มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง / อรัญญา ศิริผล

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 8652

มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง / อรัญญา ศิริผล

หนังสือมานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง เขียนโดย อรัญญา ศิริผล

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           หนังสือเรื่อง “มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง” เล่มนี้ ได้เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์การทำงาน การสอน และการทำวิจัยของ รศ.ดร.อรัญญา ศิริผล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนอแนวคิด รวมถึงข้อถกเถียงที่สำคัญต่อการนำไปต่อยอดองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในประเด็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

           มนุษย์เราดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรกเริ่ม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงเป็นหนึ่งในชุดความรู้ทางสังคมศาสตร์มายาวนาน ภายในศาสตร์ทางมานุษยวิทยามีชุดความรู้หนึ่งที่เรียกว่า “มานุษยวิทยานิเวศ” (Ecological Anthropology) ศึกษาเกี่ยวกับภาพรวมของวิถีชีวิตมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ จนก่อร่างสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมา

           รศ.ดร.อรัญญา ศิริผล ได้เขียนหนังสือเรื่อง “มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง” เล่มนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอพัฒนาการเชิงแนวคิด ข้อถกเถียงสำคัญ และการต่อยอดความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่มีต่อประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยสะท้อนความหมายของคำว่า “มานุษยวิทยานิเวศ” ออกมา 2 นัยความหมาย ประการแรก หมายถึง ชื่อเฉพาะของกลุ่มนักมานุษยวิทยารุ่นแรก ที่เริ่มต้นศึกษาความแตกต่างของสังคมวัฒนธรรมมนุษย์กับการปรับตัวภายใต้เงื่อนไขการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ และต่อมานักมานุษยวิทยาสายนี้ได้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า มานุษยวิทยานิเวศ ขึ้นมา ประการที่สอง อาจารย์อรัญญาต้องการขยายความหมายของมานุษยวิทยานิเวศให้กว้างขึ้น เพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของสังคมวัฒนธรรมมนุษย์กับธรรมชาติในบริบทใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งได้หยิบเอาหลากหลายแนวคิดที่ถูกพัฒนาทั้งโดยนักมานุษยวิทยาและนักวิชาการสังคมศาสตร์มานำเสนอตามลำดับ และในตอนท้ายของแต่ละบทจะมีประเด็นคำถามและข้อถกเถียงชวนคิด ให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์หรือช่วยกันอภิปรายถึงประเด็นนั้นๆ เพื่อต่อยอดความคิดและหาทางทางออกร่วมกันโดยภายในเล่มประกอบด้วย

           บทนำ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นการกล่าวเปิดให้เห็นจุดเริ่มต้นของชุดความรู้และข้อถกเถียงของนักมานุษยวิทยา โดยแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมมนุษย์เกิดขึ้นมายาวนานนับตั้งแต่อดีต นักปราชญ์ในโลกตะวันตกอย่าง เพลโต และอริสโตเติล ก็เคยเขียนถึงความสัมพันธ์เหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่ยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 350 ซึ่งเพลโตเชื่อว่า

“พฤติกรรมมนุษย์เชื่อมโยงกับความรู้เป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิด แม้ว่าธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้สอนอะไรใหม่ให้แก่มนุษย์ แต่จุดประสงค์ของธรรมชาติก็เตือนมนุษย์อยู่เสมอถึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วในโลก...”

           ขณะที่อริสโตเติลมองธรรมชาติแบบ “สารัตถะ” (Essence) ที่ดำรงอยู่ในตัวของมันเองหรือเป็นบ่อเกิดการเคลื่อนไหวของวัตถุโดยธรรมชาติ เช่น สสารที่มีการเปลี่ยนแปลง การเติบโตเป็นภาวะมีอยู่โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าภาวะแฝงหรือภาวะจริงแท้ ซึ่งโดยหลักการแล้ว อริสโตเติลสนับสนุนความคิดที่ว่า

“มนุษย์เกิดมาบนโลกด้วยลักษณะ “กระดานชนวนอันว่างเปล่า” (Blank state) ที่พฤติกรรมความคิดของมนุษย์รอการถูกเติมเต็มด้วยประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น มนุษย์จึงไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรู้ในตัวเอง แต่ต้องแสวงหาความรู้ผ่านประสบการณ์...”

           ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและความรู้ที่ก่อให้เกิดสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามความคิดของอริสโตเติลก็ยังเชื่อว่า “ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อพฤติกรรมของนุษย์” แนวคิดของอริสโตเติลจึงเป็นที่มาให้แก่แนวคิดประจักษ์นิยม (Empiricism) จุดเริ่มต้นของวิธีวิทยาแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์เพื่อคาดคะเนธรรมชาติที่เริ่มในหน้าประวัติศาสตร์วิชาการของสังคมตะวันตก

           แต่จุดเปลี่ยนแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างสังคมวัฒนธรรมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มสงสัยความเชื่อดั้งเดิมของยุคกรีกโบราณและอารยธรรมคริสต์ศาสนาโบราณที่ว่า “โลกคือศูนย์กลางของจักรวาลและพระเจ้าคือผู้สร้างโลกและสิ่งมีชีวิตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ในตัวเองนับตั้งแต่วันสร้างโลก” นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ด้วยการพิสูจน์ข้อสงสัยข้างต้น และได้ค้นพบความรู้ทางดาราศาสตร์ เกี่ยวกับทฤษฎีระบบสุริยจักรวาลว่า “ดวงอาทิตย์ คือ ศูนย์กลางของระบบสุริยะ ขณะที่โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์” จากนั้นในช่วงต้นคริสต์วรรษที่ 17 สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เริ่มเข้มข้นมากขึ้น มนุษย์ได้เปลี่ยนแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์และธรรมชาติอย่างชัดเจน คือ มนุษย์มองตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีเหตุผลและสติปัญญาความคิด จึงใช้ภูมิปัญญาและความรู้ความสามารถของตนในการนำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และเชื่อว่าสามารถเอาชนะอุปสรรคจากธรรมชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และความก้าวหน้าในชีวิตมนุษย์ได้ จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 คำว่า “ธรรมชาติ” เริ่มถูกแทนที่ด้วยคำว่า “นิเวศวิทยา” (Ecology) ดังนั้น เมื่อใช้คำว่า “นิเวศวิทยา” จึงมักหมายถึง

“การศึกษาทางชีววิทยา ที่มองว่ามนุษย์เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบทางชีวภาพของระบบนิเวศหรือเป็นส่วนหนึ่งของการไหลของพลังงาน สสาร ผ่านไปยังระบบชีวภาพที่ใหญ่กว่า หรือไม่ก็สนใจเรื่องความหลากหลายในเชิงอินทรียภาพ พันธุกรรมของมนุษย์ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น”

           และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นักสังคมศาสตร์ได้นำแนวคิดทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการอธิบายสังคมวัฒนธรรมมนุษย์ในความสัมพันธ์กับระบบนิเวศธรรมชาติ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางแรก สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ (Environmental determinism) แนวคิดนี้มองว่า “มนุษย์เป็นผลผลิตของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งแวดล้อมทางกายภาพเป็นตัวกำหนดทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของสังคมวัฒนธรรมหรือโครงสร้างสังคมของมนุษย์ ต่างเป็นผลมาจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่ทำให้แต่ละสังคมวัฒนธรรมมีแบบแผนการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน” แนวทางที่สอง ทฤษฎีความเป็นไปได้ (Possibilism) มองว่า “สภาพแวดล้อมอาจมีความเป็นไปได้ ในการสร้างข้อจำกัดพฤติกรรมหรือชีวภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ด้านเดียว”

