มานุษยวิทยารัสเซีย และมโนทัศน์เรื่องชาติ Russian Anthropology and Concept of the Nation

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2488

มานุษยวิทยารัสเซีย และมโนทัศน์เรื่องชาติ Russian Anthropology and Concept of the Nation

ความเป็นมาของมานุษยวิทยารัสเซีย

           ประวัติศาสตร์ของมานุษยวิทยาในรัสเซียแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่หนึ่ง คริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นช่วงที่รัสเซียจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตะวันตกกำลังแข่งขันล่าอาณานิคม ซึ่งรัสเซียกำลังสร้างชาติและรวมศูนย์อำนาจ งานศึกษาทาง ชาติพันธุ์ที่สำคัญในช่วงนี้มาจากหนังสือเรื่อง Brief Description of the Ostiak People(1715) เขียนโดยนักทำแผนที่ Semen Remezov และขุนนางชื่อ Grigorii Novitskii (Alymov & Sokolovskiy, 2018) จากหนังสือของ Johann Gottlieb Georgi เรื่อง Description of All Peoples Living in the Russian State (1799) จากการเดินทางไปยังเขตไซบีเรียของ Gerhard Friedrich Muller ซึ่งเขียนหนังสือ History of Siberia (1750) และทำการจำแนกภาษาท้องถิ่นในเขตไซบีเรียอย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอการศึกษาที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ของผู้คน” และถือเป็นต้นกำเนิดวิธีศึกษา ethnographia (Naumov & Collins, 2006) นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม คติชน ความเชื่อและประเพณีของคนท้องถิ่น นักชาติพันธุ์รัสเซียหลายคนได้เดินทางไปยังเขตหมู่เกาะแปซิฟิก บราซิล จีน อลาสก้า และออสเตรเลีย นักชาติพันธุ์คนสำคัญ คือ Nicholas Miklouho-Maclay ชาวตะวันตกคนแรกที่เดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองในนิวกินี โพลินีเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก Miklouho-Maclay ถือเป็นนักมานุษยวิทยารัสเซียที่ออกมาต่อต้านการค้าทาสในออสเตรเลีย รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับอังกฤษและเยอรมันที่เข้ามาปกครองดินแดนในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก (Webster, 1984)

 

ภาพแผนที่แสดงเส้นทางการสำรวจภูมิประเทศและวัฒนธรรมในเขตไซบีเรียของ Gerhard Friedrich Muller ช่วงปี ค.ศ. 1733-1743 (ที่มา: https://www.researchgate.net/figure/Muellers-Itinerary-during-the-Second-Kamchatka-Expedition-1733-1743-From-Vermeulen_fig1_328930683)

 

ภาพถ่ายของ Nicholas Miklouho-Maclay (ค.ศ. 1846-1888) ถ่ายในหมู่เกาะนิวกินี เขตมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเขาเดินทางมาถึงในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1871 (ที่มา: https://delachieve.com/nikolay-nikolayevich-miklukho-maklay-biografi-pendek/)

 

           ในปี ค.ศ. 1845 มีการตั้งสมาคมภูมิศาสตร์รัสเซีย (Imperial Russian Geographical Society) ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทำให้เกิดการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์ของชนพื้นเมืองในเขตเอเชียกลาง ไซบีเรียและตะวันออกไกล ผู้มีบทบาทสำคัญคือ Nikolai Nadezhdin ซึ่งเน้นศึกษาอัตลักษณ์และแก่นแท้ทางชนชาติของรัสเซีย (Russian Nationality) นำไปสู่การสำรวจรวบรวมคติชนพื้นบ้านและประเพณีในดินแดนต่าง ๆ ของรัสเซีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1867 มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ Rumyantzev และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการทางชาติพันธุ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในรัสเซียเป็นครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ 1860 มีการตั้งภาควิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยมอสโคว์ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น Imperial Society of Amateurs in Natural Science, Anthropology and Ethnography ในปี ค.ศ.1867 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ทางชาติพันธุ์ผ่านวารสารชื่อ Ethnographical Review ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1889 นักวิชาการชาวรัสเซียได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการ นำไปสู่การสร้างความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเชื้อชาติและการปรับตัวทางวัฒนธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงนี้คือ Anatolii Bogdanov เป็นผู้บุกเบิกการขุดค้นทางโบราณคดี และเขียนหนังสือเรื่อง The Materials for the Anthropology of the Burial Hills Period in the Moscow Region (1867) ในช่วงทศวรรษ 1880 Dmitrii Anuchin มีบทบาทสำคัญในการศึกษามานุษยวิทยากายภาพและตีพิมพ์หนังสือเรื่อง About the Geographical Distribution of the Body Height of the Male Population of Russia (1889) รวมถึง Lev Shternbergมีบทบาทในการนำทฤษฎีวิวัฒนาการมาวิเคราะห์สังคมของชนเผ่า Gilyak

