แนวคิดหลังอาณานิคม กับอัฟกานิสถาน (Postcolonialism and Afghanistan)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2578

แนวคิดหลังอาณานิคม กับอัฟกานิสถาน (Postcolonialism and Afghanistan)

 

การศึกษาหลังอาณานิคม

           แนวคิดหลังอาณานิคม (Postcolonialism) คือการศึกษาเชิงวิพากษ์ที่พยายามตรวจสอบวัฒนธรรม,ประวัติศาสตร์และระบอบอำนาจ/ความรู้ที่ตกทอดมาจากลัทธิอาณานิคมและจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการทำความเข้าใจผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ถูกควบคุมโดยการปกครองของเจ้าอาณานิคม (Ashcroft, Griffiths &Tiffin, 2000; Dirlik, 1997; Quayson, 2000; Young, 2001) แนวทางการศึกษาหลังอาณานิคมมีหลากหลายลักษณะขึ้นอยู่กับประเด็นที่เลือกมาศึกษา ในทางมานุษยวิทยา การศึกษาแนวหลังอาณานิคมมุ่งที่จะตรวจสอบแบบแผนชีวิตที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม (colonial life) ซึ่งคนในท้องถิ่นหรือคนพื้นเมืองมีการรับเอาวิธีคิดและวิธีปฏิบัติแบบเจ้าอาณานิคมมาใช้ในปริมณฑลต่างๆ วิถีชีวิตดังกล่าวอาจหล่อเลี้ยงหรือสืบทอดระบอบอำนาจและวัฒนธรรมบางอย่างที่เจ้าอาณานิคมได้สร้างเอาไว้ แม้ว่าจะสิ้นสุดการเป็นเมืองขึ้นและได้รับอิสระจากลัทธิอาณานิคมแล้วก็ตาม นักมานุษยวิทยาสนใจ “ลัทธิอาณานิคมใหม่” (neocolonialism) ที่มิได้เป็นการปกครองโดยชาวตะวันตก แต่เป็นวัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำและสืบทอดอำนาจ ความรู้ โลกทัศน์แบบที่ชาวตะวันตกเคยกระทำต่อคนท้องถิ่น ซึ่งปรับและแปรสภาพไปอยู่ในปฏิบัติการทางสังคมที่คนท้องถิ่นกระทำในชีวิตประจำวัน (Said, 1989; Scott, 1992)

           การศึกษาหลังอาณานิคมจึงเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อ “วิธีคิดแบบอาณานิคม” ซึ่งเป็นเรื่องราวของความมีอารยะและระบบเหตุผลแบบตะวันตก (Gilbert & Tompkins, 1996) ในช่วงที่ลัทธิอาณานิคมครองอำนาจและลุกล้ำเข้าไปในดินแดนต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่โลกทัศน์แบบตะวันตกถูกยกย่องในฐานะเป็นปัญญาที่ก้าวล้ำ และนำความเจริญมาสู่มนุษยชาติ ชาวตะวันตกจึงมองวัฒนธรรมของตนเองเหนือกว่า และใช้เป็นบรรทัดฐานเพื่อตัดสินว่าวัฒนธรรมของชนชาติอื่นล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่มีความเจริญ ด้อยพัฒนา และไม่ฉลาด วิธีคิดดังกล่าวนี้คือตัวอย่างของลัทธิอาณานิคมที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งเกี่ยวพันกับการเหยียดเผ่าพันธุ์ (Racism) ชาติพันธุ์นิยม (ethnocentrism) ความยิ่งใหญ่ของคนผิวขาว(White Supremacy) บรรทัดฐานแบบชายเป็นใหญ่ รวมถึงอุดมการณ์เสรีนิยมและทุนนิยมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในดินแดนอาณานิคม ซึ่งถือเป็นกลไกของการกดขี่และการแสวงหาประโยชน์เพื่อคนผิวขาว (Fanon, 1963, 1967) วิธีคิดและอุดมการณ์เหล่านี้มิได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการที่ชาวตะวันตกคืนอำนาจปกครองให้กับคนท้องถิ่นแต่อย่างใด

