ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ในมิติมานุษยวิทยา

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 22930

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ในมิติมานุษยวิทยา

ความหมายของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

           ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หมายถึง สังคมที่มีกลไกที่หลบซ่อนทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพได้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น กลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในกฎระเบียบทางกฎหมาย มาตรการ บรรทัดฐาน นโยบาย วิธีปฏิบัติที่ดำรงอยู่ในสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข สวัสดิการ ศาสนา ขนบธรรมเนียมและแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งเอื้อให้คนบางกลุ่มได้เปรียบและได้ประโยชน์มากกว่าคนบางกลุ่ม (Lee, 2019) กลไกดังกล่าวถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนยอมรับและนำไปปฏิบัติโดยไม่สงสัยว่ามันเป็นความรุนแรง เช่น เด็กที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพราะสังคมคิดว่าผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและมีทุนทรัพย์เพียงพอเท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ทั้งๆ ที่รัฐสามารถพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับคนทุกกลุ่มไม่ว่าผู้นั้นจะยากจนหรือร่ำรวยก็ตาม

           ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจะไม่ปรากฏชัดเหมือนกับความรุนแรงในเชิงกายภาพ เช่น สงครามที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย หรือการก่อวินาศกรรมจากผู้ก่อการร้ายที่ทำลายทรัพย์สินและชีวิตคนบริสุทธิ์ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจะปรากฏอยู่บนมาตรการทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ซับซ้อน (Gupta, 2012) มีผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม ปัญหานี้จะไม่แสดงและปรากฎแบบตรงไปตรงมา ทำให้สาธารณชนยากต่อการรับรู้ กล่าวคือกฎระเบียบและนโยบายของรัฐมักจะถูกมองเป็นกติกาที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามและมักจะเป็นเรื่องเชิงกฎหมายและข้อบังคับ ส่งผลให้กฎระเบียบและนโยบายเหล่านั้นไม่ถูกพิจารณาเป็นเครื่องมือของความรุนแรง Ho (2007) ยกตัวอย่างกรณีที่บุคคลล้มป่วยด้วยโรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ถ้าคนๆ นั้นยากจนและไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เขาก็จะเสียชีวิต ซึ่งปัญหานี้สะท้อนนโยบายการแพทย์ของรัฐสมัยใหม่ที่ไม่สามารถทำให้คนยากจนมีสิทธิและเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้ ฉะนั้น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือผลพวงของมาตรการต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นโดยให้ประโยชน์กับคนทุกคนไม่เท่ากัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และทำให้มนุษย์บางกลุ่มเผชิญกับความทุกข์ยาก มีชีวิตที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงอันตราย

           Winter and Leighton (2001) กล่าวว่าผลกระทบจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างจะเกิดกับชีวิตของคนบางกลุ่ม ซึ่งควรจะมีวิธีป้องกันและแก้ไขได้แต่รัฐเพิกเฉย นิ่งดูดาย ปล่อยให้มาตรการต่างๆ ดำเนินไปในทางที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจึงเป็นปัญหาที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง นอกจากนั้น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าใครคือผู้กระทำหรือเป็นต้นเหตุ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับมาตรการที่มีกลุ่มคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายครั้งเป็นการปฏิบัติที่ดำเนินไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่มิได้เป็นเจตนาของคนใดคนหนึ่ง การแก้ไขปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างจึงเป็นเรื่องของคนหมู่มากที่ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน (collective responsibility)

 

ความเป็นมาในการศึกษาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

           นักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ ชื่อ Johan Galtung (1969) คือผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง โดยชี้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคมไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือคนในสังคมได้ โดยปล่อยให้สังคมดำเนินไปอย่างไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของพลเมือง ผลที่ตามมาคือสังคมปั่นป่วนวุ่นวายและมีความขัดแย้ง สภาวะดังกล่าวสะท้อนสังคมแบบระบบทุนนิยมโลกที่ผู้คนมีความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจน

 

มหาตมะคานธี ภาพจาก https://www.omnibiografia.com

 

           Galtung (1985) ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยมหาตมะคานธีที่ต้องการช่วยเหลือคนยากจนในประเทศอินเดีย ในความคิดของมหาตมะคานธี “ความยากจน” คือความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุด แต่ความยากจนเป็นผลผลิตเชิงโครสร้างที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างมนุษย์ และเป็นผลจากมาตรการและกฎเกณฑ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มิได้เอื้อประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก แต่ให้สิทธิพิเศษแก่ชนชั้นนายทุน ตัวอย่างนี้ทำให้ Galtung สนใจปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มาพร้อมกับกลไกอำนาจรัฐและระบอบทุนนิยม

           ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้รับความสนใจในกลุ่มนักศาสนวิทยาชาวคาทอลิกในเขตลาตินอเมริกา โดยถูกใช้เป็นแนวคิดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวในการเรียกร้องให้สังคมมีความรับผิดชอบต่อผู้ด้อยโอกาส (Gutiérrez, 1973) ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 นักวิชาการชาวแคนาดา Gernot Kohler and Norman Alcock (1976) พยายามวิจัยเชิงสถิติเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ประเด็นที่ได้รับความสนใจในการศึกษาดังกล่าวคือเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมให้ประชากรมีอายุที่ยืนยาว โดยใช้กรณีศึกษาในประเทศสวีเดนในฐานะที่เป็นสังคมที่พลเมืองมีความเหลื่อมล้ำน้อยและประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพ Kohler and Alcock พยายามใช้สวีเดนเป็นต้นแบบและนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมอื่น นอกจากนั้นยังพัฒนาแนวทางการวิเคราะห์และเปรียบเทียบการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อประเมินว่าประเทศใดมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากกว่ากัน รวมถึงเปรียบเทียบอายุขัยของประชากรแต่ละประเทศ และพบว่าในแต่ละปีมีประชาชนประมาณ 18 ล้านคน ต้องเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ ทำให้ค้นพบว่าสังคมโลกยังเต็มไปด้วยความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

           การศึกษาการมีอายุยืนของประชากร ถูกใช้เป็นดัชนีประเมินคุณภาพสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้นักวิชาการในช่วงทศวรรษ 1970 สนใจศึกษานโยบายการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้เฉลี่ยของประชาชนแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้เห็นว่ายังมีประเทศที่ยากจนอีกจำนวนมากที่ประชาชนมีรายได้ต่ำและมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่ประชาชนมีอายุสั้นและมีรายได้น้อย ในขณะที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ประชาชนจะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีรายได้สูง ความแตกต่างดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศมีมากน้อยไม่เท่ากัน กรอบความคิดดังกล่าวกลายเป็นรากฐานของการวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สนใจระดับการพัฒนา การกระจายรายได้ การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การลดอัตราการตายของทารก การให้โอกาสทางการศึกษา การลดอัตราการว่างงาน การมีที่อยู่อาศัย และการทำให้พลเมืองมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ ประเด็นเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการพัฒนามนุษย์และการเป็นสังคมที่เสมอภาค

           อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยาก Gilligan (1996, 1999) อธิบายว่าการล้มตายของผู้คนจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตในสงคราม ในทัศนะของ Gilligan มองว่ายิ่งประชากรโลกมีการเสียชีวิตมากเท่าใด ยิ่งสะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากเท่านั้น นอกจากนั้น ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นยังสะท้อนปัญหาสังคมที่คนยากจนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความทุกข์ยากของคนจนจึงเป็นภาพสะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ในการตรวจสอบความไม่เท่าเทียมทางสังคมจึงจำเป็นต้องชี้ให้เห็นชนชั้นที่มีอำนาจทางสังคมที่มีสิทธิพิเศษ และได้ประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ Gilligan (2001) อธิบายว่าภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนชั้นล่างและอาจนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตายตัว ความอดยากและอดอาหารจนถึงแก่ความตาย หรือการมีสุขภาพที่เสื่อมโทรมเนื่องจากคนเหล่านั้นไม่มีเงินซื้อยารักษาโรค ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเพียงพอ ในแง่นี้ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้นำมาสู่ความรุนแรงทางร่างกายได้ (Bloom, 2001)

 

มานุษยวิทยากับการศึกษาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

           นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Paul Farmer (2003) ได้นำแนวคิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างไปใช้อธิบายโครงสร้างสังคมในฐานะเป็น “ปฏิบัติการสังคมแบบมวลชน” (collective social actions) โดยชี้ให้เห็นว่าสถาบันและองค์กรทางสังคมมีวิธีการปฏิบัติที่สร้างกฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับอันส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคม กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สถาบันสังคมสร้างขึ้นแสดงออกในเชิงรูปธรรม เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม ระบบชลประทาน ระบบไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สนามบิน ปฏิบัติการเหล่านี้สะท้อนว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นจากวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เช่น ในเขตเมืองจะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วนและทันสมัย ในขณะที่เขตชนบทจะไม่มีการพัฒนาถนนหนทาง ไฟฟ้าและน้ำประปา การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมนี้ทำให้คนในพื้นที่ชนบทมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าคนเมือง

