ฟรองซัวส์ ลีโยตาร์ด และการต่อต้านมนุษยนิยม Jean-François Lyotard and Antihumanism

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 6246

ฟรองซัวส์ ลีโยตาร์ด และการต่อต้านมนุษยนิยม Jean-François Lyotard and Antihumanism

Jean-François Lyotard กับการต่อต้านมนุษยนิยม

           ความคิดปรัชญาหลังสมัยใหม่ของฌอง ฟรองซัวส์ ลีโยตาร์ด (Jean-François Lyotard) คือความคิดที่ต่อต้านมนุษยนิยม (antihumanism) เนื่องจากความคิดแบบ มนุษยนิยมนั้นได้เชิดชูมนุษย์ให้สูงกว่าสิ่งอื่นและสถาปนามนุษย์เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาพร้อมจริยธรรมและสติปัญญาล้ำเลิศ เมื่อลีโยตาร์ดเขียนหนังสือเรื่อง The Differend: Phrases in Dispute (1988) ได้โต้แย้งว่ามนุษย์มิได้มีปัญญาและจริยธรรมติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งสร้างความสั่นคลอนให้กับทฤษฎีมนุษย์ที่หยั่งรากลึกในปรัชญาตะวันตกมายาวนาน ในทัศนะของลีโยตาร์ด ไม่มีอะไรที่เรียกว่าความมั่นคงและความสมบูรณ์ของจริยธรรม ด้วยทัศนะดังกล่าวทำให้ลีโยตาร์ดถูกมองว่าไม่สนใจเรื่องจริยธรรมและความยุติธรรมในสังคม (McLennan, 2013) วิธีการวิพากษ์มนุษย์และสังคมของลีโยตาร์ดจะเกิดขึ้นบนผลงานศิลปะและเทคโนโลยีซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้วคือความงดงามและความเจริญรุ่งเรือง แต่ในความคิดของลีโยตาร์ด ผลงานเหล่านี้ขัดแย้งกับความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คน แต่มันเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของอำนาจที่แอบแฝง ลีโยตาร์ดจึงมิได้ชื่นชมความงามของศิลปะและเห็นดีเห็นงามกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งที่เขาต้องการคือกะเทาะเปลือกของสิ่งที่ดูสมบูรณ์แบบ ในแง่นี้ ข้อวิจารณ์ของลีโยตาร์ดจึงสั่นคลอนความเป็นมนุษย์และทำให้เขาเกี่ยวข้องกับการท้าทายระบบอำนาจอยู่ตลอดเวลา

           ในปี ค.ศ. 1992 ลีโยตาร์ดเขียนหนังสือเรื่อง The Inhuman เป็นการทบทวนปรัชญาของนักคิดหลายคน เช่น Kant, Heidegger, Adorno, และ Derrida และศึกษาผลงานศิลปะแนวโมเดิร์นและโพสต์โมเดิร์น ของ Cézanne, Debussy, และBoulez ทั้งนี้เพื่อตั้งข้อสงสัยเรื่องเวลาและความทรงจำ ตรวจสอบสิ่งที่เป็นงานศิลปะชั้นเลิศกับศิลปะแหวกขนบธรรมเนียม ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างสุนทรียะและการเมือง สิ่งที่ลีโยตาร์ดค้นพบก็คือความลักลั่นในการเคลื่อนผ่านจากยุคสมัยใหม่มาสู่ยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่ลงรอยที่ไร้ระเบียบแบบแผน Williams (2000) กล่าวว่าเป้าหมายของลีโยตาร์ดคือการเจาะทะลุแนวคิดมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมแบบคานท์ ในปรัชญาตะวันตกซึ่งเชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลที่ดำรงอยู่ในศักภาพทางปัญญาของมนุษย์มักจะมองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้รู้และเข้าใจโลกด้วยกลไกทางความคิดตามสัญชาตญาณที่มีอยู่โดยกำเนิด ในทัศนะของคานท์เชื่อว่า “เหตุผล” คือกระบวนการทางความคิด เมื่อ “ความเป็นมนุษย์” คือรูปแบบของความคิดประเภทหนึ่ง มนุษย์จึงใช้คำอธิบายต่าง ๆ มานิยามว่า “มนุษย์” คืออะไร แต่ในทางปฏิบัติ ความเป็นมนุษย์ดำรงอยู่กับประสบการณ์ที่คนแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ความเป็นมนุษย์มิได้มีมาตรฐานและบรรทัดฐานที่ตายตัว นิยามที่ว่ามนุษย์คือผู้มีปัญญาและมีเหตุผลจึงไม่สามารถเป็นคำตอบที่สมบูรณ์

