“ความสำคัญของ ‘Serendipity (โชคดีที่บังเอิญค้นพบ)’ ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา” โดย ฐานิดา บุญวรรโณ

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 5032

“ความสำคัญของ ‘Serendipity (โชคดีที่บังเอิญค้นพบ)’ ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา” โดย ฐานิดา บุญวรรโณ

 

“ความสำคัญของ ‘Serendipity (โชคดีที่บังเอิญค้นพบ)’

ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา” โดย ฐานิดา บุญวรรโณ

 

แนะนำโดย

ธนาวัฒน์ ปัญญานันท์ 

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ภาพวารสารมานุษยวิทยา ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562)

 

           ในบทความเรื่อง “ความสำคัญของ ‘Serendipity (โชคดีที่บังเอิญค้นพบ)’ ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา” ฐานิดา บุญวรรโณ แบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) นิยามและนัยยะของคำว่า Serendipity 2) Serendipity ในวิธีการวิจัย และ 3) Serendipity และงานศึกษามานุษยวิทยา

           นิยามและนัยยะของคำว่า Serendipity หรือ โชคดีที่บังเอิญค้นพบ ถูกอธิบายและตีความไว้หลายความหมายได้แก่ ปัญญาที่เกิดโดยบังเอิญ สิ่งที่เราค้นพบแบบบังเอิญ หรือโอกาสที่เราจะค้นพบโดยบังเอิญ ซึ่งการค้นพบบางสิ่งบางอย่างนั้น เกิดขึ้นจากการที่ผู้ค้นพบมีความคิดแรกเริ่มบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว แต่บังเอิญพบกับบางอย่างที่นอกเหนือไปจากความคาดหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ และตระหนักถึงความสำคัญกับสิ่งที่บังเอิญพบเจอดังกล่าว คำว่า Serendipity จึงประกอบด้วยคำ 2 คำ ได้แก่ “ความบังเอิญ” และ “ความฉลาดเฉลียว” ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเทพนิยายเปอร์เซียน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของคำศัพท์ Serendipity เรื่อง The Eight Paradises ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Three Princes of Serendip ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าชายสามองค์ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดจากการค้นพบโดยบังเอิญมาช่วยค้นหาและยุติคดีล่อหาย

           ในระหว่างการทำวิจัยนั้น แม้ Serendipity อาจต้องอาศัยโชคหรือโอกาส แต่กระนั้นผู้วิจัยก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะพบเจอกับบางสิ่งบางอย่างในลักษณะ Serendipity หรือไม่ และจะพบเจอเมื่อใด อย่างไรก็ตาม Serendipity มิใช่เพียงโชคลางหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการจัดวางฐานความคิด หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการจัดวางหรือการเตรียมการบางอย่างได้

           ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณี การค้นพบเรื่องไลโซไซม์ของเฟลมมิ่ง และผลพวงต่อมาของการค้นพบดังกล่าวซึ่งมีส่วนช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก

           ดังนั้น แม้ความตั้งใจหรือการเตรียมการบางอย่างในการทำวิจัยไว้ล่วงหน้าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การทบทวนวรรณกรรม และทราบถึงข้อค้นพบจากงานศึกษาชิ้นก่อนหน้า ซึ่งทำให้ผู้วิจัยคาดหวังจะได้คำตอบของคำถามวิจัยในแบบเดิม หรือคาดว่าจะได้รับจากพื้นฐานความรู้บางประการ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่ควรจะยึดติดกับความคิด ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง อย่างเคร่งครัดจนเกิดไป เพราะการเปิดรับโอกาสและการสังเกตการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจนำมาสู่ข้อค้นพบใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้

           ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา มีโอกาสมากที่ผู้วิจัยจะพบกับเหตุการณ์บางอย่างโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน และเหตุการณ์ดังกล่าวอาจพลิกผันจนทำให้เกิดข้อถกเถียงกับแนวคิด ทฤษฎีหรือแม้แต่โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งสำคัญคือ ความเฉลียวฉลาดของผู้วิจัยที่จะเล็งเห็นความสำคัญของปรากฏการณ์ และจะสามารถจัดการกับข้อมูลที่ได้มานั้นหรือไม่ อย่างไร Serendipity ถือเป็นสิ่งสำคัญใน การทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาที่จะช่วยเปิดโลกและเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจต่อไป

 

อ่านบทความได้ที่นี่

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/231776/158061

 

 

 

ผู้เขียน

ธนาวัฒน์ ปัญญานันท์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ป้ายกำกับ ระเบียบวิธีวิจัยและการศึกษาภาคสนาม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share