การเมืองเรื่องร่างกายว่าด้วย “นโยบายผ้าอนามัย”

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 4806

การเมืองเรื่องร่างกายว่าด้วย “นโยบายผ้าอนามัย”

 

ที่มาภาพ : https://bit.ly/3timxLG

           เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้าง ภายหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับใหม่ ระบุให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” เป็นเครื่องสำอางหรือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั่วทั้งโลกออนไลน์ แฮซแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ติดเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ในขณะนั้น หน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊คเต็มไปด้วยถ้อยคำและความคิดเห็นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาผ้าอนามัยที่ผู้หญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หรือสิทธิความเท่าเทียมทางเพศว่าด้วยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้เราจึงมาดูกันว่า ผ้าอนามัยนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเมืองเรื่องร่างกายและความเป็นเพศ รายละเอียดอ่านได้ในบทความนี้

 

วิวัฒนาการของ “ผ้าอนามัย”

           หนังสือ Flow: The Cultural Story of Menstruation ที่เขียนโดย เอลิสซา สไตน์ (Elissa Stein) และซูซาน คิม (Susan Kim) บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของผู้หญิงกับการจัดการประจำเดือนในอดีตไว้ว่า

“เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เปรอะเปื้อนก็ต้องหาแผ่นอะไรที่สามารถซึมซับได้มารองไว้ ส่วนใหญ่เป็นของใกล้ตัวจากธรรมชาติ นำสิ่งนั้นมาโยงลอดผ่านขา ใช้เชือกร้อยผูกมัดไว้กับเอว”

           นอกจากนี้ ยังบรรยายถึงนวัตกรรมและกรรมวิธีของผู้หญิงในแต่ละชาติ อาทิ ผู้หญิงสมัยอียิปต์ใช้เยื่อไม้ปาปิรุส (Papyrus), ผู้หญิงกรีกและโรมันใช้ผ้าสำลี (Lint) พันรอบแกนไม้เล็กๆ, ผู้หญิงญี่ปุ่นใช้กระดาษนุ่มๆ เช่น กระดาษสา เป็นต้น ก่อนจะพัฒนามาเป็นผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งในปี 1880 โดยกลุ่มนางพยาบาลในอังกฤษที่ได้คิดค้นแท่งสำลีแบบปลอดเชื้อ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้คิดค้นผ้าใช้แล้วทิ้งเพื่อซับเลือดทหารในสงคราม แล้วจึงประยุกต์มาเป็นผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งออกมาจำหน่าย (Thestandard, 2562: ออนไลน์) ซึ่งผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเนื่องจากมีราคาแพง ส่วนผู้หญิงไทยสมัยก่อนมีผ้าอนามัยนิยมขี่ม้า นั่นคือ การใช้ผ้าขี้ริ้วหรือผ้าซิ่นเก่านุ่มๆ พันทบกันหลายๆ ชั้นลอดระหว่างขา คาดด้วยเข็มขัดหรือเชือก รวมทั้งใช้เสื้อผ้าเก่า ผ้าฝ้าย ขนสัตว์ ผ้าทอ ไหมพรมถัก หญ้าแห้ง มาเป็นแผ่นซึมซับ เป็นต้น ซึ่ง เอนก นาวิกมูล เขียนไว้ใน “แรกมีในสยาม ภาค 1” สันนิษฐานว่าผ้าอนามัยน่าจะเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7 โดยหลักฐานที่พบเก่าที่สุดพบในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2468 ปรากฏในหนังสือ “ข่ายเพ็ชร์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2468 โดยในหนังสือเล่มดังกล่าวมีโฆษณาพูดถึงผ้าซับระดู หรือที่เราเรียกกันในทุกวันนี้ว่าผ้าอนามัย ลงในหน้า 65 มีข้อความดังนี้

“ถูกกว่าห้างฝรั่ง”

ผ้าซับระดูซึ่งซื้อขายกันที่ห้างฝรั่งเปนราคาโหล ๑ ตั้ง ๓ บาทนั้น ถ้าท่านไปซื้อที่ “ประเสริฐโอสถ” จะได้ถูกกว่าห้างฝรั่งตั้งครึ่งตัว รับรองได้ว่าเปนของดีเท่าทันกับห้างฝรั่งเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น คนไทยควรจะไม่ลืมร้านของไทยเสียเลยมิใช่ฤา?

