ชวนเที่ยว 5 พิพิธภัณฑ์ ตามแนวพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพฯ

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 1278

ชวนเที่ยว 5 พิพิธภัณฑ์ ตามแนวพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพฯ

 

ปณิตา  สระวาสี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากหลายสาขา นำไปสู่พระราชดำริในการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน การจัดทำ “พิพิธภัณฑ์” เป็นโครงการตามพระราชดำริที่สำคัญ เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคมไทย บทความนี้ ผู้เขียนขอแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ 5 แห่ง ซึ่งพระองค์ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ดังนี้

 

1. ย้อนประวัติศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิยาเจ้า

 

ภาพโดยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า

 

ภาพโดยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า

 

           พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ภายในวังสระปทุม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พระตำหนักที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยประทับ และให้บริการศึกษาค้นคว้าสารสนเทศเกี่ยวกับพระประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอีกด้วย

           วังสระปทุม เป็นวังที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทับร่วมกับพระราชโอรสคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนสวรรคตใน พ.ศ. 2498 และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระ  ศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาพระประวัติและพระกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอาคารจัดแสดง 2 หลัง คือ “พระตำหนักใหญ่” ใช้เป็นอาคารจัดแสดงหลัก และอาคารหอนิทรรศการ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ และนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งนิทรรศการที่จัดแสดงในปัจจุบันคือ “นิทรรศการศรีสวรินทิรากรณียานุกิจ สิรินธรพินิจราชกรณียานุการ” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2558

ในพระตำหนักใหญ่ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำชมพร้อมหูฟัง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตามห้องต่างๆ ได้แก่  1.ห้องพิธีและห้องรับแขก  2.ห้องเทาและห้องทรงพระอักษร  3.ห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ และห้องพระบรรทม ส่วนสุดท้ายคือ ห้องนิทรรศการบริเวณชั้นล่างของพระตำหนักใหญ่ จัดแสดงเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์

           ดาวเด่นคือ เอกสารลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเขียนถึงพระราชชนนี (สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงบรรยายถึงชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศ และกราบทูลว่าพบสตรีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ซึ่งก็คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือนางสาวสังวาลย์ ในเวลานั้น และจัดแสดง “เจ๊กตู้” ซึ่งเป็นตู้ขายของที่เจ๊กตู้หาบมาขายในวัง โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้เข้าไปขายในวังสระปทุมเป็นปกติ เพราะมีข้าวของต่างๆ ให้พระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเลือกซื้อ

 

2. กาชาดช่วยเรา เราช่วยกาชาด กับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย

 

ภาพจาก https://www.facebook.com/ThaiRedCrossMuseum/

 

           ปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย มีพระราชดำริให้สภากาชาดไทยดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา โดยมีพระราชประสงค์ให้นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living museum) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า “กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความทุกข์ของคนเป็นล้านๆ คน”

           อาคารพิพิธภัณฑ์คือ ตึกกาชาดเดิม ภายในมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งส่วนแสดงเป็น 7 ส่วน โดยแต่ละส่วนใช้สีรุ้ง 7 สี เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายของเรื่องที่จัดแสดง ส่วนแรกได้แก่ “สถาปนาสันติธรรม” จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการกำเนิดกาชาดสากลและสภากาชาดไทย ส่วนจัดแสดงต่อมาคือ “บูรณาการสถานศึกษา” นำเสนอภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล ส่วนที่สามคือ “โอสถบริรักษ์” จัดแสดงภารกิจของสภากาชาดในการผลิตเซรุ่มและวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่างๆ 

           ส่วนที่สี่ “อภิบาลดรุณ” จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนที่ห้า “บุญเกษม” แสดงภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มุ่งจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ส่วนที่หก “บำเพ็ญคุณากร” จัดแสดงภารกิจในการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนสุดท้าย “อมรสาธุการ” นำเสนอยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย รวมทั้งจัดแสดงของที่ระลึกต่างๆ ที่มอบแก่ผู้มีอุปการคุณต่อสภากาชาดไทย

           ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เคยกล่าวถึงเป้าหมายหลักสำคัญที่ท้าทายของพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยว่า “เมื่อชมแล้ว ผู้ชมทุกคนต้องบังเกิดความปรารถนาที่จะช่วยสภากาชาด ในทางใดทางหนึ่ง”

 

3.  สัมผัสโลกธรรมชาติ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย

 

 

ภาพโดย สาวิตรี ตลับแป้น

 

ภาพโดย สาวิตรี ตลับแป้น

 

           “ตามเกาะต่างๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย”

 

           ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 จุดประกายการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเกาะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกองทัพเรือร่วมสนองพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2541 ทั้งการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสาร เพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ และจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย” ขึ้นบนฝั่งสัตหีบ ตรงข้ามเกาะแสมสาร โดยมีคณะนักวิชาการหลายสาขาและหลากหลายสถาบันร่วมทำงาน

           พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคารที่ก่อสร้างไต่ระดับเขาขึ้นไปถึงยอดเขารวม 5 อาคาร โดยจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ทางทะเล เป็นแห่งแรกในประเทศไทย การนำเสนอภายในถูกออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง เช่น การจำลองบรรยากาศโลกในอดีตเมื่อหลายล้านปีก่อน มีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัย ที่จะทำให้ผู้ชมสนุกไปพร้อมกับการได้รับความรู้ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังจัดโปรแกรมการเข้าค่ายเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติให้แก่คณะนักเรียนที่สนใจด้วย

           นอกเหนือจากการชมตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยแล้ว ยังสามารถนั่งเรือข้ามไปยังเกาะแสมสาร ซึ่งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์ บ่อศึกษาป่าชายเลน โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้อีกด้วย

 

4. มหัศจรรย์พิพิธภัณฑ์บัว

 

ภาพจาก  http://www.lotus.rmutt.ac.th/

 

           พิพิธภัณฑ์บัว ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงบัวสายพันธุ์ต่างๆ นานาชนิด “บัว” เป็นพืชน้ำที่แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเฉพาะตัว นอกจากเป็นพืชที่สวยงามแล้ว แต่ละส่วนของบัวยังใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งการประกอบอาหารและทำยาสมุนไพร เป็นต้น

           พิพิธภัณฑ์บัวเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์บัว ปลูกรักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์บัว ปัจจุบันมีพันธุ์บัวมากกว่า 100 สายพันธุ์ ทั้งบัวหลวง บัวผัน บัวสาย บัวฝรั่ง บัววิกตอเรีย และบัวพันธุ์ไทยหายาก ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่

           ไฮไลท์หนึ่งของพิพิธภัณฑ์บัวที่ผู้ชมไม่ควรพลาดได้แก่ "บัวจงกลนี" บัวสายพันธุ์ไทยแท้ ถือเป็นบัวที่มีในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก “บัวมังคลอุบล” ดอกมีสีชมพูแซมเหลือง บัวที่ได้รับรางวัล Best new hardy waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีบัวที่หาชมยากอีกหลายสายพันธุ์ เช่น บัวฉลองขวัญพันธุ์สีม่วง บัวกระด้งที่มีดอกตูมใหญ่ แรกบานจะเป็นดอกสีขาว พอแดดจัดจะกลายเป็นสีม่วง สีชมพู และเมื่อบานเต็มที่จะกลายเป็นสีแดง

 

5. พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ พระตำหนักบ้านสวนปทุม

 

ภาพจาก http://operation5.crma.ac.th/

 

           “บ้านสวนปทุม” เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534  มีพระตำหนักและอาคารพิพิธภัณฑ์ 6 อาคาร

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระตำหนักสวนปทุม เพื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่ทรงสะสมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์ สิ่งของที่ทรงสะสมไว้ งานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ของที่ระลึกจากต่างประเทศ สิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยสิ่งของต่างๆ มีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ จัดทำคำบรรยายสั้นๆ เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้สนใจศึกษา ด้วยมีพระราชดำริว่า สิ่งของแต่ละชิ้นที่ทรงมีอยู่ มีคุณค่าความสำคัญแตกต่างกันไป เป็นสื่อที่ให้ความรู้แก่พระองค์เองและผู้อื่นในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรมมนุษย์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

           นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงเครื่องดนตรีโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีชาติต่างๆ วิธีการจัดแสดงส่วนหนึ่งทรงได้แนวคิดจากการเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ

           ทั้งนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำสวนเกษตรไม้ป่าสมุนไพร เนื่องจากสนพระทัยการอนุรักษ์พืชพรรณป่าไม้ธรรมชาติ โดยมีพรรณไม้หายากจากทั่วทุกภาคและจากต่างประเทศที่ทรงปลูกไว้ มีเรือนกระจกปลูกต้นมะเดื่อ ที่ทรงรวบรวมมาจากทั่วโลกถึง 45 สายพันธุ์

           ยังมีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านต่างๆ อีกหลายแห่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นและทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งล้วนเป็นแบบอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ ยังประโยชน์แก่พสกนิกรหลากวัยหลายอาชีพ ในโอกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้ ผู้เขียนขอถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

อ้างอิง

มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ดั่งดวงแก้วส่องสว่างทางสายงาม. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2557. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “สานฝันพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย.” ใน จุลสารก้าวไปด้วยกัน. ปีที่ 1 : 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2548), 16-17.

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย.  www.sac.or.th/museumdatabase. [เข้าถึง 22 มกราคม 2558]

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย http://www.tis-museum.org. [เข้าถึง 23 มกราคม 2558]

พิพิธภัณฑ์บัว. http://www.highlightthailand.com. [เข้าถึง 26 มกราคม 2558]

พิพิธภัณฑ์บัว. http://lotus.rmutt.ac.th/. [เข้าถึง 26 มกราคม 2558]

มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า.  http://www.queensavang.org. [เข้าถึง 23 มกราคม 2558]

วิจารณ์ พานิช. ชีวิตที่พอเพียง : 899. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ 2542 (1) เกาะเกร็ด และบ้านสวนปทุม. https://www.gotoknow.org. [เข้าถึง 26 มกราคม 2558]

 

 

ผู้เขียน

ปณิตา  สระวาสี นักวิชาการ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ พิพิธภัณฑ์ กรมสมเด็จพระเทพ ปณิตา สระวาสี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share