เขียนหญิง: อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2346

เขียนหญิง: อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์

 

หนังสือเขียนหญิง: อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์ เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

 

           ธเนศ วงศ์ยานนาวา อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร1 งานเขียนของเขามีความสำคัญและน่าสนใจด้วยการนำเสนอแนวคิดที่แตกต่าง มีการวิเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้อย่างรอบด้าน เขามักจะถ่ายทอดเรื่องราวด้วยความตรงไปตรงมาแต่ทว่ามีความลึกซึ้งซ่อนอยู่ในเนื้อหาอยู่เสมอ ผลงานที่น่าสนใจ อาทิ ปฏิวัติบริโภค: จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น, เพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ, ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ศิลปะกับสภาวะสมัยใหม่: ความขัดแย้งและความลักลั่น, ม(า)นุษย์โรแมนติค

ผลงานเหล่านี้ทำให้ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้ชื่อว่าเป็น “...นักวิชาการสายป๊อปที่มีคนแห่แหนไปฟังเสวนาจนล้นสถานที่จัดอยู่เสมอ...” และ “...เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่าเขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่มีความรอบรู้ เปิดกว้างทางความคิด และมีสีสันที่สุดในแวดวงวิชาการไทยร่วมสมัย...”2 ความป๊อบปูล่าของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ถูกยืนยันด้วยจำนวนคนติดตามในกลุ่มเฟซบุ๊ก Thanes Wongyannava ที่มีคนติดตามกว่า 7,000 คน3

           เขียนหญิง: อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์ เป็นงานเขียนที่ปรับปรุงขึ้นจาก “ผู้หญิงและอำนาจ: การเขียนแบบผู้ชาย” ภายในหนังสือ สตรีศึกษา 1: ผู้หญิงกับประเด็นต่างๆ ที่รวบรวมงานเขียนในเชิงสตรีศึกษา ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผู้เขียนกล่าวว่าผลงานพิมพ์ฉบับดังกล่าว “...อยู่ในที่ที่เห็นได้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเห็นผลงานชิ้นนี้มานานแล้ว...”4

 

การเขียนของลึงค์

           เมื่อ ลึงค์ ถูกใช้แทนสัญลักษณ์ทางเพศของชาย การเขียนของลึงค์ จึงให้ความหมายได้ว่าเป็นการเขียนด้วยผู้เขียนเพศชาย ทั้งหนังสือเล่มนี้เองและเนื้อหาภายในที่ล้วนแต่เป็นการรวบรวมข้อมูล “เขียนหญิง” จากการเขียนของฝ่ายชายหนังสือเล่มนี้ถ่ายทอด “เรื่อง” ต่างๆ เชิงอำนาจของผู้หญิงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านกายภาพ ความเชื่อ และจิตใจ ผ่านกระบวนการการเขียนของลึงค์ที่ประมวลเนื้อหาออกเป็น 8 ส่วนด้วยกัน

 

อำนาจ – โยนี

           ผู้เขียนเลือกอภิปรายประเด็นอำนาจของผู้หญิงมาเป็นประเด็นเปิดในบทแรก อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวพันกับผู้หญิงมักเป็นอำนาจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ พลังความชั่วร้าย หรือภาพแทนตัณหาราคะ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงผลงานของนักกฎหมายชาวสวิส Jakob Bachofen เรื่อง “กฎหมายของแม่” (Maternal law )หรือ การปกครองโดยผู้หญิง (gynecocracy) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1861 ซึ่งได้ใช้เรื่องของเทพปกรณัมกรีกมาเป็นตัวละครในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอำนาจระหว่างเพศ Bachofen มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงจากสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่สู่สังคมผู้ชายเป็นใหญ่เกิดขึ้นในสังคมกรีกโบราณ และการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีอำนาจพิเศษในการติดต่อกับพลังเหนือธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เพศหญิงถูกกีดกันออกจากสถาบันทางศาสนา เพื่อรักษาอำนาจของเพศชายในสถาบันศาสนาให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง การกำหนดขั้นตอนและระเบียบวินัยทางศาสนา จึงเปรียบเหมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายเขียนขึ้น เพื่อกีดกันเพศหญิงจากวิถีปฏิบัติ และจำกัดคุณสมบัติที่ทำให้ผู้หญิงยากที่จะบรรลุจิตวิญญาณอันสูงส่งได้

