จากท้องร่องสู่นากุ้ง การเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรมของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในแปดริ้ว

 |  เศรษฐกิจ มานุษยวิทยาในโลกธุรกิจ
ผู้เข้าชม : 2132

จากท้องร่องสู่นากุ้ง การเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรมของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในแปดริ้ว

           จังหวัดฉะเชิงเทราหรือแปดริ้ว เป็นพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยของชาวจีนโพ้นทะเลเป็นจำนวนมาก การประกอบอาชีพของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทราสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ประกอบอาชีพค้าขาย เป็นกลุ่มที่จะอาศัยอยู่ในย่านชุมชนการค้า ซึ่งมักพบว่าชื่อชุมชนมีคำว่าตลาดอยู่ เช่น ตลาดบ้านใหม่ ตลาดบ้านหมู่ ตลาดคลองสวน หรือย่านการค้าอื่น เช่น ชุมชนมรุพงษ์ ชุมชนหัวสะพาน เป็นต้น กลุ่มนี้จะประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย เช่น ธุรกิจโรงสีข้าว โรงหีบอ้อย ยาแผนจีนและยาแผนใหม่ ขายสินค้าทั่วไปในตลาด ร้านอาหาร ฯลฯ และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำฟาร์มหมู วัว เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา และการทำสวนแบบยกร่อง ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมแบบการตลาดที่ผลิตผลผลิตทางการเกษตรโดยมุ่งเน้นจำหน่ายสร้างรายได้ (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2548 หน้า 301) ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึงชุมชนจีนโพ้นทะเลในแถบตำบลสาวชะโงกและตำบลบางสวน อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นตำบลที่ผู้เขียนทำการเก็บข้อมูลสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยตั้งแต่เด็กจากการเป็นบ้านของย่าและบรรดาญาติพี่น้องของผู้เขียน


“คนไทยทำนา คนจีนทำสวน”

           สวนยกร่องหรือท้องร่อง (ผู้เขียนขอเรียกว่า ท้องร่อง ซึ่งเป็นคำเรียกติดปากที่คนนิยมใช้เรียกกันโดยทั่วไป) เป็นรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนโพ้นทะเลบริเวณปากแม่น้ำภาคกลางตอนล่าง พบการทำท้องร่องในแถบจังหวัดกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี และฉะเชิงเทรา สำหรับท้องร่องในอำเภอบางคล้าจะปลูกไม้ผลเศรษฐกิจจำพวก มะพร้าว หมาก มะม่วง พลู เป็นหลัก มีการทำคันดินสูงและขุดร่องลึกเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในเกษตรกรรม จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ในอดีตชาวจีนจะไม่นิยมประกอบอาชีพทำนาแต่จะนิยมปลูกหมากและพลูเป็นพืชเศรษฐกิจหลักแทนการแข่งขันกับคนไทยที่ประกอบอาชีพทำนา มีคำพูดที่มักถูกพูดถึงเมื่อเปรียบเทียบการทำนาและทำสวนในพื้นที่ว่า “คนไทยทำนา คนจีนทำสวน” แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคน 2 กลุ่มในพื้นที่ที่สะท้อนออกมาผ่านรูปแบบการทำเกษตรกรรม

รูปภาพที่ 1 ประติมากรรมปูนปั้นฝาผนังเล่าเรื่องการทำนาอกร่องสวนและนาในท้องร่องสวนในอุโบสถของวัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ที่มา : https://www.facebook.com/323215901674254/photos/a.324081788254332/799024787426694