           สำหรับลีโยตาร์ด นิยามของความเป็นมนุษย์มาจากวิธีการเสียดสีเย้ยหยันในรูปแบบต่าง ๆ ท่ามกลางสังคมของมนุษย์ที่ประกอบด้วยคนต่างชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรม ช่วงวัยและ เพศสภาพ ความเป็นมนุษย์ถูกประกอบสร้างขึ้นจากคำอธิบาย ภาษา วาทกรรม และประโยคบอกเล่าที่คนแต่ละกลุ่มตอบโต้กัน ความเป็นมนุษย์จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” จึงมิใช่ความคงที่ทางปัญญาและการหยั่งรู้ตามสัญชาตญาณ หากแต่เป็นประสบการณ์ที่ทำให้คนแต่ละคนเลือกใช้คำอธิบายและคำบอกเล่าในแบบที่ตนเองเข้าใจ ในการท้าทายระบบเหตุผลแบบตะวันตก ลีโยตาร์ดเขียนหนังสือเรื่อง Postmodern Fables ปี ค.ศ. 1997 เพื่อวิจารณ์และเสียดสีแนวคิดเรื่องจริยธรรม ความยุติธรรม สุนทรียะ และการตัดสินทางคุณค่า โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การที่นักวิชาการอเมริกันยอมรับทฤษฎีจากนักปรัชญาฝรั่งเศส สงครามอ่าวเปอร์เซีย การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ จนถึงการที่นักวิชาการคนอื่นพูดถึงความคิดของตัว ลีโยตาร์ดเอง ในหนังสือเล่มนี้ ลีโยตาร์ดชี้ว่าปรัชญาตะวันตกที่เน้นระบบเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด และเชื่อมั่นว่าทางเดินของมนุษยชาติจะเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้ล้วนเป็นเรื่องน่าเศร้าเนื่องจากความก้าวหน้าเป็นเพียงมายาคติ เป็นเพียงความปรารถนาที่โลกตะวันตกต้องการจะฝันถึง


การต่อต้านมนุษยนิยม แบบการคิดเชิงไตร่ตรอง

           ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สิ่งที่ลีโยตาร์ดสนใจไม่เพียงแต่การต่อต้านระบบอำนาจของลัทธิมนุษยนิยม หากแต่ยังวิพากษ์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งกระด้าง สิ่งนี้ทำให้เขาหันมาสนใจร่างกายของมนุษย์ในฐานะเป็นพื้นที่สำหรับการต่อสู้แข่งขัน (site of pragmatic contestation) ภายใต้ความคิดที่ว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง เป็นเพียงเกมของภาษา ลีโยตาร์ดเสนอว่าการทำความเข้าใจมนุษย์มิควรมองจากตรรกะความมีเอกภาพ แต่ควรมองจากการแตกออกเป็นเสี่ยงหรือการไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าไรก็ตาม Harris (2001) อธิบายว่าความคิดของลีโยตาร์ดที่พยายามท้าทายความหมายของมนุษย์ที่เป็นผู้มีเหตุผล เป็นความคิดที่ยังหนีไม่พ้นกระบวนทัศน์แบบมนุษยนิยมและผลิตนิยามแบบมนุษยนิยมโดยไม่รู้ตัว Sim (2001) กล่าวในทำนองเดียวกันว่าคำอธิบายของลีโยตาร์ดในงานศึกษาชิ้นหลัง ๆ ดูเหมือนจะพูดถึงความเป็นมนุษย์ภายใต้วาทกรรมที่ต่อต้านมนุษยนิยม กระแสความคิดที่วิจารณ์ระบบเหตุผลในช่วงหลังสมัยใหม่จึงมิใช่การก้าวพ้นมนุษยนิยมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีของมนุษยนิยมที่นำความคิดเชิงวิพากษ์มาใช้เป็นโครงเรื่อง