 

ภาพของ Dmitrii Anuchin มีบทบาทสำคัญในการศึกษามานุษยวิทยากายภาพ และตีพิมพ์หนังสือเรื่อง About the Geographical Distribution of the Body Height of the Male Population of Russia (1889) (ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Dmitry_Anuchin)

 

           ช่วงที่สอง การทำงานมานุษยวิทยาเกิดขึ้นท่ามกลางยุคคอมมิวนิสต์และการปกครองของสหภาพโซเวียต หลังจากการปฏิวัติในปี 1917 นักมานุษยวิทยารัสเซียที่หนีไปตั้งถิ่นฐานในจีนคือ Sergei Shirokogorov ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับร่างทรงและการติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ภายในประเทศรัสเซียถูกควบคุมโดยกลุ่มบอลเชวิคที่ยึดในความคิดแบบสังคมนิยม และมีนโยบายสร้างแผนที่ชนชาติต่าง ๆ ในรัสเซียซึ่งดำเนินการในปี 1910 เป็นต้นมา ช่วงเวลานี้กลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยพยายามออกมาต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ชนพื้นเมืองหลายแห่งได้สร้างและประดิษฐ์ตัวอักษรในภาษาของตัวเองเพื่อสร้างความต่างจากอักษรแบบรัสเซีย มีการตั้งสถาบันมานุษยวิทยา โบราณคดีและชาติพันธุ์ (Institute of Anthropology, Archaeology and Ethnography) ในปี ค.ศ. 1933 ที่เมืองเลนินการ์ด ตั้งสถาบันชาติพันธุ์ (Institute of Ethnography) ในปี ค.ศ. 1937 ที่กรุงมอสโคว์ ในแวดวงวิชาการได้รับอิทธิพลความคิดแบบมาร์กซิสต์ ทำให้เกิดการวิเคราะห์สังคมที่มีการต่อสู้ทางชนชั้นและมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างไรก็ตามงานเขียนทางชาติพันธุ์จำนวนมากก็ถูกปิดกั้นมิให้เผยแพร่ นักมานุษยวิทยาบางคนถูกเนรเทศออกจากโซเวียต มีการห้ามสอนวิชาชาติพันธุ์ในมหาวิทยาลัย

           ในทศวรรษ 1940 นักมานุษยวิทยารัสเซียหันมาศึกษาสังคมของชนกลุ่มน้อยและย้อนกลับมาอธิบายวิวัฒนาการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นักชาติพันธุ์ที่มีบทบาทมากคือ Pavel Kushner ซึ่งเข้าไปศึกษาสังคมเกษตรกรรมและชีวิตชาวนาซึ่งกำลังเปลี่ยนจากสังคมจารีตประเพณีไปสู่สังคมสมัยใหม่ นำไปสู่วิธีศึกษาเรื่อง “กระบวนการเปลี่ยนทางชาติพันธุ์” (ethnic processes) อันประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การรวมตัวทางชาติพันธุ์ (ethnic consolidation) การซึมซับทางชาติพันธุ์ (ethnic assimilation) และการผสมรวมทางชาติพันธุ์ (intraethnic integration) หนังสือสำคัญของ Kushner คือ Ethnic Territories and Ethnic Borders (1951) ความรู้ทางมานุษยวิทยาในช่วงนี้เน้นไปที่การจัดจำแนกเชื้อชาติ สร้างแผนที่และสำรวจจำนวนประชากรชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา ประเพณี และเอกลักษณ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ โดยใช้แนวคิดเรื่องรากเหง้าดั้งเดิม (primordialist theory) มาเป็นกรอบการศึกษา การศึกษาในแนวนี้ดำเนินควบคู่ไปกับการสำรวจทางการทหาร พื้นที่ศึกษาที่ได้รับความสนใจมากคือบริเวณเขตเอเชียกลาง ทะเลบอลติก ลุ่มน้ำโวลก้า ไซบีเรียและดินแดนขั้วโลกเหนือ เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เหล่านี้ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ The Peoples of the World จำนวน 13 เล่ม ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี ค.ศ. 1954–1966 (Anderson & Arzyutov, 2016) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การศึกษาทางชาติพันธุ์ฟื้นตัวอีกครั้งภายใต้การนำของ Sergei Tolstov ซึ่งเน้นการศึกษาประเด็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ (ethnogenesis) และรากเหง้าความเป็นมาของประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาในอดีต รวมทั้งการศึกษาของ Yuri Arutyunian เรื่อง The Social and the National (1973) ที่อธิบายกระบวนการสร้างวัฒนธรรมของชนชาติรัสเซียและทาทาร์