           อย่างไรก็ตามชาวจีนไม่ได้ไม่ปลูกข้าวเสียทีเดียว ในอดีตชาวจีนจะปลูกข้าวปริมาณเล็กน้อยควบคู่กับพืชหลักในท้องร่องอยู่ 2 รูปแบบที่เรียกว่า นาในท้องร่องสวน และนาอกร่องสวน (เจ้าพระยาภาสกรวงศ์, 2431 หน้า 34) ที่ปลูกข้าวไว้ในร่องน้ำของท้องร่อง หรือบนอกร่อง/ขนัด ซึ่งเป็นการปลูกข้าวปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับการทำนาข้าว ชาวสวนเลิกปลูกข้าวช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530 หลังจากที่ต้นทุนการปลูกสูงขึ้น การปลูกเพียงเล็กน้อยจึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง นอกจากหมากแล้วชาวสวนหันไปปลูกมะพร้าวและมะม่วงเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในตลาดมากกว่าและเป็นพืชที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ปู่ของผู้เขียนเคยเล่าถึงมะม่วงที่ปลูกในท้องร่องอย่าภาคภูมิใจว่า มะม่วงของแปดริ้วเป็นมะม่วงคุณภาพดี อร่อย พ่อค้าแม่ค้าในตลาด มหานาคจะให้ราคาของมะม่วงที่มาจากสวนท้องร่องสูงกว่ามะม่วงที่ปลูกด้วยวิธีการอื่น ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมและมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ปลูกในท้องร่องของอำเภอบางคล้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นความภาคภูมิใจของชาวสวนในพื้นที่


ชีวิตในท้องร่อง

           การทำสวนในอำเภอบางคล้าพึ่งพาแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนขอใช้หัวข้อนี้บรรยายรูปแบบการทำสวนแบบยกร่องในปัจจุบัน

รูปภาพที่ 2 ตัวอย่างแผนผังท้องร่องและคำเรียกองค์ประกอบต่าง ๆ ของครอบครัวผู้เขียนที่ยังประกอบอาชีพทำสวนอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์


           ท้องร่องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ร่องน้ำ อกร่อง และคันสวน ในส่วนของร่องน้ำ จะถูกใช้ในการกักเก็บน้ำจืดเพื่อใช้ในการเกษตร รวมถึงใช้อุปโภคในสมัยก่อนที่ยังไม่มีน้ำประปาเข้ามาในพื้นที่ (ก่อน พ.ศ. 2559) ชาวสวนจะดึงน้ำเข้าสวนของตัวเองในช่วงที่น้ำในแม่น้ำบางปะกงเป็นน้ำจืด ร่องน้ำในอดีตที่เคยถูกใช้เพื่อทำนา ปัจจุบันเป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพง ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาจีน(ปลาซ่ง) และปลาอื่น ๆ ที่เป็นผลพลอยได้จากการสูบน้ำเข้าสวน ร่องน้ำเป็นพื้นที่สันทนาการของเด็กในครอบครัวชาวสวน ที่มักจะลงไปเล่นน้ำ ตกปลา และหาจับสัตว์น้ำในร่องที่มาพร้อมกับน้ำที่ถูกสูบเข้าสวน เช่น กุ้งเต๊าะ(กุ้งดีดขัน) ปูนา ปลาเสือพ่นน้ำ ปลากริม เป็นต้น ในอดีตการสูบน้ำจะใช้ท่อที่ทำจากลำต้นตาลเจาะกลวง โดยมีวัสดุสำหรับปิดอุดท่อเพื่อใช้ควบคุมการถ่ายน้ำเข้า-ออกสวน แต่ปัจจุบันชาวสวนหันมาใช้ท่อพญานาคเนื่องจากมีความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่า การขุดร่องน้ำช่วยประหยัดแรงในการรดน้ำและเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวสวนจะรดน้ำเฉพาะต้นอ่อนที่รากยังยาวไม่ถึงชั้นดินที่อุ้มน้ำด้วยกระบวยยาวพิเศษสำหรับตักน้ำจากในร่องขึ้นมารดน้ำต้นไม้บนอกร่อง เมื่อผลผลิตถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็จะนำผลผลิตลงเรือ

           ส่วนประกอบต่อมาคือ อกร่อง เป็นพื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรกรรม ชาวสวนจะนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจมากกว่า 1 ชนิด โดยจะนิยมปลูกมะม่วง พลู มะนาวไว้บริเวณกลางอกร่อง และบริเวณข้างอกร่องจะนิยมปลูกหมากหรือมะพร้าวควบคู่ไปด้วย ปัจจุบันการปลูกพลูพบเห็นได้เฉพาะตำบลสาวชะโงกเท่านั้น ส่วนหมาก มะพร้าว มะม่วง ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีการทำท้องร่อง และส่วนสุดท้าย คันดิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการเกษตรกรรมในลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่มีการผันแปรของน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม คันดินทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในสวน และยังใช้ป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากด้วย