           McLennan (2013) เห็นต่างไปจาก Harris และ Sim โดยอธิบายว่าความคิดของ ลีโยตาร์ดในระยะหลังมิใช่การติดอยู่กับลัทธิมนุษยนิยม ในทางกลับกัน ลีโยตาร์ดกำลังนำเอาตัวมนุษย์มาตรวจสอบใหม่ในฐานะเป็นพรมแดนของการปฏิบัติที่เต็มไปด้วยความไม่ลงรอย (dissonance) ชีวิตของมนุษย์มิได้มีระเบียบที่ชัดเจนหรือดำเนินไปบนความราบรื่นของเหตุผล แต่มนุษย์ล้วนเผชิญกับความยุ่งเหยิงตลอดเวลา ตัวตนของมนุษย์มิได้ก่อรูปอยู่บนความเสถียรของสติปัญญาและความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล แต่ตัวตนไม่มีแก่นแกนที่ชัดเจนและพร้อมจะแตกสลาย เมื่อครั้งที่ลีโยตาร์ดยังเชื่อตามกรอบความคิดของมาร์กซิสต์ เขามองมนุษย์ในฐานะเป็นกลไกทางสังคมที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ในระยะหลัง ลีโยตาร์ดมอง “มนุษย์” เป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างและถูกใช้เป็นกลไกของความรู้ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งนี้ ลีโยตาร์ดจึงเสนอว่ามนุษย์มิได้เป็นผู้คิดอย่างอิสระ แต่สิ่งที่มนุษย์คิดคือกลไกเพื่อการตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น เป้าหมายของการคิดจึงมิใช่การแสวงหาความสมบูรณ์และความมั่นคง มิใช่เพื่อสร้างคำตัดสินว่าอะไรดีงามหรือต่ำช้า แต่เป็นเป้าหมายที่จะรื้อทำลาย ตรวจสอบแก่นแท้และเอกภาพที่ทำให้มนุษย์ติดอยู่กับมายาคติของความเจริญรุ่งเรืองและความดีงาม

           ลีโยตาร์ดเสนอว่าความคิดของมนุษย์มิใช่ระบบเหตุผลที่ตายตัว และมิได้มีไว้เพื่อจัดระเบียบโลก แต่ความคิดของมนุษย์มีไว้เพื่อการไตร่ตรองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (reflective judgement) ประเด็นนี้ทำให้ลีโยตาร์ด มองความคิดต่างไปจากคานท์ที่ตอกย้ำระบบเหตุผลทางความคิดที่มีไว้ตัดสินเชิงศีลธรรม (determinant judgement) สำหรับลีโยตาร์ดมนุษย์ล้วนมีความคิดที่หลากหลาย (heterogeneous core) ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบตรรกะที่เป็นสากลและอยู่มั่นคง ลีโยตาร์ดมิเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในทุกมิติ แต่มองมนุษย์ในฐานะเป็น “ที่สะสมของประสบการณ์” ที่มีทั้งส่วนสร้างสรรค์และส่วนทำลายล้าง ในการทำความเข้าใจ “มนุษย์” ในแบบต่อต้านมนุษยนิยมจึงเปิดพื้นที่ให้เห็นวิธีการตรวจสอบสิ่งที่มนุษย์ปฎิบัติในโลกสังคม ไม่ว่าโลกนั้นจะขับเคลื่อนด้วยระบบเหตุผลหรือความไร้เหตุผลก็ตาม การตรวจสอบปฏิบัติการทางสังคมยังเป็นการท้าทายความรู้และวาทกรรมกระแสหลัก ซึ่งถือเป็นวิธีคิดนอกกรอบ การไตร่ตรองและตรวจสอบยังช่วยให้มนุษย์ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงและความหมายในการเป็นมนุษย์ McLennan (2013) เรียกวิธีการไตร่ตรองแบบ ลีโยตาร์ดว่า “การคิดแบบย้อนแย้ง” (Paralogy) เป้าหมายคือการเสนอคำอธิบายที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องผลิตซ้ำวาทกรรมกระแสหลักหรืออิงอยู่กับความรู้เพียงชุดเดียว การคิดแบบย้อนแย้งจึงเป็นการต่อต้านขัดขืนการผูกขาดความรู้ที่ใช้ชี้นำสังคม

