“การศึกษาชีวิตทางสังคมและชาติพันธุ์วรรณาในบริบทเมือง” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 2372

“การศึกษาชีวิตทางสังคมและชาติพันธุ์วรรณาในบริบทเมือง” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์

 

แนะนำโดย

ธนวัฒน์ ปัญญานันท์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


ภาพวารสารมานุษยวิทยา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562)

 

           ในบทความเรื่อง “การศึกษาชีวิตทางสังคมและชาติพันธุ์วรรณาในบริบทเมือง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์ ให้ภาพรวมเกี่ยวกับพัฒนาการการศึกษาสังคมเมืองของงานศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งโดยทั่วไปจะศึกษาสังคมที่อยู่ห่างไกลงานมานุษยวิทยาหันมาให้ความสนใจศึกษาสังคมเมืองอย่างจริงจังตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการศึกษาชีวิตของคนเฉพาะกลุ่มหรือวัฒนธรรมย่อย โดยเฉพาะชีวิตของคนชายขอบ อาทิ ชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น การศึกษาสังคมเมืองเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมของคนเมืองที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่สังคมเมืองสมัยใหม่-หลังสมัยใหม่-และความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เนื่องจากลักษณะพิเศษของสังคมเมืองที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยอย่างเนืองแน่น และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเปราะบาง พวกเขาจึงค่อนข้างมีความอิสระในการใช้ชีวิต เมืองจึงมีกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมย่อยที่หลากหลาย หรือแม้แต่ชีวิตของกลุ่มผู้คนที่ต่างออกไป เช่น คนไร้บ้าน กลุ่มนักพี้กัญชา เป็นต้น จากเงื่อนไขดังกล่าว “พื้นที่สาธารณะ” จึงเป็นพื้นที่สำคัญต่อการศึกษาความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของผู้คนและการสร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมกัน

           ผู้เขียนยกตัวอย่างงานศึกษาเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในสังคมเมืองที่น่าสนใจหลายชิ้น ได้แก่
The City ของเวเบอร์ (Max Weber) Suicide ของเดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) Middle Town: A Study in American Culture ของลินด์ The Metropolis and Mental Life ของซิมเมล (Georg  Simmel) Two Studies of Kinship in London ของเฟิร์ธ (Raymond Firth) และ The Culture of Poverty ของลูวิส (Oscar Lewis) เป็นต้น งานเหล่านี้ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “ความเป็นเมือง” ต่อชีวิตของผู้คน เช่น โครงสร้างสังคม การฆ่าตัวตาย แรงงาน เงินกับความสัมพันธ์ของคน คนแปลกหน้า ระบบเครือญาติวงศ์วาน ความยากจน เป็นต้น

           อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการศึกษาสังคมเมืองซึ่งมีความเป็นพลวัตรทางวัฒนธรรมและวัตถุค่อนข้างสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ และต้องมีวิธีการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ทางสังคมที่ท้าทายแปรเปลี่ยนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เนื่องจากกรอบแนวคิดเดิมไม่เพียงพอต่อการอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนและรวดเร็ว แต่กระนั้นเราก็ไม่สามารถมองภาพความเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบความแตกต่างได้อย่างสุดขั้ว ความท้าทายในการศึกษาชีวิตวัฒนธรรมในสังคมเมืองคือ “วิธีวิทยาที่ต้องวิ่งตามให้ทันกับโฉมหน้าของสนามที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีที่ต้องการการวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเหตุผล การให้ความหมาย การส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึก และโลกแห่งทุนนิยมที่เสกสร้างสภาวะการใช้ชีวิตแบบเสพย์นิยมให้เติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ความสัมพันธ์เหล่านี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจสภาวะความเป็นมนุษย์ที่ต้องดำเนินชีวิตในเมืองไม่ว่าจะอยู่ในสำนึกของปัจเจกบุคคลหรือภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจ การเมือง ที่มนุษย์ต้องเผชิญและโต้ตอบอยู่ตลอดเวลา” (น. 81)

 

อ่านบทความได้ที่นี่

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/227247

 

 

 

ผู้เขียน

ธนวัฒน์ ปัญญานันท์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ ชีวิตเมือง การศึกษาสนาม สังคมวิทยาเมืองและมานุษยวิทยาเมือง ชาติพันธุ์นิพนธ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share