           กระทั่งในปี พ.ศ. 2485 ผ้าอนามัยยี่ห้อ โกเต๊กซ์ (Kotex) ของบริษัทคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ซึ่งเป็นผ้าอนามัยที่มีห่วงคล้องกับเอวและมีตะขอเกี่ยวอยู่ด้านหลังได้จัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกนิยมใช้ในกลุ่มสตรีชั้นสูงในเมืองเช่นกัน เพราะการใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยกว่าการใช้แล้วซัก ก่อนที่จะได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

           อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการแข่งขันผ้าอนามัยได้ขยายตัวมากขึ้นในปี พ.ศ. 2511 ที่เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตภายในประเทศและเกิดยี่ห้อใหม่อย่าง เซลล๊อกซ์ ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ผ้าอนามัยแถบปลาย ที่แม้จะยังต้องใช้สายคาด แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการแต่งตัวได้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2515 ผ้าอนามัยแบบแถบกาวเกิดขึ้นโดยยี่ห้อแซนนิต้า ความสะดวกของผ้าอนามัยแบบแถบกาว ทำให้ผ้าอนามัยแบบห่วงและแบบแถบปลาย มีขนาดตลาดที่เล็กลงและเลิกผลิตไปในที่สุด (ศิลปวัฒนธรรม, 2562, ออนไลน์) ซึ่งในระยะต่อมาผ้าอนามัยก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีจากหลากหลายบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและตอบสนองกับความต้องการของผู้หญิงในแต่ละยุคสมัย รวมถึงราคาจำหน่ายลดลงเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด ผ้าอนามัยแบบบางพิเศษ ผ้าอนามัยแบบถ้วย ผ้าอนามัยแบบซักได้ เป็นต้น

 

“ผ้าอนามัย” ในทางกฎหมายว่าด้วยสินค้าและภาษี

 

ที่มาภาพ: https://bit.ly/3DMTOUl

 

           “ผ้าอนามัย” ทั้งชนิดที่ใช้ภายนอกและชนิดสอดถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2535 เพราะเข้าเกณฑ์ตามนิยามเครื่องสำอาง คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย โดยไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ใหม่ คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วน “ภายนอก” ของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิว แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว จึงทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง เพราะผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นการใช้ ”ภายใน” ร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงเฉพาะเพื่อให้กลับมาครอบคลุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2562 (PPTV, 2562, ออนไลน์)

           เมื่อมีการจัดผ้าอนามัยไว้เป็นเครื่องสำอางเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสับสนและการตั้งคำถามในการตีความเรื่องการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในโลกออนไลน์ เนื่องจากเอกสารศุลกากรระบุว่า เครื่องสำอางถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมีพิกัดภาษีนำเข้าถึงอัตราร้อยละ 40 และกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าฟุ่มเฟือยในอัตราร้อยละ 8 เป็นต้น ขณะเดียวกัน หากพิจารณาตามนิยามของกรมสรรพามิต เครื่องสําอาง ความหมายตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 หมายความว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งปรุงแต่งเพื่อใช้บนผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์สําหรับทําความสะอาด ป้องกัน แต่งเสริมให้เกิดความงาม หรือเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ โดยถู ทา พ่น หรือโรย เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงเภสัชผลิตภัณฑ์ และสินค้าตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด (กรมสรรพสามิต, 2563: ออนไลน์) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ออกมาชี้แจงว่า ผ้าอนามัยจะถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตามนิยามของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง แต่ถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงไม่มีการเรียกเก็บภาษีโดยใช้หลักเกณฑ์ภาษีฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ้าอนามัยในอัตราร้อยละ 7 เช่นเดียวกับสินค้าทั่วไปชนิดอื่น (ThaiPBS, 2564: ออนไลน์) สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่า ผ้าอนามัยได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ผ้าอนามัยถูกจัดเป็น 1 ในรายการสินค้าที่ติดตามดูแล (Watch List-WL) มีการติดตามภาวะราคาและสถานการณ์สินค้าและบริการ รวมทั้งตรวจสอบและกำกับดูแลมิให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค โดยกองตรวจสอบและปฏิบัติการของกรมการค้าภายใน รายการเหล่านี้อยู่ในประกาศฉบับล่าสุดของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 พ.ศ. 2562 ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (บีบีซีไทย, 2562: ออนไลน์)

 

จากประเด็นภาษีผ้าอนามัย….สู่ความเคลื่อนไหวนโยบายรัฐสวัสดิการ

           แม้จะมีการออกมาชี้แจงจากหน่วยงานภาครัฐถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยที่ไม่ได้แตกต่างจากสินค้าทั่วไป แต่ประเด็นเรื่องภาษีผ้าอนามัยนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อถกเถียงในบ้านเรากันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ผู้หญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยในแต่ละเดือน การเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยหรือจัดให้เป็นรัฐสวัสดิการ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านรูปแบบของการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายที่ไม่ครอบคลุมความต้องการของผู้หญิง และเพศทางเลือกอย่าง transmen หรือ คนข้ามเพศจากหญิงเป็นชายที่ยังมีความจำเป็นในการใช้ผ้าอนามัยเช่นกัน จนทำให้สิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยรวม กลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉยและปล่อยให้เป็นปัญหาระดับปัจเจกในท้ายที่สุด

           กระแสความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ภายหลังจากการลงชื่อแคมเปญรณรงค์ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบในเว็บไซต์ change.org โดยมีการออกมาเรียกร้องว่าปัญหาผ้าอนามัยมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น และแพงเมื่อเทียบกับค่าแรงหรือรายได้ขั้นต่ำ แม้ว่าจะมีการรวมเอาผ้าอนามัยอยู่ในรายการสินค้าควบคุม แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับกำหนดราคาที่ชัดเจน พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้ เพื่อออกมาตรการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการแจก การกำหนดราคากลาง ราคาแนะนำ การลดหรือการยกเลิกเก็บภาษีสำหรับสินค้าประเภทนี้ อย่างที่หลายๆ ประเทศได้ทำแล้ว เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (change, 2562, ออนไลน์) ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย เพราะในหลายประเทศผ้าอนามัยมักถูกรวมไปอยู่กับสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ Luxury Tax ทำให้ความเคลื่อนไหวเรื่องการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และอาจขยับไปถึงขั้นให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2560 ชาวอินเดียลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านการเก็บภาษีผ้าอนามัย เพราะปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัย และราคาที่สูงเกินไป ทำให้ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากไม่สามารถหาผ้าอนามัยมาใช้งานได้เมื่อมีประจำเดือน เนื่องจากรัฐบาลอินเดียเก็บภาษีผ้าอนามัย 12% และถือว่าผ้าอนามัยอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในปีต่อมารัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทุกชนิด หลังจากนักเคลื่อนไหวรณรงค์ติดต่อกันมานานหลายเดือน (บีบีซีไทย, 2561: ออนไลน์) หรือในสก็อตแลนด์ เป็นประเทศแรกที่มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนและผู้มีรายได้น้อย ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องจากกลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรสตรี และองค์กรการกุศลอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนจากพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงผ้าอนามัยได้ดีขึ้นในการแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศ (ประชาไท, 2563: ออนไลน์) เป็นต้น

 

ชาวอินเดียลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านการเก็บภาษีผ้าอนามัย เมื่อปี 2560

ที่มาภาพ: https://bit.ly/2WUxc34

 

“การเมืองเรื่องร่างกาย” ว่าด้วยนโยบายผ้าอนามัย

           ร่างกายของผู้หญิงและการมีประจำเดือนอันเป็นกลไกทางธรรมชาติได้กลายเป็นเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ผู้หญิงจากหลายประเทศลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางเพศในสังคมที่กดทับผู้หญิงอย่างเป็นระบบ จากการเพิกเฉยของรัฐในสังคมปิตาธิปไตยและการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผ้าอนามัยถูกจัดเป็นหนึ่งในสินค้าที่เรียกว่า Pink tax (ภาษีสีชมพู) หรือเป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสวยความงามซึ่งถูกมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือย และมักเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเพศมีความซับซ้อนและทวีรุนแรงมากขึ้น ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกำเนิดความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จากร่างกายทางสังคมและร่างกายทางกายภาพ (Social body and Physical body) ไปสู่การเมืองเรื่องร่างกาย (Body politics) ซึ่ง Margaret Lock และ Nancy Scheper-Hughes (Lock, 1996:41-70) นักมานุษยวิทยาการแพทย์ได้ขยายแนวคิดร่างกายออกเป็น 3 ระดับ (Three bodies) อันได้แก่ หนึ่ง “ร่างกายส่วนบุคคล/ร่างกายปัจเจก” (The Individual body) ที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิต มีความนึกคิด จิตวิญญาณ ที่มีต่อร่างกายและตัวตน (self) เช่น ความเป็นเพศที่สื่อถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคล สอง “ร่างกายทางสังคม” (The Social body) ในฐานะที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของเรื่องต่างๆ โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมในบริบทต่างๆ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับประจำเดือนที่สังคมมีต่อผู้หญิง และ สาม ร่างกายที่เราให้ความสนใจมากที่สุด คือ “การเมืองร่างกาย” (The body Politic) ซึ่งเป็นร่างกายที่มีรัฐและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงกับเรื่องของการวางระเบียบ สอดส่อง กำกับ และสร้างกฎเกณฑ์บังคับ รวมถึงสำรวจพฤติกรรมของร่างกายในระดับปัจเจกหรือกลุ่ม เพื่อคงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ตั้งแต่เกิดจนตายในระดับรายละเอียดของชีวิตประจำวัน (นัฐวุฒิ สิงห์กุล, 2561: ออนไลน์)

