7 ปีหนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ ย้อนมองความคิด คนทำพิพิธภัณฑ์

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 2318

7 ปีหนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ ย้อนมองความคิด คนทำพิพิธภัณฑ์

 

รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

 

           ปกหนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ หน้าปกตีความมาจาก Unfinished project ใช้รูปแปลนของห้องพิพิธภัณฑ์มาวาดเป็นสัญลักษณ์infinity ผสมกับภาพลวงตาแบบ Escher เพื่อสื่อถึงงานด้านพิพิธภัณฑ์ที่เมื่อเข้าไปทำแล้วจะต้องทำต่อไป

           ค คน สีขาวใช้ศิลปะการพับกระดาษแบบ Origami เพื่อจะสื่อถึงคนทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ที่คล้ายกับคนทำศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เริ่มต้นจากกระดาษสีขาวที่ว่างเปล่า เป็นพื้นที่ที่ศิลปิน สถาปนิก หรือนักเขียนใช้เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานเหมือนกัน แล้วใช้ความคิด จินตนาการ การแก้ปัญหา การลองผิดลองถูกในการทำงานเพื่อให้กระดาษเป็นรูปร่างขึ้นมา ออกแบบโดยสกลชนก เผื่อนพงษ์

           กาลเวลาผ่านไป การดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนทำพิพิธภัณฑ์มีอายุมากขึ้น บ้างประสบปัญหาสุขภาพ บ้างย้ายไปทำงานที่อื่น หรือมีความสนใจอื่นไปแล้ว หรือแม้แต่บางท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่า “เวลา” ยังคงเป็นข้อท้าทายสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์และสืบต่องานพิพิธภัณฑ์

           ย้อนไปปี พ.ศ. 2557 หรือเมื่อ 7 ปีมาแล้ว ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เก็บข้อมูลพัฒนาเป็นต้นฉบับหนังสือ “คนทำพิพิธภัณฑ์” เปิดมุมมองของคนทำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “เสียง” ที่เล่าโดยผู้ปฏิบัติเองที่ได้พูดถึงเส้นทางการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ความคิด ความตั้งใจ อุปสรรค และโอกาส การทำงานในครั้งนั้นจึงตั้งอยู่บนฐานคิดแห่งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิด แรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นในการทำงานของคนทำพิพิธภัณฑ์ และเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานพิพิธภัณฑ์ด้วยกันจะมีส่วนช่วยในการสร้างกำลังใจ ความเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายเพื่อประคับประคองให้การทำงานพิพิธภัณฑ์ดำเนินอยู่ได้ จะเป็นโอกาสสำคัญให้คนทำงานทางวัฒนธรรมที่อยู่ในภูมิภาคที่แตกต่าง ได้เรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของคนต่างถิ่น

           ทีมงานประกอบด้วย คุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ อดีตนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งขณะนี้เป็นนักวิชาการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คุณปณิตา สระวาสี นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร คุณพัชรีวรรณ์ เบ้าดี คุณศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์ เจ้าหน้าที่โสตทัศน์ และผู้เขียน รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์ ที่ทำหน้าที่ดำเนินงานการพิมพ์

           คณะทำงานเริ่มต้นด้วยการทบทวนและคัดเลือกคนทำพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งให้กระจายในทุกภูมิภาค จากนั้นเริ่มต้นงานภาคสนามจากภาคใต้ไปที่ พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีอาจารย์กฤษฎา บุษบรรณ ครูผู้สร้างและดูแลพิพิธภัณฑ์ในขณะนั้นเป็นผู้ให้ข้อมูล แม้จะเป็นการพบกันในครั้งแรก แต่ด้วยความสนใจที่มีในงานพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน ทำให้การพูดคุยระหว่างคณะและ อ.กฤษฎา สนุกสนานเป็นอย่างดี

           อาจารย์กฤษฎา เล่าถึงจุดเริ่มต้นความคิดเรื่องการทำงานพิพิธภัณฑ์ว่าเกิดขึ้นจากการมีใจรักในชุมชน ด้วยความเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาท้องถิ่นของเรา และมีความคิดที่จะรวบรวมประวัติและข้าวของที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตในอดีตของคนหลังสวน อาจารย์กฤษฎา จึงเริ่มต้นด้วยการเก็บสะสมและรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ และค่อยพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนสวนศรีวิทยา

 

อาจารย์กฤษฎา บุษบรรณ แนะนำโมเดลจำลองสนามแข่งเรือหลังสวน

 

           พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีห้องจัดแสดงที่มีข้าวของเครื่องใช้ในอาชีพของคนหลังสวนในอดีต จัดแสดงเรือแบบต่างๆ ของชาวหลังสวนที่หาชมได้ยาก อาทิ เรือโกลนอายุร้อยกว่าปีที่ได้มาจากวัดปากน้ำละแม เรือไม้โตนด เรือต้นแบบ 8 ฝีพายรุ่นแรกของหลังสวน เรือ 32 ฝีพายจำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือแข่งของทีมโรงเรียนสวนศรีวิทยา ตั้งแสดงอยู่ด้านนอกอาคาร เหตุที่เรือหลังสวนมี 32 ฝีพาย ต่างจากเรือยาวภาคอื่นที่มี 50 40 หรือ 30 ฝีพาย เนื่องจากคนหลังสวนยึดถือความเชื่อที่ว่าคนเราต้องครบ 32 อุปกรณ์ต่อเรือของช่างพื้นบ้านจัดแสดงให้ชมแบบครบชุด อาทิ เลื่อยหนากสำหรับตัดซุง เลื่อยเปิดปากเรือ สว่านทบสำหรับเจาะไม้ กบมือ ปึ้งปัดสำหรับถากวงโค้งตัวเรือ ขวานปลี ขวานอันสุดท้ายในชีวิตของ “ช่างวัน” ช่างต่อเรือฝีมือดีของหลังสวน หนังปลากระเบนที่ทำหน้าที่เสมือนกระดาษทราย ไม้ฉากแบบเก่าที่ทำจากไม้เนื้อแข็งโดยสำเนามาตรวัดจากฟุตหลวง การจัดแสดงในส่วนนี้เป็นความตั้งใจของอาจารย์ ที่ต้องการให้เด็กนักเรียนและผู้ชมเห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการขุดเรือ ต่อเรือ ของคนหลังสวน

           ดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์ คือการนำเสนอประเพณีขึ้นโขนชิงธง ที่บอกเล่าผ่านนิทรรศการและข้าวของต่างๆ ได้แก่ โขนหรือส่วนของหัวเรือ จำนวน 2 โขน ที่ตัดมาจากตัวเรือจริงที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ทำจากไม้ตะเคียนทองประดับด้วยผ้าแพร หน้าร่า และบายศรี แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการศึกษาเรียนรู้ถึงการแข่งเรือ และเรือแข่งของชาวหลังสวน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง1

 

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนสวนศรีวิทยา

 

           ลงใต้ไปอีก ณ พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน จังหวัดนครศรีธรรมราช พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความคุ้นเคยกับทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นอย่างดี คณะมาเยือนพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ในช่วงปลายฤดูฝน ไม้ใหญ่ปลูกขนาบเรือนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เขียวชอุ่ม กล้วยไม้ที่เพาะชำไว้ออกช่อต้อนรับผู้มาเยือน หลังฝนโปรยภาพพิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นภาพสะท้อนความมีชีวิตชีวาของพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน

           พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ประกอบด้วยเรือนจัดแสดง 4 เรือน แบ่งเป็นเรือนที่จัดแสดงตัวหนังตะลุง ทั้งตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ รวมทั้งตัวหนังขวัญใจหน้าวิกอย่างหนูนุ้ย เท่ง แม้วันนี้จะไม่ได้ขยับทำการแสดงเหมือนในอดีต แต่ครั้งหนึ่งตัวหนังเหล่านี้เคยโลดเล่นหลังผ้าใบสร้างความครื้นเครงในฐานะตัวละครของหนังตะลุงคณะสุชาติ ทรัพย์สิน

           นอกจากนี้ ยังมีหนังตะลุงจากประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตุรกี เป็นต้น เรือนที่สองเป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่ง บนเรือน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมากิน เครื่องจักสาน มีดพร้าต่างๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราช

           เรือนที่สามเป็นวิกใช้แสดงการเชิดตะลุงให้ผู้มาพิพิธภัณฑ์ได้ชม

           เรือนที่สี่ คือ เรือนบ้านศิลปินแห่งบ้าน เป็นเรือนสาธิตการแกะตัวหนัง และจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ตลอดการพูดคุยกับอาจารย์วาที ทรัพย์สิน ได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการจากคณะนายหนังตะลุงมาสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตว่า จำเป็นต้องผสมผสานทั้งความรู้และการจัดการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในการทำงานพิพิธภัณฑ์จากการเข้าสัมมนาและกิจกรรมในแวดวงวิชาการผสมผสานกับการจัดการเพื่อหารายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์ดำเนินอยู่ได้

 

คุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ บรรณาธิการหนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ กำลังสัมภาษณ์ อาจรย์วาที ทรัพย์สิน

 

           เส้นทางที่สอง คณะเดินทางขึ้นเหนือโต้ลมหนาวในช่วงเดือนธันวาคม เยือนหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งในขณะนั้นมีพระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณเป็นผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ แต่ในปัจจุบันท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม (วัดสบเกี๋ยง) อ.ปง จ.พะเยา และดูแลพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา

           ในขณะนั้น พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ เล่าถึงการทำพิพิธภัณฑ์หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำว่ามีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวการเล่าเรื่องเพื่อให้ภาพจำลองในมิติวัด ชุมชนและเมืองพะเยาในอดีต

 

พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณเล่าถึงความเป็นมาของหอธรรมนิทัศน์

 

           หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณ รวมถึงเอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในจังหวัดพะเยา พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณเล่าว่าเป็นเวลากว่า 43 ปี ที่หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีได้พบซากปรักหักพังและประติมากรรมในยุคหินทรายของเมืองพะเยา(พุทธศตวรรษที่ 20-21) อันเป็นที่มาที่ทำให้หลวงพ่อได้เริ่มเก็บรักษาสมบัติของชาติเหล่านี้ไว้ ณ วัดศรีอุโมงค์คำ จนย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ในปี พ.ศ. 2512 จึงย้ายโบราณวัตถุทั้งหมดมาเก็บรักษาต่อ ณ วัดแห่งนี้

           นับตั้งแต่การเริ่มต้นเก็บรวบรวมวัตถุโบราณ ตลอดจนการกลั่นกรองจนกลายเป็น หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ต้องใช้ระยะเวลากว่า 32 ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2539 หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ได้รับการออกแบบด้วยศิลปะล้านนาประยุกต์ ด้านหลังตัวอาคารติดกับกว๊านพะเยาจึงมีภูมิทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ ภายในอาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 5 ห้อง แต่ละห้องแบ่งเป็นส่วนๆ รวมทั้งหมดเป็น 13 ส่วน ได้แก่

           ส่วนที่หนึ่งกว๊านพะเยา จัดแสดงประวัติ เริ่มตั้งแต่เป็นนิทานปรัมปรา กว๊านพะเยาในอดีต รวมถึงวิถีชีวิตการประมงในเมืองพะเยา จุดเด่นของห้องนี้ นอกจากห้องที่โล่งสามารถมองทะลุกระจกใสมองเห็นภูมิทัศน์ของกว๊านพะเยาได้อย่างชัดเจน ยังมีการจำลองโครงกระดูกมนุษย์อายุราว 800 กว่าปี ซึ่งขุดค้นพบเมื่อปี 2547 ณ เมืองโบราณเวียงลอ

           ส่วนที่สองลานศิลาจารึก จุดเด่นของห้องนี้คือ หลวงพ่อพุทธเศียร เศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่มีพุทธลักษณะสวยงามตามแบบศิลปะหินทรายสกุลช่างพะเยา ในยุคต้นที่ได้รับอิทธิพลจากทางสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีหลักศิลาจารึก ส่วนใหญ่เป็นหินทรายอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 20-22

           ส่วนที่สาม พะเยาก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของอาคาร จัดแสดงวัตถุโบราณในยุคหินของคนในพื้นที่จังหวัด ห้องจัดแสดงจำลองบรรยากาศคล้ายเมืองโบราณ

           ส่วนที่สี่ พะเยายุคต้น เน้นการเผยแพร่ประวัติพะเยาในแคว้นล้านนา จัดแสดงพระพุทธรูปปางต่างๆ ศิลปะล้านนา สกุลช่างพะเยา เป็นต้น

           ส่วนที่ห้า พะเยายุครุ่งเรือง จัดแสดงศิลปะและวัตถุโบราณในยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยา ห้องนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าห้องพระ

           ส่วนที่หกเครื่องปั้นดินเผา ขุดค้นพบเป็นจำนวนมากในจังหวัดพะเยา ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม ถ้วย หรือไห ที่ถูกค้นพบมากที่สุดหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ไหบูรณคตะ ชาวบ้านใช้บูชาหน้าพระ ถือเป็นไหที่สวยงามที่สุดในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ฯ

           ส่วนที่เจ็ด พะเยายุคหลัง ส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวและวัตถุโบราณของพะเยาหลังถูกพม่ายึดครองและผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา ห้องนี้จัดแสดงสิ่งของหลากหลาย

           ส่วนที่แปด กบฏเงี้ยว จัดแสดงเรื่องราวเงี้ยวเมืองพะเยาเมื่อปี พ.ศ. 2445

           ส่วนที่เก้า ประวัติพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพะเยาและชาวล้านนา

           ส่วนที่สิบ -สิบเอ็ด วิถีและภูมิปัญญาพะเยากับความหวัง จัดแสดงเรื่องราวของบุคคลสำคัญของเมืองพะเยาและจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับเมืองพะเยา

           ส่วนที่สิบสอง คนกับช้าง จัดแสดงเรื่องราวของช้างในด้านต่างๆในล้านนา วิถีชีวิตของช้าง ความเชื่อ คติทางพระพุทธศาสนา

           ส่วนที่สิบสาม คลังวัตถุโบราณ ห้องเก็บวัตถุโบราณที่ยังไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ และประดิษฐาน “หลวงพ่อพระเจ้าองค์ดำ” พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองคำ

           หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในรวบรวมประวัติศาสตร์ทั้งในมิติพุทธศาสนา ชุมชน และเมืองของลำพูนเข้าไว้ด้วยกัน

