วัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อ (culture of propaganda)

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 5986

วัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อ (culture of propaganda)

วาทศิลป์กับโฆษณาชวนเชื่อ

           หลักการพื้นฐานของการโฆษณาชวนเชื่อคือการโนมน้าวใจด้วยคำพูดและวาทศิลป์ ผู้พูดจำเป็นต้องสร้างสรรค์ถ้อยคำและเลือกใช้ภาษาที่สอดคล้องกับการแสดงพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านรู้สึกเห็นด้วยและนำไปสู่การคล้อยตามคำพูดเหล่านั้น ดังนั้น ภาษาในโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเทคนิคทางวาทศิลป์ (rhetorical method) (Rapp, 2012) โฆษณาชวนเชื่อที่ดีจึงต้องมีการสร้างวาทศิลป์ที่งดงาม การทำให้คนคล้อยตามคำพูดต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังและต้องทำให้วาทศิลป์สามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่างชัด เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ในทันที กล่าวอีกนัยหนึ่ง การโฆษณาชวนเชื่อคือวิธีที่ทำให้คนอื่นเข้าใจในคำอธิบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นคือชุดความคิด เป็นข้อถกเถียงที่ผู้พูดพยายามประดิษฐ์ด้วยถ้อยคำและภาษาที่โน้มน้าวคนอื่นได้ อริสโตเติลกล่าวว่า คำอธิบายที่โน้มน้าวใจย่อมแฝงไว้ด้วยข้อถกเถียงและการตัดสินเชิงศีลธรรม (Rapp, 2012) ในสมัยกรีกโบราณ พิจารณาว่าการพูดเพื่อโน้มน้าวใจ มีส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ 1) บุคลิกของผู้พูด 2) ความรู้สึกของผู้ฟัง และ 3) ภาษาที่ใช้ในการพูด สามส่วนนี้ทำให้การพูดโฆษณาชวนเชื่อดำเนินไป (Rapp, 2022)

           เพลโต กล่าวว่าการพูดโน้มน้าวใจที่ปราศจากข้อเท็จจริงและไม่มีความรู้จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด เมื่อผู้ฟังรับข้อมูลที่ไม่เป็นจริง พวกเขาก็จะเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เพลโตให้ความสำคัญกับความรู้ที่ปรากฎอยู่ในคำพูด ความรู้ที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ในสังคมสมัยใหม่ต่างจากสังคมกรีกโบราณ ประเด็นนี้ทำให้เกิดการทบทวนว่าสังคมที่มีสื่อเติบโตและขยายตัวไปทั่วโลก ผู้สร้างโฆษณาชวนเชื่อย่อมสามารถสร้างวาทศิลป์และใช้เทคโนโลยีช่วยเผยแพร่ มีผลทำให้ผู้ฟังและผู้อ่านไม่สามารถตรวจเช็คได้ว่าต้นตอของวาทศิลป์มาจากข้อมูลความรู้ที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด ในประเด็นนี้ Baudrillard (1994) อธิบายเรื่องความจริงที่สัมพันธ์กับสังคมและสัญลักษณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมปัจจุบัน มนุษย์สร้างสัญลักษณ์และเครื่องหมายเพื่อใช้แทนความจริง ชีวิตทางสังคมในโลกสมัยใหม่จึงเคลื่อนที่ไปพร้อมกับสัญญะที่ปรากฎอยู่ในสื่อและภาพลักษณ์ต่าง ๆ การอยู่กับภาพแทนเหล่านี้ทำให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับ “รากเหง้า” และ “สิ่งดั้งเดิม” แต่ความหมายเหล่านั้นได้สร้าง “ความจริง” ขึ้นมาในแบบของตัวเอง (perceived reality) หรือเป็นความจริงที่มนุษย์แต่ละคนใช้ประสบการณ์ของตัวเองสร้างมันขึ้นมา (Kellner, 1987) ซึ่งตรงกับคำว่า “ความเสมือนจริง” (simulacra) ในความคิดของ Baudrillard

