ฌียส์ เดอเลอซ, เฟลิกส์ กัตตารี และมานุษยวิทยาของสภาวะรวมตัว (Gilles Deleuze, Félix Guattari and Anthropology of Assemblage)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 8272

ฌียส์ เดอเลอซ, เฟลิกส์ กัตตารี และมานุษยวิทยาของสภาวะรวมตัว (Gilles Deleuze, Félix Guattari and Anthropology of Assemblage)

ที่มาของแนวคิด “สภาวะรวมตัว”

           แนวคิดเรื่อง “สภาวะรวมตัว” (Assemblage) มาจากความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส คือ Gilles Deleuze และนักจิตวิเคราะห์ Félix Guattari (1980) ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophrenia โดยเสนอมุมมองเกี่ยวกับ rhizomatic thought ซึ่งอธิบายลักษณะเครือข่ายที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน (nonlinear network)(Mussumi, 1987) เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์สังคมที่ดำเนินไปด้วยความโยงใยเชิงสัญลักษณ์ระหว่างสถาบันที่มีการใช้อำนาจ และสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการต่อสู้ทางสังคมโดยไม่มีระเบียบหรือความเชื่อมโยงที่ชัดเจน การเกาะเกี่ยวกันอย่างไร้ระเบียบและมีความซับซ้อนนี้ สวนทางกับคำอธิบายเรื่องโครงสร้างที่เป็นคู่ตรงข้ามและมีระเบียบที่ลงตัวคงที่ และยังเปิดเผยให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ไร้ระเบียบข้ามขอบเขตของสิ่งต่างๆ โดยหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดไม่ได้ เครือข่ายที่ไร้ระเบียบดังกล่าวให้ความสำคัญกับการพึ่งพาอาศัยของสิ่งต่างๆ (mutualism) ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์คล้ายกับผึ้งที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งได้อาหารและดอกไม้ได้ผสมพันธุ์ ความคิดนี้ได้เปลี่ยนมุมมองต่อการอธิบายเหตุการณ์ทางสังคมและแบบแผนทางประวัติศาสตร์ โดยชี้ว่าสังคมและวัฒนธรรมมิได้มีลำดับชั้นที่เป็นระเบียบ แต่อยู่ในสภาวะแนวราบ (planar movement) ที่เหตุการณ์ต่างๆ เคลื่อนที่และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย

           Deleuze and Guattari อธิบายว่าวัฒนธรรมเคลื่อนที่ไปเหมือนกับระลอกน้ำที่กระจายและกระเพื่อมไปเป็นแนวราบ ระลอกน้ำจะวิ่งไปหาพื้นที่ว่างไม่ว่าจะมีสิ่งใดกีดขวาง น้ำก็จะไหลวนกลับไปกลับมาเพื่อหาช่องที่จะไหลไปยังพื้นที่ว่างอื่นๆ ลักษณะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถกำหนดและบ่งชี้ได้ว่ามวลน้ำมีจุดเริ่มของการไหลตรงไหนและหยุดนิ่งตรงไหน วัฒนธรรมมีวิถีในทำนองเดียวกับการไหลของมวลน้ำและเกี่ยวโยงกับสิ่งต่างๆ ที่น้ำไหลเข้าไปหา หลักคิดของ Deleuze and Guattari จึงเน้นส่วนสำคัญ 6 ประการ คือ 1) การเชื่อมโยงถึงกัน 2) การแสดงความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน (heterogeneity) 3) การมีความหลากหลาย (multiplicity) 4) การมีลักษณะแตกร้าวไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (asignifying rupture) 5) การมีลักษณะขยายตัวแผ่ออกไปในแนวราบ และ 6) การมีลักษณะจำลองและเลียนแบบ (decalcomania) ด้วยหลักคิดทั้ง 6 ประการนี้นำไปสู่คำอธิบายเกี่ยวกับพรมแดนอาณาบริเวณของพื้นที่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมการดำรงอยู่ของธรรมชาติ วัฒนธรรมประชานิยม และชีวิตทางสังคม

           จากความคิดเกี่ยวกับสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบทำให้เกิดการวิเคราะห์สังคมที่ไร้รูป โดยชี้ให้เห็นลักษณะสังคมทีมีความซับซ้อน เคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง มีการถ่ายเทแลกเปลี่ยนของสิ่งต่างๆ (exchangeability) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกันและต้องพึ่งพาอาศัยการมีอยู่ของสิ่งอื่นเพื่อที่จะทำให้มันดำรงอยู่ได้ สังคมที่มีลักษณะดังกล่าวนี้จะไม่มีรูปแบบที่ตายตัว หากแต่ประกอบสร้างขึ้นด้วยเครือข่ายของสรรพสิ่งที่โยกย้ายสลับตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ความเป็นสังคมมีการรื้อทิ้ง ซ่อมแซมและสร้างใหม่อยู่เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมมิใช่ผลผลิตของสถาบันที่มีระเบียบแบบแผน แต่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่คาดไม่ถึงที่อยู่นอกกฎระเบียบ และต้องอาศัยความเกี่ยวโยงของสิ่งที่ต่างๆ ที่ร้อยรัดพันเกี่ยวเข้าหากัน (Stivale, 1984) การศึกษาสังคมในแนวทางนี้จำเป็นต้องวิเคราะห์กระบวนการสร้างความหมาย การเกิดขึ้นของช่วงชั้นที่ไม่เท่ากันและการสร้างขอบเขตของพื้นที่ที่หลากหลาย เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ที่ผู้กระทำการประเภทต่างๆ มีต่อกัน Deleuze and Guattari อธิบายว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบเกิดขึ้นภายใต้การแสวงหา และคัดเลือกผู้กระทำการที่สามารถสร้าง แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อทำลาย และปรับแต่งพรมแดนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในแง่นี้ภายใต้สภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ ตัวกระทำการและวิธีกระทำการคือปัจจัยที่มีผลต่อรูปแบบใหม่ๆ ของสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

 

มานุษยวิทยากับสภาวะรวมตัว

           ในการศึกษากระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลความคิดของเรื่องพลวัตทางสังคมมีอิทธิพลต่อนักสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคำอธิบายเกี่ยวกับสภาวะไม่นิ่งและซับซ้อนของสังคม การอธิบายสังคมที่ต่างไปจากวิธีคิดแบบเหตุผลนิยมภายใต้ความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตก และกระบวนทัศน์สมัยใหม่ซึ่งเชื่อในระเบียบและโครงสร้างที่ถาวรของสังคม ส่งผลให้เกิดการรื้อถอดทฤษฎีเดิมๆ ที่มักจะมองสังคมแบบหยุดนิ่ง การเคลื่อนตัวไปสู่กระบวนทัศน์หลังโครงสร้างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 Marcus and Saka (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดเรื่องพลวัตพยายามล้มล้างวิธีคิดโครงสร้างที่แข็งตัวของสังคม และเสนอการมองสังคมที่เต็มไปด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและไม่หยุดนิ่ง เห็นได้จากการเสนอทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ (actor-network theory-ANT) ในช่วงทศวรรษ 1980 โดยกลุ่มนักวิชาการชาวฝรั่งเศสจากศูนย์สังคมวิทยานวัตกรรม (Center for Sociology of Innovation) ได้แก่ Michel Callon, Madeleine Akrich และ Bruno Latour ซึ่งพยายามวิเคราะห์ว่ากระบวนการสร้างความรู้เกิดขึ้นภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายผู้กระทำการ โดยเน้นไปที่การสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ที่อาศัยทั้งมนุษย์ วัตถุสิ่งของและเทคโนโลยีในการประกอบสร้างความรู้ขึ้นมา (Muniesa, 2015)

           อย่างไรก็ตาม การเสนอความคิดเกี่ยวกับเครือข่ายผู้กระทำการที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนทัศน์หลังโครงสร้าง เป็นวิธีการของนักสังคมศาสตร์ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการดำรงอยู่ของโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเป็นการเก็บรักษาความเชื่อที่ว่าสังคมสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยโครงสร้างและปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาและวัฒนธรรมศึกษาในปัจจุบัน พยายามนำกรอบความคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งสนใจสภาวะที่ไม่มีจุดสุดท้าย นัยยะของสิ่งนี้อาจบ่งบอกถึงประสบการณ์ทางสังคมที่เคลื่อนตัวจากอดีตไปสู่เหตุการณ์ในอนาคต และอาจหมายถึงความสัมพันธ์เชิงวัตถุที่สิ่งต่างๆ มีต่อกันภายใต้พรมแดนพื้นที่อย่างใดอย่างหนึ่งและเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ประเด็นเกี่ยวกับประสบการณ์จึงถูกเสนอให้เป็นหลักคิดสำคัญ เช่นเดียวกับความคิดเรื่อง “สภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ” ของ Deleuze and Guattari ซึ่งยังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่เชื่อในโครงสร้าง แต่พยายามอธิบายโครงสร้างในลักษณะที่ปรับตัวเองไปตามปฏิสัมพันธ์ของผู้กระทำการที่หลากหลาย