           ในหนังสือของลีโยตาร์ด เรื่อง The Postmodern Condition (1984) ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ควรมีจริยธรรมที่ต่างไปจากเดิม โดยไม่ยึดอยู่กับกฎระเบียบศีลธรรมที่แข็งตัว แต่ควรมองเห็นความหลากหลายของการสร้างความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่มิได้มาจากโลกตะวันตก การที่จะมองเห็นความรู้ที่มากกว่าหนึ่งแบบจำเป็นต้องอาศัยการคิดแบบย้อนแย้ง เพื่อพิจารณาไตร่ตรองและตรวจสอบว่ามนุษย์มิใช่สิ่งที่มั่นคง แต่ยังมีส่วนที่ไม่มั่นคงดำรงอยู่ ในประเด็นนี้ McLennan (2013) อธิบายว่าความคิดของลีโยตาร์ดเสมือนเป็นการรื้อทำลายความสมบูรณ์แบบในตัวมนุษย์ (anthro-paralogy) ซึ่งต่างไปจากการศึกษามนุษย์ในฐานะเป็นผู้มีความรู้ มีปัญญา มีวัฒนธรรม และมีความเจริญทางอารยธรรมที่วิชามานุษยวิทยาแบบตะวันตกได้สถาปนาขึ้น แต่ลีโยตาร์ดศึกษามนุษย์ในแบบที่ย้อนแย้งและสวนทางกับการเดินไปสู่ความก้าวหน้า มนุษย์ในทัศนะของลีโยตาร์ดจึงเต็มไปด้วยสภาวะที่แตกกระจายออกจากกัน ในขณะที่วิชามานุษยวิทยามองเห็นความเป็นสากลของมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นการมีภาษา วัฒนธรรม จารีตประเพณี ระบบครอบครัวและแบบแผนทางสังคม แต่ลีโยตาร์ดมองมนุษย์ปราศจากเอกภาพ


การตั้งคำถามต่อมนุษย์

           ภายใต้ลัทธิมนุษยนิยมที่สถาปนาความเป็นสากล สิ่งนี้มิได้ทำให้มนุษย์มีชีวิตในแบบที่แตกต่างหลากหลาย แต่เป็นการแช่แข็งและจองจำให้มนุษย์อยู่กับภาพจำลองที่ตายตัวซึ่งล้วนบั่นทอนความเป็นมนุษย์ (Naas, 2007; Williams, 1998) ในความคิดของลีโยตาร์ด ความเป็นมนุษย์และการมีตัวตนของมนุษย์มิได้ตกผลึกอย่างเป็นแก่นแท้มาตั้งแต่กำเนิด ในทางกลับกันเขามองว่า “มนุษย์” ดำรงอยู่ในสภาวะเคลื่อนที่ไปตามจังหวะและไม่มีลำดับที่ตายตัว ซึ่งลีโยตาร์ดเปรียบเปรยเป็น “วลี” (phrasing) ที่ต่อเติมเข้ามาเป็นประโยค การกระทำของมนุษย์จึงมีลักษณะแตกกระจัดกระจายและท้าทายกฎระเบียบ ลีโยตาร์ตยังอธิบายต่อไปว่าภายใต้ระบบเหตุผลวิทยาศาสตร์ เต็มไปด้วยการปิดกั้นและสร้างขอบเขตทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ความคิดกระแสหลักดังกล่าวได้ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาพ “ถูกปิดล้อม” และเป็นเครื่องมือเพื่อการผลิตซ้ำกฎเกณฑ์และมาตรฐาน ระบบเหตุผลในแนวทางนี้คือเครื่องมือของการควบคุม (instrumental reason) ทางเดินของสังคมที่ใช้ระบบเหตุผลวิทยาศาสตร์จึงเป็นทางเดินที่ถูกบังคับ (forced passage)

