กรมสมเด็จพระเทพฯ ในดวงใจชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 1442

กรมสมเด็จพระเทพฯ ในดวงใจชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

 

รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความสนพระทัยต่องานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2551 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2553 และครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2555 เพื่อสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และแรงผลักดันของคนในท้องถิ่นที่ได้เสนอเรื่องราวของตนเองให้สังคมระดับประเทศ ได้ตระหนักถึงบทบาททางวัฒนธรรมและการศึกษาของท้องถิ่น ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับเมืองและโลก 

           การที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรทั้ง 3 ครั้ง สร้างความปลาบปลื้มใจให้คนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงขอนำบทสัมภาษณ์ชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเล่าสู่กันฟัง

 

พระครูโกวิทธรรมโสภณ พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง หมู่ 2 ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

 

พระครูโกวิทธรรมโสภณ พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง หมู่ 2 ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

           “รู้สึกมีความยินดีที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเกี่ยวกับข้าวของภายในพิพิธภัณฑ์ ท่านทรงถามเกี่ยวกับอายุของใบขับขี่เกวียน สมัยใด พ.ศ. ใด ไม่ใช่แค่อาตมาเท่านั้นที่ภูมิใจ คนที่ช่วยกันสร้างและศรัทธาโดยโยมบ้านร้องเม็งและทั้งตำบล อำเภอ อบต. ก็รู้สึกภาคภูมิใจและยินดีไปกับอาตมาด้วย”

 

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยผันบัวงาม โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก

 

ผัน บัวงาม พิพิธภัณฑ์บ้านไทยผันบัวงาม โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก

           “สมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จไปโรงเรียนเรา 9 ครั้ง ท่านก็เลยรู้เรื่องที่โรงเรียน เห็นคุณครูบอกว่าคุณครูไม่ต้องนำเสนออะไร พระองค์ท่านก็นำเสนอเองเลย ท่านเสด็จไปดูงานที่ท่านเคยเสนอไว้ แล้วตรัสถามว่ามีการสานต่อหรือเปล่า ท่านก็เสนอให้แบบอย่าง เช่น การทำเครื่องเงินของนักเรียนส่วนมากจะไม่มีคนทำแล้วท่านก็เลยบอกว่าให้ศึกษาต่อไป ทางโรงเรียนก็เลยเปิดแผนการเรียนการทำเครื่องเงินเครื่องประดับให้นักเรียน พระองค์ท่านตรัสชมว่า นักเรียนเก่ง”

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

 

ปัณณทัต กฤชชัยพฤกษ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

           “พระองค์ท่านทรงห่วงใยเกี่ยวกับเอกสารโบราณ สมุดไทยขาว สมุดไทยดำ ในพิพิธภัณฑ์ที่ระยะหลังมักจะถูกเอาไปทำเป็นส่วนผสมของการทำวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังต่างๆ และรับสั่งว่าน่าจะมีคนนำมาศึกษามากกว่า”

 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง(ไทยพวน) ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก

 

ร้อยตรีนิคุณธ์ จันนา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี  จ.นครนายก

           “พระองค์ท่านสนใจมาก และรับสั่งว่า ได้ไปทั่วบ้านฝั่งคลองนี้หมดแล้ว ผมรู้สึกปลาบปลื้มและมีความภาคภูมิใจที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรา”

 

เฉิน ผันผาย  ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ต.คลองพลู กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

 

เฉิน ผันผาย  ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ต.คลองพลู กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

           “สมเด็จพระเทพฯ ท่านสนใจ ท่านก็ถามผม ชองอยู่หมู่ไหน ตำบลไหน ผมบอกว่าอยู่ตำบลคงพลู อำเภอเขาคิชกูฎ บอกท่าน...ครั้งแรกท่านก็เสด็จไปเยี่ยม ตชด. ที่อำเภอแก่งส้มแมว ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเขาเชิญผมไปต้อนรับพระเทพฯ ท่านก็มาหาผมและสนทนาว่ากำนันเป็นชองจริงหรือเปล่า ผมก็บอกว่าเป็นชองฮะ เอ้า...ถ้าเป็นชองลองพูดภาษาชองให้ฟังหน่อย พูดให้ท่านฟังท่านก็จดไป ถามไป ความเป็นมาของชาวชอง แล้วท่านก็ขอถ่ายรูปผมไว้รูปหนึ่ง แล้วก็ดีใจว่าผมช่วยอนุรักษ์ภาษาถิ่นของจังหวัดจันทบุรีไว้” 

 

ถนอม คงยิ้มละมัย  พิพิธภัณฑ์ปานถนอม ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

 

ถนอม คงยิ้มละมัย พิพิธภัณฑ์ปานถนอม ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

           “สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาก็ต้องทูลเชิญให้มาชมของ แม้กระทั่งของเก่าๆ ก็อยากให้คน   ไทดำได้ภาคภูมิใจในของเหล่านั้นด้วยค่ะ ท่านก็ตรัสถามหลายอย่างนะคะ ที่ท่านพอพระทัยมากก็คือ ท่านทราบว่าเรื่องตำนานเต่า เต่ามันข้ามขอนไม้ไม่ได้ มนุษย์ช่วยยกเต่าข้ามขอนไม้ เต่าก็บอกแถนว่ามนุษย์มีน้ำใจ แถนก็เลยให้มนุษย์ฉลาดกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ มนุษย์ก็เลยสร้างบ้าน    ไททรงดำ หลังคาจะเป็นรูปเต่า เสาเอกก็ต้องแปะรูปเต่าเอาไว้ค่ะ”

 

ป้ายกำกับ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share