30 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กับการสะท้อนความรู้สู่สังคม

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1896

30 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กับการสะท้อนความรู้สู่สังคม

ก้าวแรกของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

           ความเป็นมาของการตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เริ่มในปี พ.ศ. 2532 โดยคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการวิจัยด้านตะวันออกศึกษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่องค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ จะเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระดำริให้นำแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนี้ไปปรึกษากับมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พิจารณาเห็นชอบให้บรรจุโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมานุษยวิทยา ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) โดยมีเป้าหมายให้ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ชนกลุ่มน้อย และเทคนิควิทยาชาวบ้านในประเทศไทย พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนาม “สิรินธร” เป็นชื่อศูนย์ฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2534 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ฯ และเปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์ข้อมูลมานุษยวิทยาสิรินธร” เป็น “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” นับแต่บัดนั้น

           การทำความเข้าใจบทบาทของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในช่วงสามทศวรรษ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะเป็นการมองศูนย์ฯ ในฐานะสถาบันที่สร้างความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งเป็นกระจกสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่นักมานุษยวิทยาได้ไปศึกษาสังคมไทย ซึ่งมีประเด็นและโจทย์ที่ท้าทายแตกต่างกันไป ความรู้ที่ศูนย์ฯ ได้ผลิตและเผยแพร่ต่อสังคมในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อาจช่วยให้เข้าใจบทบาทของนักมานุษยวิทยาและสถานะของศูนย์ฯ ได้พอสมควร การพัฒนาศูนย์ฯ ให้เติบโตต่อไปในอนาคตก็จำเป็นต้องมองย้อนการทำงานที่ผ่านมา เพื่อประเมินว่าความรู้แบบไหนที่สังคมไทยยังขาด จำเป็นต้องเรียนรู้ และศูนย์ฯจะทำหน้าที่ผลิตความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร

 

1. การศึกษา “ท้องถิ่น” ผ่านองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์

           ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่ (ทศวรรษ 2530) สังคมไทยพัฒนาประเทศภายใต้ระบบทุนนิยมที่พึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศและผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก ทำให้ความต้องการที่ดินเพื่อสร้างโรงงานและหมู่บ้านจัดสรรขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ที่ดินภาคเกษตรกรรมถูกขายไปอยู่ในการครอบครองของนายทุน สังคมชนบทจึงได้รับผลกระทบทั้งในเชิงกายภาพและความสัมพันธ์ทางสังคม ช่วงเวลานี้นักมานุษยวิทยาต่างสนใจและหันมาศึกษา “ชุมชนท้องถิ่น” เพื่อวิเคราะห์และอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความยากจน การอพยพย้ายถิ่นของคนชนบทเข้าสู่เมือง การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสื่อมถอยในขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น

           ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมดังกล่าว ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเริ่มต้นการทำงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการที่มีบทบาทต่อการทำงานของศูนย์ฯ ได้แก่ ศาตราจารย์พิเศษศรีศักร วิลลิโภดม และศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ ทั้งสองท่านได้ริเริ่มและบุกเบิกการศึกษาชุมชนท้องถิ่น โดยเข้าไปเรียนรู้และทำงานร่วมกับคนท้องถิ่นในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ฯ จึงเริ่มทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกหวงแหนและเห็นคุณค่าใน “รากเหง้า” และประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมิได้เป็นเพียงอาคารที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณ หากแต่เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นภาคภูมิใจ และรู้เท่าทันการพัฒนาสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตของตัวเอง

 

ส่วนหนึ่งของหนังสือการศึกษาท้องถิ่นผ่านองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ในฐานะที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือพื้นที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน ศูนย์ฯ จึงได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลพิพิธภัณฑ์จำนวน 1,580 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในมิติทางสังคมและวิธีการบริหารจัดการ โดยในปี พ.ศ. 2546-2550 ได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ในขณะนั้น) ซึ่งทำให้เกิดการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายคนทำงานพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคต่างๆ และการจัดพิมพ์หนังสือที่เกิดจากการทำงานวิจัยและการปฏิบัติงานกับชุมชน ได้แก่ ในปี พ.ศ. 2545 พิมพ์หนังสือเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่ ในปี พ.ศ. 2551 พิมพ์หนังสือเรื่องพิพิธภัณฑ์บันทึก, พิพิธภัณฑ์ภาคสนาม, พิพิธภัณฑ์ unlimited และเรือนสีรุ้ง ในปี พ.ศ. 2557 พิมพ์หนังสือเรื่องคนทำพิพิธภัณฑ์ รอยต่อความรู้ท้องถิ่นกับสังคม ในปี พ.ศ.2561 พิมพ์หนังสือพิพิธภัณฑ์บ้าน คุณค่าและความหลากหลาย เป็นต้น

           การจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิชาการและเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนยี่สาร (วันที่ 24 กันยายน 2541) สัมมนาภูมิภาคสัญจรเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนหนองขาว (วันที่ 23 ธันวาคม 2542) สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องสามโคกกับความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (วันที่ 11 มีนาคม 2543) สัมมนาภูมิภาคสัญจรเรื่องความรู้และความเข้าใจใหม่จากการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ณ พิพิธภัณฑ์จันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ (วันที่ 28 ตุลาคม 2543) การเสวนาสัญจรเรื่อง พิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ในท้องถิ่น เยี่ยมเรือนเยือนถิ่นไทยเบิ้งไทยยวน (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545) การประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ล้านนา (วันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2557) เป็นต้น