           การได้อิสรภาพและมีอำนาจของคนพื้นเมืองคือเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงและมีการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ สภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเมื่อปราศจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกแล้ว ล้วนเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ชาติแบบเดียวกัน ปัญหาคือ ผู้ปกครองที่เป็นคนท้องถิ่นเองกลับผลิตซ้ำระบอบอำนาจที่เจ้าอาณานิคมเคยสร้างไว้ และทำให้คนกลุ่มต่างๆ ในประเทศเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบ เป้าหมายในการวิพากษ์แบบหลังอาณานิคมจึงมุ่งไปที่การรื้อถอนระบอบอำนาจเก่าที่เปลี่ยนรูปโฉมใหม่ (Naficy, 2000) ในการศึกษาของ Pels (1997) พบว่าวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่ลัทธิอาณานิคมสร้างไว้ยังคงเกิดขึ้นในการปฏิบัติทางสังคมของคนท้องถิ่น หลายครั้งที่คนท้องถิ่นรู้สึกและปรารถนาที่จะมีชีวิตทันสมัยและสุขสบายเหมือนชาวตะวันตก

 

การต่อสู้ของคนท้องถิ่นหลังยุคอาณานิคม

           Spivak กล่าวว่าการศึกษาหลังอาณานิคมคือความพยายามที่จะเข้าใจชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย (subaltern) ที่ไม่ได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ กลุ่มคนเหล่านี้คือภาพสะท้อนของระบอบอำนาจที่ลัทธิอาณานิคมได้สร้างเอาไว้ ดังนั้น วิธีการต่างๆ ที่คนตัวเล็กตัวน้อยนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตนเองล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีคิดและอุดมการณ์แบบตะวันตกก็ตาม (de Kock, 1992) ในแง่นี้ Spivak (1988) เชื่อว่าปฏิบัติการทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนที่เคยอยู่ใต้อาณานิคม ล้วนเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะสร้างชีวิตใหม่ เช่นการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นเอกภาพทางเชื้อชาติของกลุ่ม (essential group-identity) เพื่อเรียกร้องสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม แม้ว่าความคิดเกี่ยวกับเชื้อชาติจะเป็นวิธีคิดแบบตะวันตก แต่ก็ช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสำนึกร่วมและมีพลังที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง Spivak เรียกการต่อสู้ในแนวนี้ว่าการใช้สารัตถนิยมเชิงยุทธศาสตร์ (strategic essentialism)

           นอกจากนั้น Spivak ยังเสนอว่าลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้ทำลายความรู้และวิธีคิดของคนท้องถิ่น โดยนำเอาระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์และแบบแผนวัฒนธรรมตะวันตกมาสร้างกฎเกณฑ์และควบคุมคนท้องถิ่นให้ปฏิบัติตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวคือ “ความรุนแรงในเชิงความรู้” (epistemic violence) เป็นการทำลายคุณค่าของประเพณี ความเชื่อและคติชาวบ้านที่ถูกมองว่าล้าหลัง ในขณะเดียวกันความสามารถที่คนท้องถิ่นจะนำเอาแบบแผนวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมาปรับใช้ร่วมกับวัฒนธรรมของตนก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การต่อสู้ของคนท้องถิ่นจึงมีความซับซ้อนและผสมผสานที่เกิดจากความรู้แบบลัทธิอาณานิคมและความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Bhabha, 1994)

 

อัฟกานิสถานใต้ลัทธิอาณานิคมและความขัดแย้ง

 

ภาพโดย ErikaWittlieb จาก Pixabay

 

           อัฟกานิสถาน หมายถึงดินแดนของชาวอัฟกัน (land of the Afghans) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาที่เรียกว่า Hindu Kush คำว่าอัฟกันมีรากศัพท์มาจากคำว่า Aśvakan อันหมายถึงคนเลี้ยงม้า ในทางวัฒนธรรมคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าชาว Pashtuns เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลอินโดขอิหร่าน อาศัยอยู่ทั่วไปในเขตเอเชียกลางและเอเชียใต้ ในทางประวัติศาสตร์ชาวอัฟกันมีกษัตริย์ปกครองมายาวนาน และมีการแบ่งแยกเป็นอาณาจักรต่างๆ จำนวนมาก เมืองสำคัญของชาวอัฟกันก็ล้วนเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรโบราณ (Runion, 2007) ดังนั้น ดินแดนของชาวอัฟกันจึงมีการปกครองที่ซับซ้อน ในทางโบราณคดี ดินแดนแถบนี้ก็เป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ 50,000 ปีก่อน (Baker & Khanoum, 2009) และในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล ศาสนาอิสลามก็เข้ามาในอัฟกานิสถานและขยายอิทธิพลอย่างเต็มที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก่อนหน้านั้น คนพื้นเมืองในแถบนี้มีการนับถือศาสนาและความเชื่อที่หลากหลายทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และโซโรแอสเตอร์ (Ewans, 2002)