           ความคิดของ Deleuze and Guattari มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยการนำข้อถกเถียงเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบมาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาเคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความรู้ที่เกิดขึ้นจากข้อเขียนและอิทธิพลของภาษาซึ่งผลิตซ้ำวิธีคิดแบบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ข้อเขียนทั้งหลายจึงปกปิดซ่อนเร้นอำนาจที่แทรกตัวอยู่ในปฏิบัติการทางสังคมที่หลากหลาย เมื่อเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของภาษาในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้ความคิดของ Deleuze and Guattari ได้รับความสนใจในวงวิชาการ Marcus (1993) ตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนทางชาติพันธุ์ทั้งหลายล้วนเป็นพื้นที่ที่โยงใยอยู่กับความรู้หลายแบบที่นักมานุษยวิทยานำมาเป็นกรอบคิดและเขียนเป็นเรื่องราวเพื่อเล่าถึงวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ งานเขียนเหล่านี้จึงอาศัยความคิดหลายแบบมาประกอบสร้างซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

           ในความคิดของ Deleuze and Guattari เชื่อว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบคือคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ สภาวะดังกล่าวนี้เป็นระบบที่เปิดและเต็มไปด้วยแรงกระทำจากภายนอก คุณสมบัตินี้ช่วยทำให้สิ่งต่างๆ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบจึงไม่มีความเป็นเนื้อแท้ที่ถาวร แต่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ต่างกันมาเกี่ยวโยงกัน ความพยายามที่จะนำความคิดดังกล่าวนี้มาใช้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่นักวิชาการสาขาต่างๆ นำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับทฤษฎีที่ตนเองสนใจ ซึ่งบางครั้งอาจมิใช่สิ่งเดียวกับการอธิบายของ Deleuze and Guattari ยกเว้นการหยิบยืมเอาแนวคิดเรื่องระบบเปิด สภาวะที่ไม่คงที่ การคาดเดาไม่ได้ กระบวนการเปลี่ยนผ่าน และการหลอมรวมของสรรพสิ่งที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจลักษณะโครงสร้างและความยืดหยุ่นในปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผลนิยมแบบสมัยใหม่ (Marcus & Saka, 2006)

           ตัวอย่างการศึกษาของ Manuel De Landa (2002) ได้นำความคิดของ Deleuze and Guattari มาสร้างทฤษฎี โดยชี้ว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบดำรงอยู่ในฐานะภววิทยา หมายถึงการมีอยู่อย่างเป็นเอกเทศที่การชุมนุมแต่ละแบบต่างมีแบบแผนและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ละการชุมนุมจะเติบโตและแผ่ขยายตัวผ่านการเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นที่อยู่ขอบเขตการชุมนุม (relations of exteriority) แต่ภายในตัวมันเองก็มีเอกลักษณ์ที่แยกขาดจากการชุมนุมของสิ่งอื่น (Ball, 2018) คำอธิบายนี้ต่างไปจากทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการของ Bruno Latour (2005) ซึ่งมองว่าการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ อาศัยการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันและทำให้สิ่งที่เกาะเกี่ยวกันโอบอุ้มตัวมันเองจากภายใน (relations of interiority) กล่าวคือความสัมพันธ์คือแกนกลางของการทำให้เกิดรูปแบบของการชุมนุม ในขณะที่ De Landa มองว่าความสัมพันธ์มิใช่ตัวกำหนดรูปแบบของการชุมนุม หากแต่กำหนดมาจากลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวโยงกัน ข้อแตกต่างนี้ทำให้เห็นว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบถูกตีความออกเป็นสองแนวทาง คือแนวทางที่เชื่อว่าความสัมพันธ์คือกลไกของการดำรงอยู่ของการชุมนุม กับแนวทางที่เชื่อว่าเอกลักษณ์ของสิ่งต่างๆ เป็นตัวกำหนดรูปแบบของการชุมนุม ทฤษฎีของ De Landa พยายามชี้ว่าวัตถุมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แยกขาดจากกันและมันจะมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุอื่นๆ ที่นำไปสู่รูปแบบของสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

           ในการศึกษาของ Paul Rabinow (2003) นำความคิดเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบไปวิเคราะห์วิธีการสร้างความรู้ทางชาติพันธุ์และกระบวนทัศน์ที่นักมานุษยวิทยานำไปอธิบายวัฒนธรรม โดยชี้ว่าความรู้ทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นบนความปั่นป่วนและการสะท้อนย้อนคิด ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมจึงปรากฎขึ้นบนความไม่แน่นอน แนวคิดทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้ล้วนเป็นผลผลิตมาจากระบบความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตก ในยุคที่ความเจริญทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก คำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์จึงสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป Rabinow เชื่อว่าวิธีการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์จำเป็นต้องหากรอบความคิดใหม่ๆ ที่ต่างไปจากกระบวนทัศน์เหตุผลนิยม โดยเฉพาะการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ในการศึกษาของ Aihwa Ong and Stephen Collier (2004) พยายามอธิบายปรากฎการณ์โลกาภิวัตน์ซึ่งมีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงข้ามท้องถิ่นที่หลากหลาย (translocal phenomenon) ลักษณะนี้ทำให้โลกคือพรมแดนของการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งระหว่างคน พื้นที่ เวลา และสรรพสิ่ง สภาวะนี้ทำให้ “โลกเป็นปัจจุบัน” (actual global) และเป็นพรมแดนของการชุมนุมที่ไร้ระเบียบ (global assemblage) ซึ่งมิได้มีโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว โลกจึงเคลื่อนที่และมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