           จากคำอธิบายของ Baudrillard ทำให้เข้าใจว่าโลกทางสังคมถูกสร้างขึ้นจาก “ความเสมือนจริง” หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นความหมายที่ถูกรับรู้ผ่านมุมมอง ความเชื่อ และโลกทัศน์ที่ต่างกัน ยิ่งในสังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่สร้างภาพลักษณ์และความหมายที่ซับซ้อน สิ่งเหล่านั้นก็ถูกให้คุณค่าไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อและงานประชาสัมพันธ์ที่เปรียบเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic representations) และเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่มีความซับซ้อน (Muller, 2023) การรณรงค์ด้วยการสื่อสารในเรื่องต่าง ๆ ในปัจจุบันต่างมีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวและชักจูงให้มวลชนเห็นคล้อยตาม เกิดการเชื่อฟังและยอมรับในความจริงที่ถูกสร้างให้มีความหมายและตอบสนองความรู้สึกของมนุษย์ ในแง่นี้ การโฆษณาชวนเชื่ออาจเป็น การชักจูงเพื่อให้คนเห็นพ้องร่วมกันอย่างยุทธศาสตร์ (strategic consensual persuasion) กล่าวคือ เป้าหมายของการโฆษณาชวนเชื่อในโลกสมัยใหม่ต้องการทำให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกระทำเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนความคิดคนไปพร้อมกับการจรรโลงคุณค่าและอุดมการณ์บางอย่างไว้


ความขัดแย้งทางสังคมกับโฆษณาชวนเชื่อ

           ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 การออกมาเรียกร้องสิทธิของนักศึกษา ทำให้เกิดความอธิบายแบบคู่ตรงข้ามที่ขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้ากับคนรุ่นหลังที่เป็นอนุรักษ์นิยม นักวิชาการด้านสื่อสารมวชนอธิบายปรากฎการณ์นี้ด้วยการแยกสองฝ่ายออกจากกัน และแสวงหาวิธีการบริหารจัดการความขัดแย้ง โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะรักษาเสถียรภาพของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไว้ได้ (Thompson, 2016) ในวงการสื่อสาร พยายามสร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยชี้ให้เห็นกลุ่มคน 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ถูกกดดัน กลุ่มนักต่อสู้หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม และกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสาร ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2010 การศึกษากลุ่มนักต่อสู้ทางสังคมได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลากหลายสาขาและพยายามมองบริบททางสังคมที่สัมพันธ์การต่อสู้ของมวลชน เช่น Demetrious(2011) อธิบายว่าการสื่อสารของกลุ่ม NGOs กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ภาคประชาสังคม และองค์กรชาวบ้าน มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสียงให้สังคมรับรู้ว่าพวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในการสื่อสารดังกล่าวจะมีกลยุทธ์เชิงสื่อสารเพื่อกำหนดเป้าหมายและวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้ผู้ที่มีอำนาจเกิดความหวั่นไหว

           Adi (2019) อธิบายว่าการสื่อสารของนักเคลื่อนไหวจะใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายและรวบรวมกลุ่มคนที่มาจากหลายแหล่ง และยุทธวิธีที่ปฏิบัติในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้คนหมู่มากเห็นด้วย ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายให้กับคำพูดและวาทศิลป์ที่แสดงต่อสาธารณะ (Servaes, 2012) ส่วน Heath et al. (2009) กล่าวว่าความหมายในการสื่อสารมีความสำคัญมาก เพราะความหมายเป็นเครื่องมือของการแสดงอำนาจ ความหมายที่โน้มน้าวใจให้คนเห็นด้วยก็จะทำให้อำนาจทำงานได้อย่างมีพลัง การสื่อสารสาธารณะจึงต้องสร้างการชี้นำและทำให้ผู้คนเห็นความจริงบางอย่าง ในประเด็นนี้ James (2011) กล่าวว่าการแสดงความหมายในพื้นที่สังคมที่เต็มไปด้วยความคิดที่ไม่ลงรอยกัน คือการทำให้ความคิดและความหมายที่คัดเลือกไว้ปรากฎอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ในขณะที่ Moloney (2006) อธิบายว่านักต่อสู้ที่กำลังสื่อสารกับสังคมล้วนเป็นผู้ที่สร้างโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากคำอธิบายและความหมายต่าง ๆ ล้วนถูกเลือกและถูกจัดการมาแล้ว โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะสื่อสารความหมายที่ตนเองเลือก (Moloney & McGrath, 2020)