           ถึงแม้ว่าทั้งสองแนวทางจะมีข้อถกเถียงต่อกัน แต่ก็เสนอไปในทางเดียวกัน คือ สภาพแวดล้อมธรรมชาติและภูมิอากาศที่ต่างมีส่วนในการจำกัดระดับพัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมมนุษย์ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมานักวิชาการในช่วงหลังพบว่าทั้งสภาพแวดล้อมและสภาพวัฒนธรรมต่างเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสองแนวคิดนี้เริ่มได้รับความสำคัญน้อยลง ซึ่งในบทถัดไป “นิเวศวิทยาวัฒนธรรม: พัฒนาแนวคิดทฤษฎีร่วมสมัย” จึงได้กล่าวถึงแนวคิดกลุ่ม “นิเวศวิทยาวัฒนธรรม” (Cultural ecology) ที่พยายามปรับปรุงแนวคิดในการอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างสังคมวัฒนธรรมมนุษย์กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากแนวคิดทั้งสองประการข้างต้นได้ถูกลดความสำคัญลง ซึ่งแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมนี้ มีที่มาจากทฤษฎีของ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ได้ใช้การวิจัยภาคสนามเพื่อพิสูจน์แนวคิดว่า “สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมคนในสังคมจริงหรือไม่” โดยโบแอสพยายามอธิบายถึงเหตุและผลของวัฒนธรรมและการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมว่าไม่ได้มาจากเงื่อนไขเดียว แต่วัฒนธรรมที่แตกต่างอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน หรืออาจมาจากเงื่อนไขอื่น กลุ่มแนวคิด “นิเวศวิทยาวัฒนธรรม” จึงได้ต่อยอดทฤษฎีของฟรานซ์ โบแอส โดยนำวิธีวิทยาลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์และสัมพันธนิยมทางวัฒนธรรมมาใช้ ซึ่งกลุ่มนี้ช่วงหลังถูกเรียกว่า “มานุษยวิทยานิเวศ” (Ecological anthropology) หรือ มานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental anthropology) โดยมานุษยวิทยานิเวศได้แบ่งพัฒนาการทางความคิดออกเป็น 3 ช่วง คือ

           ช่วงแรก: นิเวศวิทยาวัฒนธรรม  มีนักวิชาการที่สำคัญ คือ จูเลียน สจ็วต และ เลสลี ไวท์ โดยสรุปแล้วผลงานของทั้งสองท่านมีทั้งจุดร่วมและจุดต่างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจุดร่วม คือ “ใช้วัฒนธรรมเป็นหน่วยในการวิเคราะห์และสนใจวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การจัดลำดับขั้นวัฒนธรรม แต่มีจุดที่แตกต่าง คือโมเดลของไวท์นำเสนอวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมแบบสายเดียว ให้ความสำคัญกับการอภิปรายรายละเอียดกว้างๆ ของวิวัฒนาการมากกว่าการปรับตัวที่มีลักษณะเฉพาะแบบที่สจ็วตสนใจ โดยสจ็วตให้ความสำคัญกับเงื่อนไขสาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่มีหลากหลายปัจจัย และมนุษย์มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม

           ช่วงที่สอง: สายวิวัฒนาการใหม่กับหน้าที่นิยมใหม่  ซึ่งมีนักวิชาการที่สำคัญ คือ มาร์วิน แฮรริส, แอนดรูว์ เวย์ด้า และรอย แรพพาพอร์ต โดยพัฒนาต่อยอดแนวคิดมาจากทั้ง จูเลียน สจ็วต และ เลสลี ไวท์ ข้อเด่นของสายนี้คือ เน้นหน่วยวิเคราะห์ที่ประชากรท้องถิ่นมากกว่าระเบียบสังคม ขณะที่ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมถูกมองเป็น “เครื่องมือทางวัฒนธรรม” ที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างประชากรกับสภาพแวดล้อม
           ช่วงที่สาม: มานุษยวิทยานิเวศเชิงกระบวนการ  กลุ่มนี้เพิ่ม “เวลา” และ “กระบวนการ” เข้าไปในการวิเคราะห์ มีจุดเด่นคือ หน่วยการวิเคราะห์เน้น ผู้กระทำการ กับ กระบวนการตัดสินใจ เสนอวิธีการปรับตัวไปพร้อมกับกระบวนการตัดสินใจ สามารถอธิบายความขัดแย้งและพลวัตการเคลื่อนไหวในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี นิเวศวิทยาวัฒนธรรมหรือมานุษยวิทยานิเวศ ก็ยังคงถูกวิพากษ์ว่า เน้นการวิเคราะห์ไปที่ ความสมดุลหยุดนิ่งเกินไป ไม่ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำหรับมานุษยวิทยานิเวศหรือมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมนั้น มีรากอยู่บนการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนั้น นักมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมจึงต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และใช้ความเข้าใจนี้ทำงานกับคนท้องถิ่นเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และบทถัดไปที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง คือ “นิเวศวิทยาชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากนิเวศวิทยาวัฒนธรรม โดยเริ่มต้นมาจากนักวิชาการชาวตะวันตกที่ได้เดินทางมาต่างทวีป และเกิดความสงสัยว่าทำไมคนพื้นถิ่นที่ไม่รู้หนังสือ ถึงได้มีความรู้มากมายเกี่ยวกับพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ทำให้นักวิชาการสนใจศึกษาองค์ความรู้พื้นบ้านของกลุ่มชนต่างๆ และพัฒนามาจนเกิดความรู้สาขาวิทยาศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnosciences) ขึ้นมา และมีสาขาย่อย เช่น พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สัตวศาสตร์พื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งผลงานของนักวิชาการสายนี้ช่วยยืนยันว่า องค์ความรู้ท้องถิ่นของกลุ่มชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลัง ไม่สำคัญต่อความก้าวหน้าในสังคมสมัยใหม่นั้น แท้จริงแล้ว องค์ความรู้พื้นบ้านเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อมนุษย์มาก และในบทนี้อาจารย์อรัญญายังได้ยกตัวอย่างการใช้แนวคิดนิเวศวิทยาชาติพันธุ์ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ผู้อ่านได้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ภายใต้การศึกษาแนวคิดนิเวศวิทยาชาติพันธุ์นี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า “กลไกอะไรที่คนพื้นเมืองใช้เป็นพื้นฐานในการจำแนกแยกแยะธรรมชาติ” ซึ่งข้อถกเถียงได้แบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ 1) แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มี “กลไกเชิงความคิด” และ 2) แนวคิดที่เชื่อใน “กลไกเชิงหน้าที่” แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองแนวคิดนี้ ก็ยังถูกวิพากษ์ว่า “ติดกับดักคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม และมีหน่วยวิเคราะห์เชิงโครงสร้างมากเกินไป จึงมีข้อเสนอให้เปลี่ยนหน่วยวิเคราะห์มาเน้นที่ประสบการณ์กับธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมชีวิตประจำวัน"

