พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม : รวมบทความคัดสรรจากโครงการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม ครั้งที่ 1

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 1786

พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม : รวมบทความคัดสรรจากโครงการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม ครั้งที่ 1

 

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ภาพปกหนังสือพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม: รวมบทความคัดสรรจากโครงการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม ครั้งที่ 1

 

           บทความที่ได้คัดสรรมาตีพิมพ์ภายในหนังสือเล่มนี้ เป็นบทความที่ให้ความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาและมรดกวัฒนธรรมศึกษา ประกอบด้วย 7 บทความ ได้แก่

           เรื่องที่ 1 การจัดการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นเชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย สามิตี เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย โดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม บทความนี้นำเสนอกรณีศึกษาของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย สามิตี มาจากภาษามาราฐี ภาษาท้องถิ่นของรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย มีความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือชาวมะคัน” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญา การประกอบอาชีพภายในชุมชน โดยได้รับแนวคิดการดำเนินงานจากการสืบทอดอุดมการณ์ของ มหาตมะ คานธี ผู้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติของคนภายในชุมชน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและปรับรูปแบบของแหล่งการเรียนรู้ให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์ และสามารถสร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์และชุมชน หากนำมาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย สามิตี เน้นการใช้งานได้จริงและพึ่งพาตัวเองมากกว่าการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย

           เรื่องที่ 2 พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ส่วนน้อยกับนิยามความเป็นมาเลย์ กรณีศูนย์มรดกวัฒนธรรมมาเลย์ สิงคโปร์ โดย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นำเสนอแนวคิดและการทำงานในศูนย์มรดกวัฒนธรรมมาเลย์ ตั้งอยู่ในย่านกัมปงกลาม ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านท่องเที่ยวที่รัฐบาลนำเสนอวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของชนชาติมาเลย์ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของพื้นที่และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของศูนย์มรดกวัฒนธรรมมาเลย์ผ่านทางสถาบันทางวัฒนธรรมแห่งนี้

           เรื่องที่ 3 กระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อการสร้างองค์ความรู้แก่โบราณวัตถุ Museum Visit You เขียนโดย เบญจวรรณ พลประเสริฐ นำเสนอข้อค้นพบจากการทำกิจกรรมนอกอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ฯ ตลอดจนโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของชาติเข้าไปสู่ชุมชน ให้คนเข้าถึงโบราณวัตถุได้มากขึ้น และเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่โบราณวัตถุ ผ่านการบอกเล่าจากเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของข้อมูลโดยตรง ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มานั้น สามารถนำไปปรับใช้ในส่วนของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น อีกทั้งชุมชนยังได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้คนในท้องถิ่นอีกด้วย

           เรื่องที่ 4 การสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี โดย จิราวรรณ ศิริวานิชกุล นำเสนอกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกระบวนการการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้นำหลักของคนทำพิพิธภัณฑ์ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านให้ประโยชน์แก่ชุมชนมากกว่าเป็นเพียงสถานที่เก็บวัตถุโบราณ มีความสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของคนในชุมชน อีกทั้งการศึกษานี้ยังได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่คนทำงานพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

           เรื่องที่ 5 การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย ด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย โดย บุรินทร์ สิงโตอาจ นำเสนอข้อค้นพบของผู้เขียนในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย ซึ่งในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย โดยเฉพาะขั้นตอนการแต่งเติมลายลงบนเครื่องปั้นดินเผา เป็นงานที่ต้องใช้เวลา ทักษะทางศิลปะและการฝึกฝนของนักอนุรักษ์ ผู้เขียนจึงประยุกต์เทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิม คือ การใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือก สำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา วิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันได้

           เรื่องที่ 6 ดงปู่ฮ่อ: พัฒนาการรูปแบบการจัดการพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน โดย วนิษา ติคำ และจีรวรรณ ศรีหนูสุด นำเสนอเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่เป็นแบบกึ่งธรรมชาติกึ่งวัฒนธรรม โดยได้ทำการศึกษาที่ “ดงปู่ฮ่อ” พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนที่เป็นทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของแหล่งเตาเมืองน่าน บ้านเตาไหแช่เลียง ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ซึ่งการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการมรดกวัฒนธรรมของชุมชนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก คือ การจัดการที่ควรอยู่บนฐานของวิถีชีวิตชุมชน การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของความเหมาะสม ไม่ขัดกับสภาพวิถีชีวิต และอยู่บนฐานศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มี

           และเรื่องสุดท้าย เรื่องที่ 7 ความต้องการ ความหวัง และพื้นที่สาธารณะ : การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดย ภัทรภร ภู่ทอง คำถามสำคัญของการศึกษานี้ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น แนวคิดพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้ด้านสันติภาพและส่งเสริมสันติภาพ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมได้หรือไม่ โดยทำการศึกษาผ่านบุคคลในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยมีข้อเสนอที่ได้จากการศึกษานี้ คือ พิพิธภัณฑ์ควรสร้างในพื้นที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ และจัดให้มีนิทรรศการหรือกิจกรรมเคลื่อนที่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงความรู้สึกและอคติ อีกทั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยของการสื่อสารนอกพื้นที่ในประเด็นละเอียดอ่อน

           หนังสือ “พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม” เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ให้องค์ความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ศึกษาและมรดกวัฒนธรรมศึกษา อีกทั้งยังช่วยเปิดพื้นที่การศึกษาในเรื่องดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

           ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th

 

https://sac.or.th/portal/th/publication/cart   

 

           หากใครอยากยืมอ่านก่อน สามารถติดต่อได้ที่ห้องสมุดของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

ช่วงทดลองขยายเวลาให้บริการ 1 เม.ย.–31 พ.ค. 2564

วันจันทร์–ศุกร์       เวลา 08.30–19.00 น.

วันเสาร์              เวลา 09.00–16.30 น.

 

 

 

ผู้เขียน

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ป้ายกำกับ พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม รวมบทความ โครงการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม ครั้งที่ 1 ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share