สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 252

สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก

รูปที่ 1 ปกหนังสือ สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก
หมายเหตุจาก. ฝ่ายบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 


           เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว “ดร.ป๊อบ” (Dr.Pop) ปัจจุบันใช้นามปากกาว่า “มาสเตอร์ป๊อป” (Master Pop) หรือคุณฐาวรา สิริพิพัฒน์ เคยตั้งคำถามผมว่า มานุษยวิทยาคืออะไร นักมานุษยวิทยาทำอะไร เพื่ออะไร ในฐานะที่ผมเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้ผมแนะนำหนังสือมานุษยวิทยาสัก 2 เล่ม ที่อ่านเข้าใจง่าย คนทั่วไปอ่านแล้วสามารถหาคำตอบของคำถามข้างต้นได้ จริง ๆ แล้วมีหนังสือในใจหลายเล่ม แต่ผมต้องการแนะนำผลงานของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงแนะนำหนังสือ “ชีวิตชายขอบ : ตัวตนกับความหมาย” (2545) และ “คนใน : ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย” (2545)

 

  

รูปที่ 2 หนังสือ ชีวิตชายขอบ : ตัวตนกับความหมาย (2545)
และ คนใน : ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย (2545)
หมายเหตุจาก. ฝ่ายบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 

           ซึ่งหนังสือเล่มแรกจะทำให้ผู้อ่านเรียนรู้และเข้าใจตัวอย่างพื้นที่วิจัย และตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนชายขอบในสังคมไทยที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาและทำความเข้าใจ เล่มที่สอง เป็นหนังสือรวมบทความของนักมานุษยวิทยาไทยหลากหลายรุ่น แต่ละคนได้ถ่ายทอด “ตัวตน” หรือประสบการณ์ “การเป็นคนใน” ขณะลง “สนาม” หรือพื้นที่ทำวิจัยในหลากหลายชุมชน ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพเบื้องหลังการทำงานเก็บข้อมูล และรับรู้ความรู้สึกสับสน อึดอัด ลังเล ไปจนถึงความผูกพันและการแปรเปลี่ยนตัวตนของผู้วิจัยเองเมื่อต้อง “เข้าไปอยู่” กับชุมชนในฐานะ “คนใน” หนังสือทั้งสองเล่ม นักวิจัยสะท้อนชีวิตจริงของผู้คนหลากหลายกลุ่มอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเทคนิคการนำเสนอแบบ "อัตชาติพันธุ์นิพนธ์" (autoethnography) หรือการเขียนเชิงวิชาการที่ผสมผสานระหว่าง ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน กับ การวิเคราะห์ทางสังคมและวัฒนธรรม โดยใช้ “ตัวตนของนักวิจัยเอง” เป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องและการทบทวนตัวเองในฐานะนักวิจัย หรือผู้มีประสบการณ์ตรง (reflexivity) หนังสือแนว "อัตชาติพันธุ์นิพนธ์" ภาษาไทย ที่ผลิตและเผยแพร่สู่สาธารณะมีน้อยมาก นับแต่หนังสือ ชีวิตชายขอบ และ คนใน จัดพิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในปี 2545 หนังสือ “สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก” บรรณาธิการโดย รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร (2568) นับเป็นงานเขียน "อัตชาติพันธุ์นิพนธ์" เล่มล่าสุดที่ถูกเรียบเรียงและนำเสนอสู่บรรณพิภพ

           หนังสือ “สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก” มี รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบรรณาธิการและเขียนบทนำ มี ศ.ดร. นิติ ภวัครพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านนำเสนอประสบการณ์ในสนามที่หลากหลาย เปิดพื้นที่ให้ความรู้สึก ความเปราะบาง และตัวตนของนักวิจัย โดยนำเสนอ “สนาม” จากพื้นที่เก็บข้อมูล มาเป็นพื้นที่วิพากษ์ตนเอง ผ่าน 1 บทนำ กับ 7 บทความและ 1 บทสรุป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

           รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร นำเสนอบทนำ “ญาณวิทยา การเมืองและผัสสะในอัตชาติพันธุ์นิพนธ์ : บทนำ สนามที่รู้สึก และตัวตนที่รู้จัก” โดยแสดงตัวอย่าง พัฒนาการและลักษณะต่าง ๆ ของการทำงานแนวอัตชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคบุกเบิกราวทศวรรษ 1960 ที่นักมานุษยวิทยาศึกษาสังคมที่พวกเขาเป็นสมาชิก และมีการตั้งคำถามและข้อถกเถียงเชิงญาณวิทยาต่อความชอบธรรมและความเที่ยงธรรมของงานวิจัยสนาม ต่อมาราวทศวรรษที่ 1980 มีการทวนสอบตนเองเพื่อวิพากษ์การทำงานสนามของนักมานุษยวิทยา วิพากษ์จุดยืนทางการเมือง และ ณ ปัจจุบันตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 อัตชาติพันธุ์นิพนธ์ เป็นทั้งการทวนสอบตนเองและวิธีวิทยาสำหรับการวิจัย พร้อมกับยกตัวอย่างแนวคิดของนักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกการทบทวนพื้นที่วิจัยของตัวเอง เพื่อนำเสนองานเขียนที่มีทั้งเรื่องส่วนตัวที่แสดงอัตวิสัย และประเด็นร่วมสมัยกับโลกวิชาการในเชิงวัตถุวิสัย เพื่อให้สอดรับบทความอื่น ๆ ที่นำเสนอในแนว "อัตชาติพันธุ์นิพนธ์" (Autoethnography)

           ศ.ดร. นิติ ภวัครพันธุ์ นำเสนอบทความ “ค้นหา “ตนเอง” ใน “สนาม” สะท้อนคิดประสบการณ์ผู้อพยพชาวจีนและเวียดนาม” ผู้เขียนได้บอกเล่าความทรงจำ และสะท้อนประสบการณ์การทำวิจัยภาคสนามของตนเองต่อผู้คนและสังคมที่หลากหลายในรอบ 2-3 ทศวรรษ ว่าในฐานะนักวิจัยที่เป็นลูกหลานคนจีนอพยพ จึงอยากรู้จักที่มาและความเป็นมา “ตัวตน” ของตนเอง จึงได้เริ่มศึกษาประวัติความเป็นมาของครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติๆ ซึ่งเป็นคนจีนอพยพ ใน “สนามชุมชนคนจีนอพยพ” กับ “สนามคนเวียดนามอพยพ” ซึ่งมีวิถีชีวิตและการดำรงชีพที่มีความสัมพันธ์กับเมือง/ตลาด/ชุมชน มีความคุ้นเคยกับความเป็นเมือง/ตลาด หรือชุมชนที่มีความซับซ้อนมาก เช่น ความสัมพันธ์อันซับซ้อนในหมู่ผู้อพยพกับกลุ่มคนอื่น การปรับตัว การพัฒนาทักษะ และความชำนาญเฉพาะบางอย่างที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมผู้อพยพ จนกลายเป็นอาชีพที่ใช้หล่อเลี้ยงครอบครัว ซึ่งส่งผลทำให้ผู้เขียนสำนึกถึงความสำคัญของการศึกษาภาคสนาม ที่ช่วยให้ผู้เขียนได้เห็นและเข้าใจถึงความซับซ้อนของชีวิตผู้คนที่พบเจอ

           ศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอบทความ “ฉัน” คือ ผู้อยู่ระหว่าง” [“I” am as the in-between] “คนใน” และ “คนนอก” ในสนามวิจัย ผู้เขียนได้สะท้อนย้อนทวน หรือ ทบทวนตัวตนของตนเอง เกี่ยวกับ “ตำแหน่งแห่งที่ของตน” ว่าเป็น “ผู้อยู่ระหว่าง” “คนใน” (คือเป็นคนอีสาน เกิด เติบโต และเรียนระดับปริญญาตรีในภาคอีสาน พูดภาษาอีสาน กินอาหารอีสาน มีประสบการณ์ร่วมในการทำไร่ ทำนา หาอยู่หากิน คล้ายๆ กับกลุ่มคนอีสานที่เป็นกรณีศึกษา) กับ “คนนอก” (ไปเรียนต่อต่างประเทศ เคยทำงานวิจัยกับชาวตะวันตก ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดจากการศึกษาด้านสาขาการพัฒนาและสังคมวิทยา) เมื่อผู้เขียนย้อนทวนกลับไปหวนระลึกถึงการวิจัย การเก็บข้อมูล และ การนำเสนอผลงานวิจัยว่าด้วยชีวิต “คนปากมูล” จากกรณีศึกษากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ พบว่า ในพื้นที่วิจัยเต็มไปด้วยอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ผู้วิจัยมักมีอำนาจมากกว่า “ผู้ให้ข้อมูล” หรือ ”เสียงของผู้ให้ข้อมูล” ในทุกประเด็น ทั้งยังมองว่า ตนเองมีความเป็น “คนใน” น้อยมาก แต่มีความเป็น “คนนอก” มากกว่า เมื่อพิจารณาผ่านการร่วมรู้สึก การพูดแทน และภาวะความอิหลักอิเหลื่อในบริบทต่าง ๆ

           อาจารย์ ดร.สุริยา คำหว่าน อาจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม นำเสนอบทความ “ส่องตัวตน คนรากเหง้า : เราคือใครในพื้นที่สนามแห่งความ [ไม่] เป็นอื่น” ผู้เขียนพยายาม “สะท้อนย้อนทวนตนเอง” ผ่านการกล่าวถึงภูมิหลัง ประสบการณ์ชีวิตของตนเองที่เกิดและเติบโตในชุมชนเวียดนามพลัดถิ่น ในจังหวัดนครพนม ชื่อ “ชุมชนเหวียตเกี่ยว” ประสบการณ์ในการเรียนภาษาเวียดนามตามความต้องการของบิดาที่ต้องการให้สืบทอดเชื้อมูลทางภาษาในชุมชนบ้านเกิด ประสบการณ์วิจัยใน “สนามชุมชนเหวียตเกี่ยว” อันเป็นสนามที่เป็นถิ่นกำเนิดที่ตนเองคุ้นเคย แวดล้อมไปด้วยญาติสนิท มิตรสหาย หรือสมาชิกในชุมชนของตนเองในฐานะ “คนใน” ที่แท้จริง ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากแหล่ง/ผู้ให้ข้อมูลเป็นอย่างดี และเป็น “การศึกษาพื้นที่แห่งความ (ไม่) เป็นอื่น” พื้นที่ที่เป็น “คนบ้านเดียวกัน แค่มองตากันก็เข้าใจ”

           ผศ.ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอบทความ “ความรู้สึกและความมีส่วนเกี่ยวข้องของนักมานุษยวิทยาในการทำงานภาคสนาม: ประเด็นปัญหาและความท้าทาย” ผู้เขียนได้ย้อนทวนตัวเองในประเด็นความรู้สึกและความมีส่วนเกี่ยวข้องของตนเองกับผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญในการทำงานสนามสองที่ คือการศึกษาผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา และสนามที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กับ การศึกษาครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นในจังหวัดพิษณุโลก ด้วยวิธีการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ทำให้ผู้เขียนต้องเข้าไปคลุกคลีกับคนยากจนในสนามเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และทำความเข้าใจความหมายของการกระทำ สัญลักษณ์ ค่านิยม พิธีกรรม ฯลฯ จากมุมมองของคนใน เป็นเหตุให้ผู้เขียนจำเป็นต้องร่วมรู้สึกในความทุกข์ยาก ความอดอยาก การพลัดพราก ฯลฯ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ แต่ ความร่วมรู้สึกและความมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานภาคสนามของนักวิจัย ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงตามมาทั้งประเด็นเรื่องความเป็นกลางของกระบวนการวิจัย การแสดงความเวทนาจนถูกตีค่าว่าเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ และขอบเขตหรือขีดจำกัดของความร่วมรู้สึกที่นักวิจัยควรไปให้ถึงหรือควรมีแต่พอดี

           อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยนครพนม นำเสนอบทความ “ส่องหาตัวตน ค้นหาตัวเขา : การไตร่ตรองสะท้อนคิดจากประสบการณ์งานสนามในชุมชนท้องถิ่นอีสาน” ผู้เขียนได้ทบทวน ไตร่ตรอง ทวนสอบผลงานในอดีตเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของตนเอง (ส่องหาตัวตน) และค้นหา “ความเป็นคนอีสาน” (ตัวเขา) ผ่านการสะท้อนคิดและวิเคราะห์ประสบการณ์การทำงานสนามกับชุมชนท้องถิ่นทั้งในบทบาทนักวิชาการและนักปฏิบัติการชุมชนในสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยหยิบยกประเด็นการทบทวนความเป็นคนอีสานผ่านการรับรู้เวลาและประวัติศาสตร์ ภาษาและวิวาทะ”ลาว” ความเชื่อและพิธีกรรมในภาวะสมัยใหม่ เพื่อทำความเข้าใจภูมิหลังและประวัติศาสตร์ของตัวตนของตัวเอง และพี่น้องคนอีสาน

           ผศ.ดร.โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาลัยวิทยาลัยนครพนม นำเสนอบทความ “การเปลี่ยนแปลงของระบบเกษตรภาคอีสาน : ประสบการณ์ภาคสนามผ่านสายตานักวิชาการระบบเกษตร” ผู้เขียนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ภาคสนามจากพื้นที่วิจัยในสองพื้นที่คือทุ่งกุลาร้องไห้ และจังหวัดนครพนม เพื่อทำความเข้าใจบริบท สภาพพื้นที่ และระบบนิเวศเกษตร ผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ระบบนิเวศเกษตร (agroecosystem analysis) ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติด้านกายภาพ ชีวภาพ และมิติทางด้านสังคมศาสตร์ ผู้เขียนนำเสนอภาพการพัฒนาของภาครัฐที่พยายามนำเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร แต่ขาดความรู้ความเข้าใจ ละเลยภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และมองข้ามการศึกษาระบบนิเวศเกษตร ทำให้การพัฒนาไม่ตรงกับปัญหาและไม่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับภาครัฐ และนักวิจัย ให้ตระหนักและใส่ใจการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การศึกษาวิเคราะห์พื้นที่วิจัย และการนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

           อาจารย์ ดร.ทุติยาภรณ์ ภูมิตอนมิ่ง อาจารย์ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นำเสนอบทความ “รฤกรส : ส่งวัฒนธรรมในสนามกับการพัฒนาตัวตนตามรอยชีวิต รูป ลิ้น และกลิ่นหอม” ผู้เขียนได้หวนคำนึงถึงการทำงานภาคสนามเมื่อครั้งได้เข้าร่วมโครงการวาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี กับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ณ พื้นที่ซ้ำโรคในสนามดินแดนเชิงภู อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เพื่อนำเสนอ “การส่องวัฒนธรรม” ด้วยวิธีการศึกษาซ้ำ จาก “บันทึกภาคสนาม” (ทั้งที่เป็นคำพูด การเขียน ภาพวาด ภาพถ่าย และลายเส้น ที่ได้รวบรวมไว้) อันเป็นชุดความรู้ที่ได้รวบรวมไว้จากการทำงาน และขณะรวบรวมข้อมูลผู้เขียนยังค้นพบ “ผัสสะแห่งสนาม (sensory of the field)” อันหมายถึงความรู้ หรือการรับรู้ที่มาจากการนำร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ไปกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รสชาติ และการสัมผัส โดยผู้เขียนได้นำข้อมูลข้างต้นมาศึกษา วิเคราะห์ซ้ำ และพบว่าสนามมีความโชคดีที่บังเอิญค้นพบ ทั้งการค้นพบและวิเคราะห์ตนเอง ผู้คน ความทรงจำ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพื่อทบทวนการมีตัวตนของตนเอง เข้าใจตัวเอง คนอื่น พื้นที่ และการทำงาน มากขึ้น

