มานุษยวิทยาของความไว้วางใจ (Anthropology and Theories of Trust)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 7626

มานุษยวิทยาของความไว้วางใจ (Anthropology and Theories of Trust)

           ความไว้วางใจ (Trust) เป็นคำหรือแนวคิดที่ถูกศึกษาวิจัยในวงกว้างในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา รัฐศาสตร์ จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ การบริหาร ปรัชญา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญหรือสร้างความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต เช่น สงครามกลางเมือง เหตุการณณ์ 9/11 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ โดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งมีข้อเสนอในทำนองว่าสังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมีความไว้วางใจต่อกันนั้น จะเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ มากกว่าสังคมที่ไม่มีความไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจจะเป็นตัวบรรเทาความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตทางสังคม อีกทั้ง ความไว้วางใจจะก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างความผ่อนคลายในปฏิสัมพันธ์ของชีวิตทางสังคม ในที่นี้ ความไว้วางใจจึงถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทุนทางสังคม (social capital) (McKnight & Chervany, 2001; Taddeo, 2011; Bauer, 2013; Pedersen & Liisberg, 2015; Robbins, 2016)

           Niklas Luhmann (1979) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้วิเคราะห์หน้าที่ของความไว้วางใจและกลไกทางสังคมที่สร้างความไว้วางใจขึ้นมา เขาเสนอว่าเหตุผลที่สังคมโดยทั่วไปต้องการความไว้วางใจ นั่นเพราะความไว้วางใจเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม สำหรับเขาความไว้วางใจเป็นผลมาจากกระบวนการตัดสินใจ กล่าวคือ ความไว้วางใจคือการตัดสินใจของผู้ถือ/ให้ความไว้วางใจ (the trustor) บนพื้นฐานของความคุ้นเคย (familiarity) ความคาดหวัง (expectation) และความเสี่ยง (risk)

           ขณะที่ Diego Gambetta (1988) นักสังคมศาสตร์ชาวอิตาลี ได้ให้ความสนใจไปที่กระบวนการตัดสินใจที่เป็นเบื้องหลังของความไว้วางใจ สำหรับเขาความไว้วางใจมักถูกเข้าใจว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือความไว้วางใจ (the trustor) กับผู้จัดการผลประโยชน์ (the trustee) โดยที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวควรมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อของผู้ถือความไว้วางใจในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและความสามารถของผู้จัดการผลประโยชน์ และที่เกี่ยวกับบริบทของความสัมพันธ์อันเกิดขึ้น อีกทั้งเขามองว่าความไว้วางใจซึ่งกันและกันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันได้ (แม้ว่าความไว้วางใจและความร่วมมือจะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน) ทั้งนี้ ความไว้วางใจรวมทั้งความไม่ไว้วางใจ สามารถพิจารณาได้เป็นระดับ (level) ของความน่าจะเป็นเชิงอัตวิสัย (the subjective probability) ที่ผู้หนึ่งได้ประเมินอีกคนหนึ่ง (กลุ่มหนึ่ง) ในการจะดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ

           ในส่วนของ D. Harrison McKnight และ Norman L. Chervany (2001) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการจัดการ ได้เขียนบทความเรื่อง Trust and Distrust Definitions: One Bite at a Time ซึ่งได้รวบรวมคำจำกัดความของความไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจในหลายสาขาวิชา โดยมีการจัดประเภทของแนวคิดเรื่องความไว้วางใจที่มีตั้งแต่ในระดับการสร้างบุคลิกภาพส่วนตน (a personality construct) ไปยังเรื่องการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (a rational choice) ไปยังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (an interpersonal relationship) และเรื่องการประกอบสร้างทางสังคม (a social structure construct) ทั้งนี้ พวกเขาได้วิเคราะห์และเสนอว่าลักษณะของความไว้วางใจ 4 มีองค์ประกอบ ได้แก่ 1. การมีความเมตตากรุณา/ปรารถนาดี (benevolence) หมายถึง มีความเอาใจใส่และจูงใจให้กระทำการเพื่อผลประโยชน์มากกว่าจะเป็นการกระทำโดยฉวยโอกาส อันหมายรวมถึงการมีความรับผิดชอบและความห่วงใย 2. การมีความซื่อสัตย์ (integrity) หมายถึง การทำข้อตกลงโดยสุจริต การพูดความจริง และการปฏิบัติตามคำสัญญา อันหมายรวมถึงการมีความเที่ยงตรงและคุณธรรม 3. การมีสมรรถนะ (competence) หมายถึง การมีความสามารถหรืออำนาจที่จะกระทำเพื่อสิ่งที่ตนต้องการ และ 4. การคาดการณ์ได้ (predictability) หมายถึง การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง (ทั้งที่ดีและไม่ดี) จะมีความสม่ำเสมอเพียงพอในการที่จะคาดการณ์ได้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ

           อีกทั้ง พวกเขายังได้เสนอแผนผังการก่อตัวของความไว้วางใจตามรูปภาพนี้

 

รูปภาพ: Interdisciplinary model of trust constructs

ที่มา บทความเรื่อง Trust and Distrust Definitions: One Bite at a Time(2001)

 

           โดยที่แนวโน้มของความไว้วางใจ (disposition to trust) หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งแสดงแนวโน้มที่จะพึ่งพาบุคคลทั่ว ๆ ไปได้โดยง่ายในสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป หรือกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องนิสัยส่วนบุคคล (a person’s trait) ซึ่งแนวโน้มของความไว้วางใจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้จากประสบการณ์ในชีวิต ขณะที่ความไว้วางใจเชิงสถาบัน (institution-based trust) หมายถึง ความเชื่อว่ามีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย (favorable conditions) ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จตามสถานการณ์หนึ่ง ๆ ด้วยความพยายามบนความเสี่ยง และการที่ผู้คนสามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ก็เนื่องจากมีโครงสร้าง สถานการณ์ หรือบทบาทที่รับประกันได้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะผ่านไปด้วยดี หรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้คนมีการประเมินสถานการณ์และโครงสร้างในขณะนั้นว่าจะสามารถมีความไว้วางใจต่อผู้อื่นหรือคนคนหนึ่งได้หรือไม่ และความไว้วางใจเชิงสถาบันก็แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภทคือ Structural Assurance (เชื่อว่ามีโครงสร้างทางสังคม กฎหมาย ที่อำนวยต่อการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์หนึ่ง) และ Situational Normality (เชื่อว่าสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเป็นสิ่งปกติหรืออำนวยต่อการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์หนึ่ง)

           อีกทั้ง ยังมีในส่วนของความเชื่อของความไว้วางใจ (trusting beliefs) หมายถึง ขอบเขตที่คนหนึ่งเชื่อมั่นว่าคน ๆ หนึ่งจะมีลักษณะที่เป็นประโยชน์จึงตัดสินมอบความไว้วางใจให้แก่เขา โดยเชื่อว่าเขาจะมีความเต็มใจและสามารถกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของคนที่มอบความไว้วางใจได้ ขณะที่เจตจำนงของความไว้วางใจ (trusting intentions) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งเต็มใจที่จะพึ่งพาหรือตั้งใจที่จะพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะขาดการควบคุมเหนือฝ่ายนั้น และถึงแม้จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบตามมาก็ตาม ในส่วนของพฤติกรรมของความไว้วางใจ (trust-related behavior) ก็หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งมอบภาระหน้าที่ความไว้วางใจแก่บุคคลอื่น โดยที่บุคคลนั้นอาจจะมีการกระทำที่หักหลังเขาได้ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการยอมรับความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ พฤติกรรมของความไว้วางใจมีหลายระดับได้แก่ การสร้างความร่วมมือ (cooperation) การให้ข้อมูล (information sharing) การทำข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการ (informal agreements) การลดการควบคุม (decreasing controls) การยอมรับในอิทธิพล (accepting influence) การให้อำนาจในการตัดสินใจ (granting autonomy) และ การสร้างธุรกรรมทางธุรกิจ (transacting business) ซึ่งล้วนเกิดขึ้นภายใต้ความเสี่ยงและการไร้ความสามารถในการควบคุมผู้จัดการผลประโยชน์