           เมื่อชาวอัฟกันถูกปกครองด้วยผู้นำอิสลามที่มีเชื้อสายมาจากอิหร่าน ผู้นำอิสลามแต่ละราชวงศ์ก็พยายามต่อสู้และเข้ามายึดครองอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเปลี่ยนราชวงศ์ของกษัตริย์ตลอดเวลา รวมทั้งชนชาติอื่นในบริเวณใกล้เคียงทั้งจีน อินเดีย และอิหร่านพยายามเข้ามาปกครองชาวอัฟกัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-18 มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำและราชวงศ์หลายครั้ง และมีการขนานนามดินแดนแถบนี้ว่า Khorasan ซึ่งเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึงดินแดนแห่งพระอาทิตย์ (Barfield, 2012) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ชาวอัฟกันมีการต่อสู้กับอิทธิพลของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำอีกหลายครั้ง จนถึงปี ค.ศ. 1747 ชาวอัฟกันก็ได้รับชัยชนะและแต่งตั้งกษัตริย์ของตนเอง นั่นคือ Ahmad Shah Durrani ซึ่งถือเป็นผู้นำที่เข้มแข็งสามารถทำให้ชาวอัฟกันสร้างอาณาจักรของตนเองได้สำเร็จ (Esposito, 2003)

           ในปี ค.ศ. 1838 กองทัพอังกฤษเดินทางมาถึงอัฟกานิสถานและจับผู้ปกครองเนรเทศไปอยู่อินเดีย และแต่งตั้งทายาทของกษัตริย์ Ahmad Shah Durrani ขึ้นเป็นผู้ปกครอง หลังจากนั้นมาชาวอัฟกันก็ต้องเผชิญกับการเข้ามาแทรกแซงของชาวตะวันตก ทำให้เกิดการต่อสู้และสงครามหลายครั้ง ในขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคของผู้นำ Abdur Rahman Khan ที่มีนโยบายก้าวร้าวกับชนกลุ่มน้อยและเอนเอียงเข้าหาเจ้าอาณานิคมอังกฤษ (Ingram, 1980) จนถึงปี ค.ศ. 1919 กษัตริย์ Amanullah Khan ทำสงครามกับอังกฤษและประกาศตนเป็นอิสระจากอังกฤษ ในช่วงทศวรรษ 1920 อัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและเยอรมัน (Nicosia, 1997) รวมทั้งมีโครงการพัฒนาประเทศหลายโครงการ รวมถึงการปฏิรูประบบการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรี (Roberts, 2003)

           ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ผู้ปกครองอัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย (Hyman, 1982) ช่วงเวลานี้เป็นช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาพยายามแสดงอำนาจแข่งขันกับสหภาพโซเวียต ทำให้ชาวอัฟกันกลายเป็นดินแดนของการแสวงหาผลประโยชน์จากลัทธิคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ในปี ค.ศ. 1978 พรรค People's Democratic Party of Afghanistan (PDPA) เข้ายึดอำนาจและประกาศให้อัฟานิสถานเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งอัฟกานิสถาน Nur Muhammad Taraki ซึ่งมีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งอาศัยของกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากหลายประเทศ และมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองจนกลายเป็นสงครามย่อยๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง กลุ่มสำคัญคือ mujahideen ซึ่งเป็นกลุ่มชาวอิสลามที่มีสหรัฐอเมริกาคอยสนับสนุน กลุ่มนี้ทำการต่อสู้กับพรรค PDPA ซึ่งมีสหภาพโซเวียตคอยช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามภายในกลุ่มเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันเอง (Saikal, 2016)

