มานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2186

มานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน

ข้อสงสัยต่อสิทธิมนุษยชน

           นักมานุษยวิทยามีความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างไปจากนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวทางสังคม เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของนักมานุษยวิทยามิได้มองเชิงความเป็นสากล (Goodale, 2006) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 ที่องค์การสหประชาชาติต้องการให้สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันสนับสนุนคณะกรรมาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (UN Commission on Human Rights) เพื่อประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UniversalDeclaration of Human Right) ในปี ค.ศ. 1948 (Morsink, 1999) ซึ่งนานาชาติต่างเห็นชอบให้สัตยาบันและสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการไม่สนับสนุนให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ ความพยามขององค์การสหประชาชาติที่จะให้นักมานุษยวิทยาสนับสนุนปฏิญญาดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งคนในสังคมแต่ละแห่งย่อมมีนิยามเกี่ยวกับสิทธิที่ไม่เหมือนกัน แต่ปฏิญญานี้กำลังทำให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเจือจางและจัดระเบียบสิทธิให้เป็นแบบเดียวกัน (Barnett, 1948; Steward, 1948)

           นักมานุษยวิทยาต่างคิดทบทวนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้โดย Melville Herskovits ทำหนังสือชี้แจงว่าหลักความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนไม่สอดคล้องกับหลักทางจริยธรรมที่คนในแต่ละวัฒนธรรมปฏิบัติต่างกัน การให้ทุกสังคมปฏิบัติตามกฎสากลอาจทำให้คนในสังคมนั้นมีความขัดแย้ง (AAA, 1947) คณะกรรมการในสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันมองว่าปฏิญญาดังกล่าวเป็นความคิดแบบตะวันตกซึ่งเหมือนการใช้อำนาจแบบจักรวรรดินิยมมาบังคับให้คนในวัฒนธรรมอื่นเชื่อฟังและทำตามกฎ ดังนั้น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็คือลัทธิจักรวรรดินิยมทางศีลธรรม (moral imperialism) (Hernandez-Truyol, 2002) เป็นความพยายามที่ชาวตะวันตกจะควบคุมคนในดินแดนต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามกฎเดียวกัน นักมานุษยวิทยาคิดว่าสิทธิมิใช่เรื่องสากลหรือเป็นบรรทัดฐานที่ตายตัว ทำให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ


สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

           ระหว่างทศวรรษ 1940-1980 การขับเคลื่อนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติยังไม่มีนักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้อง การทำงานส่วนใหญ่จะดำเนินไปโดยนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมและเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชน จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ประเด็นเกี่ยวกับการอยู่รอดทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางและเป็นโจทย์ใหญ่ของนักมานุษยวิทยา สถานการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกกระทำจากรัฐและนายทุนภายใต้การพัฒนาโครงขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน ทางรถไฟ เส้นทางคมนาคม โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม และรีสอร์ท ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองหดหายไป (Turner, 1997) ในปี ค.ศ. 1992 สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันได้จัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาการละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินของชนเผ่าพื้นเมือง

           Ellen Messer (1993) อธิบายว่านักมานุษยวิทยาเริ่มเกี่ยวข้องกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนที่มีนักวิชาการสาขาอื่นให้ความสำคัญและมีบทบาทนำในการทำงาน ในช่วงทศวรรษ 1990 นักมานุษยวิทยาจึงยังเป็นชายขอบของการทำงานด้านนี้ แต่ปัญหาการสูญหายของวัฒนธรรม ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องเสนอความคิดและวิธีการปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรม เช่น การส่งเสริมแนวคิดสิทธิวัฒนธรรม (cultural rights) และสิทธิของ ชนเผ่าพื้นเมือง (rights of indigenous peoples) จนถึงปี ค.ศ. 1999 กรรมการสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันก็พิจารณาประกาศปฏิญญามานุษยวิทยาและสิทธิมนุษยชน (Declaration on Anthropology and Human Rights) โดยมีเป้าหมายใช้ความรู้มานุษยวิทยาให้สังคมตระหนักและเข้าใจถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการธำรงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของตนเอง (Committee for Human Rights, 1999) การเคลื่อนไหวนี้ทำให้บทบาทของนักมานุษยวิทยาในประเด็นสิทธิมนุษยชนถูกกล่าวถึงมากขึ้นและยังสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดเรื่องสิทธิที่ไม่เคยพิจารณาถึงศักยภาพทางวัฒนธรรมที่มนุษย์แสดงออก

