หลอนวิทยา: ฌากส์ แดร์ริดา กับปีศาจแห่งอดีตที่ไม่ยอมตาย (Hauntology)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 13360

หลอนวิทยา: ฌากส์ แดร์ริดา กับปีศาจแห่งอดีตที่ไม่ยอมตาย (Hauntology)

ฐานคิดของ Hauntology

           คำว่า “หลอนวิทยา” แปลจากคำภาษาอังกฤษคือ Hauntology เป็นคำผสมระหว่างคำว่า haunting (การอยู่ในความทรงจำ) และ ontology (ภววิทยา) ซึ่งหมายถึงการย้อนกลับมาและการคงอยู่ของอดีต คล้ายกับสภาวะของวิญญาณของคนตายที่กลับมาปรากฎร่างเป็นภูตผี ในแวดวงวิชาการคำนี้ถูกใช้ในหมู่นักวิจารณ์วรรณกรรม ปรัชญา รัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในแวดวงดนตรีและศิลปะ ซึ่งนักวิชาการด้านดนตรี 2 คน คือ Simon Reynolds และ Mark Fisherได้นำคำว่า Hauntology มาใช้เป็นแนวคิดเพื่ออธิบายถึงการแยกออกจากกันของเวลา การย้อนกลับมาใหม่ของความทรงจำในอดีต เช่น ภาพฝันและจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตของคนในยุคโบราณ การคิดถึงภาพอดีตของคนในยุคปัจจุบัน เป็นต้น นอกจากนั้น คำนี้ยังถูกใช้ในฐานะเป็นแนวคิดเชิงวิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจจินตนาการเกี่ยวกับสังคมและชีวิต (Fisher, 2014) ในแวดวงวัฒนธรรมศึกษา แนวคิดนี้ถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ตัวบทและเนื้อหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในภาพยนตร์ ละคร งานศิลปะ และวรรณกรรม ซึ่งนักวิชาการต้องการชี้ว่าเวลาอดีตและอนาคตถูกทำให้ปั่นป่วนยุ่งเหยิง เรื่องราวในอดีตที่สวยงามและอนาคตที่รุ่งเรืองกำลังผุกร่อนและไม่สามารถเกิดขึ้นได้

           Fisher (2021) กล่าวว่าในสังคมทุนนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความปรารถนาของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากการหวนคิดถึงอดีตและการคาดหวังถึงอนาคต เพราะมนุษย์เผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิตและการต่อสู้แข่งขันเพื่อทำให้ตนเองไปสู่ความสำเร็จ บริบททางสังคมดังกล่าวสะท้อนเวลาอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่แยกออกจากกัน (out of joint) ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์ที่เป็นระเบียบและเส้นตรง ตัวอย่างที่นักวิชาการมักจะนำไปเปรียบเทียบคือ เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ดิจิทัล ที่ข้อมูลต่างๆ ไหล่บ่ามาทุกทิศทุกทาง มีการสร้างใหม่ ผลิตซ้ำ เรียกคืน ส่งต่อ ถ่ายเท ไหลเวียนอยู่ในเครือข่ายพรมแดนเทคโนโลยี ข้อมูลจึงไม่มีการสูญหาย

 

