นักมานุษยวิทยา กับงานสนามในค่ายทหาร

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 2208

นักมานุษยวิทยา กับงานสนามในค่ายทหาร

สิ่งที่นักมานุษยวิทยาศึกษาในค่ายทหาร

           โจทย์ที่ทำให้นักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องราวของทหารและแบบแผนทางสังคมของกองทัพ ประกอบด้วยเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ (1) การใช้ชีวิตของทหารภายใต้กฎระเบียบและวินัยที่เคร่งครัด นักมานุษยวิทยาจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชีวิตทหารกับชีวิตของพลเรือน รวมทั้งอธิบายสัญลักษณ์ ระบบคุณค่า อุดมการณ์ ความคิด และแบบแผนต่าง ๆ ที่ทหารใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ (2) การประกอบพิธีกรรมของทหาร โดยเฉพาะเมื่อทหารกลายเป็นวีรบุรุษแห่งสงคราม เป็นผู้ได้รับชัยชนะ ซึ่งถูกยกย่องสรรเสริญจากประชาชนและรัฐบาล นำไปสู่การจัดพิธีสดุดีทหารกล้าผู้เสียสละเพื่อชาติ (3) ความขัดแย้งและการขัดขืนของทหาร โดยชี้ให้เห็นว่าทหารอาจกลายเป็นผู้ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบภัยอันตราย ทหารเปรียบเสมือนผู้ที่ทำหน้าที่บรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสงคราม ซึ่งขัดแย้งกับหน้าที่หลักของทหารในฐานะเป็นนักรบและผู้ใช้ความรุนแรง (Fosher, 2009; Tomforde & Ben-Ari, 2021) การเข้าไปทำงานในค่ายทหารเพื่อศึกษาในประเด็นเหล่านี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่เชิงการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปใกล้ชิดและยุ่งเกี่ยวกับอำนาจและความแข็งกร้าวของทหาร บทเรียนสำคัญที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์นี้คือสงครามเวียดนาม และสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ทหารอเมริกันเข้าไปใช้ความรุนแรงกับคนท้องถิ่น (Rubinstein, 2012)

           การทำงานในค่ายทหารจึงเป็นความล่อแหลมและเป็นสัญลักษณ์ของความแปดเปื้อนกับสิ่งเลวร้าย นักมานุษยวิทยาหลายคนจึงไม่ต้องการเข้าไปพัวพันกับความรุนแรงที่ทหารแสดงออก (Ben-Ari, 2011) อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมของทหารโดยเข้าไปศึกษาอัตลักษณ์และการดำรงชีวิตของผู้นำทหาร ศึกษาการปฏิบัติของทหารในฐานะผู้ที่กำลังสร้างสันติภาพ (Bickford, 2011; Tomforde, 2009) แนวทางศึกษาและกระบวนทัศน์หลักที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้วิเคราะห์สังคมของทหารจะมาจากคำอธิบายของนักวิชาการอเมริกัน ซึ่งมองทหารเป็นกลุ่มคนที่แสวงหาความมั่นคงและความแข็งแกร่งของชาติ รวมทั้งเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้ความกดดันและเหตุการณ์ณ์ฉุกเฉิน วิธีมองทหารในแนวนี้ล้วนมีผลทำให้การศึกษาทหารในสังคมอื่นหยิบเอากรอบแนวคิดแบบอเมริกันไปใช้ในการศึกษา (Gusterson, 2007; McFate, 2019) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกมองข้ามในการศึกษาทหารคือกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจของทหารให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (processes of militarization) เช่น การใช้งบประมาณรัฐเพื่อสนับสนุนกองทัพและซื้ออาวุธสงคราม (Lutz, 2002) และการสถาปนาความแข็งแกร่งของทหารในสังคมอุตสาหกรรมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Simons, 1999)