           ในปี ค.ศ. 2000 คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนในสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับส่งเสริมและปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีประเด็นสำคัญ 6 ด้าน คือ (1) การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน (2) ขยายความหมายของสิทธิมนุษยชนโดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยา (3) พัฒนานักมานุษยวิทยาให้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (4) ร่วมมือกับองค์กรต่างชาติ คนท้องถิ่น และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำความรู้ทางมานุษยวิทยาไปปรับใช้และให้แนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (5) ให้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชน ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคเอกชน (6) สนับสนุนการวิจัยในประเด็นสิทธิมนุษยชนและแสวงหาการนำไปประยุกต์ใช้ จะเห็นได้ว่าบทบาทของนักมานุษยวิทยาในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และนำเสนอความคิดที่ว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคือรูปแบบของการปฏิบัติทางวัฒนธรรม (culturalpractice) (Perry, 1998) ซึ่งช่วยขยายความหมายของสิทธิมนุษยชนให้กว้างขึ้น มิได้เป็นเพียงคำอธิบายเชิงกฎหมายเพียงอย่างเดียว

           ช่วงทศวรรษ 2000 นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนรับความคิดของมานุษยวิทยาไปศึกษาและสร้างคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยให้ความสนใจในเรื่อง “ศักยภาพ” Turner (1997) อธิบายว่านักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพลังทางวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์มองและให้ความหมายต่อชีวิตไม่เหมือนกัน สิ่งนี้คือรากฐานที่จะทำให้เข้าใจว่ามนุษย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ย่อมเข้าใจ รับรู้ คิดวิเคราะห์ ให้คุณค่า สร้างความหมาย ปฏิบัติและแสดงออกในสิทธิด้วยวิธีการต่าง ๆ การอยู่ในวัฒนธรรมที่มนุษย์สืบทอด สร้างอัตลักษณ์และเคารพกันและกันคือสิทธิที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง การพิจารณาคุณค่าของการมีชีวิตจึงต้องเข้าใจแบบแผนและกฎเกณฑ์ที่หลากหลายที่มนุษย์ปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานของสังคมใดไปตัดสินและชี้ถูกชี้ผิดกับการปฏิบัติในสังคมอื่น (Messer, 1997) ประเด็นเหล่านี้ทำให้นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาการปฏิบัติด้านสิทธิที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ โดยวิเคราะห์ให้เห็นปฏิบัติการที่คนกลุ่มต่าง ๆ แสดงตอบโต้กันด้วยความคิดสิทธิมนุษยชน


การวิพากษ์สิทธิมนุษยชน

           Goodale (2006) ชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจ “สิทธิมนุษยชน” ควรมองบริบทของการขับเคลื่อนในมิติทางสังคม การเมือง และอุดมการณ์ คำและความหมายของสิทธิมนุษยชนถูกกล่าวถึงในกลุ่มนักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์และนักต่อสู้ทางสังคมซึ่งพยายามสร้างความชัดเจนและขอบเขตของความหมายเพื่อนำไปปฏิบัติได้ในการทำงาน ปรากฎการณ์นี้สามารถมองว่าสิทธิมนุษชนคือวาทกรรม (human rights discourse) ที่มีผลต่อการควบคุมและจัดระเบียบความสัมพันธ์ของมนุษย์ ดังนั้น การตีความสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มต่าง ๆ ย่อมจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสถานะและการมีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละคน การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงดำเนินไปบนประสบการณ์ที่มนุษย์เรียนรู้ในช่วงเวลาและเงื่อนไขของการต่อรองเชิงอำนาจที่เปลี่ยนไป นิยามสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่มีอิทธิพลต่อการทำงานด้านสิทธิในประเทศต่าง ๆ แฝงด้วยอุดมการณ์เหตุผลนิยมแบบตะวันตกที่แสวงหามาตรฐานสากลของความเป็นมนุษย์และความก้าวหน้าทางสังคมที่ประเมินจากคุณภาพชีวิตมนุษย์ที่ดีขึ้น (Panikkar, 1996) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ไขว่คว้าหาวิธีการป้องกันช่วยเหลือมนุษย์ในประเทศของตนซึ่งยังรอความสำเร็จ เพราะปัญหาการละเมิดความเป็นมนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าการใช้กฎหมายควบคุม

