จูดิธ บัตเลอร์ กับแนวคิดสภาวะอันตราย (Precarity and Precarious Life)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 3654

จูดิธ บัตเลอร์ กับแนวคิดสภาวะอันตราย (Precarity and Precarious Life)

ความเป็นมาของแนวคิด Precarity

           แนวคิดสภาวะอันตราย (Precarity หรือ Precariousness) เกิดขึ้นในวงวิชาการตะวันตกช่วงทศวรรษ 1980 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบโต้กับปัญหาการแบ่งแยกกีดกันและสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยคนจนที่ขาดรายได้และไร้ที่พึ่ง (Han, 2018; Kasmir, 2018) ความหมายของคำว่า precarity หมายถึงสภาพที่ประชากรของโลกกำลังตกงาน ส่งผลให้ชีวิตขาดความมั่นคง ล่อแหลมต่อความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจและสังคม ชีวิตที่ไร้ที่พึ่งในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มีการแข่งขันสูง เน้นความสำเร็จส่วนตัวและความมั่งคั่งทางวัตถุ บุคคลที่ปราศจากอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจึงเป็นผู้ที่อยู่ในอันตราย เพราะจะไม่มีใครเหลียวแล ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ คนไร้ที่อยู่อาศัย คนตกงาน แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีความรู้ กลุ่มคนด้อยโอกาส และคนที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว สังคมแบบตัวใครตัวมันคือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ถอยห่างจากกัน ให้ความสำคัญกับความสุขและความพึงพอใจในโลกส่วนตัว บางครั้งนักวิชาการเรียกสิ่งนี้ว่า “กระบวนการทำให้อยู่ในอันตราย” (precaritization) ที่บ่งชี้ว่าการไม่ช่วยเหลือกันทำให้มนุษย์พบกับความอ้างว้างและรอวันที่ชีวิตจะพังทะลายลง

 

คนไร้บ้านที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ภาพโดย ศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์

 

           ชีวิตที่อยู่ในอันตรายยังบ่งบอกถึงสภาวะการดำรงอยู่ของความเปราะบาง ความอ่อนแอ ความไม่มั่นคง การกำจัดทิ้ง การแบ่งแยก และการขับไล่ไสส่ง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ระบอบทุนนิยมโลกได้พัฒนาและปรับตัวไปอย่างรวดเร็วโดยวิธีกระตุ้นและเร่งให้มนุษย์แข่งขันเพื่อแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุในเวลาอันสั้นและในจำนวนที่มากขึ้น ในขณะที่รัฐลดบทบาทในการสร้างระบบหลักประกันทางสังคม (Lorey, 2015) ปล่อยให้หลักประกันเป็นเรื่องของกลไกทางการตลาดที่ปัจเจกแต่ละคนจะต้องกระเสือกกระสนไขว่คว้าหาหลักประกันด้วยทุนของตัวเอง ผู้ที่ขาดเงินและไม่มีรายได้จึงตกอยู่ในความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของโชคชะตาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา เอเชีย ลาตินอเมริกา และหมู่เกาะในภาคพื้นมหาสมุทร Bourdieu (1998) เคยอธิบายว่าโลกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สภาวะสังคมของมนุษย์คือสภาวะที่เต็มไปด้วยอันตราย

           ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ชาวมิลาน ประเทศอิตาลี รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการมีชีวิตที่เสี่ยงอันตรายและไร้ที่พึ่ง โดยเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือคนตกงาน คนที่ไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ขาดสวัสดิการทางสังคม ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 การเคลื่อนไหวแผ่กว้างไปหลายเมืองในยุโรปและประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้คนตกงานมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง (Neilson & Rossiter 2008) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน ธนาคาร และสินเชื่อ รวมถึงนโยบายรัฐที่ลดงบประมาณด้านการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม

 

จูดิธ บัตเลอร์ กับแนวคิด Precarity

จูดิธ บัตเลอร์ ภาพจาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1570348

 

