การเมืองแห่งความหวัง: ชาวบ้านผู้ประกอบการทางการเมือง ชาวบ้านผู้ตื่นตัว และชาวนาการเมือง

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 3866

การเมืองแห่งความหวัง: ชาวบ้านผู้ประกอบการทางการเมือง ชาวบ้านผู้ตื่นตัว และชาวนาการเมือง

           การอธิบาย “การเมือง” ในโลกทัศน์ของชาวบ้าน ที่มักถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้วาทกรรม โง่ จน เจ็บ และไม่สามารถคิดเชิงนามธรรมได้ ผู้ศึกษาใช้แนวคิดเรื่อง “การเมืองในชีวิตประจำวันและพื้นที่การเมือง” เป็นแกนหลักในการอธิบาย ข้อค้นพบจากการศึกษาพบว่า การเมืองของชาวบ้านไม่สอดคล้องกับความเข้าใจทั่วไปของคนในสังคมที่ตกอยู่กับมายาคติข้างต้น ชาวบ้านได้สร้างชีวิตทางการเมืองผ่านความสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างซับซ้อน และเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น และการเมืองในชีวิตประจำวันหลายระดับ อีกทั้งยังสร้างกลยุทธ์และกลไกเชิงสถาบันแบบใหม่ ที่มีฐานจากกฎเกณฑ์ทางสังคมแบบเดิม รวมถึงข้อตกลงใหม่ ๆ ที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาลท้องถิ่น” จากล่างขึ้นบน เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับรัฐ ซึ่งเคยผูกขาดการนิยามการเมือง ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความหมายของ “การเมือง” จากเบื้องล่างผ่านการเคลื่อนไหวภาคประชาชนไปสู่การเมืองแบบทางการ ภายใต้บริบทของการกระจายอำนาจและการเลือกตั้ง ลักษณะดังกล่าวสะท้อนว่า ชาวบ้านมีความคิดทางการเมืองที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อค้นพบจากการศึกษา ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นโลกทัศน์ทางการเมืองของชาวบ้าน ที่ถักทอความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างอิสระ

           การก่อตัวขึ้นมาของคนกลุ่มใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งได้แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการทางเมือง จนสามารถพัฒนาตัวเองกลายเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองในที่สุด คนกลุ่มใหม่นี้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แม้บางส่วนอาจจะอยู่ในฐานะผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน เพราะขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระบบตลาดที่พวกเขาไร้อำนาจควบคุมและส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

           คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาภายใต้บริบทของพื้นที่ทางการเมืองในสังคมภาคเหนือช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีจุดปะทะหลักบนพื้นฐานของวาทกรรมการพัฒนาและการช่วงชิงความหมายที่แตกต่างและขัดแย้งกันด้านการถือครองที่ดินระหว่างรัฐและชาวบ้าน แม้การตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านจะเริ่มจากการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดจากความขัดแย้งเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะพวกเขาได้ค่อย ๆ บ่มเพาะประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวมาอย่างยาวนาน เริ่มจากการสะสมประสบการณ์ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ที่เรียกร้องความเป็นธรรมในการเช่านา ในระยะแรกอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดเชิงนามธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่บ้าง แต่ต่อมาก็หันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้และต่อรองกับรัฐในประเด็นรูปธรรมที่ยึดโยงอยู่กับปัญหาจริงในพื้นที่มากขึ้น และค่อย ๆ ผลักดันปัญหารูปธรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ขยายตัวออกไปข้ามท้องถิ่น (ชัยพงษ์ สำเนียง 2566)

           การเคลื่อนไหวเช่นนี้เองได้ช่วยหล่อหลอมประสบการณ์ให้ชาวบ้านเริ่มหันมามองตนเองในฐานะเป็นผู้กระทำการทางการเมืองที่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีอิสระทางความคิดมากขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาพื้นที่การเมืองทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เริ่มต้นด้วยการขยายเครือข่ายของตนเองและประสานกับเครือข่ายภายนอกทั้งนักพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการ ซึ่งเปิดให้พื้นที่ทางการเมืองกลายเป็นพื้นที่ของผสมผสานความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาร่วมในพื้นที่ที่กว้างขวางมากขึ้น

           หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 พื้นที่ทางการเมืองได้เปิดกว้างขึ้น และไม่ได้เป็นเพียงจุดตัดของการต่อสู้และต่อรองกับรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้จากการประสานกับเครือข่ายต่าง ๆ ภายนอก พื้นที่ทางการเมืองของชาวบ้านก็ได้ขยายวงออกไปอีก ผ่านการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งช่วยบูรณาการให้เครือข่ายชาวบ้านหันมาสนใจการเมืองจากการเลือกตั้งในระดับชาติมากขึ้น ในฐานะพื้นที่เรียนรู้ใหม่เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยความสนใจพื้นที่ทางการเมืองของการเลือกตั้งนี้เอง ชาวบ้านที่ตื่นตัวกลุ่มต่าง ๆ จึงหันมาเน้นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างเครือข่ายแนวนอน ผ่านการประสานเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง เพื่อเสริมสร้างพลังในการต่อรอง แทนการพึ่งพาเครือข่ายแนวตั้งอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะชาวบ้านต้องการต่อสู้กับปัญหารูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ แทนที่จะผูกติดอยู่กับความคิดนามธรรมขององค์กรภายนอกเท่านั้น

           ในฐานะผู้กระทำการทางการเมืองชาวบ้านกลุ่มใหม่ในชนบทที่ตื่นตัวมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวบ้านในเศรษฐกิจแบบศีลธรรมที่อาจจะเคยมีอยู่ในอดีต เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระบบตลาดอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับพยายามฉกฉวยและแสวงหาโอกาสในการช่วงชิงความหมายการพัฒนาจากระบบตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อความหวังในการบริโภคคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มต้นจากความพยายามเป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่มีฐานการผลิตและที่มาของรายได้ที่คาบเกี่ยวอยู่ทั้งฐานที่ดินและทุนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมในรูปของเครือข่าย และทุนความรู้ ด้วยการจัดการอย่างยืดหยุ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงที่มาจากการพึ่งพาเศรษฐกิจในระบบตลาดมากขึ้น

           แต่การมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งยังคงมีช่องว่างของรายได้และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ดำรงอยู่ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการกดดันให้ชาวบ้านกลุ่มใหม่ในชนบทต้องตื่นตัวขึ้นมาเพื่อที่จะแสดงบทบาททางการเมืองร่วมกัน โดยไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะหน้าเท่านั้น หากยังแสวงหาแนวทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในความพยายามเข้าไปช่วงชิงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองระดับท้องถิ่นได้ในบางระดับ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองระดับต่าง ๆ เพื่อเสริมพลังในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

           การยกระดับตนเองจากผู้ตื่นตัวทางการเมืองไปสู่ผู้กระทำการทางเมืองและกลายเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองในที่สุด ชี้ให้เห็นถึงพลังของคนกลุ่มใหม่ในฐานะผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสะสมประสบการณ์ผ่านการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางการเมือง พร้อมกับสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้เปิดกว้างออกไปสู่การต่อสู้ในมิติอื่น ๆ อีกด้วย เริ่มต้นจากพื้นที่ที่เป็นจุดตัดของความขัดแย้งและการช่วงชิงความหมายเรื่องที่ดินภายใต้วาทกรรมการพัฒนา ขยายไปสู่พื้นที่ของการสร้างเครือข่ายทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งเสริมพลังให้เกิดการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการต่อรองอย่างอิสระ จนท้ายที่สุดก็รวมการเลือกตั้งระดับต่าง ๆ เข้าไว้ในพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาด้วย หลังจากเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใหม่ในชนบท พื้นที่ทางการเมืองจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในจุดตัดของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐเท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลายอีกด้วย