           สิทธิมนุษยชนในปัจจุบันกลายเป็นบรรทัดฐานที่มีพลัง (hypernormativity) และมีลักษณะเป็นมนุษยนิยมตามกรอบ (normative humanism) (Goodale, 2006) ซึ่งมองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้มีสติปัญญา มีความรู้สึก มีความปรารถนา มีความสามารถที่จะคิดตัดสินใจและทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมทางสังคม ในความคิดของมนุษยชนจึงให้ความสำคัญกับ “ความสามารถของมนุษย์” (human capabilities) (Nussbaum, 2000) สภาพดังกล่าวนี้ทำให้เป้าหมายของสิทธิมนุษยชนคือการสร้างกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เป็นแบบแผนเดียวกัน โดยเชื่อว่าการที่มนุษย์ปฏิบัติตามกฎกติกาเดียวกันจะทำให้มนุษย์ค้นพบอิสรภาพ เสรีภาพ และความยุติธรรม ดังนั้น การทำงานของสิทธิมนุษยชนคือวิธีปฏิบัติเชิงศีลธรรม (ethical practice) ที่ก่อตัวบนอุดมการณ์ที่เชื่อในศักยภาพและความมีเหตุผลของมนุษย์ พร้อมกับการเน้นคุณค่าในปัจเจกนิยมที่มนุษย์แต่ละคนเป็นเอกเทศต่อกัน (rational individualism) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิทธิมนุษยชนสากลคือการปรับตัวและการแตกหน่อใหม่ของความศิวิไลซ์แบบยุคสมัยใหม่ (Goodale,2006) การตอกย้ำและเน้นคำอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนสากลในปัจจุบันจึงเป็นการแผ่ขยายของลัทธิเสรีนิยมสุดโต่งของสังคมโลก (global superliberalism) (Goodale, 2005)


การเมืองของสิทธิและชีวิตทางวัฒนธรรม

           สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันคือองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการทำงานดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม หมายถึงการตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการกำหนดมาตรฐานและหลักการเรื่องสิทธิที่ชี้นำโดยสังคมตะวันตกกับกลุ่มประเทศยากจนที่มีวิธีปฏิบัติเรื่องสิทธิแตกต่างไปจากตะวันตก (Goodale, 2005) ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนในฐานะเป็นการปฏิบัติทางสังคมและการเผยแพร่อุดมการณ์มนุษยนิยมและเหตุผลนิยมตะวันตก ทำให้การปฏิบัติด้านสิทธิในรูปแบบอื่นที่สัมพันธ์กับความเชื่อศาสนาขนบธรรมเนียมและประเพณีกลายเป็นที่จ้องมองและถูกประเมินด้วยมาตรฐานตะวันตก ด้วยสภาวะนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องสิทธิในมุมมองทางมานุษยวิทยาซึ่งสนใจบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของมนุษย์ สิทธิจึงมิใช่สิ่งสากลตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ หากแต่เป็นแบบแผนการปฏิบัติของมนุษย์ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น การทำความเข้าใจการปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในแต่ละสังคมจึงจำเป็นต้องศึกษาว่าในสังคมที่ต่างกันนั้นมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขอะไรที่ส่งผลต่อการกระทำด้านสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลไกด้านกฎหมายและการบริหารงานของรัฐที่ใช้อำนาจสั่งการและจัดระเบียบประชาชน

           จะเห็นว่า สิทธิมนุษยชนมิใช่บรรทัดฐานที่คงที่ แต่เคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามปฏิสัมพันธ์ของคนหลายกลุ่มทั้งนักกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการ ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลของการเมืองระหว่างประเทศและการทำงานร่วมกันขององค์กรนานาชาติ สิทธิมนุษยชนสากลจึงเป็นระบอบข้ามชาติ (transnational regime) ที่ขยายตัวและเติบโตจากลัทธิเสรีนิยม ภายใต้ระบอบดังกล่าวจะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลากหลาย ในแง่นี้ การทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชนจึงต้องมองเห็นลักษณะพหุลักษณ์ของการแสดงออกเรื่องสิทธิ (Goodale, 2006a) ข้อสังเกตของ Cowan et al. (2001) ชี้ว่าความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันเกิดขึ้นจากทฤษฎีกฎหมายและการเมือง ทำให้การปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิวนเวียนอยู่กับเรื่องการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิและการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ในทางกลับกัน นักมานุษยวิทยาพิจารณาว่าการทำงานเกี่ยวกับสิทธิคือการตรวจสอบผู้กระทำการต่าง ๆ (social actors) ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมเพื่อเข้าใจว่ากระบวนการทำให้มนุษย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองนั้นดำเนินไปอย่างไร

           ตัวอย่างการศึกษาของ Merry (2005) อธิบายว่าปัจจุบัน นานาชาติให้ความสนใจการป้องกันความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง รัฐบาลและองค์กรสิทธิสตรีต่างรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักรู้และระมัดระวังที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติที่เกิดขึ้น แต่ละประเทศจะมีกลไกการทำงานไม่เหมือนกันและมีวิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงต่างกัน ทำให้การตีความสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเฉพาะที่เกิดขึ้นในบริบทท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นการทำตามกฎสากล Riles (2000) กล่าวว่าการทำความเข้าใจเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการทำงานสิทธิมนุษยชน โดยเสนอให้นักมานุษยวิทยาใช้ข้อมูลทางชาติพันธุ์มาช่วยสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม มุมมองความคิดของคนท้องถิ่นที่มีต่อสิทธิควรนำมาอธิบายเพื่อทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกันมีความหมายในสังคมนั้นอย่างไร