           ในปี ค.ศ. 1994 กลุ่มมุสลิมที่เรียกตนเองว่าตาลีบันได้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองพื้นที่และขับไล่รัฐบาลในปี ค.ศ. 1996 จากนั้นก็สถาปนาการปกครองที่ชื่อว่า Islamic Emirate of Afghanistan แต่ภายใต้ความเข้มงวดและการใช้คำสอนของศาสนาอิสลามแบบสุดโต่ง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิสตรี การเผาทำลายที่อยู่อาศัยและการสังหารประชาชนจำนวนมาก ทำให้ประเทศอิสลามหลายแห่งไม่พอใจและไม่ยอมรับการทำงานของกลุ่มตาลีบัน (Goodson, 2002; Rachid, 2002; Skain, 2002) ตั้งแต่ที่กลุ่มตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน การต่อสู้ของฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอำนาจต่างๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีต่างชาติเข้ามาสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ ทั้งจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก กลุ่มผู้นำอิสลาม และกลุ่มคอมมิวนิสต์ (Maley, 2009) ปัญหาความไม่สงบในอัฟกานิสถานทำให้ในปี ค.ศ. 2001 สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้าไปควบคุมอัฟกานิสถานและขับไล่กลุ่มตาลีบันออกไปจากประเทศ แต่สหรัฐก็ต้องเผชิญกับกลุ่มอิสลามกลุ่มใหม่ที่เรียกตัวเองว่า al-Qaeda และมีผู้นำสำคัญคือ Osama Bin Laden หลังจากนั้นองค์การสหประชาชาติก็พยายามเข้าไปฟื้นฟูอัฟกานิสถานและช่วยเหลือให้ประเทศมีผู้นำที่ได้รับการยอมรับ ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2021 องค์การนาโตประกาศให้กองทหารของประเทศต่างๆ ยุติหน้าที่และเดินทางออกนอกประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้กลุ่มตาลีบันกลับเข้ามายึดครองประเทศอีกครั้ง และในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนในอัฟกานิสถานกำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรงและต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

 

ชาวอัฟกันกับเกมของอำนาจ

           Monsutti (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าดินแดนของชาวอัฟกันคือพื้นที่ต่อสู้ของประเทศมหาอำนาจมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และการต่อสู้นี้ก็รุนแรงและเข้มข้นอย่างมากในช่วงสงครามเย็น ความเข้าใจที่สังคมโลกมีต่ออัฟกานิสถานจึงถูกอธิบายด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสหลักภายใต้กระบวนทัศน์สมัยใหม่ที่สร้างเรื่องราวของอัฟกานิสถานให้เป็นประเทศที่ล้มเหลวทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรือกล่าวได้ว่าอัฟกานิสถานอยู่ในลำดับชั้นการพัฒนาที่ล้าหลัง ความคิดนี้คือการผลิตซ้ำวิธีคิดแบบลัทธิอาณานิคมตะวันตกที่อังกฤษเคยสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19

           นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปศึกษาชีวิตของชาวอัฟกัน คือ Louis Dupree (1980) ซึ่งเข้าไปศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 รวมทั้งการศึกษาของ Anderson (1975) ที่อธิบายให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในอัฟกานิสถาน การศึกษาของ Tapper (1973, 1991) ที่อธิบายให้เห็นวัฒนธรรมของชาว Pashtun การศึกษาของ Azoy (1982) อธิบายให้เห็นวิถีชีวิตของชาว Buzkashi ตัวอย่างการศึกษาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นลักษณะพหุวัฒนธรรมและเรื่องราวของชีวิตคนที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เห็นว่าดินแดนอัฟกานิสถานมิได้เป็นพื้นที่ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อัฟกานิสถานถูกปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การทำงานวิจัยในพื้นที่ของนักมานุษยวิทยาเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้ประเด็นการศึกษาในช่วงหลังเน้นไปที่เรื่องอิทธิพลทางการทหารและความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การศึกษาของ Boesen (1986) เรื่องการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนที่เดือดร้อนจากสงครามกลางเมือง

           ในการศึกษาของ Chishti (2014) อธิบายว่าหลังจากที่ชาวตะวันตกเข้าไปฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นมิได้เป็นเพียงการช่วยเหลือชาวอัฟกันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากแต่ยังเป็นการผลิตซ้ำความหมายและโลกทัศน์แบบตะวันตกให้ติดแน่นอยู่กับชาวอัฟกัน ความหมายเหล่านั้นได้แก่การสร้างความทันสมัยและความเจริญภายใต้การพัฒนาแบบทุนนิยม รวมทั้งยังเป็นการตอกย้ำว่าคนผิวขาวจากตะวันตกคือผู้ฉลาดและมีความสามารถ ประหนึ่งเป็นผู้กอบกู้โลกให้สงบสุข ความหมายนี้แทรกซึมเข้าไปในการช่วยเหลือชาวอัฟกัน Chishti (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าภารกิจของชาวตะวันตกมิได้ทำให้ชาวอัฟกันมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นการหยิบยื่นความฝันและความหวังแบบคนผิวขาวที่ต้องการให้คนที่ด้อยกว่าเช่นชาวอัฟกันได้สิ่งที่ดีงาม ซึ่งสิ่งนั้นอาจมิได้เป็นความต้องการของชาวอัฟกัน