ชาวบ้านผู้ตื่นตัว ชาวนาการเมือง และผู้ประกอบการทางการเมือง

           การศึกษาลักษณะทางการเมืองของชาวบ้านในชนบทหรือชาวนาในสังคมไทยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ในระยะแรก ๆ จะให้ความสำคัญกับบทบาทในด้านของความรุนแรง โดยเฉพาะการกบฏต่อรัฐ เพื่อต่อต้านการขูดรีดภาษีอากร หรือเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษี (Tej 1977) ซึ่งผู้นำจะอ้างฐานะเป็นผู้วิเศษ มีคาถาอาคม จากการสั่งสมบุญญาบารมี (charisma) จนเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน และกลายเป็นผู้นำชาวบ้านในช่วงวิกฤติ (ทานาเบ 2555: 80-81) นอกจากนั้นยังใช้ความคิดด้านศีลธรรม ความเชื่อ และพิธีกรรม เรื่อง “ตนบุญ” ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นอาญาบารมีอีกแบบหนึ่งในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในท้องถิ่นมีพลังบางอย่างที่จะก่อตัวขึ้นในช่วงวิกฤติของสังคม ผ่านผู้นำที่มีบุญญาบารมีเพื่อปัดเป่าผู้คนให้พ้นจากยุคเข็ญ โดยอาจรวมเรียกว่าอำนาจท้องถิ่นที่แฝงฝังอยู่ในสังคมชาวนา (Turton 1991)

           ส่วนกบฏชาวนาในสังคมอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะอธิบายด้วยแนวความคิดของ James Scot เรื่องเศรษฐกิจแบบศีลธรรม (moral economy) ของชาวนา ในหนังสือเล่มแรกของเขาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของการยังชีพ ทั้งนี้ชาวนาคาดหวังว่ารัฐจะปกครองตามหลักจริยธรรมดังกล่าว แต่ในบริบทของการปกครองแบบอาณานิคม รัฐกลับไม่สนใจจิตใจและจริยธรรมของชาวนา และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขาเกินกว่าความสามารถในการยังชีพ ชาวนาจึงรู้สึกผิดหวังและต้องลุกขึ้นก่อกบฏต่อต้านรัฐอาณานิคมเหล่านั้น (Scott 1976)

           แต่ในระยะต่อมาการศึกษาลักษณะทางการเมืองของชาวนาทั่ว ๆ ไปจะหันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เริ่มจากข้อถกเถียงของ James Scott ในหนังสือเล่มที่สองของเขา ที่มองว่าการต่อสู้ดังกล่าวเป็นเสมือนอาวุธของผู้อ่อนแอ (weapon of the weak ) ซึ่งหมายถึงการต่อต้านอำนาจเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างไม่เปิดเผย โดยอาศัยการต่อสู้เชิงภาษาและสัญลักษณ์ด้วยลักษณะซ่อนเร้นต่าง ๆ (hidden transcript) อาทิเช่น การลักเล็กขโมยน้อย การลอบวางเพลิง การซุบซิบนินทา การทำงานพอเป็นพิธีหรืออ้อยอิ่ง และไม่จำเป็นต้องมีแผนการหากแต่เน้นทักษะการเอาตัวรอดของปัจเจกบุคคลในพื้นที่กึ่งส่วนตัวที่ห่างไกลจากการสอดส่องของผู้มีอำนาจ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจให้ได้มากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากการต่อสู้ในรูปแบบของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่มีการนำและการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม การดิ้นรนขัดขืนเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังกล่าวอาจเป็นพื้นฐาน (infrapolitcs) ให้กับการต่อสู้แบบเปิดต่อมาก็ได้ (Scott 1985)

           หลังจากนั้นการศึกษาลักษณะทางการเมืองของชาวนาจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (new social movement) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทางการเมืองของภาคประชาชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม และแตกต่างจากขบวนปฏิวัติในสมัยก่อน ตรงที่ไม่ได้มีจุดหมายที่จะยึดกุมอำนาจรัฐ แต่ต้องการกำหนดชีวิตของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐ และเปลี่ยนมาผลักดันสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น ซึ่งมีจุดเน้นร่วมกันอยู่ที่วัฒนธรรมต่อต้านขัดขืน ประเด็นสำคัญที่มีการเคลื่อนไหว อาทิเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การคัดค้านโลกาภิวัตน์ ตลอดจนการต่อสู้เพื่อสิทธิในวิถีชีวิตตัวตนของกลุ่มชน เป็นต้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร 2545)

           การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มในชนบทดังกล่าวมีนักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า มักจะเชื่อมโยงกับการเมืองภาคประชาชนอื่น ๆ ที่รวมกันเรียกว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้การใช้อำนาจของรัฐเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนเช่นนี้สามารถจำแนกออกมาได้ 4 ทิศทางด้วยกัน ได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวร้องทุกข์ หรือเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล 2) การเคลื่อนไหวที่มุ่งตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจรัฐ 3) การประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน 4) การร่วมมือเชิงวิพากษ์กับรัฐ หรือความผูกพันในทางสร้างสรรค์เพื่อเบียดแย่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสังคม (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)

           การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน ในระยะแรก ๆ องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอมีบทบาทนำในการสร้างดุลยภาพระหว่างรัฐกับสังคมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจากผลกระทบของการพัฒนาของรัฐ และกระตุ้นให้ชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบทลุกขึ้นเคลื่อนไหวผลักดันการปรับนโยบายรัฐได้บางส่วน ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านเริ่มมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น (Shigetomi 2006) แม้ว่าเอ็นจีโอเป็นเหมือนตำรวจดับเพลิงของทุนนิยม ด้วยการเข้าไปแก้ไขปัญหาเป็นจุด ๆ แต่นักวิชาการบางคนก็มองว่ามีทิศทางการพัฒนาไปสู่การคิดที่เป็นระบบมากขึ้น (Tilly and Wood 2012)

           ในระยะหลัง ๆ ความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชนกับเอ็นจีโอนั้นก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่กล้าแตะต้องโครงสร้างที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนไปลดทอนความเป็นการเมืองของขบวนการภาคประชาชน โดยละเลยการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง (Somchai 2002) ซึ่งชาวนาบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มไร้ที่ดินทำกินคัดค้าน เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548: 163 - 164)

           ต่อมาการศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชนบทจึงค่อย ๆ พยายามถอยห่างออกจากจุดเน้นทั้งสองด้าน ทั้งในด้านของการกบฏต่อต้านรัฐอย่างรุนแรง และด้านการสร้างดุลยภาพระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคม แนวทางหนึ่งเสนอให้มองการเมืองของคนชนบทว่าเป็นการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างจากการเมืองทางการ (official politics) และการเมืองของการผลักดันนโยบาย (advocacy politics) ของภาคประชาสังคม ด้วยการต่อยอดมาจากการต่อต้านอำนาจเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างไม่เปิดเผยของ Scott (1985) แต่หันมาเพิ่มความสำคัญให้กับการต่อสู้ของชาวบ้านในการช่วงชิงคุณค่าและกฎเกณฑ์ของท้องถิ่นเกี่ยวกับอำนาจในการผลิตและจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้จัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการ (Kerkvliet 2009: 232)

           อีกแนวทางหนึ่งก็เสนอให้แยกการเมืองของชาวนาออกมาจากการเมืองในภาคประชาสังคมเช่นเดียวกัน ด้วยการจำแนกสังคมออกเป็น 2 แบบคือ สังคมประชา (civil society) และสังคมการเมือง (political society) พร้อมกับถกเถียงว่า การเมืองชาวนาในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองมากกว่า สังคมประชา ซึ่งถูกผนวกเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจนำของทุนนิยมโลกแล้วจึงยากที่ชาวบ้านจะต่อรองได้ ขณะที่สังคมการเมืองเป็นพื้นที่ในการจัดการขององค์กรนอกทุนนิยมอย่างเช่นรัฐ ซึ่งไม่ได้มองพลเมืองในแง่ของสิทธิ แต่จะกำกับนโยบายและดูแลคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปในลักษณะข้อยกเว้น ซึ่งกดดันให้กลุ่มคนต่าง ๆ ไร้ความมั่นคงในชีวิต และต้องต่อรองผลประโยชน์เฉพาะหน้ากับรัฐตลอดเวลาในภาคที่ไม่เป็นทางการ (Chatterjee 2008: 122)

           การมองชาวนาการเมืองในกรณีของสังคมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากทั้ง Kerkvliet และ Chatterjee ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในหนังสือเรื่อง Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy ของ Andrew Walker (2012) ซึ่งศึกษาการเมืองของชาวบ้านในหมู่บ้านห่างไกลจากศูนย์กลาง และเสนอข้อถกเถียงว่า ชาวนามีแรงบันดาลใจทางการเมืองแบบใหม่หรือแรงปรารถนาทางการเมืองด้วยการเข้าสู่การเมืองผ่านปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับรัฐสมัยใหม่ เพื่อเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐแทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือต่อต้านรัฐ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยการตั้งรับหรือรอคอยความช่วยเหลือเท่านั้น แต่พยายามต่อรองทางการเมืองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ บนพื้นฐานของคุณค่าและความหมายของท้องถิ่น แทนที่จะถูกรัฐและตลาดกำกับและควบคุมฝ่ายเดียว