ผู้ให้ข้อมูลวัฒนธรรมแก่กองทัพ

           Robert Boroch (2021) อธิบายว่าเมื่อปี ค.ศ. 2007 ในการประชุมของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน มีการถกเถียงเรื่องบทบาทของนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทัพและวงการทหาร โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและการใช้กำลังทหารเพื่อต่อสู้ระหว่างประเทศ การเข้าไปทำงานให้กองทัพทำให้นักมานุษยวิทยาถูกชี้นำทางความคิด เนื่องจากเป้าหมายของกองทัพก็เพื่อให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง และให้คำปรึกษาแก่กองทัพเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศที่เป็นศัตรูทางการเมือง การเข้าไปทำงานกับทหารส่งผลให้นักมานุษยวิทยาถูกคาดหมายว่าจะต้องช่วยให้กองทัพประสบชัยชนะในการสู้รบหรือได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์การสงคราม ด้วยเหตุนี้การทำงานของนักมานุษยวิทยาจึงเผชิญกับความย้อนแย้งและปัญหาทางจริยธรรม ตัวอย่างเช่น สงครามในอิรักและอ่าวเปอร์เซีย นักมานุษยวิทยาจะถูกนำตัวเข้าไปช่วยกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อหาข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรมของอิรักสำหรับวางแผนต่อสู้กับกองโจรและผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ข้อมูลของนักมานุษยวิทยาช่วยทำให้กองทัพรู้ว่าผู้นำอิสลามคนใดมีอิทธิพลต่อการทำสงครามและมีบทบาทในการปลุกระดมประชาชน รวมถึงการใช้นักมานุษยวิทยาแปลภาษาอาหรับเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดของกองกำลังฝ่ายตรงข้าม

           การทำงานข้างต้นถือเป็นการใช้ความรู้มานุษยวิทยาเพื่อประโยชน์สำหรับการทำสงคราม ประเด็นนี้คือเรื่องที่น่าอึดอัดใจสำหรับนักมานุษยวิทยา เนื่องจากการช่วยกองทัพสหรัฐอเมริกาให้มีชัยชนะและได้เปรียบคู่ขัดแย้ง ถือเป็นการยืนอยู่ข้างอำนาจรัฐและผู้ที่ใช้ความรุนแรง (Abbink, 2000) ปัญหานี้ทำให้นักมานุษยวิทยาพยายามตรวจสอบและทบทวนบทบาทและสถานะของตนเมื่อต้องเข้าไปทำงานในค่ายทหาร ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาเรียนรู้เมื่อต้องทำงานกับทหารก็คือ กองทัพและค่ายทหารเปรียบเสมือนกลุ่มทางสังคม ทหารก็เหมือนกับคนในสังคมที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนต่างกลุ่ม ในสภาวะที่ทหารต้องทำสงครามและเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทหารจะเข้าไปจัดการปัญหานี้ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด ในสถานการณ์นี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเห็นและสัมผัสกับพฤติกรรมและความรู้สึกของทหารในภาวะตึงเครียด Lucas (2009) กล่าวว่าเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาสร้างโครงการ Human Terrain Systems project ซึ่งดำเนินงานภายใต้กำกับของพลเอกเดวิด เพเทรอัส โครงการนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการทำให้นักมานุษยวิทยาทำงานแบบไร้จริยธรรม แต่ Lucas พยายามทบทวนใหม่ว่าการทำงานของนักมานุษยวิทยาในกองทัพอาจมิใช่การทำงานที่ไร้จริยธรรม แต่เป็นการทำงานที่ช่วยให้กองทัพเข้าใจผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสงครามได้มากขึ้น

           นักมานุษยวิทยาที่ทำงานในค่ายทหารช่วงที่มีสงคราม พวกเขากำลังเรียนรู้คุณลักษณะและพฤติกรรมของผู้นำกองทัพและนายทหารที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดยุทศาสตร์การต่อสู้ รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรม ค่านิยม และความคิดของทหารที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม ดังนั้น การเข้าไปทำงานให้กับกองทัพ นักมานุษยวิทยาจะทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในเขตที่มีการทำสงครามเพื่อให้กองทัพปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนท้องถิ่นและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน Hyndman and Flower (2019) กล่าวว่านักมานุษยวิทยาที่ทำงานกับทหารในช่วงสงคราม คือผู้ที่พยายามส่งเสริมให้เกิดการสร้างสันติภาพ โน้มน้าวให้ลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และชี้ให้เห็นวิธีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม หน้าที่ดังกล่าวนี้มักจะถูกมองข้ามจากคนภายนอกที่ไม่เข้าใจว่างานของนักมานุษยวิทยาคืออะไร แต่เหมารวมว่านักมานุษยวิทยาคือผู้ที่ส่งเสริมให้เกิดสงครามและทำลายชีวิตมนุษย์