           Arendt (1969) เคยกล่าวว่าอำนาจมิได้ทำให้มนุษย์ทำหรือมิทำสิ่งใด แต่อำนาจสัมพันธ์กับความต้องการที่มนุษย์มีอยู่และเลือกทำสิ่งนั้นให้เกิดผลตามที่ตนเองปรารถนา ดังนั้น อำนาจของการสื่อสารจึงทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่คาดหวังและผลักดันสิ่งนั้นให้คนอื่นคล้อยตามและเห็นพ้องต้องกัน การสื่อสารความหมายในยุคที่เทคโนโยลีดิจิทัลพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้การใช้อำนาจชี้นำดำเนินไปอย่างซับซ้อน ส่งผลให้คนบางกลุ่มเห็นด้วยกับความหมายที่ถูกสื่อสาร และมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ปัจจุบัน ผู้ขับเคลื่อนความหมายทางสังคมมีการตอบโต้กันอย่างหนักหน่วง เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างอำนาจและโน้มน้าวคนหมู่มากให้เข้ามาร่วมกลุ่ม กลุ่มที่สามารถชักจูงให้คนคล้อยตามความหมายที่ตนเองสร้างไว้ย่อมจะมีพลังในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในขณะที่คนส่วนน้อยอาจออกมาโต้แย้งและวิจารณ์ความหมายของคนกลุ่มใหญ่ (Ryan & Jeffreys, 2019) ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรักษาฐานเสียงของคนหมู่มากไว้ได้ถือเป็นการรักษาอำนาจ กลุ่มที่ยึดครองความหมายเพื่อทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของตนจึงพยายามทำให้คนหมู่มากศรัทธาและเชื่อมั่นในความหมายที่สร้างขึ้นให้นานที่สุด

           ผู้ที่มีบทบาทสร้างแรงจูงใจและโน้มน้าวให้มวลชนเห็นคล้อยตามเปรียบเสมือนเป็น “ผู้กระทำการเชิงยุทธศาสตร์” (strategic actor) (Nothhaft et al., 2021) ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยมสร้างความหมายผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่ ถือเป็นการดิ้นรนทางสังคมและท้าทายอำนาจ สิ่งที่นักสิทธิสตรีต้องการคือการสื่อสารความหมายต่อสาธารณะเพื่อให้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมและอำนาจที่มาจากบรรทัดฐานที่ให้ความสำคัญกับผู้ชาย การต่อสู้ของนักสิทธิสตรีจึงเป็นการคัดง้างและวิพากษ์กฎเกณฑ์แบบชายเป็นใหญ่ และรณรงค์ทางสังคมเพื่อสร้างแนวร่วมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดของผู้มีอำนาจให้ยอมรับสิทธิของผู้หญิง ในแง่นี้ กระบวนการต่อสู้ของนักสตรีนิยมจึงต้องทำให้สังคมเห็นพ้องและคล้อยตามความหมายที่ส่งเสริมสิทธิผู้หญิง


โฆษณาชวนเชื่อในมิติสังคม

           Ellul (1973) กล่าวว่าโฆษณาชวนเชื่อคือปรากฎการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ โฆษณาชวนเชื่อในฐานะเป็นความหมายและสัญลักษณ์สามารถทำให้มนุษย์อ่อนไหวต่อสิ่งที่โน้มน้าวใจและ Muller (2023) กล่าวว่ามนุษย์มักคิดว่าสิ่งที่เป็นความจริงจะมิใช่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม วิธีการโฆษณาชวนเชื่อจะมิใช่การพูดโกหกแบบปกติ ในความคิดของคนทั่วไปมองโฆษณาชวนเชื่อเป็นการทำให้คนเชื่อและเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจในแนวนี้ Ellul (1973) อธิบายว่าโฆษณาชวนเชื่อในสังคมสมัยใหม่เป็นการสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องล่อแหลมและอันตราย การทำความเข้าใจโฆษณาชวนเชื่อจึงต้องมองเห็นบริบทเฉพาะที่บ่มเพาะให้เกิดการสร้างความหมาย อย่างไรก็ตาม Bakir, et al. (2019) ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมยังสับสนความแตกต่างระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อกับการเชิญชวนให้ทำตาม กล่าวคือ การสื่อสารเพื่อเชิญชวน เช่น การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ การประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการขาย และการชักจูงให้ซื้อสินค้า การสื่อสารประเภทนี้ยึดหลักการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนหรือลูกค้าจะได้รับบริการและสินค้าที่ตรงกับโฆษณา การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและจับจ่ายใช้สอยจึงต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นจริง