 

ภาพของ Yulian Vladimirovich Bromley ผู้มีอิทธิพลต่อการศึกษาความเป็นชนชาติ (Ethnos) (ที่มา: ภาพ https://www.geni.com/people/Julian-Vladimirovich-Bromley/6000000017747069800)

 

           องค์ความรู้กระแสหลักในช่วงนี้อยู่ภายใต้อิทธิพล “วิทยาศาสตร์ของความเป็นชาติ” (science of nationalities) ซึ่งชาติถูกมองเป็นรากเหง้าและแก่นแท้ (Knight, 1995; Baiburin, Kelly & Vakhtin, 2012) เป็นวิวัฒนาการขั้นสูงทางสังคม หมายถึง สังคมที่พัฒนาไปสู่ความเป็นชาติสมัยใหม่และมีผู้ปกครองทำหน้าที่รวมศูนย์อำนาจ สังคมรัสเซียเชื่อว่าการรวมชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เข้าด้วยกันคือความยิ่งใหญ่ของชาติ นักวิชาการคนสำคัญคือ Yulian Vladimirovich Bromley ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาความเป็นชนชาติ (Ethnos) โดยนำวิธีการแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบาย โดยระบุแก่นแท้และสารัตถะของเชื้อชาติที่ปรากฎอยู่ในภาษา ประเพณี คติชน และพิธีกรรมซึ่งดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวร องค์ประกอบเหล่านี้นำไปสู่การสร้างความเป็นชาติและโครงสร้างสังคมที่มีหน่วยต่าง ๆ ทำหน้าที่ค้ำจุนชาติให้ดำรงอยู่ได้ และให้ความสนใจวิวัฒนาการตามลำดับขั้นจากสังคมขนาดเล็กไปสู่ความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ (Stocking & Bromley, 1984) รวมทั้งการศึกษาของ Lev Gumilev ที่เน้นเรื่องชาติพันธุ์วิทยาที่อธิบายสังคมมนุษย์เป็น biosocial organismหมายถึง ชีวิตทางสังคมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นจากกฎธรรมชาติ หนังสือสำคัญของเขาคือ Ethnogenesis and the Biosphere of the Earth พิมพ์ในปี 1989 อิทธิพลความคิดของ Bromley ทำให้นักวิชาการรุ่นต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970-1980 นำไปศึกษาความเป็นชนชาติในมิติต่าง ๆ เช่น ความเป็นพลเมือง การตั้งถิ่นฐานของประชากร จิตวิทยาของชาติ ภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ นิเวศวิทยาชาติพันธุ์ และภูมิศาสตร์ชาติพันธุ์ เป็นต้น กระบวนทัศน์ความเป็นชนชาติดังกล่าวสัมพันธ์กับการปกครองของสหภาพโซเวียตที่ต้องการรวมชนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ชาติเดียวกัน เนื่องจากรัสเซียเชื่อว่า “ชาติ” คือที่รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติที่ทำหน้าที่สร้างสังคมที่เป็นปึกแผ่น