การรื้อความเป็นเหตุผลด้วยแนวคิด Hauntology

           Hauntology เป็นแนวคิดปรัชญาของประวัติศาสตร์ที่เสนอโดย Jacques Derrida ในหนังสือเรื่อง Specters of Marx ซึ่งอธิบายว่าแนวคิดของมาร์กซ์เกี่ยวกับลัทธิและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กำลังหลอกหลอนสังคมยุโรป (Albiez, 2017) Derrida วิจารณ์ว่าหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากของมนุษย์ แนวคิดของมาร์กซ์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง Derrida (1994) กล่าวว่าการดำรงอยู่ของเวลาปัจจุบันเป็นผลมาจากเรื่องราวและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจะถูกมองเป็นสภาวะของความเพ้อฝันและจินตนาการ หรือเรียกว่าอดีตกาลคือ “ผี” ที่กลับมาหลอกหลอนสังคมปัจจุบัน (Gericke, 2012) แนวคิด Hauntology บ่งบอกถึงจุดเปลี่ยนทางจริยธรรมในช่วงยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งมีการรื้อทำลายความรู้เหตุผลแบบตะวันตก ในแง่นี้ คำว่า Hauntology จึงมิใช่การศึกษาเกี่ยวกับภูตผีและวิญญาณ แต่เป็นคำที่ใช้เชิงอุปมาอุปมัยถึงวิธีการมีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์และเปราะบาง แต่มนุษย์ถูกหลอกให้เชื่อว่ากำลังมีชีวิตที่ดีและมั่นคง การหลอกหลอนในที่นี้จึงเป็นสภาวะของเหตุผลที่ขัดเกลาให้มนุษย์คิดถึงสิ่งต่างๆ เป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นความดีตรงข้ามกับความชั่ว อดีตตรงข้ามกับปัจจุบัน เป็นต้น (Harper, 2009)

 

หนังสือเรื่อง Specters of Marx โดย Jacques Derrida

ภาพจาก https://www.google.com/search

 

           Derrida (1994) อธิบายว่าภววิทยาหรือการดำรงอยู่ของความจริง เปรียบเสมือนเป็นสภาพหลอกหลอนที่ทำให้มนุษย์คิดถึง “ความจริง” ที่สัมผัสได้ในโลกกายภาพ ภายใต้ความคิดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่ได้จัดหมวดหมู่และจำแนกประเภทพื้นที่และเวลาให้เป็นลำดับชั้นอย่างเป็นระเบียบ ควรจะถูกรื้อทิ้งใหม่เพื่อเผยให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนไร้ระเบียบและคาดเดาไม่ได้ Derrida เรียกสิ่งนี้ว่า messianicity หมายถึงความยุ่งเหยิงอลหม่านไร้ทิศทาง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ Derrida พยายามชี้ให้เห็นว่าสังคมมิได้เดินไปเป็นเส้นตรงและมุ่งไปสู่ความเจริญและมั่นคง แต่สังคมเต็มไปด้วยรอยแยกและความไม่ลงรอยที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจสภาวะโลกที่อยู่นอกระบบเหตุผลแบบปฎิฐานนิยม สภาพที่ยุ่งเหยิงนี้คือหัวใจสำคัญของการหลอกหลอน (hauntological spirit) ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคม Derrida ต้องการจะเปิดเผยให้เห็นสภาพที่ยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบที่สังคมสมัยใหม่ไม่ต้องการทำให้มันเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถละทิ้งและกำจัดมันได้ ดังนั้น ความไร้ระเบียบจึงเหมือนพลังด้านมืดที่สามารถทำลายล้างระบบเหตุผลที่โลกใช้สร้างความมั่นคงของพื้นที่และเวลา

           Derrida (1994) เชื่อว่าความไร้ระเบียบความสภาวะหลอกหลอนที่เกาะติดกับความรู้แบบเหตุผลที่เชื่อมั่นในความจริงที่มีแก่นแท้ถาวรและดำรงอยู่ในโลกธรรมชาติ ความพยายามที่จะพิสูจน์การมีอยู่ของความจริงในธรรมชาติโดยเฉพาะการพิสูจน์ในเชิงรูปภาพและโลกทางวัตถุ Derrida (1993) เสนอว่าสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้ในโลกทางกายภาพซึ่งเป็นการยืนยันความจริงแท้ เป็นกระบวนทัศน์ที่เชื่อในระเบียบและบรรทัดฐานของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ที่อธิบายให้เห็นการปรากฎของโลกทางวัตถุที่ตรวจวัดได้ในเชิงปริมาณและขนาด (metaphysics of presence) ในขณะที่ความไร้ระเบียบคือกระบวนทัศน์ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของความจริงที่มีแก่นแท้ (metaphysics of absence) ในแง่นี้ สภาวะหลอกหลอนจึงสนใจความไร้รูปร่างและรูปทรง เป็นสภาพที่จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถจัดเรียงธรรมชาติให้เป็นระเบียบและลำดับชั้นได้อย่างแน่นอน กระบวนทัศน์นี้จึงสั่นคลอนความเป็นเหตุเป็นผลของการดำรงอยู่ เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เชื่อว่าสามารถพิสูจน์ความจริงแท้ของมันได้ พร้อมกับรื้อทำลายและเปิดเผยให้เห็นความไร้เสถียรภาพแห่งความจริงนั้น (Reynolds, 2014)

