Buddhism and the Spirit Cults in North-east Thailand

 |  ศาสนา ประเพณี พิธีกรรม
ผู้เข้าชม : 2622

Buddhism and the Spirit Cults in North-east Thailand

หนังสือ Buddhism and the Spirit Cults in North-east Thailand

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับสังคมไทย แรกเริ่มถูกสร้างขึ้นโดยคณะนักวิชาการชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) มีลอริสตัน ชาร์ป Lauriston Sharp) เป็นหัวหน้าโครงการเข้ามาศึกษาสังคมไทยท่ามกลางบริบทการเมืองยุคสงครามเย็นต้นทศวรรษ 2490 (1947) ทำการศึกษาวิจัยชุมชนชาวนา บางชัน เพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาประเทศไทยให้ทันสมัย ทีมวิจัยใช้แนวคิดโครงสร้างสังคมหลวม (Loose Structure) ของจอห์น เอฟ เอมบรี (John F. Embree) มาอธิบายสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะปัจเจกชนนิยมสูง (Individualism) รักอิสระ ทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ชอบวางแผน ไม่ชอบถูกผูกมัดในระยะยาว (Long-term obligation) มีความยืดหยุ่นสูง (Flexibility) คนไทยปรับตัวง่าย ไม่ยึดอะไรตายตัว เข้าใจกฎระเบียบและกติกาทางสังคมแต่มีการละเมิด แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและใช้อธิบายสังคมไทย จากนั้นมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจศึกษาสังคมชนบททั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง เน้นบรรยายชีวิตสังคมชนบทด้านต่าง ๆ อย่างกว้าง ๆ อันเป็นแบบฉบับของการศึกษางานสนามแบบเข้มข้นในยุคนั้น ผู้วิจัยเน้นการมองชุมชนเฉพาะประเด็นทางวัฒนธรรม หรือโลกทัศน์ทางศาสนา ให้คุณค่าของพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันเท่านั้น ไม่ให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องการนับถือผีที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวชนบทมาอย่างยาวนาน

           หนังสือ Buddhism and the Spirit Cults in North-East Thailand ของ ศาสตราจารย์สแตนลีย์ เจยารายา แทมบายห์ (Stanley Jeyaraja Tambiah) (พ.ศ. 2513) ใช้แนวทฤษฎีโครงสร้างนิยม (Structuralism) ในการศึกษาพุทธศาสนาและการนับถือผีในสังคมชาวนาภาคอีสาน โดยทฤษฎีโครงสร้างนิยมเชื่อว่าสังคมประกอบด้วยระบบและโครงสร้างที่หน่วยต่าง ๆ ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีกฎและระเบียบที่ชัดเจนตายตัว เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในอังกฤษที่คัดค้านและโต้แย้งการอธิบายลักษณะสังคมไทยตามแนวคิดโครงสร้างสังคมหลวมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนั้น

           สแตนลีย์ เจยาราจา แทมบายห์ (Stanley Jeyaraja Tambiah) ศาสตราจารย์ประจำ Harvard University เป็นนักมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมและนักทฤษฎีด้านศาสนาผู้มีชื่อเสียงด้านการศึกษาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศศรีลังกา และ ประเทศไทย ขณะที่แทมบายห์เข้าร่วมโครงการยูเนสโก-ไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (UNESCO-Thai technical assistance project in northeastern Thailand) เขาได้ศึกษาสังคมชนบทอีสาน ที่บ้านพรานเหมือน ต.บ้านขาว อ.เมือง จ.อุดรธานี ช่วงปี พ.ศ. 2503-2506 และเขียนหนังสือ Buddhism and the Spirit Cults in North-East Thailand เผยแพร่ พ.ศ. 2513