           ช่วงที่สาม หลังทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ประชาชนรัสเซียเริ่มตระหนักถึงเสรีภาพในการใช้ชีวิตและต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งเกิดกระบวนการต่อสู้ของชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกปกครองภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคเลนิน ดินแดนในการปกครองของสหภาพโซเวียตได้แยกตัวเป็นอิสระและเกิดประเทศใหม่จำนวนมาก ทฤษฎีชาติพันธุ์ของ Bromley ถูกวิจารณ์จากนักวิชาการรุ่นใหม่ นักวิชาการเช่น Valery Tishkov ท้าทายการศึกษาแบบเดิมและเปิดประเด็นศึกษาเกี่ยวกับชีวิตคนเมือง ในช่วงนี้ การศึกษาทางมานุษยวิทยาเปลี่ยนไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับทฤษฎีมาร์กซิสต์ ประเด็นการศึกษาที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ สิทธิของชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งทางสังคม และระบอบอำนาจภายใต้ลัทธิชาตินิยม เป็นต้น นักมานุษยวิทยารัสเซียพยายามแสวงหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติและสนใจศึกษาอัตลักษณ์ของชาวรัสเซีย ตัวอย่างการศึกษาของ Anna Ozhiganova ที่สนใจกระบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาและพิธีกรรมของร่างทรงในรัสเซีย ซึ่งบ่งบอกว่าสังคมหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ชาวรัสเซียจึงหันมาพึ่งศาสนาและความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำให้ชีวิตพบทางออก มีความสุข และมีพลังต่อการทำสิ่งต่าง ๆ การศึกษาของ Olga Khristoforova สนใจปรากฎการณ์เวทมนต์คาถาและการถูกผีสิง ซึ่งสะท้อนว่าสภาวะขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคริสต์ศาสนาออร์ทอดอกซ์กับภูตผีวิญญาณ

 

ลักษณะของมานุษยวิทยาในรัสเซีย

           การเรียนการสอนมานุษยวิทยาในรัสเซียดำรงอยู่ภายใต้คณะประวัติศาสตร์ (Sokolovskiy, 2017; Ssorin-Chaikov, 2017; 2019) นักศึกษาที่เรียนมานุษยวิทยาจะต้องเรียนประวัติศาสตร์เป็นเวลาสองปี จากนั้นจึงเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางมานุษยวิทยา สถาบันวิชาการในยุคสหภาพโซเวียตมีอำนาจ มักมองวิชามานุษยวิทยาเป็นเพียงการศึกษาสังคมมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และค่อย ๆ หันมาสนใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ หรือรู้จักในภาษารัสเซียว่า etnografiiaทำให้ละเลยและมองข้ามการศึกษาชีวิตร่วมสมัยของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ปรับตัวเข้ากับระบอบคอมมิวนิสต์ วิชามานุษยวิทยาเริ่มปรากฏเป็นศาสตร์ที่แยกตัวออกจากประวัติศาสตร์ในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

           ในช่วงทศวรรษ 1980 ความรู้มานุษยวิทยาในตะวันตกกำลังตั้งคำถามและวิจารณ์อิทธิพลของตะวันตกที่ครอบงำโลก และบ่อนทำลายวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นในดินแดนต่าง ๆ เป็นช่วงเวลาที่นักมานุษยวิทยาสนใจวิธีการสร้างความรู้ที่สะท้อน “เสียง” ของคนพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็กลับมาสะท้อนการทำงานของนักมานุษยวิทยาว่าตกอยู่ใต้กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์และลัทธิอาณานิคมอย่างไร (Marcus & Fischer, 1986) ในขณะที่นักมานุษยวิทยาในรัสเซียกำลังสนใจความล้มเหลวของโครงการพัฒนาและการชี้นำของรัฐสังคมนิยม ที่นำพารัสเซียไปสู่ปัญหาการผูกขาดอำนาจและระบอบเผด็จการ ซึ่งทำให้ประชาชนพบกับชีวิตที่ยากลำบาก (Sokolovski, 2002) นักมานุษยวิทยารัสเซียจึงมุ่งที่จะเสนอแนะ หาทางแก้ไขและหาทางออกให้กับนโยบายของรัฐเพื่อช่วยเหลือคนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเอาเปรียบและเสียประโยชน์ ข้อแตกต่างนี้ทำให้ทิศทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาในรัสเซียมิใช่การวิจารณ์อำนาจของตะวันตกที่บ่อนทำลายวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่เป็นการช่วยหาวิธีที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลตอบสนองประชาชนให้มากที่สุด

           บริบทสังคมและการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซียมีผลต่อการทำงานของนักมานุษยวิทยา กล่าวคือ นักมานุษยวิทยารัสเซียถูกสอนให้เขียนงานวิจัยด้วยระบบเหตุผลและเน้นข้อมูลที่ตรวจสอบได้เชิงประจักษ์ งานเขียนจึงไม่ปรากฎอารมณ์และความรู้สึกของคนศึกษาและผู้ถูกศึกษา นักมานุษยวิทยารัสเซียจะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมาคล้ายกับการเขียนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ถ้านักมานุษยวิทยาคนใดเขียนด้วยอารมณ์ส่วนตัวจะถูกมองว่าไม่ใช่งานวิชาการและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เป้าหมายของความรู้มานุษยวิทยาในรัสเซียคือการนำไปใช้วางแผนพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ในแง่นี้ความรู้ทางสังคมในประเทศรัสเซียจะต้องมุ่งให้ข้อมูลเชิงปริมาณและไม่เอาความรู้สึกเข้าไปเจือปน ทั้งนี้งานเขียนทางวิชาการของรัสเซียถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนภายใต้การทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ ต่างจากงานเขียนเชิงวรรณกรรมที่ผู้เขียนใส่อารมณ์และจินตนการส่วนตัวลงไป (Sokolovski, 2002; 116) ด้วยบริบทดังกล่าว การศึกษาของมานุษยวิทยารัสเซียจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาสังคมของตัวเอง

           นักมานุษยวิทยารัสเซียทำงานในประเทศของตนเองเป็นหลักและโจทย์สำคัญในการศึกษาคือการเปรียบเทียบว่าคนกลุ่มไหนบ้างที่มีวัฒนธรรมต่างไปจาก “ความเป็นรัสเซีย” มีการแสวงหาวัฒนธรรมพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ต่างไปจากชีวิตแบบชาวเมืองในรัสเซีย สถาบันวิชาการในรัสเซียมีนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่มาก สถาบันที่มีบทบาทคือสถาบันชาติพันธุ์วรรณาแห่งมอสโคว์ (Moscow institute of Ethnography) ซึ่งอาศัยแนวคิดของนักชาติพันธุ์รัสเซียเป็นกรอบการทำงาน คือ Bogoraz และ Iochelson การทำงานวิจัยของนักมานุษยวิทยารัสเซียจึงมีข้อจำกัดมากเนื่องจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยเพื่อสร้างนโยบายสังคมและสนับสนุนความมั่นคงของชาติ การทำวิจัยในพื้นที่นอกรัสเซียจึงมีน้อย ยกเว้นการเข้าไปศึกษาชีวิตของคนท้องถิ่นในเขตเอเชียกลางซึ่งเคยเป็นดินแดนของสหภาพโซเวียตมาก่อน เช่น Byelorussia, Moldova, Estonia, Kyrgyzstan, Turkmenistan และUzbekistan หนังสือและตำราของนักมานุษยวิทยาจากตะวันตก เช่น งานศึกษาของ Lèvi-Straus, Margaret Mead, Evans-Pritchard, Victor Turner จะมีอยู่จำกัดและหาได้เฉพาะในห้องสมุดในกรุงมอสโคว์และเลนินการ์ด

           ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัสเซียเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีแรงกดดันจากภายนอก นักวิชาการในรัสเซียล้วนเติบโตมาพร้อมกับอุดมการณ์ชาติที่มีเป้าหมายสร้างความยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติตะวันตก ซึ่งรู้จักในนามกระบวนการ Slavophile ที่ก่อตัวมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 อุดมการณ์นี้ทำให้รัสเซียมองชาติตะวันตกเป็นศัตรูและไม่ต้องการให้ชาวยุโรปเข้ามาครอบงำชาวรัสเซีย ขณะเดียวกันก็พยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมรัสเซียที่ยิ่งใหญ่มายาวนาน พร้อมทั้งให้คุณค่ากับชีวิตเกษตรกรรมในชนบทและหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ (Galaktionov & Nikandrov, 1967) ในแง่สังคม กระบวนการนี้เชื่อว่าสังคมรัสเซียเป็นสังคมของเอกภาพที่คนทุกกลุ่มต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียว หรือรู้จักในนาม “sobornost” เห็นได้จากชีวิตชาวบ้านในสังคมชาวนาที่ทุกคนร่วมมือกันทำงานเพื่อส่วนรวมและช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก การไม่ทอดทิ้งกันจึงเป็นหลักยึดเหนี่ยวสำคัญในวัฒนธรรมรัสเซีย (Efremenko & Evseeva, 2012) ในเชิงการเมือง กระบวนการนี้เปรียบเสมือนลัทธิที่ส่งเสริมการรวมเชื้อชาติสลาฟภายใต้การปกครองของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย และเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องอิสรภาพของชาวสลาฟที่อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรออตโตมัน เห็นได้จากสงครามระหว่างรัสเซียกับตุรกีในช่วงปี ค.ศ. 1877-1878 ชาวรัสเซียที่มีอุดมการณ์แบบ Slavophile เชื่อว่าชนชาติสลาฟจะต้องรวมตัวกันเพื่อปกป้องดินแดน Slavdom จากการรุกรานของชนชาติอื่น อุดมการณ์ของความเป็นชาติสลาฟ ส่งผลให้รัสเซียรวบรวมชนกลุ่มน้อยในดินแดนต่าง ๆ เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของตนไม่ว่าจะเป็นชาวยูเครนที่ถูกมองว่าเป็นชาวรัสเซียน้อย และชาวเบลารุสที่ถูกมองเป็นชาวรัสเซียขาว คนสองกลุ่มนี้จะถูกปกครองในฐานะเป็นดินแดนของรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ (Potulnytskyi, 1998)