           ตัวอย่างเช่น Derrida (1986) ได้วิจารณ์แนวคิดจิตวิทยาของ Sigmund Freud เรื่องความรู้สึกโศกเศร้าของมนุษย์เมื่อสูญเสียคนรัก Freud เชื่อว่าความรู้สึกนี้มีสาเหตุมาจากการที่คนๆ หนึ่งผูกพันกับคนตายและไม่ยอมละทิ้งความผูกพันนั้น พยายามเก็บเอาความทรงจำที่มีต่อคนตายมาไว้กับตัวเอง จนทำให้สภาพจิตใจของตัวเองเกิดความเศร้าและคร่ำครวญ แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่นักจิตวิเคราะห์ใช้เพื่อช่วยเหลือให้คนที่กำลังเศร้าเพราะคิดถึงคนที่จากไป โดยทำให้คนที่มีชีวิตปล่อยวางจากคนตาย แต่ Derrida กล่าวว่าความรู้สึกผูกพันระหว่างคนเป็นกับคนตายที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกมิใช่สภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่เป็นสภาวะที่คนเป็นไม่สามารถเชื่อมโยงกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของคนตาย สภาพนั้นมิได้ดำรงอยู่ในความเป็นเหตุผล แต่เป็นความแปลกแยกจากการมีชีวิต

 

ความไร้ระเบียบ แบบ Hauntology

           Derrida (2002) อธิบายว่าในระบบเหตุผลที่แบ่งแยก “ระเบียบ” ออกจาก “ความไร้ระเบียบ” เป็นการสร้างคู่ตรงข้ามที่บ่งชี้ว่าเวลาและพื้นที่ถูกจัดประเภทให้แยกขาดจากกัน เวลาและพื้นที่ที่เป็นระเบียบจะหมายถึงสังคมที่ถูกควบคุมด้วยบรรทัดฐาน เช่น สังคมอุตสาหกรรมแบ่งเวลาทำงานออกจากเวลาว่างอย่างชัดเจน เวลาทำงานสะท้อนพื้นที่และเวลาที่มีระเบียบกฎเกณฑ์และถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ในขณะที่เวลาว่างจะถูกอธิบายเป็นความไร้ระเบียบที่มนุษย์มีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆ ตามความพอใจ การแบ่งแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันคือภววิทยาของสังคมที่ถูกควบคุมด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ ในขณะที่สภาวะ “ไร้ระเบียบ” ในกระบวนทัศน์ Hauntology มิได้แบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่าง “ระเบียบ” กับ “ความไร้ระเบียบ” แต่มองสังคมในฐานะเป็นความไร้ระเบียบ (messianicity) ที่ปราศจากระเบียบอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ Derrida เชื่อว่า “การดำรงอยู่” เป็นกระบวนการที่เคลื่อนตัวไปตลอดเวลา ไร้เอกภาพและเสถียรภาพ มันจะไม่หยุดอยู่ในจุดที่สมบูรณ์และมั่นคง หรือเรียกว่า “ไม่มีจุดสุดท้าย” การเคลื่อนตัวนี้เต็มไปด้วยการสร้างการดำรงอยู่ของตัวตนและความจริงในแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบเหตุผลที่ต้องการให้ตัวตนและความจริงทั้งปวงมีขอบเขตของพื้นที่และเวลาที่ชัดเจน สัมผัสและตรวจสอบได้