           ขณะที่ Esther Oluffa Pedersen (2015) ได้เขียนบทความ An outline of interpersonal trust and distrust ซึ่งเสนอว่าแนวคิดหลักเบื้องหลังการตีความความไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจระหว่างบุคคล ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นจำเป็นต้องให้ความสนใจกับลักษณะสามประการ คือ 1. เราจะมีแนวโน้มที่จะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจคนส่วนใหญ่หรือเราจะมีความน่าไว้วางใจในสายตาคนอื่นหรือไม่นั้น ก็เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม ประสบการณ์ในอดีตและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น 2. ความไว้วางใจหรือความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้กระทำการมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความคาดหวังระหว่างกันที่เปลี่ยนแปลงได้ 3. ความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้นั้นฝังลึกทั้งในทางสังคมและทางวัฒนธรรม ในแง่ที่ว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้กระทำการมีความร่วมมือทางสังคมที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ทั้งนี้ การประเมินความไว้วางใจทางสังคม (สูงหรือต่ำ) แสดงให้เห็นว่าความไว้วางใจระหว่างผู้คนจะเกิดขึ้นเมื่อมีความมั่นคงทางสังคมและความสามารถในการคาดการณ์

 

ความไว้วางใจในงานด้านมานุษยวิทยา

           ในหนังสือเรื่อง Anthropology & Philosophy: Dialogues on Trust and Hope ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความไว้วางใจและความหวังจากมุมมองของนักมานุษยวิทยาและนักปรัชญา รวมทั้งมีการพยายามทำความเข้าใจความไว้วางใจผ่านบริบททางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ Lotte Meinert (2015) (นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์ก) ได้เขียนบทความเรื่อง Tricky Trust: Distrust as a Point of Departure and Trust as a Social Achievement in Uganda เขาได้สำรวจการพึ่งพากันบนความไม่ไว้วางใจ (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนทางตอนเหนือของยูกันดา (ในช่วงปี 2008-2011) ซึ่งยังคงมีการปะทะกันทางทหารอยู่เป็นระยะ โดยเขาได้พิจารณาว่าในยูกันดาตอนเหนือนั้น ความไว้วางใจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนเป็นเรื่องของเจตจำนงหรือความตั้งใจมากกว่าเป็นเรื่องที่มีมาโดยธรรมชาติ โดยความไว้วางใจที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการบรรลุผลทางสังคมอันมีเล่ห์เหลี่ยม (a tricky social achievement) แม้จะตระหนักดีว่ามันมีความไม่มั่นคงและคาดเดาได้ยากว่าใคร และสิ่งใดสามารถเชื่อถือได้จริง ทั้งนี้ ผู้คนมักจะมองข้ามความไม่น่าไว้วางใจ และมองว่าความไว้วางใจคือการตะเกียกตะกาย การคาดหวังว่าจะได้รับการบอกความจริงนั้นไร้เดียงสา

           ขณะที่ Vigdis Broch-Due และ Margit Ystanes (2016) นักมานุษยวิทยาสังคมทั้งสองคน ได้เขียนบทนำไว้ในหนังสือเรื่อง Trusting and its tribulations : Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust โดยระบุว่า แม้ว่ามานุษยวิทยาจะศึกษาสังคมที่มีการเผชิญหน้ากับความแตกต่างมาอย่างยาวนาน และแม้วิธีการศึกษาชาติพันธุ์นิพนธ์แบบดั้งเดิมมักถูกนำไปใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นทางสังคม โดยเฉพาะในสังคมขนาดเล็ก ทว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาความไว้วางใจ (trust studies) นั้นมานุษยวิทยาก็ยังไม่มีบทบาทมากนักในการถกเถียงเกี่ยวกับความไว้วางใจ โดยเขาได้กล่าวถึงชาติพันธุ์นิพนธ์ของความไว้วางใจ (ethnographies of trusting) ไว้ว่า ในปัจจุบันความไว้วางใจเป็นเหมือนกาวที่ยึดเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นภายในครอบครัว ไปสู่เครือข่ายของความไว้วางใจที่ขยายออกไปยังพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่การร่วมมือกันทำงานในชุมชน การทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการรับบริการ ไปจนถึงความไว้วางใจในการเลือกตั้งและจ่ายภาษี การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้ง ความไว้วางใจคือการปรับตัวทางสังคมไปสู่การฟูมฟักอนาคตด้วยการสั่งสมประสบการณ์เชิงบวกทีละเล็กละน้อย รวมถึงการเปิดเผยถึงก้าวกระโดดแห่งศรัทธา (การไว้วางใจโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์)