           Harvey (2001) ตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นมนุษย์ในทัศนะของลีโยตาร์ด คือ “การเป็นเส้นทาง” ซึ่งหมายถึง การเดินทางที่ไม่หยุดนิ่งและไม่มีจุดหมายปลายทาง มนุษย์จึงเหมือนทางเดินที่ตัดข้ามและไขว่กันไปมาอย่างซับซ้อน แต่ละทางเดินคือบททดสอบและทำหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกันว่าทางเดินแบบไหนมีข้อจำกัด แต่ละเส้นทางที่ลากผ่านและเชื่อมเข้าหากันคือบทพิสูจน์ว่าเส้นทางต่าง ๆ จะขัดแย้งหรือลงรอยกัน เสมือนการค้นหาวิธีสร้างสรรค์งานศิลปะที่แหวกแนวและฉีกขนบงานศิลปะแบบเดิมเพื่อพิสูจน์ว่าศิลปะแนวใหม่จะปลดปล่อยหรือปิดกั้นจินตนกาการ อย่างไรก็ตาม การตัดเชื่อมประสานของทางเดินต่าง ๆ มิใช่การแข่งขันที่จะเอาชนะ มิใช่การทำสงครามที่มีผู้ชนะและผู้แพ้ หากแต่เป็นสถานการณ์ที่เส้นทางแต่ละเส้นพยายามลากผ่านข้อจำกัดและสิ่งกีดขวางที่เผชิญอยู่ เส้นทางจึงมีทั้งการลากผ่านทับกันและแยกออกจากกัน ไม่มีเส้นทางใดที่จะถูกทับและถูกปล่อยว่างอย่างสิ้นเชิง

           เมื่อมนุษย์เปรียบเสมือนทางเดินที่ลากผ่านไปเชื่อมโยงและตัดผ่านกับเส้นทางอื่น ๆ ในความคิดของลีโยตาร์ด สภาวะดังกล่าวนี้จะไม่มีเส้นทางไหนที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด ซึ่งแตกต่างไปจากความคิดของคานท์ที่แบ่งแยก “เหตุผล” ออกจาก “ความเพ้อฝัน” คานท์เชื่อว่ามนุษย์ที่มีสติปัญญาและรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุผลคือผู้ที่ประสบความสำเร็จกว่ามนุษย์ที่มีแต่ความเพ้อฝัน ในขณะที่ลีโยตาร์ดมองมนุษย์ในฐานะเป็นเส้นทางที่มีทั้งความราบรื่นและอุปสรรคเหมือนกันทุกเส้นทาง ความแตกต่างนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ในทัศนะของคานท์ถูกจัดประเภทแบบขาวกับดำอย่างชัดเจน ในขณะที่ลีโยตาร์ดมองมนุษย์เป็นสีเทาที่ไม่มีใครดำหรือขาวอย่างชัดเจน อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นมนุษย์ในแบบลีโยตาร์ดจะอยู่ในสภาวะที่เปิดกว้าง และสามารถแสวงหาสิ่งที่อยู่นอกกฎระเบียบที่กำหนดไว้แบบตายตัว จินตนาการและความฝันจึงเป็นสิ่งที่ลีโยตาร์ดให้ความสำคัญและมิได้เป็นเรื่องไร้เหตุผลเหมือนคำอธิบายของคานท์ ลีโยตาร์ดได้วิจารณ์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการคิดนอกกรอบ แต่เน้นย้ำในทฤษฎีและระเบียบปฏิบัติที่ตายตัว