           Holmes-Eber (2014) กล่าวว่าสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2005 นายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการออกคำสั่งต่าง ๆ คือ นายพลเจมส์ แมททิส ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมกองบัญชาการพัฒนากำลังรบนาวิกโยธิน นายพลเจมส์ตระหนักว่าสงครามได้ทำลายโบราณสถานสำคัญในพื้นที่ที่มีการสู้รบจึงริเริ่มโครงการMarine Corps cultural initiative ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้ทหารตระหนักถึงคุณค่าของสถานที่ทางวัฒนธรรมและเกิดความเข้าใจชีวิตของคนพื้นบ้านที่ทหารอเมริกันเข้าไปตั้งกองกำลัง Holmes-Eber, Scanlon and Hamlen (2009) อธิบายว่าวิสัยทัศน์ของหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2025 ได้นำความเข้าใจวัฒนธรรมมาเป็นตัวชี้วัดสำหรับการฝึกทหารรุ่นต่อไป ปัจจุบัน ทหารอเมริกันทำงานอยู่กับคนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันในหลายประเทศ ทหารเหล่านี้ต้องเรียนรู้ภาษาของคนต่างชาติเพื่อที่จะสามารถสื่อสารและทำความเข้าใจการปฏิบัติของคนท้องถิ่น นอกจากนั้น กองทัพสหรัฐยังพิมพ์คู่มือแนะนำประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งให้ทหารสหรัฐอ่านและเรียนรู้วัฒนธรรมก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศเหล่านั้น นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปช่วยจัดทำเนื้อหาวัฒนธรรมแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ทหารเข้าใจได้รวดเร็ว

           นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังต้องอธิบายให้ทหารอเมริกันเข้าใจว่าการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีจะต้องมาจากประสบการณ์จริง (Lessons Learned) การเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมจะทำให้ทหารอเมริกันเข้าใจวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น นายทหารที่เคยไปปฏิบัติงานในต่างประเทศคือผู้ที่จะสอนประสบการณ์และแนะนำให้ทหารรุ่นใหม่เข้าใจการใช้ชีวิตกับคนต่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากวัฒนธรรมทหารจะเคารพและเชื่อฟังคำสอนของทหารอาวุโสและผู้ที่มียศสูงกว่า ทหารอาวุโสจึงเปรียบเสมือนบทเรียนสำหรับทหารรุ่นเยาว์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทหารอาวุโสที่ผ่านการทำงานในต่างประเทศมาอย่างโชกโชนจะเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่นได้ดี แต่ทหารเหล่านั้นก็มักจะขาดการวิเคราะห์รายละเอียดของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือขาดการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นนักมานุษยวิทยาจึงสอนให้ทหารเหล่านั้นรู้ว่าวัฒนธรรมแต่ละแห่งมีเงื่อนไขที่ต่างกัน การปฏิบัติตัวกับคนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ย่อมจะแตกต่างกันไป การยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำให้ทหารเข้าใจวัฒนธรรมของคนต่างชาติ

           L.aurie W. Rush (2012) กล่าวถึงประสบการณ์ที่ต้องเข้าไปทำงานกับทหารในสงครามในประเทศอัฟกานิสถาน เรื่องที่ยากสำหรับเขาคือการทำให้ทหารเห็นคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรม โดยเฉพาะแหล่งโบราณสถานและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ Rush พยายามทำให้ทหารเห็นความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดในการสู้รบ และแนะนนำมิให้ใช้อาวุธสงครามที่ส่งผลกระทบต่อสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน และพิพิธภัณฑ์ที่เก็บวัตถุโบราณและงานศิลปะที่มีค่า ความพยายามที่จะปกป้องคุ้มครองสถานที่ทางวัฒนธรรมเหล่านี้จำเป็นต้องอาสัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ กองทัพสหรัฐอเมริกา องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และองค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านสิทธิทางวัฒนธรรม เพื่อทำข้อตกลงมิให้กองทัพใช้อาวุธสงครามทำลายสถานที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และจัดทำรายชื่อสถานที่ที่ไม่ควรใช้เป็นสถานที่สู้รบ การตระหนักถึงปัญหาสงครามที่ทำลายโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรักในช่วงปี ค.ศ. 2002 - 2003 (Cogbill, 2008) และเป็นจุดเริ่มต้นที่นักวิชาการ นักอนุรักษ์ และผู้นำกองทัพมาร่วมหารือเพื่อแสวงหาแนวทางปกป้องสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม


เมื่อนักมานุษยวิทยาใช้ชีวิตกับทหาร

           ในหนังสือเรื่อง Practicing Military Anthropology: Beyond Expectations and Traditional Boundaries (2012) อธิบายประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยาหลายคนที่เคยทำงานช่วยเหลือกองทัพสหรัฐอเมริกา เช่น Fujimura อธิบายว่าสิ่งที่นักมานุษยวิทยาพบเจอเมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับทหารคือ การทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนอื่น และทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง รวมทั้งนักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของทหารที่เน้นระเบียบวินัยและการปฏิบัติตามกฎที่เคร่งครัด การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทหารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการพูดเจราจากับผู้นำทางทหาร เมื่อ Fujimura เข้าไปทำงานกับทหาร เธอจะสอนให้ทหารเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษารัสเซียและภาษาเยอรมัน เนื่องจากประเทศรัสเซียเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาในหลายกรณี การทำให้ทหารอเมริกันเข้าใจภาษารัสเซียอาจช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วัฒนธรรมและความคิดของชาวรัสเซีย ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ทหารอเมริกามีมุมมองความคิดที่เปิดกว้างและไม่มองชาวรัสเซียเป็นศัตรู

           นักมานุษยวิทยาที่ใช้ชีวิตกับทหาร จะพบเห็นพฤติกรรมการเข้าสังคม และการฏิบัติตัวของทหารในระดับต่าง ๆ วัฒนธรรมในค่ายทหารเปรียบเสมือนเป็นวัฒนธรรมองค์กรประเภทหนึ่งที่ยึดโยงกับความเป็นชาติและการสร้างความมั่นคงของรัฐ ทหารจึงเป็นกลุ่มคนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย อย่างไรก็ตาม การศึกษาชีวิตของทหารไม่สามารถใช้เวลายาวนานเนื่องจากมีข้อกำหนดและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้นักมานุษยวิทยาได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาในค่ายทหารเป็นเวลาสั้น ๆ (Pedersen, 2019) นอกจากนั้น การทำงานกับนายทหารที่มีตำแหน่งสูง ๆ ถือเป็นเรื่องยาก การพูดคุยสนทนากับผู้นำทหารมักจะเป็นเรื่องที่ผู้นำเหล่านั้นต้องการจะบอกเล่าซึ่งหลายเรื่องไม่สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาได้ (Castro, 2013) ข้อมูลบางอย่างที่ถูกบอกเล่าโดยทหารยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ เพราะทหารจะตรวจสอบเรื่องราวที่ถูกนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Mohr et al., 2019) ในกรณีที่เกิดสงครามและการสู้รบ เป็นข้อจำกัดสำหรับนักมานุษยวิทยาที่ไม่สามารถเข้าไปสังเกตและมีส่วนร่วมในสงครามได้ เนื่องจากเสี่ยงภัยและอันตรายต่อชีวิต (Nordstrom & Robben, 1996)

           เมื่อมีโอกาสเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร นักมานุษยวิทยาพยายามเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการมีสำนึกเกี่ยวกับการเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย การทำงานร่วมกับเพื่อนทหาร การเผชิญหน้ากับความรุนแรง และการแสวงหาสันติวิธี (Ben-Ari, 1998; Holmes-Eber, 2014; Tomforde, 2009) รวมทั้งศึกษาวิธีการฝึกทหารเพื่อเตรียมพร้อมทำสงคราม ซึ่งมีทหารหลายชาติเข้ามาร่วมฝึกด้วยกัน ทำให้นักมานุษยวิทยาสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทหารจากชาติต่าง ๆ ซึ่งมีภาษา พฤติกรรม และแบบแผนในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน (Gill, 2004) นักมานุษยวิทยาบางคนยังมีโอกาสศึกษาชีวิตของนายทหารที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งผันตัวเองเข้าไปทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย (Grassiani, 2019) ประเด็นเรื่องการแสดงบทบาททางเพศและอัตลักษณ์ความเป็นชายที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา เนื่องจากทหารจะแสดงความแข็งแกร่ง ความอดทน และความกล้าหาญเพื่อตอกย้ำความเป็นแพศชายที่ชัดเจน (Cockburn & Zarkov 2002; Winslow, 1999) รวมทั้งทหารหญิงที่สร้างความเป็นชายเพื่อให้สามารถทำงานในกองทัพได้ ขณะเดียวกันก็ผสมผสานความเป็นหญิงเข้าไปในการทำงานร่วมกับผู้ชาย (Cheney et al., 2013; Sion, 2005) นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังศึกษาทหารที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันและแสดงอัตลักษณ์แบบคนข้ามเพศ ซึ่งต้องปรับตัวอยู่ในกองทัพด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน (Kaplan & Ben-Ari, 2000; Yi & Gitzen, 2018)

           ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับเครือญาติและชุมชนที่เติบโตมา เป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาหลายคนสนใจ ความสัมพันธ์ที่ปรากฏขึ้นดำเนินไปอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการภายใต้เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องการสนับสนุนทางจิตใจ ให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การศึกษาชีวิตของทหารชาวเนเธอร์แลนด์ Heiselberg (2017) ชี้ให้เห็นว่าเมื่อทหารกลับไปเยี่ยมบ้านและพบกับคนในครอบครัว พวกเขายังคงนำเอาบุคลิกภาพแบบทหารไปใช้กับคนรอบตัว ส่งผลให้พ่อ แม่ ภรรยา และลูก ต้องปรับตัวเข้าหาลูกชายที่เป็นทหาร รวมถึงความพยายามของคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากลูกที่เป็นทหาร ครอบครัวพยายามแสดงความห่วงใยด้วยการติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ การศึกษาของ Sørensen (2015) อธิบายให้เห็นว่าการกลับบ้านของทหารที่ผ่านสงครามมาแล้ว คือการเยียวยาจิตใจของทหารที่โหยหาความสงบในชีวิต บ้านจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทหาร ขณะเดียวกันทหารจะรู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในสภาวะของการมีตัวตนที่ซับซ้อนทั้งการเป็นพลเรือนและการเป็นทหารผ่านศึก การศึกษามิติอารมณ์และความรู้สึกของทหารคือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจและพยายามเรียนรู้ประสบการณ์ที่ทหารพบเจอในสงครามที่โหดร้ายซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจและตัวตนของทหาร โดยเฉพาะในกรณีที่ทหารผู้นั้นได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและทำให้กลายเป็นผู้พิการ (Messinger, 2013; Wool, 2015) เรื่องราวที่เจ็บปวดนี้คือประเด็นที่นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทหารในมิติที่สังคมมองข้าม


บรรณานุกรม

Abbink, J. (2000). Preface: Violation and violence as cultural phenomena. In G. Aijmer & J. Abbink (Eds.), Meanings of violence: A cross cultural perspective (pp. xi–xvii). Oxford: Berg.

Ben-Ari, E. (1998). Mastering soldiers: Conflict, emotions, and the enemy in an Israeli army unit. Oxford: Berghahn.

Ben-Ari, E. (2011). Anthropological research and state violence: Some observations of an Israeli anthropologist. In L. A. McNamara & R. A. Rubinstein (Eds.), Dangerous liaisons: Anthro-pologists and the national security state (pp. 167–184). Santa Fe: School of Advanced Research Press.

Bickford, A. (2011). Fallen elites: The military other in post-unification Germany. Stanford: Stanford University Press.

Boroch, R. (2021). Military Anthropology - Specialisation Frame. Wiedza Obronna, 271(1), 63-73.

Castro, C. (2013). Insider anthropology: Theoretical and empirical issues for the researcher. In H. Carreiras & C. Castro (Eds.), Qualitative methods in military studies (pp. 8–16). London: Routledge.

Cheney, A. M., Dunn, A., Booth, B. M., Frith, L., & Curran, G. M. (2013). The intersections of gender and power in women veterans? Experiences of substance use and VaCare. Annals of Anthropological Practice, 37(2), 149–171

Cogbill, J. (2008). Protection of arts and antiquities during wartime: examining the past and preparing for the future. Military Review, January–February 2008, 30–36.

Cockburn, C., & Zarkov, D. (2002). The postwar moment: Militaries, masculinities, and international peacekeeping Bosnia and the Netherlands. London: Lawrence & Wishart.

Fosher, K. (2009). Under construction: Making homeland security at the local level. Chicago: Chicago University Press.

Gill, L. (2004). School of the Americas: Military training and political violence in the Americas. Durham: Duke University Press.