 

ในเขตเมืองจะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วนและทันสมัย

ภาพจาก https://www.thairath.co.th

 

           Farmer วิจารณ์ว่าความไม่สมดุลของอำนาจนำไปสู่ความโหดร้ายที่ซ่อนเร้น โดยเฉพาะในระบอบอำนาจของทุนนิยมที่ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพและความยากจนถือเป็นความรุนแรงที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน Farmer เสนอว่าวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้คือการสร้างมาตรการที่เป็นธรรมทำให้คนยากจนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มสตรีมีครรภ์และเด็กแรกเกิดในทวีปแอฟริกา ข้อมูลในปี ค.ศ. 2007 พบว่ามีประชากรประมาณ 40 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นประชากรที่อยู่ในประเทศยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ (Mukherjee, 2007) ในการศึกษาคนจนในประเทศเฮติ Farmer (1990, 2006) พบว่านับตั้งแต่โรคเอดส์แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ชาวเฮติคือกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อเอชไอวี ส่งผลให้ชาวเฮติในสหรัฐอเมริกาถูกรังเกียจ หลายคนถูกไล่ออกจากงาน เบื้องหลังของการกล่าวหานี้มาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและเฮติ ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเฮติส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน และการขายบริการทางเพศสร้างรายได้ให้กับคนจนในเฮติจำนวนมาก

           Farmer (2006) กล่าวว่าเกย์ชาวอเมริกันนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนริมทะเลในเฮติ ซึ่งผู้ชายชาวเฮติก็ขายบริการให้กับชาวเกย์อเมริกันอย่างแพร่หลาย จนทำให้เฮติกลายเป็นดินแดนในฝันของชาวเกย์ผิวขาวที่ต้องการมาแสวงหาความสุขทางเพศกับชายหนุ่มชาวเฮติ การท่องเที่ยวที่แฝงมากับการขายบริการทางเพศในหมู่เกย์ชาวอเมริกัน คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเอชไอวีในหมู่ผู้ชายชาวเฮติ ซึ่งพวกเขามีฐานะยากจนและต้องการมีรายได้จากการขายบริการทางเพศ ผู้ชายเฮติที่มีความสัมพันธ์กับเกย์อเมริกันจึงได้รับเชื้อเอชไอวี แต่ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเฮติ ไม่สามารถดูแลรักษากลุ่มคนที่ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ชายชาวเฮติจำนวนมากล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ สถานการณ์นี้คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เป็นผลมาจากธุรกิจท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเกย์อเมริกัน ซึ่งแสวงหาประโยชน์จากชาวเฮติที่ยากจนและขาดโอกาสทางสังคม ในแง่ประวัติศาสตร์ Farmer ยังชี้ให้เห็นอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในเฮติ เช่น เข้ามาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ชาวเฮติถูกขับไล่ออกไปจากพื้นที่และเผชิญชีวิตที่อดอยาก

           ในการศึกษาของ Holmes (2013) พบว่าแรงงานชาวเม็กซิกันที่อพยพเข้ามาทำงานเป็นคนงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและถูกเอารัดเอาเปรียบ ชาวเม็กซิกันจำนวนมากลักลอบเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายเพื่อหวังจะมีอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็ถูกจับและต้องติดคุก ภายใต้ปัญหาแรงงานอพยพชาวเม็กซิกัน สะท้อนให้เห็นระบอบอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจซึ่งขับเคลื่อนโดยความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement, NAFTA) ที่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาตลาดส่งออกและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อให้มีราคาถูกลง ส่งผลให้ประเทศที่ยากจนอย่างเม็กซิโกเสียเปรียบ เพราะแรงงานชาวเม็กซิโกจะถูกจ้างด้วยราคาต่ำ แต่ผลกำไรจากสินค้าจะตกเป็นของบริษัทชาวอเมริกัน ชาวเม็กซิโกจึงดิ้นรนที่จะเดินทางไปหางานทำในต่างประเทศเพื่อที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป้าหมายของชาวเม็กซิโกคือการเข้าไปทำงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับและมีชีวิตอย่างไร้ศักดิ์ศรี สิ่งนี้สะท้อนระบอบอำนาจของความรุนแรง

