สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural rights)

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 21652

สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural rights)

           สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural rights) เป็นกรอบแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง โดยรวมแล้วหมายถึงสิทธิของทุกคนที่ควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในการแสดงออกหรือมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมที่ได้เลือกสรร เพื่อให้วัฒนธรรมของตนสามารถดำรงอยู่ ถูกสานต่อและพัฒนาได้ อีกทั้งเป็นแนวคิดที่รับรองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความพึงพอใจจากการบริหารจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมและมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตทางวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข โดยปราศจากอคติและการเหยียดหยาม นอกจากนี้ สิทธิทางวัฒนธรรม ยังรวมถึงเสรีภาพที่จะมี อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้ หรือสิทธิในการมีสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมกับชุมชนทางวัฒนธรรมมากกว่าหนึ่ง และมีโอกาสเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมและวิถีชีวิตของหลายวัฒนธรรม (Vickery, 2018;UNESCO, 2007; อมรา พงศาพิชญ์, 2010)

           โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดสิทธิทางวัฒนธรรมถูกนำเสนอโดยมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง (indigenous peoples) และชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มวัฒนธรรมรองในรัฐ (minority group) อย่างมีนัยสำคัญ แนวคิดสิทธิทางวัฒนธรรมจะเป็นการรับรองถึงสิทธิของอัตลักษณ์ในกลุ่มวัฒนธรรมรองให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกคุกคามและถูกกลืนจากวัฒนธรรมหลักของรัฐ โดยที่ในหลายประเทศประเด็นการเรียกร้องและการให้สิทธิทางวัฒนธรรมเกิดจากการยอมรับว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคคล และบุคคลจะทนทุกข์หากอัตลักษณ์ต้องสูญเสียไปหรือไม่ได้รับการยอมรับ (ธนิก เลิศชาญฤทธิ์, 2009; สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, 2017; Kymlicka,2007)

           ขณะที่ ปฏิญญาไฟร์บูร์กว่าด้วยสิทธิทางวัฒนธรรม (Fribourg Declaration on Cultural Rights) ที่สนับสนุนโดย UNESCO (ประกาศในปี 2007) ได้กำหนดประเด็นเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมภายใต้ปฏิญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยให้ความหมายของวัฒนธรรมว่าครอบคลุมทั้งค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา ภาษา ความรู้ ศิลปะ ประเพณี ความเป็นสถาบันและวิถีชีวิตที่บุคคลหรือกลุ่มคนได้แสดงออกถึงการดำรงอยู่และการพัฒนาของพวกเขา โดยได้แบ่งเนื้อหาของสิทธิทางวัฒนธรรมในปฏิญญาออกเป็น 6 ประการ คือ 1. อัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรม (Identity and cultural heritage) 2. ชุมชนวัฒนธรรม (Reference to cultural communities) 3. การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมกับชีวิตทางวัฒนธรรม (Access to and participation in cultural life) 4. การศึกษาและการฝึกอบรม (Education and training) 5. ข้อมูลและการสื่อสาร (Information and communication) และ 6. ความร่วมมือทางวัฒนธรรม (Cultural cooperation) (Vickery, 2018; UNESCO, 2007; อมรา พงศาพิชญ์, 2010)

 

สิทธิทางวัฒนธรรมและการผลักดันขององค์กรโลกบาล

           การผลักดันประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติเริ่มต้นขึ้นหลังปี ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติ (United nations) ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่โดยหลักการแล้วคือการเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีและบูรณภาพของความเป็นมนุษย์ จากการกระทำอันเลวร้ายทุกรูปแบบที่ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ (de-humanizing) และยังรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความอยู่รอด (Survival) และความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing) ของปัจเจกชน กลุ่มคน และมนุษยชาติทั้งปวง โดยกล่าวได้ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้หรือคัดค้านการใช้ความรุนแรง การละเมิดต่อสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งยังเป็นกรอบแนวคิดในการส่งเสริมและผลักดันเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งถูกระบุไว้ใน ข้อ 22 เรื่องสิทธิในหลักประกันทางสังคม และย่อมมีสิทธิในการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันจำเป็นยิ่งสำหรับศักดิ์ศรีของตน และการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ผ่านความพยายามของรัฐและความร่วมมือระหว่างประเทศและตามการจัดการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ และในข้อ 27 เรื่องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนโดยอิสระ และการคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรมและวัตถุที่เกิดจากวิทยาการของตน (กรมองค์กรระหว่างประเทศ, 2008; Caust, 2021)

           ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา สิทธิทางวัฒนธรรมกลายเป็นคำที่ถูกใช้ทางนโยบายและกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้นในแง่มุมสิทธิของพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม โดยในปี ค.ศ. 1966 องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (The International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งเน้นย้ำถึงสิทธิของทุกคนในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง รวมถึงการพัฒนาวัฒนธรรมของตน และบทบาทของรัฐในการปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมโดยปราศจากการกีดกันและเลือกปฏิบัติ ต่อมา UNESCO ก็ได้มีการจัดประชุมสัมมนาและตีพิมพ์เอกสารในซีรีย์เกี่ยวกับ Studies and Documents on Cultural Policies ที่มีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า

“สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ มันเป็นแนวคิดที่มีการถกเถียงกันภายในกรอบของสิทธิทางการเมืองของบุคคล เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือแสดงออก”

           อีกทั้งในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The Earth Summit) ที่กรุงริโอ เดอเจเนโร ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 1992 ก็ได้มีการรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองไว้ในประกาศริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio declaration of environment and development) และในแผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) ซึ่งมีใจความสำคัญคือ การยอมรับหลักการของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนพื้นเมือง สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการผลักดันให้มีการบูรณาการประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับประเด็นประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาตัวเองบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรม (Vickery, 2018; UNESCO, 1969; สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, 2017)

           อีกทั้งในปี ค.ศ. 2004 การประชุม the Congress on Cultural Rights and Human Development (The 2004 Universal Forum of Cultures) ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ได้มีการสรุปรายงานการประชุมโดยระบุว่า “วัฒนธรรมคือกระบวนการที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน แนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมไม่ควรละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิทางวัฒนธรรมจำเป็นต้องบูรณาการเข้ากับสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ และสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ก็มีมิติทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน” ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมยังปรากฏอยู่ในกติกาหรืออนุสัญญา (Convention) และปฏิญญา (Declaration) ระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ เช่น

           - อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention concerning the protection of the world cultural and natural heritage) ในปี 1972

           - ปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Universal Declaration on Cultural Diversity) ในปี 2001

           - อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ในปี 2003

           -อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองส่งเสริมความหลากหลายในการแสดงออกทางวัฒนธรรม (Convention on theProtection and Promotion of the Diversity of Cultural Expressions) ในปี 2005

           - ปฏิญญาไฟร์บูร์กว่าด้วยสิทธิทางวัฒนธรรม (Fribourg Declaration on Cultural Rights) ในปี 2007

           - ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ในปี 2007

           - รายงาน UNESCO World Report เรื่อง การลงทุนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการสานเสวนาระหว่างวัฒนธรรม (UNESCO World Report 2009: Investing in Cultural Diversity and Intercultural Dialogue) ในปี 2009

           โดยในปัจจุบัน สิทธิทางวัฒนธรรมได้ปรากฏอยู่ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 9 ฉบับ ที่ถือเป็นสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ (Core international human rights treaties) ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป (ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว 7 ฉบับ) อย่างไรก็ตาม การนำประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมไปใช้ในหลายสังคมก็ยังคงเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ และมีข้อท้าทายในเรื่องของการกำหนดนโยบายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการกำหนดขอบเขตและหนุนเสริมให้เกิดสิทธิในอาณาบริเวณทางวัฒนธรรม (the cultural sphere) (Vickery, 2018; Caust, 2021; อมรา พงศาพิชญ์, 2010)

           Bruce Robbins และ Elsa Stamatopoulou (2004) ได้เสนอว่า สิทธิทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือของการระหว่างประเทศและปฏิบัติการของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการเสนอทางเลือกหนึ่งในการขยายสิทธิของกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทางเลือกสำหรับปัญหาความขัดแย้งในประเด็นสิทธิของคนพื้นเมือง (indigenous rights) ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในแง่สิทธิการกำหนดใจตนเอง (self-determination) อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า Cultural rights ก็เพราะต้องการเลี่ยงอันตรายหรือความคลุมเครือจากแนวคิดวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) อีกเช่นกัน

 

สิทธิทางวัฒนธรรมในร่มเงาสิทธิมนุษยชนสากล

           ประเด็นเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมภายใต้ร่มเงาของสิทธิมนุษยชนสากล เป็นประเด็นที่มีการอภิปรายถกเถียงกันของนักวิชาการในหลากหลายสาขา รวมทั้งแวดวงมานุษยวิทยา โดยเฉพาะข้อถกเถียงอันยาวนานจากนักวิชาการที่เชื่อในวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตต่อ ‘ความเป็นสากลนิยม (universalism)’ ของสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อสังเกตต่อประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมที่มีความพยายามสร้างความชอบธรรมข้ามวัฒนธรรม (the cross-cultural legitimacy) ทั้งนี้ การถกเถียงส่วนใหญ่มักจะพิจารณาไปที่สังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก (Donnelly, 1984; Ibhawoh, 2001; Mende, 2016; Lakatos, 2018)

           โดยก่อนหน้าที่สหประชาชาติจะมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1948 นั้น ปรากฏว่าในปี ค.ศ. 1947 ทาง the American Anthropological Association (AAA) (หนึ่งในสมาคมที่มีชื่อเสียงของนักมานุษยวิทยา) ได้ออกแถลงการณ์ Statement on Human Rights โดยมี Melville Herskovits (คณะกรรมการของ AAA) เป็นคนดำเนินการ เพื่อให้คำแนะนำต่อปฏิญญาดังกล่าว ทั้งนี้ Melville Herskovits ได้ตั้งข้อสังเกตหลักๆ ว่าคุณค่าและมาตรฐานในสังคมหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมซึ่งสืบสานกันมา การเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างคือความสำคัญอันเท่าเทียมกัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้จะนำไปใช้กับมนุษย์ทุกหมู่เหล่าได้อย่างไร และมันคือถ้อยแถลงเกี่ยวกับสิทธิที่ก่อตัวขึ้นจากคุณค่าในแบบประเทศยุโรปตะวันตกหรืออเมริกาใช่หรือไม่? อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนักมานุษยวิทยาอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ Homer Garner Barnett และJulian Steward ก็ไม่ได้เห็นพ้องกับแถลงการณ์ของ AAA เสียทั้งหมด (The Executive Board, 1947; Engle, 2001; Preis, 1996) กระทั่งในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทาง AAA เริ่มมองเห็นหนทางในการใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อสนับสนุนสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง (indigenous peoples) ในมิติของสิทธิทางวัฒนธรรมที่กำลังเป็นเหยื่อจากการถูกกระทำของรัฐและบรรษัทข้ามชาติมากขึ้น เช่น ในปี 1990 AAA ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษนำโดย Terrence turner เพื่อตรวจสอบการล่วงละเมิดกลุ่ม Yanomami โดยรัฐบาลบราซิล (Englund, 2016; Freeman, 2002; Goodale, 2006)

กลุ่ม Yanomami ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/File:Yanomami_Woman_%26_Child.jpg

 

     

ที่อยู่อาศัยของกลุ่ม Yanomami ที่ถูกถ่ายจากเครื่องบิน ภาพจากhttps://www.posttoday.com/world/466315

 

           ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลก การเปลี่ยนแปลงของวิชามานุษยวิทยาและกรอบสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรากฏการณ์การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้นำทางการเมืองที่หยิบฉวยกระแสของ cultural relativism นั้น ก็ทำให้นักมานุษยวิทยาได้ตอบสนองต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนสากลมากยิ่งขึ้น โดยมีความพยายามในการชี้แนะเพื่อพัฒนาแนวทางสิทธิมนุษยชนให้คนในสังคมตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 1999 ทาง AAA ก็ได้ออก The Declaration on Anthropology and Human Rights อย่างเป็นทางการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความรู้ทางมานุษยวิทยานั้นได้รับรองสิทธิโดยทั่วไปของผู้คนและกลุ่มคนต่างๆ ในการเข้าถึงวัฒนธรรมของตน รวมทั้งสิทธิในการผลิต สิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและรูปแบบทางกายภาพ การดำรงอยู่ส่วนบุคคลและของกลุ่มตน ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านั้นไม่ลดทอนหรือละเมิดต่อผู้อื่น และมานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาที่มีการใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์ โดยที่ยังคงตระหนักดีว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แนวคิดที่คงที่ตายตัว นักมานุษยวิทยามีหน้าที่ในการอภิปรายขยายความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชนตามความเข้าใจของเรา ด้วยความรู้ทางมานุษยวิทยาและงานศึกษาวิจัย (Messer ,1993; Goodale, 2006; Lakatos, 2018)

           อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาก็ยังคงมีข้อสังเกตหรือคำถามที่ว่า วัฒนธรรมที่ดูจะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้นควรได้รับการปกป้องคุ้มครองหรือไม่อย่างไร เราจะเคารพวัฒนธรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ สิทธิทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลมากน้อยเพียงใด เนื่องจากในบางพื้นที่นั้น สิทธิทางวัฒนธรรมก็ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมในการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างที่ดูจะเป็นการลดทอนสิทธิของผู้อื่นได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีข้อสังเกตว่าการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลจะเป็นการก้าวล่วงและก่อกวนต่อระบบจารีตในบางสังคมหรือไม่ เพราะโดยลึกแล้ววัฒนธรรมบางอย่างที่ดูจะขัดกับสิทธิมนุษยชนสากลอาจจะเป็นการปกป้องชีวิตและความมั่นคงของคนในสังคมนั้นๆ รวมถึงคำถามที่ว่าหลักสิทธิมนุษยชนสากลคือลัทธิจักวรรดินิยมทางวัฒนธรรมของตะวันตกหรือไม่ และหลักสิทธิมนุษชนสากลเป็นหนทางในการหลีกเลี่ยงและจำกัดสิทธิในการกำหนดใจหรือปกครองตนเองของกลุ่มชนพื้นเมือง (indigenous autonomy) หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นคำถามที่ท้าทายนักมานุษยวิทยาต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด (Mutua, 2001; Freeman, 2002; Asomah, 2015; Lakatos, 2018; Mende, 2016; Billaud, 2016; Chow, 2018)