Grassiani, E. (2019). Mobility through self-defined expertise: Israeli security from the occupation to Kenya. In B. R. Sørensen & E. Ben-Ari (Eds.), Civil-military entanglements (pp. 185–205). Oxford: Berghahn.

Gusterson, H. (2007). Anthropology and militarism. Annual Review of Anthropology, 36,155–175.

Heiselberg, M. H. (2017). Fighting for the family: Overcoming distances in time and space. Critical Military Studies, 3(1), 69–86.

Holmes-Eber, P. (2014). Culture in Conflict: Irregular Warfare, Culture Policy, and the Marine Corps. Redwood, CA: Stanford University Press.

Holmes-Eber, P., Scanlon, P.M., Hamlen, A.L. (Eds.) (2009). Applications in Operational Culture Perspectives from the Field.

Hyndman, D. & Flower, S. (2019). The Crisis of Cultural Intelligence: The Anthropology of Civil-Military Operations. Singapore: World Scientific Publishing.

Kaplan, D., & Ben-Ari, E. (2000). Brothers and others in arms: Managing gay identity in combat units of the Israeli Army. Journal of Contemporary Ethnography, 29(4), 396–432.

Lucas, G. R. (2009). Anthropologists in arms: the ethics of military anthropology. Rowman & Littlefield Altamira Press.

Lutz, C. (2002). Making war at home in the United States: Militarization and the current crisis. American Anthropologist, 104(3), 723–735.

McFate, M. (2019). Military anthropology: Soldiers, scholars and subjects at the margins of empire. Oxford: Oxford University Press.

Messinger, S. (2013). Vigilance and attention among U.S. service members and veterans after combat. Anthropology of Consciousness, 24(2), 191–197.

Mohr, S., et al. (2019). Ethnography of things military: Empathy and critique in military anthropology. Ethnos, 85(5). https://doi.org/10.1080/00141844.2019.1687553.

Nordstrom, C., & Robben, A. C. G. M. (Eds.). (1996). Fieldwork under fire. Berkeley: University of California Press.

Pedersen, T. R. (2019). The entangled soldier: On the messiness of war/law/morality. In B. R. Sørensen & E. Ben-Ari (Eds.), Civil-military entanglements (pp. 164–184). Oxford: Berghahn.

Rubinstein, R. A. (2012). Master narratives, retrospective attribution, and ritual pollution In anthropology’s engagements with the military. In R. A. Rubinstein, K. Fosher, & C. Fujimura (Eds.), Practicing military anthropology (pp. 199–233). Sterling: Kumarian Press.

Rubinstein, R.A., Fosher, K.B., & Fujimura, C.K. (Eds.). (2012). Practicing military anthropology: beyond expectations and traditional boundaries. Boulder, CO: Kumarian Press.

Rush, L.W. (2012). Working with the military to protect archaeological sites and other forms of cultural property. World Archaeology, 44(3), 359-377.

Simons, A. (1999). War: Back to the future. Annual Review of Anthropology, 28, 73–108.

Sion, L. (2005). “Too sweet and innocent for war?”: Dutch peacekeepers and the use of violence. Armed Forces and Society,32(2), 454–474.

Sørensen, B. R. (2015). Veterans’ homecomings: Secrecy and post-deployment social becoming. Current Anthropology(Suppl.), 56(S12), 232–240.

Tomforde, M. (2009). “My pink uniform shows I am one of them”: Socio-cultural dimensions of German peacekeeping missions. In G. Kümmel, G. Caforio, & C. Dandeker (Eds.), Armed forces, soldiers and civil–military relations (pp. 37–57). Wiesbaden: VS Verlag für Sozialwissenschaften.

Tomforde, M. & Ben-Ari, E. (2021). Anthropology of the Military. In A. Sookermany(Ed.) Handbook of Military Sciences. Berlin: Springer.

Winslow, D. (1999). Rites of passage and group bonding in the Canadian Airborne. Armed Forces and Society, 25(3), 429–457.

Wool, Z. (2015). After war: The weight of life at Walter Reed. Durham: Duke University Press

Yi, H., & Gitzen, T. (2018). Sex/gender insecurities: Trans bodies in the South Korean military. TSG: Transgender Studies Quarterly, 5(3), 378–393.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นักมานุษยวิทยา โรงเรียนภาคสนาม ค่ายทหาร ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share