 

ภาพเจ้าหน้าที่ขี่ม้าไล่กวดผู้อพยพ พร้อมกวัดแกว่งสายบังเหียนยาวราวกับแส้ที่พรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก

ภาพจากบีบีซีไทย นิวส์ https://www.bbc.com/thai/international-58648616

 

           นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Nancy Scheper-Hughes (1996) อธิบายว่าความทุกข์ยากในชีวิตกำลังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำวัน และสังคมยอมรับว่าเป็นความปกติ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าความไม่เท่าเทียมทางสังคมกำลังแผ่ขยายและแทรกตัวอยู่ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในโลกปัจจุบันปรากฏอยู่ในการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างทางเพศ อุดมการณ์ทางความคิด รสนิยม และไลฟ์สไตล์ Scheper-Hughes (2006) และ Benson (2008) กล่าวว่าเมื่อสังคมเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมก็ยิ่งทำให้คนบางกลุ่มถูกกีดกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิทางสังคมและสวัสดิการต่างๆ กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศที่ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงขาดโอกาสและสิทธิ แต่ยังถูกกีดกัน ถูกประณามและถูกเหยียดหยาม ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจึงซ้อนทับอยู่กับอคติและความไม่ยุติธรรมทางสังคม

 

เอกสารอ้างอิง

Benson, P. (2008). El Campo: Faciality and structural violence in farm labor camps. Cultural Anthropology, 23(4), 589-629.

Bloom, S. L. (2001). Violence: A public health menace and a public health approach. London, UK: Karnac Books

Farmer, P. (1990). Sending Sickness: Sorcery, Politics, and Changing Concepts of AIDS in Rural Haiti. Medical Anthropology Quarterly, 4(1), 6-27.

Farmer, P. (2003). Pathologies of power: Health, human rights, and the new war on the poor. Berkeley, CA: University of California Press.

Farmer, P. (2006). AIDS and Accusation: Haiti and the Geography of Blame. Berkeley: University of California Press.

Galtung, J. (1969). Violence, peace, and peace research. Journal of Peace Research, 6(3), 167–191.

Galtung, J. (1985). Twenty‐five years of peace research: ten challenges and some responses. Journal of Peace Research, 22(2), 141–158.

Gilligan, J. (1996). Violence: Our deadly epidemic and its causes. New York, NY: Putnam.

Gilligan, J. (1999). Structural violence. In R. Gottesman (Ed.), Violence in the United States: An encyclopedia (pp. 229–233). New York, NY: Scribners and Sons.

Gilligan, J. (2001). Preventing violence. London, UK: Thames and Hudson.

Gupta, A. (2012). Red tape: Bureaucracy, structural violence, and poverty in India. Durham, NC: Duke University Press.

Gutiérrez, G. (1973). A theology of liberation: history, politics, and salvation. Maryknoll, NY: Orbis Books

Ho, K. (2007). Structural violence as a human rights violation. Essex Human Rights Review, 4(2), 1–17.

Holmes, S. (2013). Fresh Fruit, Broken Bodies: Migrant Farmworkers in the United States. Berkeley: University of California Pres.

Köhler, G., & Alcock, N. (1976). An empirical table of structural violence. Journal of Peace Research, 13(4), 343–356.

Lee, B.X. (2019). Violence: An Interdisciplinary Approach to Causes, Consequences, and Cures, First Edition. Hoboken, NJ.: John Wiley & Sons.

Mukherjee, J., Barry, D., Satti, H., Raymonville, M., Marsh, S., & Smith‐Fawzi, M. (2011). Structural violence: A barrier to achieving the millennium development goals for women. Journal of Women’s Health, 20(4), 593.

Scheper‐Hughes, N. (1996). Small wars and invisible genocides. Social Science and Medicine, 43(5), 889–900.

Scheper‐Hughes, N. (2006). Dangerous and endangered youth: Social structures and determinants of violence. Annals of the New York Academy of Sciences, 1036(1), 13– 46.

Winter, D. D. N., & Leighton, D. C. (2001). Structural violence. In D. J. Christie, R. V. Wagner, & D. D. N. Winter (Eds.), Peace, conflict, and violence (pp. 585–599). New York, NY: Prentice Hall

 


 

ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 


 

ป้ายกำกับ อคติทางวัฒนธรรมและความรุนแรง โครงสร้าง สังคมศึกษา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Structural Violence

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share