           ในขณะที่การโฆษณาชวนเชื่อจะมีความซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมา กลวิธีเพื่อสร้างความหมายในโฆษณาชวนเชื่อจะมีการปรับเปลี่ยนและสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เป็นการชักจูงให้มวลชนเชื่อตามนั้น การสร้างข้อมูลในโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นปฏิบัติการของการปรับเปลี่ยนแก้ไข (manipulative practice) ประเด็นนี้ Muller (2023) ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมประชาธิปไตย โฆษณาชวนเชื่อมีมิติของการเปลี่ยนความจริง การลวงให้เชื่อและคล้อยตาม Bakir et al. (2019) อธิบายว่าการทำให้ข้อมูลบิดเบือนไปจากความจริง เป็นกลไกชี้นำให้กลุ่มเป้าหมายคิดและเข้าใจตามข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง กลุ่มเป้าหมายจะไม่มีสิทธิในการวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับข้อมูลในโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากกลไกของโฆษณาชวนเชื่อจะต้องไม่ทำให้ผู้สร้างข้อมูลถูกตรวจสอบ มวลชนจะต้องเชื่อคำบอกเล่าในโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย ด้วยเหตุนี้ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อต้องมีวิธีการที่หลากหลายเพื่อโน้มน้าวประชาชน วิธีการที่สำคัญคือการละเว้นและการปกปิดข้อมูลบางอย่างเพื่อปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ต่างไปจากเดิม ข้อมูลที่ถูกสร้างใหม่จะต้องตอกย้ำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ให้เกิดการจดจำและเชื่อตามนั้น รวมทั้งต้องปกปิดแหล่งที่มาและไม่เปิดเผยตัวผู้สร้างข้อมูล

           การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นการหลอกลวงด้วยการบิดเบือน (deception through distortion) (Muller, 2023) เป้าหมายเพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ และโลกทัศน์ของผู้สร้างโฆษณาชวนเชื่อ รูปแบบของการบิดเบือน เช่น พูดเกินความจริง สร้างข้อมูลปลอม และละเว้นไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริง นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทำบางอย่าง เช่น ให้ลงคะแนนเสียงกับบุคคลที่สมัครเป็นผู้แทนราษฎร โดยหวังว่าเมื่อเลือกบุคคลนั้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์ตามการโฆษณาชวนเชื่อ ประเด็นสำคัญคือการโฆษณาชวนเชื่อยังแฝงไว้ด้วยการบีบบังคับและการแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการขู่ให้รู้สึกกลัว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างผู้สร้างโฆษณาชวนเชื่อกับประชาชน (Bakir et al., 2019)

           จากข้อสังเกตของ Guy Debord (1967) ที่ปรากฎในหนังสือ Society of the Spectacle ทำให้เห็นสังคมที่แยกตัวเองออกจากความจริง คนในสังคมจะอยู่กับภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ในปริมณฑลของเศรษฐกิจและการเมืองในระบบทุนนิยม มนุษย์จะให้ความหมายชีวิตผ่านการครอบครองวัตถุ การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคสินค้ากลายเป็นบรรทัดฐานที่บ่งบอกสถานะของบุคคล Sussman (2011) อธิบายเรื่องนี้ว่าในสังคมเสรีนิยมใหม่ในระบอบประชาธิปไตยยุคโลกาภิวัตน์ การบิดเบือนข้อมูลเป็นเรื่องที่แพร่หลายและกระจายกว้างไปทุกส่วนของสังคม โดยเฉพาะสถาบันเชิงอำนาจ ทั้งสื่อมวลชน นายทุน นักการเมือง และผู้กำหนดนโยบายซึ่งล้วนสร้างโฆษณาชวนเชื่อด้วยความคิดและอุดมการณ์ที่ท้าทายกัน