           บทที่สองและสามเป็นการอภิปรายการเขียนเกี่ยวกับการสืบพันธุ์และการผลิตทายาท ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้อภิปรายถึงการจำกัดเรื่องความสุขทางเพศของผู้หญิง โดยนำเสนอหลักคิดที่ Plato (427 - 347 ปีก่อน ค.ศ.) นักปรัชญาชาวกรีกโบราณที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดตะวันตกนักปรัชญากรีก กล่าวไว้ว่า ความต้องการทางเพศและความสุขทางเพศของผู้หญิงมิใช่เป้าหมายสูงสุดในการร่วมเพศ แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การมีลูก ซึ่ง Aristotle ผู้เป็นศิษย์ของเพลโตและ Galen แพทย์ชาวกรีกที่เป็นทั้งนักเขียนและนักปรัชญากลับเห็นว่า ความสุขทางเพศของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับเป้าหมายของการมีลูก หากแต่ความสุขทางเพศของฝ่ายชายที่จะนำไปสู่การหลั่งน้ำอสุจิต่างหากที่จำเป็นต่อกระบวนการสืบพันธุ์ การเขียนถึงผู้หญิงในหน้าที่ของการสืบพันธุ์ จึงเป็นการเขียนเพื่อกำหนดบทบาทและสถานะของผู้หญิงที่ถูกครอบงำไว้ภายใต้สถาบันครอบครัว ดังนั้น การที่ผู้หญิงไม่สามารถมีลูกได้ถือว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการแต่งงาน ขณะที่กฎหมายโรมันโบราณกำหนดให้มีลูกสามคนเพื่อสิทธิ์ในการรับมรดกของสามี แต่กลับมีความเชื่อบางประการที่ว่าเมื่อผู้หญิงมีลูกครบสามคนแล้วจะหมดไฟสวาท หรือหากมีความสัมพันธ์กับสามีแล้วตั้งครรภ์ก็จำเป็นต้องหลบซ่อนเพื่อทำแท้ง ทำให้หนทางในการยุติปัญหาคือการที่สามีภรรยาหยุดการมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาใหม่คือการมีชู้เนื่องจากทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีความต้องการทางเพศอยู่ การจำกัดความสุขทางเพศของฝ่ายหญิงจึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการจัดระเบียบทางสังคมของสถาบันครอบครัวในรูปแบบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ การยกย่องผู้หญิงที่ดูแลงานบ้าน งานเย็บปักถักร้อย และกล่าวหาว่าผู้หญิงมีความต้องการทางเพศเป็นเรื่องผิดจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมทางกายภาพของฝ่ายหญิง

           ครั้นถึงยุคคริสต์ศาสนา ความคิดในการควบคุมตนเองได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคม ทั้งความเข้มงวดในเรื่องกิจกรรมทางเพศและความประพฤติของผู้หญิง –การรักษาความบริสุทธิ์ทางเพศ การไม่ยุ่งกับกิจกรรมทางเพศ การมีผัวเดียวเมียเดียว –แต่ก็ปรากฏการเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงในการเผยแพร่ศาสนา การที่ศาสนาคริสต์เป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชั้นสูงและการยอมรับแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้ระบบเครือญาติมีการเปลี่ยนแปลงไป การลดโอกาสที่จะผลิตทายาทจำนวนมากและการยึดถือความบริสุทธิ์ทางสายเลือดที่เคยเป็นกลไกในการรักษาอำนาจจึงเกิดความสั่นคลอน รวมถึงข้อห้ามด้านการหย่าร้างตามหลักผัวเดียวเมียเดียวก่อให้เกิดปัญหา Carolingian Divorce หรือการฆ่าปาดคอเมีย เพื่อที่ฝ่ายชายจะสามารถสมรสกับหญิงคนใหม่ได้

