สาบม่วง วัชพืชต่างถิ่นในไร่ชุมชนชาติพันธุ์

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2758

สาบม่วง วัชพืชต่างถิ่นในไร่ชุมชนชาติพันธุ์

           สายพันธุ์ต่างถิ่น เกิดจากการแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือพื้นเมือง และสายพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยน ที่ซึ่งการแบ่งแยกประเภทขั้วตรงข้ามเป็นประโยชน์ในทางชีววิทยาและนิเวศวิทยา ช่วยกำหนด บ่งบอกแหล่งที่อยู่ ความเป็นมา และข้อมูลรายละเอียดของสายพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านั้นในระบบนิเวศเดิมและที่ใหม่ การเคลื่อนย้ายสายพันธุ์ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและความไม่ตั้งใจของมนุษย์ ย้ายจากระบบนิเวศหนึ่งในสถานที่หนึ่งไปสู่ระบบนิเวศในสถานที่ใหม่ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม สายพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศใหม่ถูกนิยามว่าเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น สายพันธุ์ต่างถิ่นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชุดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ ที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต บางสายพันธุ์ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วจนสร้างปัญหาและผลกระทบต่อระบบนิเวศ ในขณะที่บางสายพันธุ์เข้าไปสร้างความเป็นไปได้ของรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ การทดแทนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ลดจำนวนลงเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เป็นต้น

           บทความนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูลที่สังเกตเห็นจากการเก็บข้อมูลภาคสนามปี 2565 ที่ผู้เขียนได้สอบถามถึงปัญหาในการทำเกษตรกรรมของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง จังหวัดอุทัยธานี ที่กำลังประสบปัญหาสาบม่วงหรือสาบแมว (Praxelis clematidea) พืชสายพันธุ์ต่างถิ่นที่เจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่เกษตรกรรมในชุมชนหลังจากเริ่มหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ บทความนี้จึงพูดถึงปัญหาวัชพืชที่เข้ามาพร้อมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ข้อจำกัดและผลกระทบต่อชุมชน ความพยายามและข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดดังกล่าว


อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและสัปปะรด จุดเริ่มต้นการเดินทางของสาบม่วง

           มันสำปะหลังและสัปปะรด เป็นพืชสายพันธุ์พื้นเมืองของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ (สมพร และศิริชัย อ้างถึงใน เรืองวิทย์ และคณะ, 2563, 172) และเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกภายหลังการค้นพบทวีปอเมริกา ที่นักเดินเรือสัญชาติต่าง ๆ นำพืชสายพันธุ์ต่าง ๆ กระจายปลูกในพื้นที่อาณานิคมทั่วโลก ในส่วนของสัปปะรดสันนิษฐานว่าเดินทางถึงประเทศไทยในสมัยอยุธยาช่วง พ.ศ. 2223–2243 จากการเดินเรือของนักเดินชาวโปรตุเกส ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศเป็นระยะเวลานานจนคนทั่วไปเข้าใจว่าสัปปะรดเป็นพืชสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย (กรมส่งเสริมการเกษตร, ม.ป.ป.,) ส่วนมันสำปะหลังนำเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2329 ที่นำเข้ามาจากมาเลเซียในช่วงเวลาเดียวกันกับยางพาราซึ่งนิยมปลูกร่วมกันเพื่อนำมาทำแป้งมันและสาคูส่งขายไปยังมาเลเซีย (สมบูรณ์ อ้างถึงใน เรืองวิทย์ 2563, 172)

           ความนิยมและการขยายตัวของมันสำปะหลังเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราคาแป้งมันที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงมาก ทำให้เกษตรกรไทยหันมาลงทุนปลูกมันสำปะหลังเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีชาวจีนอพยพตั้งโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในแถบทวีปยุโรป ทำให้มีความต้องการอาหารสำหรับปศุสัตว์ โดยอาหารสัตว์ที่นิยมใช้ในการเลี้ยงหมูคือกากถั่วเหลืองผสมกากมันสำปะหลัง ประเทศไทยจึงเริ่มผลิตมันสำปะหลังเพื่อส่งออก ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์แบบสดและแปรรูป (สมบูรณ์ ศิริประชัย ใน เรืองวิทย์ และคณะ, 2563, 172-174) มันสำปะหลังและสัปปะรดเป็นพืชที่มีลักษณะทนต่อความแห้งแล้ง ชอบอากาศร้อน ไม่ต้องการการดูแลมากนัก สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขังและปลูกได้ดีในดินปนทราย ทำให้ได้รับความนิยมปลูกในบริเวณที่เป็นที่ราบเนินเขาในแถบภาคตะวันออก ก่อนจะขยายตัวไปทั่วประเทศ