           อย่างไรก็ตาม การมองชาวนาการเมืองดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในมุมมองเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของ Kerkvliet ก็ดี หรือการต่อรองในสังคมการเมืองของ Chatterjee ก็ดี เพราะต่างก็เน้นบทบาทเฉพาะการเมืองภาคที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น ขณะที่การศึกษานี้พยายามถกเถียงว่า ชาวนาการเมืองสามารถแสดงบทบาททางการเมืองเชิงซ้อนในหลายภาคส่วนไปได้พร้อม ๆ กัน ทั้งภาคไม่เป็นทางการ ภาคประชาสังคม และภาคทางการ เพราะพวกเขาเริ่มตื่นตัวขึ้นมาจากความขัดแย้งในการเข้าถึงที่ดิน ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายปฏิรูปที่ดินของรัฐที่มุ่งให้ตลาดขับเคลื่อน ผ่านโครงการออกโฉนดที่ดินที่เน้นกรรมสิทธิ์เอกชน ขณะที่ชาวบ้านต้องการจัดการที่ดินด้วยการถือครองร่วมกัน นอกจากนั้นชาวนาการเมืองเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังได้สะสมประสบการณ์จากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองได้ในที่สุด ผ่านการสะสมประการณ์จากการเคลื่อนไหวลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติมในช่วงต่อ ๆ มา ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบในงานศึกษาในสังคมไทยส่วนหนึ่ง ที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการเบื้องต้นของชาวนาการเมืองในการพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง

           เริ่มจากงานศึกษาของ Tyrell Caroline Haberkorn (2007) เรื่อง States of transgression: politics, violence, and agrarian transformation in Northern Thailand ที่พยายามถกเถียงว่า การเคลื่อนไหวทางของชาวนาผ่านสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเป็นปฏิบัติการทางการเมืองของการต่อรองกับรัฐด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทั้งการชุมนุมประท้วง และการเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งคาบเกี่ยวกับภาคทางการด้วยในฐานะที่เป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ แทนที่ชาวบ้านจะเป็นผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย พวกเขากลับต่อสู้เพื่อให้รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างจริงจัง

           ขณะที่การมองชาวนาการเมืองในมุมมองเชิงเดี่ยวมักจะสนใจเฉพาะชาวนาเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่ภายใต้บริบทของการปรับโครงสร้างชนบทในปัจจุบันที่เศรษฐกิจชนบทมีลักษณะผสมผสาน ทั้ง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ได้ผลักดันให้เกิดคนกลุ่มใหม่ ๆ ในชนบทอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “คนชั้นกลางในชนบท” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) “ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง” (cosmopolitan villagers) (Keyes 2010) “ชาวนารายได้ปานกลาง” (middle-income peasant) (Walker 2012) “ชาวนาที่ยืดหยุ่น” (flexible peasants) (ยศ สันตสมบัติ 2546; Yos 2008)และในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ใช้ “ชาวบ้านผู้ประกอบการ” (villagers entrepreneur) กลุ่มคนเหล่านี้ยังตื่นตัว โดยไม่ได้ปฏิบัติการทางการเมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ในบางกรณียังกระตือรือร้นในการเข้าไปตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ ที่มักจะฉ้อราษฎร์บังหลวงโครงการก่อสร้างในชนบท บนเงื่อนไขของความหวังที่จะเห็นสังคมทันสมัยในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านก็สามารถสร้างความคิดเชิงนามธรรมในระยะยาวได้ด้วย (Vandergeest 1993)

           กลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่นที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่ ๆ เหล่านี้บางส่วนยังพยายามสร้างความหวังใหม่ ๆ ขึ้นมาจากมุมมองด้านการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคคุณภาพชีวิตที่ดี ในฐานะที่เป็นการช่วงชิงความหมายการพัฒนา ซึ่งเคยผูกติดอยู่กับด้านการผลิตที่ให้ความสำคัญกับรายได้เท่านั้น พวกเขาจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวบ้านในเศรษฐกิจแบบศีลธรรมที่อาจจะเคยมีอยู่ในอดีต เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระบบตลาดอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับพยายามฉกฉวยและแสวงหาโอกาสจากตลาดอย่างเต็มที่ ด้วยการปรับตัวอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ตื่นตัวทางการเมือง ด้วยการพยายามเข้าไปต่อรองกับรัฐในลักษณะต่าง ๆ (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2558)

           คนเหล่านี้บางกลุ่มก็สามารถช่วงชิงโอกาสในการสะสมทุนจนขยายทุนทางธุรกิจและสร้างเครือข่าย เพื่อเข้ามามีบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา ดังกรณีศึกษาในงานของนิติ ภวัครพันธุ์ (Niti 2003) ที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มนักธุรกิจในชนบทสามารถสร้างเครือข่าย บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเพื่อนและเครือข่ายธุรกิจ ผ่านการเล่าเรียนเรียนด้วยกันเพื่อหนุนช่วยให้พวกเขาเข้าไปเป็นสมาชิกสุขาภิบาล ซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาคทางการมากขึ้น ผ่านระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ เพื่อจะได้มีส่วนในการจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการต่อรองกับนโยบายและการเมืองในระดับสูงขึ้นไปได้

           คนในชุมชนท้องถิ่นที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มชาวบ้านที่เคยไปทำงานต่างประเทศและกลับคืนถิ่น ดังในกรณีศึกษาของพรรณภัทร ปลั่งศรีเจริญสุข (2551) พบว่า เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้กลับคืนถิ่นแล้วมักจะประกอบอาชีพที่คาบเกี่ยวอยู่กับทั้งภายในและภายนอกภาคการเกษตร เช่น การก่อสร้างและการค้าพร้อม ๆ กับทำการเกษตรควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันก็อาศัยประสบการณ์ที่ได้รับมาจากต่างแดนเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มสถานภาพและบทบาทของพวกตน ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของพวกตนในฐานะผู้มีทักษะในการติดต่อประสานงานและต่อรองกับหน่วยงานภายนอก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ และได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ผู้ที่จะรักษาตำแหน่งไว้ให้ได้หลายสมัยนั้นจะต้องแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า พวกตนสามารถตอบสนองความคาดหวังในการบริโภคความเป็นสมัยใหม่ได้ ผ่านความสามารถในการต่อรองกับรัฐและผู้นำท้องถิ่นภายนอกชุมชนเพื่อระดมทรัพยากรเข้ามาในชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิง วาทกรรมการพัฒนาของชาวบ้าน ที่หันมาเน้นความสำคัญของคุณภาพชีวิต ทั้งด้านการผลิตและการดำรงชีวิตให้หลุดพ้นจากภาพลักษณ์ที่ล้าหลัง แทนการยึดติดอยู่กับวาทกรรมการพัฒนาที่ผูกอยู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น

           นอกจากประสบการณ์การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใหม่ ๆ ในชนบท บนพื้นฐานของความหวังใหม่ ๆ และคุณค่าท้องถิ่นดังที่พบในกรณีศึกษาต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว การศึกษาครั้งนี้ยังได้ข้อค้นพบเพิ่มเติมว่า ชาวนาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงซ้อนในหลายภาคส่วนไปได้พร้อม ๆ กันอย่างต่อเนื่องด้วยการเมืองของความหวังระยะยาว และสร้างองค์กรและเครือข่ายได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จนเข้าไปมีบทบาทในการเมืองภาคทางมากขึ้นในองค์กรปกครองท้องถิ่นผ่านการเลือกตั้ง จะสามารถพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์กลไกเชิงสถาบันใหม่ ๆ เพื่อผลักดันการเมืองจากเบื้องล่างเชิงรุก เช่น การผลักดันการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน เป็นต้น

สรุป

           การตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดจากความขัดแย้งเฉพาะหน้าเท่านั้น ในกรณีของชาวบ้านในพื้นที่ศึกษาชี้ว่า การตื่นตัวทางการเมืองต้องอาศัยการบ่มเพาะประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มสะสมประสบการณ์ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่เรียกร้องความเป็นธรรมในการเช่านา ในระยะแรกได้รับอิทธิพลทางความคิดเชิงนามธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาก็หันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้และต่อรองกับรัฐในประเด็นรูปธรรมที่ยึดโยงอยู่กับปัญหาจริงในพื้นที่มากขึ้น และค่อย ๆ ผลักดันปัญหารูปธรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างเฉพาะเจาะจงของพื้นที่กรณีศึกษา

