ชวนอ่าน “ผีเจ้านาย” ของ ฉลาดชาย รมิตานนท์

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 4412

ชวนอ่าน “ผีเจ้านาย” ของ ฉลาดชาย รมิตานนท์

หนังสือเรื่อง “ผีเจ้านาย” เขียนโดย ฉลาดชาย รมิตานนท์

 

           กระแสความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง “ร่างทรง” ที่นำเสนอความเชื่อเรื่องภูตผีของภาคอีสานที่ปะปนกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ และมาพร้อมกับการตั้งคำถามถึงการรับมือต่อความเชื่อและความศรัทธาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นอย่างไร ท่ามกลางโลกที่หมุนเปลี่ยนในปัจจุบัน1

           อย่างที่เนื้อหาของภาพยนตร์ได้นำเสนอไปแล้วว่า ความเชื่อเรื่องภูตผี ไสยศาสตร์ และร่างทรงนั้น ได้ปะปนอยู่กับความเชื่อของสังคมไทยในหลายภูมิภาค ทั้งยังมีการสืบทอดความเชื่อลักษณะนี้มายาวนานหลายสิบปี มีการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องร่างทรงในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมไว้อย่างน่าสนใจอยู่มากมาย และในบทความนี้ ได้เลือกผลงานของนักมานุษยวิทยาคนสำคัญผู้ล่วงลับ ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่ได้ศึกษาและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีการทรงเจ้าและบทบาทที่เกี่ยวข้องทางสังคมของความเชื่อด้านการเข้าทรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายในหนังสือเรื่อง “ผีเจ้านาย”

           หนังสือเรื่อง “ผีเจ้านาย” จัดพิมพ์ขึ้นจากรายงานการวิจัยเรื่อง “ประเพณีการทรงผีเจ้านายและบทบาททางสังคม: กรณีศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่” ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโครงการตำรามหาวิทยาลัย สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2527

           จุดเด่นจากการที่ “ผีเจ้านาย” ถูกเรียบเรียงขึ้นจากรายงานการวิจัยจึงทำให้หนังสือเล่มนี้ ค่อยๆ พาผู้อ่านเข้าสู่โลกของความเชื่อทางไสยศาสตร์และอำนาจเหนือธรรมชาติด้วยการปูพื้นความรู้ให้กับผู้อ่านในเรื่องการนับถือผีกับศาสนาของชาวบ้าน ที่นำความเชื่อในพุทธศาสนาไปผูกรวมกับความเชื่อเรื่องของเทพเจ้าและผี ในรูปแบบความเชื่อ พุทธ–พราหมณ์–ผี รวมถึงการให้ความหมายของ ผีเจ้านาย และการจำแนกลักษณะของผีต่างๆ ตามความเชื่อของชาวบ้าน สำหรับทัศนะของผีเจ้านายที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอนั้น ให้ความหมายไว้ว่า

           ผีเจ้านายนั้นคือเทพ และเทพนั้นมีอยู่เก้าชั้น ตามลำดับ และผีเจ้านายไม่ใช่ผีเจ้าผู้ครองนคร รวมถึงการเรียกว่าผีเจ้านายก็เพราะมีการพยากรณ์ ด้วยสาเหตุที่อาจจะมีการเพี้ยนมาจากคำว่า ผีเจ้าทำนาย และข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผีเจ้านายนั้นจะมีคนทรงที่เรียกกันว่า “ม้าขี่”

           “ผีเจ้านาย” ได้เลือกนำเสนอเรื่องราวของม้าขี่และผีเจ้านายทั้งหมด 3 กรณีด้วยกัน คือ เจ้าข้อมือเหล็ก เจ้าพี่แสนแสบ และปู่แสะย่าแสะ ผ่านการตั้งคำถามของผู้ศึกษาว่าประเพณีการนับถือผีและการเข้าทรงผีเจ้านายดำรงอยู่ได้อย่างไรภายในระบบความเชื่อทางศาสนาในรูปแบบ พุทธ–พราหมณ์–ผี ความสัมพันธ์และการจัดโครงสร้างของ “สาย” คนทรงหรือม้าขี่ และผีเจ้านายนั้นเป็นอย่างไร ประเพณีและพิธีกรรมของการทรงผีเจ้านายของม้าขี่สามคนนั้นแตกต่างกันหรือไม่ รวมถึงในขณะที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ได้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตด้านต่างๆ มากขึ้น ปัจจัยใดบ้างที่ยังคงทำให้ความเชื่อเรื่องผีเจ้านายยังคงดำรงอยู่ในสังคม