           สำหรับจังหวัดอุทัยธานี การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสัมพันธ์กับนโยบายการตัดถนนของหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับการตัดถนนสุขุมวิทที่กระตุ้นการบุกเบิกและจับจองที่ดินทำเกษตรกรรม และการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออก (อำพิกา สวัสดิ์วงศ์ ใน เรืองวิทย์ และคณะ, 2563, 176-178) การตัดถนนสัมพันธ์กับนโยบายสกัดกั้นอิทธิพลคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ช่วง พ.ศ. 2500–2520 ที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม การอพยพเข้ามาของคนภายนอกเพื่อทำเกษตรกรรม ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลสัมภาษณ์สมาชิกชุมชนกะเหรี่ยง ที่ในช่วงเวลานั้น บริเวณรอบนอกชุมชนเริ่มมีคนอพยพเข้ามามากขึ้นและปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุทัยธานี ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัด เกิดชุมชนขึ้นใหม่และพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น

ภาพที่ 1 สมาชิกชุมชนกำลังเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

           การจัดการพื้นที่เกษตรแบบนิคม (Plantation) เป็นรูปแบบการเกษตรที่ได้รับความนิยมในการปลูกมันสำปะหลังและสัปปะรด ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับการปลูกชนิดดังกล่าว มีการเกลี่ยดินให้เรียบ ปลูกพืชเป็นแถวเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและเก็บเกี่ยว พื้นที่ปลูกสัปปะรดและมันสำปะหลังมักเป็นที่ราบเนินเขาหรือเชิงเขาที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือเคยเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมเนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่มาก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และมักเป็นดินปนทราย ในการเพาะปลูกจำเป็นต้องมีการขนย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะพันธุ์ไปยังพื้นที่เพาะปลูก การเคลื่อนย้ายพันธุ์มันสำปะหลังและสัปปะรดนำไปสู่การเคลื่อนย้ายวัชพืชสำคัญอย่าง สาบม่วง (สาบแมว) ที่สันนิษฐานว่าติดมาจากแหล่งเพาะปลูกในวงจรการปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ซึ่งทั้งมันสำปะหลัง สัปปะรด และสาบม่วง ล้วนเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาจากแถบอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ทั้งสิ้น


การแพร่ระบาดของสาบม่วงในพื้นที่เกษตรกรรม

           สาบม่วง หรือ สาบแมว (กรมป่าไม้) (Praxelis clematidea R.M.King & H.Rob.) เป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของอเมริกาใต้ ในประเทศไทยมีประวัติการค้นพบสาบม่วงครั้งแรกที่แปลงทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีช่วง พ.ศ. 2546 โดยในช่วงแรกมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเนื่องจากลักษณะของใบคล้ายสาบเสือ จึงเข้าใจว่าเป็นวัชพืชในตระกูลเดียวกับสาบเสือ สาบม่วงแพร่กระจายทางเมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและปลิวตามลม มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 40-50 วันเท่านั้น นอกจากการแพร่กระจายทางลมแล้ว เมล็ดของสาบม่วงยังสามารถติดไปกับวัสดุทางการเกษตร เครื่องจักร ขนของสัตว์ รวมถึงเสื้อผ้าของมนุษย์ด้วย อีกทั้งสาบม่วงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของไทย สาบม่วงพบการแพร่กระจายหนาแน่นในแปลงปลูกมันสำปะหลัง ยางพารา สัปปะรด และไม้ผลต่าง ๆ ตลอดจนพื้นที่ที่ไม่ได้ทำการเกษตร เช่น ริมถนน โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงเพียงพอ โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่มีการแพร่กระจายของสาบม่วงมากเป็นพิเศษ (ยุวรรณ อนันตนมณี และคณะ, 2556, 2121-2122) กรมป่าไม้จัดให้ สาบม่วง (ใช้ชื่อว่าสาบเสือ) เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วในประเทศไทย และพบการระบาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, 2556, 46) การแพร่ระบาดของสาบม่วงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ บทบาทของสายพันธุ์ดั้งเดิมอื่น ๆ ในระบบนิเวศ การหมุนเวียนของสารอาหารในระบบนิเวศ (nutrient cycle) และการแพร่กระจายของสาบม่วงจำนวนมากยังเพิ่มโอกาสการเกิดไฟป่ามากขึ้นอีกด้วย(Intanon et al., 2020, 261) ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบการแพร่ระบาดของสาบม่วง ในอุตสาหกรรมหรือพื้นที่เพาะปลูกไม้ประดับสวยงาม (Ornamental crop) ตลอดจนพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ แนวรั้วและคูน้ำ ทางเท้า ทางรถไฟ (Khamare et al., 2020, 1-2) ทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติของพื้นที่ร่วมกันคือ มีพื้นที่เปิดโล่งและแสงแดดส่องถึงผิวดิน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสาบม่วง