           การทำสวนเป็นงานที่ถูกมองว่ายาก เหนื่อยและต้องมีความขยันหมั่นเพียร ชาวสวนจะต้องหมั่นดูแลท้องร่องด้วยการถอนหญ้าที่ขึ้นในสวนเป็นประจำ หากมีทางหมากหรือทางมะพร้าวตกลงไปในร่องน้ำก็จะนำขึ้นมากองไว้บริเวณอกร่องหรือคันสวนเพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสีย ทุกปีชาวสวนจะต้องขุดลอกร่องเพื่อรักษาระดับความลึกไม่ให้ร่องน้ำตื้นเขิน โดยโกยเอาโคลนเลนในร่องขึ้นมาพอกเสริมบริเวณอกร่องและคันดิน รวมถึงเสริมบริเวณโคนต้นไม้ด้วย ดินโคลนเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เป็นปุ๋ยธรรมชาติสำหรับต้นไม้ เนื่องจากท้องร่องไม่สามารถใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่นรถแบ็คโฮได้ การขุดลอกท้องร่องจึงอาศัยแรงคนเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งขายที่ต้องใช้แรงคนจำนวนมากต่อสวน 1 แปลง การดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงใช้วิธีการถือแรงหรือการจ้างวานคนในชุมชนเข้ามาช่วยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการแรงคนจำนวนมากเท่านั้น

รูปภาพที่ 3 ท้องร่องในตำบลบางสวน เจ้าของสวนปลูกหมากกับมะม่วงที่อกร่อง และมะพร้าวบริเวณคันดินรอบสวน
ที่มา: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์


           การทำเกษตรด้วยการพึ่งพาอาศัยคนอื่นและการเกื้อกูลกันของคนในสังคม เป็นการประหยัดต้นทุนในการทำเกษตรด้วยทุนทางสังคม แต่ก็ถูกมองว่าเป็นงานที่เหนื่อยและใช้แรงมากกว่าการทำเกษตรประเภทอื่น ๆ ชาวสวนหลายคนในพื้นที่จึงไม่นิยมให้ลูกหลานของตนเองเข้ามาสืบทอดกิจการทำสวนต่อจากตนเอง และเลือกที่จะส่งลูกหลานให้ไปทำงานอื่นที่มีรายได้ดีกว่าและเหนื่อยน้อยกว่า ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชุมชน และการอพยพย้ายออกของคนรุ่นถัดไป


จากท้องร่องสู่บ่อกุ้ง และค่านิยมส่งลูกเรียนสูงเพื่อหลุดพ้นจากชีวิตชาวสวน

           ชาวสวนเชื้อสายจีนในแถบนี้จะมีค่านิยมส่งลูกเรียนหรือสนับสนุนให้ออกไปหางานทำต่างถิ่น นับแต่ช่วง พ.ศ.2530 เป็นต้นมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสองตำบลเจริญขึ้นมาก ถนนที่เคยเป็นทางเท้าก็เปลี่ยนเป็นถนนสำหรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ตามลำดับถนน 304 ซึ่งเป็นถนนสำคัญที่ตัดผ่านชุมชนเชื่อมไปยังตัวเมืองฉะเชิงเทรา ที่สามารถเดินทางต่อโดยรถไฟ หรือรถยนต์ต่อไปยังกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานี้เองที่เกิดการเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนเพื่อไปหางานทำข้างนอก เหลือแค่คนเก่าคนแก่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชนและประกอบอาชีพทำสวนต่อไปเหมือนเดิม

           ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยและใช้พื้นที่นี้เป็นสถานที่เก็บข้อมูลและกรณีศึกษาสำหรับทำรายงานส่งอาจารย์ ประโยคแรกที่ผู้เขียนพบจากการเข้าไปถามถึงวัฒนธรรมชุมชนและประวัติศาสตร์การประกอบอาชีพคือ “ส่งไปเรียนซะสูง(มหาวิทยาลัย) ทำไมถึงกลับมาทำ-มาถามถึงอะไรที่มันโบราณแบบนี้ล่ะ” แม้เป็นประโยคสั้น ๆ แต่สะเทือนต่อความรู้สึกของผู้เขียนและเพื่อนมหาวิทยาลัยที่ได้ยินเป็นอย่างมาก เมื่อได้โอกาสจึงกลับมาพิจารณาถึงรายละเอียดครอบครัวของผู้เขียนเพิ่มขึ้นถึงสังเกตเห็นว่า บรรดาญาติ ๆ หรือคนในชุมชนอายุไล่เลี่ยกับพ่อของผู้เขียนในชุมชน เกือบทั้งหมดจะส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ หรือในตัวเมือง เพื่อโอกาสความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพในอนาคต มากกว่าการอาศัยอยู่ในสวนต่อไป การที่ลูกหลานไปเติบโตและอาศัยอยู่นอกพื้นที่อาจสร้างความรู้สึกเสียใจที่ไม่มีคนสืบทอดองค์ความรู้และอาชีพการทำสวน แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่า การทำสวนเป็นอาชีพที่ได้ให้ผลตอบแทนน้อยมากแล้วในปัจจุบัน การส่งลูกหลานไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าจึงเป็นเรื่องของความรักที่หวังอยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีกว่าตนเอง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจจึงจัดเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งนอกเหนือจากความรักความหวงแหนในภูมิปัญญาที่อยากให้มีคนมาสืบทอด หรือมีคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง

           ณ ปัจจุบัน พื้นที่ตำบลสาวชะโงกและตำบลบางสวน ชาวสวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงประกอบอาชีพทำสวนเพื่อเลี้ยงปากท้อง ควบคู่ไปกับการได้รับเงินสนับสนุนจากลูกหลานที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากมาก ระบบถือแรงยังมีอยู่แต่มีจำนวนน้อยลง เนื่องจากปัญหาด้านแรงงานซึ่งพบได้ทั่วไปในสังคมผู้สูงอายุ ในอีกแง่หนึ่ง ชาวสวนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่พยายามรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน การเลือกอยู่ต่อของชาวสวนผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของการเข้าสังคม

           มีเรื่องตลกเกี่ยวกับปู่ของผู้เขียนที่ล่วงลับไปแล้วที่ดูจะนำมาเล่าถึงวัฒนธรรมการเข้าสังคมของผู้สูงอายุในเคสนี้ได้ ปู่มีเพื่อนที่รู้จักกันมานานอาศัยตั้งแต่สมัยเดินทางจากจีนมาไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบอยู่ที่เยาวราช เช่นเดียวกับชาวสวนที่เป็นคนจีนในแถบจังหวัดฉะเชิงเทรามักนำสินค้ามาขายที่ตลาดมหานาค ช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากพายเรือมาขายมะม่วงที่ตลาดมหานาคเสร็จก็จะแวะมาเยาวราชเพื่อพบปะเพื่อนฝูง ในช่วงวัยแก่ชราก็เช่นเดียวกัน คุณปู่มักแอบหนีออกจากบ้านญาติที่มาพักอาศัยในกรุงเทพฯ เพื่อไปเที่ยวหาเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ที่เยาวราช เมื่อญาติรู้เข้าก็ต้องแห่ไปตามตัวกลับมาอยู่บ้าน แต่ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญสำหรับชาวจีนโดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลสาวชะโงกและตำบลบางสวนที่จะไปประกอบพิธีกรรมและถือศีลกินเจ ทุกปีเมื่อถึงเทศกาล ปู่จะแวะกลับไปอาศัยอยู่กับลูกหลานที่ยังประกอบอาชีพทำสวนอยู่ ไปสุมหัวพูดคุยกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ศาลเจ้าโรงเจประจำชุมชนตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำ เมื่อหมดช่วงเทศกาลทุกคนแยกย้ายกลับไปประกอบอาชีพ ปู่ก็จะกลับมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อ และหาทางหนีเที่ยวเยาวราชทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เป็นกิจวัตรเช่นนี้จนถึงช่วงเวลาที่ท่านสิ้นลมหายใจ

รูปภาพที่ 4 ภาพบรรยากาศช่วงเทศกาลกินเจในศาลเจ้าโรงเจบั้นกิ๊มยืออี๊ตั่ว ตำบลสาวชะโงก
ที่มา: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์