           แทมบายห์เริ่มด้วยการแนะนำเนื้อหาหนังสือคร่าว ๆ ในบทนำ ตามด้วยภูมิหลังของพื้นที่ศึกษา ประวัติชุมชน จำนวนประชากร การปกครองท้องถิ่น ภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความเป็นอยู่และประเพณีต่าง ๆ เขาได้ศึกษาความสลับซับซ้อนของระบบศาสนาและความเชื่อแบบสมัยนิยมในสังคมไทย ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบศาสนาในประเทศไทย ที่หลอมรวมเอาศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งความเชื่อพุทธ ผี และพราหมณ์ อันมีพุทธเป็นศูนย์กลาง ซึ่งลักษณะของพระพุทธศาสนาในสังคมอีสานขณะนั้น เป็นสังคมที่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก มีการกำหนดไว้ในทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนตามกฎหมาย แทมบายห์เชื่อว่าความจริงสังคมไทยมีการนับถือพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ในลักษณะของการผสมผสานระหว่างความเชื่อตามแนวพุทธศาสนา ความเชื่อตามแนวศาสนาพราหมณ์/ฮินดู รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ให้ความเคารพและศรัทธาอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่สามารถบันดาลเหตุร้ายหรือเหตุดีให้กับผู้คนในชุมชนได้ ดังที่แสดงออกมาผ่านรูปแบบของประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากสังคมไทยทั่วไปที่ยังพบว่ามีรูปแบบการปฏิบัติทางประเพณีและพิธีกรรมในลักษณะที่ผสมผสานระหว่างพุทธ พราหมณ์ และผี แต่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามบริบทของพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคของสังคมไทยและสังคมอื่น ๆ ในดินแดนอุษาคเนย์

 

รูปที่ 1 ทำบุญด้วยปฏิบัติบูชา จาก https://www.roong-aroon.ac.th/?p=1086

 

รูปที่ 2 ทำบุญด้วยธรรมทาน จาก https://m.facebook.com/145791755791959/photos/a.194928480878286/765450257159436/

 

รูปที่ 3 ทำบุญด้วยการสร้างโบสถ์ วิหาร จาก http://www.dmc.tv/pages/scoop/อานิสงส์การสร้างโบสถ์วิหาร.html

 

           แทมบายห์ได้กล่าวถึงการทำบุญทำทานไว้ว่า “ในแง่ของหลักธรรมคำสอนแล้ว ความต้องการหลุดพ้นเป็นการแสวงหาเฉพาะของปัจเจกบุคคลเท่านั้น” เช่น พระสงฆ์ หรือฆราวาส พยายามปลีกวิเวกไปปฏิบัติวิปัสนากัมมฐาน หรือสนทนาธรรมกับพระอริยะสงฆ์เพื่อการหลุดพ้น หรือบรรลุเป็นพระโสดาบันถึงพระอรหันต์ แต่ในระดับชาวบ้านในชนบทพวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์กับวัดด้วการทำบุญตักบาตร การนิมนต์พระมาร่วมให้พรในพิธีกรรมต่าง ๆ ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย การส่งลูกชายไปบวช และเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา (แม้จะบวชระยะสั้น ๆ) การทอดกฐิน ผ้าป่า การจัดงานสนุกสนานในวัดหรืองานวัด เมื่อชาวบ้านทำบุญและได้บุญเพื่อตัวเองแล้ว ผู้ทำบุญยังสามารถอุทิศอานิสงส์ของบุญนั้นบางส่วนให้กับบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้เสียชีวิตไปแล้วก็ได้ ลักษณะการทำบุญมักรวมกับหน่วยงานทางสังคมขนาดใหญ่ตั้งแต่ครอบครัว ครัวเรือน ขยายไปจนถึงวงศาคณาญาติ และคนทั้งหมู่บ้านด้วย แทมบายห์ ได้ถามชาวบ้านในพื้นที่ศึกษา (field) เพื่อจัดลำดับความสำคัญของวิธีการทำบุญต่าง ๆ ชาวบ้านเชื่อว่าการทำบุญสร้างวัดเป็นการบริจาคที่ได้บุญสูงสุด การนั่งสมาธิ การให้ธรรมะเป็นทาน (แสดงธรรม) เป็นการบำเพ็ญบุญที่ได้บุญน้อยที่สุด ซึ่งขัดแย้งกับพระไตรปิฏกที่ยกให้การบูชาด้วยการทำสมาธิ การแสดงธรรมเทศนา เป็นปฏิบัติบูชาการให้ทานขั้นสูงกว่าการทำบุญด้วยวัตถุสิ่งของ หรือ อามิสบูชา