           อย่างไรก็ตามการจำแนกสายพันธุ์ต่างถิ่นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มีการจำแนกผลกระทบของสายพันธุ์ต่างถิ่น 3 ประการ ได้แก่ ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัย สำหรับสาบม่วง (สาบแมว) พบว่ามีการระบุผลกระทบแค่เพียงด้านระบบนิเวศเพียงเท่านั้น ในขณะที่การให้ข้อมูลและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนกะเหรี่ยงและชุมชนเกษตรอินทรีย์ พบว่าสาบม่วง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและชุมชน นอกเหนือจากผลกระทบต่อระบบนิเวศตามการระบุของหน่วยงานรัฐ

ภาพที่ 2 สาบม่วงในไร่สัปปะรดอินทรีย์ จังหวัดราชบุรี


กำจัด-จำกัด ปัญหาในการกำจัดวัชพืชของชุมชน

           สำหรับแนวทางในการกำจัดสาบม่วง ยากำจัดวัชพืชเป็นวิธีการจัดการที่มีความสะดวกสบายและได้รับความนิยมมากที่สุด ยากำจัดวัชพืชมีการพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับการใช้ในแปลงพืชเศรษฐกิจ ที่พืชเศรษฐกิจหลักจะได้รับผลกระทบน้อยแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต เช่น มันสำปะหลังมีอาการยอดอ่อน-ใบอ่อนไหม้หลังจากโดนยา หรือในต้นสัปปะรดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก การแพร่ระบาดของสาบม่วงทำให้เกษตรกรหลายคนจำเป็นต้องลงทุนยากำจัดวัชพืช ทำให้ต้นทุนการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กำไรที่จะได้รับจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจึงลดลง และการใช้ยากำจัดวัชพืชยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่พืชชนิดอื่นในบริเวณที่มีการฉีดพ่นยาได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังเช่นในกรณีของชุมชนพุเม้ยง์ ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงโพล่ง ที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพึ่งพาภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมในการทำเกษตรกรรมแบบที่เรียกว่า ไร่หมุนเวียน การใช้ยากำจัดวัชพืช ส่งผลกระทบต่อพืชบริเวณรอบนอกแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ชุมชนพุเม้ยง์ปลูกในไร่ผัก (ไร่หมุนเวียน) ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่แพร่กระจายเข้าสู่ไร่ผักจากการชะล้างของฝนและกระแสลม ทำให้พืชบางชนิดตายเนื่องจากไม่ทนต่อยา เช่น พริกขี้หนู แตง ผักกูด เป็นต้น

           ในกรณีที่ไร่มันสำปะหลังและไร่สัปปะรดอยู่ติดกับไร่ผัก สมาชิกชุมชนเลือกที่จะกำจัดสาบม่วงด้วยการถอน/ดึงด้วยมือเปล่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการกำจัดที่ใช้ต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของวิธีการนี้ อยู่ที่การเลือกช่วงอายุในการถอนสาบม่วง ที่จำเป็นจะต้องถอนก่อนที่จะออกดอก เนื่องจากส่วนดอกเป็นส่วนที่สาบม่วงใช้ในการขยายพันธุ์ การถอนในช่วงที่ออกดอกแล้วแทนที่จะยับยั้งการกระจายกลับจะช่วยแพร่กระจายสาบม่วงมากขึ้น และการถอนด้วยมือเปล่าแม้จะใช้ต้นทุน(ทางเศรษฐกิจ) ต่ำ แต่จำเป็นต้องใช้แรงกายจำนวนมาก สมาชิกชุมชนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์แบบติดตลกระหว่างที่กำลังกำจัดสาบม่วงด้วยมือเปล่าว่า