           จูดิธ บัตเลอร์ คือนักวิชาการที่บุกเบิกและเสนอแนวคิด Precarity ในหนังสือ Precarious Life: The Powers of Mourning and Violence (2004) โดยชี้ให้เห็นว่า “สภาวะอันตราย” (Precarity) แตกต่างจาก “ความอันตราย” (precariousness) กล่าวคือความอันตรายเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนสามารถพบเจอได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น อุบัติเหตุ ไฟไหม้ ภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น ส่วน “สภาวะอันตราย” หมายถึงประสบการณ์ของคนที่ขาดโอกาส และถูกกีดกันจากสังคม เช่น กลุ่มผู้อพยพ แรงงานต่างชาติ คนจนในสลัม กลุ่มคนพิการ เป็นต้น ในความคิดของบัตเลอร์ สังคมทุนนิยมคือเงื่อนไขที่นำไปสู่สภาวะอันตรายเพราะมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์และคนบางกลุ่มเสียประโยชน์ (Butler, 2004; 2010) นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2001 การเมืองของการปิดกั้นโอกาสของมนุษย์เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ความตึงเครียดของโลกถูกปลุกเร้าโดยการแบ่งแยกขั้วระหว่างประเทศเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับประเทศมุสลิมที่ถูกตีตราเป็นผู้ก่อการร้ายที่อำมหิต นับแต่นั้นเป็นต้นมาโลกถูกทำให้หวาดกลัวชาวมุสลิม นำไปสู่การรังเกียจและตัดขาดจากชาวมุสลิมอย่างสิ้นเชิง

 

หนังสือ Precarious Life: The Powers of Mourning and Violence (2004) 

มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           สภาวะทางสังคมที่ปรากฏขึ้นจากการแยกขั้วระหว่างเสรีนิยมและการก่อการร้าย คือการตัดสินว่าชีวิตของใครควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และชีวิตของใครที่ควรกำจัดทิ้ง สิ่งนี้สะท้อนว่าคนกลุ่มไหนที่ถูกจัดให้เป็น “มนุษย์” (ผู้ที่ควรมีชีวิต) คนกลุ่มไหนไม่ถูกมองเป็นมนุษย์ (ไม่ควรมีชีวิต) การแบ่งแยกนี้ทำให้คนบางประเภทถูกกีดกัน ถูกปฏิเสธ ไม่สามารถส่งเสียงให้คนอื่นรับรู้และได้ยิน สิ่งที่แย่ที่สุดคือ พวกเขาจะไม่ได้รับความเมตตาปราณี ความทุกข์ยากและความขัดสนของพวกเขาจะเป็นสิ่งไร้ค่าไม่มีความหมาย ราวกับชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งสกปรก เป็นสิ่งที่ไม่คู่ควรกับการหลั่งน้ำตาและการปลอมประโลม Butler กล่าวว่าเหตุการณ์ก่อก่อร้ายในปี 2001 นำไปสู่การฟื้นคืนชีพของลัทธิเหยียดเชื้อชาติ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านและรังเกียจชาวมุสลิมทั่วโลกมิใช่การเป็นศัตรูกับสหรัฐอเมริกา แต่เป็นระบอบใหม่ของการรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์มีความเกี่ยวโยงถึงกันภายใต้การสูญเสียและความไม่มั่นคง มนุษย์มิควรมีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน โลกมิควรถูกกำกับด้วยมายาคติเรื่องสงครามกับผู้ก่อการร้าย แต่ควรมองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่ช่วยประคับประคองชีวิตของกันและกัน