           ภายใต้ระบบเหตุผล พื้นที่และเวลามีเส้นขอบเขตที่เป็นระเบียบ โดยอดีต ปัจจุบันและอนาคต ถูกวางไว้ในระนาบเดียวกันราวกับว่าเป็นความต่อเนื่อง ในระนาบที่เป็นระเบียบนี้ทำให้เกิดการควบคุมและความคาดหวังในสิ่งที่สามารถประเมินและตรวจวัดได้ (Derrida, 1997) ตัวอย่างเช่น ความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและความเสมอภาค ซึ่งเป็นเป้าหมายทางสังคมที่ระบบเหตุผลได้จัดวางเอาไว้ในขอบเขตของเวลาและพื้นที่ที่เป็นระเบียบ ความคิดถึงสิ่งที่จะดีขึ้นและสมบูรณ์แบบคือเส้นทางของ “อนาคต” ที่จะต้องก้าวหน้าไปเรื่อยๆ กระบวนทัศน์นี้ทำให้เกิดการสร้าง “แก่นแท้ของอนาคต” (essence of futurity) (Poleshchuk, 2014) การสร้างระเบียบของเวลาและพื้นที่จะขับไร้ “ความไร้ระเบียบ” หรือ “ความปั่นป่วน” มิให้ปรากฏ ในโครงสร้างอำนาจที่พยายามควบคุมสิ่งต่างๆ ให้มีระเบียบจึงผนวกเอาความไร้ระเบียบมาเป็นคู่ขัดแย้ง Derrida กล่าวว่าโครงสร้างนี้พยายามทำให้พื้นที่และเวลาที่แตกกระจัดกระจายไร้ระเบียบมาเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระเบียบ โดยสถาปนาให้มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในแง่นี้ สิ่งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากกัน มันไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้ ดังนั้น ความไร้ระเบียบของพื้นที่และเวลาจึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และมีสภาวะเป็น “การเคลื่อนและแยกตัวออกจากกัน” (dislocation) (Tosas, 2014) เวลาของประวัติศาสตร์จึงไม่เป็นเส้นตรงแต่มีลักษณะเป็นการแตกกระจัดกระจายสลับกับการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน (Ware, 2004)

           จากข้อสังเกตดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction) ที่พยายามถอนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามและการเป็นระเบียบของเวลาและพื้นที่ที่ซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องเล่าและตัวบทของภาวะสมัยใหม่ (Glazier, 2017) ซึ่งสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ยังคงผลิตซ้ำระบบเหตุผลดังกล่าว ในทัศนะของ Derrida ระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์คือระบอบของอำนาจที่ควบคุมการสร้างตัวตนและความจริง (mode of subjection) ให้ดำเนินไปในพื้นที่และเวลาที่เป็นระเบียบและต่อเนื่อง ระบอบนี้ได้กำหนดคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตทางสังคมที่มนุษย์มองเห็นตัวเองมีขอบเขตภายใต้ระเบียบของเวลาและพื้นที่ เป้าหมายชีวิตในระบอบเหตุผลนี้จึงผูกติดอยู่กับความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคง ความสำเร็จ ความสมบูรณ์แบบ ความสงบและสันติ ในแง่นี้ การเดินไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองคือการสร้างเวลาแห่งอนาคตที่เป็นระเบียบ แต่ Derrida (1997) วิจารณ์ว่าอนาคตคือความว่างเปล่า ประวัติศาสตร์คือเวลาที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดช่วง และไร้ต้นกำเนิด การดำรงอยู่ของความจริงในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการสร้างคำอธิบาย หากปราศจากภาษาก็ปราศจากประวัติศาสตร์

 