           ในบทถัดไปผู้เขียนได้กล่าวถึง “แนวคิดเทคโนโลยีนิยมกับแนวคิดนิเวศนิยม” ที่เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คือ กลุ่ม “แนวคิดเทคโนโลยีนิยม” จะยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยเชื่อว่ามนุษย์สามารถใช้ความรู้ในการควบคุมธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์ได้ แต่กลุ่ม “แนวคิดนิเวศนิยม” จะยึดระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง มองมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติและควรดำรงชีวิตให้สอดคล้องสมดุลกับธรรมชาติ โดยภายใต้แนวคิดสองกลุ่มหลักนี้ ก็ได้มีแนวคิดกลุ่มย่อยๆ แตกออกไปอีก และในแต่ละกลุ่มย่อยก็ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจในแบบของตนเอง ซึ่งทั้งกลุ่ม “แนวคิดเทคโนโลยีนิยม” และกลุ่ม “แนวคิดนิเวศนิยม” ได้มีข้อโต้แย้งถกเถียงกันตั้งแต่ระดับความเชื่อและมุมมองต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จนนำไปสู่การนำเสนอทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

           และในสองบทสุดท้าย “แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง” กับ “แนวคิดหลังโครงสร้างนิยมกับการสร้างตัวตนรู้คิดทางสิ่งแวดล้อม” ผู้เขียนได้เขียนให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยในบท “แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง” มีสมมติฐานเริ่มต้นมาจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เช่น หน้าดินพังทลาย น้ำท่วม หรือภัยแล้งไม่ได้เกิดจากปัญหาการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ แต่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ไม่เป็นธรรม จนก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและนำไปสู่การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมมติฐานนี้นำไปสู่การศึกษาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ลึกซึ้งขึ้น โดยขยายความสมมติฐานออกมาเป็น 3 ประเด็นหลักที่น่าสนใจ คือ

           ประเด็นแรก ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติกับการสร้างความเป็นชายขอบ คือการที่อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงร่วมกับระบบตลาดทั้งระดับโลกและภูมิภาคเข้ามาสร้างแรงกดดันต่อชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ชุมชนไม่สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้

           ประเด็นที่สอง การอนุรักษ์และการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ คือการที่กลุ่มผลประโยชน์ ชนชั้นนำและเจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างกระบวนการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ที่ดิน ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นเริ่มถูกแย่งยึดการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

           ประเด็นที่สาม การกีดกันและความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาการเมืองมองร่วมกันว่า กระบวนการปิดล้อมควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มผลประโยชน์ ชนชั้นนำ และเจ้าหน้าที่รัฐนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางสังคมมากขึ้น เพราะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในมือของคนบางกลุ่ม

