ชาวบ้านกลุ่มใหม่ในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 1514

ชาวบ้านกลุ่มใหม่ในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง

           การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างไพศาลในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้นำพาผู้คนออกจากภาคเกษตรกรรม เข้าไปทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิเช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่ทำงานในภาคเกษตรกรรมก็เป็นการผลิตในเชิงพาณิชย์มากกว่าการยังชีพ (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ 2546) ทำให้เกิด “คนชั้นกลางในชนบท” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การผลิตในภาคนอกเกษตรกรรม หรือการผลิตเพื่อขาย ทำให้คนในภาคการผลิตนั้น ๆ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบความสัมพันธ์แบบเดิม (รวมถึงระบบอุปถัมภ์แบบเดิม) ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนในสังคมได้อีกแล้ว การ “ถักทอ” สายใยความสัมพันธ์แบบใหม่ทั้งในระบบอุปถัมภ์ใหม่ (Keyes 2010)

           ชาวบ้านกลุ่มใหม่นี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มใหม่นี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจตลาดและการเมืองในระดับชาติ สะท้อนผ่านการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่น รวมทั้งมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องแสวงหากลไกทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อใช้เป็นทุนในการประกอบการทางธุรกิจและทางสังคม อีกด้านหนึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้น (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2549; 2554) ประกอบกับความคิดประชานิยมที่เริ่มนำมาใช้ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2540 ส่งผลให้เขาเหล่านั้นต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในฐานะเป็นพื้นที่ทางการเมืองของการปะทะต่อรองช่วงชิงระหว่างรัฐกับประชาชน เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะ “ชาวบ้านผู้ประกอบการ” (villagers entrepreneur) ที่กระตือรือร้น (ชัยพงษ์ สำเนียง 2566)

           กลุ่มชาวบ้านต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางการเมืองนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีสถานภาพแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ขณะที่ต่างก็ก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กับความตื่นตัวทางการเมือง หลังจากการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนให้ประเทศไทย “ทันสมัย” แม้ในช่วงต้นการพัฒนาอาจจะมีลักษณะเป็นเพียงวาทกรรม ที่รัฐไทยในยุคแรก ๆ มักนำมาฉวยใช้เพื่อการขยายอำนาจของตนเข้าไปในพื้นที่ชนบทมากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่การพัฒนาเศรษฐกิจหลังทศวรรษ 2520 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชนบทในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าเข้มข้นที่ต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้เพิ่มความเสี่ยงในการผลิตตามมาด้วย และส่งผลให้เกิดกลุ่มชาวบ้านที่หลากหลาย ทั้งเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่จำนวนน้อยที่ได้กลายมาเป็นเกษตรกรนายทุน ขณะที่ชาวนาบางส่วนต้องศูนย์เสียที่ดินและถูกขับไล่ออกจากที่ดินและกลายมาเป็นชาวนารับจ้างอิสระ (Anan 1989) ชาวบ้านในชนบทบางส่วนได้กลายเป็นเกษตรกรที่มีที่นาขนาดเล็ก แต่อาศัยการขูดรีดแรงงานในครอบครัวเพื่อให้สามารถผลิตเพื่อพยุงฐานะของตนเอง1

           ผลจากการพัฒนาดังกล่าวที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจชนบท จากเดิมที่ยึดโยงอยู่กับการผลิตบนฐานที่ดินเป็นหลัก ไปสู่การผลิตบนฐานของทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังพยายามแสวงหาดุลยภาพทางการผลิตของทั้งสองฐาน ตลอดจนกระจายที่มาของรายได้จากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2554) ภายใต้บริบทดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่ศึกษาค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมา ตามทิศทางการแยกแยะและการกระจายตัวออกไปอย่างหลากหลายเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เป็นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรผู้ประกอบการ เกษตรกรรายย่อย ชาวนาเช่าเพราะไร้ที่ดินทำกิน ชาวนารับจ้าง และแรงงานรับจ้าง เป็นต้น แต่กลุ่มคนที่หลากหลายเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ตื่นตัวและกลายเป็นผู้กระทำการทางการเมืองด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในบทบาทที่แตกต่างกันด้วย โดยจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นกรณีศึกษาดังนี้

           กรณีแรกเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการชื่อ “อาเล็ก” อายุ 61 ปี และผันตัวเองจากผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจสู่ผู้ประกอบการทางเมือง ที่สนับสนุนกลุ่มปฏิรูปที่ดินศรีเตี้ย เดิมถือครองที่ดินจำนวน 10 ไร่ด้วยการสืบมรดกจากพ่อ ซึ่งเป็นเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ในตำบลศรีเตี้ย เพราะเป็นชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่ และสามารถบุกเบิกที่นาได้กว่า 30 ไร่ เมื่อครอบครัวขยายตัวจึงต้องแบ่งที่ดินของตระกูลจนขนาดเล็กลง แต่เป็นนาลุ่มที่ให้ผลผลิตดี แตกต่างจากครอบครัวส่วนใหญ่ที่มักมีนาอยู่ในที่ดอน ในวัยเยาว์ อาเล็กมีโอกาสศึกษาชั้นมัธยมในตัวเมืองลำพูนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือว่ามีความรู้ดีกว่าคนรุ่นเดียวกันในหมู่บ้าน หลังจากสำเร็จการศึกษาเขาได้ทำงานเป็นเสมียนเพื่อหาประสบการณ์ อยู่ในร้านค้าในตัวจังหวัด และประมาณปี พ.ศ. 2530 ซึ่งตรงกับช่วงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจก่อนฟองสบู่แตก ในพื้นที่มีการปลูกกระเทียมอย่างเข้มข้น เขาก็สามารถผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ หลังจากแบ่งขายที่นาครึ่งหนึ่งเพื่อนำมาลงทุนประเดิมในการทำธุรกิจ ในฐานะพ่อค้ารับซื้อสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกระเทียมในหมู่บ้านส่งให้พ่อค้าคนกลาง โดยอาศัยเครือข่ายจากประสบการณ์ที่เคยทำงานในเมือง อาเล็กเล่าว่าเขาสามารถทำกำไรและสะสมเงินทุนได้มากจนสามารถซื้อรถปิกอัพ ซึ่งช่วยให้เขาสามารถรับซื้อพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมอีก เช่น ลำไย และมะม่วง

           หลังทศวรรษ 2540 อาเล็กถือว่าเป็นพ่อค้ารายใหญ่คนหนึ่งในพื้นที่ ที่รับซื้อพืชผลทางการเกษตรไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ แต่ยังขยายธุรกิจไปนอกพื้นที่ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอาเล็กจะจ้างคนในหมู่บ้านกว่า 60 คนให้เข้ามาอยู่ในเครือข่าย ซึ่งมีทั้งที่เป็นเครือญาติ และคนรู้จักในหมู่บ้าน เพื่อออกไปรับเหมาเก็บเกี่ยวผลผลิตลำใยและมะม่วงนอกหมู่บ้าน โดยอาเล็กจะเลือกคนในพื้นที่ก่อน ด้วยการยึดคติที่ว่า “จ่วยหื้อ” (ช่วยให้: ผู้เขียน) พวกเขามีงานทำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากเครือข่ายส่วนตัวแล้ว อาเล็กยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน ด้วยการทำธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนาน ชื่อ พ่อเลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นทั้งผู้รับซื้อผลผลิตการเกษตรและผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่มีคนงานในสังกัดไม่ต่ำกว่า 50 คนต่อวัน เมื่ออาเล็กหันมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลศรีเตี้ย พ.ศ 2555 เขาจึงสามารถชนะการเลือกตั้ง จากการสนับสนุนของเครือข่ายลูกน้องและพ่อเลี้ยงไก่ในฐานะ “หัวคะแนน” (สัมภาษณ์ 20มีนาคม 2558)

           การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของรัฐ ได้เอื้อประโยชน์ให้คนที่มีทุนในระดับหนึ่งอย่างอาเล็กประสบความสำเร็จ จากปัจจัยที่ได้เข้าไปเรียนในเมือง และช่วยให้สามารถพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสะสมทุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษที่ 2530 ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจหลากหลายรูปแบบ (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ 2546) อาเล็กถือว่าเป็นกลุ่มคนที่สามารถช่วงชิงโอกาสในการสะสมทุน และสามารถขยายทุนทางธุรกิจและเครือข่ายจนสามารถเข้ามาสู่พื้นที่การเมืองในเวลาต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับงานของนิติ ภวัครพันธุ์ (Niti 2003) ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักธุรกิจและสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกสุขาภิบาล เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างอำนาจทางการเมือง โดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์แบบเพื่อนและเครือข่ายธุรกิจ ผ่านการเล่าเรียนด้วยกัน จะพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ บางส่วนสามารถฉวยใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองไปพร้อม ๆ กันด้วย (Walker 2012)

           แต่อย่างไรก็ตาม แม้ชนบทในภาคเหนือจะเกิดการเชื่อมโยงกับอำนาจภายนอกทั้งรัฐและระบบตลาด แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการกระจายตัวและเหลื่อมล้ำในชุมชนอย่างมหาศาล โดยบางคนไม่มีข้าวในนาจนต้องรับจ้าง เกิดความขัดแย้ง ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีพื้นที่ทำนา คนที่มีนาก็ให้เช่าจำนวนมาก และมีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น2 ชาวนาบางส่วนถูกผลักออกจากภาคเกษตร โดยที่การช่วงชิงและการกีดกันการเข้าถึงที่ดินเกษตร ที่มีกระบวนการเบียดขับออกจากการเป็นชาวนา พบว่าช่วงนี้มีปรากฏการณ์ขายที่นาจำนวนมาก ที่นาได้ตกไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีการใช้พื้นที่เกษตรกรรมซับซ้อนมากขึ้น หลายพื้นที่ในชนบทมีการจ้างงานคนชนบทถูกผนวกเป็นแรงงานรับจ้าง อุตสาหกรรมขนาดเล็กขยายตัวเข้ามาในชนบท (Anan 1989) แรงงานออกไปรับจ้างนอกภาคเกษตร มีการรับงานมาทำที่บ้านมีการเหมาช่วง การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการเกษตร บางหมู่บ้านมีแรงงานออกจากภาคเกษตร ชุมชนชนบทกลายเป็นเพียงหอพัก (Grey 1990) ปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีเพียงแค่คนที่ประสบความสำเร็จภายใต้การพัฒนาอย่างอาเล็ก และพ่อเลี้ยงไก่ แต่ยังมีผู้คนอีกหลายคนที่ไม่สามารถเข้าไปสู่การพัฒนาสมัยใหม่ ถูกผลักออกมเป็นแรงงานรับจ้างตามหัวเมืองและหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น แหวง สังเวียน และคำ

           กรณีที่สองเป็นชาวนายากจน ชื่อ กำนันแหวง เกิดในปี 2501 ปัจจุบันอายุ 61 ปี แต่ตื่นตัวในฐานะผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นแรก ๆ จากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ในปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินและสะสมประสบการณ์จนภายหลังสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำท้องถิ่นและแกนนำการเคลื่อนไหวในท้ายที่สุด แหวงเกิดในครอบครัวของชาวนาจน โดยพ่อแม่มีที่ดินเพียง 3 ไร่ และอยู่ในที่ดอนทำให้แต่ละปีปลูกข้าวไม่พอกิน ในวัยเด็กตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ ป. 4 แหวงต้องไปบวชเป็นสามเณรในหมู่บ้าน เพื่อลดภาระของครอบครัว และได้บวชต่อมาจนถึงทศวรรษ 2530 จนสึกออกมาทำสวนลำไยและรับจ้างทั่วไป แต่ด้วยขนาดพื้นที่ของครอบมีขนาดเล็ก ทำให้เขาต้องเช่าที่ดินของคนอื่นในการทำสวน แต่ก็เผชิญกับปัญหาความผันผวนของราคาลำไย ซึ่งลุ่ม ๆ ดอน ๆ ประกอบกับต้องเช่าที่ทำให้ชีวิตไร้ความมั่นคง

           เขาเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันมาก่อน เข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นของเขาเริ่มจาก ในปี 2537 เป็นสารวัตรกำนัน ปี 2541 เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านศรีเตี้ย ปี 2542 เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านศรีเจริญ ปี 2546 เป็นกำนันตำบลศรีเตี้ย ปี 2551 เป็นสมาชิกเทศบาลตำบลศรีเตี้ย รวมทั้งเขาเคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2549 ก่อนที่จะมาทำงานการเมือง เขาเคยบวชเรียนมาอย่างยาวนานจนได้รับขนานนามว่า “หนาน” (ทิด) คือ ผู้ที่ได้บวชเรียนมาอย่างยาวนาน ทำให้เป็นที่นับถือของชาวบ้าน โดยเล่าว่าครอบครัวเขายากจน ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือสูง ๆ ได้ การที่บวชเรียนเป็นการลดภาระทางบ้าน การที่มาทำการเมืองเพราะว่าเห็นความไม่เป็นธรรม เลยหันมาเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน เพราะการเป็นกำนันทำให้เป็น “เจ้าพนักงาน” โดยตำแหน่ง สามารถใช้ต่อรองกับราชการ เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน

           ในระหว่างการดำรงตำแหน่งปี 2537 - 2540 เขามีส่วนในการเรียกร้องเรื่องที่ดินให้กับชาวบ้านร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ และสมัชชาคนจน ต่อมาในปี 2543 มีการตั้งกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ เพื่อเป็นแนวร่วมในการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งก็มีอุปสรรคปัญหา คือ แกนนำและตัวเขาถูกฟ้องร้องหลายคดี ปัจจุบันเขาเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ที่มีสมาชิกมากว่า 600 คน ที่เป็นฐานการเมืองที่สำคัญของเขา เขาได้รับการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่องเพราะสามารถรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์กับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เขาจะไปงานในพื้นที่ตลอดไม่ขาดแม้แต่ครั้งเดียว ยกเว้นมีธุระสำคัญจริง ๆ ทุกวันศีล (วันพระ) ก็จะไปวัดทุกครั้ง และที่สำคัญ คือ การที่เขาบวชเรียนมาอย่างยาวนานทำให้เขาเป็นผู้มีความรู้ด้านประเพณีและพิธีกรรมทำให้เป็นผู้ที่ได้รับการเชื่อถือในท้องถิ่น

           เมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าไปยึดที่ดินเอกชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนในปี พ.ศ. 2542 นั้น แหวงสามารถสวมบทบาทเป็นแกนนำได้ เพราะประสบการณ์จากการบวชที่ยาวนานและมีความรู้ในเรื่องพิธีกรรมและเวทมนต์คาถา จึงเข้ามาเป็นคนวางกลยุทธ์ของการเคลื่อนไหว ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วม 580 ครัวเรือน กว่า 2,500 คน กลยุทธ์หนึ่งที่เขานำมาใช้ก็คือการสร้างขวัญและกำลังใจ ด้วยการหาฤกษ์ยามตามคติพื้นบ้าน ซึ่งเขาเล่าว่า “เอาความเจื้อมายะหื้อคนบ่กลัว” (เอาความเชื่อมาสร้างขวัญกำลังใจไม่ให้คนกลัว) เพราะว่าการยึดที่ดินเป็นความเสี่ยงที่อาจจะต้องโดนดำเนินคดีหลายข้อหา เหตุผลสำคัญของการยึดที่ดินในครั้งนั้นเป็นความพยายามของชาวบ้านที่จะนำที่ดินกลับมาใช้ประโยชน์ ในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ แทนการปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งสอดรับกับความคิดของชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มชาวนายากจน

           ในฐานะแกนนำการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ภายหลังแหวงได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ประจำจังหวัดลำพูคนแรก (คกน.) และต่อมายังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันของตำบลศรีเตี้ยอีก 2สมัย ในปี พ.ศ. 2550 หลังหมดวาระจากกำนันก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลศรีเตี้ย และได้รับเลือกเป็นประธานสภาเทศบาล พร้อมทั้งผลักดันสมาชิกในกลุ่มปฏิรูปที่ดินเป็นนายกเทศมนตรี ทั้งนี้เพื่อถ่ายโอนพลังจากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ไปสู่การช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองภาคทางการมากขึ้น ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลศรีเตี้ย และประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินศรีเตี้ยที่คอยประสานงานกับภาครัฐและเอกชนในการปฏิรูปที่ดิน และเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