           ผู้เขียนวิเคราะห์สาเหตุที่ผีเจ้านายยังคงดำรงอยู่ได้ในสังคม โดยกล่าวถึงความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนารูปแบบ พุทธ–พราหมณ์–ผี และชาวบ้านมีความเห็นพ้องต้องกันถึงหน้าที่อย่างหนึ่งของศาสนาในการให้การสนับสนุนสถาบันพื้นฐานต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเศรษฐกิจ ดังความเชื่อที่ว่าคนเกิดมายากดีมีจนต่างกันเนื่องจากทำบุญมาไม่เท่ากัน หรือสถาบันการเมืองซึ่งเห็นได้จากความเชื่อเรื่องความแตกต่างของชนชั้นทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากบุญทำกรรมแต่ง เมื่อศาสนาได้ทำหน้าที่สนับสนุนโครงสร้างสถาบันทางสังคมแล้ว สถาบันเองก็ย่อมต้องค้ำจุนและทำนุบำรุงศาสนาด้วยเช่นกัน ดังเช่นในกรณีของประเพณีการถือผี ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ครองนครกับเทพยดาอารักษ์และผี การทำพิธีเข้าอินทขีล พิธีเลี้ยงเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งเป็นเทวดาอารักษ์สำคัญประจำเมือง หรือพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ พิธีเหล่านี้จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนคร หากเจ้าผู้ครองนครละเลยพิธีเหล่านี้ หรือหากเกิดเหตุวิกฤตขึ้นมาในสังคม เจ้าผู้ครองนครจะถูกมองว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเกิดวิกฤตนั้น ด้วยสาเหตุหนึ่งคือการละเลยขนบประเพณีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เป็นผลให้การปกครองของผู้ครองนครตกต่ำหรือเกิดการสั่นคลอนได้

           ขณะที่ความเชื่อเรื่องผีเจ้านายในระดับปัจเจกบุคคลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อในแนวพุทธศาสนาแบบปรัชญาที่มีเป้าหมายสูงสุดในการหลุดพ้น รองลงมาคือความเชื่อที่ว่าตายไปแล้วจะเกิดเป็นเทพ เทวดา ความเชื่อว่าพระสงฆ์บางรูปมีคาถาปัดเป่าโรคภัยได้ ความเชื่อเรื่องอำนาจของเทพเจ้าฮินดู ตลอดจนความเชื่อในประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ชาวบ้านที่ผูกติดกับความเชื่อเหล่านี้จึงเลือกใช้คำอธิบายจากชุดความเชื่อและวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตามแต่ความเชื่อของปัจเจกบุคคล ซึ่งอาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

           ผีเจ้านาย จึงเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสำหรับคนบางกลุ่มที่ยังคงเชื่อว่า ผีเจ้านายจะช่วยปกปักษ์คุ้มครอง แก้ไขปัญหา และหาทางออกจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ทั้งเรื่องที่ร้อนใจ ร้อนกาย ร้อนเงิน และเรื่องอื่น โดยมีกลุ่มปัญหาหลักๆ ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การลงทุนและหนี้สิน ปัญหาเรื่องครอบครัว ปัญหาเรื่องความก้าวกน้าและการประกอบอาชีพ ปัญหาเรื่องการเรียนและการสอบ ปัญหาเรื่องของหาย และปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยการวิเคราะห์ปัญหาของผู้ที่ต้องการให้ผีเจ้านายช่วยเหลือนั้นก็เพื่อที่จะจัดการเรื่องของการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากพิธีไหว้ครูประจำปีและพิธีเข้าทรงประจำวันแล้ว พิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้า หรือ ลูกเลี้ยงนั้น จะมีองค์ประกอบและขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของปัญหาและความต้องการช่วยเหลือ

           ในส่วนท้ายของหนังสือ ได้ตีพิมพ์คำวิจารณ์และคำถามของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกุล ซึ่งให้ข้อคิดเห็นไว้ในคราวที่ผู้เขียนหนังสือนำเสนอผลการวิจัยในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24–26 กรกฎาคม 2526 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร อันช่วยเติมเต็มความรู้ในความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ การบนบานศาสกล่าว ตลอดจนพิธีกรรมการเข้าทรงในมิติของเรื่องเล่าที่แตกต่างไปจากผลการวิจัยของผู้เขียน

           บทสรุปของ “ผีเจ้านาย” จึงเป็นข้อสรุปของการเข้าไปศึกษาความเชื่อและบริบทของสังคมที่เกี่ยวข้อง ถึงการดำรงอยู่ของพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ควบคู่กับความเชื่อทางศาสนาโดยไม่เกิดการหักล้างซึ่งกันและกัน ความเชื่อดังกล่าวได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นในด้านจิตใจที่แตกต่างกันและไม่อาจแยกขาดจากกันได้ รวมถึง การเลือกใช้วิธีการหรือคำอธิบายในแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือหลายแนวทางตามความเชื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญจึงเป็นเหตุสำคัญที่การถือในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เรื่องเหนือธรรมชาติ เทวดาฟ้าดิน อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ โดยเฉพาะประเพณีและพิธีกรรมผีเจ้านายจึงยังคงดำรงอยู่ได้

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือเกี่ยวข้องกับการทรงเจ้าเข้าผี มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทางFacebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  ประวิทย์ แต่งอักษร. ร่างทรง (2021) หนังสยองขวัญสําหรับคนจิตแข็ง ว่าด้วยสังเวียนความเชื่อและสมรภูมิจิต)วิญญาณ [Online]. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564. เข้าถึงโดย https://thestandard.co/the-medium-5/


รีวิวโดย

จรรยา ยุทธพลนาวี

รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ผีเจ้านาย ร่างทรง หนังสือ รีวิวหนังสือ ฉลาดชาย จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share