           ทั้งนี้ ความไว้วางใจถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ประกอบขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยที่เครือข่ายความไว้วางใจสามารถพังทลายลงได้และพื้นที่ของความไว้วางใจที่สร้างขึ้นมานั้นก็มีขนาดที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนขึ้นอยู่กับสถานที่ทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นเราจึงต้องสำรวจเงื่อนไขของความไว้วางใจและไม่ไว้วางใจในแต่ละระเบียบทางสังคม และต้องพิจารณาว่าตัวตนของเรา ตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคน และความเป็นสังคมนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร เราไม่ควรมองแนวคิดเรื่องความไว้วางจากสังคมหนึ่งในการศึกษาสังคมอื่น ๆ หรือกล่าวได้ว่าไม่ควรมองแนวคิดเรื่องความไว้วางใจแบบสากลนิยม (universalism) อีกทั้งเขายังมองว่าการศึกษาความไว้วางใจของชาวยุโรปและอเมริกานั้นมักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความเสี่ยง (risk-oriented conception) และให้ความสำคัญกับการคำนวณความน่าไว้วางใจของผู้อื่น ซึ่งไม่อาจจะใช้ศึกษาพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างแนบสนิท โดยเขาได้ยกตัวอย่างงานของ Paula Haas (2016) ที่ศึกษาสังคมของชาวบาร์ก้ามองโกล (the Barga Mongol) ซึ่งเชื่อว่าความไว้วางใจเกิดจาก ‘การไม่คิดร้ายต่อใครเลย’ การให้ความไว้วางใจต่อผู้อื่นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทางศีลธรรม และหากมองในมุมมองของนักวิชาการตะวันตกอาจมองได้ว่าความไว้วางใจของชาวบาร์ก้ามองโกลนั้นดูเหมือนจะทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ตั้งอยู่บนฐานของการฉ้อฉล และอาจจะผิดคุณธรรมในแบบตะวันตก

           ในหนังสือเล่มดังกล่าว Vigdis Broch-Due (2016) ซึ่งได้ศึกษาชาว Turkana ในเคนยา ก็ได้เสนอว่าการศึกษาความไว้วางใจในสังคมต้องพิจารณาแบบข้ามสายพันธุ์ (a cross-species affair) ด้วยเช่นกัน ดังเช่นกรณีของชาวTurkana ที่ปฏิบัติต่อปศุสัตว์ของพวกเขาเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม ซึ่งได้หล่อเลี้ยงเลือดเนื้อของชาว Turkana และปศุสัตว์เหล่านี้ก็เป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ ผ่านการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนม เนื้อสัตว์ และปศุสัตว์ที่ยังมีชีวิต ทั้งนี้ Vigdis Broch-Due พบว่า ชาว Turkana มีแนวคิดที่ซับซ้อนเกี่ยวกับศีลธรรม ความไว้วางใจ และอารมณ์ โดยสิ่งเหล่านี้ตีความได้จากการแสดงออกมาผ่าน ‘สี’ จากทั้งของเหลวและของแข็งที่ออกมาจากร่างกายของสัตว์ ซึ่งเกิดจากการกินอาหารและการย่อยอาหารของมัน อีกทั้งเขาได้เล่าถึงปัญหาในสังคม Turkana เมื่อมีคนนำปศุสัตว์ที่ไม่สามารถครอบครองได้ตามจารีต ไปขายสู่ตลาด กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งนั่นถือเป็นการละเมิดศีลธรรมทางเศรษฐกิจของชาว Turkana จนทำให้เกิดการปรากฏของแม่มดสัตว์ (animal witches) ท่ามกลางปศุสัตว์ของพวกเขา เช่น ในครอบครัวหนึ่งที่เกิดความแตกร้าวขัดแย้งกันได้มีการอธิบายว่าเป็นเพราะวัวดำที่ซื้อมาจากตลาด มันเป็นแม่มดหรือสิ่งชั่วร้ายในบ้าน Vigdis Broch-Due กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการปรับรูปแบบของความคุ้นเคยใกล้ชิดขึ้นมาใหม่ (reconfiguration of intimacy) รวมทั้งในเรื่องของความไว้วางใจและความเป็นสังคม กล่าวคือ การนำสัตว์ออกจากขอบเขตดั้งเดิมของพวกมันไปสู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจจะทำให้เกิดปัญหาสำคัญในเรื่องขอบเขตของการสร้างความไว้วางใจต่อกัน หรือกล่าวได้ว่าการทำให้เป็นสินค้าและการค้าขายได้ตัดขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างความสนิทสนมคุ้มเคยออกจากสังคมในวงกว้าง โดยที่แนวคิดเรื่องความไว้วางใจของชาว Turkana (the Turkana habitus of trust) นั้นได้ยึดโยงผู้คนและสัตว์เอาไว้อย่างแน่นหนา

