มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน (Heritage of the Nations: lessons learned from the neighboring countries)

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 4298

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน (Heritage of the Nations: lessons learned from the neighboring countries)

 

วิภาวดี โก๊ะเค้า

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

ภาพหน้าปกหนังสือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน (Heritage of the Nations: lessons learned from the neighboring countries)

โดย สุดแดน วิทธิลักษณ์ บรรณาธิการ / อิสระ ชูศรี, พจนก กาญจนจันทร, สุดแดน วิทธิลักษณ์ และ เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ ผู้แปล

 

           หนังสือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ: บทเรียนจากเพื่อนบ้าน (Heritage of the Nations: lessons learned from the neighboring countries) จัดพิมพ์ขึ้นโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแผ่ความรู้ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” อ้างอิงตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546” เพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมค้นหาคำตอบ และทำความเข้าใจมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

           เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่หนึ่งเริ่มต้นด้วยบทความที่จะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของอนุสัญญาที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization–UNESCO) หรือ ยูเนสโก ได้นิยามขึ้นเป็นการปูพื้นเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงหลักการ แนวคิด ความเป็นมาของอนุสัญญาของยูเนสโกมาสู่ความสัมพันธ์ต่อการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ส่วนที่สอง กรณีตัวอย่าง 6 บทความ แปลจากภาษาต่างประเทศที่ต้องการหยิบยกให้เห็นถึงประเด็นการเปรียบเทียบแต่ละประเทศที่มีต่ออนุสัญญา ปัญหาที่พบ และมาตรการบังคับใช้ของประเทศกรณีตัวอย่าง

 

ปฐมบท “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” สู่ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”

           เริ่มต้นหนังสือเกริ่นนำด้วยบทความ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ: บทเรียนจากเพื่อนบ้าน” เขียนโดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บทความนี้เป็นการนำเสนอการสถาปนาของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 จากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 ที่ยูเนสโกได้จัดทำขึ้น ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่เข้าร่วมและประเทศไทยต้องมีมาตรการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศภาคีอนุสัญญา เนื่องจากก่อนหน้านี้ในอนุสัญญามรดกโลก (Convention Concerning the Protection of the World and Natural Heritage) ได้นิยามความหมายของ มรดกทางวัฒนธรรม “cultural heritage” ครอบคลุมแค่ 3 ลักษณะ คือ อนุสรณ์สถาน อาคาร และผลงานที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ อนุสัญญาฉบับนี้เป็นการเลือกปกป้องเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ทำให้ประเทศภาคีอนุสัญญาเริ่มตระหนักถึงการรักษามรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นๆ เช่น พิธีกรรม วรรณกรรม และประเพณี เป็นต้น

           นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงประเด็นของการนิยามความหมายของคำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ในพระราชบัญญัติที่รัฐบาลไทยจัดทำ และคำว่า “Intangible Cultural Heritage” ในอนุสัญญาที่ยูเนสโกจัดทำ มีความแตกต่างกันบางประการ นิยามศัพท์ของคำว่า “Intangible Cultural Heritage” ในบริบทของประเทศไทยได้มีผู้นิยามไว้หลากหลาย เช่น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กายภาพ และมรดกวัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นต้น ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอให้เห็นการแปลความหมายของประเทศภาคีอนุสัญญาควรกะเทาะเปลือก เพื่อให้เห็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของอนุสัญญาท่ามกลางบริบทของประเทศภาคีอนุสัญญาที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน

           ความสับสนของการนิยามความหมาย “Intangible Cultural Heritage” ในประเทศไทยก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบได้พยายามหาบทสรุปโดยการเปิดเวทีรับความคิดเห็นเพื่อหาคำตอบ และมีมติให้ใช้คำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” แทนคำว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

 

ทุติยบท “มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาติ”

           บทความแปลที่ได้จากการคัดสรรเนื้อหา เป็นกรณีตัวอย่างในการถอดบทเรียน ประกอบด้วย 6 บทความ ดังนี้

           บทความที่ 1 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมมีชีวิตของกลุ่มคน เขียนโดย เฟเดอริโก เลนเซอรินี (Federico Lenzerini) แปลโดย อิสระ ชูศรี บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงมรดกภูมิปัญญาที่ผูกโยงอยู่กับกลุ่มคน สิทธิมนุษยชน แต่อำนาจของการถูกเลือกให้เป็นต้นแบบมรดกทางวัฒนธรรมจากการได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมข้างน้อยถูกลดทอนความสำคัญ และถูกกลืนกลายให้เหลือเพียงรูปแบบที่มีความคล้ายกัน อนุสัญญาที่อาศัยต้นแบบของอนุสัญญามรดกโลก ค.ศ. 1972 สะท้อนให้เห็นว่า “มรดกวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน” เป็นการแสดงถึงการจัดวางตำแหน่งคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม แท้จริงแล้วควรตระหนักถึงการรักษามรดกวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นว่าอนุสัญญาควรมีความสอดคล้องสิทธิมนุษยชน เอื้อต่อผู้สร้างและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมตามสิทธิแท้จริงเพื่อรักษาซึ่งความหลากหลายทางมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่

           บทความที่ 2 “ของฉัน ของเธอ หรือของเรา?” ความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย เหนือมรดกวัฒนธรรมร่วม เขียนโดย จิน จิน ชอง (Jinn Winn Chong) แปลโดย เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงความขัดแย้งจากการแย่งชิงมรดกทางวัฒนธรรมเพนเดท (pendet) ซึ่งเป็นนาฏกรรมท้องถิ่นของบาหลี รวมถึงมรดกวัฒนธรรมอื่นๆ ในพรมแดนระหว่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในบางครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมือง หรือศาสนา แต่เป็นการแย่งชิงมรดกทางวัฒนธรรมในแง่ของการแสดงถึงทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงการทบทวน ตรวจสอบประวัติศาสตร์ของประเทศ การซ้อนทับของมรดกวัฒนธรรมต่อปริมณฑลโดยรอบ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการในการอ้างสิทธิ์เหนือมรดกทางวัฒนธรรม และลดปัญหาการใช้ความรุนแรง

           บทความที่ 3 เมื่อไม่มีผลงานชิ้นเอก: ผลกระทบอันแจ้งชัดและมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพในโลกที่มีพรมแดน เขียนโดย เคธี โฟลีย์ (Kathy Foley) แปลโดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบของอนุสัญญาที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แฝงอยู่ของการสร้างรัฐชาติ จึงทำให้รูปแบบของอนุสัญญาถูกตีกรอบขึ้นจากแนวคิดในบริบทของตะวันตก ซึ่งไม่สอดรับกับบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น ศิลปะการแสดงโขนของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นประเด็นการยกเลิกประกาศ “ผลงานชิ้นเอกด้านมุขปาฐะและมรดกที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติ” (Masterpieces of oral and Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในปี ค.ศ. 2001 นำมาซึ่งการตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกจัดวางตามคุณค่า จากแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้อนุสัญญาถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ครอบคุลมกับกับมรดกทางวัฒนธรรมของในมิติอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาสู่การสถาปนา “อนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ” (Intangible Cultural Heritage Convention) ในปี ค.ศ. 2006

           บทความที่ 4 จากรูปแบบของพิธีกรรมสู่จุดดึงดูดนักท่องเที่ยว: การต่อรอง การแปลงรูปแบบนาฏศิลป์ดั้งเดิมของกัมพูชาในโลกที่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย เซเลีย ทุชแมน-รอสตา (Celia Tuchman-Rosta) แปลโดย อิสระ ชูศรี บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของการเปลี่ยนผ่านของนาฏศิลป์กัมพูชาที่มีความสัมพันธ์กับสังคมและเศรษฐกิจ ผู้เขียนได้ชี้ชวนในเห็นอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจที่ซุกซ่อนอยู่ในนาฏศิลป์กัมพูชา ต้องปรับตัวจากระบำโบราณดั้งเดิมที่แฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณี การเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์สวยงามเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของกัมพูชา เมื่อยูเนสโกประกาศให้ศิลปะการแสดงดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (UNESCO’s intangible heritage list for humanity) นาฏศิลป์กัมพูชากลายเป็นเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิง และถูกถอดรากถอนโคนจากความสัมพันธ์ของประเพณี พิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลดทอนให้มีรูปแบบศิลปะนาฏศิลป์ที่ขาดจากสาระแก่นสารดั้งเดิม

           บทความที่ 5 การฉวยใช้วัฒนธรรม: การเมืองของมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพในเวียดนาม เขียนโดย ออสการ์ ซาเลมิงค์ (Oscar Salemink) แปลโดย เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงการยกระดับมรดกทางวัฒนธรรมที่แฝงไปด้วยการตอบสนองอำนาจทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ หลังจากได้รับมรดกทางวัฒนธรรมของเวียดนามได้ขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก เช่น เฮว้ ฮอยอัน (Hoi An), อ่าวฮาลอง (Ha Long Bay) และ ญาเญิก (nha nhac) ดนตรีราชสำนักของเฮว้ เป็นต้น ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ตามมา คือ ผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ ต้องการเข้ามาควบคุมถือสิทธิ์เบ็ดเสร็จเพื่อหยิบฉวยผลประโยชน์ตามลำดับ ผู้เขียนมองว่ามรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็น “สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม” นำมาซึ่งการแข่งขันและเกิดความขัดแย้งกันเอง การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจึงเหมือนกับเหรียญสองด้านที่ด้านหนึ่งอาจจะช่วยฟื้นฟู รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันอำนาจของผู้ปกครองได้สร้างกระบวนการลดทอนคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แปรเปลี่ยนเป็นเพียงสินทรัพย์ตามผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป

           บทความที่ 6 บทบาทพิพิธภัณฑ์กับการปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ เขียนโดย พัน โสวหย่ง (Pan Shouyong) แปลโดย พจนก กาญจนจันทร บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงแนวคิดการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศจีนที่เป็นกายภาพและไม่เป็นกายภาพของจีนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เนื่องจากประเทศจีนอุดมไปด้วยความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ ชนกลุ่มน้อย และวัฒนธรรมภายใต้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับยูเนสโก ในบทความนี้ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพของจีนในกรณีของ “พิพิธภัณฑ์” ในประเทศจีนมีอยู่ราว 2,300 แห่ง ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ การให้สิทธิชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมเป็นผู้ตีความ กำหนดคุณค่าและความหมายของวัฒนธรรมตนเอง เป็นหลักสำคัญที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายให้คงอยู่อย่างแท้จริง

           ปลายทางของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นถึงการเรียนรู้แนวคิดพัฒนาการอนุสัญญา และการถอดบทเรียนผ่านประสบการณ์ประเทศเพื่อนบ้านกรณีตัวอย่างมาสู่การเข้าใจ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” เพื่อยกระดับมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยในฐานะสมาชิกอนุสัญญาอย่างสมบูรณ์

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac- Library

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์: 08.30–17.00 น. และวันเสาร์: 09.00–16.30 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์: 08.00–18.00 น. และวันเสาร์: 08.00–17.00 น.

 

 

 

ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ Heritage of the Nations วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share