           เท่าที่ผ่านมา ความโศกเศร้าและความสิ้นหวังของชาวมุสลิมจะถูกมองข้ามจากสังคมโลก ราวกับว่าชีวิตของชาวมุสลิมเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำรงอยู่ในโลก ในทางตรงกันข้ามสังคมตะวันตกกลับรู้สึกสะใจที่ได้เห็นชาวมุสลิมถูกสังหารเพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้น “สมควรตาย” สภาวะดังกล่าวนี้คือกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ที่มีต่อชาวมุสลิม และเพิ่มความชอบธรรมให้กับการเข่นฆ่าชาวมุสลิม สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำผ่านสื่อของชาวตะวันตก เป็นการผลิตซ้ำลัทธิเหยียดเชื้อชาติที่โลกเห็นดีเห็นงามด้วย Butler ชี้ว่าสังคมตะวันตกตัดสินให้ชาวมุสลิมเป็น “สิ่งอันตราย” จนกลายเป็นบรรทัดฐานของโลกที่คนบางประเภทจะถูกกำจัดทิ้งไป บรรทัดฐานนี้ได้ทำลายชุมชนของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (interdependency) (Puar, 2012) นอกจากนั้น Butler (2016) ยังอธิบายว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีสภาวะอันตรายที่เชื่อมโยงถึงกัน (interrelation of precariousness and precarity) ภายใต้สภาพร่างกายที่พร้อมจะผุพังและภายใต้ระบอบสังคมและการเมืองที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมมากมาย สภาพเช่นนี้หล่อหลอมให้มนุษย์ตัดสินคุณค่าชีวิตของคนอื่นและของตนเองไม่เท่ากัน เช่น ชีวิตของผู้อพยพ แรงงานต่างชาติ ผู้ลี้ภัยสงคราม คนจนที่ไม่มีรายได้ เป็นต้น

 

บริบทของทุนนิยมกับ Precarity

           สภาวะอันตรายมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามลำพัง แต่สัมพันธ์กับบริบทและเงื่อนไขที่บุคคลเผชิญอยู่ นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า “สภาวะอันตราย” ที่พบในปัจจุบันอาจจะแตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ในระบบทุนนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อาจเป็นบ่อเกิดของโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้มนุษย์ปฏิบัติต่อกันแบบตัวใครตัวมัน รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่บุคคลไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แต่สามารถเลือกงานตามที่ตนเองชอบและมีความถนัด (Hardt & Negri, 2000) งานจึงมีลักษณะเปิดกว้าง เปลี่ยนงานได้ตลอดเวลา มิได้มีข้อผูกมัดที่ยาวนาน สภาพของชีวิตของการทำงานจึงไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มแบบสหภาพแรงงาน เพราะแต่ละคนมีรูปแบบการทำงานไม่เหมือนกัน มีนายจ้างต่างกัน ได้รับค่าตอบแทนต่างกัน ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานและรายได้เกิดขึ้นนอกองค์กรและสถาบันสังคม ทำให้ผู้ประกอบอาชีพไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและจงรักภักดีต่อองค์กรเหมือนในอดีต

           สิ่งที่ตามมาก็คือ รัฐไม่จำเป็นต้องโอบอุ้มแรงงานอีกต่อไป นำไปสู่การตัดงบประมาณสวัสดิการและปล่อยให้ผู้ประกอบอาชีพเลือกทำหลักประกันตามกำลังทุนของตัวเอง ใครที่มีรายได้มากก็สามารถซื้อหลักประกันที่มีราคาแพง สิ่งนี้คือการแลกเปลี่ยนระหว่างชีวิตที่เป็นอิสระกับการคุ้มครองจากรัฐสวัสดิการ ยิ่งบุคคลเลือกที่จะทำงานแบบเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงองค์กร บุคคลก็ยิ่งพบกับการกำหนดชะตาชีวิตด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้คือการก่อตัวของสภาวะล่อแหลม ความไม่มั่นคง และความเสี่ยง อันหมายถึงการที่บุคคลจะต้องดิ้นรนหางานไปเรื่อยๆ เมื่อวันที่ปราศจากงานก็เท่ากับปราศจากหลักประกันในชีวิตHardt & Negri (2000) อธิบายว่าการทำงานในแบบที่ตนเองเลือกโดยไม่สังกัดกับองค์กรใดๆ อาจสะท้อนสภาวะของการเลือกทางเดินให้กับตัวเอง (self-determination) ในยุคที่มนุษย์พยายามแสวงหาความสุขและความสบายใจส่วนบุคคล หรือเรียกว่าใช้ชีวิตตามที่ตัวเองเลือก (autonomous life) สิ่งนี้สะท้อนการเมืองของชีวิตที่ปัจเจกบุคคลใฝ่หาอิสระและเสรีภาพ เพื่อที่ทำให้ตนเองแตกต่างไปจากคนอื่น สภาพชีวิตนี้ได้เปลี่ยนการเป็นแรงงานในระบบให้เป็น “ปัจเจก” ที่แสวงหาสิทธิในการดำรงชีพ (Chaterjee, 2004)