“…ถอนหญ้าด้วยมือแบบนี้ทั้งปีก็ไม่เสร็จ ถอนแปลงนี้เสร็จแล้วย้ายไปถอนแปลงอื่นต่อ หญ้าในแปลงที่เพิ่งถอนไปนี่ก็กลับมาโตใหม่แล้ว แค่ถอนหญ้าอย่างเดียวก็หมดเวลาไปวันหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นแล้ว…” – นายปล้อง (นามสมมติ)

           การหลีกเลี่ยงปัญหาเศรษฐกิจจากการเพิ่มต้นทุนการเกษตรด้วยการใช้ยากำจัดวัชพืช จึงนำไปสู่ปัญหาการลงทุนลงแรงในแปลงเกษตรเพื่อกำจัดสาบม่วงเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนความรู้ความเข้าใจเรื่องชีววิทยาของสาบม่วง สมาชิกชุมชนหลายรายกำจัดสาบม่วงด้วยการถอนโดยที่ไม่ได้คำนึงว่าต้นสาบม่วงกำลังมีดอกอยู่หรือไม่ เนื่องจากไม่มีเวลามาดูแลหรือสำรวจแปลงเพื่อไล่ถอนรายต้นทุกวัน สาบม่วงจึงยังคงแพร่ระบาดอยู่ในชุมชน ไม่ใช่แค่กับชุมชนกะเหรี่ยงเท่านั้นที่พยายามกำจัดสาบม่วงด้วยมือ ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถใช้ยากำจัดวัชพืชได้ ดังเช่นในชุมชนเกษตรอินทรีย์ ที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการปลูกพืชแบบอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เกษตรกรที่ปลูกสัปปะรดอินทรีย์ ใช้วิธีการถอนหญ้าด้วยมือ เช่นเดียวกับในชุมชนกะเหรี่ยง และประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการดูแลที่ไม่ทั่วถึงเช่นเดียวกัน

           ในชุมชนกะเหรี่ยง การแพร่กระจายของสาบม่วงยังส่งผลกระทบต่อไร่ผักที่เป็นระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมของชุมชนด้วย เนื่องจากสาบม่วงแพร่กระจายเข้าไปผสมกับพืชผักและไร่ข้าวของชุมชนผ่านทางลมและน้ำที่ไหลจากไร่พืชเศรษฐกิจที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าไร่ผักดั้งเดิมรวมถึงการแวะเข้าไปเก็บผลผลิตในไร่ผักหลังจากทำไร่มัน ไร่สัปปะรด ทำให้ดอกสาบม่วงที่ติดมากับเสื้อผ้าและเครื่องมือการเกษตรแพร่กระจายเข้าไปในไร่ผักด้วย เมื่อพิจารณาจำนวนคนต่อพื้นที่เกษตรกรรม การกำจัดสาบม่วงด้วยวิธีการถอนด้วยมือจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนหนึ่งคนจะต้องกำจัดสาบม่วงในพื้นที่เกษตรกรรมนับสิบไร่ ทำให้สมาชิกชุมชนบางคนเลือกใช้ยากำจัดวัชพืชโดยยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพืชผักในไร่ เนื่องจากจากปัญหาหนี้สินเรื้อรังและต้นทุนการผลิตประเภทอื่น ๆ ในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้ชุมชนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจมากกว่า โดยใช้ยากำจัดวัชพืชปริมาณเล็กน้อยบริเวณรอยต่อของไร่ที่ติดกับไร่ผักเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หรือในกรณีที่เกิดผลกระทบกับไร่ผัก สมาชิกชุมชนก็ต้องจำใจสละพืชผลที่ปลูกเพื่อยังชีพบางส่วนไปแทนเพื่อรักษาผลผลิตมันและสัปปะรดเอาไว้

ภาพที่ 3 ต้นกระถินเทพาและสาบม่วงในไร่ของชุมชนพุเม้ยง์


ไร่ซาก ข้อจำกัดของสาบม่วง

           แม้ว่ากิจกรรมการถางไร่และเผาหญ้าเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนจะเปิดโอกาสให้สาบม่วงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แต่สมาชิกชุมชนรายเดิมสังเกตเห็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของสาบม่วง จากบริเวณรอยต่อระหว่างไร่ผัก และไร่ซาก (พื้นที่เกษตรกรรมเดิมที่ถูกปล่อยให้พักฟื้นจนมีสภาพคล้ายป่า) สมาชิกชุมชนคนดังกล่าวพบว่า ในพื้นที่ไร่ซากแทบไม่พบสาบม่วง (ภาพที่ 4) ที่ระบบนิเวศแบบไร่ซากไม่ใช่ระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสาบม่วง ในขณะที่สาบม่วงเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เปิดโล่ง มีแสงแดดส่องถึงผิวดิน แต่ไร่ซากมีชั้นเรือนพุ่มของพืชชนิดต่าง ๆ ที่เจริญเติบโตแน่นหนาทำให้แสงส่องไม่ถึง สอดคล้องกับงานวิจัยของยุรวรรณ และคณะ (อ้างถึงแล้ว) ที่พบว่าแสงแดงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการงอกของเมล็ดสาบม่วง