           จากนั้นคณะขึ้นไปต่อที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในครั้งนั้น คุณวีระวัฒน์ กังวาลนวกุล ผู้ก่อตั้งและจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์ว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในบ้านป่าแดดราว 6-10 คน ในชุมชนมาใช้เวลาว่างร่วมคิด ทำ ทดลอง อนุรักษ์และฟื้นฟูของเล่นพื้นบ้านจากฝีมือและภูมิปัญญา ซึ่งสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าทำมือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่ให้ใช้พื้นดินสาธารณะในการดำเนินงานตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดป่าแดด ริเริ่มเกิดจากการพูดคุยเรื่องราวในอดีตของแต่ละคน และค้นพบว่าความสุขสนุกสนานจากการเล่นของเล่นในวัยเยาว์ มีเรื่องราวที่ประทับใจ จึงเป็นที่มาของการกลับมารื้อฟื้นความสุขใจของคนเฒ่าออกมาเล่าขานผ่านของเล่น โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมการละเล่นของเยาวชนในชุมชน ให้เด็กในชุมชนมีพื้นที่ปลอดภัยในการเล่น พร้อมทั้งสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยกับละอ่อนในชุมชนด้วยของเล่น

           ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเล่นพื้นบ้านและของเล่นที่คิดประดิษฐ์ใหม่มากมายจัดแสดง และสามารถทดลองเล่นได้ทุกชิ้น พร้อมชื่อเรียกและคำอธิบายแบบง่ายที่แฝงความหมายสะท้อนถึงวิถีชีวิตและการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างของเล่นที่สะท้อนภูมิปัญญา เช่น ลูกข่างโว้ ลูกข่างสะบ้า สัตว์ล้อต่างๆ สัตว์ชัก พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง กำหมุน จานบิน โหวด ครกมอง ควายกินหญ้า งูดูด คนตำข้าว กังหันลม เป็นต้น

 

คุณวีรวัฒน์เล่าถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์เล่นได้

 

 

   

ของเล่นงานไม้

 

พ่ออุ๊ยสาธิตทำของเล่น

 

           จากนั้นคณะได้เดินทางย้อนลงมาจังหวัดลำพูน เพื่อพบคุณนเรนทร์ ปัญญาภู เพื่อสัมภาษณ์แนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

           พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเมืองลำพูน โดยใช้คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน คุ้มเจ้าเมืองลำพูนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในลำพูน อายุกว่า 100 ปี เป็นที่จัดแสดง โดยมีเทศบาลเมืองลำพูน และกลุ่มกวงแหวน หละปูน เป็นผู้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น

           คุณนเรนทร์ ปัญญาภู กล่าวถึงวิธีคิดและการทำงานพัฒนาพิพิธภัณฑ์โดยเห็นว่า มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของอาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ไปสู่เรื่องของการจัดการของคนในพื้นที่ เริ่มต้นทำงานจากกลุ่มอาสาสมัคร การทำกิจกรรมกับเยาวชน และนำเสนอเรื่องเล่าจากภาพถ่ายชุมชนเมืองลำพูน

 

คุณนเรนทร์ ปัญญาภูให้สัมภาษณ์โดยใช้พื้นที่วัดจามเทวีเป็นฉากหลัง

 

           ในการเดินทางศึกษาครั้งที่ 3 คณะเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ห้องภาพเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด

           ห้องภาพเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ถ.สายสุรินทร์-ปราสาท ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ภาพแรกที่ผู้เขียนเห็นคือ ภาพเก่าที่ถูกจัดแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติของเมืองสุรินทร์ คุณอัษฎางค์ ชมดี และคุณพัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา ผู้ร่วมจัดตั้งห้องภาพเมืองสุรินทร์ ต้อนรับและทักทายตามประสาเพื่อนพิพิธภัณฑ์ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

 

คุณอัษฎางค์ ชมดี และคุณพัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา ให้ข้อมูลกับทางทีมงาน

ปี 2560 คุณพัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

 

ภายในห้องภาพเมืองสุรินทร์จัดแสดงภาพเก่าที่บอกเล่าประวัติเมืองสุรินทร์

 

           คุณอัษฎางค์ เล่าว่า ห้องภาพเมืองสุรินทร์เกิดขึ้นขึ้นเมื่อปี 2546 ที่ชวนเพื่อนมาลงขันจัดนิทรรศการภาพเก่า เราไปหารูปตามบ้านคน และขอใช้สถานที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดแสดงภาพประมาณ 15 วัน จากนั้นก็มีการจัดงานขึ้นอีก ก็ไปขอสถานที่สนามหญ้าของเทศบาล จัดแสดงภาพ และมีเรื่องเล่า มีการแสดงตนตรีกันตรึมโบราณ เจรียง ไปเล่นด้วย จัดงานอยู่หลายวัน จนมีคนเรียกพวกเราว่า “เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ” แปลว่า ไอ้พวกไม่มีอะไรทำ หลังจากนั้นคณะทำงานก็ร่วมกจัดงานกันอีกหลายครั้ง และเริ่มมีคนเห็นคุณค่า

           ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น คุณอัษฎางค์ ได้กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์อย่าตั้งอยู่เฉยๆ ต้องก้าวออกไปข้างนอกตัวคุณเองต้องออกไปให้กว้างให้ไกลที่สุด จะได้รู้จักคนเยอะภาพถ่ายและเรื่องเล่า ในแง่หนึ่ง คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผมว่าภาพสื่อตรงกว่าตัวหนังสือ ให้เด็กอ่านหนังสือ ยากนะบางที เห็นภาพแล้วไปอ่านหนังสือทีหลังก็ได้ แต่จะให้คนอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือภาพเก่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้อดีต อาจจะมีหลายเครื่องมือ ต้องลองช่วยๆ กันคิดดูว่ามีอะไรบ้าง ...(ผม) อยากใช้เครื่องมือที่หลากหลายเชื่อมถึงกันในสุรินทร์มีอะไร บุรีรัมย์มีอะไร ศรีสะเกษมีอะไร แม้กระทั่งกัมพูชามีอะไรเครื่องมืออาจจะต่างกันออกไป แต่เอามาใช้ร่วมกันจุดหมายคือการเรียนรู้อดีต”

 

ภาพซ้าย : ทั้งสองพระองค์เยี่ยมพสกนิกร ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

ภาพขวา : ทรงโบกพระหัตถ์ แด่พสกนิกร เมื่อขบวนรถไฟผ่านสถานีรถไฟศรีขรภูมิ

 

           กลุ่มภาพที่สำคัญๆ เช่น กลุ่มภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2498 โดยรถไฟพระที่นั่งจากจังหวัดอุบลราชธานี ถึง นครราชสีมา คุณอัษฎางค์ เล่าต่อมาจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่า การเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ภาคอีสานของทั้งสองพระองค์ในครั้งนั้น นับว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ด้วยว่าไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ในพื้นที่ภาคอีสาน ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดความรัก ศรัทธา และหลายครอบครัวลืมตาอ้าปากค้าขายจนมีฐานะได้ พสกนิกรทั้งที่อยู่ใกล้ไกล ต่างเดินทางมารอรับเสด็จฯ กันอย่างเนืองแน่น ข้าวปลาอาหารที่มีคนทำขาย ทำเท่าไรก็ขายหมด

           ในด้านการจัดการความรู้ของห้องภาพเมืองสุรินทร์จึงไม่ได้เป็นเพียงนำภาพเก่ามาเล่าเรื่องสะท้อนประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์เท่านั้น ภาพถ่ายยังทำหน้าที่เป็นหลักฐานเพื่อการต่อรองหรือการเรียกร้องในสังคม คุณอัษฎางค์ กล่าวไว้ว่า “เรามีหน้าที่ใช้เครื่องมือของห้องภาพ เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกเป็นข้อมูลให้คนอื่นเข้ามาร่วม เพื่อผลักดันนโยบายอย่างหนึ่งออกไป”

           นอกจากการจัดแสดงภาพเก่าเพื่อเล่าประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อเมืองสุรินทร์แล้ว ห้องภาพเมืองสุรินทร์ยังจัดพิมพ์เอกสาร “สุรินทร์สโมรสร” หนังสือเกี่ยวกับท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ค้นคว้าความรู้ทางประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ลงในรูปแบบหนังสืออีกด้วย เมื่อกล่าวถึงความคาดหวัง ในครั้งนั้นคุณอัษฎางค์ เห็นว่า “ความเป็นห้องภาพเมืองสุรินทร์ หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สุดท้ายต้องเป็นของสาธารณะ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม”

 

ผลงานของห้องภาพเมืองสุรินทร์ที่จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม

 

           จากนั้นคณะเดินทางต่อเพื่อไปศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีอาจารย์ฉลาด ชัยสิงห์ และผู้ใหญ่บ้านศักดิ์ชาย บุตรพรหม เป็นผู้บอกเล่าประสบการณ์

           ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วง ตั้งอยู่ในวัดท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนสืบสานและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน หลังการพัฒนาระบบการศึกษาในโรงเรียนที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา คัมภีร์ใบลานก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามจารีตเดิม จนกระทั่งชุมชนประยุกต์ใช้คัมภีร์ใบลานเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นคือ เป็นคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อยโบราณที่มีจำนวนมาก ทางวัดและชุมชนได้ทำการอนุรักษ์และทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน มีการแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น พิธีกรรม ประเพณี โหราศาสตร์ ตำรายา ลำนิทานต่างๆ ฯลฯ พร้อมกับถอดผ้าห่อคัมภีร์ออกมาอนุรักษ์และแยกเก็บไว้อีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งมีกระบวนการทำงานร่วมกับนักวิชาการ โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้ามาช่วยในการปริวรรตและเรียบเรียงใบลานของวัด

 

อาจารย์ฉลาด ชัยสิงห์ และอาจารย์ศักดิ์ชาย บุตรพรหม

 

 

           ในการเดินทางครั้งที่ 4 ภาคกลาง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม และพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

           พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ท่านพระครูพิทักษ์ศิลปาคมได้เล่าถึงเส้นทางในการทำงานพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดอนุรักษ์หนังใหญ่ และมีมหาวิทยาลัยศิลปากร รับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด ปัจจุบันทางวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์สถานแสดงนิทรรศการหนังใหญ่โดยดำเนินการปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุดเก่าอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนัง

           พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้เห็นว่า การทำงานพิพิธภัณฑ์จะดำเนินการได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่เฉพาะแต่คนทำพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่ควรเข้ามามีบทบาทในการเสริมพลังของงานพิพิธภัณฑ์

           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่ร่วมเดินทางบนเส้นทางงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร2  คุณมานะ เถียรทวี หรือลุงต้อย หนึ่งในคนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล่าถึงการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ว่า ประกอบด้วยอาคารหลังแรก เดิมเป็นหอไตรของวัด เป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูง ต่อมาดัดแปลงให้จัดแสดงสิ่งของทั้งชั้นบนและล่าง ชั้นล่าง สิ่งของสำคัญที่นำมาจัดแสดงไว้ ส่วนชั้นบนจัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด อาทิ ตะเกียง ถ้วย ชาม เครื่องจักสาน เป็นต้น

 

คุณมานะ เถียรทวีเล่าถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม

 

 

           อาคารหลังที่สอง เดิมเป็นกุฏิของท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อน (พระครูพิศาลสาธุวัฒน์) เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เครื่องลายคราม ธนบัตร เปลือกหอย เป็นต้น ส่วนชั้นบน เดิมนั้นเป็นนิทรรศการชั่วคราว จัดแสดงกิจกรรมต่างๆ ของทางพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2548 ทางพิพิธภัณฑ์ได้ดัดแปลงชั้นบน เป็นคลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์

           อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง เดิมเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัด ต่อมาดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด ชั้นบนจัดแสดงตู้พระธรรมลายรดน้ำ ตาลปัตร หนังสือพิมพ์เก่าย้อนยุค รูปถ่ายเก่าของวัด เป็นต้น ส่วนชั้นล่าง จัดแสดง เครื่องใช้ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเลิกใช้แล้ว

           พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร เขตจอมทอง กรุงเทพฯ พระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร (ในขณะนั้น) ได้จัดแสดงจำลองวิถีชีวิตในอดีตของคนบ้านสวนฝั่งธน ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ไว้หลายส่วนด้วยกัน ชั้นล่างจำลองบ้านเรือนชาวสวนทั้งห้องนอน ห้องครัว ร้านของชำ ชั้นสองของเรือนพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนจัดแสดงเรื่องต่างๆของวัดหนัง อาทิ พระเครื่อง อีกทั้งสมุนไพรยาโบราณ ยาไทย ตำรายาที่จารไว้บนใบลาน ในตู้จัดแสดงใกล้กันก็มีเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์สมัยต่างๆ อาทิ อยุธยา รัตนโกสินทร์ ห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ เป็นห้องที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่เอี่ยม พระอาจารย์สำคัญของวัดหนังในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

           คณะทำงานใช้เวลาในการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนทำพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 จนครบทั้ง 10 แห่ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2557 กำหนดเส้นทางการเดินทางเก็บข้อมูลคนทำพิพิธภัณฑ์ คำสัมภาษณ์และภาพนิ่งได้พัฒนาเป็นต้นฉบับหนังสือ “คนทำพิพิธภัณฑ์"3 ส่วนวีดิทัศน์พัฒนาเป็นนิทรรศการออนไลน์ 10 คนทำพิพิธภัณฑ์ บันทึกประสบการณ์และการทำงาน4 รวมทั้งได้จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือและชุดวีดีทัศน์ “คนทําพิพิธภัณฑ์: รอยต่อความรู้ของท้องถิ่นกับสังคม”5

 

พัฒนาเป็นหนังสือ

           หนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย 10 บทสัมภาษณ์ และบทวิเคราะห์ 3 บท ได้แก่ “คำให้การของ คนทำพิพิธภัณฑ์” เขียนโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเป็นนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่ให้ความสนใจกับงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั้งในไทย และที่อื่น เป็นผลพวงของแนวคิดที่เรียนรวมๆว่า พิพิธภัณฑวิทยากระแสใหม่ อาจารย์ปริตตา เห็นว่า เดิมการทำพิพิธภัณฑ์จะจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ พิพิธภัณฑ์กลายเป็นสถาบันที่แสดงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ เป็นสถานที่ที่เก็บสะสมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุชิ้นเอกของประเทศ หรือของโลก เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ แสดงความยิ่งใหญ่ และมักเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ เช่น บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ สถาบัน สมิทโซเนียน และพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ อาจารย์ปริตตา เห็นว่าขบวนการพิพิธภัณฑ์ใหม่ มีความหลากหลายอยู่สูงมาก ซึ่งพอสรุปได้ว่า เน้นไปที่การให้คนสามัญที่ต้องการแสดงความมีตัวตนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มหรือท้องถิ่นของตนเองสามารถทำพิพิธภัณฑ์ได้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ใช่สมบัติของกระทรวงวัฒนธรรมหรือองค์กรทางการเพียงอย่างเดียว กระบวนการพิพิธภัณฑ์ใหม่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และความทรงจำหรือจิตวิญญาณของสถานที่ แนวคิดพิพิธภัณฑ์แนวใหม่นี้ เป็นภาพอุดมคติซึ่งได้ผ่านการทดลองปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ แนวคิดพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ยังคงเป็นแนวคิดทีเป็นกรอบใหญ่ๆ ที่อธิบายกระแสของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และช่วยให้เรามองพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ต้องการที่จะมีบทบาท เจตนารมณ์ที่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ของหน่วยราชการอย่างไร