           กรณีที่สามเป็นชาวนายากจน ไร้ที่ดินทำกิน และต้องพึ่งพาการรับจ้างเป็นอาชีพหลัก ชื่ออ้ายสังเวียน อายุ 52 ปี กรณีนี้เป็นตัวอย่างของชาวบ้านที่ตื่นตัวและเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มปฏิรูปที่ดินศรีเตี้ยในฐานะผู้ประกอบการทางเมือง สังเวียนเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจนในหมู่บ้าน และเป็นลูกคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 9 คน พ่อแม่มีที่ดินในที่ดอนเพียง 2 ไร่กว่า ๆ ซึ่งทำให้แต่ละปีไม่สามารถปลูกข้าวพอเลี้ยงครอบครัวได้ และสำเร็จเพียงการศึกษาภาคบังคับ ชั้น ป. 6 เท่านั้น พี่น้องทั้งหมดของสังเวียนต้องออกไปทำงานรับจ้างตั้งแต่เด็ก ตัวของสังเวียนก็ไปรับจ้างทำงานสารพัดตั้งแต่อายุ 15 ปี พออายุได้ 20 ปี สังเวียนเคยไปทำงานที่ตัวเมืองลำพูน และต่อมาได้ไปเป็นกรรมกรก่อสร้างในตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงปี 2530-2533 มีรายได้จากการเป็นกรรมกรเพียงวันละ 150-180 บาท แต่เขายังต้องส่งเงินมาให้พ่อแม่ที่อยู่บ้านทุกเดือนเดือนละ 1,000-1,500 บาท แม้ในช่วงนั้นจะถือว่ามีรายได้ดีพอสมควร แต่เขากลับเล่าว่า “ตุ๊ก” ในภาษาคำเมือง ซึ่งหมายถึงว่ายังตกอยู่ในความลำบากยากจน เพราะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และยังต้องเดินทางไปหลายที่ตามแคมงานที่เปลี่ยนไป จนขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

           เมื่อสังเวียนได้กลับมาอยู่ในหมู่บ้านช่วงปี 2535 เขายังคงต้องรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นงานในภาคเกษตร แต่มักไม่มีงานทำอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาต้องหันกลับไปรับจ้างในเมืองเป็นครั้งคราว ประมาณ 3-5 เดือนต่อปี เพื่อจะสามารถมีรายได้เพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดปี สังเวียนมักพูดหลายครั้งว่า “เฮามันลูกคนตุ๊ก” (เราเป็นลูกคนยากจน) เขาจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง และต้องทำงานสารพัด 2 ปีต่อมา พ่อของสังเวียนก็เสียชีวิต พี่น้องได้รับส่วนแบ่งที่นาที่มีจำนวนน้อยนิดเพียงคนละ 1 งาน ซึ่งไม่เพียงพอที่ใช้ผลิตให้คุ้มทุนได้ ท้ายสุดพี่น้องทั้งหมดจึงขายนานั้น แล้วนำเงินมาแบ่งกันได้คนละ 5,000 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนอะไร ไม่เพียงแต่สังเวียนเท่านั้น พี่น้องของสังเวียนส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานไร้ที่ดิน ยกเว้นพี่ชายคนที่ 3 ที่แต่งงานกับ “คนมี” (คนมีฐานะ) ในหมู่บ้าน นอกนั้นเป็นแรงงานรับจ้างทั้งหมด ปัจจุบันน้องทั้ง 2 คนของสังเวียนก็ทำงานอยู่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่จัดตั้งขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 2530

           แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 สังเวียนต้องเผชิญชะตากรรมคล้ายคลึงกับชาวบ้านคนอื่น ๆ อีกมากมายในพื้นที่ ในการหารายได้ที่พบกับความยากลำบากมากขึ้น เขาจึงเข้าร่วมกับชาวบ้านส่วนหนึ่งยึดพื้นที่ดินของเอกชนในพื้นที่ที่ปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า และร่วมคลื่อนไหวเรื่องที่ดินตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยคติที่ว่า “บ่มีที่ดิน คนตุ๊ก” (ถ้าไม่มีที่ดิน คนก็จะยากจน) ในฐานะเป็นมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับคนที่มีที่ดิน แต่กลับปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะเท่ากับซ้ำเติมคนไร้ที่ดินให้ต้องยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังคำพูดของสังเวียนที่ว่า “เฮาบ่มีหยังจะเสียละอยู่อี้ก่าตาย” (เราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว อยู่แบบนี้ก็มีแต่ตายอย่างเดียว) คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองเชิงเสียดสีและกระแนะกระแหนของชาวบ้านในภาษาของพวกเขาเอง ต่อปัญหาช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน ที่ดำรงอยู่และส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจก็กระทบพวกเขามากอยู่แล้ว แต่เมื่อปัญหานี้ถูกละเลย พวกเขาจึงต้องช่วยตัวเอง ในปัจจุบันสังเวียนใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เขาได้รับจัดสรรมาจากที่ดินที่ยึดมาจากเอกชนปลูกลำไย และพืชผักเล็ก ๆ น้อยขาย รวมถึงปลูกบ้าน แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาการรับจ้างทั่วไปอยู่ด้วย (สัมภาษณ์ 25 กุมภาพันธ์ 2558)

           กรณีต่อมาเป็นกรณีของเกษตรกรขนาดกลางที่สามารถสร้างตัวจนเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ชื่อ พี่คำ ปัจจุบันอายุ 49 ปี แม้เธอจะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มปฏิรูปที่ดินศรีเตี้ย แต่มีญาติพี่น้องเข้าร่วมจำนวนมาก จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้สนับสนุนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และร่วมลงคะแนนเลือกตั้งให้สมาชิกของกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ตื่นตัวทางการเมืองในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองด้วยตัวเอง คำเป็นลูกสาวคนที่ 2 ในครอบครัวที่มีพี่น้อง 3 คน โดยมีพ่อแม่เป็นชาวนาฐานะปานกลาง มีที่นา 3 ไร่ และ ที่ดอนอีก 3 ไร่ รวมเป็น 6 ไร่ ในที่ดอนจะปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วลิสงที่นิยมปลูกในช่วงปี 2520-2525 และปลูกข้าวในที่นา คำได้เรียนเพียงการศึกษาภาคบังคับ ถึงชั้น ป.6 เนื่องจากทางบ้านเห็นว่าเป็นผู้หญิงไม่ต้องเรียนสูง พอจบการศึกษาเธอก็ทำงานในที่ดินของพ่อแม่ เมื่ออายุได้ 20ปี เธอจึงเข้าไปทำงานในเมือง และฝึกฝนเรียนรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า ในที่สุดก็ได้สามีเป็นช่างก่อสร้าง หลังทศวรรษที่ 2540 เธอได้กลับมาอยู่บ้าน และเปิดร้านเย็บผ้าเล็ก ๆ ขณะที่สามีของเธอก็รับเหมาก่อสร้างและซ่อมบ้านของทั้งคนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงทำสวนลำไยในพื้นที่มรดกที่แบ่งกับพี่น้องราว ๆ 2 ไร่ ช่วงแรกลำไยสามารถทำรายได้ต่อปีให้เธอกว่า 100,000 บาท แต่ก็ต้องอาศัยการดูแลอย่างเข้มข้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา แต่ 3 ปี ต่อมาเมื่อราคาลำไยตกต่ำลง เธอจึงขาดทุนติดต่อกันหลายปี จนต้องหยุดทำสวนลำไยในที่สุด และหันมาเย็บผ้าอย่างเดียว ต่อมาเมื่อนายทุนนอกพื้นที่ส่งเสริมให้มีการนำมะม่วงพันธุ์ทองดำมาปลูกในพื้นที่ เพื่อนำมาทำมะม่วงดอง คำก็ลงทุนปลูกมะม่วงทองดำในพื้นที่มรดกของเธอด้วย ซึ่งลงทุนน้อยและไม่ต้องดูแลมากนัก เพราะคำมองว่าเหมือนให้ “ฟ้าเลี้ยง” (ธรรมชาติดูแล) จึงทำให้เธอกับสามีเอาเวลาไปทำอาชีพอื่นได้อีก ดังนั้นแม้ผลตอบแทนจะน้อยกว่าลำไย แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงรายได้เสริมที่ดี (สัมภาษณ์ 20 กุมภาพันธ์ 2558)

           กรณีตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าชาวบ้านกลุ่มใหม่เหล่านี้มีลักษณะแตกต่างจากชาวบ้านในชนบทในอดีต บางส่วนสามารถเข้าไปช่วงชิงและสร้างพื้นที่ผ่านการขยายตัวของธุรกิจ บางส่วนไม่ถูกเบียดขับออกจากที่ดิน ทรัพยากร ทำให้ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้าง แต่กระนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะตกอยู่ภายใต้การกำกับบงการของทุนฝ่ายเดียว เพราะได้เคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในหลายมิติ การที่ชุมชนท้องถิ่นได้เข้าไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่น ส่งผลตามมาอย่างหนึ่ง คือ การก่อตัวขึ้นมาของกลุ่มใหม่อย่างหลากหลายในชุมชน คนกลุ่มนี้มีฐานะดีขึ้นด้วยการมีชีวิตคาบเกี่ยวอยู่กับภาคนอกเกษตรมากขึ้น ขณะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ๆ เพราะเอาชีวิตไปผูกพันอยู่กับระบบตลาดภายนอกชุมชน พร้อม ๆ กับพึ่งพานโยบายของรัฐไปด้วย ซึ่งก็ตามมาด้วยความขัดแย้งใหม่ ๆ ในชุมชนเช่นเดียวกัน แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น

           คนกลุ่มใหม่เหล่านี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวบ้านในเศรษฐกิจแบบศีลธรรมที่อาจจะเคยมีอยู่ในอดีต เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระบบตลาด ตรงกันข้ามกลับพยายามฉกฉวยและแสวงหาโอกาสจากตลาดอย่างเต็มที่ ด้วยการปรับตัวอย่างหลากหลาย รวมถึงมีความคาดหวังในด้านการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคคุณภาพชีวิตที่ดี ในฐานะที่เป็นการช่วงชิงความหมายการพัฒนา ซึ่งเคยผูกติดอยู่กับด้านการผลิตที่ให้ความสำคัญกับรายได้เท่านั้น ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการพยายามเข้าไปต่อรองกับรัฐในลักษณะต่าง ๆ (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2558) อีกทั้งคนกลุ่มใหม่ในชนบทเหล่านี้ต่างสร้างตัวตนและอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ที่สัมพันธ์กับการพัฒนา (สมพงศ์ อาษากิจ 2561) อีกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้สร้างสายใยทางการเมืองและความสัมพันธ์หลายระดับผ่านการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองของการปะทะต่อรองช่วงชิงระหว่างรัฐกับประชาชน เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในหลายระดับที่ซ้อนทับกัน ซึ่งในวิทยานิพนธ์นี้จะให้คำว่า “ชาวบ้านผู้ประกอบการ” (villagers entrepreneur)

           กลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่นที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่ ๆ เหล่านี้ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวบ้านในเศรษฐกิจแบบศีลธรรม ที่อาจจะเคยมีอยู่ในอดีต เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระบบตลาดอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับพยายามฉกฉวยและแสวงหาโอกาสจากตลาดอย่างเต็มที่ ด้วยการปรับตัวอย่างหลากหลาย เพราะมีความคาดหวังในด้านการบริโภคมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการบริโภคคุณภาพชีวิตที่ดี ในฐานะที่เป็นการช่วงชิงความหมายการพัฒนา (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2558)

           ในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านในชนบทมักจะถูกมองว่า ถ้าไม่เป็นชาวนาก็เป็นเกษตรกร ซึ่งมักจะพึ่งพาฐานการผลิตที่ผูกติดอยู่กับที่ดินเท่านั้น แต่ชาวบ้านกลุ่มใหม่นี้เป็นกลุ่มคนในชนบทที่มีฐานการผลิตและที่มาของรายได้ที่คาบเกี่ยวอยู่ทั้งฐานที่ดินและทุนรูปแบบใหม่อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมในรูปของเครือข่าย และทุนความรู้ ด้วยการจัดการอย่างยืดหยุ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงที่มาจากการพึ่งพาเศรษฐกิจในระบบตลาดมากขึ้น และที่น่าสนใจคนกลุ่มใหม่นี้ยังตื่นตัวทางเศรษฐกิจ จนสามารถนำทุนรูปแบบใหม่เหล่านั้นมาริเริ่มจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าใหม่ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาคือผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจนั่นเอง