           ในการพัฒนาองค์ความรู้ ศูนย์ฯ ได้สนับสนุนให้มีการทำวิจัย เช่น การศึกษาความสำเร็จในกระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จ.ลำพูน โดยชัชวาลย์ ทองดีเลิศ (2555) การศึกษาพิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา โดย ศ.พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม (2555) การศึกษาพื้นที่องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดแดงธรรมชาติ โดย ผศ.ดร.สิริพร สมบูรณ์บูรณะ (2545) รวมทั้งได้จัดเวทีเพื่ออภิปรายและนำเสนอความรู้เกี่ยวกับมิติสังคมของพิพิธภัณฑ์ เช่น การสัมมนาวิชาการเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย (วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2539) การสัมมนาเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่ (วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2544) การประชุมนานาชาติเรื่อง Cross-Cultural Perspective on Museums and Communities (วันที่ 28-29 กันยายน 2548) การประชุมนานาชาติเรื่อง Cross-Cultural Perspective on Museums and Communities (วันที่ 28-29 กันยายน 2548) การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องพิพิธภัณฑ์กับมรดกทางภูมิปัญญา (Intangible Cultural Heritage and Museums) วันที่ 23 สิงหาคม-5 กันยายน 2552 ณ จ.ลำพูน การเสวนาเวทีระดมพลัง ระดมความคิด เพื่อชีวิตพิพิธภัณฑ์ (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552)

           รวมทั้งการสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในชุมชนของตนเอง เช่น ในปี พ.ศ. 2535-2537 สนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี การจัดกิจกรรมที่สร้างพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ฟังเรื่องเล่า ฟื้นความหลัง สร้างพลังท้องถิ่น (วันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2551) เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ครั้งที่ 2 สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น (วันที่ 25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2553) เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ครั้งที่ 3 ภูมิรู้สู้วิกฤต (วันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2555) มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศรัทธา-สักการะ ความเชื่อ ภูมิปัญญาสู่วิถีชีวิตล้านนา ณ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา (วันที่ 27-29 มกราคม 2559) มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ ทักษิณถิ่นไทย ใต้ร่มพระบารมี ณ วัดคลองแห อ.เมือง จ.สงขลา (วันที่ 26-28พฤษภาคม 2560) มหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน ณ วัดเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (วันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2562) กิจกรรมเหล่านี้คือภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าศูนย์ฯ พยายามทำให้สังคมหันกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในฐานะเป็นรากฐานที่จะทำให้ชุมชนมีความมั่นคง โดยใช้ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” เป็นเครื่องมือที่กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนให้คนท้องถิ่นร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม

 

บรรยากาศในงานมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน ณ วัดเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน

จ.เชียงราย วันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2562

 

           แนวคิดสำคัญที่อาจารย์ศรีศักรได้เสนอไว้ และยังคงมีความสำคัญมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การดำรงอยู่ของชุมชนท้องถิ่น คือการเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่คนต่างกลุ่มมีส่วนสร้างและขับเคลื่อน “วัฒนธรรม” ให้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการมีสำนึกที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกวัฒนธรรมมิใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง คุณค่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะช่วยให้คนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ปรับตัว และดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว อาจกล่าวได้ว่าการทำงานของศูนย์ฯ ได้อิทธิพลความคิดเรื่อง “วัฒนธรรมท้องถิ่น” และเป็นจุดยืนทางวิชาการที่วางรากฐานการทำงานของศูนย์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง

 

2. การศึกษาพลวัตชาติพันธุ์และสิทธิทางวัฒนธรรม

 

 

           ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจศึกษา และพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้สังคมเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และผลักดันให้เกิดมาตรการปกป้องคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงโอกาสและสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง พร้อมทั้งการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความภูมิใจและธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง งานศึกษาชาติพันธุ์ในระยะแรกๆ ของศูนย์ฯ จึงมุ่งไปที่การเก็บรวบรวมประเพณีความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังสูญหาย เช่น ในปี พ.ศ. 2540 มีการบันทึกวีดิทัศน์พิธีฆ่าควายเลี้ยงผีของชาวขมุเมืองน่าน พิธีกรรมเซ่นตะกวดของชาวกูยบ้าน ตรึม จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2541 บันทึกวีดิทัศน์พิธีเลี้ยงข่วงผีฟ้า จังหวัดกาฬสินธุ์ พิธีเลี้ยงข่วงหมอลำธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ และพิธีสรงกู่คันธนาม จังหวัดร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2541 เริ่มการจัดทำฐานข้อมูลชาติพันธุ์ในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2546 จัดทำฐานข้อมูลการวิจัยทางชาติพันธุ์

           ในการรวบรวมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้พบว่า การจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์จำเป็นต้องเข้าใจคำเรียกชื่อและคำนิยามที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ในปี พ.ศ. 2552 ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล จึงตั้งคณะทำงานโดยมี ผศ.ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์และงานวิจัยทางชาติพันธุ์ให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำเรียกที่คนอื่นใช้ กับคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้นิยามตนเอง จากการพัฒนาฐานข้อมูลนี้ทำให้พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในดินแดนประเทศไทยมีจำนวน 63 กลุ่ม จากจุดนี้ทำให้ศูนย์ฯ เห็นสภาพปัญหาของการจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบางกลุ่มก็มีชื่อเรียกที่หลากหลาย และอาจมีเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจมีวัฒนธรรมร่วมกันกลายเป็นกลุ่มที่แยกจากกัน ในปี พ.ศ. 2551 ศูนย์ฯ จึงจัดเวทีให้นักวิชาการได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งตีพิมพ์หนังสือเรื่องปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ” ในปี พ.ศ. 2555 เพื่ออธิบายให้เห็นความเป็นมาของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าลัวะ

           การศึกษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์ในมิติของการเปลี่ยนแปลงและการติดต่อเชื่อมโยงข้ามพรมแดนชาติ คือสิ่งที่สังคมควรตระหนักรู้ ศูนย์ฯ จึงสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยในประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญ ได้แก่ การศึกษาชีวิตของกลุ่มมันนิในเขตรอยต่อประเทศไทยกับมาเลเซีย โดย ผศ.ดร.สิริพร สมบูรณ์บูรณะ (2558) ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร (2562) การศึกษาและสำรวจถิ่นอาศัยของชาวกะเหรี่ยงในภูมิภาคตะวันตกของไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา โดย ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์ ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ และ ดร.นัฐวุฒิ สิงห์กุล (2562) และการศึกษาสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง และซำเรในเขตจังหวัดตราดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดย ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ (2559) การศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวมอญและไทดำในจังหวัดสมุทรสาคร โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ (2561) การศึกษาเหล่านี้ทำให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีการเคลื่อนย้ายและมีครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติมายาวนาน

           ประเด็นเรื่องความเป็นมาของคนไทย รวมถึงเอกลักษณ์ของชาติและวัฒนธรรม คือโจทย์ที่ท้าทายและควรได้รับการตรวจสอบเพื่อที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่า “คนไทย” และ “ชาติไทย” เป็นผลจากการเมืองและวาทกรรมของรัฐไทยสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2546 ศูนย์ฯ จึงจัดเวทีวิชาการระดับชาติในหัวข้อ “ชาติและชาติพันธุ์” วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน (วันที่ 26-28 มีนาคม 2546) เพื่อให้เกิดการอภิปรายและถกเถียงเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เป็นส่วนประกอบของความเป็นชาติ องค์ความรู้จากเวทีวิชาการในครั้งนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามและการตรวจสอบนโยบายของรัฐและวาทกรรมความเป็นไทย ที่ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นคนชายขอบ หรือเป็น “คนอื่น” ที่ไม่ไดรับสิทธิและการเข้าถึงโอกาสต่างๆ พร้อมทั้งมีการจัดพิมพ์หนังสือจากเวทีวิชาการ 3 เล่ม คือ ว่าด้วยแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์, ความเป็นไทย/ความเป็นไท และวาทกรรมอัตลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2559 มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่องไทในไทย พลวัตชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าความเป็นคนไทย มิได้มีเอกภาพ แต่เป็นส่วนผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่มีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน

 

ส่วนหนึ่งของหนังสือการศึกษาชาติพันธุ์ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ศูนย์ฯ ได้จัดเวทีวิชาการในหัวข้อ “เฝ้าระวังรัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน” โดยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบอำนาจของรัฐที่ซ่อนเร้นและควบคุมชีวิตของประชาชน แรงงานข้ามชาติ คนพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2557 ศูนย์ฯ ได้จัดประชุมวิชาการในหัวข้อ เสียงแห่งชาติพันธุ์ในโลกเสรีนิยมใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบองค์ความรู้และปรากฎการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ส่งผลต่อการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ เวทีนี้ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการ เนื่องจากท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกและการบริโภคสินค้าในยุคเสรีนิยมใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มิได้เป็นเพียงผู้ถูกกดทับแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยังสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่มาสร้างอัตลักษณ์และเครือข่ายสังคมในรูปแบบใหม่ๆ องค์ความรู้จากเวทีนี้ ศูนย์ฯ ได้พิมพ์หนังสือออกมา 2 เล่ม ได้แก่ ชาติพันธุ์กับเสรีนิยมใหม่ และชาติพันธุ์ใต้อำนาจ

           ในทศวรรษ 2530-2540 ความสนใจในระดับนานาชาติเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังถูกคุกคามจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้ชนพื้นเมืองทั่วโลกถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะการสูญเสียที่ดินทำกินและถิ่นอาศัย ซึ่งมีผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมที่สร้างอัตลักษณ์ให้กลุ่มชนพื้นเมือง ในปี พ.ศ. 2536 องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้เป็นปีสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก พร้อมกับการยกร่างปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ประกาศให้ปี พ.ศ. 2538-2547 เป็นทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมือง และประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก การตระหนักถึงสิทธิและการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองนี้ คือสัญญาณที่ทำให้ทุกประเทศต้องมีแนวทางช่วยเหลือและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศของตน

           กรณีของประเทศไทย รัฐบาลเริ่มมีนโยบายเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเลในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทำให้ศูนย์ฯ เข้าไปมีบทบาทในการให้ข้อมูลความรู้เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการและแผนการปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง การทำงานร่วมกันดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษ ที่จะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในถิ่นอาศัยดั้งเดิมและมีสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่จิตวิญาณ ซึ่งเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จากความพยายามนี้ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 มีการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจำนวน 13 พื้นที่ นอกจากนั้นยังผลักดันให้เกิดการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นความหวังสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์ที่จะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิของพวกเขา

 

เทศกาลวิถีภูมิปัญญาชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “หมุนเวียนอย่างยั่งยืน”

 

           ตลอดช่วงทศวรรษ 2550 ถึงต้นทศวรรษ 2560 ศูนย์ฯ มีเวทีวิชาการและกิจกรรมที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์หลายครั้ง เช่น การประชุมวิชาการหัวข้อ หลากหลายเรื่องราวชาวเล เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 การจัดเทศกาลวิถีภูมิปัญญาชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหมุนเวียนอย่างยั่งยืน วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561 เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่พึ่งพาอาศัยและดูแลรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ การเสวนาเรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล มองย้อนสะท้อนบทเรียน 10 ปี มติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล วันที่ 2 มิถุนายน 2563 การประชุมเชิงปฏิบัติการสถานการณ์สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ชาติพันธุ์และความคุ้มครองทางกฎหมาย และการสัมมนาเรื่องกรอบการร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย วันที่ 10-12 กรกฎาคม 2563