           Monsutti (2013) กล่าวในทำนองเดียวกันว่าการเข้าไปช่วยเหลือชาวอัฟกันคือภาพสะท้อนของระบอบอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปัจจุบัน เห็นได้จากการเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรงและการยุติขบวนการก่อการร้าย การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เหล่านี้ได้สร้างระบอบของการจัดระเบียบโลกโดยมีมาตรฐานแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง เช่น สตรีชาวมุสลิมในอัฟกานิสถานต้องได้รับการดูแลในแบบเดียวกับผู้หญิงในสังคมตะวันตก เป็นต้น Abu-Lughod (2002) ตั้งข้อสังเกตว่ามาตรฐานการมีชีวิตของผู้หญิงไม่สามารถชี้วัดและตัดสินจากคุณภาพของผู้หญิงชาวตะวันตก และไม่ควรจะนำไปให้ผู้หญิงในวัฒนธรรมอื่นปฏิบัติตามในมาตรฐานเหล่านั้น หากแต่สิ่งจำเป็นคือการหาทางเลือกใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกทัศน์และวิถีชีวิตที่ผู้หญิงในแต่ละสังคมแสวงหาด้วยวิธีที่ต่างกัน พร้อมทั้งทำความเข้าใจว่าชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยเงื่อนไขแบบไหน โดยไม่จำเป็นต้องขีดเส้นทางเดินให้พวกเธอเดินไปตามแบบที่ชาวตะวันตกเลือกให้

 

ภาพโดย David Mark จาก Pixabay

 

           ประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องสิทธิของผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่เราควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก โดยไม่นำเอามาตรฐานชีวิต สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ในโลกตะวันตกมาเป็นไม้บรรทัด Suhrke (2011) กล่าวว่าโครงการพัฒนาจากต่างชาติทั้งหลายที่เข้าไปในอัฟกานิสถาน ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ไม่สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอัฟกัน มันจึงเป็นโครงการที่สวยหรูแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากโครงการเหล่านี้ถูกคิดบนฐานที่ว่าชาวอัฟกันเป็นผู้ด้อยโอกาส เป็นเหยื่อของความรุนแรง เป็นผู้รับเคราะห์ สังคมแตกแยก นักการเมืองคอร์รัปชั่น และไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง ฐานคิดนี้คือผลผลิตของลัทธิอาณานิคมที่ยังคงติดแน่นอยู่ในโครงการต่างๆ ที่ชาวตะวันตกนำมาให้ชาวอัฟกัน Gregory (2004) กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน สะท้อนให้เห็นการเมืองทางภูมิศาสตร์ที่ยังคงผลิตซ้ำขั้วอำนาจคู่ตรงข้ามระหว่างตะวันตกที่เจริญกับประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งสิ่งนี้อาจเรียกว่าเป็นลัทธิอาณานิคมยุคปัจจุบัน (present-day colonialism) ที่คนผิวขาวยังคงคิดว่าตนเองก้าวหน้ากว่าคนอื่นเสมอ บทเรียนจากอัฟกานิสถานอาจทำให้เราเห็นดินแดนที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดอารยะ ความศิวิไลซ์ ความทันสมัย หรือความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นมิได้มีเอกภาพและมั่นคง แต่เป็นสิ่งที่ผันแปรไปตามอำนาจที่ซับซ้อน (Monsutti, 2013)

 

 

เอกสารอ้างอิง

Abu-Lughod, L. (2002). Do Muslim women really need saving? Anthropological reflections on cultural relativism and its others. American Anthropologist, 104(3), 783–90.

Anderson J. (1975). Tribe and community among the Ghilzai Pashtun: preliminary notes on ethnographic distribution and variation in Eastern Afghanistan. Anthropos, 70(3/4), 575– 601.

Ashcroft, B., Griffiths, G., & Tiffin, H. (2000). Post-Colonial Studies: The Key Concepts. New York: Routeledge.

Azoy, G. W. (1982). Buzkashi: Game and Power in Afghanistan. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Baker, A. & Khanoum, A. (2009). Afghanistan: A Treasure Trove for Archaeologists. Retrieved from https://web.archive.org/web/20130726153721/http://www.time.com/time/magaine/article/0%2C9171%2C1881896-1%2C00.html

Barfield, T. (2012). Afghanistan: A Cultural and Political History. Princeton, N.J.: Princeton University Press.