 

     

พาขวัญ พิธีเอิ้นขวัญ หรือ พิธีบายศรีสู่ขวัญ

 

           แทมบายห์ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบความเชื่อต่าง ๆ ของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์/ฮินดู และไสยศาสตร์ว่ามีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ทั้งขัดแย้งกันส่งเสริม/หนุนเสริมซึ่งกันและกันและเกี่ยวเนื่องกัน เช่น พิธีสู่ขวัญ การเลือกขวัญผูกแขน หรือภาษาอีสานเรียกว่า “เอิ้นขวัญ” โดยทั่วไปชาวอีสานเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีขวัญอยู่ประจำกาย มนุษย์ทุกคนมีขวัญอยู่ 32 ขวัญ ที่อยู่ทั่วไปตามอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ทั้งหมดว่าอยู่จุดไหนบ้าง แต่ทุกขวัญจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในร่างกาย การทำพิธีเอิ้นขวัญของชาวอีสานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูก ๆ หลาน ๆ หรือคนที่ถูกประกอบพิธีเอิ้นขวัญ “อยู่ดีมีแฮง” ซึ่งหมายถึง ให้มีชีวิตที่ดี มีร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรง โดยพิธีกรรมจะทำผ่านการแสดงออกทางคำพูดของผู้อาวุโสคือหมอขวัญกับญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ ลุง ป้า น้า อา พ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ด้วยถ้อยคำแสดงถึงความปรารถนาดีเช่น “ให้สดให้ใส ให้โชคให้ชัย ให้ร่ำให้รวย ให้ค้ำให้คูณ” ดังนั้นการเรียกขวัญ จึงเป็นพิธีที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายญาติพี่น้อง ผ่านการเข้าร่วมพิธีกรรม “เอิ้นขวัญ”

 

รูปที่ 4 พญานาคผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสน จาก http://payanakara.blogspot.com/2012/06/blog-post_6461.html

 

รูปที่5 พญานาคผู้บันดาลทุกข์สำหรับคนทำกรรมชั่ว จาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid

 

           นอกจากนี้ยังศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางพุทธศานากับความเชื่อเรื่อง “ผี” ในชุมชนหมู่บ้านพรานเหมือง โดยประยุกต์แนวคิดทฤษฎีเชิงโครงสร้างของเลวี่- สเตราส์ มาศึกษาตำนานเรื่องผาแดงนางไอ่ (ตำนานประจำถิ่นในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน ตำนานประเพณีบุญบั้งไฟ ที่สอนให้คนอีสานเชื่อในบาปบุญ เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อในอำนาจของพญานาคผู้มีอำนาจบันดาลให้มนุษย์ประสบโชคหรือประสบภัยพิบัติ) และตำนานเรื่องพระอุปคุต (พระมหาเถระผู้โดดเด่นด้านขจัดอุปสรรค บันดาลโชคลาภ พระผู้มีฤทธิ์ปราบ พญาวสวัตตีมารที่มาทำลายงานฉลองเจดีย์ 84,000 องค์ ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) และมองความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างระหว่างพิธีกรรมในงานบุญบั้งไฟและบุญผะเหวด (พิธีทำบุญใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านหรืองานเทศน์มหาชาติ) โดยวิเคราะห์ผ่านสัญลักษณ์คือ พญานาค ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างตำนานและพิธีกรรมดังกล่าว งานศึกษาของแทมบายห์ ชี้ให้เห็นว่าในตำนานมีคู่ขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับพญานาค ซี่งเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ และความขัดแย้งของสัญลักษณ์พญานาคยังปรากฎในงานบุญผะเหวดกับบุญบั้งไฟในแง่ที่ว่า ในงานบุญผะเหวดพญานาคจะเป็นผูอุปถัมภ์พุทธศาสนา ส่วนในงานบุญบั้งไฟ พญานาคจะมีลักษณะของอำนาจเหนือธรรมชาติที่บันดาลทุกข์สุขให้แก่มนุษย์