           การศึกษาของ Standing (2011) ชี้ให้เห็นว่าสภาวะความไม่มั่นคงในสังคมโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นและยึดโยงอยู่กับรูปแบบการทำงานและการยังชีพของผู้คนที่ไม่มีแบบแผนชัดเจน คนวัยทำงานส่วนใหญ่มิได้นิยามตนเองเป็นแรงงานในระบบ หากแต่เป็นผู้ที่ทำงานจากสัญญาจ้างและข้อตกลง คนเหล่านี้จะมีชีวิตที่ทำงานไปพร้อมกับการพักผ่อน ไม่มีการแบ่งแยกเวลางานออกจากเวลาว่าง ในอนาคต ทิศทางการทำงานในลักษณะนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทำงานนนอกระบบเหล่านี้มีสวัสดิการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สภาวะดังกล่าวอาจจะพบได้ทั่วไปในสังคมตะวันตกและญี่ปุ่น ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมในเอเชียและลาตินอเมริกา คนงานส่วนใหญ่ยังทำงานในระบบซึ่งได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน (Breman, 2011) ในแง่นี้ ภาพสะท้อนของชีวิตคนในโลกตะวันตกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีอิสระที่จะเลือกงานตามความรู้ความสามารถ กับชีวิตแรงงานในประเทศยากจนที่มีการศึกษาน้อยคือความแตกต่างของอิสรภาพ (Parry, 2013)

           มีข้อสังเกตว่าในช่วงที่สังคมตะวันตก โดยเฉพาะสังคมอเมริกันกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นมหาอำนาจ แรงงานที่ได้รับการคุ้มครองมักจะเป็นผู้ชายผิวขาว ในขณะที่ผู้หญิงและคนผิวดำได้รับค่าจ้างน้อยกว่า ประเด็นนี้สะท้อนว่าแม้แต่ในยุคที่แรงงานยังคงยึดมั่นกับองค์กร ยังพบคนบางกลุ่มที่ถูกกีดกันและมีชีวิตที่ยากลำบาก (Mullings, 1986) รวมทั้งในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็เผชิญกับการลดเงินเดือน การเปลี่ยนตำแหน่ง หรือถูกย้ายไปทำงานในแผนกอื่น (Kasmir, 2014) ชีวิตที่ไม่มั่นคงจึงเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในยุคเสรีนิยมใหม่เสมอไป ในการศึกษาของ Frank (1966, 1967) และ Rodney (1972) พบว่าในประเทศที่เป็นอาณานิคมของตะวันตก ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นถูกชี้นำและบ่งการโดยนายทุนชาวตะวันตก ทรัพยากรและผลประโยชน์จากระบบอุตสาหกรรมที่นายทุนตะวันตกเป็นเจ้าของ มิได้ส่งกลับคืนไปยังแรงงานที่ยากจนในประเทศอาณานิคมเหล่านั้น สิ่งที่ตามมาคือ ประเทศอาณานิคมจะเต็มไปด้วยแรงงานที่มีสภาพชีวิตที่แร้นแค้น (Breman, 2011; Davis, 2006)