 

เอกสารอ้างอิง

Asomah, J. Y. (2015). Cultural rights versus human rights: A critical analysis of the trokosi practice in Ghana and the role of civil society. African Human Rights Law Journal, 15 (1), 129-149.

Billaud, J. (2016). Afterword: A Post-Human Rights Anthropology of Human Rights? PoLAR: Political and Legal Anthropology Review Online. Retrieved October 15, 2021, from https://polarjournal.org/a-post-human-rights-anthropology-of-human-rights

Caust, J. (2021). Cultural Rights as Human Rights and the Impact on the Expression of Arts Practices. Journal of Citizenship and Globalisation Studies, 3(1), 17–30.

Chow, S. (2018). Cultural Rights in International Law and Discourse. Leiden: Brill Nijhoff.

Donnelly, J. (1984). Cultural Relativism and Human Rights. Human Rights Quarterly, 6(4), 400-419.

Engle, K. (2001). From Skepticism to Embrace: Human Rights and the American Anthropological Association from 1947-1999. Human Rights Quarterly, 23(3), 536–559.

Englund, H. (2016). Human rights. Retrieved October 14, 2021, from https://www.anthroencyclopedia.com/entry/human-rights

Freeman, M. (2002). Anthropology and the Democratisation of Human Rights. The International Journal of Human Rights, 6(3), 37-54.

Goodale, M. (2006). Toward a Critical Anthropology of Human Rights. Current Anthropology, 47 (3), 485–511.

Ibhawoh, B. (2001). Cultural Relativism and Human Rights: Reconsidering the Africanist Discourse. Netherlands Quarterly of Human Rights, 19(1), 43–62.

Kymlicka, W. (2007). Multicultural odysseys: Navigating the new international politics of diversity. New York: Oxford University Press.

Lakatos, I. (2018). Thoughts on Universalism versus Cultural Relativism, with Special Attention to Women’s Rights. Pécs Journal of International and European Law. 1, 6-25

Mende, J. (2016). A human right to culture and identity: the ambivalence of group rights. Lanham: Rowman & Littlefield.

Messer, E. (1993). Anthropology and Human Rights. Annual Review of Anthropology, 22, 221-249.

Mutua, M. (2001). Savages, Victims, and Saviors: The Metaphor of Human Rights. Harvard International Law Journal, 42(1),201-245.

Preis, A.-B. S. (1996). Human Rights as Cultural Practice: An Anthropological Critique. Human Rights Quarterly, 18(2), 286–315.

Robbins, B., & Stamatopoulou, E. (2004). Reflections on Culture and Cultural Rights. The South Atlantic Quarterly, 103(2), 419-434.

The Executive Board, American Anthropological Association. (1947). Statement on Human Rights. American Anthropologist, 49(4), 539–543.

UNESCO. (1969). Cultural Policy: a preliminary study [Studies and Documents on Cultural Policies]. Paris: .

UNESCO. (2007). Fribourg Declaration on Cultural Rights.

Vickery, J. (2018). Cultural Rights and Cultural Policy: identifying the cultural policy implications of culture as a human right. Journal of Law, Social Justice and Global Development, 22(2): 128-150.

กรมองค์กรระหว่างประเทศ. (2008). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2564 จาก https://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf

ธนิก เลิศชาญฤทธิ์, (2009). บทความปริทรรศน์หนังสือ สิทธิทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์. วารสารดำรงวิชาการ, 8(2). 116-121.

สิริพร สมบูรณ์บูรณะ, (2017). มานิ : คำถามเรื่องชนพื้นเมืองกับสิทธิทางวัฒนธรรมในสังคมไทย. วารสารไทยคดีศึกษา, 14(1). 299-338.

อมรา พงศาพิชญ์. (2010). สิทธิมนุษยชนในมิติวัฒนธรรม. ใน การประชุมวิชาการ แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน: วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา (น. 8-21). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


ผู้เขียน

สัมพันธ์ วารี

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สิทธิ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ Sociocultural Community Rights สัมพันธ์ วารี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share