           หนังสือ Buddhism and the Spirit Cults in North-East Thailand ของ สแตนลีย์ เจยาราจา แทมบายห์ ที่ศึกษาพุทธศาสนาแบบชาวบ้านและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เป็นหนังสือที่มีคุณค่าได้รับการยอมรับและอ้างอิงมากที่สุดเล่มหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาไทย เป็นงานบุกเบิกทั้งในด้านมานุษยวิทยาที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสังคม ประเพณีพิธีกรรมที่ผูกติดกับวิถีชีวิตทางศาสนา และคติความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติหรือผี เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์สังคมชนบทไทย พระพุทธศาสนากับวิถีชีวิตในสังคมไทย บทบาทของพระสงฆ์กับสังคม รวมทั้งการศึกษาระบบความเชื่อเรื่องผีกับสังคมไทย ทั้งนี้หนังสือ บทความ แนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่นำเสนอข้างต้น สามารถหาอ่านได้ที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

บรรณานุกรม

Steven Piker. (1971). "Review Of "Buddhism And The Spirit Cults In North-East Thailand" By S. J. Tambiah". American Anthropologist. Volume 73, Issue 6. 1351-1353. DOI:10.1525/aa.1971.73.6.02a00450

จักรกริช สังขมณี, บรรณาธิการ. สังคมวิทยา-มานุษยวิทยาไทย : บททบทวน ข้อท้าทาย และนัยเชิงนโยบาย.[กรุงเทพฯ] : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556.

ฉลาดชาย รมิตานนท์, และ วารุณี ภูริสินสิทธิ์ (บรรณาธิการ). สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทย : สถานภาพและทิศทาง. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2530

พัฒนา กิติอาษา. ความเป็นอนิจจังของพุทธไทย :จากสิ่งตกทอดผูกพันจากอดีต ถึงความทันสมัย และการแตกตัวออกเป็นเศษเสี่ยง (Thai Buddhism and Its Impermanent Fate:From Primordial Attachment to Modernization and Fragmentation).วารสารสังคมศาสตร์. 19, 1(2550) หน้า 132-180

ภัทรลดา ทองเถาว์, สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ. บทบาทของความเชื่อเรื่องผีต่อสังคมอีสาน : กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี = The Roles of Beliefs about the Spirit to Isan Society: A Case Study of Ubonratchatani. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. 15,2 (ม.ค.-มิ.ย. 2563) หน้า 221-236

 

บรรณานุกรมภาพ

ชาวรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์ ปฏิบัติบูชาในวันธรรมสวนะ. โรงเรียนรุ่งอรุณ. (2022). https://www.roong-aroon.ac.th/?p=1086

การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง. ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ. (2022). https://m.facebook.com/145791755791959/photos/a.194928480878286/765450257159436/

ภาพอานิสงส์การทำบุญสร้างโบสถ์. อานิสงส์การสร้างโบสถ์ วิหาร. (2022). https://www.dmc.tv/pages/scoop

ท้าวมุจจลินท์นาคราช ต้นกำเนิดพระปางนาคปรก. (2022). http://payanakara.blogspot.com/2012/06/blog-post_6461.html

ตำนานรัก ผาแดง - นางไอ่ : โรแมนติกตำนาน "รบเพื่อรัก". (2022). https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid


ผู้เขียน

อนันต์ สมมูล

นักบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Sinhalese Buddhism Spirit Cults North-east Thailand อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share