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดดูจะมีความสำคัญมากกว่าสัตว์ป่าคุ้มครองหลายร้อยชนิด แต่เมื่อพิจารณารายชื่อสัตว์ป่าสงวนไทย พบว่าทั้งหมดเป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่บางส่วนก็สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติหรือไม่พบในธรรมชาติ บางส่วนก็ยังพบเห็นได้บ้าง ในขณะที่ทะเบียนสัตว์คุ้มครองบางชนิดที่ไม่พบเห็นหลายสิบปี กลับไม่ถูกระบุเป็นสัตว์ป่าสงวน เช่น ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลที่ถูกระบุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ความหายากกลับมีมากกว่าสัตว์สงวนบางชนิดเสียอีก (ThaiPBS, 2564).

           อคติและความลำเอียงจึงนำมาสู่แนวคิดเรื่องสายพันธุ์นิยม (Speciesism) การนำเอาสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสร้างคุณค่าและความตระหนักรู้ในสังคม สายพันธุ์จึงมีความสำคัญในระดับของแนวคิด ที่มากกว่าการเป็นระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม หรือชีวิตในทางชีวภาพ แต่เป็นศัพท์แสงทางสังคมด้วย ลองจินตนาการถึงพื้นที่ป่า/แหล่งน้ำโดยไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เขาใหญ่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่อนุรักษ์ช้าง เก้ง กวาง นกเงือก เสือโคร่ง ชะนี เม่น ก็อาจไม่มีผู้มาเยี่ยมชมเลยก็ได้ หรือหากย้อนดูกิจกรรมการอนุรักษ์ของหน่วยงานรัฐผ่านการประกาศพื้นที่อนุรักษ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ก็จะพบว่าก่อนการประกาศจะมีการสำรวจจำนวนและความหลากหลายของสายพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้พิจารณาความสำคัญและความจำเป็น เพื่อความคุ้มค่าในการจัดสรรงบประมาณ Jatna Supriatna นักวิชาการชีววิทยาที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ลิงในอินโดนีเซีย ระบุถึงการนำสายพันธุ์มาใช้เพื่อกระตุ้นกิจกรรมการอนุรักษ์ว่า

“ลองนึกถึงแรดชวา หากไม่มีการอนุรักษ์สายพันธุ์ Ujung Kulon อุทยานแห่งหนึ่งในชวาก็อาจไม่มีคนมาเยี่ยมชม ไม่มีคนอยากบริจาคเงิน ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเลยก็ได้ สัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดจึงมีส่วนในการทำให้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม ผู้คนจึงไม่พูดว่าฉันอยากรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่จะพูดว่าปกป้องรักษาแรดแทน เพราะแรด (Species) มีความดึงดูดกว่า”

           และเพื่อผลักดันโครงการอนุรักษ์ Dr.Supraitna จึงใช้ความโดดเด่นทางสายพันธุ์เพื่อให้โครงการเป็นที่สนใจในระดับประเทศและนานาชาติ (Sophie Chao, 2013, 34) ที่ซึ่งสุดท้ายแล้วงานของ Sophie Chao แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการนำเอาสายพันธุ์มาเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์ ทำให้สายพันธุ์อื่นในพื้นที่เลือนรางลงและไม่ได้รับความสนใจ ตลอดจนปฏิเสธกิจกรรมของมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์จากในพื้นที่แบบที่เรียกกันว่าธรรมชาตินิยม (Naturalism) ที่แยกโลกของมนุษย์ออกจากธรรมชาติ และมนุษย์ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายผู้บ่อนทำลายธรรมชาติและเป็นภัยต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์ด้วย

           สายพันธุ์นิยมยังส่งผลโดยตรงต่อความลำเอียงในจัดจำแนกประเภทความสัมพันธ์กับสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์นิยมในสัตว์เลี้ยง (Pet-speciesism) ที่ถูกบดบังด้วยสายพันธุ์นิยมแบบมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric speciesism) สายพันธุ์นิยมแบบมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเกี่ยวข้องกับอคติที่มนุษย์มีต่อสายพันธุ์อื่นหรือมองแค่ว่ามีประโยชน์อะไรกับมนุษย์ ส่วนสายพันธุ์นิยมในสัตว์เลี้ยงกล่าวถึงอคติของมนุษย์เราที่มีต่อสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง (non-pet animals) และสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ในบ้าน (Sarah Gradidge & Magdalena Zawisza, 2021) ตัวอย่างของการจำแนกได้แก่ หมาที่เป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นปศุสัตว์ ช้างเป็นสัตว์ป่า ฯลฯ อคติจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม/สังคมอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับสายพันธุ์ต่าง ๆ แตกต่างจากตน ดังที่เรามักพบเห็นตามสื่อออนไลน์ในไทยที่วัฒนธรรมการกินหมาของคนบางกลุ่มในสกลนคร วัฒนธรรมการกินแมลงสาบในจีน มีปฏิกิริยาตอบกลับในท่าทีเชิงรังเกียจ และมักพบความคิดเห็นยอดฮิต เช่น “ไม่มีอะไรจะกินแล้วหรอ” “หมู ไก่ ปลา มีไม่กิน ไปกินแมลง” “หมาไม่ใช่อาหาร” และอื่น ๆ อีกมากมาย อคติและความลำเอียงทางสายพันธุ์จึงนำไปสู่อคติและความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่แต่ละสังคมมีวัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับสายพันธุ์ต่าง ๆ แตกต่างกันด้วย


รายการอ้างอิง

Caviola, L., Everett, J. A., & Faber, N. S. (2019). The moral standing of animals: Towards a psychology of speciesism. Journal of personality and social psychology, 116(6), 1011.

Chan, A. A. Y. H. (2012). Anthropomorphism as a conservation tool. Biodiversity and Conservation, 21, 1889-1892.

Curtin, P. & Papworth, S. (2020) Coloring and size influence preferences for imaginary animals, and can predict actual donations to species‐specific conservation charities. Conservation Letters. 13 (4).

Fernandez, T. (October 2, 2020). Conservation Bias – An Ugly Truth. Imperial Bioscience Review.  https://imperialbiosciencereview.com/2020/10/02/conservation-bias-an-ugly-truth/#:~:text=The%20first%20and%20most%20obvious,Curtin%20%26%20Papworth%2C%202020).

Gradidge, S. & Zawisza, M. (January 07, 2021). A different kind of speciesism. The british psychological society.  https://www.bps.org.uk/psychologist/different-kind-speciesism.

Lowe, C. (2013). Wild profusion: biodiversity conservation in an Indonesian archipelago. Princeton University Press.

Orzechowski, K. (April 9, 2020). The Animal Rights Movement: History And Facts About Animal Rights. Faunalytics. https://faunalytics.org/the-animal-rights-movement-history-and-facts-about-animal-rights/

Titley, M.A., Snaddon, J.L. & Turner, E.C. (2017) Scientific research on animal biodiversity is systematically biased towards vertebrates and temperate regions. PLoS ONE. 12 (12).

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2564). เพศ เพศภาวะ กับไพรเมตวิทยา ใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และวรวิทย์ บุญไทย(บก.). วานรศึกษา.ปทุมธานี: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ผีเสื้อของไทยที่หายไป?. (21 กันยายน 2564). ThaiPBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/308071

ลีลา วรวุฒิสุนทร. (2560). ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?: แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรม ใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (บก.). สิงสาราสัตว์: มานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์และสัตว์ศึกษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ), หน้า 121-150.


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ อารมณ์ อคติทางวัฒนธรรมและความรุนแรง ความลำเอียง หลากสายพันธุ์นิพนธ์ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา