การเข้า (ให้) ถึงสิทธิชุมชน: การมีสิทธิ มีเสียงและมีส่วนใน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประชาชน

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 8304

การเข้า (ให้) ถึงสิทธิชุมชน: การมีสิทธิ มีเสียงและมีส่วนใน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประชาชน

 

     

หนังสือเรื่อง “การเข้า(ให้)ถึงสิทธิชุมชน การมีสิทธิ มีเสียงและมีส่วนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประชาชน” เขียนโดย ปัทมา สูบกำบัง

 

           แนวความคิดเรื่อง “สิทธิชุมชน” เริ่มมีความชัดเจนในสังคมไทยเมื่อราว 20 กว่าปีที่ผ่านมา หมุดหมายสำคัญของการดำเนินงานเรื่องสิทธิชุมชน เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศรับรองสิทธิชุมชนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายสูงสุดเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของนักวิชาการที่ลงไปทำงานในพื้นที่ระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต่างเรียกร้องให้เห็นความสำคัญของสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเชื่อมโยงกับการดำรงชีพ อัตลักษณ์ของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ

           ในเนื้อหาบทที่กล่าวถึงกรอบแนวคิด คุณค่าความสำคัญและความหมายแห่งสิทธิชุมชนในบริบทไทย ผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อเขียนของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ ที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของสิทธิชุมชนไว้ ความว่า

“...สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นตามหลักที่ว่าทุกคนควรมีสิทธิในการยังชีพ มีสิทธิในการที่จะมีชีวิตเป็นระบบคุณค่าทางศีลธรรมและสิทธิชุมชนยังขยายตัวออกไปเกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆ ตามความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สิทธิในความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน สิทธิชุมชนจะเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน..”

การเข้าถึงสิทธิชุมชน: ตามกรอบแนวคิดสากลและรัฐธรรมนูญไทย

           ปัทมา สูบกำบัง ผู้เขียน กล่าวถึงกรอบแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนที่เกี่ยวโยงกับอำนาจของการกำหนดรูปแบบวิถีชีวิต ซึ่งอาจเป็นการจัดการทรัพยากรชุมชน แบบแผนจารีตประเพณี วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงระบบยุติธรรมที่มีกลไกการจัดการกับความขัดแย้งที่ชุมชนให้การยอมรับ โดยนำเสนอพัฒนาการแนวคิดสู่ลัทธิชุมชนนิยม (Communitarianism) ด้วยงานของ กิตติศักดิ์ ปรกติ เรื่อง สิทธิของบุคคลซึ่งอยู่รวมกันเป็นชุมชนที่ศึกษาแนวความคิดของLéon Duguit นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ด้วยทัศนะว่ากฎหมายนั้นผูกพันแนบแน่นกับสังคม การปรับใช้กฎหมายต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทางสังคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะคนใดคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ต่อส่วนรวมหรือชุมชน ซึ่งอาศัยคุณค่าหรือเครื่องยึดเหนี่ยวให้อยู่ร่วมกัน สอดคล้องกับการนำเสนอแนวความคิดของ Otto von Gierke นักกฎหมายชาวเยอรมนี ที่นำเสนอความมีอยู่จริงและความมีตัวตนของชุมชนพื้นบ้านเยอรมัน ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของชุมชน

           ผู้เขียนยังนำเสนอกรอบแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานที่กล่าวถึงความชอบธรรมของมนุษย์ทุกคนที่พึงมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ได้แก่ สิทธิในชีวิต ร่างกายและความเสมอภาค ตลอดจนกล่าวถึงกฎหมายและกติกาสากลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ค่อยๆ มีพัฒนาการเกี่ยวโยงกับสิทธิในการจัดการสังคม วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966

           กรอบแนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีสิทธิ มีเสียง และมีส่วนในการดูและรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชนซึ่งขยายแนวคิดออกไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น การยอมรับให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการ ปกป้องดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย โดยเฉพาะประเทศในแถบลาตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนชายขอบที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรและระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนผลักดันให้ปรับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยอมรับสิทธิชุมชนในทุกรูปแบบ

           ในส่วนของสังคมไทย คำว่า “สิทธิชุมชน” เป็นที่รับรู้และกล่าวถึงภายหลังจากการปฏิรูปการเมืองซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พยายามทำให้ “สิทธิชุมชน” กลายเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

“มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

           ทั้งนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคและเงื่อนไขในทางปฏิบัติที่ทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนไม่เกิดผลอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีกฎหมายที่มารองรับ รวมถึงการขาดความเข้าใจและยังไม่มีองค์ความรู้ทางกฎหมายเพียงพอ แต่ช่องว่างทางกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่จะมากีดขวางการขับเคลื่อนผลักดันเพื่อให้ชุมชนและประชาชนได้มีสิทธิ มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระบวนการขับเคลื่อนนี้ยังคงดำเนินไปในช่องทางและกลไกต่างๆ ดังปรากฏในการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ การเรียกร้องต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเสนอเพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อชุมชน

           จนกระทั่งมีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิชุมชนไว้ พัฒนาและยกระดับสิทธิชุมชนเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระบุไว้ในส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน มาตรา 66 และ 67 ทั้งนี้ ผู้เขียนได้กล่าวโดยสรุปถึงการพัฒนาต่อยอดจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ. 2540 ไว้ 4 ประการ ได้แก่

           ประการที่หนึ่ง กำหนดให้มีส่วนที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนโดยตรง

           ประการที่สอง ขยายผู้ทรงสิทธิ จากเดิมที่มีเพียง “บุคคล” และ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ให้เพิ่ม “ชุมชน” “ชุมชนท้องถิ่น” เข้ามาในฐานะผู้ทรงสิทธิด้วย

           ประการที่สาม ยกระดับและเพิ่มความเข้มแข็งของสิทธิชุมชนในระดับราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางมีผลลงไปถึงประชาชนและชุมชน มิใช่กระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปพักอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

           ประการที่สี่ สะท้อนถึงความพยายามในการแก้ไข้ปัญหาข้อจำกัดในกรอบกฎหมายที่เกิดจากการตีความจำกัดหรือตัดสิทธิของประชาชน

 

การมีสิทธิ มีเสียงและมีส่วนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประชาชน

จากกรณีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดนครศรีธรรมราช

           โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายแก่ประชาชน โดยสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเสริมสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงวิเคราะห์การเข้าถึงสิทธิชุมชนผ่านช่องทาง กลไก หรือมาตรการในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เพื่อการปกป้องดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีพื้นที่ศึกษาจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียน ได้อภิปรายผลการศึกษาแต่ละพื้นที่ ดังนี้

           จังหวัดร้อยเอ็ด

           พื้นที่ศึกษาคือ ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง และตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งประสบปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงสีข้าวที่ขาดระบบการป้องกันแก้ไข จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน ได้แก่ เครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตำบลเหนือเมือง รวมถึงโครงการและกิจกรรมที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด จนกระทั่งได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ในการแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงสีและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด” ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการโรงสีและโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 ราย และตัวแทนชุมชน เพื่อมีข้อตกลงในการแก้ไข้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน

           แต่เนื่องด้วยปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษไม่ได้รับการเยียวยาให้หมดสิ้นไปจากชุมชน แกนนำชุมชนจึงดำเนินการเรียกร้องโดยอ้างถึง “สิทธิชุมชน” ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ประชาเสวนาหาทางออก การยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงการฟ้องศาลปกครอง

           อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลจากการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว พบว่ายังคงมีปัญหาอยู่เช่นเดิม เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมีการโยกย้ายตำแหน่งออกจากพื้นที่บ่อยครั้งทำให้การประสานงานและการติดตามขาดความต่อเนื่อง ตลอดจนแกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่จริงจังกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาก็ได้รับผลร้ายและผลกระทบซึ่งส่งผลต่อพลังของชุมชนในการต่อสู้เรียกร้องให้บรรลุผลสำเร็จ

 

           จังหวัดน่าน

           พื้นที่ศึกษาคือ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิของชุมชนและประชาชนในการดูแล อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ และนโยบายการอพยพชาวเขาบนดอยภูคาลงมาอยู่ในพื้นที่ราบ จึงทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงที่ดินทำกิน การบุกรุกป่าต้นน้ำ และการที่รัฐขยายพื้นที่สัมปทานทำไม้แก่เอกชน เมื่อพื้นที่ป่าลดจำนวนลง ส่งผลให้น้ำในลำห้วยเริ่มเหือดแห้ง ผลผลิตจากป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ลดจำนวนลง

           ความเข้มแข็งของชุมชนจึงก่อให้เกิดเป็นการรวมกลุ่มเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการสร้างแนวร่วมระหว่างองค์กรท้องถิ่นกับชุมชนทั้งในระดับที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงการจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนและแสดงจุดยืนในด้านสิทธิชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหารือระหว่างสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาแลง เครือข่ายป่าชุมชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้รัฐสภาพิจารณา การหารือกับมูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นต้น

           แต่จากการศึกษาของผู้เขียนพบข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิชุมชน ถึงแม้ว่าจะอ้างอิงหลักการตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงขาดกฎหมายที่ออกมารองรับรัฐธรรมนูญและแม้ว่าจะมีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ริเริ่มจัดทำพระราชบัญญัติป่าชุมชนแล้วก็ตาม ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับนี้ ตราขึ้นโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและให้ตกไปทั้งฉบับ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ ขณะที่ปัญหาระหว่างชุมชนชาวบ้านด้วยกันเองยังคงเกิดความกระทบกระทั่งในพื้นที่ทำกินอยู่เป็นระยะ จึงเกิดเป็นความท้าทายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการแก้ไข้ปัญหาเพื่อไม่ให้ชาวบ้านอ้างสิทธิตามกฎหมายต้องเกิดปัญหาและเผชิญหน้ากัน

 

