วิธีวิทยาแบบติดตาม (Following Method)

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 2572

วิธีวิทยาแบบติดตาม (Following Method)

           ปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่นการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนปัจจุบันโรคอุบัติใหม่ชนิดนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5 ล้านคน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 270 ล้านคนทั่วโลก (WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard, 2021) อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่แก้ไขได้ด้วยการคิดค้นวัคซีนหรือยารักษาเท่านั้น หากพิจารณาด้วยมุมมองทางสังคมศาสตร์จะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคมในโลกร่วมสมัยอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ กล่าวคือ มนุษย์ เชื้อโรค ปฏิบัติการทางการแพทย์ และนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมาข้ามพรมแดนทั้งในระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น 2. การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ กล่าวคือ การระบาดของโรคทำให้มนุษย์ต้องหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น เมื่อสิ่งมีชีวิตที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอย่างไวรัสสามารถทำให้กิจกรรมและการทำงานของสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักและปรับเปลี่ยน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่วิธีคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น และ 3. การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ กล่าวคือ การระบาดของโรคสะท้อนความเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไวรัสวิทยา เภสัชศาสตร์ นิเวศวิทยา รวมถึงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ดังนั้น การแสวงหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องมีลักษณะข้ามพรมแดนความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา

           ไม่เพียงแค่การระบาดของโรคโควิด-19 แต่อาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ทางสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปใน 3 ลักษณะข้างต้น ทั้งในแง่ที่เป็นปรากฏการณ์ที่ทับซ้อนกันของพื้นที่หลายระดับ มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhumans) และต้องการความรู้และวิธีแก้ปัญหาจากหลายศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้การทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาจนทำให้เกิดการทดลองหาวิธีวิทยาหรือวิธีวิจัยที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในวิธีการดังกล่าวเรียกว่า “วิธีวิทยาแบบติดตาม” (following method) ที่นักมานุษยวิทยาการแพทย์ในโครงการวิจัยการใช้ยาต้านจุลชีพในสังคม (Anti-Microbials in Society, AMIS)2 นำมาใช้ศึกษาปรากฏการณ์เชื้อดื้อยา (โกมาตร และ ลือชัย, 2564)

 

หนังสือเชื้อดื้อยา:มานุษยวิทยาของยาต้านจุลชีพ จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

สั่งซื้อได้ที่ sac shop: https://shop.sac.or.th/th/product/63/

 

           วิธีวิทยาแบบติดตามไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศ แต่เป็นความพยายามที่จะกำหนดนิยามและสร้างคำศัพท์เฉพาะที่เน้นให้เห็นวิธีคิดและวิธีทำงานภาคสนามที่ให้ความสำคัญกับการติดตามวัตถุของการศึกษา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มแนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 2000 อาทิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (science and technology studies) ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (actor-network theory) และหลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) อย่างไรก็ดี แม้ว่างานศึกษาในกลุ่มแนวคิดเหล่านี้เริ่มแพร่หลาย แต่แง่มุมเชิงวิธีวิทยายังไม่ถูกขับเน้นให้เห็นมากนัก โดยเฉพาะการเสนอให้เห็นว่ามานุษยวิทยาเป็น “ศาสตร์แห่งการติดตาม” (following sciences) ที่สนใจสภาวะการดำรงที่ไม่ตายตัวและการเคลื่อนไหวไปมา ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับศาสตร์แห่งการผลิตซ้ำ (reproductive sciences) ที่มุ่งค้นหาแบบแผนหรือข้อค้นพบที่เป็นกฎทั่วไป (law-like regularities) (Jensen, 2012)

           วิธีวิทยาแบบติดตามเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ที่ข้ามพ้นไปจากการแบ่งคู่ตรงข้ามหลักของสังคมสมัยใหม่ นั่นคือ การแบ่งแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่ในโลกทางวัฒนธรรม ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อยู่ในโลกธรรมชาติอย่างแยกขาดจากกัน แต่ทั้งมนุษย์และสิ่งอื่นเชื่อมต่อกันในลักษณะเครือข่ายที่สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ พืช สัตว์ หรือแม้สิ่งของ สามารถเป็นผู้กระทำ (actor) ที่การกระทำของพวกเขา/พวกมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น (Law & Mol, 2008) ดังนั้น ต่อคำถามที่ว่า “ติดตามอะไร ?” วัตถุของการติดตามในที่นี้จึงหมายถึงผู้กระทำทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของการติดตามไม่ได้อยู่ที่ “ใครเป็นผู้กระทำอะไร” แต่เป็นคำถามที่ว่า “อะไรกำลังเกิดขึ้น” นั่นหมายความว่าสิ่งที่ถูกติดตามในที่นี้คือการปฏิบัติ (practice) ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของการปฏิบัติ (webs of practice) (Law, 2017) เช่น การติดตามการระบาดของไวรัสในพื้นที่และเวลาต่าง ๆ จะให้ความสนใจกับการกระทำของไวรัสที่ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์และการดำรงอยู่ของวัตถุอื่น ๆ และในทางกลับกัน ตัวไวรัสเองก็เป็นสิ่งที่ถูกกระทำผ่านจัดการผ่านผู้คนและวัสดุอุปกรณ์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น แม้จะเป็นไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ชีวิตของพวกมันในชุมชน ในโรงพยาบาลสนาม หรือในห้องปฏิบัติการกลับดำรงอยู่อย่างแตกต่างกัน

           คำถามสำคัญที่ตามมาคือ “ติดตามอย่างไร ?” ในที่นี้

นักมานุษยวิทยายังคงยึดวิธีการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานภาคสนามที่เข้มข้น แต่การหันมาสนใจการปฏิบัติของผู้กระทำการต่าง ๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเข้าไป “อยู่ที่นั่น” โดยไม่ได้สนใจเฉพาะความเป็นผู้กระทำการของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังต้องสนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย การติดตามข่ายใยของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจึงมีความหมายมากกว่าแค่เพียงการเดินตาม สังเกตและบรรยายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องกลับมาทบทวนและทดลองวิธีการติดตามที่จะเผยให้เห็นลักษณะเฉพาะที่ผู้กระทำต่าง ๆ ร่วมกันสร้างขึ้น (Jensen, 2012: 3-4)

           ดังนั้น ในการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) นักมานุษยวิทยาต้องใช้ผัสสะอื่นร่วมกับการใช้ดวงตา เพราะโลกของการปฏิบัตินั้นมีความซับซ้อน วัตถุต่าง ๆ สามารถกลายเป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ (visible) ได้ยินได้ (audible) จับต้องได้ (tangible) หรือรับรู้ได้ (knowable) (Mol, 2002) เป้าหมายของการทำงานภาคสนามในที่นี้จึงเป็นการเก็บข้อมูลโลกภาคปฏิบัติที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างมีเลือดเนื้อ และฉวยคว้าสภาวะที่สิ่งต่าง ๆ ปรากฏขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

           เพื่อให้เข้าใจวิธีวิทยาแบบติดตามได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจะเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างวิธีวิทยาแบบติดตามกับวิธีการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบและการทำงานชาติพันธ์หลายสนาม (multi-sited ethnography) สำหรับการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบแรกเป็นวิธีการที่มีโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) นักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิกการทำงานภาคสนามตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นต้นแบบ การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบจะให้ความสำคัญกับการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มชนพื้นเมือง ฝังตัวในพื้นที่ศึกษาหนึ่งอย่างยาวนาน และตัวนักมานุษยวิทยายังต้องฝึกฝนและใช้ภาษาของชนพื้นเมืองอย่างชำนาญ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจมุมมองของคนใน

           วิธีวิทยาแบบติดตามยังคงรักษาเป้าหมายในการทำความเข้าใจมุมมองของคนใน แต่ก็มีลักษณะแตกต่างจากเดิม ได้แก่ วิธีวิทยาแบบติดตามไม่ได้ให้ความสนใจมนุษย์ในฐานะองค์ประธานหรือผู้กระทำการเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่การทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบมักจัดวางให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางและเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกทางวัฒนธรรม และมองสนามเป็นพื้นที่เดี่ยว (single site) ของมนุษย์ซึ่งบรรจุชุดวัฒนธรรม ความเชื่อ แบบแผน และความสัมพันธ์ทางสังคมไว้ พื้นที่ดังกล่าวมีขอบเขตที่ชัดเจน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อสร้างความรู้ที่มีลักษณะทั่วไปและเป็นสากล (Falzon, 2009) แต่วิธีวิทยาแบบติดตามมองว่าพื้นที่ในการศึกษาไม่มีขอบเขตที่แน่นอนตายตัวและเคลื่อนไหวไปมา พื้นที่เกิดขึ้นผ่านการถักทอกันเป็นเครือข่ายของสรรพสิ่งที่แตกต่างกันและเกิดขึ้นผ่านการปฏิบัติที่มีลักษณะเฉพาะ