           อย่างไรก็ตาม ในการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์ การเรียนการสอนในห้องเรียนภายใต้ระบบการศึกษาของไทยอาจไม่เพียงพอและยังไม่มีหลักสูตรที่เหมาะสมในการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศูนย์ฯ จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนหลากหลายรูปแบบ เช่น ในปี พ.ศ. 2547 จัดเทศกาลมานุษยวิทยาและภาพยนตร์ เรื่อง ชาติพันธุ์วิทยาบนแผ่นฟิล์ม และการประกวดภาพยนตร์ชาติพันธุ์ขนาดสั้น หัวข้อ “คือคน” เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มคนชายขอบและชาติพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2549 จัดการอบรมผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2561 จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและประกวดสื่อสร้างสรรค์เพื่อความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ ภายใต้แนวคิด “ความเคารพ” เป็นต้น

           ท่ามกลางการพัฒนาที่มุ่งไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ประกอบกับมายาคติเกี่ยวกับความเป็นไทย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่มานานในประเทศไทยกลายเป็นคนที่เสียเปรียบ รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย1  ซึ่งมีบทบาทสำคัญและร่วมทำงานกับศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าปัญหาสำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันแก้ คือ อคติทางชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในนโยบายรัฐ ระบบราชการ และระบบการศึกษา ทำให้การส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ดังนั้น นอกเหนือจากกลไกทางกฎหมายแล้ว การเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของภาครัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์ยังเป็นสิ่งจำเป็น

 

3. การเรียนรู้อดีตและสร้างความยั่งยืนในมรดกวัฒนธรรม

           ประวัติศาสตร์คือบทเรียนและเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ หากมนุษย์ไม่มองย้อนดูสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มนุษย์ก็อาจมองข้ามการกระทำที่เคยสร้างความสำเร็จและความล้มเหลวให้ตัวเราและสังคม ประเด็นดังกล่าวคือเรื่องที่ศูนย์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการรวบรวมข้อมูลและศึกษาความรู้จากอดีตผ่านศิลปะ จิตรกรรม ภาษา วรรณกรรม จารึก เอกสารโบราณ และหลักฐานทางโบราณคดี ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2541 ศูนย์ฯ ร่วมมือกับภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม ให้คำแนะนำในการทำฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีข้อมูลจารึกจำนวน 3,023 รายการ รวมทั้งมีการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนจารึก 1,431 แผ่น เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of The World) ในบัญชีนานาชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

 

ส่วนหนึ่งในฐานข้อมูลทางมรดกวัฒนธรรมของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต นอกจากจะทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของคนในช่วงเวลาต่างๆ แล้ว ยังทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในช่วงเวลานั้นๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดเวทีวิชาการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยต่อสังคม เช่น ในปี พ.ศ. 2538 มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องสถานภาพของความรู้ด้านโบราณคดีของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา (วันที่ 22-25 สิงหาคม 2538) การสัมมนาวิชาการเรื่องสืบสายพันธุ์มนุษย์ (วันที่ 31 กรกฎาคม 2549) การสัมมนาเรื่องมนุษย์กับภาชนะดินเผา จากอดีตกาลสู่โลกสมัยใหม่ (วันที่ 24 สิงหาคม 2550) และการสัมมนาเรื่องมรดกภูมิปัญญาของชาติ บทเรียนจากเพื่อนบ้าน (วันที่ 27 มกราคม 2560)

           ในช่วงทศวรรษ 2540 ความสนใจระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) เริ่มปรากฏอย่างชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2546 องค์การยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) โดยให้ประเทศภาคีจัดทำรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และดำเนินการเพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ สำหรับประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 โดยได้จำแนกประเภทมรดกวัฒนธรรมเป็น 6 ประเภท คือ 1) วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2) ศิลปะการแสดง 3) แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมประเพณีและเทศกาล 4) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 5) งานช่างฝีมือดั้งเดิม 6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

           เอกสารโบราณซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นแหล่งความรู้และภูมิปัญญาของคนในอดีต ในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์ฯ มีการรวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีจำนวนเอกสาร 503 รายการ ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรมเห็นความสำคัญและมีทักษะในการอนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการเอกสารโบราณเมื่อวันที่ 16-18 สิงหาคม 2560 นักวิชาการศูนย์ฯ คือ ดร.ตรงใจ หุตางกูร ได้ร่วมมือกับ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมมือดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านประวัติศาสตร์จากเอกสารโบราณ ได้แก่ ในปี พ.ศ. 2557 การประมวลศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระยาลิไทย (พ.ศ. 1890-1914) โดยมีการตรวจสอบแก้ไขคำอ่านเดิมและการแปลความใหม่เพื่อให้เข้าใจพระราโชบายด้านการเมืองการปกครอง การศาสนา คติความเชื่อในสังคมสุโขทัย การศึกษาโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้ (ลพบุรี) ปี พ.ศ. 2559 การศึกษา “อุปาทวาทศมาสโคลงดั้น” หรือ “โคลงทวาทศมาส” เป็นโคลงดั้นที่เก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น กวีพรรณนาถึงการพลัดพรากจากหญิงคนรักในรอบหนึ่งปี โดยใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบเปรียบเทียบอารมณ์และความรู้สึกร่วมระหว่างกวีกับผู้อ่านผ่านสื่อกลางคือ “ความโหดร้ายของฤดูกาล” กับ “ความรื่นเริงยินดีของเทศกาล” ที่เปลี่ยนไปในแต่ละเดือน

 