           Wilson & Mitchel (2003) อธิบายว่าการสถาปนาสิทธิมนุษยชนสากลในโลกปัจจุบันมาพร้อมกับการนิยามความเป็นมนุษย์ สิทธิ ความยุติธรรม และระบบศีลธรรมซึ่งชาติตะวันตกล้วนมีอิทธิพลในเวทีนานาชาติ ในขณะที่ความรู้และประสบการณ์ของคนท้องถิ่นไม่ได้ถูกอธิบายในวงกว้าง ทำให้มองไม่เห็นความหลากหลายของการแสดงออกในเรื่องเหล่านี้ ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การเกิดขึ้นของขบวนการมนุษยธรรมนิยม (humanitarianism) ทำให้นานาชาติเพ่งเล็งการกระทำของภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจจะละเมิดสิทธิของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ในองค์กรมนุษยธรรมของสหประชาชาติเข้าไปแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนที่เดือดร้อน ผู้อพยพลี้ภัย และผู้ตกเป็นเหยื่อของสงครามในประเทศกำลังพัฒนา มีการตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 2002 เพื่อนำนักการเมืองและผู้ปกครองที่ละเมิดสิทธิประชาชนมาดำเนินคดี ขณะเดียวกันมีการเติบโตทางความคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นสากลทางศีลธรรม (moral universalism) ขยายตัวไปทั่วโลก

           ภายใต้นิยามของสิทธิมนุษยชน คนแต่ละกลุ่มถูกสร้างให้มีตัวตนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การเป็นเหยื่อ การเป็นพยาน การเป็นผู้รอดชีวิต การเป็นผู้กระทำผิด การเป็นผู้รู้เห็น และการเป็นผู้บงการ ตัวตนเหล่านี้มีนัยยะสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนวาทกรรมสิทธิมนุษยชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กลไกของรัฐที่ใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมักจะสนใจพฤติกรรมที่เป็นความรุนแรง แต่มักจะมองไม่เห็นผลกระทบที่ไม่คาดคิดที่เกิดกับคนที่ไม่มีอำนาจ ดังนั้น การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนควรให้เกิดการเปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศีลธรรมของคนที่มีพื้นฐานที่ต่างกัน มิควรใช้กฎหมายเพียงด้านเดียวมาเป็นเครื่องมือตัดสินความถูกและผิดของความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน


เอกสารอ้างอิง

AAA (American Anthropological Association). (1947). Statement of human rights. American Anthropologist, 49, 539–43.

Barnett, H. G. (1948). On science and human rights. American Anthropologist, 50, 352–55.

Committee for Human Rights, American Anthropological Association. (1999). Declaration on anthropology and human rights. http://www.aaanet.org/stmts/humanrts.htm

Cowan, Jane K., Dembour, M-B., & Wilson, R.A. (eds.). (2001). Culture and Rights: Anthropological Perspectives. Cambridge: Cambridge University Press.

Goodale, M. (2005). Empires of law: Discipline and resistance within the transnational system. Social and Legal Studies, 14, 553–83.

Goodale, M. (2006). Toward a Critical Anthropology of Human Rights. Current Anthropology, 47(3), 485-511.

Goodale, M. (2006a). Introduction To Anthropology and Human Rights in a New Key. American Anthropologist, 108(1), 1 – 8.

Hernandez-Truyol, B.E. (ed.). (2002). Moral Imperialism: A Critical Anthology. New York: New York University Press.

Merry, S.E. (2005). Human Rights and Gender Violence: Translating International Law into Local Justice. Chicago: University of Chicago Press.

Messer, E. (1993). Anthropology and human rights. Annual Review of Anthropology, 22, 221–49.

Messer, E. (1997). Pluralist approaches to human rights. Journal of Anthropological Research, 53, 293–317.

Morsink, J. (1999). The Universal Declaration of Human Rights: Origins, drafting, and intent. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Nussbaum, M. (2000). Women and development: The capabilities approach. Cambridge: Cambridge University Press.

Panikkar, R. (1996) [1982]. Is the notion of human rights a Western concept? In P. Alston, (ed.), Human rights law, (pp.161–88). Aldershot: Dartmouth.

Perry, M. (1998). The idea of human rights: Four inquiries. Oxford: Oxford University Press.

Riles, A. (2000). The Network Inside Out. Ann Arbor: University of Michigan Press.

Steward, J. (1948). Comment on the statement on human rights. American Anthropologist. 50, 351–52.

Turner, T. (1997). Human rights, human difference: Anthropology’s contribution to an emancipatory cultural politics. Journal of Anthropological Research, 53, 273–91.

Wilson, R.A. & Mitchel, J.P. (2003). Human Rights in Global Perspective: Anthropological studies of rights, claims and entitlements. London and New York: Routledge.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สิทธิมนุษยชน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share