           ส่วนงานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามเป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของกระแสวิพากษ์การสร้างภาพตัวแทน (representation) ที่แข็งทื่อตายตัว โดยการเสนอว่าภาพแทนกลุ่มชน โดยเฉพาะชนพื้นเมืองที่สร้างโดยกลวิธีการประพันธ์ในงานเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์แบบขนบนั้น เป็นความจริงเพียงส่วนเสี้ยว นับแต่นั้นนักมานุษยวิทยาจึงหันมาทำงานที่ท้าทายมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสการทำงานภาคสนามที่สนใจการเชื่อมโยงตัดข้ามพื้นที่ทางวัฒนธรรม ไม่จำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว งานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามเสนอว่าการมองพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่เดี่ยวนั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในโลกโลกาภิวัฒน์ที่มีแรงผลักระดับโลกตัดข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดการติดตามการเคลื่อนย้ายของผู้คน สิ่งของ รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เคลื่อนไปมามากกว่าหนึ่งพื้นที่ (Marcus, 1995, 1998)

           อย่างไรก็ดี แม้การทำงานชาติพันธุ์หลายสนามและวิธีวิทยาแบบติดตามจะมองพื้นที่ระดับท้องถิ่นที่มีความเชื่อมโยงกัน รวมถึงหันมาให้ความสนใจกับชีวิตของผู้คนและสิ่งของในสังคมสมัยใหม่ แต่หนึ่งในจุดต่างสำคัญคือ ขณะที่งานชาติพันธุ์นิพนธ์หลายสนามสนใจการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ย่อยต่าง ๆ แต่พื้นที่เหล่านั้นก็ยังตั้งอยู่บนระบบโลก (world system) ที่เป็นพื้นที่ระดับโลกที่ไร้รอยต่อและเป็นหนึ่งเดียว (Cook, Laidlaw, & Mair, 2009) ทำให้การติดตามเกิดขึ้นผ่านการมองพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า (a given space) หรือมีสมมติฐานว่ามีสนามดำรงอยู่ก่อน (a pre-existing field) (Falzon, 2009) เช่น การติดตามห่วงโซ่อุปทาน หรือกรอบพรมแดนที่ถูกกำหนดภายใต้ความเป็นรัฐชาติ ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้แบบอื่นในการจินตนาการถึงพื้นที่

           ส่วนวิธีวิทยาแบบติดตามนั้น แม้จะศึกษาพื้นที่ที่มีมากกว่าหนึ่งเช่นกัน แต่จุดต่างสำคัญคือพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือดำรงอยู่ก่อน แต่พื้นที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของผู้กระทำการ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อมีการเข้าออกของผู้กระทำการที่ทำให้เกิดชุดของการปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป มุมมองเชิงพื้นที่ในวิธีวิทยาแบบติดตามจึงมีลักษณะเป็นโทโพโลยี (Topology) ซึ่งเป็นการจินตนาการถึงรูปร่างของพื้นที่ในเชิงเครือข่ายที่ยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนรูปไปมา พื้นที่ไม่ได้มีความแข็งตัวหรือคงตัวอยู่ในรูปแบบที่จัดวางไว้ตามทฤษฎี (Law & Mol, 2001) ดังนั้น การติดตามอาจเกิดขึ้นในสถานที่เดียวแต่เป็นการเคลื่อนผ่านหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาความจริงว่าด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งในโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว แต่ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล ตั้งแต่ห้องคลินิกผู้ป่วย ห้องตรวจชิ้นเนื้อ หรือห้องเอกซเรย์ (Mol, 2002)

           วิธีวิทยาแบบติดตามเป็นความพยายามขับเน้นลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดในเชิงวิธีวิทยา ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคม และเป็นการชักชวนให้นักมานุษยวิทยาสร้างสรรค์วิธีการทำงานภาคสนามที่ไม่ใช้ทฤษฎีหรือวิธีวิจัยที่แข็งทื่อ แต่การติดตามจะค่อย ๆ สร้างวิธีการทำงานขึ้นมาพร้อมกับเผยให้เห็นลักษณะเฉพาะของปรากฏการณ์ วิธีการนี้สามารถสร้างความเป็นไปได้และขยายขอบเขตของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมในมุมมองที่สดใหม่ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นการเชื่อมต่อและความลื่นไหลระหว่างผู้กระทำการ ความรู้ และพื้นที่ที่มีมากกว่าหนึ่ง ที่สำคัญ วิธีวิทยาแบบติดตามนั้นเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นปลายเปิดและพร้อมที่จะกลายเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ

           อย่างไรก็ดี การทำงานโดยใช้วิธีวิทยาแบบติดตามก็ยังคงเผชิญข้อจำกัดซึ่งอาจมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก นักมานุษยวิทยาอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและสร้างความคุ้นเคยกับความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และยังต้องเผชิญกับช่องว่างของความเข้าใจและความคาดหวัง เมื่อต้องทำงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างสาขาวิชา ประการที่สอง การถอยห่างจากมุมมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และหันไปสนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ธรรมชาติของเชื้อวัณโรคที่มีระยะติดเชื้อแต่ไม่ปรากฏอาการยาวนาน อาจทำให้ติดตามได้ยากและไม่เป็นอย่างที่คาดไว้  ประการสุดท้าย เมื่อขอบเขตของพื้นที่ในการศึกษาไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน และการติดตามวัตถุไม่มีทิศทางที่ตายตัว นักมานุษยวิทยาต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานภาคสนามสูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อสืบเสาะเข้าไปยังพื้นที่สีเทา หรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการทำงานของอำนาจ เช่น พื้นที่การทำงานของผู้เชี่ยวชาญ หรือพื้นที่ที่ถูกสงวนไว้เป็นความลับทางการค้า ซึ่งถือเป็นการศึกษาสิ่งที่อยู่ข้างบน (studying up) (Nader, 1972) ที่มีอำนาจในการขัดขวางการเข้าถึงของคนนอก นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องทำงานเคลื่อนไปมาทั้งพื้นที่ที่ทั้งลึกและตื้นภายใต้บริบทการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

บรรณานุกรม

Cook, J., Laidlaw, J., & Mair, J. 2009. What if There is No Elephant? Towards a Conception of an Un-sited Field. In M. Falzon (Ed.), Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research, (pp. 47-72). Great Britain: Ashgate Publishing.

Falzon, M. 2009.Introduction: Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research. In M. Falzon (Ed.), Multi-sited Ethnography: Theory, Praxis and Locality in Contemporary Research, (pp. 1-24). Great Britain: Ashgate Publishing.

Jensen, C. B. 2012. Anthropology as a Following Science. Natureculture, 1(1), 1-24.

Law, J. 2017. STS as Method. In Felk, U., Fouche, R., Miller, C.A., Smith-Doerr, L. (Eds.), The Handbook of Science and Technology Studies (pp. 31-57). Cambridge: The MIT Press.

Law, J., & Mol, A. 2001.Situating technoscience: an inquiry into spatialities. Environment and Planning D: Society and Space, 19, 609-621.

Law, J., & Mol, A. 2008. The actor-enacted: Cumbrian sheep in 2001. In Knappett C., Malafouris L. (Eds.), Material agency (pp. 57-77). Boston: Springer.

Marcus, G. E. 1995. Ethnography in/of the world system: The emergence of multi-sited ethnography. Annual Review of Anthropology, 24(1), 95-117.

Marcus, G. E. 1998. Ethnography through thick and thin. Princeton: Princeton University Press.

Mol, A. 2002. The body multiple: Ontology in medical practice. USA: Duke University Press.

Nader, L. (1972). Up the Anthropologist: perspectives gained from studying up. In D. Hymes (Ed.), Reinventing Anthropology. New York: Pantheon Books.

WHO Coronavirus (COVID-19 Dashboard. 2021. Overview. https://covid19.who.int/

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ ลือชัย ศรีเงินยวง (บก.). 2564. เชื้อดื้อยา : มานุษยวิทยาของยาต้านจุลชีพ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


1  ปรับปรุงและเรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนเรื่อง “วิธีวิทยาแบบติดตาม (Following Method) กับมานุษยวิทยาของการใช้ยาต้านจุลชีพ” ซึ่งสามารถดูเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “เชื้อดื้อยา : มานุษยวิทยาของยาต้านจุลชีพ” บรรณาธิการโดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ ลือชัย ศรีเงินยวง (2564)

2  โครงการวิจัยระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง London School of Hygiene and Tropical Medicine (LSHTM) ประเทศอังกฤษ Infectious Diseases Research Collaboration (IDRC) ประเทศยูกันดา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข


ผู้เขียน

ชัชชล อัจนากิตติ

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วิธีวิทยาแบบติดตาม Following Method ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share