           นอกจากนั้น ลีโยตาร์ดยังตอบโต้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ โดยชี้ว่าความเป็นมนุษย์ที่ฟรอยด์สถาปนาขึ้นวางอยู่บนคู่ตรงข้ามระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก (เหตุผล กับไร้เหตุผล) ทำให้มนุษย์ที่คิดนอกกฎเกณฑ์ของสังคมถูกตีตราว่า “เสียสติ” หรือ “เป็นบ้า” เนื่องจากฟรอยด์ให้ความสำคัญกับจิตสำนึกที่เกิดจากสติปัญญาและการตระหนักรู้ในตัวตน ฟรอยด์พยายามแบ่งแยกเหตุผลออจากอารมณ์ และยกย่องบุคคลที่สามารถระงับอารมณ์ของตนเองว่าเป็นผู้ที่มีเหตุผลในการใช้ชีวิต ลีโยตาร์ด (1999) กล่าวว่าจิตใต้สำนึกตามความคิดของฟรอยด์ดำรงอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งมิได้หมายความว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็น “คนบ้า” ในทางกลับกัน จิตใต้สำนึกคือส่วนหนึ่งที่สร้างความเป็นมนุษย์ จิตใต้สำนึกคือส่วนประกอบของจินตนาการ ความฝัน ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดนอกกรอบ มนุษย์สามารถใช้จิตใต้สำนึกเพื่อสร้างงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ลีโยตาร์ดอธิบายว่าจิตใต้สำนึกคือสภาวะการเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ภายใน (inner human) ซึ่งภายใต้ระบบเหตุผลมันกลับถูกปิดกั้นและไม่ให้ถูกเปิดเผยออกมา

 

เอกสารอ้างอิง

Harris, P. (2001). Thinking @ the speed of time: Globalization and its dis-contents or, Can Lyotard’s thought go on without a body? Yale French Studies, 99, 129– 48.

Harvey, R. (2001). Telltale at the passages. Yale French Studies, 99, 102-116.

Lyotard, J.F. (1984). The Postmodern Condition: A Report on Knowledge. Minneapolis: University of Minnesota Press

Lyotard, J. F. (1988). The Differend: Phrases in Dispute. Manchester: Manchester University Press.

Lyotard, J. F. (1992). The Inhuman: Reflections on Time. Translated by Geoffrey Bennington and Rachel Bowlby. Redwood City, CA: Stanford University Press.

Lyotard, J.F. (1997). Postmodern fables; translated by Georges Van Den Abbeele. Minneapolis, MN : University of Minnesota Press.

Lyotard, J.F. (1999). Toward the Postmodern. London: Humanity Press.

McLennan, M.R. (2013). Anthro-paralogy: Antihumanism in Lyotard’s Late Works Rereading In Heidi Bickis, and Rob Shields. (Eds.). Jean-François Lyotard: Essays on His Later Works. London: Routledge.

Naas, M. (2007). Lyotard archipelago, in C. Nouvet, Z. Stahuljak and K. Still (eds.). Minima Memoria: In the Wake of Jean-François Lyotard, (pp.176 – 96). Stanford: Stanford University Press.

Sim, S. (2001). Lyotard and the Inhuman. Cambridge, UK: Icon Books UK and Totem Books USA.

Williams, J. (1998). Lyotard: Towards a Postmodern Philosophy. Cambridge and Malden: Polity Press / Blackwell Publishers Inc.

Williams, J. (2000). Lyotard and the Political. London and New York: Routledge.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ฟรองซัวส์ ลีโยตาร์ด การต่อต้าน มนุษยนิยม Jean-François Lyotard Antihumanism ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share