           Taveira & Nyerges (2016) กล่าวว่าการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อจูงใจประชาชน สามารถทำงานร่วมกันกับระบบประชานิยมเพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับสิ่งตอบแทน ขณะเดียวกันผู้สร้างประชานิยมก็สามารถจักจูงให้ผู้คนเห็นด้วยกับความคิดบางอย่าง ตัวอย่างในสังคมอเมริกัน การสร้างแรงจูงใจแบบประชานิยมเกิดขึ้นโดยนักการเมือง ในการศึกษาของ Edelstein (1997) ชี้ให้เห็นว่าการโฆษณาชวนเชื่อไม่จำเป็นต้องปรากฎอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังพบได้ในวัฒนธรรมป๊อป ทั้งนี้ พรมแดนสื่อ การแสดงออกทางวัฒนธรรมและอำนาจทางการเมืองมิได้แยกขาดจากกันอีกต่อไป การศึกษาโฆษณาชวนเชื่อจึงต้องมองเห็นการทับซ้อนของพรมแดนต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง อาจถูกสื่อด้วยเพลง ภาพยนตร์ งานศิลปะ และสื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม ศิลปิน และประชาชนสามารถใช้สื่อเพื่อบ่งบอกความคิดและท้าทายกฎระเบียบทางสังคม จะเห็นว่าโฆษณาชวนเชื่อยุคใหม่จะเกิดจากคนหลากหลายกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องสร้างโดยผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น


เอกสารอ้างอิง

Adi A., (2019). Protest Public Relations- Communicating Dissent and Activism. Routledge.

Arendt, H. (1969). On violence. Harcourt Brace and World.

Bakir, V., Herring, E., Miller, D., & Robinson, P. (2019). Organized Persuasive Communication: A new conceptual framework for research on public relations, propaganda and promotional culture. Critical Sociology, 45(3), 311—328.

Baudrillard, J. 1994 [1981], Simulacra and Simulation. University of Michigan Press.

Debord, G. (1970). The Society of the Spectacle. Black & Red.

Edelstein, A. S. (1997). Total Propaganda from Mass Culture to Popular Culture. Routledge.

Ellul, J. (1973). Propaganda: The Formation of Men's Attitudes. Vintage Books.

Heath, R. L., Motion, J. & Leitch, S., (2009). Power and Public Relations: Paradoxes and Programmatic Thoughts. (pp.190—21). Proceedings of the 12th Annual International Public Relations Research, USA.

James, M. (2011). A Provisional Conceptual Framework for Intentional Positioning in Public Relations. Journal of Public Relations Research, 23(1), 93—118.

Kellner, D. (1987). Baudrillard, Semiurgy, and Death. Theory, Culture & Society, 4(1), 125–146.

Moloney, K. (2006). Rethinking Public Relations, PR Propaganda and Democracy. Routledge.

Moloney, K. & McGrath, C. (2020). Rethinking Public Relations, Persuasion, Democracy and Society. Routledge.

Muller, N. (2023). Public Relations and Feminist Activism: Strategic Consensual Persuasion or Propaganda. Revista Comunicando, 12(1), https://doi.org/10.58050/comunicando.v12i1.303

Nothhaft, H., Werder, K., Verčič, D. & Zerfass, A. (2021). Future Directions of Strategic Communication. Routledge.

Rapp, C. (2012). Aristotle on the Moral Psychology of Persuasion. In Ch. Shields (Ed.), The Oxford Handbook of Aristotle, (pp. 589–611), Oxford University Press.

Rapp, C. (2022). Aristotle’s Rhetoric. In Edward N. Z. (Ed.), The Stanford Encyclopedia of Philosophy. Spring 2022 Edition. The Metaphysics Research Lab.

Ryan, C. & Jeffreys, K. (2019). Beyond Prime-Time Activism, Communication Activism and Social Change. Routledge

Servaes, J. (2012). Soft power and public diplomacy: the new frontier for public relations and international communication between the US and China. Public Relations Review, 38(5), 643—651.

Sussman, G. (ed.). (2011). The Propaganda Society: Promotional Culture and Politics in Global Context. New York: Peter Lang.

Taveira, R. & Nyerges, A. (2016). Populism and Propaganda in the US Culture Industries. Australasian journal of American studies, 35(1), 1-10.

Thompson, G. (2016). Towards a theory of rent-seeking in activist public relations, Public Relations Inquiry, 5(3), 213—231.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โฆษณาชวนเชื่อ Culture propaganda ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share