 

ชาว Turkana ในเคนยากับการเลี้ยงปศุสัตว์

ภาพจาก https://resilience.igad.int/turkana-karamojong-pastoralists-appeal-for-establishment-of-regional-institutions/

 

           นอกจากนี้ งานศึกษาของ Kali Rubaii (2020) เรื่อง Trust Without Confidence: Moving Medicine with Dirty Hands ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำความเข้าใจเครือข่ายของความไว้วางใจที่เกิดขึ้นในสถานการณ์สงคราม โดยในกรณีนี้คือเหตุการณ์หลังปี ค.ศ. 2014 จากการปะทะกันของกลุ่ม ISIS และกองทัพอิรักที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองโมซุลได้ถูกปิดล้อม (ตอนเหนือของอิรัค) โดยพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายญาติพี่น้องและเครือข่ายชุมชนนอกเมืองในการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค โดยที่การจัดส่งสิ่งเหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบการลักลอบขนส่งสินค้าหรือมีการซ่อนสินค้าจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ

           ทั้งนี้ Kali Rubaii เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่พยายามส่งยาจากร้านขายยาในอัมมาน (จอร์แดน) ไปยังแผนกกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลสามแห่งในเมืองโมซุล โดยเขาได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากบรรดาผู้กระทำการที่ไม่รู้จักกัน ภายใต้เครือข่ายเล็ก ๆ ที่มีความไว้วางใจ (a small trust network) ซึ่งเริ่มต้นจากการรวบรวมเงินในหมู่เพื่อนและครอบครัว มีการกรอกใบสั่งยา และปลอมแปลงยาในกล่องซีเรียล ก่อนที่พวกเขาจะส่งมันไปยังเมืองโมซูลด้วยรถยนต์เป็นเวลา 14 ชั่วโมง โดยอาศัยคนขับที่ไม่เคยรู้จักกันและพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้รถยนต์ดังกล่าวจะต้องถูกตรวจค้นในจุดตรวจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการประมาณ 20 จุด ซึ่งยาอาจถูกขโมยไปตลอดทางด้วยกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ และอาจจะถูกนำไปจำหน่ายในตลาดมืดด้วยราคาที่สูง

           ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนนั้น เขาพบว่า ความไว้วางใจและวิกฤตในสังคมไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอไป โดยที่เครือข่ายของความไว้วางใจในการลักลอบขนส่งยารักษาโรคนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยพบกัน เครือข่ายดังกล่าวมีอยู่แบบหละหลวม สลายไปอย่างรวดเร็ว ผู้กระทำการในเครือข่ายของความไว้วางใจนี้ทำไปด้วยความศรัทธาที่แรงกล้า ทั้งนี้ KALI RUBAII มองว่าการทำลายเครือข่ายของความไว้วางใจ คือการพูดถึงความไม่ไว้วางใจหรือตั้งคำถามที่มากเกินไปต่อคนในเครือข่าย นอกจากนี้เขายังเผยว่าการเคลื่อนย้ายยารักษาโรคโดยเครือข่ายของคนที่ไม่รู้จักกันนี้ ยังคงมีเรื่องของการปะทะกันระหว่างแรงจูงใจในการกระทำของแต่ละคน รวมทั้งการปะทะกันของศีลธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างกองทหารอาสาสมัคร แพทย์ คนขับรถ เภสัชกร และนักมานุษยวิทยา โดยในเครือข่ายของความไว้วางใจลักษณะนี้นั้น พวกเขาไม่ได้แสวงหาการประนีประนอมทางศีลธรรมและไม่ได้แสวงหาการสะสมความเชื่อมั่น (ไว้ใจโดยไม่ต้องเชื่อมั่น) ทว่าพวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกันผ่านความหลากหลายที่มิอาจจินตนาการได้