           แม้ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังคงตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน เพราะพวกเขาขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังไร้อำนาจและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งกดดันให้พวกเขาต้องตื่นตัวขึ้นมาเพื่อที่จะแสดงบทบาททางการเมืองร่วมกันในเครือข่ายเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่หลากหลายและแตกต่างกันอยู่บ้าง เพราะพวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ทั้งหมดล้วนมุ่งหวังจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการก่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำข้างต้น อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ไม่ได้แสดงบทบาททางการเมืองในระดับเดียวกันทั้งหมด จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถยกระดับบทบาทไปถึงระดับของการเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง หมายถึงผู้ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น จนสามารถเข้าไปช่วงชิงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองระดับท้องถิ่นได้ในบางระดับ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

บรรณานุกรม

ชัยพงษ์ สำเนียง. 2566. การเมือง ความหวัง กับชีวิตประจำวัน การต่อรองของชาวบ้านผู้ประกอบการ กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2554. เบี้ยไล่ขุน. กรุงเทพฯ: มติชน.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. 2546. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม บุคส์.

สมพงศ์ อาษากิจ. 2561. วิถีแบบเมืองในพื้นที่ชนบท: การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความรู้สึกของคนชนบทในโลกสมัยใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2549. วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจไร้วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
           2554. “การปรับโครงสร้างชนบทไทยกับปัญหาที่มองไม่เห็น” ใน ปาฐกถา 60 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊กส์.
           2558. กำกึ๊ดกำปากงานวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Anan Ganjanapan. 1989. Conflicts over the deployment and control of labor in a northern Thai village in Gillian Hart, Andrew Turton and Benjamin White (eds.), Agrarian Transformations: Local Processesand the State in Southeast Asia, Berkeley: University of California Press (98-124).

Gray, Jennifer. 1990. The road to the city: young women and transition in northern Thailand Ph.D. Dissertation, Macquarie University.

Hart, Gillian. 1998. Multiple trajectories: a critique of industrial restructuring and the new institutionalism Antipode 30(4): 333-356.

Keyes, Charles F. 2010. “Cosmopolinta” Villagers and Populist Democracy in Thailand. Paper to be Presented at Conference on Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia May 13-15, 2010 Chiang Mai: Thailand.

Niti Pawakapan. 2003. Traders, kinsmen and trading counterparts: the rise of local Politicians in north-western Thailand The Australian Journal of Anthropology 14(3): 365-382.


1  ความซับซ้อนของการจัดการในการผูกมัดแรงงานได้ปรากฏขึ้น มีการเกิดขึ้นของเกษตรนายทุนที่มีข้อบังคับที่หลากหลายและสามารถทำให้พวกเขามีความพยายามมากขึ้นที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมแรงงานของผู้เช่าที่ดินและควบคุมแรงงานรับจ้าง ชาวนาได้ผนวกเข้ากับระบบการผลิตแบบทุนนิยม และต่อมาหลังการทำนามีการปลูกพืชเกษตรเชิงพาณิชย์ แม้ระบบการผลิตไม่ได้เป็นแบบทุนนิยมเสียทั้งหมด แต่เป็นการผสมผสานระหว่างการผลิตเพื่อขายและผลิตเพื่อยังชีพ เช่น กรณีใช้น้ำทำนา ด้านหนึ่งชาวนาใช้น้ำจากการทำเหมืองฝายและด้านหนึ่งตอกน้ำบาดาลใส่น้ำทำนา

2  โดยสรุปในทศวรรษที่ 2520 กระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบทในยุคพัฒนาแบบทุนนิยม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบท (Agrarian Tranformation) โดยเน้นมุมมองเฉพาะด้านการผลิต ที่ดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยม เห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านความขัดแย้งและความรุนแรงในท้องถิ่น และมีความสัมพันธ์กับรัฐและทุน (Hart 1998) มีการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเข้าถึงทุนแตกต่างกัน จนนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ผู้เขียน

ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์สังคม
มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย ผู้ประกอบการทางการเมือง ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share