           นอกจากศาลเจ้าและพิธีกรรมถือศีลกินเจที่เป็นพื้นที่ทางสังคมของคนในชุมชนแล้ว ที่น่าสังเกตคือช่วงเทศกาลกินเจเป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ที่ไม่เคยเห็นอยู่ในพื้นที่มาก่อนนอกช่วงเทศกาล คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ ที่ย้ายออกไปประกอบอาชีพและสร้างครอบครัวอยู่นอกชุมชน และใช้โอกาสช่วงเทศกาลกินเจกลับมาเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่และประกอบพิธีกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนคนที่มาร่วมงานเทศกาลก็ลดลง เมื่อผู้สูงอายุที่เป็นปัจจัยหลักที่ดำรงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและพิธีกรรมเสียชีวิตลง ท้องร่องที่คนเฒ่าคนแก่เคยใช้ประกอบอาชีพก็ไม่มีคนสืบทอด และลูกหลานก็ไม่มีเหตุผลที่จะกลับมารวมตัวกันในช่วงเทศกาลอีก เทศกาลกินเจในปัจจุบันจึงเงียบเหงาต่างจากอดีตที่ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของชุมชน

           เมื่อสมาชิกชุมชนลดน้องลง ระบบถือแรงที่เคยเป็นหัวใจสำคัญในการทำเกษตรของชุมชนก็ได้รับผลกระทบด้วย ปัญหาด้านสุขภาพของชาวสวนที่เข้าสู่วัยชราและออกแรงได้น้อยลง จำนวนคนในระบบถือแรงที่ลดลง ระบบถือแรงในหลายกลุ่มเปลี่ยนเป็นการจ้างคนมาช่วยในแต่ละช่วงเวลาที่ต้องใช้แรง ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรกรเพิ่มขึ้น สวนทางกับสุขภาพและแรงกายในการทำสวนที่ลดน้อยลง ตลอดจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองนำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรน้ำจืด เมื่อน้ำจืดถูกดึงเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมมากทำให้เกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อระบบนิเวศในแม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนไป ทำให้การทำสวนเป็นเรื่องยากขึ้น ในที่สุดชาวสวนหลายคนตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพโดยหันไปเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลามากขึ้น (สุวัฒน์ อัศวไชยหาญ, 2559 หน้า130)


บ่อกุ้ง อาชีพใหม่ของชาวสวนในสังคมผู้สูงอายุ

           ช่วงปี พ.ศ. 2515-2531 อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเกิดขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยพันธุ์กุ้งที่เลี้ยงเป็นกุ้งกุลาดำ จนกระทั่งช่วงประมาณพ.ศ. 2545-2546 กรมประมงนำเข้าพันธุ์กุ้งขาวแปซิฟิก หรือที่เรียกกันว่ากุ้งแวนาไม มีที่มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ Litopenaeus vannamei เป็นกุ้งพื้นถิ่นของอเมริกาใต้ โดยนำเข้ามาเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหากุ้งกุลาดำโตช้า ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาดทุน ภายหลังจาก กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์จึงแนะให้เกษตรกรหลายคนหันมาเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแทนกุ้งกุลาดำ (มาโนช ขำเจริญ และคณะ, 2560 หน้า 1)

           เดิมพื้นที่ตำบลบางสวนและตำบลสาวชะโงกมีการประกอบอาชีพขุดบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำอยู่ก่อนแล้ว แต่ภายหลังจากที่กรมประมงแนะนำการเพาะเลี้ยงกุ้งขาว การเลี้ยงกุ้งขาวทำรายได้มากกว่าการทำสวน อีกทั้งเงินที่ได้ยังเป็นเงินก้อนที่เห็นเม็ดเงินชัดกว่าการทำสวนที่ให้ผลผลิตรายปีแต่การเลี้ยงกุ้งให้ผลผลิต 3-4 ครั้งต่อปี และการทำบ่อกุ้งยังเหนื่อยน้อยกว่าการทำสวน เมื่อมีการพูดถึงรายได้และการใช้แรงที่ผ่อนเบาลงกันปากต่อปากมากขึ้น คนในชุมชนจึงเปลี่ยนจากการทำสวนมาขุดบ่อเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้น การเพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราสามารถหาซื้อพันธุ์กุ้งได้ในพื้นที่ มีตลาดหรือรถแช่แข็งรอรับซื้อเพื่อส่งต่อไปยังตลาดมหาชัยหรือตลาดนอกพื้นที่ การเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือการขึ้นกุ้งก็สามารถจ้างวานแรงงานที่ประกอบอาชีพรับขึ้นกุ้งโดยเฉพาะ โดยเลือกจำนวนคนที่ต้องการจ้างตามขนาดของบ่อกุ้ง ทำให้การเลี้ยงกุ้งไม่ต้องเดินทางออกไปนอกชุมชน เจ้าของบ่อสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การหาซื้อลูกกุ้งไปจนถึงการเก็บขายเมื่อถึงเวลา ระบบถือแรงที่เคยมีความสำคัญในอดีตสมัยที่ทำท้องร่องจึงเปลี่ยนเป็นการจ้างงานโดยจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน/ครั้ง เฉพาะช่วงที่ต้องการขึ้นกุ้งแทน