การจัดอบรมมัคคุเทศก์ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

           ในปี พ.ศ. 2560 มีการศึกษาการปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ปี พ.ศ. 2561 การศึกษาแผนที่โบราณที่เกี่ยวข้องกับเอเชียอาคเนย์ การสำรวจองค์ความรู้ระเบียงเศรษฐกิจยุคโบราณของเอเชียอาคเนย์จากแผนที่โบราณ การแปลเอกสารจีนและอาหรับโบราณที่เกี่ยวข้องกับเอเชียอาคเนย์ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ของผู้คนนานาชาติในการค้าสากลยุคโบราณจากแอฟริกาถึงเอเชียอาคเนย์ ปี พ.ศ.2563 การตรวจสอบพิกัดภูมิศาสตร์ของสถานที่พบและสถานที่เก็บรักษาของศิลาจารึกรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษากฎหมายมังรายศาสตร์ โลกทัศน์ล้านนาจากอดีต จัดการอบรมวิชาการเรื่องสุโขทัยคดีในมิติประวัติศาสตร์ จารึกศึกษาและนิรุกติประวัติ ในปี พ.ศ. 2564 ดำเนินการจัดอบรมมัคคุเทศก์เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัยที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก การศึกษากาลานุกรมเอกสารโบราณเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์ จากเอกสารอินเดียโบราณ จีน อาหรับ-เปอร์เซีย และยุโรป การแปลเอกสารโบราณเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์จากต้นฉบับภาษาอาหรับ-เปอร์เซีย ในช่วงศตวรรษที่ 9-11 การแปลเอกสารโบราณจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต เรื่อง “วายุปุราณะ” การแปลเอกสารชวาโบราณ เรื่อง “นาครกฤตาคม” การศึกษาเอกสารโบราณเรื่อง “กฏหมายหลักชัย” และ “เที่ยวเมืองพระร่วง”

           ส่วนมรดกวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การแสดงพื้นบ้าน งานฝีมือ พิธีกรรม ความเชื่อ ประเพณีท้องถิ่น นิทานและคติชาวบ้าน ศูนย์ฯ เห็นความสำคัญและพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ ฐานข้อมูลของเล่นพื้นบ้านในประเทศไทย ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม ฐานข้อมูลเรือนพื้นถิ่นในประเทศไทย ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ฐานข้อมูลภาชนะดินเผาในประเทศไทย ฐานข้อมูลนิทาน ตำนาน เรื่องเล่าพื้นบ้าน ฐานข้อมูลสังคม-วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฐานข้อมูลมานุษยวิทยากายภาพ ฐานข้อมูลภูมินามสมุทรสาคร ฐานข้อมูลศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์สมุทรสาคร และฐานข้อมูลแผนที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์สาครบุรี

           รวมทั้งในปี พ.ศ. 2550 ศูนย์ฯ ร่วมมือกับสถาบันสมิธโซเนียนในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรมและตัวแทนชาวบ้านจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และยูนนาน ประเทศจีน เพื่อคัดเลือกและจัดทำข้อมูลมรดกวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในบริเวณลุ่มน้ำโขง และได้นำตัวแทนชาวบ้าน 58 คน จาก 5 ประเทศ ไปร่วมงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน แม่น้ำโขง เชื่อมสายใยวัฒนธรรม ณ กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 9 กรกฎาคม 2550 และในปี พ.ศ. 2553 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนภาคสนามฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับคนท้องถิ่นใน จ.ลำพูน มีความรู้และความเข้าใจสิทธิทางวัฒนธรรม และการรักษามรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้ายกดอกที่วัดต้นแก้ว การอนุรักษ์ประเพณีสลากย้อมที่วัดประดู่ป่า การอนุรักษ์ประเพณีสืบชะตาที่ชุมชนบ้านหลุก และการอนุรักษ์เรื่องราวของครูบาศรีวิชัยที่วัดจามเทวี รวมถึงการจัดเวทีวิชาการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ได้แก่ การเสวนาวิชาการเรื่องร่ายรำในเงาสลัว ความเคลื่อนไหวของสิทธิทางวัฒนธรรมยุคหลังรัฐชาติ (วันที่ 19 มิถุนายน 2553) การสัมมนาวัฒนธรรมกับสิทธิ ณ จังหวัดภูเก็ต (วันที่ 23 พฤษภาคม 2555) การสัมมนาโรงเรียนภาคสนาม Safeguarding Intangible Cultural Heritage in Asia Pacific (วันที่ 6-10 สิงหาคม 2555) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานของผู้ที่เคยเข้าอบรมจากประเทศไทย เวียดนาม จีน และภูฏาน และการอบรมโรงเรียนภาคสนามในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอ เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ วันที่ 11-17 สิงหาคม 2556 เพื่อให้ชาวบ้านเรียนรู้การอนุรักษ์และสืบทอดงานทอผ้าไหม การทำเครื่องเงิน การเล่นดนตรีกันตรึม และการแพทย์พื้นบ้าน

           ความสำคัญของการส่งเสริมอนุรักษ์และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มิใช่เพียงการเก็บรักษาหรือขึ้นทะเบียนมิให้สูญหาย แต่ยังเป็นการทำให้สังคมไทยตระหนักรู้ว่าในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มีความหลากหลายทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยให้คนท้องถิ่นเกิดความรัก หวงแหน เห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเอง ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการทำให้ผู้คนไม่ยึดติดอยู่แต่เพียงวัฒนธรรมชาติที่ถูกสร้าขึ้นจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่หันมามองวัฒนธรรมท้องถิ่นที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของ และมีสิทธิที่จะแสดงออกในวิถีที่เขาเลือกได้ ดร.อเล็กซานดรา เดนิส นักมานุษยวิทยาที่ร่วมทำงานในโครงการโรงเรียนภาคสนาม เคยอธิบายว่าหัวใจของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม คือการที่รัฐในแต่ละประเทศมองเห็นคุณค่าของคนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐควรมีมาตรการที่ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นมีสิทธิในการธำรงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของพวกเขาได้อย่างยั่งยืน

 

4. ความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในการเปลี่ยนผ่านทางสังคม