           ประสบการณ์การเคลื่อนไหวเหล่านี้มีส่วนหล่อหลอมให้ชาวบ้านเริ่มหันมามองตนเองในฐานะเป็นผู้กระทำการทางการเมือง ที่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีอิสระทางความคิดมากขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาพื้นที่การเมืองทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เริ่มต้นด้วยการขยายเครือข่ายของตนเองและประสานกับเครือข่ายภายนอกทั้งนักพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการ ซึ่งเปิดให้พื้นที่ทางการเมืองกลายเป็นพื้นที่ของการผสมผสานความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาช่วยยกระดับการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาร่วมในพื้นที่ที่กว้างขวางมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาร่วมกันของชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคเหนือ

           เมื่อพื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างขึ้นและไม่ได้เป็นเพียงจุดตัดของการต่อสู้และต่อรองกับรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้จากการประสานกับเครือข่ายต่าง ๆภายนอก หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 พื้นที่ทางการเมืองก็ได้ขยายวงออกไปอีก รวมถึงการเลือกตั้งเอาไว้ด้วยซึ่งช่วยบูรณาการให้เครือข่ายชาวบ้านหันมาสนใจการเมืองจากการเลือกตั้งในระดับชาติมากขึ้น ในฐานะพื้นที่เรียนรู้ใหม่ เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยความสนใจพื้นที่ทางการเมืองของการเลือกตั้งนี้เอง ชาวบ้านที่ตื่นตัวกลุ่มต่าง ๆ จึงหันมาเน้นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างเครือข่ายแนวนอน ผ่านการประสานเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง เพื่อเสริมสร้างพลังในการต่อรอง แทนการพึ่งพาเครือข่ายแนวตั้งอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะชาวบ้านต้องการต่อสู้กับปัญหารูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่แทนที่จะผูกติดอยู่กับความคิดนามธรรมขององค์กรภายนอกเท่านั้น

           ชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ ที่ตื่นตัวและเข้าร่วมในเครือข่ายของการเคลื่อนไหวในฐานะผู้กระทำการทางการเมืองจัดได้ว่าเป็นคนกลุ่มใหม่ในชนบท และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวบ้านในเศรษฐกิจแบบศีลธรรมที่อาจจะเคยมีอยู่ในอดีต เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระบบตลาดอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับพยายามฉกฉวยและแสวงหาโอกาสในการช่วงชิงความหมายการพัฒนาจากระบบตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อความหวังในการบริโภคคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มต้นจากความพยายามเป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่มีฐานการผลิตและที่มาของรายได้ที่คาบเกี่ยวอยู่ทั้งฐานที่ดินและทุนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมในรูปของเครือข่าย และทุนความรู้ ด้วยการจัดการอย่างยืดหยุ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงที่มาจากการพึ่งพาเศรษฐกิจในระบบตลาดมากขึ้น

           แม้คนกลุ่มใหม่นี้จะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน เพราะขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระบบตลาด ที่พวกเขาไร้อำนาจควบคุมและส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งกดดันให้พวกเขาต้องตื่นตัวขึ้นมา เพื่อที่จะแสดงบทบาททางการเมืองร่วมกันในเครือข่ายเดียวกัน ทั้งนี้พวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะหน้าเท่านั้น หากยังแสวงหาแนวทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง จนสามารถเข้าไปช่วงชิงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองระดับท้องถิ่นได้ในบางระดับ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองระดับต่าง เพื่อเสริมพลังในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