           อาจารย์ปริตตา เห็นว่า คำให้การของคนทำพิพิธภัณฑ์ในเล่มนี้ สะท้อนความนึกคิด การแสวงหาวิธีจัดการกับอุปสรรคและปัญหา อธิบายด้วยภาษาสองชุดด้วยกัน ภาษาหนึ่งเป็นภาษาที่อาจเรียกว่า มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น อธิบายที่มาของการเริ่มต้นทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีความรู้สึก รัก หวงแหน เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจ ในสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน เห็นว่า ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่มีพลังสูงและมีเสน่ห์ ภาษาอีกชุดหนึ่ง คือ ภาษาชุดบริหารจัดการ เป็นชุดถ้อยคำที่เปลี่ยนไปจากเมื่อสิบปีก่อนเมื่อโครงการของศูนย์ฯ เริ่มสำรวจและเก็บข้อมูล ซึ่งช่วงนั้นมักจะได้ยินคำว่า คนทำพิพิธภัณฑ์ได้มีความรู้ความชำนาญ แต่ทำด้วยใจรัก ทุ่มเท แต่ในสิบปีให้หลัง ภาษามีความเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความคิด ศัพท์ที่มาจากวาทกรรมการบริหาร เช่น มีการทำ swot หาจุดแข็ง หาจุดขาย เป็นต้น

           นอกจากนี้ อาจารย์ปริตตา ยังชวนคิดในเรื่องต่างๆ เช่น ใครคือคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ภูมิหลังของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีผลอย่างไรในการตัดสินใจมาทำพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบไทยมีลักษณะอย่างไรหากเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์กระแสใหม่ในที่อื่นๆ ในตอนท้าย อาจารย์ปริตตา มีความหวังว่า องค์กรขอรัฐรูปแบบใหม่ๆ อย่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หรือมิวเซียมสยาม จะสามารถหาแนวทางการทำงานที่เป็นกัลยาณมิตร และเป็นคู่สนทนา ที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบรรลุเจตนารมณ์ในการเป็นพิพิธภัณฑ์ของประชาชน เพื่อประชาชน

           ในบทความ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คุณูปการ อุปสรรค และทางเลือก” ปณิตา สระวาสี นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้จำแนกและวิเคราะห์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมไว้ ณ สิงหาคม 2557 จำนวน 1,355 แห่ง ชี้เห็นการก่อรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ต่อชุมชนในหลากหลาย อาทิ พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่อนุรักษ์และเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของที่มีคุณค่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นร่องรอยของวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีชีวิตชุมชนในอดีตที่เลือนหาย เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเวทีแสดงตัวตนและสร้างสำนึกรักท้องถิ่น สร้างการรวมกลุ่มและความเข้มแข็งของชุมชน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสร้างสุขภาวะ ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นต้น

           ด้านความเข้มแข็งและยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ปณิตาชี้ให้เห็นว่า เรื่องของการสร้างการสืบทอด และการสนับสนุนการร่วมกันทำงานกับหน่วยงานอื่น ทั้งหน่วยงานของรัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายคนทำพิพิธภัณฑ์จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

           บทความ อันเนื่องด้วย “คนทำพิพิธภัณฑ์ : ข้อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ” ที่เขียนโดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ อดีตนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ปัจจุบันเป็นนักวิชาการการที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ชีวสิทธิ์ ได้วิเคราะห์ ด้านความหมายของพิพิธภัณฑ์ และสังเกตว่า มีความหมายในหลายลักษณะ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงความหมายของวัตถุจากการใช้งานรูปแบบเดิม ไปสู่การให้ความหมายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ประการที่สองพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 แห่ง พัฒนาต่อเนื่องด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจากภายนอก ระบบการทำงานอนุรักษ์ที่แลกเปลี่ยนระหว่างพิพิธภัณฑ์และภาคีช่วยพัฒนารูปแบบการการจัดการให้มีความหลากหลาย ประการที่สามเรื่องการบริหารพิพิธภัณฑ์ ฉบับชาวบ้าน ชีวสิทธิ์ เสนอว่า การทำงานพิพิธภัณฑ์ในระดับปฏิบัติการ เป็นโอกาสเรียนรู้การทำงานระหว่างกัน ที่ทำให้คนทำพิพิธภัณฑ์ได้ทดลอง ลงมือทำ