           การศึกษาของ Gill (2016) พบว่าชนชั้นแรงงานในประเทศโคลัมเบียมีการรวมตัวกันของคนงานหลายประเภท ทั้งคนงานในบ่อขุดเจาะน้ำมัน ชาวนา และผู้ผลิตสินค้ารายย่อย ทำให้เกิดเครือข่ายของแรงงานจำนวนมาก แต่หลังจากที่รัฐบาลทหารเข้ามาปกครองประเทศทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจและลดสวัสดิการของแรงงาน กรรมกรในโคลัมเบียจึงมีชีวิตอยู่อย่างขัดสนและไม่มีความมั่นคง พวกเขาไม่สามารถออกมารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐเผด็จการช่วยเหลือได้ ทางออกคือแรงงานหันมาช่วยเหลือกันเอง การศึกษาครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตของแรงงานภายใต้อำนาจเผด็จการของรัฐทำให้ชีวิตของแรงงานอยู่ในสภาวะอันตราย ซึ่งหมายถึงแรงงานที่ขัดสนไม่สามารถรวมตัวเพื่อลุกขึ้นสู้กับระบอบอำนาจที่สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น สภาวะอันตรายนอกจากจะทำให้ชีวิตแรงงานไร้ที่พึ่งแล้ว ยังปิดกั้นการรวมตัวของชนชั้นแรงงาน (Kasmir 2014) ในการศึกษาของ Lazar (2017) พบว่าในประเทศอาร์เจนติน่า แรงงานในระบบและนอกระบบร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ปัจจุบันในหลายประเทศ นักการเมืองและพรรคการเมืองพยายามเข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนกลุ่มแรงงานนอกระบบและคนที่ด้อยโอกาส เพื่อที่จะให้คนเหล่านั้นเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานทางการเมืองและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพวกตน (Kalb 2014; Whitehead, 2014)

 

Precarity กับการศึกษาทางมานุษยวิทยา

           นักมานุษยวิทยาสนใจมิติอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย และความไม่มั่นคงในชีวิต ในการศึกษาของ Allison (2013) อธิบายว่าบุคคลที่เผชิญกับความไม่แน่นอน จะใช้ชีวิตไปในแบบไม่คาดหวัง แต่ทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปจากชนชั้นกลางและผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ เขาเหล่านั้นจะมุ่งหวังว่าชีวิตจะต้องดำเนินไปด้วยความสำเร็จ มีความสุข ความมั่นคง และก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจชีวิตที่ดิ้นรนในแต่ละวันของมนุษย์นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า “ชีวิตประจำวัน” ในโลกทัศน์ของคนแต่ละคนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไร้ที่พึ่งและปราศจากความมั่นคง คนเหล่านี้มอง “ชีวิต” ในแต่ละวันต่างไปจากกลุ่มผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (sider, 2008) กล่าวคือในประสบการณ์ของผู้ที่ขัดสน ไม่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นครอบครัว การงาน กิจกรรมสังคม มิได้มีพรมแดนที่ชัดเจน แต่ล่องลอยและเลื่อนผ่านไปอย่างไร้ทิศทาง

           การศึกษาของ Hayder Al-Mohammad (2012) พบว่าชาวอิรัคที่บอบช้ำจากสภาวะสงครามที่ซ้ำซากยาวนาน พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไร้จดหมาย เพราะสิ่งที่พวกเขาเผชิญคือความอดยาก การลักพาตัว การทำร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ ญาติพี่น้องที่ล้มตาย ชุมชนที่แตกสลาย ครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมกัน สิ่งเหล่านี้คือสภาวะอันตรายและความเจ็บปวด เช่นเดียวกับการศึกษาสังคมญี่ปุ่นของ Allison (2013) พบว่าในช่วงทศวรรษ 1990 คนญี่ปุ่นเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ คนหนุ่มสาวตกงานจำนวนมาก ประกอบกับสังคมที่แข่งขันแบบตัวใครตัวมัน ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง คนที่ตกงานต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังแบบไร้อนาคต พวกเขารู้สึกท้อแท้และห่อเหี่ยว พร้อมกับคิดว่าตนเองไร้ค่า ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับครอบครัวของตัวเองได้ สถานการณ์นี้บ่งบอกว่าการตกงานและไม่มีรายได้มิใช่เพียงปัญหาสังคม แต่ยังเป็นสภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดจากคนอื่น ซึ่งเป็นชีวิตที่ล่อแหลมและเสี่ยงต่อความล่มสลาย ในการศึกษาของ Mole (2010) พบว่าสังคมอิตาลี สภาวะอันตรายเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน เมื่อเจ้านายและเพื่อร่วมงานพยายามล่วงละเมิดทางแพศกับพนักงานผู้หญิง พวกเธอจึงตกอยู่ในสภาพหวาดระแวงและกระวนกระวายใจที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ชายที่พร้อมจะลวนลามและล่อลวงเธอตลอดเวลา