           ในช่วงที่สังคมไทยกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงเวลานั้นนักวิชาการไทยคาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย ประกอบกับรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างชาติ มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบถนนและทางด่วนในกรุงเทพมหานคร มีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายเปิดตลาดเงิน ปล่อยให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศปริมาณมากเกินควบคุม การพัฒนาที่รวดเร็วเหล่านี้ได้หยุดชะงักลงในปี พ.ศ. 2540 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ หรือรู้จักในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ผลที่ตามมาก็คือรัฐบาลไทยต้องทำให้ค่าเงินบาทลอยตัว ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ปัญหานี้ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้ามาสร้างกฎระเบียบทางการเงินให้กับไทย

           ในเชิงสังคมจากปัญหาขาดทุนในอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนายทุนภาคเอกชนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้มีหนี้สินและล้มละลาย บ้านจัดสรรและคอนโดมีเนียมจำนวนมากถูกทิ้งร้างและสร้างไม่เสร็จ การกว้านซื้อที่ดินในภาคเกษตรกรรมมาเป็นที่ดินในภาคอุตสาหกรรม พาณิชย กรรมและที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านท้องถิ่นต้องสูญเสียที่ดินและนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็น ลูกจ้างในบริษัทเอกชนต้องถูกให้ออกจากงานและมีหนี้สินติดตัวจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวทำให้นักมานุษยวิทยาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทย ทำให้กลไกของท้องถิ่นสูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของวัดและชุมชน ศูนย์ฯ เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงจัดเวทีวิชาการขึ้น ได้แก่ การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาระดับประเทศ ครั้งที่ 1 เรื่อง คนมองคน นานาชีวิตในกระแสความเปลี่ยนแปลง (วันที่ 27-29 มีนาคม 2545) ครั้งที่ 5 วัฒนธรรมบริโภค-บริโภควัฒนธรรม (วันที่ 29-31 มีนาคม 2549) ครั้งที่ 6 เฝ้าระวังรัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน (วันที่ 28-30 มีนาคม 2550) การสัมมนาวิชาการเรื่องธนบุรีในวัฎจักรการเปลี่ยนแปลง (วันที่ 2-3 มีนาคม 2561) ในปี พ.ศ. 2543 ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเรื่องภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน

           ในช่วงหลัง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” สังคมไทยเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และกระแสวัฒนธรรมบริโภคข้ามพรมแดน ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย เพื่อที่จะทำความเข้าใจชีวิตของคนธรรมดาเหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีการแบ่งแยกและความไม่เท่าเทียมทางสังคมเกิดขึ้น ศูนย์ฯ จึงส่งเสริมให้มีการศึกษาโดยในปี พ.ศ. 2544 ส่งเสริมการทำวิจัยประสบการณ์ชีวิตคนเมือง 6 กรณีศึกษา คือ คนเก็บขยะ, คนชรา, วัยรุ่น, เด็กข้างถนน, หญิงรักหญิงและเกย์ ในปี พ.ศ. 2546 ส่งเสริมการทำวิจัยในประเด็นวัฒนธรรมป๊อป เพื่อทบทวนแนวคิดทฤษฎีและวิเคราะห์ชีวิตของวัยรุ่นที่นิยมเพลงญี่ปุ่น การอ่านการ์ตูน และการจัดแสดงงานศิลปะ ในปี พ.ศ. 2547 ส่งเสริมการทำวิจัยเรื่องตลาดกับชีวิตเพื่อทำความเข้าใจชีวิตและสังคมของผู้ค้าขายและผู้จับจ่ายใช้สอย ในปี พ.ศ. 2549 ส่งเสริมการทำวิจัยในประเด็นวัฒนธรรมต่อต้าน ในปี พ.ศ. 2550 ส่งเสริมการทำวิจัยการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย พ.ศ. 2500-2550 ศึกษาผ่านประวัติของหลายชีวิตในชุมชน ในปี พ.ศ. 2555 และปี พ.ศ. 2559 ส่งเสริมการทำวิจัยในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ในปี พ.ศ. 2562 จัดเวทีวิชาการในหัวข้อมนุษย์ในโลกดิจิทัล เพื่อทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสังคมออนไลน์และการใช้สื่อดิจิทัลในชีวิตประจำวัน

 

หนังสือทักษะวัฒนธรรม

 

           นอกจากนั้น ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา นราธิวาส และปัตตานี ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการใช้อาวุธที่สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตคนและทรัพย์สินจำนวนมาก ศูนย์ฯ เห็นว่าปัญหานี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นกรอบในการอธิบายจึงได้จัดการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 4 เรื่องวัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง (วันที่ 23-25 มีนาคม 2548) ร่วมกับศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา จัดสัมมนาเรื่องอนาคตไฟใต้ สื่อ ทหาร เด็ก และทักษะวัฒนธรรม (วันที่ 30 เมษายน 2551) ในปี พ.ศ. 2548 จัดการประกวดภาพยนตร์/วิดิทัศน์ขนาดสั้น หัวข้อ “สันติวัฒนธรรม” และเทศกาลภาพยนตร์เรื่อง คน สงคราม สันติภาพ ปี 2552 จัดพิมพ์หนังสือทักษะวัฒนธรรม เพื่อแนะนำวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนชายแดนใต้ ในปี พ.ศ. 2553-2555 ส่งเสริมการวิจัยในประเด็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ท่ามกลางความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2554 ส่งเสริมการทำวิจัยในประเด็นความขัดแย้งและพหุวัฒนธรรมนิยม ปี พ.ศ. 2559 จัดอบรม “ทักษะวัฒนธรรมกับการจัดการความขัดแย้ง” ปี พ.ศ. 2560 จัดโครงการหนังสั้นเล่าเรื่องชีวิต ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ขัดกันฉันมิตร ในปี พ.ศ. 2562 ร่วมกับคณะวิทยากรสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และโรงเรียนสะบารัง จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการผลิตภาพยนต์สั้นสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรม สามจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับเยาวชนในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา

           ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ซึ่งผลักดันให้เกิดการวิจัยและเวทีวิชาการเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในประเด็นปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยและสื่อจำนวนมากยังมองชาวมุสลิมในภาคใต้ในเชิงลบ จึงทำให้เกิดการตีตรา ดูหมิ่นเหยียดหยาม และปฏิเสธการดำรงอยู่ของชาวมุสลิมในสังคมไทย แต่ถ้าคนในสังคมมีทักษะทางวัฒนธรรม เข้าใจประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนอื่นที่แตกต่างไปจากตนเอง ก็อาจเป็นหนทางที่จะช่วยลดอคติและความขัดแย้งได้ ส่วน ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง2  นักมานุษยวิทยาที่มีส่วนในการเขียนหนังสือทักษะวัฒนธรรม และมีบทบาทในการพัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมมุสลิม ให้ความเห็นว่าการแสดงความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมอาจดูได้จาก “คำพูด” และข้อเขียนที่แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น การส่งเสริมให้คนในสังคมเข้าใจชาวมุสลิมในฐานะเพื่อนมนุษย์จะช่วยให้ลดการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังลงได้

 

โครงการหนังสั้นขัดกันฉันมิตร หนึ่งในการทำความเข้าใจประเด็นทักษะวัฒนธรรม

 

           ประเด็นการสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 เป็นเรื่องที่สังคมไทยตื่นตัวและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ก็มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนไทยเตรียมตัวเพื่อที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในประเด็นนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเมื่อผู้คนจากประเทศในอาเซียนมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกัน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม สังคมอาเซียนจะอยู่ร่วมกันในลักษณะใด จะมียอมรับความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด และคนกลุ่มไหนที่จะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน เพื่อที่จะทำความเข้าใจความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ศูนย์ฯ จึงส่งเสริมให้เกิดเวทีวิชาการ ได้แก่ การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 อาเซียน จินตภาพประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้งและความหวัง (วันที่ 28-30 มีนาคม 2555) ในปี พ.ศ. 2557 จัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้วิถีชีวิตและแบบแผนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในคนกลุ่มต่างๆ ในประเทศอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องการแสดงพื้นบ้านในอาเซียน (วันที่ 4-6 กันยายน 2558) เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการในภูมิภาคอาเซียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ทักษะการแสดงพื้นบ้านของคนท้องถิ่นที่แตกต่างกัน รวมทั้งในปี พ.ศ. 2557 ได้จัดพิมพ์หนังสือชุดความรู้จากคนสู่ประชาคม เรียนรู้อาเซียนในมิติวัฒนธรรม ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม คือ 1) หน้าต่างกระบวนทัศน์ 2) อาเซียนหลากมุมมอง และ 3) ผู้คนบนสำนึกอาเซียน

 

เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ปี 2017

 

           สังคมไทยในช่วง 3 ทศวรรษได้เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง การอพยพข้ามพรมแดนของผู้คน การขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม และการจัดตั้งประชาคมอาเซียน เรื่องราวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมในทุกระดับ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและยังดำเนินต่อมาถึงปัจจุบันก็คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ขยายกว้างมากขึ้น อันเนื่องมาจากทิศทางการพัฒนาประเทศที่ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์3  เคยแสดงความเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่สัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับอุดมการณ์ของเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) แต่เสรีนิยมใหม่ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจที่เน้นความสำคัญของตลาดที่ปล่อยให้มีการค้าขายเสรี และทำให้ทรัพยากรเปลี่ยนไปเป็นสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐจะเข้ามาควบคุมและสั่งการ สภาวะดังกล่าวนี้บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และเป็นสาเหตุของความไม่เป็นธรรมในสังคม

 

5. การพึ่งตนเองของชุมชนด้วยข้อมูลวัฒนธรรม

           ในช่วงทศวรรษ 2550 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ที่มีเป้าหมายนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน เป็นธรรมเสมอภาค อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือการรู้จักตัวเอง ใช้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ชุมชนสามารถนำความรู้มาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลและสร้างสรรค์ โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลความรู้ให้มีระบบและมาตรฐาน แนวคิดดังกล่าวนี้สอดคล้องกับทิศทางการทำงานของศูนย์ฯ ที่ต้องการให้ชุมชนท้องถิ่นมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม

           ความรู้ที่ท้องถิ่นจำเป็นต้องพัฒนาก็คือทักษะการจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2546 ศูนย์ฯ จึงร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติและเครือข่าย Pacific Neighbourhood Consortium จัดการประชุมนานาชาติเรื่องการใช้เทคโนโลยีในงานวัฒนธรรม (วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2546) ในปี พ.ศ. 2552 มีการจัดประชุมนานาชาติเรื่องจดหมายเหตุวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล (Archiving Culture in the Digital Age) (วันที่ 6-7 สิงหาคม 2552) และในปี พ.ศ. 2559 มีการสัมมนาเรื่องการจัดการข้อมูลงานวิจัยในยุคดิจิทัล (วันที่ 23 สิงหาคม 2559) เวทีวิชาการดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ผู้ปฎิบัติงานวัฒนธรรม รวมถึงผู้รู้และผู้นำในชุมชน ซึ่งต้องการทำให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำเทคโนโลยีไปช่วยจัดระบบข้อมูลวัฒนธรรมได้อย่างมีคุณภาพ

           ประเด็นสำคัญในการจัดการข้อมูลวัฒนธรรม คือ การเคารพและให้สิทธิแก่เจ้าของวัฒนธรรมในการใช้ประโยชน์และเผยแพร่ความรู้เหล่านั้น การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆจัดการข้อมูลวัฒนธรรมให้เป็นระบบ ไม่เพียงแต่เป็นการเก็บรักษาข้อมูลให้มีความยั่งยืน แต่ยังเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเจ้าของวัฒนธรรมที่สามารถใช้ข้อมูลและความรู้ในท้องถิ่นมาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ประเด็นเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยอธิบายว่าสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม สร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง

 

ส่วนหนึ่งจากเครือข่ายคลังข้อมูลชุมชน

 

           ในการทำงานร่วมกับชุมชนและการพัฒนาคนท้องถิ่นให้มีทักษะในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลด้านวัฒนธรรมให้เป็นระบบ ในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์ฯ จึงดำเนินโครงการมานุษยวิทยาเดินดิน เพื่อให้คนท้องถิ่นนำเทคนิคและวิธีการแบบนักมานุษยวิทยาไปใช้ในการศึกษาและเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ ทำแผนที่และปฏิทินชุมชน การทำแผนผังเครือญาติ การเก็บข้อมูลภูมิปัญญาและมรดกวัฒนธรรมในชุมชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคลังข้อมูลชุมชนและเครือข่ายข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูล พัฒนาการจัดการและดูแลข้อมูลชุมชน ซึ่งมีชุมชนท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการ 24 ชุมชน โดยศูนย์ฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ตัวแทนชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการข้อมูล เก็บและบันทึกข้อมูล และการเขียนรายงานข้อมูล ในการอบรมดังกล่าว ตัวแทนชุมชนต่างๆ จะมีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ของชุมชนอื่นและนำมาปรับปรุงและพัฒนาการจัดการข้อมูลของตนเองให้ดีขึ้น

           อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมยังมีขอบเขตความรู้และข้อถกเถียงอีกหลายประการ เรื่องที่สำคัญคือ เมื่อเอ่ยคำว่า “สิทธิ” เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ในขณะเดียวกันคำว่า “วัฒนธรรม” จะหมายถึงแก่นแท้และเอกภาพของคนหรือไม่ หรือเป็นวิธีปฏิบัติที่หลากหลายที่บุคคลเลือกที่จะใช้เพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวอาจทำให้เกิดการทบทวนนิยามของคำว่า “สิทธิ” และ “วัฒนธรรม” ที่แม้แต่คนในชุมชนเดียวกันหรือมีวัฒนธรรมร่วมกันก็อาจมิได้แสดงอัตลักษณ์ในแบบเดียวกันเสมอไป ทั้งนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงความแตกต่างทางชนชั้น ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฎอยู่ในชุมชน ข้อพิจารณาเหล่านี้อาจทำให้การมอง “สิทธิ” และ “วัฒนธรรม” ไม่เป็นภาพตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

บทส่งท้าย

           โลกและสังคมไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่เพียงแต่ความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ยังรวมถึงการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบใหม่ๆ ที่มนุษย์มีต่อกันและต่อระบบนิเวศน์ทั้งหมด ในการทำงานก้าวต่อไปของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อาจต้องแสวงหาวิธีการทำงานใหม่ๆ การสร้างความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานใหม่ๆ และอาศัยองค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ๆ เพื่อที่จะวิเคราะห์ปัญหาสังคมที่ซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติและแรงงานข้ามชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง ช่องว่างของคนต่างรุ่น สังคมผู้สูงอายุ ภัยธรรมชาติ โรคระบาดอุบัติใหม่ ความสัมพันธ์หลากสายพันธุ์ ภารกิจด้านมนุษยธรรมและคุณค่าทางจริยธรรม ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา บทเรียนที่สำคัญสำหรับศูนย์ฯ คือการพยายามทำให้ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมช่วยถ่วงดุลความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เพื่อมิให้การพัฒนากระแสหลักชี้นำสังคมให้เดินไปด้วยระบบทุนนิยมแบบสุดโต่ง ศูนย์ฯ จึงต้องไม่มองข้ามทิศทางการพัฒนาประเทศและควรสนับสนุนให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนแก้ปัญหาสังคมและทำงานเพื่อสาธารณะ

           ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านสังคมไม่มากนัก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างและพัฒนาความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ด้วยลักษณะการทำงานแบบมานุษยวิทยาที่มิได้ผลิตความรู้แบบสำเร็จรูปและให้คำตอบเชิงสถิติที่ตายตัว อาจจะเป็นเรื่องยากที่รัฐจะนำความรู้มานุษยวิทยาไปใช้พัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่ในท่าทีเชิงวิพากษ์วิจารณ์และเข้าถึงประสบการณ์ตรงของมนุษย์ ก็เป็นจุดแข็งที่ทำให้ความรู้มานุษยวิทยาช่วยสะท้อนปัญหาสังคมและความคิดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี หากจะมองดูสภาพแวดล้อมทางวิชาการในปัจจุบัน การเติบโตของสาขาวิชามานุษยวิทยาและจำนวนนักศึกษาทางด้านนี้ก็คงที่และมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ประกอบกับนโยบายการวิจัยของชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2560-2564) มุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขดังกล่าวคือสิ่งท้าทายและเป็นโจทย์ที่ศูนย์ฯ ควรพิจารณาว่าเครือข่ายสังคมประเภทไหนที่ควรเข้ามาร่วมทำงานกับศูนย์ฯ และความรู้ประเภทไหนที่สังคมต้องการเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับการพัฒนาประเทศที่เห็นมนุษย์และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติสำคัญทัดเทียมกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 


1  อ้างจากเรื่องปัญหาชาวเล "สิทธิ" ที่จะอยู่อาศัย กับความไม่ (เคย) เข้าใจจากสังคม โดยสำนักข่าวอิศรา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 https://www.isranews.org/isranews-scoop/44471-artical_44471.html

2  อ้างจาก http://www.pataniforum.com/single.php?id=776 วันที่ 20 เมษายน 2564

3  ปาฐกถาในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า: สังคมไทยในรอบทศวรรษกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (เศรษฐกิจ สังคม การเมือง) และความท้าทายในทศวรรษหน้าในทศวรรษหน้า" จัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ณ บ้านกลางดอย รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2556


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 30 ปี ศมส. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share