Hauntology ในมุมมองมานุษยวิทยา

           การศึกษามานุษยวิทยาเชิงจิตวิทยาสนใจประสบการณ์และการมีตัวตนของมนุษย์ภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมีการสร้างความหมายด้วยความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย ฉะนั้น การมีตัวตนของบุคคลจึงมิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางชีววิทยา เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวทางการวิเคราะห์การดำรงอยู่และการสร้างตัวตนของมนุษย์จึงเอนเอียงไปสู่การวิเคราะห์ความไม่หยุดนิ่งของตัวตน ซึ่งสะท้อนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับเวลาและพื้นที่ที่มิได้มีเอกภาพและขอบเขตที่ชัดเจน (Rahimi & Good, 2019) การศึกษาสภาวะของตัวตนที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจึงนำแนวคิดใหม่ๆ มาอธิบาย และแนวคิด Hauntology ก็ช่วยทำให้เห็นสภาวะตัวตนที่ไร้ขอบเขตได้กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาประสบการณ์แห่งความทรงจำซึ่งแต่เดิมมักจะมองเฉพาะปมทางจิตของบุคคลที่ส่งผลให้เกิดความเศร้าและเจ็บปวดทางใจ แต่แนวคิด Hauntology ได้เสนอการทำความเข้าใจสภาวะของตัวตนในฐานะเป็น “ความไม่ต่อเนื่อง” กล่าวคือ ตัวตนของบุคคลในอดีตมิได้เป็นสิ่งเดียวกับการมีตัวตนในเวลาปัจจุบันและอนาคต

           การศึกษาประสบการณ์แห่งตัวตนด้วยแนวคิด Hauntology คือการมองเห็นการเคลื่อนที่ไปอย่างไร้ระเบียบในเชิงเวลาและพื้นที่ของประสบการณ์ที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับตนเองและสิ่งต่างๆ การปรากฎขึ้นของตัวตน ณ พื้นที่และเวลาที่แตกต่างกันจึงเป็นสภาวะที่ไร้เสถียรภาพและเอกภาพ (Rahimi, 2016, 2021) ความรู้สึกแห่งตัวตนจึงเป็นภาพหลอนที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบความหมายที่บุคคลใช้อธิบายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ความหมายเหล่านั้นดำรงอยู่ภายใต้ภาษาที่ถูกบัญญัติด้วยคำต่างๆ ซึ่งเป็นภาพแทนของอารมณ์ความคิด การสร้างความหมายของตัวตนนี้คือกระบวนการของภาพหลอนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (hauntological processes) (Rahimi & Good, 2019) การศึกษาตัวตนในมิตินี้ทำให้เห็นว่าความทรงจำและความปรารถนาที่มนุษย์มีสามารถสร้างความหมายของการมีตัวตนข้ามช่วงเวลาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาที่ตายตัว ความทรงจำในฐานะเป็นภาพหลอนที่ตามติดตัวมนุษย์จึงเปรียบเสมือนเป็นระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึก Good (2019) อธิบายว่าประสบการณ์และความทรงจำที่เจ็บปวดเป็นทั้งสภาวะที่ถูกปกปิดและเปิดเผยภายใต้โลกทางสังคม

           Gordon (2008) กล่าวว่าในการวิเคราะห์สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ แนวคิด Hauntology ช่วยทำให้เห็นสภาวะของการผลิตซ้ำอำนาจที่กดขี่ข่มเหง (abusive systems of power) ที่ปรับตัวด้วยเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ เช่น การตกเป็นทาสของวัฒนธรรมบริโภคที่มนุษย์มิได้รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ เนื่องจากสินค้าและบริการพยายามสร้างความสุขและความพึงพอใจ แต่เบื้องลึกของการบริโภค มนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะหาเงินมาซื้อสินค้าและบริการเพื่อทำให้ตนเองมีความสุข การบริโภคจึงเป็นรูปแบบของการกดขี่ที่ปรับสภาพเป็นระบอบของการจับจ่ายใช้สอย การผลิตซ้ำอำนาจกดขี่ภายใต้วัฒนธรรมบริโภคคืออันตรายที่ซ่อนเร้นและไม่เปิดเผยตัวอย่างชัดเจน แต่มันแทรกตัวอยู่ในสำนวนภาษา วาทกรรมและปฏิบัติการทางสังคม ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แนวคิด Hauntology จะช่วยทำความเข้าใจความทรงจำและประสบการณ์ที่ขมขื่นที่ยังหลอกหลอนมนุษย์ปัจจุบันในรูปแบบที่หลากหลาย นอกเหนือจากวัฒนธรรมบริโภคแล้ว ยังอาจพบได้ในลัทธิอาณานิคมใหม่ที่ประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้าไปครอบงำประเทศที่ยากจน ไปจนถึงประสบการณ์จากภัยพิบัติที่สร้างความสูญเสียให้กับมนุษย์ Rahimi (2021) กล่าวว่าชีวิตประจำวันของมนุษย์ดำเนินไปพร้อมกับความทรงจำอันเจ็บปวดที่แตกต่างกันและถูกทำให้เป็นความมุ่งหวังและตัวแทนของเวลาแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึง

 

เอกสารอ้างอิง

Albiez, S. (2017). Bloomsbury Encyclopedia of Popular Music of the World, Volume 11. London: Bloomsbury.

Derrida, J. (1986). Foreword: Fors: The Anglish Words of Nicolas Abraham Maria Torok. Trans. Barbara Johnson. (pp. xi – xlix) in The Wolfman’s Magic Word: A Cryptonomy. Edited by Nicolas Abraham and Maria Torok. Translated by Nicholas Rand.Minneapolis: University of Minnesota Press,

Derrida, J. (1993). Aporias. (T. Dutoit, Trans.). Redwood City, CA: Stanford University Press

Derrida, J. (1994). Specters of Marx. Trans. By Peggy Kamuf. New York: Routledge.

Derrida, J. (1997). The Villanova roundtable: A conversation with Jacques

Derrida. In J. D. Caputo (Ed.), Deconstruction in a nutshell: A conversation with Jacques Derrida (pp. 1–30). New York, NY: Fordham University Press.

Derrida, J. (2002). Faith and knowledge: The two sources of “religion” at the limits of reason alone. In G. Anidjar (Ed.) & S. Weber (Trans.), Acts of religion (pp. 42–101). New York, NY: Routledge.

Fisher, M. (2014). Ghosts of My Life: Writings on Depression, Hauntology and Lost Futures. Winchester: Zero Books.

Fisher, M. (2021). Postcapitalist Desire: The Final Lectures. ‎London: Repeater.

Gericke, J. (2012). The Spectral Nature of YHWH (Dtr): Perspectives from Derridean Hauntology. OTE, 25/2, 303-315.

Glazier, J. W. (2017). Derrida and messianic subjectivity: a hauntology of revealability. Journal for Cultural Research, 21(1), 1-16.

Good, B. (2019). Hauntology: Theorizing the Spectral in Psychological Anthropology. Ethos, 47(4), 411-426.

Gordon, A. F. (2008). Ghostly Matters: Haunting and the Sociological Imagination. Second Edition. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Harper, A. (2009). The Past Inside the Present, Excessive Aesthetics, Retrieved from http://rougesfoam.blogspot.com/2009/10/hauntology-past-inside-present.html.

Poleshchuk, I. (2014). The ethics of futurity: Messianism and intersubjectivity. Internal Journal of Humanities and Social Science, 4, 56–66.

Rahimi, S. (2016). Haunted Metaphor, Transmitted Affect: The Pantemporality of Subjective Experience. Subjectivity, 9, 83-105.

Rahimi, S. (2021). The Hauntology of Everyday Life. London: Palgrave & Macmillan.

Rahimi, S. & Good, B. (2019). Preface: Ghosts, Haunting, and Hauntology. Ethos, 47(4), 409-410.

Reynolds, A. (2014). The linguistic return: Deconstruction as textual messianism. SubStance, 43(1), 1–14.

Tosas, M. R. (2014). Derrida’s way out of the dead end of contemporary messianism. Journal for Cultural Research, 18, 350–369.

Ware, O. (2004). Dialectic of the past/disjuncture of the future: Derrida and Benjamin on the concept of messianism. Journal for Cultural and Religious Theory, 5, 99–114.

 


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ หลอนวิทยา Hauntology นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share