           นอกจากนี้ การเมืองร่างกายยังครอบคลุมไปถึงประเด็นอุดมการณ์หรือวาทกรรมที่สามารถกระทำผ่านการกำกับร่างกาย ซึ่งในมิติของภาษีผ้าอนามัยนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับร่างกายการเมือง ร่างกายทางสังคม และร่างกายปัจเจก โดยมีรัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายเรื่องของการเจริญพันธุ์ ความเจ็บป่วย และเพศวิถี เพื่อใช้ในการควบคุมส่องสอดร่างกายของประชากร รวมถึงการจัดวางคุณค่าบางอย่างหรือรูปแบบของการเบี่ยงเบนและความแตกต่างในสังคม ผ่านวาทกรรมเรื่องเพศที่เข้ามามีบทบาทกับความเชื่อ ความคิด และทัศนคติของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่มีผลมาจากการขยายตัวของเทคโนโลยีการสื่อสาร อันก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวของค่านิยมและความเชื่อทางสังคม อำนาจในการกำหนดความหมายและวาทกรรมต่างๆ ไม่ได้ผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐอีกต่อไป เพราะผู้คนปฏิเสธมาตรฐานหรือกติกาชุดใดชุดหนึ่ง และต้องการทลายกรอบความเชื่อแบบเดิมๆ พร้อมทั้งใช้ร่างกายของตนเองเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงความหมายและเป็นสนามของความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อิทธิพลเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผลักดันให้เกิดการต่อรองนโยบายผ้าอนามัยและความเหลื่อมล้ำทางเพศจากภาครัฐเพื่อให้ได้รับการแก้ไขดังที่ปรากฏ

           ฉะนั้น ร่างกายของมนุษย์จึงกลายเป็นเครื่องมืออันสมบูรณ์แบบในการแสดงออกในประเด็นต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง ร่างกายสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนา ทัศนคติ และซุ่มเสียงของผู้หญิงในฐานะช่องทางการสื่อสารและแสดงออกถึงทัศนคติของตนออกมา การใช้ร่างกายจึงเป็นหนทางที่ผู้หญิงเชื่อมโยงความเป็นปัจเจกของตนเข้ากับประสบการณ์และการรับรู้ เป็นการแสดงออกที่สะท้อนภาพของสังคมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม ด้วยการยกให้ร่างกายเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะวัตถุดิบในการแสดงออกทางความคิด รวมถึงกระตุ้นให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปยังความหมายของความเหลื่อมล้ำทางเพศและการดำรงอยู่ของพวกเขาในสังคมนั่นเอง

 

อ้างอิง

The Standard. (2560). ย้อนรอย… ก่อนที่จะมีผ้าอนามัย. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://thestandard.co/sanitary-napkin-history/

Sanook.com. (2564). ทำไม “ผ้าอนามัย” แจกฟรีไม่ได้. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.sanook.com/news/8017310/

บีบีซีไทย. (2562). ภาษีผ้าอนามัย : ผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุม แต่ผู้ใช้บางคนบอกว่า "แพง". เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50819072

ไทยพีบีเอส. (2562). "ผ้าอนามัย" สินค้าราคาเกินเอื้อม. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://news.thaipbs.or.th/content/287117

ศิลปวัฒนธรรม. (2562). แรกเริ่มไทยรู้จัก “ผ้าอนามัย” มีขายเกือบ 100 ปีก่อน สมัยนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_42842

PPTV36. (2562). มาดูกัน! ข้อแตกต่างภาษี “ผ้าอนามัย" ชนิดสอดกับแบบภายนอก เหมือนหรือต่าง. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/116081

กรมกรมสรรพสามิต. (2563). ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3yNc2Bg

ประชาไทย. (2563). สก็อตแลนด์ประเทศแรกของโลกที่มีผ้าอนามัยฟรีสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2020/11/90572

Change.org. (2562). ต้องมีมาตรการควบคุมผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ #ของมันต้องมี #ทำไมแจกฟรีไม่ได้. เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3DU9hBK

นัฐวุฒิ สิงห์กุล. (2561). ข้อถกเถียงว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับร่างกาย : ร่างกายสองส่วน(Two Bodies) กับร่างกายสามส่วน (Three Bodies). เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://nattawutsingh.blogspot.com/2018/02/two-bodiesthree-bodies.html


ผู้เขียน

จุฑามณี สารเสวก


 

ป้ายกำกับ ผ้าอนามัย นโยบายรัฐ ร่างกาย ผู้หญิง จุฑามณี สารเสวก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share