           นักมานุษยวิทยา Keith Hart (1973) ศึกษาอาชีพนอกระบบในประเทศกาน่า พบว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดำรงอยู่ได้ แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากในประเทศยากจนในทวีปแอฟริกาและลาตินอเมริกามิได้ได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐ มีเพียงแรงงานในระบบจำนวนไม่มากที่ได้รับการคุ้มครองเรื่องค่าจ้าง (Quijino, 1974) ในช่วงทศวรรษ 1970 นักมานุษยวิทยาแนวมาร์กซิสต์สนใจปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงานนอกระบบที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบทุนนิยม รวมทั้งการค้นพบว่าชีวิตของแรงงานนอกระบบดำเนินไปพร้อมกับการทำงานที่มิได้พึ่งพิงเงินตรา และมีวิธีการแสวงหาการยังชีพด้วยระบบการผลิตในท้องถิ่นที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยกัน วิถีชีวิตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ร่วมกันของระบบทุนนิยมและระบบจารีตประเพณี (Wolpe, 1980)

           การทำความเข้าใจชีวิตที่ไม่มีงานและไม่มีรายได้ที่มั่นคงจำเป็นต้องมองชีวิตของมนุษย์ที่มากไปกว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจDenning (2010) ตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ระบบทุนนิยม บุคคลที่ตกงานและไม่มีรายได้จะถูกตัดสินว่าเป็นคนที่ไร้ความมั่นคงและเสี่ยงอันตราย เนื่องจากระบบทุนนิยมให้ความสำคัญกับการครอบครองสินทรัพย์ คนที่ไม่มีเงินจึงเท่ากับคนที่ไม่มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ในทางปฏิบัติ การใช้ชีวิตของบุคคลอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเงินตรา แต่อาจปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารในครัวเรือน หรือยังชีพด้วยการพึ่งพาอาศัยแลกเปลี่ยนสิ่งของจำเป็นในชีวิต ปัจจุบัน มนุษย์มีวิธีการทำงานที่แตกต่างหลากหลายทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ทั้งที่มีรายได้ประจำและรายได้ตามข้อตกลง ลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความหมายของการทำงานสัมพันธ์กับโครงสร้างเศรษฐกิจและระบอบอำนาจ สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือวิธีการปฏิบัติตนของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ที่จะทำให้มีชีวิตรอดได้ในสภาวะกดดันและขัดสน วิธีการเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจเครือข่ายการช่วยเหลือ การพึ่งพาอาศัย และการต่อสู้ที่มนุษย์มีต่อกัน (Das & Randeria, 2015; Procupez, 2015)

 

เอกสารอ้างอิง

Al‐Mohammad, H. (2017). A kidnapping in Basra: the struggles and precariousness of life in postinvasion Iraq. Cultural Anthropology, 27(4), 597-614.

Allison, A. (2013). Precarious Japan. Durham, N.C: Duke University Press.

Bourdieu, P. (1998). Acts of resistance: against the new myths of our time. Cambridge: Polity Press.

Breman, J. (2013). A bogus concept? New Left Review, 84, 130-8.

Butler, J. (2004). Precarious life: the powers of mourning and violence. London: Verso.

Butler, J. (2010). Frames of war: when is life grievable? London: Verso.

Butler J. (2016). Towards a Performative Theory of Assembly (Mary Flexner Lectures at Bryn Mawr College). Cambridge, MA: Harvard University Press.

Chaterjee, P. (2004). The politics of the governed: reflections of popular politics in most of the world. New York: Columbia University Press.

Das V, Randeria S. (2015). Politics of the urban poor: aesthetics, ethics, volatility, precarity. Current Anthropology, 56(11), 3–14.