 

ภาพวาดสงครามระหว่างรัสเวียและตุรกีในช่วงปี ค.ศ. 1877-1878

(ที่มา: https://www.wikidata.org/wiki/Q174205)

 

มานุษยวิทยารัสเซียในปัจจุบัน

           ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยารัสเซียพยายามก้าวข้ามกระบวนทัศน์แบบเดิมที่เกี่ยวข้องกับการครอบงำทางการเมือง เพื่อแสวงหาแนวคิดใหม่ ๆ ไปสู่การทำความเข้าใจโลกและสนทนากับองค์ความรู้ที่เป็นสากลSokolovski (2002) อธิบายว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการประกาศอิสรภาพของประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้ปกครองของสหภาพ โซเวียต ประเด็นที่นักมานุษยวิทยารัสเซียสนใจคือเรื่องสังคมและสิทธิของชนกลุ่มน้อย แต่สิ่งที่ต่างไปจากทฤษฎีชนกลุ่มน้อยที่แพร่หลายในวงวิชาการตะวันตกก็คือ ชนกลุ่มน้อยในบริบทของรัสเซียจะดำรงอยู่ในฐานะเป็นกลุ่มที่แสดงออกเชิงอำนาจ มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีกองทหารเป็นของตัวเอง และสามารถทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง รัฐต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตปกครองของรัสเซียในปัจจุบันจะมีผู้นำเป็นของตัวเอง รัฐเหล่านี้ถือเป็นดินแดนที่ชนกลุ่มน้อยสามารถใช้ชีวิตและสร้างกฎเกณฑ์ดูแลตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม ภายในรัฐเดียวกันก็ยังพบความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทำให้เกิดการจัดลำดับชั้นทางชาติพันธุ์ภายในรัฐด้วย

           ปัจจุบันภาควิชามานุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยของรัสเซียมีมากกว่า 20 แห่ง มีวารสารด้านมานุษยวิทยามากกว่า 25 วารสาร วารสารชั้นนำคือ Ethnographic Review, Forum for Anthropology and Culture และArchaeology, Ethnology and Anthropology of Eurasia รวมทั้งมีการตั้งสถาบันวิจัยทางมานุษยวิทยาในเมืองสำคัญหลายแห่ง ทำให้เกิดการขยายความรู้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศรัสเซีย นักมานุษยวิทยาและนักชาติพันธ์ศึกษามีโอกาสพบปะกันภายใต้องค์กรที่ชื่อสมาคมนักมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์แห่งรัสเซีย (Association of Anthropologists and Ethnologists of Russia) มีสมาชิกกว่า 1,000 คน และมีการจัดประชุมวิชาการประจำปีเวียนไปตามเมืองต่าง ๆ รวมทั้งยังมีเครือข่ายไม่เป็นทางการของนักมานุษยวิทยาที่ทำงานวิจัยร่วมกันและร่วมมือกับนักวิชาการต่างประเทศ