           การศึกษาของ Kathleen Stewart (2007) อธิบายอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ในปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่ามนุษย์จะแสดงอารมณ์ที่ผันแปรไปตามสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวโยงกันไม่ว่าจะเป็นสรีระร่างกาย วัตถุ เทคโนโลยีและกิจกรรมสังคม ในการศึกษาของ N. Katherine Hayles (2006) ชี้ว่าในยุคที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร วิธีคิดของมนุษย์ต่อสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ในฐานะเป็นวัตถุที่มีบทบาทต่อการสร้างความคิดจะเข้ามาเป็นประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนว่าความสามารถในการคิดของมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกับการพึ่งพาเทคโนโลยี ในแง่นี้การพัฒนาทักษะทางความคิดของมนุษย์จึงมิได้มาจากการทำงานของสมองเท่านั้น แต่ยังมาจากวัตถุภายนอกที่มนุษย์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน คำอธิบายของ Hayles นำไปสู่การศึกษาวัตถุภาวะ (materiality) ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือมนุษย์กับเครื่องจักร สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการอธิบายว่าความสามารถในการคิดของมนุษย์มิได้มาจากตัวมนุษย์เพียงลำพัง แต่มันก่อตัวขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุ

           Marcus and Saka (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าการนำความคิดเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบของ Deleuze and Guattari มาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นบนความกระวนกระวายใจต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อวัตถุ สิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต วัตถุวิสัยกับอัตวิสัย เหตุผลกับอารมณ์ ระเบียบกฎเกณฑ์และความผันผวน เมื่อนักวิชาการทางสังคมศาสตร์นำเอาความคิดเรื่อง assemblage มาใช้เพื่ออธิบายความไม่คงที่ของสังคม บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการตีความไปตาม วาทกรรม หรืออธิบายด้วยภาษาของกระบวนทัศน์หลังโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการตอกย้ำในประเด็นความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆ โดยที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของสำเร็จรูปที่มีแบบแผนที่ชัดเจน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน แนวคิดสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบได้กลายเป็นคำอธิบายของกระบวนทัศน์ที่ต้องการแสวงหาความจริงที่ต่างไปจากเดิม

 

เอกสารอ้างอิง

Ball, A, (2018). Manuel Delanda, Assemblage theory. Parrhesia, 29, 241-247.

DeLanda, M. (2002). Intensive Science and Virtual Philosophy. London: Continuum.

Deleuze, G. & Guattari, F. (1987) [1980]. A Thousand Plateaus. Translated by Massumi, Brian. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Hayles, N. K. (2006) ‘(Un)masking the Agent: Distributed Cognition in Stanislaw Lem’s “TheMask”’, in Bill Maurer and Gabriele Schwab (Eds), Accelerating Possession: Global Futures of Property and Personhood. New York: Columbia University Press

Latour, B. (2005). Reassembling the social: an introduction to actor-network-theory. Oxford New York: Oxford University Press.

Marcus, G. E. (1993). What Comes (Just) after “Post”: The Case of Ethnography’, in Norman Denzin and Yvonna Lincoln (Eds.). Handbook of Qualitative Social Science. Beverly Hills, CA: Sage

Marcus, G.E. & Saka, E. (2006). Assemblage. Theory, Culture and Society, 23(2-3), 101-106.

Massumi, B. (1987). Translator's Foreword: Pleasures of Philosophy. A Thousand Plateaus. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Muniesa, F. (2015). Actor-Network Theory. in James D. Wright (Ed.), The International Encyclopedia of Social and Behavioral Sciences, 2nd Edition, (pp.80-84). Oxford, Elsevier.

Ong, A. & Collier, S. J. (Eds.). Global Assemblages: Technology, Politics, and Ethics as Anthropological Problems. Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.

Rabinow, P. (2003). Anthropos Today. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Stewart, K. (2007). Ordinary Affects. Durham, NC: Duke University Press.

Stivale, C. J. (1984). The Literary Element in "Mille Plateaux": The New Cartography of Deleuze and Guattari. SubStance, 13 (44–45), 20–34.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ฌียส์ เดอเลอซ เฟลิกส์ กัตตารี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สภาวะรวมตัว Gilles Deleuze Félix Guattari Posthuman Anthropology Assemblage

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share