           การยกระดับตนเองจากผู้ตื่นตัวทางการเมืองไปสู่ผู้กระทำการทางเมืองและกลายเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองในที่สุดนั้น ชี้ให้เห็นถึงพลังของคนกลุ่มใหม่ในฐานะผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสะสมประสบการณ์ ผ่านการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางการเมือง พร้อมกับสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้เปิดกว้างออกไปสู่การต่อสู้ในมิติอื่น ๆ อีกด้วย เริ่มต้นจากพื้นที่ที่เป็นจุดตัดของความขัดแย้งและการช่วงชิงความหมายเรื่องที่ดินภายใต้วาทกรรมการพัฒนา ขยายไปสู่พื้นที่ของการสร้างเครือข่ายทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งเสริมพลังให้เกิดการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการต่อรองอย่างอิสระ จนท้ายที่สุดก็รวมการเลือกตั้งระดับต่าง ๆ เข้าไว้ในพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาด้วย หลังจากเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใหม่ในชนบท พื้นที่ทางการเมืองจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในจุดตัดของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐเท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลายอีกด้วย


บรรณานุกรม

ชัยพงษ์ สำเนียง. (2566). การเมือง ความหวัง กับชีวิตประจำวัน การต่อรองของชาวบ้านผู้ประกอบการ.กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่. กรุงเทพฯ : วิภาษา.

ทานาเบ ชิเกฮารุ. (2555). พิธีกรรมและปฏิบัติการ ในสังคมชาวนาภาคเหนือของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษา ชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2554). เบี้ยไล่ขุน. กรุงเทพฯ : มติชน.

พรรณภัทร ปลั่งศรีเจริญสุข. (2551). อัตลักษณ์ของแรงงานข้ามชาติคืนถิ่นกับการต่อรองการพัฒนาของชาวบ้านในจังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. (2548). การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2558). กำกึ๊ดกำปากงานวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและ มานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Chatterjee, Partha. (2008). Peasant cultures of the twenty-first century Inter‐Asia Cultural Studies, 9(1): 116-126.

Haberkorn, Tyrell Caroline. (2007). States of transgression: politics, violence, and agrarian transformation in Northern Thailand Cornell : Faculty of the Graduate School, Cornell University.

Kerkvliet, Benedict J. Tria. (2009). Everyday Politics in Peasant Society (and Ours) The Journal of Peasant Studies 36 (1): 227-243.

Keyes, Charles F. (2010). “Cosmopolinta” Villagers and Populist Democracy in Thailand. Paper to be Presented at Conference on Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia May 13-15, 2010 Chiang Mai: Thailand.

Niti Pawakapan. (2003). Traders, kinsmen and trading counterparts: the rise of local politicians in north-western Thailand The Australian Journal of Anthropology 14(3): 365-382.

Tej Bunnag. (1977). The Provincial administration of Siam, 1892-1915 : the Ministry of Interior under Prince Damrong Rajanubhab Kuala Lumpur : Oxford University Press.

Turton, Andrew. (1991). Invulnerability and local knowledge in Manas Chitakasem and Andrew Turton (eds.) Thai Constructions of Knowledge (pp. 155-182). London: School of Oriental and African Studies, University of London.

Scott, James C. (1976). The Moral economy of the peasant : rebelllion and subsistence in Southeast Asia New Haven : Yale University Press. (1985). Weapons of the weak : everyday forms of peasant resistance New Haven : Yale University Press.

Shigetomi, Shinichi. (2006). “Bringing Non-governmental Actors into the Policy Making Process: the Case of Local Development Policy in Thailand.” Discussion Paper No. 69, Institute of Developing Economies, Pasir Panjang, Institute of Southeast Asian Studies.

Somchai Phatharathananunth. (2002). The Politics of the NGO Movement in Northeast Thailand Popular Movements Asian Review, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.

Vandergeest, Peter. (1993). Constructing Thailand: Regulation, Everyday Resistance, and Citizenship Comparative Studies in Society and History 1(35): 133-158.

Tilly, Charles. and Wood, Lesley J. (2012). Social Movements, 1768-2012 New York: Routledge.

Walker, Andrew. (2012). Thailand's political peasants : power in the modern rural economy Madison, Wis. : University of Wisconsin Press.

Yos Santasombat. (2008). Flexible Peasants: Reconceptualizing the Third World’s Rural Types. Chiang Mai: Regional Center for Social Science and Sustainable Development Faculty of Social Science, Chiang Mai University.


ผู้เขียน

ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

ภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะสังคมศาสตร์สังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ การเมือง ความหวัง ผู้ประกอบการผับบาร์และธุรกิจกลางคืน ชาวนา ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share