           เนื่องจาก วิชามานุษยวิทยาในรัสเซียตกอยู่ใต้อำนาจผูกขาดด้วยกระบวนทัศน์แบบ ปฏิฐานนิยม ทฤษฎีโครงสร้างนิยม และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์มายาวนาน ส่งผลให้การศึกษามานุษยวิทยาในปัจจุบันไม่สามารถสลัดทิ้งกรอบคิดแบบเก่า รวมทั้งยังขาดการถกเถียงในเชิงวิพากษ์ของกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ เหมือนกับวงวิชาการในโลกตะวันตก โจทย์ใหม่ของมานุษยวิทยารัสเซียคือการตรวจสอบข้อจำกัดในกรอบคิดเดิมที่ถูกชี้นำภายใต้การเมืองแบบสังคมนิยม นำไปสู่การศึกษาประเด็นความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการนำทฤษฎีสัญศาสตร์มาใช้วิเคราะห์ปรากฎการณ์สังคมมากขึ้น ในการศึกษาของ Kordonsky (2016) ชี้ให้เห็นว่าหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย สังคมรัสเซียเปลี่ยนไปสู่การสะสมทรัพย์สินส่วนตัวและมุ่งเน้นการแข่งขันทางธุรกิจ มีการศึกษาประเด็นร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ความเกลียดชังชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในรัสเซีย ศึกษาประสบการณ์และความทรงจำของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในยุคคอมมิวนิสต์ เป็นต้น (Baiburin, Kelly & Vakhtin, 2012)

 

เอกสารอ้างอิง

Alymov, S. & Sokolovskiy, S. (2018). Anthropology in Russia. In Hilary Callan, (ed.). The International Encyclopedia of Anthropology. Hoboken: John Wiley & Sons, Ltd.

Anderson, D. G., & Arzyutov, D.V. (2016). The Construction of Soviet Ethnography and ‘The Peoples of Siberia’. History and Anthropology, 27 (2), 183–209.

Baiburin, A., Kelly, C., & Vakhtin, N. (eds.). (2012). Russian Cultural Anthropology after the Collapse of Communism. London: Routledge.

Efremenko, D. & Evseeva, Y. (2012). Studies of Social Solidarity in Russia: Tradition and Modern Trends. The American Sociologist, 43(4), 349-365.

Galaktionov, A.A. & Nikandrov, P.F. (1967). Slavophilism, its National Roots and its Place in the History of Russian Thought. Soviet Studies in Philosophy, 6(2), 22-32.

Knight, N. (1995). Constructing the science of nationality: ethnography in mid- nineteenth century Russia. PhD dissertation, Columbia University.

Kordonsky, S. (2016). Socio-economic foundations of the Russian post-Soviet regime: the resource based economy and estate-based social structure of contemporary Russia. New York: Columbia University Press.

Marcus, G.M. & Fischer, M.M.J. (1986). Anthropology as Cultural Critique. An Experimental Moment in the Human Sciences. Chicago: The University of Chicago Press.

Naumov, I.V. & Collins, D.N. (2006). The History of Siberia. London: Routledge.

Potulnytskyi, V.A. (1998). The Image of Ukraine and the Ukrainians in Russian Political Thought (1860-1945). Acta Slavica Iaponica, 16, 1-29.

Sokolovski, S.V. (2002). On the Russian Tradition of Anthropological Research. In Peter Skalnik (Ed.) A Post-Communist Millenium: The Struggles for Sociocultural Anthropology in Central and Eastern Europe. (pp.115-128). Prague: Set Out.

Sokolovskiy, S.V. (2017). Anthropology in Russia: tradition vs. paradigm shift. in A. Barrera-González, M. Heintz and A. Horolets (eds.), European anthropologies, (pp.85–108). New York: Berghahn Books.

Ssorin-Chaikov, N. (2017). Two Lenins: a brief anthropology of time. Chicago, IL: HAU Books and Chicago University Press.

Ssorin-Chaikov, N. (2019). Reassembling history and anthropology in Russian anthropology: part I. Social Anthropology/Anthropologie Sociale, 0(0), 1–16.

Stocking Jr, G. W., & Bromley, Y. V. (1984). Academician Bromley on Soviet Ethnography. History of Anthropology Newsletter, 11(2), 6-10.

Webster, E. M. (1984). The Moon Man: A Biography of Nikolai Miklouho-Maclay. Berkeley: University of California Press.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยารัสเซีย มโนทัศน์เรื่องชาติ Russian Posthuman Anthropology Concept Heritage of the Nations นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share