           อย่างไรก็ตาม กลุ่มแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองได้ถูกวิพากษ์จากนักวิชาการทางสังคมศาสตร์สายอื่นว่า ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางการเมืองมากเกินไปในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม จนละเลยเงื่อนไขปัจจัยอื่นที่ควรได้รับการอธิบาย

           เมื่อประเด็นอำนาจทางการเมืองถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม อาจารย์อรัญญาจึงได้นำเสนอเนื้อหาต่อเนื่องในบทสุดท้าย “แนวคิดหลังโครงสร้างนิยมกับการสร้างตัวตนรู้คิดทางสิ่งแวดล้อม” ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดการปกครองชีวญาณ (Governmentality) ของ มิเชล ฟูโกต์ และต่อมาถูกพัฒนาไปสู่มุมมองแบบ “ตัวตนรู้คิด” เชื่อมโยงกับประเด็นอำนาจที่หลากหลายมากขึ้น เพื่ออธิบายตรรกะและบทบาทใหม่ของรัฐบาล แนวคิดนี้ถูกใช้วิเคราะห์ในงานศึกษาประเด็นประเด็นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติอย่างกว้างขวาง

           แนวคิดการปกครองชีวญาณนี้ หมายถึง รัฐไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจบังคับ ควบคุม หรือ ปราบปรามพลเมือง แต่พลเมืองได้ถูกกระตุ้นหรือกระตุ้นตัวเองในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อาจารย์อรัญญาได้ยกตัวอย่างงานเขียนของ จารุณี วงศ์ละคร จากบทความ เรื่อง อำนาจชีวะในทัศนะคติของมิเชล ฟูโกต์ มาอธิบายเพิ่มเติมตรงนี้ว่า เช่น

“เมื่อเรายอมรับว่า ถ้าเรารับประทานอาหารถูกสุขอนามัยและออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะทำให้สุขภาพดี การยอมรับเช่นนี้นำไปสู่การดูแลตนเองอย่างเข้มงวดเรื่องอาหาร การนอนหลับพักผ่อน และการออกกำลังกายโดยที่ไม่ต้องมีใครสั่งให้ทำ เมื่อเราเชื่อเช่นนั้นตามความรู้ที่ได้รับมา จึงส่งผลให้ทำตามความรู้นั้นเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเรา”1

           ภายในบทนี้ก็ได้กล่าวถึงผลงานและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจของนักวิชาการหลายท่านที่ได้นำทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมมาปรับใช้ในการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ “ความรู้” ในการบริหารจัดการพฤติกรรมพลเมืองและสร้างแนวปฏิบัติให้แก่ประชาชนเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

           นอกจากเนื้อหาหลักทั้ง 6 บทแล้ว อาจารย์อรัญญายังได้เขียน บทสรุปส่งท้าย เป็นการเล่าเรื่องสรุปเนื้อหาทั้งหมดพร้อมทั้งกล่าวถึงบทบาททางวิชาการของนักมานุษยวิทยาที่มีต่อสาธารณะ โดยกล่าวไว้ในตอนท้ายของบทสรุปว่า

“บทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะศาสตร์เชิงประยุกต์และการทำหน้าที่มานุษยวิทยาสาธารณะ (Public anthropology) ใช้ความรู้ขับเคลื่อนทางวิชาการไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม สร้างความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มและสามารถผนวกความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องผสานการมีส่วนร่วม ในการสร้างประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ภาพที่ 1 แสดงกระบวนการนำความรู้สาขาภูมิศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทำการเก็บข้อมูล ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมชุมชน และจัดทำแผนที่การใช้ที่ดิน นำเสนอข้อเท็จจริงของชุมชน สามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนได้ (จากหนังสือ มานุษยวิทยานิเวศ : พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง หน้า 128)

 

           ดังนั้น หนังสือ “มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง” เล่มนี้ ผู้เขียนจึงได้นำเสนอเนื้อหาทั้งหมดในรูปแบบที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้อ่านจะได้รับความรู้และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำไปพัฒนาแนวความคิดและต่อยอดความรู้ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จนนำไปสู่การหาทางออกในประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม แอนโธพอซีน และนิเวศวิทยามนุษย์ พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  จารุณี วงศ์ละคร.2561.อำนาจชีวะในทัศนะของ มิเชล ฟูโกต์.วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา 14, 1: 135-162.


รีวิวโดย

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยานิเวศ Ecological Posthuman Anthropology ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share