           ขณะเดียวกัน Sarah Pink (2021) นักมานุษยวิทยาผู้สนใจเรื่องการออกแบบ (design anthropology) และมานุษยวิทยาอนาคต (futures anthropology) ก็ได้ชี้ชวนให้มีการศึกษาความไว้วางใจ ทั้งในฐานะที่เป็นการกระทำในปัจจุบันและในฐานะที่เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคต ภายใต้แนวทางชาติพันธุ์นิพนธ์เชิงผัสสะ (sensory ethnography) และแนวคิด anticipatory feeling (ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์อนาคต) โดยเขามองว่าความไว้วางใจคือประสบการณ์เชิงผัสสะของความรู้สึกหรืออารมณ์ต่อบางสิ่งบางอย่าง หรือเป็นวิถีของการรับรู้และจินตนาการเชิงผัสสะ อันแสดงให้เห็นว่าการศึกษาความไว้วางใจยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวคิดที่ท้าทายในหลายแวดวงสาขาวิชา

 

อ้างอิง

Bauer, P. (2013). Conceptualizing Trust and Trustworthiness. Political Concepts Working Paper Series, No. 61.

Breaking Cooperative Relations, Oxford: Basil Blackwell, 213-237.

Breaking Cooperative Relations, Oxford: Basil Blackwell, 213-237.

Broch-Due, V. (2016). The Puzzle of the Animal Witch: Intimacy, Trust and Sociality among Pastoral Turkana. In V. Broch-Due & M. Ystanes (Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 105–130). Oxford: Berghahn Books.

Broch-Due, V., & Ystanes, M. (2016). Introduction: Introducing Ethnographies of Trusting. In V. Broch-Due & M. Ystanes(Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 1–36). Oxford: Berghahn Books.

Gambetta, (1988), Can we trust trust?, in D. Gambetta (ed.), Trust, Making and

Gambetta, (1988), Can we trust trust?, in D. Gambetta (ed.), Trust, Making and

Gambetta, D. (1988). Can We Trust Trust?. In D. Gambetta (ed.), Trust: Making and Breaking Cooperative Relations (pp. 213-38). Oxford: Basil Blackwell Ltd.

Haas, P. (2016). Trusting the Untrustworthy: A Mongolian Challenge to Western Notions of Trust. In V. Broch-Due & M. Ystanes (Eds.), Trusting and its Tribulations: Interdisciplinary Engagements with Intimacy, Sociality and Trust (1st ed., pp. 84–104). Oxford: Berghahn Books.

Kali, R. (2020). Trust without Confidence: Moving Medicine with Dirty Hands. Cultural Anthropology, 35(2), 211–217.

Luhmann, N. (1979). Trust and power: Two works. Chichester: Wiley.

McKnight, H. D., Chervany, N. L. (2001). Trust and Distrust Definitions: One Bite at a Time. In R. Falcone, M. Singh, YH. Tan (Eds.), Trust in Cyber-societies. Lecture Notes in Computer Science, vol 2246. Springer, Berlin, Heidelberg.

Meinert, L. (2015). Tricky Trust: Distrust as a Point of Departure and Trust as a Social Achievement in Uganda. In S. Liisberg, E. O. Pedersen, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 118–133). Oxford: Berghahn Books.

Pedersen, E. O. (2015). An Outline of Interpersonal Trust and Distrust. In E. O. Pedersen, S. Liisberg, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 104–117). Oxford: Berghahn Books.

Pedersen, E. O., & Liisberg, S. (2015). Introduction.: Trust and Hope. In E. O. Pedersen, S. Liisberg, & A. L. Dalsgård (Eds.), Anthropology and Philosophy: Dialogues on Trust and Hope (1st ed., pp. 1–20). Oxford: Berghahn Books.

Pink, S. (2021). Sensuous futures: re-thinking the concept of trust in design anthropology. Senses and Society, 16(2), 193-202.

Robbins, B. G. (2016). What is Trust? A Multidisciplinary Review, Critique, and Synthesis. Sociology Compass, 10, 972– 986.

Taddeo, M. (2011). Defining Trust and E-Trust: From Old Theories to New Problems. In A. Mesquita (Eds.), Sociological and Philosophical Aspects of Human Interaction with Technology: Advancing Concepts (pp. 24-36). IGI Global.


ผู้เขียน

สัมพันธ์ วารี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ความไว้วางใจ Posthuman Anthropology Theory Trust สัมพันธ์ วารี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share