           ชีวสิทธิ์ เห็นว่า องค์ประกอบของการสร้างความยั่งยืนอาจมีส่วนของประกอบของการสร้างทายาทพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในกรณีของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน และพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน เลือกที่จะบ่มเพาะคนในครอบครัวหรือชุมชนที่มีความสนใจให้กับงานอนุรักษ์ แต่ในกรณีของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด วัดท่าม่วง กลับเผชิญปัญหาเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะเงื่อนไขเศรษฐกิจ เยาวชนย้ายออกไปศึกษาข้างนอกชุมชน เยาวชนที่ผ่านกิจกรรมการพัฒนาความรู้จึงไม่สามารถใช้ความรู้และทักษะเพื่อการดูแลพิพิธภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง ในด้านรายได้ พบว่า แต่ละแห่งมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการกำหนดค่าธรรมเนียมเข้าชม บ้างมีรายได้การจัดกิจกรรมจากหน่วยงานในพื้นที่ บ้างก็อาศัยเงินบริจาค รวมทั้งการระดมทุน ความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นคำถามปลายเปิด เช่นเดียวกับเรื่องวิธีการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ คนทำพิพิธภัณฑ์ต้องอาศัยการเรียนรู้และการปรับเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ และวิธีการดำเนินงาน

 

7 ปี ต่อมา

           อย่างไรก็ดี จนขณะนี้เมื่อเวลาล่วงมา 7 ปี การเดินทางของคนทำพิพิธภัณฑ์ก็ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เมื่อคนรุ่นหนึ่งลงแรง คนรุ่นต่อไปก็ขึ้นมาสานต่อ ในบางแห่งก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ อาทิ

           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม ยังเปิดดำเนินการอยู่ แต่ผู้เข้าชมจะต้องติดต่อล่วงหน้า

           ห้องภาพสุรินทร์ต้องคืนพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ห้องภาพจึงปิดตัวไปอย่างถาวร

 

“โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่น” ปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่ ซอย 5 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เปิดเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

ภาพจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ปี 2560 วีระวัฒน์ กังวาลนวกุล ได้มาสร้าง “โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” ที่ซอย 5 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และขยายของเขตการทำงานให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยใช้ของเล่นเป็นสื่อกลาง และมีการจัดกิจกรรมเวิร์คชอปเเลกเปลี่ยนมุมมองว่าด้วยการเล่นตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ลูกชายทั้งสอง “รามิล” และ “นาฬา” ก็ยังมีส่วนเสริมสร้างให้พื้นที่โรงเล่นมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย อาทิ งานปักลาย ประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้ารูปแบบต่างๆ “ปูน นาฬา” ลูกชายคนเล็กสร้างเพจ ปักด้ายปักดี ในขณะที่ “แปลน รามิล” ลูกชายคนโตคิดค้นและประกอบร่าง โฮโลแกรมที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ เช่น โฮโลแกรมเกี่ยวกับฝิ่น จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โฮโลแกรมส่งเสริมการอ่านในห้องสมุด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โฮโลแกรมฉายภาพพระทองคำเชียงแสน และโฮโลแกรมฉายภาพของเล่นพื้นบ้านโบราณ

           คุณนเรนทร์ ปัญญาภู ผันตัวเองมาศึกษาภาพเก่าในเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และได้มีส่วนสำคัญในการจัดงานมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน: ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน ที่จัดเมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดเจดีย์หลวง ตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

           พระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร ลาสิกแล้ว แต่ยังคงทำงานให้พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหารอย่างต่อเนื่อง

           อาจารย์วาที ทรัพย์สิน ยังคงดำเนินพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน แม้ว่าปี 2563 ตัวเมืองนครศรีธรรมราชจะประสบกับภัยน้ำท่วม

           พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม (วัดสบเกี๋ยง) อ.ปง จ.พะเยา และดูแลพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา

           ท่านพระครูพิทักษ์ศิลปาคม  ยังคงทำพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนอยู่อย่างเข้มแข็งรวมทั้งเป็นหัวเรือใหญ่ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางในการจัดกิจกรรมมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” วัดขนอน (หนังใหญ่) อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2563

 

           ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th

 

https://sac.or.th/portal/th/publication/cart

 

           หากใครอยากยืมอ่านก่อน สามารถติดต่อได้ที่ห้องสมุดของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

บรรณานุกรม

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, บรรณาธิการ. (2557). คนทำพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

 

 

1  อ่านเพิ่มใน ปณิตา สระวาสี. “ขึ้นโขนชิงธงที่พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน” ใน จดหมายข่าวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). ปีที่ 16 ฉบับที่ 83 (พฤษภาคม-กันยายน 2557) [พิพิธภัณฑ์]ท้องถิ่นของเรา, หน้า 4-8.

2  อ่านเพิ่มใน ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร. (2551). พิพิธภัณฑ์ภาคสนาม ประสบการณ์จากคนลองทำ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

3  หนังสือคนทำพิพิธภัณฑ์ สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://sac.or.th/portal/th/publication/cart

4  ดูเพิ่มที่ https://www.sac.or.th/exhibition/museummakers/index.html

5  ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://channel.sac.or.th/th/website/video/detail_news/2592

 

 

 

ผู้เขียน

รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ คนทำพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share