           แม้การเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพของคนในตำบลสาวชะโงกและตำบลบางสวนทำให้บ่อกุ้งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนกลับเห็นสมาชิกหน้าใหม่ในชุมชนซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงวัยกลางคน คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นลูกหลานของคนในชุมชนที่เข้ามารับช่วงต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินของบรรพบุรุษ ด้วยการเปลี่ยนอาชีพจากชาวสวนไปเป็นชาวบ่อ ตามความสะดวกสบายและค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงประชากรในหมู่ผู้สูงอายุที่เปลี่ยนจากการทำสวนมาเป็นบ่อกุ้งมีไม่มากนัก ผู้สูงอายุหลายคนยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนตามเดิมโดยศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งผ่านการปรึกษาและการให้คำแนะนำของสมาชิกอื่นในชุมชน และยังคงมีปฏิสัมพันธ์กันในหมู่เพื่อนฝูงตามปกติ มีการตั้งวงพูดคุยเรื่องต่าง ๆ เพื่อพูดคุยเรื่องการประกอบอาชีพ งานเทศกาล และเรื่องราวต่าง ๆ นอกช่วงเวลาที่หมุนเวียนกันถือแรงในสวน อีกทั้งการใช้แรงงานในสวนภายหลังจากที่ลูกหลานย้ายออกไปนอกชุมชน ถูกแทนที่ด้วยระบบถือแรงที่มีผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาแทนที่ หรือบางส่วนที่หันมาใช้ระบบจ้างงานแทนการถือแรงเนื่องจากตนเองไม่มีท้องร่องแล้ว และกิจกรรมปลีกย่อยที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย เช่น ยาฆ่าหญ้าสำหรับฉีดพ่นแทนการถอนหญ้าด้วยมือ ข้อจำกัดของท้องร่องจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจไม่ส่งต่อองค์ความรู้หรืออาชีพไปยังลูกหลาน กลายเป็นข้อจำกัดและโจทย์ที่ท้าทายความหวังของคนรุ่นใหม่ที่หวังสืบทอดและพัฒนาต่อยอดอาชีพนี้ต่อไป

           นอกเหนือจากจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว พื้นที่อื่นที่ยังพบการประกอบอาชีพทำสวนยกร่อง ชาวสวนปัจจุบันก็กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนการสืบทอดและการเลิกทำสวนด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม ที่เกิดจากธรรมชาติและการจัดการของมนุษย์ การสร้างประตูน้ำขวางลำคลองทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลง การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ณิวุฒิ หลายเจริญโชคชัย. 2563 87-90) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ทำให้การทำสวนแบบยกร่องค่อย ๆ เลือนหายไป


อ้างอิง

เจ้าพระยาภาสกรวงศ. 2431. เรื่องทำสวน. ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงสง่า อิงคุลานนท์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ณิวุฒิ หลายเจริญโชคชัย. 2563. สวนยกร่อง : มรดกวัฒนธรรมเกษตรเพื่อรับมืออนาคต. นนทบุรี : มูลนิธิชีววิถี

มาโนช ขำเจริญ และคณะ. 2560. การเลี้ยงกุ้งขาววานาไม(Litopenaeus vanamai) ร่วมกับกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon)(รายงานการวิจัย). คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

สมาคมชาวบางคล้า. 2544. บางคล้า ๑๐๐ ปี. ฉะเชิงเทรา : สมาคมชาวบางคล้า

สยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 2021. เล่าด้วยภาพ : นาในร่องสวน. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/323215901674254/photos/a.324081788254332/799024787426694/

สุวัฒน์ อัศวไชยหาญ. 2559. เบื้องหลังสารคดี “บางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต”. วารสารสารคดี, 32(378), 125-130.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. 2548. ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ท้องร่อง นากุ้ง เกษตรกรรม ชาวจีน ฉะเชิงเทรา ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share