           จังหวัดพะเยา

           พื้นที่ศึกษา คือ กว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เนื่องจากเป็นศูนย์รวมความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยรอบต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติบริเวณกว๊านพะเยา การใช้ประโยชน์โดยละเลยการดูแลฟื้นฟูทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมเรื่องคุณภาพน้ำ ปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง ป่าต้นน้ำถูกทำลาย น้ำเน่าเสียจากชุมชนโดยรอบ และการสะสมสารเคมีจากการทำการเกษตร ขณะที่ภาครัฐจัดทำโครงการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างความสมดุลและยั่งยืนของธรรมชาติ รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวรอบกว๊านพะเยา

           ปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกว๊านพะเยานั้นค่อนข้างมีความซับซ้อนเนื่องจากมีจำนวนของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม เริ่มจากกว๊านพะเยานั้นเป็นที่ดินของราชพัสดุและได้รับการประกาศว่าเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar convention on Wetlands) การบริหารจัดการพื้นที่บริเวณนี้จึงอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วน ปัญหาตรงจุดนี้เกิดจากการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมถึงความขัดแย้งจากกลุ่มที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ในมิติที่แตกต่างกัน

           ถึงแม้ว่าจะมีการรวมกลุ่มของชุมชน ภายใต้การประสานงานของ “สถาบันปวงผญาพยาว” ซึ่งนำความรู้ทางวิชาการมาขับเคลื่อน สร้างความร่วมมือ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความตระหนักรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมกิจกรรมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่ความแตกต่างหลากหลายของชุมชนและการจัดสรรผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นโจทย์ที่ท้าทาย จำเป็นต้องมีกลไกการประสานงาน เป็นกลาง และได้รับความไว้วางใจจากชุมชนโดยรอบ ขณะที่ความไม่เข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเกิดจากข้อจำกัดทางความรู้ด้านสิทธิชุมชน ทำให้ไม่สามารถวางแผนบริหารจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้

 

           จังหวัดนครศรีธรรมราช

           พื้นที่ศึกษาคือ ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เผชิญกับปัญหาการประมงเชิงพาณิชย์หรือการประมงผิดกฎหมายที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือทำประมงที่ไม่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายรณรงค์เพื่อการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในชื่อ “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน” และทำงานร่วมกับเครือข่ายในรูปแบบอื่นจนเกิดเป็น “เครือข่ายองค์กรชุมชน” หรือ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อชุมชน”

           ความสำเร็จจากการดำเนินการระดับชุมชนได้ขยายผลไปสู่ระดับปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับนโยบาย การรวมกลุ่มในระดับจังหวัดส่งผลให้เกิดสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งคณะทำงานนี้และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ร่วมกันผลักดันกฎหมายระดับท้องถิ่น คือ “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เรื่อง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2552” นอกจากนี้ ยังมีการหาแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรของอ่าวท่าศาลาอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกป่าชายเลน การสร้างบ้านสัตว์น้ำ การทำปะการังเทียม ธนาคารปูม้า การใช้ระเบิดชีวภาพ ปรับปรุงสภาพพื้นดินชายเลน

           ถึงแม้ว่าการรวมกลุ่มของชุมชนท่าศาลาจะมีความเข้มแข็ง และประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี แต่ขอบเขตการดำเนินงานก็ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาเท่านั้น ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องยาวครอบคลุมออกไปในจังหวัดอื่น จึงไม่สามารถบังคับใช้กรอบกฎหมายท้องถิ่นร่วมกันได้

           ท้ายที่สุดในบทสรุปของการศึกษาในด้านการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับสิทธิชุมชนฉบับนี้ ผู้เขียนให้ความเห็นว่า สิทธิชุมชนของไทยยังก้าวไม่ถึงขั้นที่ประชาชนและชุมชมมีการกำหนดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนได้อย่างเต็มที่ ประชาชนเองมีช่องทางในการปกป้องสิทธิชุมชนได้ภายใต้กรอบกฎหมายในกรณีที่มีกิจกรรมบางอย่างก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับความสมดุลและความยั่งยืนของธรรมชาติน้อยกว่าผลประโยชน์ของการดำเนินงาน และให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชนและชุมชนน้อยที่สุด

           การเข้า (ให้) ถึงสิทธิชุมชน: การมีสิทธิ มีเสียงและมีส่วนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประชาชน จึงเป็นหนังสือที่สรุปบทเรียนจากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ “สิทธิชุมชน” ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ชุมชนในพื้นที่ศึกษาทั้ง 4 แห่ง ต่างสะท้อนถึงความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเรียกร้องและต่อรองกับภาครัฐหรือเอกชน สะท้อนถึงการขาดการบูรณาการของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในหลายระดับ สะท้อนถึงความไม่ใยดีต่อชุมชนและประชาชน ในกรณีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจน สะท้อนถึงการขาดกระบวนการให้ความรู้ในทางกฎหมายที่ประชาชนควรได้รับ และความอ่อนแอทางด้านกฎหมายของไทยในมิติเรื่องสิทธิชุมชน

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิทธิวัฒนธรรม และสิทธิชุมชน มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

กราฟิก

วิสูตร สิงห์โส

เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์

 


 

ป้ายกำกับ สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ พลังชุมชน จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share