Bhabha, H. K. (1994). The Location of Culture. London: Routledge.

Boesen, I.W. (1986). Honour in exile: continuity and change among Afghan refugees. Folk, 28, 109–124.

Chishti, M. (2014). Post-Conflict Afghanistan: A Post-Colonial Critique. Thesis, University of Toronto.

de Kock, Leon. (1992). Interview with Gayatri Chakravorty Spivak: New Nation Writers Conference in South Africa. ARIEL: A Review of International English Literature, 23(3), 29–47.

Dirlik, A. (1997). The Postcolonial aura: Third World criticism in the age of global capitalism. Boulder: Westview Press.

Dupree, L. (1980). Afghanistan. Princeton, NJ: Princeton Univ. Press.

Esposito, J. (2003). The Oxford Dictionary of Islam. Oxford: Oxford University Press.

Ewans, M. (2002). Afghanistan: A Short History of Its People and Politics. London: Curzon Press.

Fanon, F. (1967). Black Skin, White Masks. New York: Grove Press.

Fanon, F. (1963). The Wretched of the Earth. Harmondsworth: Penguin.

Gilbert, H. & Tompkins, J. (1996). Post-Colonial Drama: Theory, Practice, Politics. London: Routledge.

Goodson, L. P. (2002). Afghanistan's Endless War: State Failure, Regional Politics and the Rise of the Taliban. Seattle: University of Washington Press.

Gregory, D. (2004). The Colonial Present: Afghanistan, Palestine, Iraq. Oxford: Blackwell.

Hyman, A. (1982). Afghanistan Under Soviet Domination, 1964-83. London: Macmillan.

Ingram, E. (1980). Great Britain's Great Game: An Introduction. The International History Review, 2 (2), 160–171.

Maley, W. (2009). The Afghanistan wars. London: Palgrave Macmillan

Matinuddin, K. (1999). The Taliban Phenomenon, Afghanistan 1994–1997. Oxford: Oxford University Press.

Monsutti, A. (2013). Anthropologizing Afghanistan: Colonial and Postcolonial Encounters. Annual Review of Anthropology, 42(1), 269-285.

Naficy, H. (2000). The Pre-occupation of Postcolonial Studies. Durham: Duke University Press.

Nicosia, F. R. (1997). Drang Nach Osten Continued? Germany and Afghanistan during the Weimar Republic. Journal of Contemporary History, 32 (2), 235–257.

Pels, P. (1997). The Anthropology of Colonialism: Culture, History, and the Emergence of Western Governmentality. Annual Review of Anthropology, 26, 163-183.

Quayson, A. (2000). Postcolonialism: Theory, Practice, or Process? Cambridge: Polity Press.

Rashid, A. (2002). Taliban: Islam, Oil and the New Great Game in Central Asia. London: I.B.Tauris.

Roberts, J. J. (2003). The Origins of Conflict in Afghanistan. Westport: Greenwood Publishing.

Runion, M.L. (2007). The History of Afghanistan. Westport: Greenwood Publishing.

Said, E. (1989). Representing the colonized: Anthropology’s interlocutors. Critical Inquiry, 15, 205-25.

Saikal, A. (2006). Modern Afghanistan: A History of Struggle and Survival. London: I.B. Tauris & Co Ltd.

Scott, D. (1992). Criticism and culture: Theory and post-colonial claims on anthropological disciplinarity. Critique of Anthropology, 12(4), 371-94.

Suhrke, A. (2011). When More Is Less: The International Project in Afghanistan. New York: Columbia University Press.

Skain, R. (2002). The women of Afghanistan under the Taliban. London: McFarland & Company.

Spivak, G.C. (1988). Can the Subaltern Speak? In Cary Nelson and Lawrence Grossberg. (eds). Marxism and the Interpretation of Culture. (pp. 24-28). London: Macmillan.

Tapper, N. (1973). The advent of Pashtun mald ars in north-western Afghanistan. The Bulletin of the School of Oriental and African Studies, 36(1), 55–79.

Tapper, N. (1991). Bartered Brides: Politics, Gender and Marriage in an Afghan Tribal Society. Cambridge, UK: Cambridge University Press.

Young, R. (2001). Postcolonialism: An historical introduction. London: Blackwell.

 


 

ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

กราฟิก

กนกเรขา นิลนนท์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

 


 

ป้ายกำกับ การศึกษาหลังอาณานิคม Postcolonialism อัฟกานิสถาน Afghanistan นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share