           ใช่ว่างานเขียนถึงผู้หญิงชิ้นนี้จะมีแต่เรื่องของการกดขี่ครอบงำฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว ในบทที่สี่นั้นว่าด้วยเรื่องความรัก ถึงแม้จะไม่ใช่ความรักที่หวานหอมแต่เป็นความรักในมุมมองจากมิติทางศาสนา นักการศาสนาและนักบวช มองว่าความรักเป็นเรื่องไร้เหตุผล ตัณหาและไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยานั้นจึงประกอบด้วยความนุ่มนวล มิตรภาพ และความซื่อสัตย์ที่จะแสดงให้เห็นว่าพร้อมอุทิศตนให้แก่กันโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ตามข้อเสนอของ St. Augustine (ค.ศ.345-430) นักบวชในคริสตศาสนาที่ต่อมาเป็นนักปรัชญาคนสำคัญในปรัชญาตะวันตกยุคกลาง อย่างไรก็ตาม ศาสนจักรเองก็มีข้อกำหนดและการควบคุมต่อการแสดงความรักซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเข้าพิธีแต่งงาน ผู้หญิงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกป้องจากผู้อื่นตลอดเวลาและถูกจูงมือจากผู้เป็นบิดาก่อนจะส่งต่อให้กับผู้เป็นสามี โดยที่สามีจะเป็นผู้ควบคุมภรรยาให้อยู่ในความเรียบร้อยตามระเบียบของพระผู้เป็นเจ้า

           การเขียนถึงผู้หญิงในมุมมองทางศาสนาจึงเกี่ยวพันกับประเด็นความบริสุทธิ์ของผู้หญิงที่ผู้เขียนนำมาอภิปรายต่อเนื่องในบทถัดมา ศาสนจักรมองว่าผู้หญิงเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย ตัณหาราคะและความชั่วร้าย แต่ศาสนาเองก็ยังคงต้องการการค้ำจุนจากโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง ศาสนาจึงเปิดโอกาสในการสร้างความบริสุทธิ์ด้วยการสลายความเป็นเพศและความต้องการด้านเพศ การเปิดโอกาสในการเป็นผู้บริสุทธิ์สำหรับผู้หญิง จึงมีหลักความสำคัญอยู่ที่ร่างกายคือไม่เคยร่วมเพศกับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม การไม่ใช้อวัยวะเพศให้แปดเปื้อนก็ยังไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาสนจักรยังคงเรียกร้องความบริสุทธ์ทางวาจา ความบริสุทธิ์ทางสายตา ความบริสุทธิ์ของมือ ความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ดังนั้น การควบคุมความบริสุทธิ์ของผู้หญิงในสายตาของศาสนจักรจึงรวมถึงการควบคุมความบริสุทธิ์ในทุกส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ การควบคุมความบริสุทธิ์ของผู้หญิงยังหมายรวมถึงการถูกควบคุมไม่เห็นเป็นที่จินตนาการถึงได้โดยผู้ชาย

           จากการควบคุมของศาสนจักรสู่การควบคุมทางการแพทย์ ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 – 17 ความรู้ทางการแพทย์เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนมากขึ้น การควบคุมทางด้านร่างกายที่เคยถูกศาสนาตั้งข้อกำหนดไว้ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นการควบคุมด้วยความรู้ทางการแพทย์ เช่น การโจมตีการอาบน้ำในที่สาธารณะจากศาสนจักร ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความคิดของผู้คนมากเท่าการยืนยันการเกิดโรคระบาดจากการใช้บริการที่อาบน้ำสาธารณะ รวมถึงการควบคุมเรื่องความสวยงามของร่างกายตามสมัยนิยมที่ผู้หญิงชั้นสูงสมัยนั้นต้องถูกควบคุมพฤติกรรมไว้ ตลอดจนการนำความรู้ทางการแพทย์เข้ามาใช้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศโดยเชื่อมโยงกับศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดว่าวันสำคัญทางศาสนาควรงดมีเพศสัมพันธ์หรือให้มีเพศสัมพันธ์ได้ รวมถึงข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงประจำเดือนและห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาให้นมบุตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังศาสนจักรก็มีข้อผ่อนปรนให้กับกิจกรรมทางเพศที่ไม่ก่อให้เกิดการมีลูกมากขึ้น เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือการหลั่งน้ำอสุจินอกช่องคลอด เนื่องจากมีความรู้ทางการแพทย์มากเพียงพอ

           เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น การทำความเข้าใจร่างกายและสรีระของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่เปิดเผย –เปิดกว้างมากขึ้น ในบทที่ว่าด้วย ผู้ชายในฐานะผู้เขียนถึงร่างกายของผู้หญิง จึงนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสรีระและความต้องการทางเพศของผู้หญิงด้วยแนวความคิดตั้งแต่สมัยยุคกลางถึงศตวรรษที่ 20 การวิเคราะห์ความต้องการทางเพศของผู้หญิงที่เกิดขึ้นทั้งด้านกายภาพและจิตใจที่มักเชื่อมโยงถึงกันและถูกปฏิเสธพฤติการณ์ลักษณะนี้มาในอดีต ถูกคลี่คลายด้วยแนวคิดทางการแพทย์ เช่น Renaldus Columbus ที่อ้างว่าเขาพบปุ่มกระสันของผู้หญิง อันเป็นส่วนที่ทำให้ผู้หญิงเกิดความสุขเมื่อมีการร่วมเพศ และ Levinus Lemnius ที่เชื่อว่าน้ำเชื้อของผู้หญิงถูกปล่อยออกมาเพื่อก่อให้เกิดความสุขและความตื่นเต้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการร่วมเพศที่จะนำไปสู่กระบวนการสืบพันธุ์ต่อไป ทั้งนี้ ทัศนคติเรื่องควาสุขทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการให้ความสำคัญกับความสุขทางเพศของผู้หญิงในสถาบันการแต่งงานมากกว่าการเป็นเพียงเครื่องผลิตทายาทอย่างที่ผ่านมา

           เขียนหญิง : อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์ จึงเป็นการนำเสนอเนื้อหางาน “เขียน” ที่ให้ความหมายโดยนัยถึงการกำหนดบทบาทของผู้หญิง การจัดระเบียบชีวิตของผู้หญิงในรูปแบบที่ผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง และการเขียนดังกล่าวก็แสดงออกถึง “การกด” ไว้ เพื่อไม่ให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า หรือแม้แต่เทียบเท่าผู้ชาย ด้วยการสร้างภาพให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนของตัณหาราคะ การเริ่มต้นของความวุ่นวายในโลกทั้งปวงจากการลิ้มลองผลไม้ต้องห้าม หรือความสุขทางเพศที่แม้เป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติแต่ก็ต้องบดบังเอาไว้ งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนการตั้งคำถามต่อความเป็นศูนย์กลางของเพศชาย การสร้างความเท่าเทียม และการหลุดพ้นจากการครอบงำทางเพศให้เป็นเรื่องที่เปิดกว้าง

           ในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้จึงมิใช่บทสรุปอย่างหนังสือทั่วไป แต่เป็นการตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้อ่านได้ทบทวนเรื่องราวที่ผู้เขียนส่งผ่านมา การพิจารณากับความรู้ที่เกิดขึ้น การคิดโต้ตอบกับสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ ตลอดจนการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบกับกรอบคิดเรื่องชายหญิงที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิง มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

 

 

ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

 

กราฟิก

วิสูตร สิงห์โส

 


 

1  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. “ศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา (Prof.Thanes Wongyannava)”. เข้าถึงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้ที่

http://www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/index.php?option=com_content&view=article&id=47:2014-06-19-09-43-50&catid=17:2014-06-27-03-01-21&Itemid=143

2  ปวรพล รุ่งรจนา. “จักรวาลความรู้และชีวิตหลังเกษียณของ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’”. เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้ที่ https://adaymagazine.com/people-thanes-wongyannava

3  โชติรส นาคสุข. “พ่อก็คือพ่อ : ตัวตน เพศ สาระและความสนุกอยู่บ้างกับ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’. เข้าถึงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้ที่ https://thematter.co/social/daddy-is-always-daddy/7019

4  อ้างถึงในกิตติกรรมประกาศของหนังสือ หน้า 4.

 


 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share