Davis, M. (2006). Planet of slums. London: Verso.

Denning, M. (2010). Wageless life. New Left Review, 66, 79-97.

Frank, A.G. (1966). The development of underdevelopment. Monthly Review, 18(4), 17-31.

Gill, L. (2016). A century of violence in a red city: popular struggles, counterinsurgency, and human rights in Colombia. Durham, N.C.: Duke University Press.

Han, C. (2018). Precarity, Precariousness, and Vulnerability. Annual Review of Anthropology, 47, 331-343.

Hart, K. (1973). Informal income opportunities and urban employment in Ghana. Journal of Modern African Studies, 11(1), 68-89.

Hardt, M. & A. Negri. (2000). Empire. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Kalb, D. (2014). ‘Worthless Poles’ and other dispossessions: toward an anthropology of labor in postcommunist central and eastern Europe. In S. Kasmir & A. Carbonella, (Eds.), Blood and fire: toward a global anthropology of labor, (pp.250-89.). New York: Berghahn Press.

Kasmir, S. (2014). The Saturn plant and the long dispossession of U.S. autoworkers. In S. Kasmir & A. Carbonella, (Eds.), Blood and firetoward a global anthropology of labor, (pp.203-50.). New York: Berghahn Press.

Kasmir, S. (2018). Precarity. In F. Stein, S. Lazar, M. Candea, H.Diemberger, J. Robbins, A. Sanchez & R. Stasch, (Eds.), The Cambridge Encyclopedia of Anthropology. Retrieved from https://www.anthroencyclopedia.com/articles-a-to-z

Lazar, S. (2017). The social life of politics: ethics, kinship and union activism in Argentina. Stanford: Stanford University Press.

Lorey I. (2015). State of Insecurity: Government of the Precarious. London: Verso

Molé, N. J. (2010). Precarious subjects: anticipating neoliberalism in Northern Italy’s workplace. American Anthropologist, 112(1), 38-53.

Mullings, L. (1986). Uneven development: class, race and gender in the United States before 1900. In E. Leacock & H. Safa, (Eds.), Women’s work and the division of labor by gender, (pp.41-57). South Hadley, Mass: Bergin & Garvey.

Neilson, B. & N. Rossiter. (2008). Precarity as a political concept, or, Fordism as exception. Theory, Culture& Society, 25(7-8), 51-72.

Parry, J. (2013). Company and contract labour in a Central Indian steel plant. Economy and Society, 42(3), 348-74.

Procupez, V. (2015). The need for patience: the politics of housing emergency in Buenos Aires. Current Anthropology, 56(11), 55–65.

Puar J, ed. 2012. Precarity talk: a virtual roundtable with Lauren Berlant, Judith Butler, Bojana Cveji ́c, Isabell Lorey, Jasbir Puar, and Ana Vujanovi ́c. The Drama Review,56(4), 163–77.

Quijano, A. (1974). The marginal pole of the economy and the marginalized labor force. Economy and Society,3, 393-428.

Rodney, W. (1972). How Europe underdeveloped Africa. London: Bogle-L'Ouverture Publications.

Sider, G. (2008). Anthropology, history, and the problem of everyday life: issues from the field and for discussion. In B. Davis, T.Lindenberger, & M. Wildt, (Eds.), Alltag, erfahrung, eigensinn: historisch-anthropologische erkundungen, (pp.120–32). Frankfurt Campus.

Standing, G. (2011). The precariat: the new dangerous class. London: Bloomsbury Academic.

Whitehead, J. 2014. Flexible labor/flexible housing: the rescaling of Mumbai into a global financial center and the fate of its working class. In S. Kasmir &A. Carbonella, (Eds.), Blood and fire: toward a global anthropology of labor (pp.123-67). New York: Berghahn Books.

Wolpe, H. (Ed.). (1980). The articulation of modes of production: essays from economy and society. London: Routledge & Kegan Paul.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ จูดิธ บัตเลอร์ แนวคิดสภาวะอันตราย Precarity Precarious Life นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share