ภาพที่ 4 พื้นที่ไร่ซากที่ปล่อยให้ต้นไม้เจริญเติบโตตามธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์

           ดังนั้นแล้ว ในพื้นที่ที่มีการทำไร่หมุนเวียน การจงใจปล่อยทิ้งร้างเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ และหมุนเวียนไปใช้พื้นที่อื่น ช่วยจำกัดการเจริญเติบโตและการแพร่ระบาดของสาบม่วงในแปลงเกษตรกรรมของชุมชน สมาชิกชุมชนอธิบายเสริมว่าตามภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมนั้น ปกติจะมีการทำไร่ในแต่ละพื้นที่เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้นก่อนที่จะสลับไปทำในพื้นที่อื่น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านที่ดินของชุมชนในปัจจุบัน ปัญหาพื้นที่ชุมชนทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้การทำไร่ในปัจจุบันใช้เวลานานขึ้นจากเดิม 1 ปี เพิ่มเป็น 3–5 ปี ตามความอุดมสมบูรณ์และชนิดพืชที่ปลูก อย่าง สัปปะรดที่ปลูกครั้งนึงกินระยะเวลาหลายปีก่อนจะไถกลบ ไร่ผักที่หากสภาพดินยังอุดมสมบูรณ์ก็จะทำต่อไปอีกปีหรือสองปีก่อนจะย้ายที่และทิ้งพื้นที่เดิมไว้เป็นไร่ซาก การทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในยุคปัจจุบันที่ชุมชนประสบปัญหาด้านอื่น ๆ และบีบให้ชุมชนหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

           ด้วยสภาพปัญหานานาประการที่ชุมชนต้องเผชิญหน้าในปัจจุบัน สาบม่วงจึงยังคงเติบโต แพร่กระจาย และสร้างปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่เกษตรกรรมต่อไป แม้ในช่วงเวลาที่ต้องจัดการกับสาบม่วง สมาชิกชุมชนนึกหวนระลึกถึงอดีตที่เคยทำไร่หมุนเวียน และอยากหวนกลับไปทำไร่หมุนเวียนและปล่อยทิ้งพื้นที่อื่นให้เป็นไร่ซาก เพื่อให้ธรรมชาติช่วยผ่อนแรงของตนในการกำจัดสาบม่วงแทน


อ้างอิง

Intanon, S., Wiengmoon, B., & Mallory-Smith, C. A. (2020). Seed morphology and allelopathy of invasive Praxelis clematidea. Notulae Botanicae Horti Agrobotanici Cluj-Napoca, 48(1), 261-272.

Khamare, Y., Marble, C., Steed, S., & Boyd, N. (2020). Biology and Management of Praxelis (Praxelis clematidea) in Ornamental Crop Production: ENH1321/EP585, 8/2020. EDIS, 2020(4).

กรมส่งเสริมการเกษตร. ม.ป.ป. ความเป็นมาการปลูกสัปปะรดในประเทศไทย. [ออนไลน์]. จาก http://www.edoae.doae.go.th/pineapple_km58.pdf.

ยุวรรณ อนันตนมณี และคณะ. 2556. ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของสาบม่วง (Praxelis clematidea R.M King & H. Rob.) ใน รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2556 เล่ม 3. 2122 – 2129. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการเกษตร.

เรืองวิทย์ ลิ่มปนาท, เสาวรินทร์ สายรังษี และสุทธิพร ชัยกูล. (2563). อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังภาคตะวันออก พ.ศ. 2490-2510. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. 28(3), 167-189.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 20 กุมภาพันธ์ 2561. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น.

สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. 2556. พืชต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

ปล้อง (นามสมมติ). 25 มิถุนายน 2565. สัมภาษณ์. สมาชิกชุมชนพุเม้ยง์ จังหวัดอุทัยธานี.


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สาบม่วง สาบแมว วัชพืชต่างถิ่น ผู้ไร้เสียง ชุมชนชาติพันธุ์ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share