           หนังสือ “สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก” เป็นผลงานรวมบทความวิชาการที่เปิดพื้นที่ให้ “นักวิจัย” ได้กลับมาสำรวจและวิพากษ์ “ตนเอง” ผ่าน “สนามวิจัย” ในฐานะ “พื้นที่ของความรู้สึก” และ “พื้นที่ของตัวตน” โดยใช้แนวทางของ อัตชาติพันธุ์นิพนธ์ (autoethnography) ซึ่งเป็นวิธีการเขียนงานวิชาการที่เน้นการบอกเล่าความรู้สึก ความเปราะบาง และอารมณ์ของนักวิจัย เพื่อให้หวนระลึกและทบทวนตนเองในระหว่างการทำงานภาคสนาม เนื้อหาในแต่ละบทเขียนโดยนักวิจัยหลากหลายรุ่น ครอบคลุมสนามหลายพื้นที่ บางบทความแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจ ความลังเล และความลำบากใจของนักวิจัยในการเผชิญกับประเด็นจริยธรรม หรือกลับมาตั้งคำถามต่อความรู้ที่ได้มาจากภาคสนาม นักวิจัยบางคนทบทวนสถานะของตนเองกับแนวคิดแบบขาว-ดำของ “คนนอก” และ “คนใน” โดยแสดงให้เห็นว่านักวิจัยสามารถเป็นได้ทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” พร้อมกัน หรือสามารถสลับบทบาทตามสถานการณ์ นักวิจัยหลายคนวิพากษ์บทบาทของตนเอง ทั้งในเชิงอำนาจ อารมณ์ และการเมืองของสนามวิจัย ขณะเดียวกันก็ทบทวน สัมผัส (senses) และความรู้สึกในการสร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างนักวิจัยกับผู้ถูกศึกษา บทความทั้งหมดนำเสนอประสบการณ์ผ่านกรณีศึกษาและพื้นที่สนามที่หลากหลาย เช่น ผู้อพยพชาวจีน ผู้อพยพชาวเวียดนามหรือเหวียตเกี่ยว ผู้อพยพเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกง (กัมพูชา) และอำเภอคลองใหญ่ (ตราด) คนจนในจังหวัดพิษณุโลก กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของภาครัฐ

           หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด “ตำราสังคมศาสตร์เคล็ดไทย–สสมส.” ที่จัดทำโดยบริษัทเคล็ดไทย จำกัด ร่วมกับ สมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม (สสมส., SASA) เพื่อเป็นตำราด้านสังคมศาสตร์สำหรับนิสิตนักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการในสาขามานุษยวิทยา สังคมวิทยา และวัฒนธรรมศึกษา เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ นักวิจัยเชิงคุณภาพที่สนใจเรียนรู้วิธีการทำงานกับชุมชนผ่านกระบวนการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่กำลังจะเริ่มทำวิจัยภาคสนาม เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ไม่ใช่เตรียมเพียงเทคนิคหรือทฤษฎีตามตำราเรียน

           หนังสือสนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก พร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


บรรณานุกรม

กนกวรรณ มะโนรมย์. , ฐานิดา บุญวรรโณ. , ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี. , ทุติยาภรณ์ ภูมิดอนมิ่ง. , นิติ ภวัครพันธุ์. , นิติ ภวัครพันธุ์. , ยุกติ มุกดาวิจิตร, , ยุกติ มุกดาวิจิตร. , สุริยา คําหว่าน. และ โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ. .(2568). สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ศยาม.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ.(17 มิถุนายน 2568). งานสนามของมานุษยวิทยา (Anthropological Fieldwork).https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/468


ผู้เขียน
อนันต์ สมมูล
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สนามที่รู้สึก ตัวตนที่รู้จัก แนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยา อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา